ฆ่าคนในหนังยังพอไหว แต่ถ้าฆ่าน้องหมาเมื่อไหร่ แกโดนแน่! เมื่อฉากหมาตายทำเราสะเทือนใจจนแทบกลายเป็นจอห์น วิค

ฆ่าคนในหนังยังพอไหว แต่ถ้าฆ่าน้องหมาเมื่อไหร่ แกโดนแน่! เมื่อฉากหมาตายทำเราสะเทือนใจจนแทบกลายเป็นจอห์น วิค

  • “เรื่องนี้หมาตายไหม” คงเป็นคำถามที่หลายๆ คนต้องถามเมื่ออยากจะดูหนังสักเรื่อง แต่ดันมีน้องหมาอยู่ในเรื่องด้วย เพราะสำหรับหลายๆ คน ฉากน้องหมาตายในหนังนั้นทำเราสะเทือนใจได้มากกว่าฉากตัวละครที่เป็นมนุษย์ตายเสียอีก
  • ฉากน้องหมาตายในหนังทำหลายๆ คนสะเทือนอารมณ์จนถึงขั้นมีการก่อตั้งเว็บไซต์ชื่อ Does the Dog Die ขึ้นมาเพื่อสปอยล์ว่าหนังที่มีน้องหมาเรื่องไหนหมาตายบ้าง
  • สาเหตุที่ทำให้เราใจสลายกับฉากน้องหมาตายในภาพยนตร์มากกว่าคนนั้นเป็นไปได้หลายข้อ เริ่มตั้งแต่ความเชื่อที่ว่าน้องเป็นสัตว์ที่ใสซื่อบริสุทธิ์ และควรค่าที่จะได้รับการโอ๋เอ๋ หรือการที่เราชินเสียแล้วกับการเห็นภาพคนตายในหนัง กระทั่งภาพของหมาตายมีผลกับอารมณ์ของเรามากกว่า

แทบทุกคนคงจะเคยดู รู้จัก หรือเคยได้ยินชื่อ ‘จอห์น วิค’ มาบ้าง จอห์น วิคคือชื่อตัวละครในภาพยนตร์แอ็กชันนีโอนัวร์ชื่อเรื่องเดียวกัน ที่รับบทโดยคีอานู รีฟส์ ว่าด้วยเรื่องอดีตมือปืนที่วางมือแล้วแต่กลับมีเหตุให้เขาต้องกลับมาจับปืนไล่เก็บคนเป็นร้อยเป็นพันต่อเนื่องกันยาวไปจนถึงสี่ภาค โดยความวินาศสันตะโรทั้งหมดนั้นเริ่มต้นจากโจรขโมยรถและฆ่าหมาซึ่งเป็นของขวัญที่ภรรยาผู้จากไปของเขาทิ้งไว้ดูต่างหน้า แต่เหตุผลที่ว่าหมาเป็นสิ่งที่เขาเอาไว้ดูต่างหน้าภรรยาเหมือนจะถูกคนดูมองข้ามไป เขาจึงกลายเป็นตัวละครขวัญใจพวกเราเพียงเพราะเป็นชายผู้ล้างแค้นให้หมา

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวละครจอห์น วิคครองจิตครองใจและเป็นภาพจำให้แฟนหนังในฐานะคนรักหมาได้มากกว่าภาพจำอื่น คงเป็นเพราะเราแทบทุกคนต่างมีจิตวิญญาณคนรักหมาอยู่ในตัว จิตวิญญาณทาสหมาที่รับไม่ได้เมื่อเห็นว่าเพื่อนซี้สี่ขาของมนุษย์ถูกทำร้าย หลายคนสามารถดูหนังคนตีรันฟันแทงฆ่าแกงกันได้โดยไม่รู้สึกอะไร ดูหนังเลื่อยสยองแบบ ‘Saw’ ต่อกันได้เป็นสิบภาคโดยไม่ตะขิดตะขวง แต่กลับน้ำตาไหลพรากหากเจอฉากหมาตาย ทนดูต่อไม่ได้เมื่อเห็นว่าน้องถูกกระทำ

“มันสองมาตรฐานจนน่าขำเลยล่ะ” โบ วิลลิมง (Beau Willimon) ผู้เขียนบท House of Cards ซีรีส์ที่มีทั้งคนตายและหมาตายกล่าวในการสนทนากับ Hollywood Reporter 

“คนดูไม่มีปัญหากับการเห็นผู้คนใน House of Cards ใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อใครอีกคนหนึ่ง แต่พอเราฆ่าหมาใน 30 วินาทีแรก คนก็สติแตกกันหมด”

บางคนถึงกับเลือกที่จะไม่ดูหนังที่หมาตาย หนึ่งในนั้นคือหญิงคนหนึ่งที่รับไม่ได้กับฉากน้องหมาตายในหนังจนต้องขอร้องให้น้องชายอย่าง จอห์น วิปเปิล (John Whipple) ก่อตั้งเว็บไซต์ชื่อว่าDoes the Dog Dies (น้องหมาตายหรือเปล่า)’ ขึ้น เอาไว้สปอยล์หนังที่มีหมาว่าน้องหมาตายไหม และยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าไม่มีใครอยากเห็นน้องหมาตายไปอีก เมื่อเว็บไซต์ที่ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงโดยมีคนเข้าชมโดยเฉลี่ย 3,000 คนต่อวัน จนกระทั่งจอห์น วิปเปิลเปลี่ยนจากการเข้าไปสปอยล์หนังด้วยตัวเอง เป็นการให้ทุกคนสามารถเข้ามาสปอยล์หนังฉากหมาตาย (หรือไม่ตาย) กันได้อย่างเสรี  

เราจึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าเหตุใดการตายของสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะหมาในภาพยนตร์ถึงสะเทือนใจคนดูส่วนใหญ่ยิ่งกว่าการตายของตัวละครที่เป็นคนด้วยกัน

เพราะน้องเป็นน้องงงงงงงงง

แม้ยังไม่มีใครศึกษาหรือสำรวจเรื่องฉากหมาตายในภาพยนตร์ที่ส่งผลต่ออารมณ์ของคนดูโดยตรง แต่ในปี 2013 มหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น (Northeastern University) ได้ทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 240 คนว่าพวกเขาจะ ‘เห็นใจ’ เหยื่อประเภทไหนมากที่สุด โดยในการสำรวจนั้น ผู้สำรวจจะเขียนข่าวเรื่องคดีทำร้ายร่างกายปลอมๆ มาสี่ข่าวที่มีรายละเอียดทุกอย่างเหมือนกันหมด เปลี่ยนเพียงแค่ตัวตนของเหยื่อ ข่าวแรกเหยื่อคือเด็กหนึ่งขวบ ข่าวที่สองคือผู้ใหญ่ในวัย 30 กว่าปี ข่าวที่สามคือน้องหมาหกปี และข่าวที่สี่คือลูกหมาขวบเดียว กลุ่มตัวอย่างจะได้อ่านข่าวแบบสุ่มและแสดงความคิดเห็นต่อข่าวที่ได้อ่าน

ผลสำรวจพบว่า เหยื่อที่เป็นผู้ใหญ่อายุ 30 กว่านั้นได้รับความเห็นอกเห็นใจน้อยที่สุด ขณะที่เด็ก หมาโต และลูกหมา ได้รับความเห็นใจเท่าๆ กัน

ศาสตราจารย์แจ็ก เลวิน (Jack Levin) อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและอาชญาวิทยา ผู้ทำการสำรวจ จึงตั้งข้อสังเกตว่าแท้จริงแล้วความเห็นใจนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุหรือเผ่าพันธุ์ แต่อาจขึ้นอยู่กับมุมมองที่ผู้คนมีต่อเหยื่อ โดยทั้งเด็ก หมาโต และลูกหมา ต่างมีจุดร่วมที่เหมือนกันคือเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดูพึ่งพาตัวเองไม่ได้ อ่อนแอ และต้องได้รับการปกป้อง ทั้งนี้แม้หมาโตจะมีอายุเยอะ แต่ในสายตามนุษย์ มันก็เป็นแค่ลูกหมาที่ตัวโตขึ้นเท่านั้นเอง

นอกจากนั้นศาสตราจารย์เลวินยังมองว่าหากเปลี่ยนจากหมาเป็นแมว ผลลัพธ์จากการสำรวจก็คงออกมาไม่ต่างกันนัก 

“หมากับแมวเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้าน เจ้าพวกนี้เป็นสัตว์ที่หลายๆ คนสร้างบุคลิกแบบมนุษย์ให้พวกมัน”

งานวิจัยอีกชิ้นได้ทำการทดลองโดยให้ผู้หญิงที่มีลูกแล้วสแกนสมองด้วย MRI ขณะที่ดูภาพลูกของตัวเอง ลูกของคนอื่น หมาของตัวเอง และหมาของคนอื่น ผลการศึกษาพบว่าสมองของพวกเธอตอบสนองต่อภาพของหมาและเด็กเหมือนกัน ซึ่งก็สามารถอนุมานได้ว่าเรามองว่าเด็กและหมานั้นน่ารักไม่ต่างกันเลย

เพราะฉันรักเธอโดยที่ไม่รู้จักและฉันรักเธอตั้งแต่แรกพบหน้า

ความเชื่อที่ว่าหมาใสซื่อบริสุทธิ์นั้นทำให้เรา ‘ไว้ใจ’ และ ‘รัก’ น้องหมาได้ในทันทีที่เห็นหน้า ต่างจากคนด้วยกันที่เราต้องใช้เวลาเพื่อประเมินและวิเคราะห์ว่าพวกเขา ‘เหลี่ยม’ แค่ไหน  

ลองสังเกตดูว่าในหนังหรือซีรีส์เรื่องหนึ่ง เราจะเสียใจกับการจากไปของตัวละครสักตัวที่เป็นคนก็ต่อเมื่อเป็นตัวละครหลักที่เราเห็นหน้ามาตลอดทั้งเรื่อง จนเกิดความผูกพันและ ‘เชื่อใจ’ ในตัวละครตัวนั้น แต่เรามักจะเสียใจได้ในทันทีที่น้องหมาโผล่มาในหนังไม่ถึงห้านาที ถูกทำร้ายหรือตาย

เจนนิเฟอร์ โบลฟ (Jennifer Blough) ผู้ให้คำปรึกษาเรื่องความเหนื่อยล้าจากการเห็นอกเห็นใจ ความโศกเศร้าจากการสูญเสียสัตว์เลี้ยงและบาดแผลทางใจ กล่าวว่าคนเราจะรู้สึกผูกพันกับหมาทันทีที่ได้เห็น ส่วนหนึ่งก็เพราะเราเชื่อว่าหมานั้นบริสุทธิ์ใสซื่อ และไม่มีทางจะทำร้ายเราได้นั่นเอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า หนังประเภท revenge-for-a-dog รวมถึงมุกหรือมีมประเภท ‘ถ้าหมาตาย ฉันไม่ดู’ เริ่มมาได้รับความนิยมในช่วงหลังๆ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจจากหลายๆ แห่งที่พบว่า
ความเชื่อใจระหว่างกันของมนุษย์นั้นลดลงเรื่อยๆ เช่น ผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยชิคาโกพบว่ามนุษย์ที่เคยเชื่อใจกันถึงร้อยละ 48.1 ในปี 1972 เหลือเพียงร้อยละ 31.9 ขณะที่โรเบิร์ต พุตนัม (Robert Putnam) นักรัฐศาสตร์ชื่อดัง ก็ได้ระบุไว้ในหนังสือ Bowling Alone ว่าคนรุ่นต่อๆ ไปมีความไว้วางใจกันน้อยลง โดยคนที่เกิดก่อนปี 1945 มักจะเชื่อใจคนอื่นมากกว่าคนที่เกิดหลังปี 1960

ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดระดับความเชื่อใจของมนุษย์ที่มีให้แก่กันนั้นมีอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นขนาดของชุมชนที่คนจากชุมชนเล็กจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากกว่าคนจากเมืองใหญ่ คนที่แต่งงานแล้วและไม่เคยแต่งงานจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจคนอื่นๆ เท่ากัน ขณะที่คนที่เคยหย่าหรือแยกทางจากคนรักจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจน้อยลง คนรวยจะเชื่อใจคนอื่นมากกว่าคนจน และอีกหลายปัจจัยที่รวมไปถึงประเด็นอย่างสีผิวและศาสนา (Clark, Clark & Monzin, 2013) 

ขณะที่หมานั้นไม่ได้มีปัจจัยเหล่านี้มาเกี่ยวข้อง ไม่มีหมาที่มาจากชุมชนเล็กหรือใหญ่ ไม่มีหมาที่สมรสแล้วหรือหย่าร้าง ไม่มีหมาที่ร่ำรวยหรือยากจน อีกทั้งมันยากกว่ามากที่เราจะนึกภาพหมาที่จะกลายเป็นหมาสับปลับ เหลี่ยมเยอะ และหักหลังเราทีหลังอย่างที่เราอาจจะหวาดระแวงกับคน เราจึงสามารถเชื่อใจน้องหมาได้ง่ายๆ และรักน้องได้ทันทีที่เราเห็นน้องปรากฏตัวในหนัง

เป็นความจริงที่ว่าน้องหมาอาจไม่ได้น่ารักใจดีไม่แง่มขาทุกตัว แต่เชลซี ฮันต์-ริเวร่า (Chelsea Hunt-Rivera) นักกิจกรรมด้านสวัสดิภาพสัตว์ให้ความเห็นว่าวัฒนธรรมของเรานั้นสอนให้เราไม่กล่าวโทษน้องหมาเมื่อน้องทำตัวไม่น่ารัก เพราะจากความเชื่อที่ว่าน้องหมาใสซื่อบริสุทธิ์ก็ทำให้เราตั้งสันนิษฐานไปด้วยว่า น้องเพียงแค่ต้องได้รับการฝึกฝนจากมนุษย์หากน้องทำตัวแย่ และนั่นไม่ใช่ความผิดของน้องเอง

ยิ่งตายเยอะยิ่งเศร้าน้อย ยิ่งตายน้อยยิ่งเศร้าหนัก

BetterHelp แพลตฟอร์มให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตชื่อดังได้เขียนบทความเกี่ยวกับคนที่รักสัตว์มากกว่าคนด้วยกัน โดยส่วนหนึ่งได้กล่าวถึง ‘The Collapse of Compassion’ (การล่มสลายของความเห็นอกเห็นใจ) ซึ่งเป็นคำที่ถูกนิยามขึ้นโดยนักจิตวิทยาและนักวิจัยอย่างพอล สโลวิช (Paul Slovic)

การล่มสลายของความเห็นอกเห็นใจเป็นความเอนเอียงในกระบวนการรู้คิดประเภทหนึ่งที่เชื่อว่าเมื่อคนต้องเผชิญวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ ความเห็นอกเห็นใจจะค่อยๆ จางหายไป เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาว่ามนุษย์จะปฏิเสธความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นในวงกว้าง ซึ่งจะทำให้การเห็นคุณค่าของชีวิตและการเข้าใจความสูญเสียลดลงด้วย หรือเรียกง่ายๆ ว่า จิตใจด้านชาต่อความสูญเสียนั่นเอง นอกจากนั้นทฤษฎีนี้ยังกล่าวถึงการที่คนมักจะเห็นใจต่อเหยื่อคนเดียวมากกว่าเหยื่อกลุ่มใหญ่อีกด้วย

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คงหนีไม่พ้นหนังแอ็กชันอย่างจอห์น วิค หนัง slasher (หนังแนวไล่เชือด เช่น Saw และ Scream) หรือหนังผี ที่เราแทบไม่รู้สึกอะไรเลยสักนิดเมื่อเห็นตัวละครที่เป็นมนุษย์ต้องตาย ส่วนหนึ่งอาจเพราะเตรียมใจมาอยู่แล้วว่าหนังแนวนี้ยังไงก็ต้องมีคนตาย และยิ่งตายต่อๆ กันมากเท่าไร เราก็ยิ่งมีความรู้สึกร่วมกับการตายน้อยลงเท่านั้น มากที่สุดคงจะแค่ความรู้สึกแหยะๆ ขนลุกขนพองกับภาพอันโหดร้าย แต่หนังประเภทนี้ก็มักจะมีน้องหมาแสนรู้สักตัวให้เราต้องลุ้นเสมอว่าเมื่อไหร่น้องจะเป็นเหยื่อรายถัดไป และเมื่อถึงเวลาที่น้องเป็นเหยื่อขึ้นมาจริงๆ จากแค่อาการสะอิดสะเอียนตอนมีฉากคนตาย ความรู้สึกของเราก็มักจะเพิ่มเติมเป็นเห็นใจ สงสาร หรือกระทั่งโกรธแค้นจนอยากทะลุจอเข้าไปบีบคอผีหรือฆาตกรที่ฆ่าน้องในเรื่องด้วยตัวเอง และหากน้องรอด เราก็จะรู้สึกโล่งใจยิ่งกว่าตัวละครมนุษย์ในเรื่องรอด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคงไม่มีใครทำหนัง slasher ที่ตัวละครหลัก (ซึ่งต้องตายในหนังประเภทนี้) เป็นหมาสิบตัวหรอก

นอกจากเหตุผลเหล่านี้แล้ว ยังมีเหตุผลอื่นๆ ที่อาจเป็นไปได้ เช่น สมองของเราถูกออกแบบมาเพื่อพยายามทำให้เรามีชีวิตรอด ดังนั้นกลไกทางจิตวิทยาจึงมักจะทำให้เราปฏิเสธและผลักไสความตาย (ของมนุษย์) โดยไม่รู้ตัว ขณะที่เราโอบรับความตายของหมาแมวในภาพยนตร์ได้เพราะไม่ใช่ภาพแทนความตายของเราโดยตรง หรืออาจเพราะสำหรับคนที่เคยเลี้ยงและสูญเสียหมาแมวอันเป็นที่รักไป การตายของน้องๆ ในภาพยนตร์ก็อาจทำให้เรานึกถึงน้องๆ ที่เคยอยู่ในชีวิตเราก็ได้

อ้างอิง :
https://www.psychologytoday.com/us/blog/anxiety-files/201610/the-decline-trust
https://www.semanticscholar.org/paper/Who-trusts-The-origins-of-social-trust-in-seven-Delhey-Newton/d93e33150bf87503694a6fed29433a398570027a
https://be.chewy.com/pet-parenting-pet-lovers-why-do-we-always-cry-when-dogs-die-in-movies/
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4184794/

Writer
Avatar photo
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

illustrator
Avatar photo
ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรีส์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นทาสแมว

Related Posts

Related Posts