เมื่อการเมืองกลายเป็นเรื่องของใจ แล้ว ‘แม่พลอย’ จะอยู่อย่างไรในวันที่สายลมเปลี่ยนทิศ
เมื่อการเมืองกลายเป็นเรื่องของใจ แล้ว ‘แม่พลอย’ จะอยู่อย่างไรในวันที่สายลมเปลี่ยนทิศ
- ผลการเลือกตั้ง 2566 ที่เพิ่งผ่านมา ที่พรรคก้าวไกลคว้าชัยชนะมาได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทย
- ทว่าในช่วงเวลาที่ประชาชนส่วนใหญ่ยินดีปรีดาและเฉลิมฉลองชัยชนะของประชาชน ความระส่ำระส่ายกลับก่อตัวขึ้นในจิตใจคนอีกกลุ่มเมื่ออุดมการณ์ที่พวกเขาเคยเชื่อและค่านิยมที่พวกเขาเคยยึดถือกำลังถูก ‘คุกคาม’ โดยการเปลี่ยนแปลง
- แม้จะไม่เห็นด้วยกับกลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคอย่างพลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย ฯลฯ แต่เราก็ยังคงอยากเข้าใจว่าเพราะอะไรพวกเขาถึงไม่ยอมเปลี่ยน และในวันที่ลมเปลี่ยนทิศ เหล่า ‘แม่พลอย’ และ ‘พ่อเปรม’ จะใช้ชีวิตอย่างไรให้ยังคงอยู่ได้เมื่อความเปลี่ยนแปลงมาเยือน
“คนดีแพ้พวกชังชาติ บ้านเมืองถึงคราวกลียุคแน่”
“เป็นห่วงอนาคตประเทศจังว่าต่อจากนี้จะเป็นยังไง”
“ต่อไปการเข้าแถวเคารพธงชาติคงไม่มีแล้วมั้ง เด็กรุ่นนี้ไม่สนใจชาติบ้านเมืองกันแล้ว”
แม้จะไม่เห็นด้วยและยืนคนละฝั่งกับถ้อยคำข้างต้น แต่เมื่อได้อ่านโพสต์ที่เต็มไปด้วยถ้อยคำเหล่านี้หลังผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดออกมา ก็อดคิดไม่ได้ว่าภายใต้การแสดงออกอย่างโกรธเกรี้ยว ชิงชัง คับแค้น คงมีมนุษย์คนหนึ่งที่เสียใจ สับสน และเปราะบางอยู่เช่นเดียวกัน
“มันก็คงจะเป็นแบบนี้แหละลูก เขากำลังมา จะชนะก็ไม่แปลก ตามยุคตามสมัย”
คำพูดของบุพการีที่แม้อยู่คนละขั้วการเมืองกับเราแต่ยังพอทำใจยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดได้ ทำให้เรานึกถึงเพลงในละครเวทีเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ละครเวทียอดนิยมของคนที่มีฝ่ายอนุรักษ์นิยม เรื่องราวชีวิตของ ‘แม่พลอย’ หญิงในตระกูลขุนนางเก่าที่มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยของกษัตริย์ 4 พระองค์ ตั้งแต่พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ผู้ต้องเผชิญความเปลี่ยนผันทั้งการผลัดแผ่นดินและการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
แม้ละครจะทำมาเพื่อเชิดชูค่านิยมเดิม แต่เนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่ร้องว่า “สายน้ำหลั่งไหลไปข้างหน้า พัดพาเราก้าวไป หากล่องลอยผ่านพ้นไม่ได้ อาจจมลงที่ใต้แผ่นน้ำ” มันช่างเหมาะเจาะกับสถานการณ์ช่วงนี้เหลือเกิน และทำให้เราสงสัยว่า เพราะอะไรหลายคนถึงยังไม่พร้อม ‘เปลี่ยน’ และอดคิดไม่ได้ว่าเหล่าแม่พลอยและพ่อเปรม (ตัวละครผู้เป็นสามีของแม่พลอย) จะอยู่อย่างไรในวันที่สายลมเปลี่ยนทิศ
การเมืองคือเรื่องของหัวใจ
“ทำไมมันช่างยากเย็นที่จะเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองของใครสักคน” คือคำถามที่นักจิตวิทยาพยายามหาคำตอบกันมาเนิ่นนาน และในปี 2017 ก็มีผลวิจัยที่พอจะเข้าเค้าว่า
เรามักจะเหมาเอาตัวตนของนักการเมือง พรรคการเมือง หรือแนวคิดทางการเมืองที่เราชื่นชอบมาเป็นตัวเราเอง
ซึ่งแปลว่า หากใครมาด่ารวมไทยสร้างชาติ ด่าพลังประชารัฐ ด่าภูมิใจไทย หรือด่าแนวคิดอนุรักษ์นิยม สมองของคนที่สนับสนุนสิ่งเหล่านี้ก็จะมีกลไกปกป้อง ‘ตัวตน’ ของพวกเขา ไม่ต่างอะไรกับเวลาที่เราโดนจู่โจมที่เรารู้สึกว่าต้องหนีหรือป้องกันตัว
โจนาส แคปแลน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาท์เธิร์นแคลิฟอร์เนีย ผู้ทำการวิจัยกับคนที่มีอุดมการณ์เสรีนิยม 40 คนเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสมองขณะที่พูดประโยคที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง ประโยคที่สนับสนุนอุดมการณ์ของพวกเขา และประโยคที่ขัดกับอุดมการณ์ของพวกเขา กล่าวว่า “หน้าที่หลักของสมองก็คือการดูแลร่างกาย ปกป้องร่างกาย ส่วนการปกป้องอัตลักษณ์คือหน้าที่เสริมของสมอง เมื่อตัวตนเรารู้สึกถูกจู่โจม สมองเราก็จะใช้วิธีการเดียวกันกับที่มันใช้ในการปกป้องร่างกาย”
ขณะเดียวกันเมื่อความเชื่อที่ตนเองยึดถือหรือพรรคและผู้สมัครที่ตัวเองเชียร์พ่ายแพ้ลง การเมืองก็กลายเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อหัวใจไม่ต่างอะไรกับการต้องสูญเสียบางสิ่งบางอย่าง ในงานวิจัยบางชิ้นจากอเมริกาพบว่า ชาวอเมริกัน 25% รู้สึกซึมเศร้าเมื่อผู้สมัครที่พวกเขาเชียร์แพ้ และคนจำนวนเดียวกันยังบอกว่าพวกเขารู้สึกเกลียดชังอีกฝ่ายที่มีความเห็นด้านการเมืองไม่ลงรอยกัน ขณะที่คนอีก 5% บอกว่าพวกเขาเคยแม้กระทั่งคิดฆ่าตัวตายเพราะการเมือง
ปฏิเสธ โกรธ ต่อรอง เสียใจ คืออารมณ์ที่เห็นได้ผ่านถ้อยคำในโพสต์ต่าง ๆ ของฝ่ายที่พ่ายแพ้หลังการเลือกตั้ง และนี่ก็คือ 4 ระยะแรกในการรับมือกับความสูญเสียก่อนที่จะไปถึงจุดที่ยอมรับได้ในทฤษฎี ‘5 ระยะการรับมือกับการสูญเสีย’ อันโด่งดังของ เอลิซาเบธ คืบเบลอร์ รอส การที่เห็นฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุนต้องแพ้ในสนามการเมืองสำหรับบางคนหมายถึงการต้องสูญเสียสิ่งสำคัญในชีวิตไป ผลสำรวจจาก Pew ในปี 2004 พบว่า 29% ของผู้ที่สนับสนุนจอห์น เคอร์รี อดีตผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีนั้น เกิดอาการซึมเศร้าเมื่อจอร์จ บุช ชนะการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน 25% ของผู้สนับสนุนรีพับลิกันก็เกิดความรู้สึกแบบเดียวกันในตอนที่บารัก โอบามา จากเดโมแครตชนะการเลือกตั้ง และมันก็คงเป็นความรู้สึกเดียวกันกับที่ชาวไทยฝ่ายอนุรักษ์นิยมกำลังรู้สึกอยู่ในตอนนี้
การรับมือกับ ‘ความสูญเสีย’ ในวันที่ยังเสียศูนย์
โทษคนอื่น บ่นระบายลงกรุ๊ปท็อปนิวส์ มองหาข้อดีของการพ่ายแพ้แบบงง ๆ ที่เราเห็นกันบนโซเชียลมีเดียของญาติผู้ใหญ่บางคนในตอนนี้อาจดูไร้สาระและเป็นการกระทำของคนแพ้แล้วพาล แต่ที่จริงการกระทำเหล่านี้คือปฏิกิริยาตอบสนองทั่วไปเมื่อมนุษย์เผชิญกับความผิดหวัง เราเองก็ยังเคยเป็น ยิ่งไปกว่านั้น นักจิตวิทยาบางคนยังแนะนำให้รับมือกับความพ่ายแพ้ในวันที่ยังเสียศูนย์ด้วยวิธีการแบบนี้ด้วยเช่นกัน
แซม ซัมเมอร์ส ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยทัฟท์ส บอกว่า การโทษคนอื่น หาที่ระบาย หรือปฏิเสธความจริงด้วยการมองหาข้อดีให้การพ่ายแพ้ ก็เป็นอีกวิธีที่ใช้ได้ผลในการรักษาจิตใจเมื่อต้องรับมือกับความพ่ายแพ้ในเกมการเมือง เหมือนที่แฟน ๆ ของสโมสรกีฬาใช้เมื่อตอนที่ทีมรักไม่สามารถคว้าชัยชนะมาได้ “วันนี้อากาศไม่เป็นใจ” “นักเตะเราเจ็บเยอะ” “กรรมการมันลำเอียง” ฯลฯ หรือการมองมุมกลับ เช่น “เอาน่า อย่างน้อยมันก็ไม่ได้ชนะทุกเขตทั่วประเทศ” “ภาคใต้ฐานเสียงเราก็ยังเหนียวแน่น” แน่นอนว่ามันอาจไม่ใช่วิธีที่ดีนักในระยะยาว แต่กว่าจะไปถึงจุดที่ยอมรับได้ ทุกคนต่างก็ผ่านจุดที่ต้องปฏิเสธความจริงกันมาทั้งนั้น
“การเปลี่ยนผ่านจากความตื่นตกใจที่พ่ายแพ้สู่สภาวะปกติไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน” เคน มุนยัว นักจิตวิทยา ให้ความเห็นเกี่ยวกับความเศร้าหลังการเลือกตั้ง “หลัก ๆ เลยมันขึ้นอยู่กับทักษะการล้มแล้วลุกเร็วของคุณและความสามารถที่จะยอมรับผลการเลือกตั้งนั้นได้”
เขายังบอกอีกว่าการไม่สามารถยอมรับความพ่ายแพ้ได้ คือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ฝ่ายที่พ่ายแพ้ยังติดอยู่ในวังวนการหาเสียงแม้จะรู้ดีว่าไม่มีวันชนะ “การปฏิเสธผลลัพธ์และการหลงผิดคิดไปว่าคุณจะสามารถคว้าชัยชนะมาได้ ทำให้คุณอยู่ในสภาวะต่อต้านและขมขื่นต่อไปอีกนาน”
อาเธอร์ บรู๊คส์ นักสังคมวิทยา แนะนำว่าทางที่จะหลุดพ้นจากวังวนนี้ได้ก็คือ อย่าคิดวนเวียนและอย่าเอาความพ่ายแพ้มาเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะนอกจากจะทำให้รู้สึกแย่แล้ว ยังทำให้ความสัมพันธ์ต่อมิตรสหายและครอบครัวที่มีความเห็นไม่ตรงกันพังลงไปอีกด้วย แค่เพราะรวมไทยสร้างชาติหรือพลังประชารัฐแพ้ ไม่ได้แปลว่าสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนฝูงที่กาพรรคส้มหรือพรรคแดงรักคุณน้อยลง
และเมื่อด่าทอต่อว่า โทษฟ้าโทษลม พยายามหาข้อดีในการพ่ายแพ้จนพอใจแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องมูฟออน มุนยัวกล่าวว่า
“การเลือกตั้งจะจบลงโดยมีทั้งเสียงส่วนมากและเสียงส่วนน้อย ถ้าคุณเป็นเสียงส่วนน้อย ลองคิดดูว่าคุณยังมอบทางเลือกอะไรให้สังคมได้อีกบ้าง เช่น คุณจะช่วยดูแล ตรวจตรา และสร้างสมดุลให้ผู้ชนะได้ไหม”
เราหวังให้แม่พลอยและพ่อเปรมทั้งหลายที่ยังไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง สามารถก้าวข้ามผ่านความเชื่อและอุดมการณ์เดิม ๆ ไปให้ได้สักวันหนึ่ง หากไม่พร้อมจะเปลี่ยนรากของความเชื่อจริง ๆ เราก็หวังให้พวกเขาเห็นว่า ความสวยงามของประชาธิปไตยคือ ต่อให้คุณจะเป็นเสียงข้างน้อยก็ไม่ได้แปลว่าคุณไม่มีสิทธิ์เปล่งเสียง และบางครั้ง การเป็นฝ่ายค้านที่คอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล (แน่นอนว่าต้องด้วยเหตุด้วยผลและด้วยข้อเท็จจริง ไม่ใช้เพียงอคติ) ก็อาจไม่แย่เท่าที่คิดก็ได้
อ้างอิง
https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0262022
https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0221870
https://www.nature.com/articles/srep39589
https://www.npr.org/sections/itsallpolitics/2012/11/07/164401177/how-to-cope-if-your-candidate-lost
https://nation.africa/kenya/health/tips/suffering-severe-post-election-grief-here-s-how-to-recover-3918632
Writer
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา
อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า
illustrator
พรภวิษย์ เพ็งเอียด
ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม