Flee : หากบ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัยจริง เราจะหนีทำไม

Flee : หากบ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัยจริง เราจะหนีทำไม

  • เส้นเรื่องหลักของ Flee ภาพยนตร์สัญชาติเดนมาร์ก คือ การหนี
  • เพราะสังคมไม่เคยปกป้องบ้านของอามิน นาวาบี ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถาน ตัวละครหลักของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ เขาจึงหนีและหันหลังให้อดีตเพื่อให้ตัวเขาเองรู้สึกปลอดกัยและมั่นคง
  • Flee จึงไม่ใช่สารคดีที่พาเราไปนั่งดูชีวิตของผู้ลี้ภัยเพียงอย่างเดียว แต่ชวนหาคำตอบว่า หากบ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัยจริง เราจะหนีทำไม

Flee เป็นภาพยนตร์สารคดีสัญชาติเดนมาร์กที่ถูกเสนอเข้าชิงรางวัลออสการ์ 3 สาขา คือ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม และภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม 

ผ่านเส้นเรื่องหลักที่เรียบง่าย คือ ‘การหนี’ ของอามิน นาวาบี ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถาน ผ่านการตั้งคำถามว่า “สำหรับคุณบ้านคืออะไร” ภายใต้ฝีมือ โยนัส โพเฮอร์ รัสมุสเซน ผู้กำกับและเพื่อนวัยเด็กของเขาด้วยภาพแอนิเมชัน 2 มิติในหลากหลายมุมมองที่มีทั้งแสงสว่างและความมืดมน

อีกทั้งยังฉายภาพความเป็นสังคมที่ไม่เคยปกป้อง ‘บ้าน’ และ ‘ผู้คน’ ทำให้เมื่อเกิดภาวะวิกฤตทุกคนจึงเลือกที่จะ ‘หนี’ มากกว่าเผชิญหน้ากับความจริง

สำหรับอามิน “บ้านคือที่ที่ปลอดภัย ที่ที่เราอยู่ได้ เป็นที่พักพิงให้เราไปต่อ ไม่ใช่การพักพิงชั่วคราว”

ภาพยนตร์สารคดีจึงชวนหาคำตอบว่า หากบ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัย แล้วเราจะหนีทำไม

บ้าน ‘หนี’ จึงต้อง ‘ไกล’ บ้าน

อามินเป็นเด็กเมืองคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน แต่ต้องลี้ภัยออกจากเมือง ทำให้บ้านของอามินค่อยๆ เล็กลงและ ‘ไกล’ ขึ้น

นั่นก็เพราะทุกคนต้อง ‘หนี’ และ ‘เดินทาง’ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ขณะเดียวกันก็ต้องแลกมาด้วย “ความเจ็บปวด ความเครียด และการจากลา”

อามินคือน้องคนเล็กที่เห็นพี่เก็บกระเป๋าและจากเขาไปทีละคน

ความสุขเดียวของอามิน คือ ชุดกระโปรงของพี่สาว หมากเก็บ และพื้นที่วิ่งเล่น

แต่ทุกอย่างพังทลายลงเมื่อเกิดสงคราม ครอบครัวอามินจึงตัดสินใจบอกลาบ้าน แล้วไปอยู่บ้านใหม่ในรัสเซีย 

บ้านที่แปลว่าห้องพักในอะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง กิจกรรมหลัก คือ การดูละครน้ำเน่ารัสเซีย

แรกๆ ละครก็สนุกดี แต่มายาย่อมมีวันหมดอายุเมื่อเผชิญกับความจริงในทุกๆ วัน พร้อมกับความหวังที่เหือดหายไปตามกาลเวลา

เพื่อชีวิตที่มั่นคงและปลอดภัย ครอบครัวอามินจึงหนีอีกครั้ง เดินตามรอยวิถีคนค้ามนุษย์ แม้จะรู้ว่าผิด แต่นี่เป็นวิธีการเดียวที่จะทำได้

สุดท้าย แผนการนี้ล้มเหลว เพราะเรือผิดกฎหมายลำนี้ล่องไปถึงหูของ ‘รัฐ’

ทุกคนถูกส่งกลับบ้านหลังเดิมและรอคอยว่าวันหนึ่ง พวกเขาจะย้ายประเทศสำเร็จและคว้าความมั่นคงและปลอดภัยมาได้

นี่เป็นเพียงวัฏจักรการหนีของครอบครัวหนึ่งที่ใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง 

หากถอยออกมาจากภาพยนตร์สารคดีจะสังเกตว่า ตัวละครหลักของเรื่องไม่ใช่อามินแต่เป็น ‘สังคม’

เนื่องจากสังคมไม่เคยปกป้องบ้านของอามิน แต่บังคับให้บ้าน ‘หนี’ อามินออกไปไกลเรื่อยๆ 

และคงดีกว่านี้ ถ้าสังคมลุกขึ้นมาปกป้องบ้านของอามินสักครั้ง อามินคงไม่ต้องหนีและบ้านคงไม่หนีอามินไป

ครอบครัวคือพื้นที่ปลอดภัย แม้ไม่อยู่ด้วยกัน

การจากลา คือ เรื่องปกติของความสัมพันธ์

ชีวิตของอามินเองก็เจอกับการจากลาของคนในครอบครัวทั้งพี่ๆ และแม่ ทุกคนแยกย้ายกันไปเติบโตตามเส้นทางของตัวเอง แต่อามินยังเชื่อว่า ครอบครัวคือคนสำคัญในชีวิตเขาเสมอ

“ครอบครัวสำคัญกับผมมาก ครอบครัวคือจุดอ้างอิงในชีวิตเส็งเคร็ง ผมไม่อยากสูญเสียพวกเขาไป”

คือความคิดของอามินก่อนเปิดอกบอกพี่ชายอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาคือ LGBTQ+

เพราะสังคมในช่วงเวลานั้นการยอมรับว่าคนในครอบครัวเป็นเพศทางเลือกไม่ใช่เรื่องง่าย อามินรู้ดี

แต่คนที่รู้ดีกว่า คือ พี่ชายของเขา “พี่เห็นมาตั้งแต่เด็ก พี่จะไม่รู้ได้ยังไง” 

คำพูดของพี่ชายที่ปลดล็อกใจอามินที่เชื่อว่า “ฉันเป็นฉันมันดีที่สุดแล้ว”

ต่อจากนี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นครอบครัวจะอยู่ข้างเขาเสมอ แม้จะไม่อยู่ด้วยกันก็ตาม

ถึงเวลาหยุด ‘หนี’ เพื่อเติบโต

การเผชิญหน้ากับอดีตเป็นสิ่งที่อามินหลีกเลี่ยงมาตลอด 10 ปี

“อย่าบอกว่าครอบครัวยังมีชีวิตอยู่ ไม่งั้นเขาจะส่งเธอกลับประเทศ”

ประโยคสุดท้ายของนายหน้าค้ามนุษย์ที่สนามบินเพื่อเปลี่ยนเครื่องไปสนามบินปลายทางเดนมาร์กส่งผลให้อดีตที่มีความทรงจำ ความสุข เศร้า ความห่วงใย และการจากลาของครอบครัวถูกปิดเป็นความลับ 

อามินเฝ้าบอกตัวเองเสมอว่า เขาไม่มีครอบครัว ทั้งๆ ที่ความจริงไม่เป็นแบบนั้น แต่มันเป็นวิธีเดียวที่เขาจะรู้สึกปลอดภัยและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

สวนทางกับความรู้สึกจริงของอามินที่หันหลับมามองตัวเองว่า “ผมโตเร็วเกินไป เราหนีมาตั้งแต่เด็ก ต้องใช้เวลาเรียนรู้ในการไว้ใจใครสักคน”

ที่ผ่านมา ครอบครัวเป็นเรื่องที่อามินล็อกกุญแจแล้วซ่อนทุกอย่างไว้ซอกลึกที่สุดของความรู้สึกเพราะมันเป็นความลับ

ทุกคนโตมากับอดีตที่ไม่อยากเปิดเผย เพราะหลายๆ ครั้งตัวเรามักคิดเข้าข้างตัวเองว่า การเก็บไว้อาจดีกว่าเปล่งเสียงออกไป แต่เราเชื่อว่า ทุกการเริ่มต้นใหม่มันยากเสมอ การเผชิญหน้ากับอดีตก็เช่นกัน

Flee จึงไม่ใช่ภาพยนตร์ที่บอกให้เราวิ่งหนี แต่บอกให้ลดความถี่ในการซอยเท้าวิ่งลง แล้วคุณจะรู้ว่าอดีตไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่มันเป็นพื้นที่เจ็บปวดที่อาจจะทำให้เราเติบโตอย่างแข็งแรงได้ในวันหนึ่ง 

Writer
Avatar photo
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

illustrator
Avatar photo
ชินารินท์ แก้วประดับรัฐ

มีงานหลักคือฟังเพลง งานอดิเรกคือทำกราฟิกที่ไม่มีอะไรตายตัว บางครั้งพูดไม่รู้เรื่องต้องสื่อสารด้วยภาพและมีม

Related Posts

Related Posts