เมื่อผู้ชายก็ร้องไห้และอ่อนไหวได้ เพราะ ‘ความเป็นชาย’ มีหลากหลายรูปแบบ

เมื่อผู้ชายก็ร้องไห้และอ่อนไหวได้ เพราะ ‘ความเป็นชาย’ มีหลากหลายรูปแบบ

‘สีชมพูของผู้หญิง สีฟ้าของผู้ชาย’

‘ผู้หญิงเล่นตุ๊กตา ผู้ชายต้องหุ่นยนต์’

‘ผู้หญิงต้องอ่อนโยน ผู้ชายต้องเข้มแข็ง’

คำพูดต่างๆ เหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นมายาคติทางเพศอย่างหนึ่งที่มีต่อ ‘ความเป็นหญิง’ หรือ ‘ความเป็นชาย’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบแบบทวิลักษณ์ที่กล่าวถึงด้านขั้วตรงข้ามของแต่ละเพศราวกับว่าไม่ดำก็ขาว ไม่หน้าก็หลัง คล้ายกับว่าโลกนี้มีอยู่เพียงสองอย่าง

ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วหากเราเป็นคน ‘ตรงเพศ’ อย่างน้อย 2 จากทั้ง 3 ด้าน ซึ่งได้แก่ ทางกายภาพ การแสดงออก และรสนิยมทางเพศ ก็อาจไม่ได้รู้สึกว่า ‘ความเป็นเพศ’ ที่มายกชุดเหล่านี้มันเป็นเรื่องผิดปกติอะไร หนำซ้ำอาจพยายามที่จะทำอย่างไรก็ได้ให้เป็นไปตามบรรทัดฐานเหล่านั้นเพื่อ ‘เข้าพวก’ ด้วยซ้ำก็เป็นได้

เมื่อ ‘เพศชาย’ มาควบคู่กับ ‘ความเป็นชาย’ ดังนั้นเมื่อเกิดมาเป็น ‘ผู้ชาย’ จึงอาจจำเป็นต้องเป็นคนแมน เข้มแข็ง ห้ามร้องไห้ เพราะความเป็นชายนั้นถูกปลูกฝังกับเราเอาไว้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ หลายครั้งเมื่ออ่อนไหว อาจกลายเป็นไม่อาจรับความรู้สึกเหล่านั้นได้ เพราะว่ารู้อยู่แก่ใจว่ามัน “ไม่แมน” เอาเสียเลย

‘เพศสภาพ’ (Gender) กำเนิดเกิดขึ้นมาในช่วงที่ขบวนการสตรีนิยมในโลกตะวันตกริเริ่มเรียกร้องซึ่งความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งมีคำอธิบายว่า เพศสภาพ คือ เพศที่เกิดจากการ ‘ประกอบสร้าง’ ทางสังคม หาใช่เรื่องที่เป็น ‘ธรรมชาติ’ ซึ่งแน่นอนว่า มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเพศสรีระหรือเพศทางกายภาพเท่าไรนัก

จูดิธ บัตเลอร์ (Judith Butler) นักปรัชญาและนักวิชาการในประเด็นเรื่องเพศสภาพศึกษา (Gender Studies) ชาวอเมริกัน ได้เสนอถึงทฤษฎี ‘การสวมบทบาททางเพศ’ (Gender Performativity) ซึ่งอธิบายเอาไว้ว่า ‘เพศ’ คือสิ่งประกอบสร้างทางสังคม เราเป็นผู้หญิงที่สวมทับความเป็นหญิง เราเป็นผู้ชายที่สวมทับความเป็นชาย และเราปฏิบัติมันซ้ำๆ มาเป็นระยะเวลานานตามวาทกรรมที่ระบุถึงค่านิยมบางประการที่บอกเอาไว้ว่า “เป็นผู้หญิงต้องเรียบร้อย ชอบสีชมพู เป็นแม่บ้านแม่เรือน เพื่อที่โตไปจะได้แต่งงานเพื่อมีลูกและเป็นแม่ที่ดีต่อๆ ไป”

ผู้ชายเองก็เช่นกัน หากใครเกิดมาเป็นผู้ชายก็ต้องมี ‘ความเป็นชาย’ มาสวมทับและปฏิบัติตามค่านิยมเหล่านั้น ต้องแมน ห้ามอ่อนไหว พึ่งพาได้ เพื่อที่โตไป ‘เด็กผู้ชาย’ คนนั้นจะได้กลายเป็น ‘ผู้ชาย’ ที่ดีตามแบบฉบับและมีความแข็งแกร่ง ปกป้องคนรอบข้างได้

วาทกรรมและค่านิยมเหล่านั้นล้วนสร้าง ‘ขั้วตรงข้าม’ จาก ‘ความเป็นธรรมชาติ’ และเมื่อใครคนไหนไม่ได้เป็นไปตามขนบทางเพศ อาจกลายเป็นผู้ที่ ‘ผิดปกติ’ ไปจากสังคมไปเลยเสีย ทั้งที่จริงๆ แล้วนั้น ‘ความเป็นเพศ’ ที่ถูกสวมบทบาททับนั้น มันอาจไม่เป็นธรรมชาติไปเสียทีเดียว หากแต่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในหลากหลายบริบท

บทความหนึ่งที่น่าสนใจจาก a day ในประเด็นว่าด้วย ‘สุภาพบุรุษคืออะไร? ประวัติศาสตร์ความเป็นชาย จากไม่อ่อนไหวจนถึงเจ็บได้ ร้องไห้เป็น’ ผู้เขียนได้หยิบยกการวิเคราะห์จาก เจมส์ เอ. ดอยล์ (James A. Doyle) นักวิชาการตะวันตก ที่อธิบายถึงแบบฉบับของ ‘สุภาพบุรุษ’ (Gentleman) ที่สอดรับกับความเป็นชายในยุคสมัยต่างๆ เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ความคาดหวังต่อผู้ชายในแต่ละยุคสมัยย่อมมีความแตกต่างกัน ดังจะยกตัวอย่างได้ เช่น

1. ความเป็นชายในยุคกรีก-โรมัน (Epic Male) ที่เน้นการมีรูปลักษณ์ที่สวยงามตามแบบฉบับของนักรบ กล้าหาญ ซื่อสัตย์ และมีคุณธรรม

2. ความเป็นชายแบบคริสต์ศาสนา (Spiritual Male) ที่เน้นการเสียสละ เคร่งศาสนา มีเพศสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียว เพื่อให้กำเนิดบุตร

3. ความเป็นชายแบบยุคอัศวิน (Chivalric Male) ที่เน้นความกล้าหาญ จงรักภักดี และอาจมีความรักกับหญิงที่มีศักดิ์สูงกว่า

4. ความเป็นชายแบบยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance Male) ที่เน้นรอบรู้ มีเหตุผล สุภาพแต่เป็นนักปราชญ์

5. ความเป็นชายแบบกระฎุมพี (Bourgeois Male) ที่เน้นการสร้างตัวจากการทำงาน และพิสูจน์ตัวเองได้จากความสำเร็จในโลกธุรกิจ

หรือในรูปแบบถัดมาที่เราอาจคุ้นเคยกันดีอย่าง ‘ความเป็นชายและสุภาพบุรุษในแบบวิกตอเรียน’ ที่พ่วงมาด้วยความสุภาพ การช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ มีรสนิยมดี และแต่งตัวให้เป็น ซึ่งเป็นความเป็นชายและความเป็นสุภาพบุรุษในยุคที่ชาติตะวันตกต้องการแผ่ขยายอำนาจทางอาณานิคมไปยังประเทศต่างๆ นอกเหนือจากเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจแล้วนั้น เรื่องของ ‘แบบแผนทางเพศ’ เองก็เช่นกัน ไทยเองก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลทางแบบแผนวัฒนธรรม

เมื่อมาถึงในยุคปัจจุบัน ดอยล์อธิบายเรื่องของ ‘ความเป็นชาย’ ในยุคศตวรรษที่ 21 ได้อย่างน่าสนใจว่า

“ในยุคปัจจุบันนี้ สังคมเปิดรับ ‘ความเป็นชาย’ ในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น และมันไม่มีแบบอย่างที่ตายตัว หากกล่าวว่า ผู้ชายเป็น ‘ช้างเท้าหน้า’ อย่างในยุคคุณพ่อหรือคุณปู่ มันอาจล้าสมัยไปสักหน่อย”

‘Sensitive Man’ เป็นอีกตัวอย่างที่ดอยล์ยกไว้อย่างน่าสนใจ โดยกล่าวว่า ความเป็นชายในรูปแบบนี้อาจขัดกับภาพลักษณ์เดิมที่บอกว่า ผู้ชายต้องเป็นผู้นำ ห้ามอ่อนไหว ห้ามร้องไห้ แต่ในปัจจุบันนี้ ผู้ชายสามารถแสดงออกซึ่งความรู้สึกได้อย่างตรงไปตรงมา อ่อนแอได้ และอาจไม่ต้องเป็นผู้นำแบบช้างเท้าหน้าเสมอไป

เมื่อโลกเปิดกว้างขึ้น ความเป็นไปได้ใหม่ๆ กำลังบังเกิด ผู้ชายอาจกลายเป็นพ่อบ้าน มีของโปรดเป็นดอกไม้ ทานไอศกรีมสตรอว์เบอร์รี ใจดี เป็นนักสิทธิสตรี อ่อนไหว หรืออาจร้องไห้เป็นการระบายอารมณ์

โดยที่เขาเหล่านั้นเองก็เป็น ‘ผู้ชาย’ คนหนึ่ง

หากแต่ลื่นไหลกับ ‘ความเป็นชาย’

และไร้ซึ่งแบบฉบับอะไรที่ตายตัวมากั้น

ที่มา :
https://adaymagazine.com/history-of-gentleman/
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=723521291672877&id=276483199710024&set=a.276495186375492
https://www.amherst.edu/system/files/media/1650/butler_performative_acts.pdf

Writer
Avatar photo
ภาพตะวัน

แสงแดดยามเช้า กาแฟหนึ่งแก้ว และแมวหนึ่งตัว

illustrator
Avatar photo
Arunnoon

มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด

Related Posts

Related Posts