เก็บใบไม้ข้างบ้านมาย้อมเสื้อ: แม่ได้งาน ลูกได้เล่นและอ่านโลก
เก็บใบไม้ข้างบ้านมาย้อมเสื้อ: แม่ได้งาน ลูกได้เล่นและอ่านโลก
ตอนนี้ใครๆ ก็ชอบปลูกต้นไม้ ในร่มบ้าง กลางแจ้งก็ไม่น้อย
แต่แม่ลูกคู่นี้ ชอบเอาต้น ใบ ดอก มาปลูกลงบนเสื้อมากกว่า ผ่านวิธีย้อมที่เรียกว่า ecoprint
ปลูกต้นไม้ไว้บนเสื้อ
ไม่ต่ำกว่า 5 ปีแล้วที่ ‘หวอ’ ย้ายสำมะโนครัวจากกรุงเทพฯ ตามสามีมาอยู่ที่ ตำบลบ้านครัว อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ถัดจากน้ันไม่กี่ปีถึงจะมี ‘มานะ’ เด็กชายวัยสามขวบนิดๆ ตามมาสมทบในฐานะสมาชิกใหม่ของบ้าน
วันนี้ ด.ช.มานะ เดชะ กลับมาจากโรงเรียนด้วยยูนิฟอร์มสบายๆ ท่อนบนเป็นเสื้อยืด ecoprint แบรนด์ Mon studio 214 ของครอบครัว สวมคู่กับกางเกงสามส่วนแบบแมนๆ
ช่วงโควิดที่ผ่านมา ‘หวอ’ นลินา ตั้งกนกวิทยา เดชะ ได้อยู่บ้านสระบุรีนานแบบที่ไม่เคยนานมาก่อน ร้านเสื้อสกรีนที่จตุจักรต้องปิดไปเพราะขาดลูกค้าหลักอย่างนักท่องเที่ยว คุณแม่ลูกหนึ่งจึงต้องมาลุยตลาดออนไลน์
เสื้อ ecoprint เกิดจากการกลับมามองหาสิ่งรอบๆ และใกล้ตัว แต่ก็ไม่ถือว่านับหนึ่งใหม่สำหรับหวอที่คว้าปริญญาตรีด้าน Textile Design ที่ Central Saint Martin College of Arts And Design ประเทศอังกฤษ มาตุนเป็นต้นทุนไว้อยู่แล้ว
“เราหาวัตถุดิบใหม่ๆ ในการทำงาน และคิดมาตลอดว่าอยากทำ ecoprint พอมีโควิด เรามีเวลาเยอะมากที่จะได้ทดลองทำ พอได้อยู่บ้านเยอะขึ้น ก็ไปเก็บใบไม้แถวบ้าน ได้รู้จักต้นไม้ในบ้านที่ไม่เคยสนใจมาก่อน เราไปเก็บมาลองทีละใบ ดูว่าให้สียังไง”
ทั้งต้นคูน ตะแบก มะเกลือ ตะโก ยูคาลิปตัส ขี้เหล็ก สะเดา และบัวกับพวงชมพูในหมวดไม้ดอก ทั้งหมดนี้ถูกเอามาวางเพื่อสร้างลายจนออกมาไม่เหมือนกันซักตัว
ด้วยเทคนิค ecoprint สีจะติดดีกับเส้นใยจากสัตว์ แต่เนื้อผ้าหลักของหวอคือฝ้าย จึงต้องเอาเสื้อไปหมักกับน้ำสนิมก่อนเพื่อให้สีติด
“จากนั้นก็เอามาจัดวางใบไม้ ดอกไม้ ม้วนเสื้อ จับมัดไว้กับแกนตรงกลางที่เป็นไม้ไผ่ ใช้เชือกมัดให้แน่น นำไปต้ม 2 ชั่วโมง แล้วทิ้งไว้ข้ามคืน ให้สีเซ็ตตัว รุ่งขึ้นเอามาล้าง เสร็จ”
เปรียบเทียบกับเทคนิคสกรีนที่เคยทำมา ecoprint หนักกว่ามากและคาดเดาไม่ได้ แต่หวอตกหลุมรักก็เพราะตรงนี้
“ใช้เวลาเยอะมาก ทุกขั้นตอน ถ้าย้อมคราม ต้องเตรียมน้ำด่าง ไปโกยขี้เถ้าจากโรงถั่วที่เขาต้มถั่วขาย ร่อนเอาถ่านออก กรองน้ำ แต่รู้สึกดีตอนทำ เพราะไม่อันตรายเลยและมันดีต่อทุกอย่าง ไม่มีมลพิษให้อากาศ ไม่มีของเสียลงไปในน้ำ”
และ ecoprint ก็สร้างเซอร์ไพรส์ให้หวอตลอด
“ต่อให้พยายามให้เหมือนเดิมมากที่สุดแค่ไหน สุดท้ายมันก็ไม่เหมือนเดิม มันจะมีเซอร์ไพรส์เราตลอด เช่น ลูกหว้า มันเป็นสีม่วงเวลาย้อม แต่พอไปโดนเสื้อ ด้วยความที่มียาง มันทำให้เสื้อกลายเป็นด่าง จุดสีขาว ให้มิติกับสีมาก มะเกลือก็เหมือนกัน เราหลงรักมะเกลือตั้งแต่แรกเลย เอามะเกลือสดๆ ไปย้อมสี มันจะให้สีเหมือนน้ำใบเตยอ่อนๆ แต่พอไปตากแดด โดนลม มันจะค่อยๆ เข้มขึ้น จนกลายเป็นสีน้ำตาล ดำ (ยิ้ม)”
แต่เซอร์ไพรส์มักมีสองด้านเสมอ
“บางทีเราย้อมมา สวยมากเลย แต่พอเราตากทิ้งไว้แป๊บเดียว มันกลายเป็นจุดดำ”
มันได้ใช้ชีวิต
ถามถึงขั้นตอนที่ชอบที่สุด หวอตอบว่าเป็นตอนเดินทางไปเก็บใบไม้ โดยมีมานะตัวน้อยขอติดสอยไปด้วย
“เขาจะถามว่าเราไปไหน เราบอกไปเก็บมะเกลือ เขาก็ถามว่ามานะไปด้วยได้ไหม”
ลูกชายไม่เคยหน้ามุ่ยกลับมา เพราะแม่พาไปด้วยตลอด บางครั้งแม่ขี่ลูกซ้อนมอเตอร์ไซค์ออกไปช่วยกันดูว่าจะสอยต้นไหนกันดี
“ที่ไปบ่อยเลยคือวัด เพราะต้นไม้เยอะโดยเฉพาะมะเกลือ เป็นเขตอภัยทาน ไม่ค่อยมีใครว่า (ยิ้ม) ทุกคนใจดี ขอหลวงพ่อ ขอคุณครูที่โรงเรียน เขาก็บอกเอาไปเลย ยังไงมันก็ร่วงและรกอยู่ดี หรือมีบ้านคนรู้จักบ้าง ข้างทางบ้าง ต้นตะแบก ตะโก เยอะมาก หลังๆ มีดอกบัวด้วย ชาวบ้านเก็บสายบัวไปขาย ตัดดอกทิ้งแล้วกองๆ ไว้ตรงนั้น เสร็จเรา…
“แค่นี้ก็สนุกแล้วนะ มันเหมือนได้ใช้ชีวิต”
หลายครั้ง ที่มานะไปขี่จักรยานเล่นกับเดอะแก๊งแอนด์หม่าม้า เด็กชายผู้มีมานะเป็นทั้งชื่อเล่นและชื่อจริง ก็จะหยุดตรงดอกและต้นไม้ที่เขาจำได้ แล้วพูดขึ้นมาว่า
“หม่าม้า เก็บดอกนี้ไปย้อมสิ สีสวยนะ”
ถึงจะแค่สามขวบ แต่มานะก็รู้จักหลายต้น เช่น รู้ว่าลูกมะเกลือเป็นแบบไหน ต้นเป็นอย่างไร รวมไปถึงต้นปอเทืองที่สีเหลืองสวย หรือต้นตะโกที่แม่ชอบเอามาวางบนเสื้อ
“แต่หลายอย่างเขาก็ไม่รู้จักนะว่าดอกอะไร แต่เขาเห็นแล้วคิดถึงเรา คิดถึงสิ่งที่เราทำ จำได้ว่าเราใช้ดอกใบพวกนี้”
แค่นี้ก็พอแล้ว – หวอไม่ได้บอก แต่เราปิดท้ายด้วยประโยคนี้ให้เพราะน้ำเสียงกับแววตาวิบวับของคนเป็นแม่มันบอกอย่างนั้น
วิชาต้นไม้แถวบ้าน
เทียบหวอวัยเด็กกับเด็กชายมานะตอนนี้ ต้องบอกว่า คนหลังรู้จักต้นไม้มากกว่าเยอะ
“เราเกิดที่ กทม. เป็นบ้านคนจีน กินแต่ผัดผักทั่วไป ต้นไม้ของแม่ (สามี) อย่างสะเดา ขี้เหล็ก ไม่รู้จักหรอก (หัวเราะ)”
หวอสารภาพว่าเพิ่งทำความรู้จักเอาก็ตอนสามสิบเศษแล้ว เพราะสุดสัปดาห์วัยเด็ก ธรรมชาติมากที่สุดคือซาฟารีเวิลด์
โตจนออกค่ายได้ นักศึกษาวารสารศาสตร์ฯ ก็ได้ไปป่าอยู่บ้าง อย่างภูกระดึง แต่ตอนนั้นหวออยู่ชมรมถ่ายภาพ ชอบถ่ายรูปคน ชอบเห็นแววตาคนมากกว่าต้นไม้
“นี่คือช่วงที่รู้จักต้นไม้มากที่สุดแล้ว เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ใช้ ได้อยู่กับเขา (ต้นไม้) จริงๆ ได้รดน้ำ ตอนอยู่กรุงเทพฯ ไม่เคยทำเลย”
แต่นี่คือชีวิตจริง ไม่ใช่นิยาย เด็ก กทม. อย่างหวอไม่ได้เอนจอยทุกโมเมนต์ที่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ คลอโรฟิลด์ต่างๆ ไม่ได้ทำให้หวอละทุกอย่างแล้วกลายเป็นสาวบ้านนา แต่คนที่นี่ต่างหากที่ทำให้ชีวิตเลี้ยงสมดุล
“ช่วงโควิดเราไม่เครียดเลย ที่นี่สเปซเยอะมาก ชีวิตไม่ได้เปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ เราแค่ไม่ต้องไปทำงาน ได้อยู่บ้านเยอะขึ้น ไม่ต้องพยายามทำงานเพื่อขายให้เยอะขึ้น ทุกอย่างมันหยุดเลยได้ทำอะไรใหม่ๆ ถ้าจะเปลี่ยนจริงๆ เราเปลี่ยนเพราะคนรอบข้างมากกว่า ชีวิตคนที่นี่ไม่ค่อยเหนื่อย ค่าครองชีพถูก ก๋วยเตี๋ยวสิบบาทยังมีอยู่เลย เป็นของคุณยายคนหนึ่ง เราก็งงว่าเขาขายได้ยังไง แต่เขาแค่ทำเพราะเขาอยากทำ”
หวอสรุปให้เลยว่า โดยส่วนตัว ธรรมชาติไม่ได้เปลี่ยนเธอเท่าไหร่ ธรรมชาติก็อยู่ของมันอย่างนั้นแหละ แต่ที่เธอเปลี่ยนไปเพราะการใช้ชีวิตมากกว่า
“ถ้าเราไม่เปลี่ยนการใช้ชีวิต ยังไปๆ มาๆ ขายของที่ กทม. เราคงไม่ได้หยุดเพื่อได้ใช้ชีวิตกับธรรมชาติ”
และคงไม่ได้พาเด็กชายมานะไปสอยมะเกลือ โดดคลอง อย่างทุกวันนี้
มานะต้องมานะ เจ็บเองลุกเองได้
หวอกับสามีตั้งใจว่าจะให้ลูกโตที่สระบุรี
“เราโตที่ กทม. เรารู้ว่ามันอึดอัด ไม่มีที่วิ่งเล่นเลย มลพิษอีก เลยไม่ค่อยได้ไปไหน ไปแต่ห้าง”
แต่ที่นี่ ทันทีที่กลับมา มานะคว้าจักรยานไปร่อนกับเดอะแก๊งแทบจะทันที มีไปนา กระโดดโคลน ลงคลอง แรกๆ แม่ก็อี๋ กลัวลูกจะไม่สบาย ได้เชื้อพวกแบคทีเรียหรือไม่ก็เป็นไข้ ท้องเสียกลับมา แต่สามีบอกว่าไม่เป็นไรหรอก เพราะเขาก็โตมากับสนามเด็กเล่นแบบนี้
“พอลองปล่อยไปเรื่อยๆ เลยรู้ว่าจริงๆ ไม่เป็นอันตรายอะไร บางทีฝนตก มีโคลน เขาก็ไปลุย เล่น นอนกลิ้ง ก็ไม่เป็นอะไร เขาสนุก เราก็สบายใจ ประหยัดเงินด้วย”
มากกว่านั้น หวออยากให้ลูกโตมาแบบพ่อของลูกหรือสามีที่ทำให้ภรรยารู้สึกดี ปลอดภัย
“เขาแข็งแรง เข้าใจธรรมชาติ มีอะไรเสียก็ซ่อมเอง พึ่งตัวเอง อยากให้เขาเป็นแบบนั้น”
ลึกๆ แล้ว หวอไม่ค่อยอยากให้ลูกโตมาแบบตัวเอง
“แม่เราเลี้ยงมาแบบทำให้ทุกอย่าง กินข้าวก็ป้อน อาบน้ำให้ แต่เราจะปล่อย อยากปีนต้นไม้ก็ไป เราแค่คอยอยู่ใกล้ๆ เราแค่อยากให้เขามั่นใจในตัวเอง เขาจะได้มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ถ้ากล้ามเนื้อเขาไม่พร้อม ปีนไปก็ตก แต่ถ้าเขาฝึก เขาจะปีนได้ แต่จะตกก็ได้นะ ถลอก หกล้ม หัวโน แค่เจ็บเดี๋ยวก็หาย”
หวอให้ความสำคัญกับการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ซึ่งเป็นความรู้ที่คุณแม่รุ่นใหม่ๆ หาได้ในโลกออนไลน์
“เวลารถล้ม เราจะปล่อยให้เขาลุกขึ้นเอง ถามว่าลุกได้ไหม เราแค่อยู่ใกล้ๆ ถามว่าเจ็บตรงไหน แต่ที่ไม่ทำเลยคือตีจักรยาน เพราะจักรยานไม่ได้ผิดอะไร เราจะไม่ทำอย่างคนรุ่นก่อน เช่น ตีทุกอย่าง โยนความผิดให้ทุกอย่างที่ไม่ใช่เด็ก เราเลือกพูดความจริงกับลูก ไม่หลอกเขา”
มานะ ถึงได้ชื่อว่ามานะ เจ็บเองก็ลุกได้เอง ดูแลตัวเองได้ตามวัย
“อยากให้มี ม กับ น ตามชื่อพ่อแม่ เราชอบคำว่า ‘มานะ’ มันดีมาก อยากให้มานะมีมานะ มุ่งมั่น พยายาม อดทน สู้ แค่นี้ทุกอย่างก็โอเคแล้ว”
Writer
tippimolk
คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa
Photographer
สิทธิกร ขุนนราศัย
ชื่นชอบความสบาย ติดนิสัยขี้เกียจมากกว่าขยัน ปัจจุบันทำงานด้านวิดีโอ ลูกค้ามากหน้าหลายตามักทักหาบ่อยๆ เพราะส่งงานไม่เคยทัน