ได้เงินเดือนเท่าเดิมแม้ลาคลอด มีคนช่วยดูแลลูกตลอดแม้จะเป็นรายชั่วโมง: นโยบายจากญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่กล้ามีลูก

 ได้เงินเดือนเท่าเดิมแม้ลาคลอด มีคนช่วยดูแลลูกตลอดแม้จะเป็นรายชั่วโมง: นโยบายจากญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่กล้ามีลูก

  • เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีเด็กเกิดต่ำกว่า 800,000 คน หรือลดลงไปถึง 5.1 เปอร์เซ็นต์จากปี 2564 ขณะที่ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนถึง 29% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเยอะที่สุดในโลก
  • ผลการสำรวจปี 2563 โดยสำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นพบว่า มีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 38% เท่านั้นที่มองว่าการมีลูกและการเลี้ยงเด็กเป็นเรื่องง่ายในประเทศบ้านเกิด รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้เปิดตัวหน่วยงานใหม่อย่าง “สำนักงานกิจการเด็กและครอบครัว” ขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์เด็กเกิดน้อยและสร้างความเชื่อมั่นให้คนรุ่นใหม่ให้พร้อมมีลูกมากขึ้น
  • เงินสนับสนุนค่าเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่ตั้งครรภ์จนจบการศึกษาภาคบังคับ ได้เงินเดือนเท่าเดิมในเดือนแรกที่ลาคลอด มีสถานรับเลี้ยงเด็กและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กช่วยดูแลลูกตลอดแม้จะเป็นรายชั่วโมง พัฒนาชุมชนให้เด็กได้เล่นและเติบโตอย่างปลอดภัย คือส่วนหนึ่งในเป้าหมายเชิงนโยบายของสำนักงานกิจการเด็กและครอบครัว เพื่อจะทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อเด็กมากยิ่งขึ้น  

การก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุจากปัญหาเด็กเกิดน้อยอาจเป็นสถานการณ์ที่ประเทศไทยและหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ญี่ปุ่นก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยปี 2565 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีเด็กเกิดต่ำกว่า 800,000 คน หรือลดลงไปถึง 5.1 เปอร์เซ็นต์จากปี 2564 ขณะที่ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนถึง 29% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเยอะที่สุดในโลก

เรื่องที่เราอาจคิดไม่ถึงก็คือ แม้ในสายตาคนนอก ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเด็ก ๆ ที่ญี่ปุ่นก็ดูจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ผลการสำรวจปี 2563 โดยสำนักนายกรัฐมนตรีกลับพบว่า ชาวญี่ปุ่นเพียง 38% เท่านั้นที่มองว่าการมีลูกและการเลี้ยงเด็กเป็นเรื่องง่ายในประเทศบ้านเกิด ขณะที่ในเยอรมันและสวีเดนมีผู้ตอบแบบสอบถามถึง 77% และ 97% ตามลำดับ ที่บอกว่าการมีลูกและเลี้ยงเด็กในประเทศบ้านเกิดของพวกเขาเป็นเรื่องง่าย

ในเดือนเมษายน 2566 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้เปิดตัวหน่วยงานใหม่อย่าง “สำนักงานกิจการเด็กและครอบครัว” ขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์เด็กเกิดน้อยและสร้างความเชื่อมั่นให้คนรุ่นใหม่ให้พร้อมมีลูกมากขึ้น

สำนักงานกิจการเด็กและครอบครัว หน่วยงานใหม่ในกำกับของสำนักรัฐมนตรีมี ยูมิโกะ วาตานาเบะ ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าสำนักงานนโยบายเด็กและครอบครัวในกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ เป็นผู้อำนวยการ และมีเจ้าหน้าที่กว่า 350 คนจากทั้งกระทรวงอื่น ๆ และภาคเอกชน เพื่อร่วมมือกันจัดทำนโยบายที่สนับสนุนการตั้งครรภ์และการเติบโตของเด็ก รวมถึงการต่อต้านความรุนแรงต่อเด็กและช่วยเหลือเด็กในครอบครัวเปราะบาง

เป้าหมายของพวกเขาคือการออกนโยบายที่สนับสนุนการเติบโตของเด็กโดยไม่ได้เน้นเพียงแค่ตัวเด็กเอง แต่รวมถึงทุกคนที่มีส่วนร่วมในระบบนิเวศการเติบโตของเด็ก ๆ ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนกระทั่งพวกเขาจบการศึกษาระดับมัธยม เพื่อสร้างสังคมที่มี ‘เด็กเป็นศูนย์กลาง’ อย่างแท้จริง

และนี่คือเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสำนักงานกิจการเด็กและครอบครัว หน่วยงานใหม่ที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของญี่ปุ่น

นโยบายที่ครอบคลุมเส้นชีวิตของเด็กตั้งแต่เกิดจนโต

เป้าหมายหลักของสำนักงานกิจการเด็กและครอบครัวคือการเข้ามาทำหน้าที่บูรณาการงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนซึ่งที่ผ่านมากระจัดกระจายอยู่ในกระทรวงต่าง ๆ ให้สอดคล้องกันเพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพมากขึ้น  

“สำนักงานกิจการเด็กและครอบครัวจะมีหน้าที่สั่งการเพื่อแก้ปัญหามากมายที่เด็กและเยาวชนต้องเผชิญอยู่ และเปลี่ยนสังคมที่ส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ใหญ่ให้เป็นสังคมที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง เราต้องทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับเด็กมากกว่านี้” มาสะโนบุ โอกุระ รัฐมนตรีที่ได้รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลสำนักงานกิจการเด็กและครอบครัวกล่าวในวิดีโอแถลงข่าว

สำนักงานกิจการเด็กและเยาวชนจึงมีเป้าหมายเชิงนโยบาย คือ

  • เพิ่มเงินสนับสนุนค่าเลี้ยงดูบุตรสำหรับครอบครัวที่มีลูกตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป
  • ขยายเงินสนับสนุนค่าเลี้ยงดูบุตรให้ทุกครอบครัวตั้งแต่หลังคลอดจนจบชั้นมัธยมศึกษา ขณะที่ปัจจุบันมีการสนับสนุนค่าเลี้ยงดูบุตรให้เพียงบางครอบครัวไปจนจบชั้นประถมศึกษาเท่านั้น   
  • ให้เงินสนับสนุนค่าเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่คลอด
  •  เพิ่มเงินค่าอาหารกลางวันให้กับโรงเรียน
  • ให้ทุนการศึกษาหรือลดหย่อนค่าเทอมสำหรับผู้ที่มีลูกแต่ต้องการศึกษาต่อ และเปลี่ยนนโยบายการกู้ยืมเพื่อการศึกษาโดยให้ผู้ที่กู้ยืมไม่ต้องชำระเงินคืนจนกว่าจะมีรายได้ถึงเกณฑ์
  •  ลดดอกเบี้ยบ้านสำหรับบ้านที่มีลูกหลายคน  
  • ปรับเกณฑ์การรับเด็กเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กและศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย โดยให้พ่อแม่สามารถฝากลูกไว้ได้เป็นรายชั่วโมง และไม่จำเป็นต้องมีงานทำ (ในปัจจุบัน เกณฑ์การรับเลี้ยงเด็กของสถานรับเลี้ยงเด็กยังคงรับฝากเป็นรายวันหรือรายเดือน และพ่อแม่ต้องมีหลักฐานยืนยันสถานภาพการจ้างงานเท่านั้น)
  •  จ่ายเงินเดือนให้พ่อแม่ที่ลาคลอดภายในหนึ่งเดือนหลังคลอดเท่ากับเงินเดือนที่ได้รับจริง
  •  จ่ายเงินอุดหนุนให้กับบริษัทที่ต้องจ้างพนักงานเพิ่มเพื่อทดแทนการลาคลอดของพนักงานประจำ
  • มีนโยบายที่ทำให้พ่อสามารถ ‘ลาคลอด’ เพื่อช่วยแม่เลี้ยงลูกได้มากขึ้น 50% ภายในปี 2573 และ 85% ในปี 2578

โดยรัฐบาลได้ออกร่างนโยบายมาแล้วในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเพื่อหาข้อสรุปในสภานิติบัญญัติเป็นลำดับต่อไป

นโยบายจากเสียงของเด็ก ๆ

หากจะพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง สิ่งสำคัญก็คือการรับฟังเสียงของเด็ก ๆ ทางสำนักงานกิจการเด็กและครอบครัวจึงมีการวางแผนให้เด็กและเยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำนโยบายด้วยการเชิญเด็ก เยาวชน และผู้ปกครองมาเข้าร่วมสภาพลเมือง รวมถึงการเก็บข้อมูลความคิดเห็นบนสื่อออนไลน์

นอกจากนั้นทางรัฐบาลยังเตรียมโครงการสำรวจความเห็นประชาชนกว่า 10,000 คน ตั้งแต่เด็กวัยประถมจนถึงประชาชนในวัย 20 กว่าปี เกี่ยวกับปัญหาหลาย ๆ อย่าง เช่น กฎระเบียบที่เด็กต้องปฏิบัติตามแต่กลับออกโดยผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ โดยมีเป้าหมายในการสะท้อนความคิดเห็นและมุมมองของเยาวชนเพื่อนำไปจัดทำนโยบายสำหรับเด็กต่อไปในอนาคต  

ขณะที่เว็บไซต์ขององค์การเด็กและเยาวชนซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปในเดือนเมษายน 2566 ก็มีหน้าสำหรับเด็กที่ข้อมูลในหน้าเว็บไซต์ถูกเขียนด้วยคำศัพท์ง่าย ๆ ที่เด็ก ๆ สามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ด้วยตัวเอง

บ้าน โรงเรียน ชุมชน และ third space ที่พร้อมสำหรับการเติบโตของเด็ก

หนึ่งในภารกิจขององค์การนี้คือการดูแลนโยบายที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการดูแลเด็ก รวมไปถึงการดูแลระยะหลังคลอด ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และค่าเลี้ยงดูบุตร

ส่วนอีกภารกิจคือการสนับสนุนเด็กและครอบครัวยากจน เช่น การต่อต้านความรุนแรงและการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน การสนับสนุนเยาวชนผู้พิการ และการแก้ไขปัญหาที่ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เช่น การสนับสนุนครอบครัวที่ไม่สามารถฝากลูกไว้ที่สถานรับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ ขณะที่เรื่องของการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาปฐมวัยยังคงเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาที่ต้องดูแล

อย่างไรก็ตาม องค์การใหม่นี้ยังมีหน้าที่ให้คำแนะนำต่อกระทรวงอื่น ๆ หากเห็นว่ากระทรวงนั้นยังจำเป็นต้องพัฒนา เช่น หากการดำเนินการต่อต้านการกลั่นแกล้งในโรงเรียนของกระทรวงศึกษายังไม่มีประสิทธิภาพ สำนักงานกิจการเด็กและครอบครัวก็สามารถแจงปัญหานี้และเข้าไปช่วยดำเนินการได้

นอกจากนี้ สำนักงานกิจการเด็กและครอบครัวยังดูแลองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเติบโตของเด็ก การสร้างชุมชนที่ปลอดภัยในการเล่นและการใช้ชีวิตของเด็ก ๆ การพัฒนาสุขภาวะเด็ก มีระบบให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต ผลักดันความต้องการอื่น ๆ ของเด็กที่นอกเหนือไปจากภารกิจของกระทรวง ออกนโยบายที่สนับสนุนความชอบและความถนัดที่แตกต่างกันของเด็ก ๆ ให้ครอบคลุมเพื่อที่พวกเขาจะสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ และพัฒนาประเทศที่มุ่งไปในทิศทางที่จะทำให้คนรู้สึกมีความหวังและความเชื่อมั่นในการแต่งงาน มีลูก เลี้ยงลูก และเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับเด็ก เยาวชน และครอบครัวมากกว่าเดิม  

อ้างอิง

https://www.japantimes.co.jp/news/2023/03/22/national/children-families-agency-start-date/

https://www.cfa.go.jp/en/act-establishing-the-CFA-en/

https://mainichi.jp/english/articles/20230331/p2a/00m/0op/017000c

Writer
Avatar photo
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts