ชวนลูกขี่ม้า ตามหาผีเสื้อ ฟังเรื่องเล่าแห่งการก้าวข้าม เมื่อประสบการณ์จาก Bict Fest เป็นมากกว่าศิลปะ แต่คือการขยับออกจากกรอบที่ห่อหุ้มเราอยู่
ชวนลูกขี่ม้า ตามหาผีเสื้อ ฟังเรื่องเล่าแห่งการก้าวข้าม เมื่อประสบการณ์จาก Bict Fest เป็นมากกว่าศิลปะ แต่คือการขยับออกจากกรอบที่ห่อหุ้มเราอยู่
“สำหรับเด็กเขาไม่ได้คิดว่าสิ่งนี้ Abstract หรือไม่ เขาแค่คิดว่าได้ไปเล่นสนุก เอนจอยโมเมนต์นั้น แล้วกระบวนการเรียนรู้ก็เกิดขึ้นเอง”
นี่คือคำบอกเล่าของ แม่อิ๊ก – ณฐิณี เจียรกุล คุณแม่ของลูกสาว จิ๊กกี๋ – นภาค์ เจียรกุล และ จิ๊กซอว์ – ณฐภาค์ เจียรกุล หนึ่งในครอบครัวที่ได้ร่วมเวิร์กช็อปสำหรับการแสดงที่ชื่อว่า horses ในเทศกาลศิลปะการแสดงละครนานาชาติสำหรับเด็ก หรือ Bict Fest เมื่อปี 2018
ขณะที่ แม่อุ๊ – บุญนภา บุญเยีย คุณแม่ของ เอริค – ชานุวัฒน์ ตั้งมนัสวงศ์ อีกหนึ่งครอบครัวที่ได้ร่วมโครงการเดียวกัน บอกว่า
“เด็กๆ ได้ปลดปล่อยเต็มที่ ในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่มีพลังงานดีๆ เกิดขึ้น กลายเป็นสายสัมพันธ์ขึ้นมา”
แน่นอนว่าประสบการณ์จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยโอกาส ซึ่งในปี 2024 นี้ ก็ถือเป็นโอกาสดี ที่เทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาชน กรุงเทพฯ หรือ Bict Fest จะกลับมาสร้างประสบการณ์น่าจดจำแบบเต็มรูปแบบอีกครั้ง หลังจากต้องหยุดชะงักไปเพราะการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)
Bict Fest 2024 มาในธีม Cross the Threshold, follow your butterflies. ชวนทุกคนในครอบครัวก้าวออกจากกรอบที่ห่อหุ้ม แล้วโบยบินตามหาผีเสื้อแห่งจินตนาการไปพร้อมกัน
Mappa ขอชวนคุณมาฟังประสบการณ์การร่วมงาน Bict Fest ทั้งในฐานะผู้ชม และฐานะนักแสดงจาก จากครอบครัวของ แม่อิ๊ก และ แม่อุ๊ ที่อาจทำให้หลายคนได้แรงบันดาลใจดีๆ ที่จะก้าวออกมาตามหา ‘ผีเสื้อ’ ตัวนั้นไปพร้อมกับเรา
Mappa : อยากให้แม่อิ๊กและแม่อุ๊ เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่พาลูกเข้าร่วมเวิร์กช็อปกับ Bict Fest
แม่อิ๊ก : ตอนนั้นคือ Bict Fest ปี 2018 ด้วยความที่แม่อยู่ในสายการแสดงอยู่แล้ว แล้วครอบครัวเราก็สนใจด้านนี้ ปกติจะพาลูกไปดูละครหุ่นเชิด ดูโขน อะไรแบบนี้ พอได้ทราบข่าวก็สนใจ เลยพาลูกไป
แม่อุ๊ : สำหรับบ้านเรา คือ ทำโฮมสคูล แล้วเราเป็นสายกิจกรรม ก็จะชอบพาลูกไปทำกิจกรรมต่างๆ แรกๆ เราก็ไม่รู้หรอกว่าลูกจะชอบหรือเปล่า แต่ก็จะถามเขาว่าสนใจไหม ย้อนไปตอนนั้น เอริคอยู่ประมาณ ป.4 พอได้ร่วมกิจกรรมก็เป็นประสบการณ์ที่ดี เราได้มีเวลาร่วมกันพ่อแม่ลูก พ่อไปส่งขึ้นรถไฟฟ้า แล้วเราก็หิ้วกันไปแม่ลูก สนุกอีกแบบ
Mappa : กิจกรรมที่เด็กๆ ไปร่วมเวิร์กช็อปคืออะไร มีรูปแบบอย่างไร
แม่อุ๊ : เป็นเวิร์กช็อปสำหรับการแสดงที่ชื่อว่า horses ที่เด็กๆ ต้องไปร่วมฝึก 7 วัน แล้วทำการแสดง ซึ่งสำหรับเราคิดว่าเป็นโอกาสดี เพราะเป็นเวิร์กช็อปร่วมกับชาวต่างชาติด้วย โดยในทีมจะมีทีมเด็กกับทีมผู้ใหญ่ ที่ทำงานร่วมกัน
แม่อิ๊ก : จำได้ว่าเขาไม่อยากให้เราแทรกแซง (Interfere) กับการผลิต แต่ด้วยความเป็นแม่เราก็อยากรู้ ก็ถามลูกว่าเป็นยังไงบ้าง ลูกก็บอกแค่ว่าสนุกดี ซึ่งถ้าเป็นกิจกรรมอื่นเราอาจจะคอยถามว่าทำอะไร เล่าให้ฟังสิ แต่ด้วยกิจกรรมนี้เขาขอความร่วมมือแต่แรกว่าพ่อแม่ห้ามยุ่ง เราเลยแค่รอดูวันจริง ซึ่งพอมาดูวันจริงก็เซอไพรส์มาก ว่าลูกเชื่อมโยงถึงได้พี่ๆ ที่อยู่ในทีมมากขนาดนี้เลยเหรอ คือลูกเราไว้ใจเขาขนาดอุ้มลูกเราโยนได้ เราไม่เคยรู้ว่ากิจกรรมนี้ทำให้ลูกมีสายสัมพันธ์ขนาดนี้ ทำให้เราค้นพบว่าจริงๆ ลูกเราก็สร้างความสัมพันธ์ (Connection) กับคนใหม่ๆ ได้โดยที่ไม่ต้องมีเรา
แม่อุ๊ : บ้านนี้ น้องก็ไม่ได้เล่า แต่พอได้ดูโชว์ก็คือว้าว รู้สึกว่าลูกเราทำได้ ทั้งแปลกใจ ตื่นเต้น เพราะแรกๆ เรากังวลว่าเขาจะไปอยู่ในสังคมอินเตอร์ได้เหรอ สุดท้ายเขาทำได้ เราก็ภูมิใจมาก แล้วกิจกรรมนี้สร้างประสบการณ์ดีให้กับครอบครัวของเรา ประทับใจมาก
Mappa : สำหรับเด็กๆ ความรู้สึกตอนนั้นเป็นอย่างไร จำอะไรได้บ้าง
เอริค : ตอนแรกจำได้ว่า จะนั่งแยกกันกับพี่ๆ แต่พี่ผู้ใหญ่ก็จะเข้ามาหา มาเล่นกับเรา ให้เราคุ้นเคย วันที่ 2 ก็จะมีกิจกรรมที่ทำให้สนิทกันมากขึ้น คือกิจกรรมหลับตา พี่ๆ เขาจะอุ้มเราแล้วทำอะไรบางอย่าง โดยที่เราไม่รู้ เช่น พาเราบิน ให้เราขี่หลัง ดึงเราไปกับพื้น เขาจะบอกให้เราผ่อนคลาย ให้เราปล่อยจอย เป็นโมเมนต์ที่ทำให้เราสนิทกับพี่ทุกคนเลย เพราะว่าเขาจะเข้ามาหาเราทีละคนโดยทีเราไม่รู้ว่าจะเจอใคร พอจบก็ลืมตามาดูว่า อ๋อ เป็นพี่คนนั้น คนนี้
จิ๊กซอว์ : จำได้ว่ามันไม่ใช่การแสดงที่ต้องจำท่า แต่เราได้ออกแบบเอง ได้ใช้ความรู้สึกตัวเองในการเต้น ไม่มีบท ทำอะไรก็ได้ แล้วเราไปกับพี่จิ๊กกี๋ ตอนที่ก้าวเข้าห้องก็บอกว่า “พี่ไปก่อนเลย เราก็มีพี่มาแล้ว ก็ให้เขาทำก่อนสิ” (หัวเราะ) เลยไม่ค่อยกลัว แล้วแม่บอกว่า “เชื่อใจได้” เราก็จะเชื่อใจ
จิ๊กกี๋ : วันแรกที่ไปกังวลมากเพราะไม่มีใครบอกเลยว่าต้องทำอะไร ตอนนั้นก็กลัว แต่พอวันที่ 2 เริ่มสนุกและตื่นเต้นที่จะได้มาทุกวัน เพราะว่าได้มาเล่น มาเจอเพื่อนๆ พี่ๆ แล้วพอเริ่มทำกิจกรรมจับคู่ เช่น ให้ลุกขึ้นให้ได้ด้วยการจับมือกันอยู่ ทำกิจกรรมไปเรื่อยๆ เหมือนได้ bonding กันค่ะ จากตอนแรกที่กลัว พอเปิดใจรู้สึกว่ามี Strong Bonding มาก เป็นความรู้สึกที่จำได้มาถึงทุกวันนี้
แม่อุ๊ : ใช่ๆ แม่จำได้ว่าวันสุดท้ายของเวิร์กช็อป เขาก็แลกการ์ดกันมุ้งมิ้ง น่ารักมาก ไม่น่าเชื่อว่าความสัมพันธ์ขนาดนี้เกิดขึ้นได้ในระยะเวลาไม่กี่วัน
แม่อิ๊ก : ก่อนร่วมกระบวนการ แม่ก็ยังไม่รู้ Objective นี้นะคะ แต่พอเขาพูดเรื่อง Trust และ Bonding แล้วสิ่งที่เห็น ไม่ใช่แค่ตอนโชว์ แต่เขาสร้างความรู้สึกนี้ของการแสดงมาตั้งแต่ต้น พอเห็นสิ่งที่แสดงออกในโชว์ ก็ทำให้แม่ต้องกับไปคิด ไปทำงานต่อว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวลูกบ้าง
Mappa : ความเปลี่ยนแปลงในตัวลูก ที่คุณแม่พบหลังจากร่วมเวิร์กช็อปคืออะไร
แม่อิ๊ก : ในส่วนสกิลที่เกิดขึ้นจากโครงการ แม่เห็นว่าเขาเห็นความสามารถของตัวเอง และเกิดความรู้สึกว่าฉันทำได้ ซึ่งมันเกิดจากการได้รับความเชื่อจากการร่วมเวิร์กช็อป ที่ทุกคนทรีตเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง นักแสดงคนหนึ่ง แล้วทำให้เขามีความสนใจในด้านนี้ ทำให้เขามีสกิล เวลาที่มีโอกาสเข้ามา อย่างจิ๊กกี๋ไปแคสงาน ไปแสดงละคร จิ๊กซอว์ มีงานพากย์เสียง เขาจะเชื่อว่าเขาทำได้ แล้วมองเห็นว่าเป็นความสุข ที่ได้ทำ สนุกไปกับกระบวนการ ไม่น้อยไปกว่าวันที่แสดง นี่คือสกิลที่เห็นได้ชัด แล้วประสบการณ์จากเวิร์กช็อป horses ทำให้เขารู้ว่าความสนุกของเด็กๆ เป็นยังไง อย่างตัวแม่เองทำคลาสสำหรับเด็ก แล้วลูกๆ สองคนก็ไปเป็นผู้ช่วย เขาจะเข้าใจความรู้สึกของเด็กได้ดีกว่าผู้ใหญ่ เราในฐานะผู้ใหญ่เห็นมุมมองหนึ่ง เขาเคยมีประสบการณ์มาก็จะเห็นอีกมุมมองหนึ่ง ที่ลึกกว่าเรา ก็ต้องขอบคุณโครงการที่ทำให้เกิดการพัฒนาในตัวเขา โดยเฉพาะเรื่องความรักตัวเอง และยินดีจะ Bonding กับคนอื่นๆ เป็นโอกาสให้เขาได้เรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ในสังคม เช่น ถ้าอีกคนไม่สามารถสร้างสายสัมพันธ์ได้ เขาก็เรียนรู้ที่จะหยุด แม่ว่ามันเป็นสกิลที่เกิดจากการได้เจอคนอื่น เมื่อเขารู้สึกว่าแม่ปล่อยให้ฉันได้เจอคนอื่นนะ ได้สร้างสายสัมพันธ์กับคนอื่นบ้าง ในพื้นที่ 7 วันของเวิร์กช็อปนั้น ทำให้เกิดพัฒนาการในตัวเขาขึ้นมา
แม่อุ๊ : สำหรับแม่คือคิดว่าเป็นการสร้างตัวตนที่ดี และมาในเวลาที่เหมาะสม ด้วยวัย 8-9 ปี หลังจากนั้นเขาก็พัฒนามาเรื่อยๆ เหมือนได้ปลดล็อก เพราะหลังจากเวิร์กช็อป horses จริงๆ ก็ยังไม่เห็นว่าเขาเปลี่ยนไปมากขนาดนั้น แต่ตอนนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะหลังจากนั้นก็จะมีอีกกิจกรรมหนึ่งแบบออนไลน์ ที่เขาต้องซ้อมเอง ฝึกเอง อัดคลิปเอง แล้วพอเราได้เห็นลูกแสดงออก การใช้ร่างกายของเขา ก็ว้าวมากว่าลูกทำได้ แล้วเขาก็ได้ทำพอดแคสต์ของ Thai PBS แม่คิดว่าตรงนี้เป็นส่วนที่ทำให้เขากล้าคิด กล้าแสดงออก เป็นประสบการณ์ที่มาในเวลาที่เหมาะสม เพราะเขาเป็นเด็กแต่ได้ประสบการณ์แบบผู้ใหญ่ เขาจึงเข้าใจเด็ก พอมีประสบการณ์เขาถึงเชื่อมโยงกันได้ทั้งหมด คิดว่าเวิร์กช็อป horses ช่วยตรงนี้ได้มาก
Mappa : เด็กๆ รู้สึกว่าประสบการณ์จากเวิร์กช็อปของ Bict Fest ส่งผลอย่างไรกับตัวเราบ้าง
จิ๊กกี๋ : หนูรู้สึกว่า ตัวเองจริงๆ ก็พิเศษ เหมือนก่อนเข้าไป เราสงสัยตัวเองว่าเราจะทำได้ไหม เรายังเป็นเด็ก ไม่เคยทำการแสดง ไม่รู้ว่าจะทำตัวยังไง เขาบอกว่าเป็นการเต้น ก็ไม่รู้ว่าจะเต้นอะไร พอได้ร่วมเวิร์กช็อป ทำให้รู้ว่าเราก็ทำได้ เราก็พิเศษในแบบของเรา เพราะเขาเปิดโอกาสให้เราใช้ความคิดออกแบบท่าของเราได้เอง ไม่มีถูกผิด ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองก็มีอะไรพิเศษ
จิ๊กซอว์ : สำหรับหนูตอนแรก หนูคิดว่าชีวิตหนูเป็นเหมือน Object สิ่งหนึ่งอะค่ะ เป็นยังไงมันก็จะเป็นแบบเดิม แต่พอเข้าโครงการแล้ว หนูรู้สึกว่าหนูเป็นของเหลว คือ Mindful ขึ้นว่าถ้าเราเอาตัวเองไปอยู่สถานการณ์แบบไหนก็จะเป็นแบบนั้น สมมติเราอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยม เราก็จะเป็นสี่เหลี่ยม อยู่ในที่ไม่มีแพทเทิร์นเราก็จะเป็นของเหลว เหมือนเรายืดหยุ่นมากขึ้น เราเป็นตัวของตัวเอง แต่ว่ามีความ Flexible แล้วสิ่งที่หนูนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันคือเรื่องความเชื่อใจ เราเรียนรู้ที่จะเชื่อใจคนอื่นว่าเขาจะดีกับเรา เขาจะไม่ทำให้เราเจ็บ มองคนในแง่บวก เพราะตอนที่เข้าเวิร์กช็อป หนูไม่สบายไปประมาณครึ่งหนึ่ง พี่ๆ ในทีมก็จะคอยดูแล คอยเตือนให้กินยา เป็นความห่วงใยทั้งที่เพิ่งรู้จักกัน
เอริค : สำหรับเอริคก็เหมือนกับที่จิ๊กซอว์พูดครับ คือเราจะเชื่อใจคน ไม่ได้มองเขาในแง่ไม่ดี เราจะมองคนอื่นในแง่บวกเสมอ แต่ถ้าเขาทำลายความจริงใจนั้น เราก็จะตัดขาดและแซดไปเลยครับ แล้วก็ความกล้าแสดงออก เราจำวิธีจากเวิร์กช็อปไปใช้ต่อได้ ถ้าอยากสร้างมู้ดดีๆ เราก็ดึงประสบการณ์ตรงนั้นมาใช้ เหมือนว่ามันเป็นสิ่งที่ฝังเข้าไปเป็นตัวเราแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของเรา เพราะแม้ว่าจะเวิรก์ช็อปแค่ 7 วัน แต่รู้สึกเวลานานเป็นปี เป็น 7 วันที่มีค่ามาก เหมือนเวลาหยุดเอาไว้ในห้องนั้น เป็น Magic Room ที่เก็บความทรงจำดีๆ เอาไว้ครับ
จิ๊กกี๋ : ใช่ๆ ตอนแรกจำไม่ได้ว่า 7 วัน เพราะเหมือนนานกว่านั้น พอได้ยินเอริคบอกว่า 7 วัน ตกใจเลยเพราะเหมือนเราใช้เวลาด้วยกันนานมาก แล้วเป็นช่วงเวลาที่เรารู้สึกดี รู้สึกพิเศษ มีตัวตน เพราะว่าพี่ๆ ปฏิบัติกับเราไม่หมือนผู้ใหญ่เล่นกับเด็ก แต่ Respect เราในฐานะนักแสดงเหมือนกัน
แม่อิ๊ก : คุณแม่ว่า Respect คำนี้เป็นสิ่งที่รู้สึกได้ในโครงการ เขาเคารพกัน เหมือนลูกเรียนรู้ที่จะเคารพร่างกายคนอื่น ร่างกายตนเอง ถึงตอนนี้ที่โตขึ้น เวลาเขาจะจับใคร เขาจะเคารพร่างกาย ตัวตนของคนอื่น ต่อขอบเขตของตนเองและคนอื่น ซึ่งสิ่งนี้ถูกเวลามากเลย คือช่วงอายุ 7,8,9 ขวบที่เขากำลังอยู่ในช่วงปฐมวัยไปสู่วัยที่โตขึ้น เราเห็นตัวตนเขาชัดขึ้น เสียงดังฟังชัด ชอบไม่ชอบ สื่อสารกับเราในฐานะที่เราเท่ากันได้ชัดขึ้น
Mappa : อยากให้เล่าความรู้สึกของวันที่ทำการแสดงจริง ทั้งในมุมของเด็กๆ ในฐานะนักแสดง และในมุมของพ่อแม่ในฐานะผู้ชม
จิ๊กกี๋ : ตอนที่ได้เล่น รู้สึกโฟลว์ มีความสุข ได้เล่นไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุด รู้สึกว่าทั้งจิตและกายโฟลว์ไปด้วยกัน
เอริค : ผมจำได้ว่าวันแสดงจริง พี่ๆ มาบอกพวกเราว่า ไปเล่นตรงนั้นกันเถอะ
จิ๊กกี๋ : ใช่ๆ เพิ่งจำได้ว่าเขาบอกว่าไปเล่นกัน เพราะพวกพี่ๆ ทำเหมือนไปเล่น ไม่ได้แสดง แค่เล่นไปแล้วเราก็รู้สึกว่ากำลังเล่นจริงๆ
เอริค : ใช่ครับ ไม่มีการตื่นเวที ไม่ว่าคนดูจะเยอะขนาดไหน หรือจะมีแสงสีเสียง เราก็แค่เล่นแบบที่เราทำมาทุกวัน มันเป็นอะไรที่ไม่ค่อยน่าเชื่อสำหรับบางคน แต่สำหรับเรา พี่ๆ ทำให้เราออกไปแสดงต่อหน้าคนเยอะๆ ได้โดยไม่รู้สึกอาย ไม่เกร็ง ไม่ตื่นเวที จำได้ว่าเรานั่งต่ออิฐกัน แล้วจิ๊กซอว์ก็พูดอะไรไม่รู้ ขำมาก แล้วเราก็ขำกันตรงนั้น ลืมไปเลยว่าแสดงอยู่
แม่อิ๊ก : สำหรับแม่ในฐานะผู้ชม รู้สึกว่ามันพิเศษมากเลย ที่เราได้เห็นสายสัมพันธ์บางอย่าง ที่ไม่รู้ว่าจะอธิบายยังไง การที่ลูกมีสายสัมพันธ์กับคนอื่น แล้วเห็นผลลัพธ์ผ่านการแสดง เพราะในสายงานวิชาการของคุณแม่ที่ทำงานกับเด็ก เราค้นคว้าวิจัยมาเป็น 10 ปี สิ่งที่เราเห็นมัน Mind Blow มาก ว่าเขาทำมันได้ใน 7 วัน เป็นสิ่งที่อธิบายด้วยภาษาวิชาการไม่ได้ แต่มันอธิบายด้วยการกระทำ การแสดง เขาอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ความเชื่อใจ ผ่านการเล่นของเด็กๆ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่ากระบวนการในเวิร์กช็อปคืออะไร แต่เราไม่ถามก็ได้ เราวางใจที่จะวางมันไว้ตรงนั้น แล้วให้มันเป็นความทรงจำของลูก ซึ่งในฐานะคนเป็นแม่ไม่ง่ายเลย เราอยากรู้ทุกเรื่องของลูกอยู่แล้ว เราต้องอดทนขนาดไหนที่เราจะวางใจแล้วให้สิ่งนี้เป็นความทรงจำของลูกไม่ใช่ของเรา
แม่อุ๊ : ใช่ๆ แล้วจริงๆ ก่อนหน้านี้แม่ก็ไม่เคยรู้เหมือนกันว่าลูกทำอะไรบ้าง คือรับรู้ได้จากการดูโชว์ว่าลูกมีความสุข แล้ววันนี้ที่เด็กๆ เล่า ทำให้เรารู้เยอะขึ้นนะ เพิ่งวันนี้เลย ตอนที่ชมการแสดง เราก็รู้สึกว้าวที่ลูกเราทำได้ แต่พอมาฟังวันนี้ คิดว่าว่าเวิร์กช็อปนี้เป็นเหมือนการเปิดประสบการณ์เลย เพราะหลังจากนั้นเขาก็ไปต่อได้ เขามี Self-Esteem ที่พัฒนาขึ้นอย่างชัดเจน
Mappa : เวิร์กช็อป horses เป็นการแสดงที่จำลองความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับชีวิต เปรียบเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างม้ากับผู้ขี่ม้า หากมองในมุมนี้ นอกจากเด็กๆ จะได้พัฒนาอะไรบางอย่างแล้ว เวิร์กช็อปนี้ได้ทำงานกับความเป็นแม่อย่างไรบ้าง
แม่อุ๊ : เราได้ก้าวข้ามผ่านการเป็นมนุษย์แม่ที่จะปล่อยมือลูก เพราะโปรเจกต์นี้ เราส่งลูกได้แค่บันไดขั้นแรกสุด แค่นั้น เป็นครั้งแรกที่ออกจากบ้านแล้วตัวไม่ติดกัน ก่อนหน้านี้แม่แทบจะใส่ชุดมนุษย์อวกาศให้ลูก เซฟลูกมาก พอพาลูกเข้าเวิร์กช็อปนี้ ทำได้แค่ยืนที่บันไดขั้นล่างสุด แล้วชะเง้อ ซึ่งการที่เราวางใจให้ลูกวัยแค่นั้น ปล่อยมือลูกไป มันยากมากสำหรับคนเป็นแม่ แต่พอเขากลับมาเขาบอกมีความสุข ก็ทำให้เรามั่นใจว่าลูกเราทำได้ อยู่ได้
แม่อิ๊ก : ด้วยความที่โปรเจกต์ทำมาดีมาก คือ เขาบอกล่วงหน้าเลยว่า แม่อย่ายุ่ง จริงๆ เขาบอกด้วยถ้อยคำดีมาก แต่คือใจความประมาณนี้ (หัวเราะ) ซึ่งแม่ก็เห็นแหละว่ามีเหตุผลบางอย่างที่เขาต้องทำแบบนั้น แล้วเขาต้องเชื่อในตัวลูกเราขนาดไหน ถึงบอกว่ายินดีจะดูแลมนุษย์สองคนนี้ให้ โดยที่แม่ไม่ต้องกังวล มันเป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดความเป็นแม่เลยนะ ว่าเธอวางใจลูกได้นะ แล้วก็มีมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งที่บอกว่าฉันจะดูแลลูกให้เธอ มันคือการเชื่อใจลูก เชื่อใจเขา และเชื่อใจตัวเอง เป็นการก้าวข้ามครั้งใหญ่ของตัวเองเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าความกังวลจะหายไป แต่เราถือมันไว้แล้วปล่อยให้ลูกใช้ชีวิตต่อ ซึ่งระหว่างกระบวนการแม่ไม่รู้ แต่ตอนแสดงโชว์แล้วเขาอธิบาย วันสุดท้าย เราก็แบบอ๋อ เขาไม่ได้ทำงานกับลูก เขาทำงานกับแม่
จิ๊กกี๋ : พอย้อนกลับไปคิด ตอนที่แม่ให้ไปอยู่เองทั้งวัน ตอนนั้นดีใจ ที่เรารู้สึกโตขึ้นแล้ว เรารับผิดชอบตัวเอง ดูแลน้องได้ คุณแม่เชื่อว่าเราทำได้ เราก็ต้องทำได้ เราได้ก้าวข้ามเหมือนกันโดยที่เรายังไม่รู้ตัว ถ้าวันนั้นไม่ได้ทำ ตอนนี้อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่งก็ได้
เอริค : สำหรับเอริค มันอาจจะเปลี่ยนไปหมดเลยก็ได้ มันอาจจะไม่เหลือความทรงจำอะไรเลยก็ได้ ถ้าหากเขาปล่อยให้พ่อแม่อยู่หน้าห้อง เราจะไม่โฟกัสกับกิจกรรม เราจะมองหาพ่อแม่
แม่อิ๊ก : แม่ว่าโปรเจกต์นี้ทำให้เราพูดเรื่อง ‘Trust’ แบบเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในรูปแบบที่จับต้องได้ ทำให้ลูกเห็นความเชื่อใจอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น นำมาสู่ Self-Esteem ที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นนับจากวันนั้น คือมันไม่ได้แบบวันนี้พรุ่งนี้เปลี่ยน แต่เห็นพัฒนาการของเขา ทีละนิด เวลากลับไปพูดถึงโปรเจกต์นี้เรื่อยๆ รู้สึกว่ามันสมานใจ เพิ่มพลังให้ลูกได้ สำหรับแม่เอง โปรเจกต์นี้เป็นตัวพิสูจน์ว่าลูกอยู่ได้โดยไม่มีเรา เป็นสิ่งใหญ่มากเลยนะ เพราะรู้สึกว่าเขารอดจริงๆ ในมุมเด็กเขาอาจไม่คิด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจักษ์พยานให้เขาเห็นตัวเองว่าเขาอยู่เองได้นะ มีสายสัมพันธ์อื่นๆ ในโลกนี้ที่ประคับประคองฉันอยู่
Mappa : อยากให้เชิญชวนครอบครัวที่กำลังอ่านบทความนี้ว่าทำไมจึงควรร่วมงาน Bict Fest 2024
แม่อุ๊ : แม่รู้สึกว่ากิจกรรมนี้จะทำให้เรา ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ลูก หรือใครก็ตามชัดเจนขึ้นหลายๆ อย่าง เพราะศิลปะขึ้นอยู่กับการตีความ การเปิดโอกาสให้ตัวเองสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ อาจค้นพบตัวตน มุมมอง Self-Esteem ที่ให้ประโยชน์มากๆ ทั้งต่อพ่อแม่และเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง หรือผู้ชม ถึงแม้จะไม่ได้เวิร์กช็อป แต่เพียงแค่ได้ชม ได้ใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว ก็เป็นประสบการณ์ดีๆ ในชีวิตแล้ว
แม่อิ๊ก : สิ่งที่อยากบอกคือ ไปเข้าร่วมเถอะในฐานะผู้ชม ศิลปิน หรืออะไร พาลูกไปมีส่วนร่วมเถอะ พาตัวเองไปอยู่ตรงนั้นเถอะ อย่างน้อยๆ ทำให้เราเห็นว่าโลกนี้ มีคนที่ตั้งใจทำอะไรบางอย่างในสิ่งที่เขาเชื่อ ในสิ่งที่เขารัก แล้วเราก็จะได้อะไรกลับมาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะในมิติไหน ขึ้นอยู่ว่าเราจะนำไปตกผลึกสอดคล้องกับประสบการณ์ของเราอย่างไร จงพาตัวเองไปเถอะ แค่ในพื้นที่ที่มีคนทำในสิ่งที่เขารักขนาดนั้น มันก็ Inspire บางอย่างให้กับเราแล้วค่ะ ไม่อยากให้จำกัดตัวเองเพราะกลัวว่าศิลปะการแสดงจะ Abstract หรืออะไร สำหรับเด็กๆ เขาไม่ได้คิดว่าสิ่งนี้ abstract หรือไม่ เขาแค่คิดว่าได้ไปเล่นสนุก เอนจอยโมเมนต์นั้น แล้วกระบวนการเรียนรู้ก็เกิดขึ้นเอง
หากเปรียบ ผีเสื้อ เป็นเป้าหมายของชีวิตในแต่ละช่วงวัย การโบยบินไปสู่เป้าหมายของคนเราคงเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเราไม่สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดที่ห่อหุ้มเราไว้ ไม่ว่าจะเป็นความเคยชิน ความกลัว ความกังวล ฯลฯ
ศิลปะจึงเข้ามาทำงานกับจิตใจของคนเราด้วยการเปิดให้เห็นมุมมองความเป็นไปได้ที่หลากหลาย เช่นเดียวกับเวิร์กช็อป Horses ที่ไม่เพียงพิสูจน์ให้เด็กๆ เห็นคุณค่าในตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็ทำงานกับความเชื่อใจของพ่อแม่ เปรียบเสมือนม้ากับผู้ที่อยู่บนหลังม้า ที่เมื่อเชื่อใจซึ่งกันและกันแล้ว ทั้งสองจะหลุดออกจากกรอบที่ห่อหุ้ม เติบโต และทะยานออกสู่โลกกว้างตามหาผีเสื้อของตนเองได้อย่างเสรี
Bict Fest 2024 ศิลปะการละครสำหรับเด็ก อาจเป็นโอกาสที่ทำให้ทุกคนในครอบครัวได้ค้นพบความเป็นไปได้ไม่รู้จบ เมื่อผู้ใหญ่ปล่อยให้เด็กๆ นำทาง ขอบเขตจินตนาการอาจขยายไปได้มากไปกว่าที่เราคุ้นเคย
- เกี่ยวกับ horses
horses เป็นการแสดงเต้นร่วมสมัย ที่เปิดแสดงในงาน Bict Fest 2018ผลงานจากเวิร์กช็อป 7 วันระหว่างศิลปินกลุ่ม คาบิเนต คา จากเบลเยียม และนักเต้นมืออาชีพและเด็กๆ จากประเทศไทย เมื่อผู้ใหญ่ 6 คน และเด็ก 6 คน มาเคลื่อนไหวอยู่ภายใต้ความเชื่อใจกันและกัน horses เป็นประจักษ์พยานของพลังและความจริงใจของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ การแสดงที่นักแสดงค้นหาวิธีการอยู่ร่วมกันและความสัมพันธ์เฉพาะหนึ่งต่อหนึ่งระหว่างชีวิตกับชีวิต เหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างม้ากับผู้ขี่ของมัน
https://www.kabinetk.be/en/work/horses
Writer
สุภาวดี ไชยชลอ
ชอบเดินทาง ชอบดูซีรีส์เกาหลี สนใจทฤษฏีจิตวิเคราะห์ และชอบตอบคำถามลูกสาวช่างสงสัยวัยประถม
Photographer
ณัฐนันท์ วิจิตรบุญชูวงศ์
ถ่ายภาพ ชอบดูหนัง ไปนอน และหาของอร่อย