แค่นอน ทำไมต้องฝึก? ตื่น กิน เล่น นอน พ่อแม่ไม่ต้องกล่อม แต่ลูกจะนอนได้เอง
แค่นอน ทำไมต้องฝึก? ตื่น กิน เล่น นอน พ่อแม่ไม่ต้องกล่อม แต่ลูกจะนอนได้เอง
- ทำไมการพาลูกนอนถึงยาก ทำทุกวิธีลูกก็ไม่หลับจนอยากลาออกจากการเป็นพ่อแม่เพราะลูกไม่ยอมนอน
- สนทนากับผู้เชี่ยวชาญการนอนว่าด้วยเรื่อง “นอน” การหลับตาที่เป็นเรื่องง่ายของผู้ใหญ่ แต่ไม่ใช่สำหรับเด็ก
- ตื่น กิน เล่น นอน คือ คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่เปลี่ยนบทบาทพ่อแม่จากคนกล่อมเป็นไกด์นำทาง ไม่ต้องกล่อม แต่ลูกจะนอนได้เอง
พ่อแม่กล่อมลูกนอนด้วยวิธีไหน?
อุ้มหลับคาอก หลับคาเต้า ให้ขวดนม ร้องเพลงกล่อมนอน อ่านนิทาน หรือ กลับไปวิธีพื้นฐานอย่างไกวเปลจนกว่าลูกจะหลับ
การกล่อมลูกไม่ผิด แต่ ‘พลอย’ ศิราฐิณีย์ สุขชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนเด็ก (Pediatric sleep expert) บอกว่า การมีตัวช่วยการนอนให้ลูกอาจทำให้ลูกนอนยากและนอนเองไม่ได้
ทำไมลูกต้องนอนเอง? ก็แค่หลับตานอน เรื่องง่ายๆ ของผู้ใหญ่กลับเป็นเรื่องยากสำหรับเด็ก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการนอนของลูกสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ความรู้สึกทางใจของคนพานอน
หลายครั้งลูกร้องกลางดึกจนไม่มีเวลาพักผ่อน เพราะต้องกล่อมลูกนอน และบางคนเสียงลูกไม่ใช่เสียงสวรรค์เสมอไปจนอยากลาออกจากเป็นการเป็นพ่อแม่ แล้วปลอบตัวเองว่า “ทนอีกหน่อย เดี๋ยวลูกโตแล้วก็จะนอนเองได้”
ความกังวลใจที่เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ว่าจะพาเจ้าตัวน้อยหลับอย่างไรให้นอนเองได้ นอนยาว ไม่ร้องไห้กลางดึก ค่อยๆ ก่อตัวเป็นความเครียดสะสมที่อาจส่งผลต่อเวลาตื่นของลูกและความสัมพันธ์ในครอบครัว
สุดท้ายประโยคที่ว่า “ลูกนอน พ่อแม่ไม่ได้นอน” ไม่เกินจริงเลยสำหรับพ่อแม่
mappa เปิดบทสนทนากับผู้เชี่ยวชาญด้านการนอน โดยตั้งต้นจากประสบการณ์ของแม่ๆ ว่า “ทำยังไงดี ลูกไม่ยอมนอน”
วิธีแก้ฉบับผู้เชี่ยวชาญ คือ ‘ตื่น กิน เล่น นอน’ ทำแบบนี้ทุกวัน ลูกจะนอนได้เอง ขณะที่พ่อแม่ก็จะรู้สึกปลอดภัยและโอเคที่จะพาลูกนอน
ตัวช่วยใดๆ ที่พ่อแม่มี…วางไว้ก่อน เปลี่ยนบทบาทจากคนกล่อมเป็นไกด์นำทาง ค่อยๆ เสริมทักษะการนอนให้เขาหลับเองได้เร็วที่สุด
เพราะวิธีพาลูกนอน ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าตัวลูกเอง
Quiet time เวลาไร้เสียงสร้างวินัยการนอน
“การนอนเป็นพื้นฐานพัฒนาการของเด็ก ทั้งเรื่องร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา”
เด็กแรกเกิดถึง 6 เดือน ต้องนอน 14-15 ชั่วโมงและหลังจากนั้นเวลานอนจะลดลงเหลือ 12-14 ชั่วโมง
ลูกไม่ได้นอนมากไป นี่คือเวลานอนปกติของเด็กคนหนึ่งและพ่อแม่ควรเข้าใจ
“เด็กจะรู้สึกเหนื่อยเพราะไม่ได้นอนและไม่รู้ว่าจะจัดการพลังงานในตัวเขาอย่างไร มันจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กต้องนอนกลางวัน”
เด็กจะนอนกลางวันถึง 3 ขวบ และแม้เขาจะส่งสัญญาณว่า “ไม่อยากนอนกลางวัน” จากการพลิกตัวไปมา พลอยมองว่าช่วงเวลานอนกลางวันก็ยังสำคัญ
“พ่อแม่ควรจะคงเวลานอนกลางวันของลูกไว้วันละ 1 ชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง แม้ลูกจะไม่ยอมนอน ชั่วโมงนี้เรียกว่า Quiet Time เพื่อให้เด็กมีเวลาส่วนตัว เสริมจินตนาการ และทำความรู้จักตัวเอง”
การปล่อยให้เด็กอยู่กับตัวเองและ ‘นอนเอง’ จะทำให้เด็กชิน คุ้นเคย และมีวินัยการนอนของตัวเอง รู้ว่าตอนนี้เขาควรเล่นหรือนอน โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องบอก
นั่นเพราะวินัยการนอนฝึกได้ ตั้งแต่วันแรกที่ลูกเกิดมาและเจอกับพ่อแม่เป็นครั้งแรก
ทำไมการนอนต้องฝึก? นอนก็แค่นอน
กว่าเด็กคนหนึ่งจะหลับตานอน ไม่ใช่เรื่องง่าย
พ่อแม่ใช้หลากหลายวิธีกล่อมลูกทุกทาง ทั้งร้องเพลงกล่อม อ่านนิทาน กินนม หรือเข้าเต้าก็ยังไม่ได้ผล
เช่นเดียวกับปัญหาของคุณพ่อคุณแม่ที่เข้ามาปรึกษาพลอยเรื่องการนอนของลูกด้วยคำถามคล้ายๆ กันว่า “ทำยังไงดี ลูกไม่นอน”
“ลูกไม่สามารถนอนเองและนอนยาวได้ด้วยตัวเอง ถ้าไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย คือ ปัญหาหลักๆ ที่พ่อแม่เข้ามาปรึกษา สำหรับพลอย Bedtime Routine จึงสำคัญ เพราะเป็นการเตรียมสมองเด็กให้พร้อมนอนมากที่สุด”
การเตรียมขั้นแรก คือ ลูกควรมีเตียงนอนและห้องนอนของตัวเอง
เพื่อลดอัตราเสี่ยงการเสียชีวิตในเด็กและป้องกันอุบัติเหตุเมื่อพ่อแม่นอนร่วมกับเด็ก สถาบันกุมารแพทยศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatrics : AAP) ปรับนโยบายเกี่ยวกับการนอนของเด็ก ระบุว่า เด็กตั้งแต่แรกเกิดไม่ควรนอนร่วมเตียงกับพ่อแม่
พลอยแนะนำว่า ลูกควรแยกเตียงกับพ่อแม่ แต่ยังคงนอนในห้องเดียวกันได้จนถึงอายุ 1 ปี คุณพ่อคุณแม่จะได้วางใจว่าลูกปลอดภัยจากภาวะที่อาจเกิดขึ้นในเด็ก เช่น ภาวะไหลตาย
ขณะเดียวกันการฝึกลูกนอนเป็นเรื่องใหญ่และยาก พ่อแม่ต้องแข็งใจ ปล่อยให้ลูกทดลองและหาวิธีการนอนของตัวเอง
“การฝึกลูกนอนเป็นเรื่องใหญ่ เช่น ตอนแรกแม่อยากให้ลูกนอนเตียงเขาเอง แต่พ่อแม่ก็เหนื่อย เอาลูกมานอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ สุดท้ายพ่อแม่ก็ติดการให้ลูกนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ พอจะเปลี่ยนให้ลูกนอนเองก็เป็นเรื่องยาก ถ้าทุกคนโอเคก็ไม่ต้องเปลี่ยน แต่ถ้าวันหนึ่งที่พ่อแม่หรือทั้งคู่ไม่โอเคก็ต้องเปลี่ยนให้ทุกคนในบ้านมีความสุข”
แล้วเวลาพาลูกเข้านอนสำคัญแค่ไหน
“ปกติแล้วฮอร์โมนการนอนที่เรียกว่า ‘เมลาโทนิน’ จะทำงานเมื่อพระอาทิตย์ตกดินตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืนและทำให้เด็กหลับลึก เพราะการหลับลึกจะช่วยพัฒนาสมองและพัฒนาการต่างๆ ถ้าลูกหลับ 22.00 น. ร่างกายจะฟื้นฟูและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้เพียง 2 ชั่วโมง แต่ถ้านอนเร็วกว่านั้นลูกก็จะได้ประโยชน์จากเมลาโทนินได้นานขึ้น”
เวลานอนไม่ได้มีกฎตายตัว ลูกจะนอนตอนไหนก็ได้ แต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่า คือ ลูกอาจตื่นกลางดึก แล้วต้องพาลูกนอนใหม่อีกครั้ง
ขนาดผู้เชี่ยวชาญการนอนอย่างพลอยยังบอกว่า เรื่องนอนในไทยถือเป็นเรื่องใหม่
“เพราะการนอนผูกไว้กับวัฒนธรรมให้ลูกนอนกับพ่อแม่ถึงจะอบอุ่น การฝึกลูกนอนจึงเป็นเรื่องยาก ไม่กล้าที่จะปล่อยลูก แม้ว่าเราจะไม่ไหวแล้ว”
ตื่น กิน เล่น นอน วินัยการนอนที่ลูกได้นอนและพ่อแม่ได้นอน
การฝึกลูกนอนเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันแรกที่ลูกเกิด แต่ไม่ใช่การฝึกลูกนอนแบบมีพ่อแม่คอยกล่อม
นี่คือเรื่องยาก เพราะลูกไม่สามารถหลับเองได้ทันที มันเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา พ่อแม่มือใหม่อาจจะตั้งเป้าหมายอยากให้ลูกหลับภายในไม่กี่นาที แต่ปรากฎว่า ลูกไม่หลับจนเกิดเป็นความเครียดและความกังวลใจ
“การฝึกลูกนอนไม่ได้แปลว่าพ่อแม่คาดหวังให้ลูกนอนยาวได้ตั้งแต่แรก แต่มันคือการปูพื้นฐานเรื่องการนอนที่ดี เสริมทักษะพื้นฐานให้เร็วที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้”
อีกทั้งไม่ใช่การฝึกนอนแบบมีพ่อแม่กล่อมหรือมีตัวช่วยการนอนให้ลูกหลับ พลอยเรียกว่า Sleep prop
“พอมี Sleep prop เด็กจะเรียนรู้การนอนด้วยอุปกรณ์เหล่านี้ พอ sleep cycle แรกจบลง เด็กจะตื่น แล้วจะหลับต่อเองไม่ได้”
วิธีแก้ให้ลูกนอนเองตามฉบับผู้เชี่ยวชาญการนอน คือ 4 คำสั้นๆ ตื่น กิน เล่น นอน
“อาบน้ำ อ่านนิทาน เข้าเต้าหลับหรือให้ขวดนม คือ Bedtime Routine ของพ่อแม่จะเลือกการกินเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนลูกหลับ ถ้าลูกตื่นกลางดึก จะนอนต่อเองไม่ได้ เพราะไม่มีตัวช่วยให้เขาหลับ วิธีแก้คือ ใช้หลักการ ตื่น กิน เล่น นอน ทำแบบนี้ ลูกจะไม่เอาเรื่องกินกับนอนเข้าหากันและเขาจะหลับได้เอง”
คำว่า ‘เล่น’ ในขั้นตอนที่สาม อาจใช้วิธีการเล่านิทานหรือร้องเพลงให้ลูกฟังเพื่อเป็นโมเมนต์ที่ดีระหว่างพ่อแม่กับลูก แต่ไม่ใช่การร้องเพลงกล่อมเพื่อให้ลูกหลับ
“พลอยไม่ค่อยได้กล่อมให้ลูกหลับ แต่จะเป็นร้องเพลงก่อนนอนเพื่อสร้างโมเมนต์ที่ดีระหว่างกัน เพราะรู้สึกว่าถ้าร้องกล่อมลูกต้องร้องทุกวัน แล้วถ้าเราไม่อยู่ ลูกก็จะหลับเองไม่ได้”
จริงๆ แล้วการฝึกนอนไม่ได้มีกติกากำหนดไว้ว่าควรเริ่มต้นและจบลงเมื่อไร แต่เป็นการสร้างความเคยชินวันละนิด เพื่อให้ลูกนอนได้เองโดยพ่อแม่ไม่ต้องขอ
“ถ้าอยากให้ลูกนอนยาว นอนเร็ว และนอนเองเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ สิ่งเหล่านี้พ่อแม่สร้างได้ตั้งแต่ลูกเกิด แล้วเมื่อเขาทำได้ พ่อแม่จะมีเวลาพักผ่อนและจัดการตัวเองได้” พลอยทิ้งท้าย
ติดตาม mappa live ครั้งที่ 9 “นอนเถอะ…แม่ขอ” คุยกับพลอย ศิราฐิณีย์ และครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ว่าด้วยเรื่อง “การนอน” วันเสาร์ที่ 22 มกราคม 2565 ที่ Facebook Youtube และ Clubhouse ของ mappa ดำเนินรายการโดย ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ บรรณาธิการ mappa เวลา 19.00 – 20.30 น. |
Writer
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์
ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง