เด็กไทยไม่อ่านหนังสือ หรือ สภาพสังคมไทยไม่เอื้อต่อการอ่าน?
เด็กไทยไม่อ่านหนังสือ หรือ สภาพสังคมไทยไม่เอื้อต่อการอ่าน?
ในยุคที่โลกหมุนเร็ว และเต็มไปด้วยสิ่งเร้า การหามุมสงบเพื่ออ่านหนังสือสักเล่ม อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะนอกจากสิ่งเร้าภายนอก อย่างแสง สี เสียง ที่พยายามแข่งกันเรียกความสนใจจากผู้คนตลอดเวลาแล้ว ก็ยังมีสิ่งเร้าใกล้ตัว อย่างโทรศัพท์มือถือ ที่เต็มไปด้วยความบันเทิงสารพัดรูปแบบ ทำให้การอ่านหนังสือให้จบสักเล่มเป็นเรื่องที่ท้าทายกว่าทุกยุคสมัยที่ผ่านมา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพแวดล้อม มีส่วนสำคัญไม่น้อยต่อการสร้างอุปนิสัยรักการอ่านให้ประสบความสำเร็จ การศึกษาที่ตีพิมพ์ออนไลน์ใน Journal of Child Psychology and Psychiatry เมื่อปี 2010 เรื่อง Genetic and environmental influences on the growth of early reading skills โดย Ohio State University ระบุว่านอกจากพันธุกรรมที่ส่งผลต่อทักษะการอ่านของเด็กแล้ว สภาพแวดล้อมที่ดีก็มีความสำคัญอย่างมากที่จะสร้างนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นได้
บทความนี้ จึงอยากชวนผู้อ่าน ย้อนมองดูสภาพแวดล้อมในสังคมของเรา ว่าเอื้อต่อการสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กๆ มากน้อยเพียงใด และมีสิ่งใดบ้างที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการอ่านของเด็กไทย
เพราะอะไรสภาพแวดล้อมจึงสำคัญ
เมื่อพูดถึงการเลี้ยงดูเด็ก สองสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของเด็กและถูกพูดถึงคู่กันอยู่เสมอนั่นก็คือ ‘พันธุกรรม’ และ ‘สภาพแวดล้อม’ แน่นอนว่าลักษณะนิสัย ทักษะ ความสามารถส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรมที่ถ่ายทอดในครอบครัว ส่วนอีกด้านหนึ่ง สภาพแวดล้อมก็มีอิทธิพลไม่น้อยในการกำหนดว่าเด็กแต่ละคนจะเติบโตมาอย่างมีคุณภาพเพียงใด
หากเปรียบเทียบการเลี้ยงดูเด็ก กับการปลูกต้นไม้ เมล็ดพันธุ์ที่ดี ย่อมได้รับการถ่ายทอดจากพันธุกรรม แต่ต้นไม้นั้นจะเติบโตแข็งแรง ต้านลมต้านฝนได้ดีหรือไม่นั้น ผู้ดูแลจำเป็นต้องปรับหน้าดิน เลือกบริเวณที่แสงแดดส่องถึงอย่างเหมาะสม ทำที่กันลมกันฝนเพื่อปกป้องต้นกล้าให้เติบโตอย่างปลอดภัย ทั้งหมดนั้นคือการปรับสภาพแวดล้อม
การปลูกฝังทักษะด้านการอ่านก็เช่นเดียวกัน การศึกษาจาก Ohio State University พบว่า ทั้งพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมล้วนมีอิทธิพลต่อความสามารถในการอ่านของเด็กปฐมวัย ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การจดจำคำศัพท์และตัวอักษร การสะกดและออกเสียง ไปจนถึงทักษะการอ่านเร็ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงเรื่องพัฒนาการในการอ่าน อย่างการจดจำคำศัพท์ จดจำเสียงของศัพท์ที่เรียนรู้แล้วเพื่อนำไปใช้ การศึกษาชิ้นดังกล่าว พบว่า สภาพแวดล้อมมีส่วนสำคัญมากกว่าในการส่งเสริมให้เด็กพัฒนาทักษะการอ่านได้รวดเร็ว นั่นหมายความว่า ทักษะการอ่านเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมนั่นเอง
สภาพแวดล้อมกับวัฒนธรรมการอ่านของเด็กไทย
เมื่อรู้แล้วว่าสภาพแวดล้อมมีความสำคัญต่อทักษะการอ่านหนังสือ ทีนี้ลองมาดูว่า
สังคมไทยของเรา มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการอ่านมากน้อยเพียงใด
ข้อมูลจากการศึกษาเรื่องวัฒนธรรมการอ่านของคนไทย: การวิเคราะห์วาทกรรม โดยพงศ์ศักดิ์ สังขภิญโญ ตีพิมพ์ในวารสารสารสนเทศศาสตร์ ปี พ.ศ. 2563 นำเสนอข้อมูลจากบทความชื่อ Reading : The heart of national development (2003) ที่ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยขาดวัฒนธรรมในการอ่าน และขาดปัจจัยสนับสนุน โดยคนไทยอ่านน้อยมาก หากเทียบกับต่างประเทศ จะเห็นว่าคนไทยอ่านแค่เพียง 5 เล่ม ต่อคนต่อปี ในขณะที่สิงคโปร์อ่าน 17 เล่ม ต่อคนต่อปี และสหรัฐอเมริกา 50 เล่ม ต่อคนต่อปี ส่วนสถิติการใช้ห้องสมุดพบว่า คนไทยต่ำกว่าร้อยละ 3 ที่เข้าห้องสมุดประชาชน 1 ครั้ง 1 ปี
ที่สำคัญ พบว่ามีคนไทยต่ำกว่าร้อยละ 1 ที่เป็นสมาชิกห้องสมุดประชาชน โดยในปี 2546 มีผู้เป็นสมาชิกเพียง 420,000 คนเท่านั้น
การศึกษาชิ้นดังกล่าววิเคราะห์ว่า วัฒนธรรมการอ่านในงานวิชาการหลายชิ้น เป็นการพยายามสะท้อนของนักวิชาการ ให้เห็นจุดอ่อน และความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย และระบบสนับสนุนอื่นๆ ที่มีผลต่อการอ่านของคนไทย เช่น ห้องสมุด การแพร่กระจายระบบหนังสือ รวมทั้งการที่สังคมไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอ่านเท่าที่ควร
หากลองพิจารณา ก็อาจพบว่าการวิเคราะห์ในการศึกษาดังกล่าวไม่ห่างไกลจากความจริงเท่าไรนัก การเข้าถึงห้องสมุดชุมชนและพื้นที่สาธารณะถือเป็นอุปสรรคใหญ่ของการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการอ่าน กล่าวคือ ในประเทศไทยไม่มีพื้นที่สาธารณะที่ครอบครัวสามารถใช้เวลาด้วยกันได้ง่ายนัก สวนสาธารณะดีๆ มีห้องสมุดชุมชน มักตั้งอยู่ใจกลางเมือง ทั้งที่ครอบครัวส่วนใหญ่มักมีที่พักอาศัยอยู่แถบชานเมือง ฉะนั้น การเดินทางเพื่อไปห้องสมุดชุมชน หรือ สวนสาธารณะ จึงเหมือนการเดินทางไกลที่ต้องใช้ทั้งเงินและเวลา ขณะเดียวกันระบบการศึกษาที่วัดด้วยการสอบ การอ่านหนังสือจึงถูกทำให้เป็น ‘หน้าที่’ มากกว่าการอ่านเพื่อความสนุกเพลิดเพลิน เมื่อพูดถึงคำว่า ‘อ่านหนังสือ’ คนส่วนหนึ่งจึงเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องวิชาการมากกว่าจะเป็นการอ่านเพื่อความบันเทิง
ปัญหาเศรษฐกิจก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่กลายเป็นข้อจำกัดของการสร้างสภาพแวดล้อมรักการอ่าน หลายครอบครัวที่รายได้ไม่เพียงพอ ย่อมให้ความสำคัญกับปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตมากกว่าการซื้อหนังสือสักเล่มให้ลูก พ่อแม่ที่ต้องทำงานล่วงเวลา เพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว มักไม่มีเวลาอ่านหนังสือกับลูก เมื่อผนวกเข้ากับสภาพสังคมที่เข้าสู่ยุคดิจิทัล ใครๆ ก็เข้าถึงความบันเทิงออนไลน์ได้ง่ายดาย การอ่านก็อาจถูกมองว่าเป็นกิจกรรมหรูหราฟุ่มเฟือย มากกว่าจะมองว่าการอ่านเป็นความจำเป็น
ขณะเดียวกันหน่วยงานที่ส่งเสริมการอ่านอย่างจริงจัง ก็มีไม่มากนัก ทำให้แม้หลายฝ่ายจะตระหนักถึงปัญหา แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขที่ต้นสายปลายเหตุได้อย่างเต็มที่ การสร้างสภาพแวดล้อมรักการอ่านสำหรับเด็กๆ จึงไม่ใช่แค่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนในสังคมที่พร้อมรับมือปัญหาและหาแนวทางแก้ไขที่จริงจังและยั่งยืน
สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่านควรเป็นอย่างไร
สภาพแวดล้อมเป็นตัวขับเคลื่อนพฤติกรรมที่ทรงพลังอย่างที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง ในแต่ละวันคนเราได้รับผลกระทบจากแสง สี เสียง อุณหภูมิ และพื้นที่อยู่ตลอดเวลา ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมเหล่านี้ส่งผลต่ออารมณ์ พลังงาน แรงจูงใจ และความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของคนเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่านของเด็กๆ จึงประกอบไปด้วยหลายส่วนด้วยกัน ดังนี้
- เป็นบริเวณที่ไม่มีเสียงรบกวน
- สะดวกสบาย สามารถใช้เวลาอยู่ได้นานๆ
- มีความเป็นส่วนตัว แม้ไม่ถึงขนาดกั้นห้อง อาจทำเป็นมุมเล็กๆ สักมุมหนึ่ง โดยใช้ชั้นหนังสือวางกั้นเพื่อความเป็นสัดส่วน
- มีหนังสือหลากหลาย ไม่สำคัญว่าเป็นหนังสือราคาแพง แต่ควรเป็นหนังสือที่เหมาะกับวัยของลูก
- เพิ่มการมีส่วนร่วมของพ่อแม่
จะเห็นว่า นอกจากการจัดพื้นที่ให้เอื้อต่อการอ่านของเด็กๆ แล้ว การมีส่วนร่วมของพ่อแม่ก็ถือเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย มีความสุข มีความสนุก มั่นคงปลอดภัย เพราะเมื่อพ่อแม่อ่านหนังสือกับลูก จะเกิดสภาพแวดล้อมเชิงบวกที่ไม่เพียงนำไปสู่ความผูกพันทางอารมณ์ แต่ขณะเดียวกันยังทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าพื้นที่และช่วงเวลาแห่งการอ่านนี้ รื่นเริง รื่นรมย์ และเป็นช่วงเวลาที่ปลอดภัย เพราะมีพ่อแม่อยู่ใกล้ๆ เมื่อพวกเขาเชื่อมโยงความรู้สึกแห่งความสุข (จากการใช้เวลากับพ่อแม่) เข้ากับการอ่าน จึงทำให้พวกเขามีทัศนคติเชิงบวกต่อการอ่านติดตัวไปจนโต
สภาพแวดล้อมที่ดีจึงไม่เพียงส่งเสริมการอ่านให้ประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการสร้างประสบการณ์การอ่านที่ดีให้หยั่งรากลึงลงไปในใจของเด็กๆ เพื่อให้เขามีความสุขกับการอ่าน เปิดโอกาสให้เรื่องราวผ่านตัวอักษรได้ทำงานกับจิตใจของเด็กนำไปสู่การต่อยอดพัฒนาการในด้านต่างๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
สุดท้ายแล้ว แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพแวดล้อมของสังคมไทยอาจยังไม่เอื้อต่อการเป็นสังคมแห่งการอ่านของทุกคนอย่างเท่าเทียมเท่าใดนัก แต่หากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู สามารถทำให้การอ่านเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขสำหรับเด็กๆ ได้…สังคมแห่งการอ่านที่หลายคนอยากเห็น ก็อาจเป็นจริงได้ในสักวัน
อ้างอิง :
https://www.sciencedaily.com/releases/2010/01/100111122647.htm
https://www.readnaturally.com/about-us/blog/what-makes-an-ideal-reading-environment
Writer
สุภาวดี ไชยชลอ
ชอบเดินทาง ชอบดูซีรีส์เกาหลี สนใจทฤษฏีจิตวิเคราะห์ และชอบตอบคำถามลูกสาวช่างสงสัยวัยประถม
illustrator
พัชรา พันธุ์ธนากุล
นักออกแบบผู้หลงใหลในศิลปะ เด็ก หนังสือภาพ แมวทักซิโด้ และชามะลิ