“วันไหนก็ตามที่เด็กไม่จำเป็นต้องมีเราแล้ว นั่นคือวันที่เรามีความสุขที่สุด” ครูเม-ตามใจนักจิตวิทยา ครูมาร์ค-ห้องเรียนครอบครัว

“วันไหนก็ตามที่เด็กไม่จำเป็นต้องมีเราแล้ว นั่นคือวันที่เรามีความสุขที่สุด” ครูเม-ตามใจนักจิตวิทยา ครูมาร์ค-ห้องเรียนครอบครัว

  • นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด และนักอะไรก็ตาม ล้วนต้องการ ‘คนฟัง’ เราทุกคนล้วนต้องการคนคนนั้น
  • ส่วนผสมที่ลงตัวของ ครูเม เมริษา ยอดมณฑป เจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ และครูมาร์ค เจ้าของเพจ ‘ห้องเรียนครอบครัว’ ชวนให้เราอยากรู้ว่าทั้งสองมีเบื้องหลังและสูตรอะไรในการปรุงชีวิตให้เติบโต
  • ทั้งสองเรียนรู้ที่จะเข้าใจ เติบโต และช่วยกันมองหา ‘บุคคลที่สาม’ ที่ทำหน้าที่ ‘รับฟัง’ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่ทั้งสองใช้บาลานซ์ชีวิตของตัวเอง

“เราก็เหมือนพ่อแม่มือใหม่” ครูเม เมริษา ยอดมณฑป เจ้าของเพจตามใจนักจิตวิทยา และ ครูมาร์ค เจ้าของเพจห้องเรียนครอบครัว พูดถึงบทบาทของตัวเองในห้องเรียนครอบครัว ที่คนหนึ่งเป็นเหมือนไม้อ่อน ขณะที่อีกคนเป็นไม้แข็งหนักแน่น 

เช่นเดียวกันกับบทบาทในความความสัมพันธ์ที่อาจจะต้องเรียกร้องความยืดหยุ่นมากกว่านั้น เมื่อต่างคนต่างตะโกนเสียงที่อยู่ในใจไม่เหมือนกัน มันจึงต้องการตัวกลางคอยซับเสียง

ครูเมและครูมาร์คที่มาจากพื้นฐานครอบครัว การศึกษาที่ต่างกัน แต่กลับมาสร้างห้องเรียนด้วยกัน 

พูดง่ายๆ คนหนึ่งคือนักจิตวิทยาอีกคนคือนักกิจกรรมบำบัด แต่ต้องมารักษาคนไข้คนเดียวกัน 

ความต่างไม่ได้แปลว่าตรงกันข้าม มากกว่านั้นความต่างอยู่ข้างๆ กันก็ได้ ระหว่างทางของครูเมกับครูมาร์คมีทั้งช่วงที่ขรุขระและราบเรียบเหมือนๆ กับคนอื่นแต่ทั้งคู่ไม่เคยปล่อยมือกัน หนึ่งในกุญแจสำคัญของเรื่องนี้คือ คนฟัง 

บทสนทนาระหว่าง mappa กับครูมารค์ครูเมชิ้นนี้ แค่อยากบอกว่านักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด และนักอะไรก็ตาม ล้วนต้องการคนฟัง 

ฟังอย่างบุคคลที่สามที่ไม่คล้อยตามแต่สะท้อนให้เห็นตัวเอง 

เราทุกคนต้องการคนๆ นั้น 

ขอย้อนถามถึงจุดเริ่มต้นของห้องเรียนครอบครัว 

ครูเม : ตอนแรก ครูเมทำงานที่คลินิกเล็กๆ , โรงพยาบาล ทำหลายที่ แต่ปัญหาหลักๆ ที่เราพบคือ เราพยายามเต็มที่ เด็กๆ ก็พยายามเต็มที่   แต่พอกลับบ้านไปมันก็ยังไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะสภาพแวดล้อมยังเหมือนเดิม คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะยังใช้วิธีเดิมในการตอบสนองเขา แม้พ่อแม่จะได้ฟังสรุปท้ายชั่วโมงว่าวันนี้ลูกเป็นอย่างไร แต่ก็อาจจะยังไม่เข้าใจว่าแล้วต้องกลับไปทำอย่างไร หรือมีเวลาในการคุยกับคุณพ่อคุณแม่น้อยเกินไป 

เพราะว่าทุกครั้งที่เด็กคนหนึ่งมีปัญหา โรงเรียนหรือผู้ใหญ่ก็จะมองว่าให้พาเด็กไปฝึกนะ ให้พาเด็กไปหาหมอนะ แต่เรารู้ไหมว่าที่มาที่ไป ต้นเหตุอาจจะมาจากสภาพแวดล้อมด้วย 

เราพบว่า บางครั้งการที่เด็กเป็นโรคโรคหนึ่ง ต้นเหตุสามารถมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม หรือสภาพแวดล้อม ก็เป็นได้ และเด็กบางคนอาจจะเกิดจากสภาพแวดล้อมโดยตรงไม่ได้มีพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ซึ่งสภาพแวดล้อมในที่นี่อาจจะหมายถึงการเลี้ยงดูจากพ่อแม่และโรงเรียนที่เขาเข้าไปเรียนรู้ หรือสภาพแวดล้อมใดก็ตามที่เด็กเข้าไปอยู่ ดังนั้นการแก้ปัญหาเพียงเด็กอย่างเดียว อาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะสุดท้ายต่อให้เด็กเปลี่ยนไปแปลงไปมากเพียงใดเด็กก็กลับไปสู่สภาพแวดล้อมเดิมอยู่ดี

ปัญหาสองที่พบ ในระบบที่เราเข้าไปอยู่ การทำงานในลักษณะสหวิชาชีพ เราแบ่งเป็นทีมต่างๆไม่ว่าจะเป็น ทีมด้านแพทย์ นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด นักอรรถบำบัด(แก้ไขการพูด) ครูการศึกษาพิเศษ และอื่นๆ แต่ละทีมเราส่งต่อเคสด้วยกัน คนไข้คนหนึ่งไปพบหลายทีม แต่ละทีมมีเวลาคุยกันน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเจอกันแค่เวลาส่งเคส 

ดังนั้น เคสมีมาก แต่เวลาที่นักบำบัดได้คุยกันน้อย คนไข้หนึ่งคนมีหลายมิติ เรื่องเวลาที่มีน้อยจึงส่งผลต่อการทำงานอย่างจริงจัง 

สำหรับครูเม ครูมาร์คพอหมดเวลางานแล้วเราชอบมาคุยกันว่าวันนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง แล้วเราจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น เราจริงจังว่าเราอยากจะช่วย เราอยากจะเปลี่ยนเด็กจริงๆ แต่พอมันเป็นในระบบงาน พอจบงานก็ต้องทำงานเอกสารจำนวนมาก อันนี้เป็นข้อที่สาม เวลาเราหมดไปกับระบบเอกสาร เด็กหนึ่งคนเราทำรายงานค่อนข้างเยอะ 

ครูมาร์ค : เราต้องมานั่งพิมพ์เอกสารสรุปคอร์สของเด็ก แล้วข้อจำกัดอีกอย่างคือเวลางาน ถ้าสมมติเป็นงานประจำ เลิกงานคือจบ ต่างคนต่างแยกย้าย นักบำบัดที่อยู่คนละทีมก็ไม่ได้มีโอกาสมาพูดคุยกันต่อ ทั้งเอกชนและรัฐบาลต่างก็มีงานเอกสาร แต่เราอยากจะใช้เวลากับเด็กและพ่อแม่มากขึ้น 

เราพบว่าการพูดคุยสั้นๆ แค่ 5 หรือ 10  นาที กับคุณพ่อคุณแม่ท้ายคาบทุกครั้ง มันมีประโยชน์มากกว่า การส่งเอกสารหรือรายงานไปให้คุณพ่อคุณแม่อ่าน 

ข้อจำกัดอีกข้อหนึ่งคือ เราอยากให้เด็กมีพื้นที่ในการสัมผัสธรรมชาติ ห้องคลินิกหรือห้องในโรงพยาบาล เราไม่สามารถปล่อยเขาออกไปสูดอากาศข้างนอก หรือไปเล่นดินเล่นทรายได้ ไม่ว่าเด็กๆ จะมีปัญหาพฤติกรรมหรือไม่มีก็ตาม แต่ธรรมชาติของเด็กทุกคนต้องการพื้นที่ในการวิ่งเล่นและพื้นการฝึกที่เป็นธรรมชาติ ก็เลยตัดสินใจว่าโอเค ทั้งหมดนี้มันไม่ตอบโจทย์ต่อให้เราอยากช่วยมากแค่ไหน มันไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืน เราอยากทำอะไรมากกว่านี้  

ครูเม : ที่นี่เราเน้นว่าเด็กมาเรียน พ่อแม่ต้องมาเรียนด้วย เลยชื่อห้องเรียนครอบครัว เพราะเราจะไม่ต้องการเปลี่ยนแค่เด็ก ครอบครัวควรเปลี่ยนไปด้วยกัน เราแก้ไปด้วยกัน 

ครูมาร์ค : การที่เราจะบำบัดเด็กคนหนึ่งมันต้องมีทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก แล้วห้องที่จำกัดขนาดอาจไม่ครอบคลุมการพัฒนาด้านต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ด้วย เราอยากหาสถานที่ที่มันมีธรรมชาติด้วย หลายๆ ที่ก็คงมีหญ้าเทียมอยู่แล้วแต่จะทำอย่างไรให้เด็กได้มีหญ้าจริงๆให้เขาได้เหยียบ ให้เขาได้เล่น หรือมีร่มไม้จริงๆ ร่มไม้ใหญ่ๆ ที่เขาเอาไว้บดบัง เพื่อทำกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ ได้มากขึ้น

ครูเม : เพราะหญ้าจริงสามารถกระตุ้น sensory เด็กได้อย่างไม่น่าเชื่อ 

ครูมาร์ค : ถ้าเป็นหญ้าจริงอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเพิ่ม เช่น ดิน ทราย หรือหิน ที่เวลาเด็กย่ำไปหนึ่งครั้งเขาอาจจะได้รับสัมผัสมากกว่า หรือเหยียบไปแต่ละครั้ง ถ้าเป็นหญ้าเทียม ฝีเข็มของหญ้ามันอาจจะมียอดเท่าๆ กันหมด แต่หญ้าจริงๆ จะคาดเดาไม่ได้

ครูเม : แล้วบางวันฝนตก บางวันไม่ตก สำคัญคือกล้ามเนื้อของเท้า ถ้าเด็กที่มีปัญหาเรื่องเท้าแบนหรือมีปัญหาฝ่าเท้าไม่แข็งแรง เราให้เด็กถอดรองเท้าตั้งแต่เดินเข้ามา เขาจะได้สัมผัสหลายพื้นผิวมาก รวมทั้งไปวิ่ง เราให้เขาถอดรองเท้าวิ่ง ตอนแรกเด็กอาจจะบอกว่าทำไมมันเจ็บทำไมยากจัง เหนื่อยจัง แต่เพราะว่าความแข็งแรงที่เขาจะได้จากการวิ่งเท้าเปล่ามันเยอะกว่าการที่เขาใส่รองเท้า มันจะช่วยเขา กล้ามเนื้อจะแข็งแรงต่างกัน

พอมาทำห้องเรียนครอบครัว ระบบที่ทั้งคู่ออกแบบกันเอง อธิบายคร่าวๆ ได้ไหมว่ามันเป็นอย่างไร

ครูเม : สำหรับระบบ เราก็เหมือนพ่อแม่มือใหม่ แรกๆ เราใจดีมากเพราะกลัวว่าจะทำอะไรผิดพลาด เราเลยเลือกทางอ่อนไว้ก่อน ช่วงแรกเรียกได้ว่าเราทำให้เคสถูกตามใจ ถ้าเคสบอกว่าเลื่อนเวลาได้ไหม วันนี้ไม่ทำได้ไหม หรือวันนี้ขอลายาว เราโอเคหมดเลย เราไม่กล้าที่จะเฟิร์ม(หนักแน่น) กับเขา เรามือใหม่ด้วย แล้วเราก็กลัวหลายอย่างด้วยว่าเราจะทำได้ดีไหม ถ้าเราแข็งคุณพ่อคุณแม่จะมองอย่างไร 

แต่สุดท้ายแล้วการใจดีจนใจอ่อนเป็นผลเสียที่ใหญ่หลวงกว่า สุดท้ายแล้วใจดีเคสก็หลุดอยู่ดีเพราะเขารู้สึกว่าอาจจะมีบางทีที่เฟิร์มกว่า หรือสุดท้ายแล้วผลลัพธ์ไม่เกิด คุณพ่อคุณแม่ต้องการผลลัพธ์ ที่นี่แม้ว่าเราจะหวังผลลัพธ์เช่นกัน แต่เราเน้นกระบวนการมากกว่า 

เลยคุยกับครูมาร์คว่า ที่ผ่านมาเราใจดีทั้งเรื่องของความถี่ ถ้าเราประเมินว่าน้องจำเป็นต้องเรียนสองวัน ครั้งละสองชั่วโมง แต่คุณพ่อคุณแม่บอกว่าไม่สะดวก งั้นไม่เป็นไร คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องลง เพราะมันจะไม่ได้ผลดีกับน้องหรือคุณพ่อคุณแม่เลย ลงไปมันไม่ได้ผล เราก็จะไม่หลอกตัวเองว่ามันจะได้ผล อันนี้คือเราเริ่มเฟิร์ม 

สองคือเรื่องของกติกาแต่ก่อนเราคุยว่า ถ้าคุณพ่อคุณแม่สะดวกก็ทำ แต่ตอนนี้เราเน้นย้ำว่าขอความถี่สองวันต่อสัปดาห์แล้วส่งการบ้านให้เราด้วย 

สุดท้ายก็คือการพูดคุย แต่ก่อนเราจะคิดว่าแล้วแต่คุณพ่อคุณแม่ ถ้ามีปัญหาก็นัดหมายเข้ามาคุยได้ แต่ตอนนี้ครูเมครูมาร์คมองว่า เพื่อป้องกันความไม่เข้าใจ  คอร์สแรกคุณพ่อคุณแม่ต้องมาเรียนทุกครั้งที่ลูกมาเรียน คือปูพื้นให้คุณพ่อคุณแม่เลย แล้วค่อยๆ ลดความถี่มาคุยลง เพราะสุดท้ายแล้วต่อให้ลูกไม่เรียนต่อที่นี่ คุณพ่อคุณแม่จะทราบวิธีการไปปรับใช้ต่อ เพราะเข้าใจพัฒนาการลูก รู้ว่าลูกขาดอะไร หรือเพิ่มอะไรได้อีก ลูกทำอะไรได้บ้าง จากนั้นให้คุณพ่อคุณแม่ออกแบบเป้าหมายร่วมกันกับเรา

ที่นี่เพิ่งวางหลักสูตร ครูเมครูมาร์คคุยกันว่า ถ้าวิชาชีพสองวิชาชีพรวมกัน (จิตวิทยาและกิจกรรมบำบัด) เราจะทำหลักสูตรแบบไหนกันดี

ข้อแรกเลยคือการเติบโตอย่างยั่งยืน เราจึงเลือก Self-growth ซึ่งหมายถึงการเติบโตทั้งกายใจอย่างยั่งยืนและเป็นการเติบโตด้วยตนเอง โดยฐานของ Self-Growth ต้องเริ่มจากการเติมเต็มฐานกายก่อน ดังนั้นในฐานล่างสุดเด็กทุกคนที่เริ่มต้นที่นี้ต้องเติมเต็มจาก ส่วนประกอบแรกคือSelf-care คือ การดูแลร่างกายตัวเองเบื้องต้น หรือ การช่วยเหลือตัวเองนั่นเอง เช่น การกินข้าวเอง อาบน้ำเอง แต่งตัวเอง ใส่รองเท้าเอง เก็บของเอง ซึ่งปลายทางของ Self-care คือSelf-Responsibility เมื่อเด็กเรียนรู้รับผิดชอบดูแลตัวเองได้แล้วในขั้นนี้เขาจึงเรียนรู้ท่ีจะรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่เข้าได้รับมอบหมาย เช่น การทำงานกลุ่มกับเพื่อน เราได้รับหน้าที่อะไร เรารับผิดชอบเรื่องนั้นอย่างเต็มที่

ส่วนประเด็นที่สอง Self-control คือการยับยั้งชั่งใจ ที่นี่มีกฎแค่สามข้อคือ ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำลายข้าวของ ถ้าเด็กๆ ไม่ทำตามกติกาตรงนี้ คุณครูก็จะสอนและพาทำนอกจากกฎ 3 ข้อนี้ แต่ละกิจกรรมหรือเกมจะมีกติกาที่เด็กๆ ต้องเรียนรู้และทำตาม ปลายทางของการมี Self-Control ที่ดี คือ การเคารพตนเองและเคารพผู้อื่น เด็กเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบและทำตามกติกานั้นได้ เขาจะค่อยๆ เรียนรู้การเข้าสังคม ถ้าเด็กยังไม่ยอมทำตามกติกาสามข้อนี้ เขาจะปรับตัวและทำตามกติกาอื่นๆ ได้ยาก เพราะนั่นหมายความว่าเขายังยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เราควรต้องมองเห็นซึ่งกันและกันเสียก่อน

สุดท้ายก็คือ Self-confident ที่จะนำไปสู่ self-esteem อันนี้ ความมั่นใจในตัวเองไม่ได้เท่ากับการกล้าแสดงออก แต่หมายถึงการเป็นตัวของตัวเอง และสามารถบอกความต้องการ และปฏิเสธได้อย่างเหมาะสม ถ้าเด็กอยากได้อะไร เด็กสามารถพูดกับเพื่อนได้ไหม หรือว่าถ้าต้องการความช่วยเหลือ เด็กสามารถขอความช่วยเหลือได้ไหม ที่สำคัญคือเจอปัญหาหรือกิจกรรมที่ยากและท้าทาย เด็กมั่นใจที่จะลงมือทำด้วยตัวเองไหม ซึ่งไม่ได้แปลว่าเด็กที่มั่นใจในตัวเองต้องเป็นเด็กที่เก่ง หรือ ทำได้มากกว่าเด็กคนอื่น แต่ที่มั่นใจในตัวเองคือเด็กที่ประเมินตัวเองได้ว่าตนสามารถทำอะไรได้บ้าง และทำได้มากน้อยเพียงใด เมื่อประเมินได้แล้ว เขาจะลงมือทำอย่างมั่นใจ หรือ กล้าขอความช่วยเหลือเมื่อทำไม่ได้ และถึงแม้ว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่ได้ดีที่สุด แต่เด็กที่มั่นใจในตัวเองจะไม่ด้อยค่าตัวเอง

สุดท้ายแล้วเด็กๆ ที่นี่จะประสบความสำเร็จด้านวิชาการหรือไม่ก็ตาม หรือในชีวิตเขาจะได้รางวัลกี่ร้อยกี่พันอย่าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราวางรากฐานให้เขาคือ ถ้าวันหนึ่งเขาแพ้ เขาล้มแล้วเขาจะลุกขึ้นมาได้ 

เราไม่ได้สนใจว่าเขาจะต้องประสบความสำเร็จเรื่องอะไร ดังนั้นเวลาเด็กๆ เจอกิจกรรมที่นี่ (ห้องเรียนครอบครัว) ก็ถือว่าโหดพอสมควร ถ้าเด็กทำกิจกรรมแล้วไม่ได้ตั้งแต่ 1 ถึง 10 เราจะให้เขาไปเริ่มที่ 1 เพราะเราอยากให้เขายืนได้ด้วยตัวเองจริงๆ ไม่ใช่พอไม่มีเราแล้วเขานับหนึ่งเองไม่ได้ 

ขั้นสุดท้ายของหลักสูตรของที่นี่คือ การที่เด็กไม่จำเป็นต้องมีเราแล้ว เด็กที่นี่พออายุเจ็ดขวบหรือบางคนอาจจะอายุน้อยกว่านั้นแต่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง ครูเมครูมาร์คจะถามเขากับคุณพ่อคุณแม่ว่าคิดว่าที่นี่ยังจำเป็นไหม มีอะไรที่ครูเมครูมาร์คยังจำเป็นต้องช่วยอีกไหม ถ้าคิดว่าโอเค เขาพัฒนาสมวัยแล้ว เขาไม่จำเป็นต้องมาที่ห้องเรียนครอบครัวเพื่อมาเจอครูเมครูมาร์คแล้ว และเขาสามารถไปเลือกสิ่งทำในสิ่งที่เขาสนใจได้ เพราะเป้าหมายสูงสุดของที่นี่คือ วันไหนก็ตามที่เด็กไม่จำเป็นต้องมีเราแล้ว นั่นคือวันที่เรามีความสุขที่สุด 

ที่ครูเมบอกว่าตัวเองเหมือนพ่อแม่มือใหม่  เข้าใจว่ามันก็ต้องผ่านอะไรมาเยอะมากอะไรที่ทั้งคู่รู้สึกว่าเป็นความผิดพลาดที่นำไปสู่การเรียนรู้ที่สำคัญ

ครูเม : ที่นี่เราทะเลาะกันจริงจังเรื่องงาน  คุยกันว่าทำไมเราถึงรู้สึกไม่ดีทั้งที่เด็กก็มีความสุขดีแต่ทำไมเรายังรู้สึกว่ามันไม่ใช่ พอเลิกงาน มันคือตัวเราอยู่แล้ว เรายังคุยเรื่องนี้กันต่อ เราทำเต็มที่ของเราหรือยัง 

ครูเมครูมาร์คบอกพ่อแม่เสมอว่า การที่เด็กมาที่นี่เพื่อหวังความสนุกเป็นสำคัญ เด็กอาจจะผิดหวัง เพราะเราอาจจะไม่ใช่ที่ที่สนุก หรือ เป็นที่ที่เด็กชอบ แต่ที่นี่จะทำให้เด็กสร้างความสุขได้ด้วยตัวเอง นั่นคือสิ่งที่เราต้องการ เพราะสุดท้ายแล้วคนที่สร้างความสุขได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องรออย่างเดียว 

ซึ่งการสร้างความสุขได้ด้วยตัวเองคือเขาช่วยเหลือตัวเองได้ ทำให้ตัวเองพัฒนาสมวัย วัยนี้ควรทำอะไรได้ เพื่อเขาจะได้ค่อยๆ เรียนรู้และเติบโตต่อไปได้ด้วยตนเอง

ครูเมจะดีใจมากถ้าเด็กบอกว่าวันนี้ช่วง Free Play (เล่นอิสระ) อยากลองไปทำฐานเล่นเอง แต่ถ้าเด็กบอกว่าให้ครูเมหาอะไรให้เล่นหน่อยสิ อันนี้เราจะรู้สึกแล้วว่าเขายังต้องพึ่งพาให้เราสร้างความสนุกให้กับเขา ดังนั้นเราอยากจะให้เด็กสร้างด้วยตัวเองให้ได้ 

ก็เลยทำให้ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนว่าเราจะไม่พยายามทำให้ทุกคนพึงพอใจ หรือ พยายามเอาใจเด็กแต่อย่างใด แต่เราจะทำเต็มที่เพื่อให้เด็กคนหนึ่งโตสมวัย และโตเต็มศักยภาพเขา คุณพ่อคุณแม่จะเร่งเราอย่างไรเราก็จะบอกว่าไม่ได้ น้องยังอยู่ตรงนี้ น้องยังไปตรงนั้นไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่เราจะรักษาสิทธิ์ของเด็ก และในขณะเดียวกันในเด็กที่ทำได้มากกว่าที่พ่อแม่คิด

เราจะเน้นย้ำว่าให้พ่อแม่เชื่อมั่นมากกว่านี้และปล่อยให้ลูกได้ลงมือทำเอง เราไม่ควรดูถูกศักยภาพเด็กเช่นกัน

แล้วครูมาร์คประสานกับครูเมอย่างไร 

ครูมาร์ค : จริงๆ ก็ได้เรียนรู้จากครูเมในหลายๆ เรื่อง เรื่องของความจริงจังในการทำงาน แม้กระทั่งเลิกงานเราก็ยังคุยเคสกัน บางทีก็ถึงเที่ยงคืนตีหนึ่งแต่เราไม่ได้เอาปัญหาของเคสมาปะปนกับชีวิตส่วนตัวนะ แต่เวลาคุยแล้วรู้สึกว่ามันคือตัวตนของเรา เราก็คุยเหมือนเรื่องปกติทั่วไปที่เกิดขึ้นในทุกๆ วัน แต่บางครั้งก็จะมีความเห็นต่างกัน เช่น ครูเมถามว่าทำไมครูมาร์คทำแบบนี้ ทำไมไม่ทำแบบนี้ล่ะ แต่สุดท้ายเราก็ต้องมาปรับเข้าหาตรงกลางว่าเราทำแบบนี้ได้ไหม

ครูเม : ครูเมกับครูมาร์คนี่คนละขั้วกันเลย ครูเมจะเป็นประเภทที่ฮาร์ดคอร์พอสมควร คือบ้างานพอสมควร ค่อนข้างรักในงานที่ทำแล้วอยากทำให้มันดีที่สุด 

Perfectionist หรือเปล่า

ครูมาร์ค : ใช่ครับ (หัวเราะ)

ครูเม : จริงๆ ครูเมจะเคี่ยวเข็ญกับตัวเองพอสมควร เรียกว่าโบยตี เฆี่ยนตีตัวเอง ไม่ค่อยใจดีกับตัวเอง เลิกงานแล้วต้องทำต่อ เราก็โอเคที่จะทำต่อ ขอแค่งานมันเสร็จ เราดีใจละ แต่ถ้าไม่เสร็จเราจะไม่โอเค

ครูมาร์ค : ส่วนใหญ่ครูมาร์คจะไม่ไปเสริมอะไรของครูเมมาก จะเป็นคนเบรกมากกว่าว่าพักได้แล้ว ดูซีรีส์กันไหม 

ครูเม : แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าครูมาร์คจะเป็นคนเข้มงวด เด็กทุกคนก็จะเข้าใจแบบนั้นด้วยเหมือนกัน (ยิ้ม) 

แบ่งคาแรคเตอร์กันไหมเวลาอยู่กับเด็ก

ครูมาร์ค : จริงๆ ไม่ได้แบ่ง แต่ตัวตนเป็นแบบนี้อยู่แล้ว

ครูเม : เราใช้ตัวตนของเราในการเข้าหาเด็ก

ครูมาร์ค :ในการสร้างความสัมพันธ์เราก็ให้เด็กรู้จักตัวเราในแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องแสดง ครูมาร์คก็เข้มงวด ชัดเจน ในบางเวลาก็ตลก

ครูเม : เด็กหลายคนจะบอกว่าครูมาร์คเป็นคนตลก เด็ก 4-5 ขวบจะชอบแบบครูมาร์คมีมุกอะไรมาเล่าวันนี้ มุกห้าบาทสิบบาท

ครูมาร์ค : เช่น นี่คือสตอเบอร์รี่ แล้วถ้าสตอเบอร์รี่ผลใหญ่เราจะเรียกว่าอะไร สตอเบอเร่อไง แค่นี้ เด็กๆ ก็หัวเราะกันไม่หยุด

มันเป็นเรื่องของพัฒนาการทางภาษา เพราะการเล่นมุกที่ซับซ้อนมากเด็กเล็กๆ จะไม่เข้าใจ แต่ถ้าเล่นในมุกที่พูดผิด เขาก็จะเข้าใจแล้วหัวเราะ

ครูเม : ครูเมจะไม่เล่นมุก แต่จะพูดแล้วลิ้นพัน เด็กก็จะขำ

เพราะบางทีครูเมเป็นคนที่คิดเยอะแล้วเวลาที่พูดกับเด็กจะต้องใช้คำที่ง่ายที่สุด ครูเมว่าครูเมพูดกับผู้ใหญ่ง่ายกว่า แต่ครูมาร์คจะเก่งกับการพูดกับเด็กมากกว่า เพราะมันต้องไม่ซับซ้อน เพราะการพูดอ้อมค้อม เด็กไม่เข้าใจ ตอนนี้เราก็สั้นกระชับขึ้น อันนี้เราก็ได้จากครูมาร์ค ครูมาร์คเป็นคนที่สั้น กระชับ แต่ก่อนบทความครูเมจะเป็นแนวเยิ่นเย้อ หลังจากนั้นก็พัฒนาขึ้นเพราะอยู่กับครูมาร์ค 

การทำงานด้วยกันมันต้องทะเลาะกันโดยเฉพาะคนที่ไม่เหมือนกัน มีวิธีหาตรงกลางร่วมกัน หรือมาเจอกันอย่างไร เพื่อไปต่อ

ครูมาร์ค : เรามองว่า ถ้าสุดท้ายแล้วเหตุผลของครูเมหนักแน่นกว่า เราก็ปรับตามวิธีเขาได้ 

ครูเม : ส่วนใหญ่จะเป็นเขาที่ปรับ ทำด้วยกันมาหลายปี (ยิ้ม) 

ครูมาร์ค – คีย์หลักคือเราจะต้องจบในวันนั้น จะไม่ข้ามไปวันต่อไป ไม่งั้นมู้ดแอนด์โทนในการทำงานจะพังหมด

ครูเม : ดังนั้นถ้าทะเลาะกันเที่ยงคืน จบตีสามก็ต้องจบตีสาม ไม่ให้ข้ามไปอีกวัน แต่ความยากคือครูเมอาจจะแข็งด้วยเหตุผล ด้วยความเป็นนักวิชาการค่อนข้างสูง ดังนั้นเวลาครูเมทะเลาะ ครูมาร์คอาจจะรู้สึกว่าทำไมเราไม่มีความเป็นคนเลยเวลาทะเลาะกัน เพราะครูเมจะยึดงานเป็นหลักแต่เวลาเราคุยกับเคสหรือทำงาน เราใช้ความเป็นคนสูงมาก 

ครูเมจะบอกครูมาร์คเสมอว่าครูมาร์คน่าจะเป็นคนเดียวในชีวิตที่ครูเมมองว่าเป็นส่วนเดียวกัน ก็เลยมองว่าเป็นตัวเอง ดังนั้นถ้าครูมาร์คอยากทำอะไรที่อาจจะไม่ตรงกับเหตุผลของเรา เราอาจจะรู้สึกว่าไม่ได้ ต้องดึงกลับเข้ามาให้ได้ ซึ่งตรงนี้มันไม่โอเคนะ แต่ครูมาร์คเป็นคนที่รับรู้ตรงนี้ได้ค่อนข้างดี เข้าใจ แล้วบอกว่าเหตุผลครูเมคืออะไร คราวหน้าจะปรับให้ แต่วันนี้พอนะ เข้าใจแล้ว แต่ครูเมเป็นพวกย้ำคิดย้ำทำ วนกลับมาจนกว่าจะจบ

ส่วนใหญ่ที่ทะเลาะกันจะเกิดจากคุยกันเรื่องการทำงานกับเคส ไม่ค่อยจะเป็นชีวิตส่วนตัวนะ 

ในห้องเรียนครอบครัว ครูเมครูมาร์คคือพ่อแม่มือใหม่ ตอนนี้อาจจะไม่ใหม่แล้ว  ดังนั้นถ้าพ่อแม่ไม่คุยให้เข้าใจกัน บ้านก็จะไม่เป็นบ้าน ตรงนี้เข้าใจถูกไหมคะ

ครูเม : ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขอให้เข้าใจกันก็โอเค ถ้าสุดท้ายแล้วเคสจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจครูเมก็ตาม แต่ครูเมเข้าใจแล้วว่าเรื่องมันเป็นอย่างไร เราจะรับมือปัญหาด้วยกัน และไม่ว่าจะทะเลาะกันอย่างไร เรารับมือปัญหาด้วยกัน อันนี้คือสิ่งที่เราจะช่วยกัน 

เราต้องให้เขารู้จักเรา เรารู้จักเขาด้วย สองวิชาชีพนี้แม้ว่าจะเรียนมาต่างกัน แต่สุดท้ายแล้วเรามีคนไข้คนเดียวกัน เราก็ควรจะกลมกลืนกันมากที่สุด เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดกับคนไข้คนนั้น

เวลานักจิตวิทยาต้องการคนฟัง ใครฟังนักจิตวิทยา

ครูเม :  ครูเมครูมาร์คโชคดีมาก คือมีเพื่อนที่เป็นนักจิตฯ คนหนึ่งเรียนกับครูเมมาตั้งแต่สมัยป.ตรี ป.โท เขาเป็นคนที่รับฟังเราทั้งคู่ คือเข้าใจทั้งคู่มาก บางทีดึกดื่นถ้าตกลงกันไม่ได้ก็โทรหาเพื่อนคนนี้ เขาก็จะคุยกันทีละคน เขาเป็นนักจิตฯ ที่ดีมากๆ คนหนึ่ง และเขาเก่งเรื่องปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม

ทำไมต้องมีคนนี้ที่คอยฟังเรา

ครูเม : เพราะว่าเราใกล้กันเกินไป 

คนภายนอกอาจจะเข้าใจว่าครูเมเป็นคนใจเย็นมาก หรือเป็นคนที่น่าจะนิ่งๆ แต่ครูมาร์คจะเป็นคนเดียวที่เห็นทุกอย่าง ซึ่งเราไม่ใช่คนแบบนั้น เราเป็น perfectionist ที่เข้มงวดกับตัวเองมากถึงเบื้องหน้าเคส ครูเมจะรับมือและควบคุมทุกอย่างได้อย่างราบรื่น แต่เบื้องหลังเมื่อทุกอย่างจบลงครูเมอาจจะกลายเป็นอีกคนที่เหนื่อยล้าและหมดแรง และต้องการการสนับสนุนทางใจเหมือนกัน

เปรียบเทียบกับครอบครัวอื่นๆ ที่ทะเลาะกันบ่อยเพราะใกล้ชิดกันมาก แต่น้อยมากที่พ่อหรือแม่จะมีบุคคลที่สามคนเดียวกันคอยฟัง หลายคู่ไปหาเพื่อนตัวเอง เพื่อนฉันก็เข้าข้างฉัน เพื่อนเขาก็เข้าข้างเขา เลยอยากชวนคิดต่อว่า บุคคลที่สามมันสำคัญแค่ไหนแล้วแต่ละบ้านจะหาคนนี้ได้อย่างไร

ครูเม : จริงๆ เราคุยกันเสมอว่า การที่คุณพ่อคุณแม่มาคุยกับเราเพราะว่าเขารู้ว่ามีปัญหาในบ้านเป็นเรื่องที่ดีมาก ทุกครั้งที่เจอคุณพ่อคุณแม่ที่มาปรึกษาเรา ครูเมจะพูดคำแรกเลยคือ ครูเมดีใจที่คุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจมาหาครูเมวันนี้ แล้วครูเมยินดี ถ้าเราช่วยได้แค่ไหนเราก็จะทำให้เต็มที่แต่ตรงนี้ยังไม่แพร่หลายเท่าไหร่ 

อยากให้มีนักจิตวิทยาที่ฟังคุณพ่อคุณแม่เยอะขึ้น หรือคุณพ่อคุณแม่กล้าไปหานักจิตเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องสำคัญนะ เพราะสุดท้ายแล้วแม้เราจะบอกว่า ปัญหาแค่นี้เอง แต่ปัญหาแค่นี้ถ้ามันเยอะขึ้นๆ มันก็ระเบิดสักวัน 

การไปพบนักจิตคนเดียวกัน คนนั้นจะบาลานซ์ มองตามความเป็นจริงที่สุด นักจิตก็จะสะท้อนว่าเข้าใจถูกไหมว่าคนนี้รู้สึกอย่างนี้ แล้วจะมาเจอกันตรงกลางอย่างไรดี แต่ถ้าต่างคนต่างไปหาไปคุยกับเพื่อน ไปเมาท์กับญาติ สุดท้ายก็ยุแยงกันไป เพราะว่าอีกฝ่ายไม่ได้เห็นว่าอีกฝ่ายเป็นอย่างไร แต่นักจิตวิทยาจะเห็นทั้งคู่ 

ซึ่งครูเมครูมาร์คตอนที่คุยกับเพื่อนคนนี้ เราก็จะผลัดกัน สุดท้ายเราก็จะคุยพร้อมกัน เราไม่ได้เจอหน้ากันแต่เปิดลำโพงพูดพร้อมกันว่าแบบนี้นะ เพื่อนก็จะบอกว่า อะ กอดกันได้แล้ว จับมือกันอยู่ใช่ไหม เร็ว ให้มาร์คจับมือเมได้แล้ว เขาก็จะย้ำให้เราทำแบบนี้ เพราะบางทีเราโกรธกันมาก การมีบุคคลที่สามก็จะช่วยลดตรงนี้ลง 

การฟังในฐานะบุคคลที่สาม ทำอย่างไร

ครูเม : ครูเมเอาประสบการณ์ตัวเองและจากเพื่อนที่ฟังครูเมด้วย หนึ่งคือ เขาบอกว่า เล่ามา เกิดอะไรขึ้น ระหว่างที่เราเล่า เขาแทบจะไม่แทรกเลย แล้วเขาจะถามเพื่อให้เราขยายเท่านั้น

ครูมาร์ค : ในขณะที่เขาฟังแล้วไม่เข้าใจ ก็จะถามว่าไหนอธิบายตรงนี้หน่อยสิ มันเป็นอย่างไร

ครูเม : คำจะเป็นกลางมาก ไม่ชี้นำอะไรเลย เช่น ทำไมเขาคิดอย่างนี้ล่ะ ช่วยเล่าตรงนี้เพิ่มหน่อย หรืออธิบายตรงนี้หน่อยสิ สุดท้ายพอฟังจนเราอธิบายจบแล้ว  เค้าก็จะถามว่าแล้วที่เล่ามาเรารู้สึกตรงไหนเยอะที่สุด ที่เล่ามาทั้งหมดอะไรกระทบใจเรามากที่สุด เราอึดอัดกับเรื่องไหนมากที่สุด ก็เล่าเรื่องนั้น พอเล่าเสร็จเขาก็ถามกลับว่า แล้วถ้าเป็นเราล่ะ 

ถ้าเราอยู่ตรงนี้จะแก้อะไรหรือทำอะไรได้บ้าง เขาจะถามปัจจุบัน เช่น ตอนนี้เคสกลับบ้านไปแล้ว แล้วคนที่อยู่กับเราตรงนี้เขารู้สึกอย่างไร แล้วเรารู้สึกอย่างไรกับคนที่อยู่กับเราตอนนี้ หรือตอนนี้สถานการณ์ที่บ้านเป็นอย่างไร เราทำอะไรตรงนี้ได้บ้าง ปัญหาไม่ได้แก้หรอก แต่ตอนนี้เราซัพพอร์ตใจกันก่อนไหม ส่วนใหญ่เขาจะแนะนำครูมาร์ค เพราะเขารู้ว่าคนที่น่าจะรู้สึกเยอะแล้วไม่กล้าคือครูเม ครูเป็นคนแสดงออกเรื่องพวกนี้ยากกับคนใกล้ตัว ทั้งที่ดูเหมือนจะเป็นคนแสดงออกง่ายกับเด็ก 

ครูมาร์ค :  อะไรแบบนี้ครูเมก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้ไป

ครูเม : เพื่อนจะบอกว่าสุดท้ายก็ให้ทำสิ่งที่อยู่ตรงนี้ เราไม่ต้องไปแก้ปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ แต่เขาก็จะพูดว่าตรงนี้เราทำอะไรได้บ้าง แต่ถ้ายังไม่พอเขาก็บอกว่า โอเค เมไปอาบน้ำนะ หรือเมไปพักก่อนไหม แล้วค่อยกลับเข้ามาใหม่ก็ได้ 

เขาไม่ได้บังคับว่าเราต้องทำอะไรเดี๋ยวนี้ วันนั้นเขาไล่เราไปอาบน้ำแล้วคุยกับมาร์คต่อ เหมือนให้เราไปทำใจให้สงบ ขอเวลานอกให้ตัวเอง บางทีเรารู้นะว่าเราจะต้องไปขอโทษกัน เรารู้ว่าเราต้องกลับไปกอดกัน เข้าใจกัน แต่มันไม่พร้อม จะให้ทำอย่างไร

นักจิตจะไม่เร่งรัด พร้อมของแต่ละคนไม่เท่ากัน ดังนั้นเขาจะบอกว่า อยู่กับตัวเองก่อนก็ได้ แต่อย่าไปทำร้ายตัวเองนะ  พออาบน้ำเสร็จ เขาก็จะเข้ามาถามว่าพร้อมหรือยัง โอเค ถ้าพร้อมแล้วทำอะไรได้บ้าง ลองหันไปดูคนข้างๆ ซิ เขาก็จะไปทีละขั้น เริ่มจากมองตาคนข้างหน้าเรา เอามือออกมา จับมือกันไว้ มีอะไรอยากจะพูดกันไหม ไม่ได้ชี้นำว่าต้องพูดอะไร มาร์คก็อาจจะพูดก่อนว่าขอโทษนะ แล้วเมล่ะ มีอะไรอยากพูดกับมาร์คไหม ก็จะเป็น couple counseling ง่ายๆ แต่สุดท้ายแล้วพ่อแม่ทุกคนก็จะมีปัญหาตรงนี้

หลายบ้านอาจจะไม่ได้มีกำลังหรือไม่มีเวลาเพียงพอที่จะไปหานักจิต  ถ้าพ่อแม่อยากหา couple counselor  ที่อาจจะไม่ใช่นักจิต แต่เป็นคนกลาง หาอย่างไรดี

ครูเม : คนกลางไม่จำเป็นต้องเป็นนักจิตหรืออะไรด้วยซ้ำ ถ้าปัญหาไม่ได้ลงลึกแบบเกิดขึ้นเนิ่นนาน ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โต แค่ทะเลาะกันประเดี๋ยวประด๋าว ครูเมว่า คนกลางอาจจะเป็นคนในบ้านนี่แหละ แต่เป็นคนในบ้านที่ไม่ได้ไปร่วมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็อาจจะคุยกันว่า เข้าใจทั้งคู่นะแต่ตอนนี้เราควรไปพักสงบกันก่อน 

คือให้คนกลางไปพูดทีละคนว่า โอเค ถ้าพร้อมแล้ว มาคุยกันได้นะ เราว่างนะ ฟังได้ อาจจะเป็นลูกที่โตแล้ว สมัยครูเมเด็กๆ บางทีก็เป็นคนกลางแบบนี้เหมือนกัน แล้วเรารู้สึกว่า เราไม่ต้องไปบอกอะไรเขาเยอะหรอก เขาแค่ต้องการคนที่เข้าใจและรับฟังเฉยๆ แต่พอฟังแล้ว เจ้าตัวจะรู้ว่าตัวเองผิดหรือไม่ผิด ทุกคนรู้ แต่บางทีมีความเขินอาย มีทิฐิ มีอีโก้

แต่การจะมาเจอกันได้เขาก็อาจจะต้องการคนช่วย ซึ่งคนกลางที่บ้านอาจจะเป็นลูก ปู่ย่า หรือใครสักคนในบ้าน ก็อาจจะบอกว่า โอเค อีกฝ่ายยังไม่พร้อมนะ เดี๋ยวให้เวลาแป๊บนึง ถ้าให้เวลากันแล้วก็ลองคุยกันดู เมื่อกี้ทะเลาะกันเรื่องอะไร แล้วตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร เราเย็นลงหรือยังถ้าเย็นลงแล้วปัญหาตรงนี้ยังอยู่ไหม ถ้ายังอยู่ ยังแก้ไม่ได้ ตอนนี้เราซัพพอร์ตใจกันอย่างไรผ่านปัญหานี้ไปด้วยกัน

มันอาจจะยากเพราะหลายครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยว ลูกยังเล็ก ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นคนกลางได้?

ครูเม :  จริงๆ ในชุมชนหรือสังคม หลายๆ บ้าน ถ้าเป็นต่างจังหวัด ครูเมเห็นว่าพ่อแม่บางท่านก็จะมีคุณครูเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยด้วย หรือว่าอสม. แต่ในชุมชนในเมืองค่อนข้างจะแยกตัวกันไปอันนี้ก็ยากมากๆ เลย แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ แนะนำว่าการคุยออนไลน์ก็ยังได้ผล เพราะที่ผ่านมาเราสองคนก็ไม่ได้ไปพบตัวต่อตัว แต่เราก็ออนไลน์ตลอด มันก็ได้ผลในระดับหนึ่งเลย ขอแค่อย่าทิ้งปัญหาไว้เนิ่นนาน เพราะปัญหานั้นจะแก้ยากมาก

ตอนนี้พ่อแม่กับเด็กๆ สนใจมาห้องเรียนครอบครัวเยอะแค่ไหน

ครูเม :ที่นี่ต้องบอกว่าเราตั้งใจที่จะไม่โปรโมทเลย มีแค่เพจเล็กๆ เพราะเราเข้าใจดีว่า ที่ห้องเรียนครอบครัวมีนักบำบัดแค่สองคน คือ ครูเม ครูมาร์ค เรารับเยอะมากไม่ได้ เราอยากให้คุณภาพกับทุกคนที่มาใช้บริการที่นี่ เลยกลายเป็นว่าเราตั้งใจปิดที่นี่ไว้เงียบๆ มากกว่า 

ครูมาร์ค : เมื่อไหร่ที่ครูเมลงบทความ ก็จะมีคุณพ่อคุณแม่ทักมาสอบถามเรื่อยๆ เคสปัจจุบันเองเขาแนะนำปากต่อปาก ก็เลยทำให้มี waiting list พอสมควร ซึ่งเด็กที่นี่เรียนกันขั้นต่ำคือหนึ่งปีและที่นานสุดตอนนี้คือ 4 ปี ดังนั้นเราจะรับเคสใหม่ได้คือต้องรอเคสปัจจุบันจบก่อน ถึงจะรับเคสใหม่เข้ามา 

ครูเม : ที่อื่นอาจจะให้เรียนสัปดาห์ละครั้ง แต่ที่นี่ขั้นต่ำสัปดาห์ละสองครั้ง มากสุดคือสาม ดังนั้นหนึ่งเคส จะเจอเรา 4-6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เลย แม้จะรับเคสน้อยแต่เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวเคส มันคุ้มค่ากว่าเรารับเยอะแล้วไม่เปลี่ยน หลายครั้งเราให้โอกาสคุณพ่อคุณแม่มาลองดู ถ้าคอร์สนึงไม่เวิร์คเราก็ไม่รั้งไว้ เพราะเราเชื่อว่าเคสมีสิทธิ์เลือกนักบำบัด และบ่อยครั้งถ้านักบำบัดไม่เหมาะกับเคส นักบำบัดไม่ใช่ไม่เก่ง และเคสก็ไม่ได้ผิดอะไร เราแค่ไม่ใช่ทางของกันและกันเราเปลี่ยนนักบำบัดได้เสมอ แต่นักบำบัดมีหน้าที่ทำให้ดีที่สุดเท่านั้น และเมื่อทำดีที่สุดแล้วต้องประเมินตามความเป็นจริงว่าเราสามารถรับมือกับเคสนี้ได้ไหม ถ้าไม่ได้ และรู้ตัวว่าไม่ไหว เราควรส่งต่อเคสให้นักบำบัดท่านอื่น ไม่ใช่รั้งเคสเอาไว้ เพราะยิ่งเป็นเคสเด็ก เวลาเป็นส่วนสำคัญเด็กพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่เปลี่ยนแปลงเร็วที่สุด ถ้าช้าไป ก็อาจจะทำให้การพัฒนาสะดุดต่อเนื่องยาวไปยังช่วงวัยต่อไปของชีวิต

ครูมาร์ค : เราไม่เลี้ยงไข้ ถ้าสมมติว่าเราเห็นว่าเด็กคนนี้พร้อมแล้วทั้งร่างกายและจิตใจ พร้อมที่จะออกไปใช้ชีวิต ทำตามความฝันตัวเอง เราก็ไม่รั้งไว้ และยินดีที่เขาจะก้าวออกไป

จุดไหนถึงพร้อม ‘ไปจาก’ ห้องเรียนครอบครัว

ครูเม : หนึ่งคือ ดูที่คุณพ่อคุณแม่ ถ้าคุณพ่อคุณแม่พร้อม รู้ว่าพัฒนาการลูกเป็นอย่างไร รู้ว่าควรรับมือกับลูกอย่างไร อาจจะลดจำนวนวัน แล้วค่อยๆ ลดไปเรื่อยๆ จนถอดออกไป แต่ถ้าสมมติมีปัญหาเมื่อไหร่ค่อยกลับมา แต่ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเคสที่เราบอกหยุด จะไม่ค่อยได้กลับมา เพราะว่าเขารู้วิธีแล้ว

เวลามีคนถามเราให้เราช่วยแนะคุณหมอ นำนักบำบัดเก่งๆ หรือ ที่ๆ ควรไปบำบัด ครูเมจะตอบเคสเสมอว่า คงไม่มีที่ไหนที่ดีที่สุด มีแค่ที่ไหนที่เหมาะกับเรามากที่สุด เพราะนักบำบัด เราใช้ตัวเราเป็นเครื่องมือในการบำบัด ดังนั้นเมื่อใดที่เราสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับเคสได้ เราจะสามารถเข้าใจเคสและเคียงข้างเคสในการเผชิญปัญหาได้ เด็กๆ ก็เหมือนกัน ก่อนจะสอนหรือปรับเปลี่ยนอะไรเขา ครูเม ครูมาร์ค ต้องสร้างสายสัมพันธ์ก่อนเสมอ บางครั้งใช้เวลาหนึ่งคอร์สเพื่อทำความรู้จักกัน เมื่อเด็กเปิดใจ เชื่อใจ และไว้ใจ เราและเขาจะทำสิ่งที่ยากได้อีกมากมาย

Writer
Avatar photo
tippimolk

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Photographer
Avatar photo
ชัชฐพล จันทยุง

หลงรักการบันทึกรอยยิ้มและความรู้สึกเป็นภาพถ่าย

Related Posts

Related Posts