“ไม่สื่อสาร ไม่เปิดโอกาส ไม่เรียนรู้” ปัญหากัญชาเสรีในโรงเรียนที่รอวันปะทุ

“ไม่สื่อสาร ไม่เปิดโอกาส ไม่เรียนรู้” ปัญหากัญชาเสรีในโรงเรียนที่รอวันปะทุ

  • นอกโรงเรียนกัญชาเสรี แต่ในโรงเรียนต้องปลอดภัย สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่า
  • ครูยังคงไม่เข้าใจ ระบบการศึกษายังตัดสิน และเด็ก ๆ ยังได้รับข้อมูลด้านเดียว นี่คือสถานการณ์จริงในรั้วโรงเรียน
  • เพราะครูเชื่อว่า หากเด็กได้รับข้อมูลครบถ้วน รอบด้าน และไม่รู้สึกถูกตัดสินหรือถูกทิ้งไว้กลางทางแล้ว เขาจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง

วันนี้กัญชาเสรี แต่ในโรงเรียนต้องปลอดกัญชา

“กระทรวงศึกษาธิการไม่อนุญาตให้นำกัญชา กัญชง แม้กระทั่งบุหรี่เข้าไปภายในโรงเรียน และกระทรวงฯ ยึดหลักการนี้มาตลอด สิ่งที่ต้องทำในวันนี้คือการสร้างการรับรู้ เพราะมีระเบียบชัดเจนในการสร้างการรับรู้ให้กับนักเรียน และคุณครูจะสื่อสารให้ผู้ปกครอง ชุมชนและสังคมได้ช่วยกัน”

คือความเห็นของตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อกระแสเรียกร้องให้ยุติกัญชาเสรีเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการใช้กัญชาอย่างเสรีในเชิงนันทนาการอย่างแพร่หลาย นำไปสู่การเข้าถึงและใช้กัญชาของเด็กและเยาวชน ส่งผลกระทบต่อร่างกาย การเจริญเติบโตของสมองในเด็กและวัยรุ่น

แต่หน้างานของครู ยังมีครูหลาย ๆ คนยังไม่เข้าใจและยังเข้าไม่ถึงความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับกัญชา แล้วเลือกสอนตามประสบการณ์และความรู้ที่ตัวเองมีให้กับนักเรียน

“ครูเหมือนถูกสั่งให้ออกรบ แต่ไม่มีอาวุธ” เป็นหนึ่งในความเห็นของครูจากวงเสวนาแบบปิด ชวนครูคุยสถานการณ์กัญชาในโรงเรียน

บทสนทนา 2 ชั่วโมงที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกและประสบการณ์จริง ทำให้รู้ว่า ครูรับรู้ปัญหา แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะครูก็ยังไม่มีเสาหลักยึดให้จับและบางครั้งก็ต้องกลับมาตั้งสติกับตัวเองแล้วช่วยเหลือนักเรียนเท่าที่ทำได้

เด็กได้รับข้อมูลด้านเดียว ขณะที่ระบบยังตัดสินแต่ไม่มีระบบช่วยเหลือ และครูกำลังยืนอยู่ในสนามรบที่ปราศจากอาวุธ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนตอนนี้

เพราะครูเชื่อว่า หากเด็กได้รับข้อมูลครบถ้วน รอบด้าน และไม่รู้สึกถูกตัดสินหรือถูกทิ้งไว้กลางทางแล้ว เขาจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง

ซึ่งวันนี้เด็กและครูยังตั้งหลักไม่ได้ เพราะสังคมรอบข้างยังบอกว่า สิ่งนี้เป็นเรื่องผิด เกิดขึ้นในที่ลับ แม้จะปลดล็อกกัญชาเสรีแล้วก็ตาม

บทความนี้ไม่ได้ต้องการตัดสินว่า กัญชาควรมีหรือไม่มีในโรงเรียน แต่เป็นสิ่งที่ครูอยากเล่าให้ฟัง

ความรุนแรงของกัญชาไม่ได้อยู่ที่สาร แต่เป็นเรื่องปริมาณ แต่เด็กไม่รู้

ปัญหาสารเสพติดในโรงเรียนประถมที่อยุธยาที่ครูบิว (นามสมมติ) สอนอยู่ ไม่ใช่กัญชา แต่เป็นกระท่อม 

“ครู สูบกระท่อมเป็นมวนกับสูบกับกระดาษ แบบไหนอันตรายกว่ากัน”

คือหนึ่งในคำถามของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ 5 ถามครู เพราะสิ่งที่เขาเห็นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียบอกเด็ก ๆ ว่า กระท่อมจะช่วยให้เขาอารมณ์ดี แต่นักเรียนไม่เห็นข้อมูลอีกด้านที่ส่งผลต่อร่างกาย

แต่ในกรณีกัญชา แม้จะถูกยกเลิกให้เป็นสารเสพติดและเข้าถึงได้อย่างเสรี และเด็ก ๆ ก็เข้าถึงยาก

แต่พวกเขาก็สามารถซื้อน้ำกัญชาดื่มได้จากร้านขายของแถวโรงเรียนพร้อมกับโดนคำโฆษณาชวนซื้อว่า “กัญชาเป็นยา กินแล้วสุขภาพดี”

แต่มุมครู สื่อจำเป็นต้องให้ข้อมูลทั้งสองด้าน ทั้งประโยชน์และโทษ รวมถึงวิธีการใช้ วิธีเสพ และปริมาณที่เหมาะสม ข้อมูลเหล่านี้คือสิ่งจำเป็นที่เด็กควรรู้

เช่นเดียวกับครูหมู (นามสมมติ) ที่มองว่า ปัญหาหลักของกัญชา คือ เด็กไม่มีความรู้ เพราะความรุนแรงของกัญชาไม่ได้อยู่ที่สาร แต่อยู่ที่ปริมาณ

“กัญชาเป็นเหมือนประตูที่ทำให้ระบบร่างกายทำงานดีขึ้น แต่เด็กมีระบบดีอยู่แล้ว การเสพเข้าไปทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานหนักขึ้น”

ครูหมูชวนคิดต่อว่า เหตุผลที่กัญชาในต่างประเทศสามารถเปิดเสรีได้เพราะให้ความรู้มาก่อน แต่กัญชาในประเทศไทยเป็นการเปิดเสรี แต่ยังไม่มีการให้ข้อมูลมากเท่าที่ควร ทำให้เด็กเรียนรู้และปฏิบัติตามแบบผิด ๆ เนื่องจากไม่ได้รับข้อมูลที่รอบด้าน

กัญชาคือวงจรที่เด็กเข้าถึงได้อย่างเสรี แม้โรงเรียนจะเป็นพื้นที่ปลอดกัญชา

“บางครั้งสุ่มตรวจแล้วเจอ เด็กถูกส่งไปที่โรงพยาบาล ด้านหนึ่งเขาอยากลอง แต่เด็กบางคนใช้แล้วมีความสุข เขาเลยใช้ต่อไปเรื่อย ๆ ทำให้มาเรียนมีอาการง่วงนอน พอเขาไม่เรียน ครูไม่รู้จะทำอย่างไรก็จะใช้วิธีดุ ด่า กำราบ สุดท้ายเด็กไม่อยากเรียนเป็นวงจรแบบนี้แล้วหลุดออกจากระบบ”

ครูจิ๊บ (นามสมมติ) ครูแนะแนวในโรงเรียนแห่งหนึ่งในปทุมธานีบอกว่า ครูแนะแนวอาจไม่ได้พบโดยตรง แต่สิ่งที่เจอ คือ เด็กถูกตัดสิน เพราะไม่มีระบบช่วยเหลือเด็กที่ชัดเจน 

มุมครูมองว่า เด็กไม่ใช่แค่อยากลอง แต่กัญชาอาจเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เขามีความสุข ประเด็นนี้ครูจิ๊บวิเคราะห์จากงานศิลปะของเด็ก ๆ ที่วาดรูปใบกัญชาที่ถูกถมสีด้วยแรงกดเต็มแรง

“ตอนนั้นเราใช้ศิลปะบำบัด เด็กวาดรูปใบกัญชา ลงสีด้วยสีเขียว และทับด้วยสีอื่น เรามารู้ทีหลังว่าเด็กคนนี้เสพกัญชา พออีกวันแรงกดสีมันบางลง เพราะไม่ได้เสพ สุดท้ายโรงเรียนต้องขอให้พักการเรียน เพราะเสพกัญชาเป็นเรื่องผิดกฎหมาย”

ด้านครูเจษฎ์ (นามสมมติ) ครูฝ่ายปกครองโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครเล่าว่า ในโรงเรียนครูพบปัญหาบุหรี่ไฟฟ้ามีมากกว่ากัญชา เพราะหาซื้อง่าย

“อย่างน้อยยืมเพื่อนไม่เกิน 2 อาทิตย์ หลังจากนั้นก็มีเป็นของตัวเอง” ครูเจษฎ์เล่าสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน

อีกทั้งตั้งแต่เปิดเรียนมา 1-2 สัปดาห์แรก ครูฝ่ายปกครองโรงเรียนทำงานร่วมกับตำรวจสังเกตเห็นว่า เด็กพึ่งกัญชาและจับกลุ่มนอกโรงเรียนมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

พวกเขาจะนิ่งและตอบสนองช้า แม้กับถามคำถามง่าย ๆ และเมื่อเลิกเรียน นักเรียนจะจับกลุ่มนอกโรงเรียน มีบุคคลอื่นที่เด็กเรียกว่า ‘น้า’ อยู่ด้วย 

ครูเจษฎ์ไม่ได้บอกชัดเจน แต่อาจเป็นข้อสังเกตหนึ่งเพื่อจับตาดูสถานการณ์ในอนาคตได้ว่า มีคนนอกที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กรู้จักกับกัญชาหรือไม่

ครูคิดว่า ปัจจุบันปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าอาจมีมากกว่ากัญชา แต่เมื่อหมดยุคของบุหรี่ เด็กก็อาจพาตัวเองเข้าสู่วงจรกัญชา เพราะอยากเด่น ไม่เหมือนใคร (ทุกคนมีบุหรี่ แต่ฉันมีกัญชา) ที่ผสมกับความอยากรู้อยากลอง

ชวนคุยและรับฟัง คือ วิธีของครูในวันปลดล็อกกัญชาเสรี

“ทุกโรงเรียนไม่ใช่ปัญหาส่วนใหญ่ แต่เป็นส่วนน้อย”

ครูหมูบอกว่า พอระบบการศึกษาและคนรอบตัวเด็กไปสนใจว่า กัญชาเป็นเรื่องผิด กระบวนการสอนจึงเป็นในแนวทางที่ทำอย่างไรให้เด็กห่างจากตรงนั้น แต่ไม่ได้มีระบบช่วยเหลือ

เมื่อพบเด็กทำผิด โรงเรียนไม่ได้โอบอุ้ม แต่ลงโทษ บางคนถูกพักการเรียน ถูกย้ายโรงเรียน แต่ขาดการส่งต่อไปหา ‘ครูแนะแนว’ เพื่อช่วยเหลือต่อไป

แต่ปัญหาที่ใหญ่ไม่แพ้กัน คือ ครูบางคนไม่รู้ต้องทำอย่างไร เชิญครูวิทยาศาสตร์มาบอก เด็กก็ไม่เข้าใจและไม่อยากฟัง

ด้านครูบิวบอกว่า ในโรงเรียนประถมอาจไม่ได้มีคำถามมากมาย แต่เขาเชื่อในสื่อที่เขารับ ซึ่งสิ่งที่เห็นเป็นเพียงข้อมูลด้านเดียว วิธีของครูบิวจึงเป็นการชวนเด็กคุย เพื่อให้เขารู้ข้อมูลสองด้าน ชั่งน้ำหนักและตัดสินใจเอง

“พอเด็กบอกว่า เขาทำได้มันถูกกฎหมาย ด้วยความที่เด็กเห็นเราชอบกินกาแฟก็เลยถามกลับว่า กาแฟผิดกฎหมายไหม เขาตอบว่าไม่ แล้วเคยเห็นคนติดกาแฟไหมหรือเคยเห็นคนกินกาแฟแล้วใจสั่นไหม กัญชาหรือกระท่อมก็เหมือนกัน มีบางคนที่เขารับไม่ไหว”

“ถ้าเด็กได้ความรู้ครบถ้วน ทั้งด้านดีและไม่ดี เขาจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเองอยู่แล้ว เด็กสมัยนี้เขาไม่ได้ไร้เดียงสาเหมือนสมัยก่อน เขารับรู้เรื่องนี้ตลอดเวลา แต่ตอนนี้เขารับข้อมูลด้านเดียว พอเขาได้รับข้อมูลด้านเดียว เขาก็ทำด้วยความเข้าใจเขา ทำตามเลยทำให้ผลเสียที่เกิดขึ้นเยอะ”

ส่วนมุมครูจิ๊บมองว่า เด็กที่อยากลองอยากรู้เรื่องกัญชาแล้วเผลอใจก็ไม่ได้ถูกครูตัดสินเพียงคนเดียว แต่ส่งผลต่อบรรยากาศการเรียนในห้อง

“พอไปสอน เด็กคนนั้นถูกเพ่งเล็ง มันส่งผลต่อความรู้สึกของเพื่อนในห้อง จะมองว่าเขาใช้สารเสพติด ไม่เรียน  มันตัดโอกาสที่เด็กกลุ่มนี้จะได้กลับมาอยู่กับเพื่อน พอให้ทำกิจกรรมเขาจะหดตัว ไม่กล้าทำอะไร”

ครูจิ๊บจึงสร้างห้องเรียนที่ปลอดภัย โดยมีเธอเป็นครูประจำชั้นเอง

ห้องเรียนนี้ไม่มีใครถูกหรือผิด พวกเขาคือเพื่อนที่ต้องดูแลกันให้เรียนจบไปพร้อมกัน

“พอเด็ก ๆ มาทำกิจกรรมร่วมกัน พูดคุยกัน เด็กเก่งก็มองว่าไม่ได้มีแค่ขาวหรือดำ ไม่จำแนก สิ่งนี้ช่วยปรับความคิดของพวกเขาให้ช่วยกันเรียนจนจบ ส่วนเด็กที่ใช้สารเสพติดก็มองว่า เขาคงทิ้งไปไม่ได้ แต่อาจจะไม่เสพบ่อยเท่ากับที่ผ่านมา”

สุดท้ายครูใบหม่อน (นามสมมติ) ครูอนุบาลในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐมเห็นว่า แม้กัญชาจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเด็กอนุบาล แต่เขาควรรู้

ครูใบหม่อนจึงเลือกเล่าเรื่องผ่านนิทาน เพื่อให้เขามีความรู้พื้นฐานและนำไปต่อยอดเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจเรื่องนี้ได้ในอนาคต

ครูสั่งให้ออกรบ แต่ไม่มีอาวุธ

“สำหรับครู มีนโยบายต้องทำให้ได้ แต่ไม่มีระบบช่วยเหลือ”

ครูบิวบอกว่า เรื่องกัญชาในโรงเรียน เด็กทดลองในที่ลับ แต่ครูไม่รู้ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า หากเด็กมีอาการรุนแรงต้องไปโรงพยาบาล แล้วโรงพยาบาลจะช่วยเหลือทันหรือไม่

ขณะเดียวกัน ครูเองก็ไม่มีความรู้เรื่องนี้มากเท่าที่ควร หลายคนยังต้องทำความเข้าใจและศึกษาเรื่องนี้ด้วยตัวเองและสอนเด็กจากประสบการณ์ที่ครูเคยเจอมา

“ถ้ากัญชาเสรีจริง ๆ ก็ควรเตรียมสื่อให้ซัพพอร์ตผลกระทบที่ตามมา มองว่าปัญหานี้ก็ควรเป็นเรื่องที่ควรจะหยิบมาเล่าเหมือนกับสารเสพติดอื่น ๆ ที่ละเอียดและซับซ้อนกว่ามาก อยากให้โรงเรียนและสื่อตามให้ทัน” 

อีกทั้งตอนนี้กำแพงที่ทำให้ปัญหากัญชาและสารเสพติดในโรงเรียนยังคงอยู่ คือ ระบบการศึกษาที่ยังต้องรอคำสั่งการ ครูไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เอง

“การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นครูกับนักเรียน หรือผู้บริหารกับครู ถ้าสื่อสารมากพอ ตรงจุด และเปิดโอกาสให้กัน ทุกอย่างจะดีกว่านี้มาก สมมติเรื่องกัญชา ระบบว่าไม่ต้องพูด แต่สุดท้ายมันก็จะสะสมอยู่ในตัวเด็กกับครูและรอวันระเบิด”

ด้านครูเจษฎ์บอกว่า ตอนนี้ครูเหมือนถูกสั่งให้ออกรบ แต่ไม่มีอาวุธ สิ่งที่ครูต้องการ คือ การอำนวยความสะดวก

“ครูเหมือนถูกสั่งให้ออกรบ แต่ไม่มีอาวุธ เราบอกว่ากัญชาต้องไม่มีในโรงเรียน แต่นอกโรงเรียนกัญชาเสรี หน้าที่ครูทำได้เพียงกำกับ ดูแล เฝ้าระวัง”

“การจะพาเด็กไปบำบัดคือเรื่องใหญ่ ผู้ปกครองยอมรับไหม เพราะมุมหนึ่งเหมือนเราไปจำแนกเด็ก เราจึงต้องการหน่วยงานที่ครบจบในที่เดียว ไม่ต้องโยนไปให้หน่วยงานอื่น และครูก็ไม่จำเป็นต้องแบกภาระไว้เพียงคนเดียว”

การสร้างความตระหนักรู้เป็นทักษะที่เด็กควรมี แล้วเขาจะเข้าใจกัญชาด้วยตัวเอง

ในมุมครูทั้ง 5 คน เห็นร่วมกันว่า หากสถานการณ์กัญชาเสรีมันจะดีขึ้นและปลอดภัยกับเด็กในโรงเรียน สิ่งที่ควรมี คือ การให้ความรู้กับครูและนักเรียน 

“ถ้าเป็นไปได้ อยากแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม ๆ แล้วคุยกันไปเรื่อย ๆ” ครูหมูแสดงความเห็น แม้จะรู้ว่าทางปฏิบัติอาจเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากภาระงานครูในปัจจุบัน 

ครูเจษฎ์จึงเสริมต่อด้วยกรณีตัวอย่าง หนึ่งในคณะกรรมการนักเรียนถูกตรวจพบว่าเสพกัญชา ครูจึงชวนคณะกรรมการนักเรียนทั้ง 40 คน ในตอนนั้นมาคุยว่า จะทำอย่างไรต่อ ทางเลือกของพวกเขามีสองทาง หนึ่งลาออก สองให้โอกาสเพื่อนที่ผิดพลาด

ผลลัพธ์ คือ เด็กให้โอกาสและพร้อมที่จะช่วยเหลือเพื่อนให้เดินไปพร้อมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า เด็กไม่ได้จำแนก เขาไม่ได้มองว่าเพื่อนที่เสพกัญชาเป็นอาชญากร และเขาสามารถอยู่ร่วมกันได้

อีกทางออกคือการสร้างความเข้มแข็งในตัวบุคคล เพื่อเป็นเกราะ ดีกว่าการจ้องจับผิด

“ความเข้มแข็งเป็นเรื่องตัวบุคคล ถ้าบุคคลนั้นเข้มแข็ง จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ไหนมันก็ก้าวข้ามได้ ก็สะท้อนเราในฐานะครูว่า ถ้าเราสร้างความเข้มแข็งเฉพาะบุคคลได้โดยตัวเขา มันคือเกราะชั้นดีที่อาจดีกว่าการเฝ้าระวังหรือมานั่งจับผิด”

ไม่ว่าจะเป็นปัญหากัญชาหรือบุหรี่ไฟฟ้าที่ครูเจษฎ์เจอ ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเด็กเพียงคนเดียว แต่รวมถึงสังคมรอบข้าง

“ถ้าเขารู้ว่าสิ่งที่ทำกระทบกับใคร เขาจะปรับความคิด แล้วเด็กจะเริ่มมองเห็นว่า ถ้าสิ่งนี้ไม่มีประโยชน์กับชีวิต เขาจะตัดมันออกไปเอง” ครูเจษฎ์บอก

ครูใบหม่อนเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การสร้างความรู้ความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเด็กเข้มแข็ง เขาจะไปต่อได้ทั้งกระบวนการระหว่างทางรวมถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“บางครั้งการที่เด็กลงมือหาความรู้ด้วยตัวเอง เรื่องกัญชายิ่งทำให้เด็กศึกษา เข้าไปลอง กลับกัน ถ้าทำให้มันเสรี แต่โยนความจริง ผลดี ผลเสียมีอะไรบ้าง จะช่วยให้เด็กตัดสินใจ เลือกได้ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ ถ้าใช้ก็ต้องอย่างเหมาะสม” 

ครูบิวมองว่า การสร้างความตระหนักรู้ (Sense of awareness) เป็นเรื่องยาก แต่จำเป็นต้องสอน เพื่อให้เด็กมีความมั่นใจ คิดวิพากษ์ เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง

“เราไม่ได้เติบโตมากับการสร้างความตระหนักรู้เลย ไม่ได้ถูกสร้างความมั่นใจ พอรู้ตัวอีกทีเรากลายเป็นวัยทำงานที่ไม่รู้จักตัวเอง ซึ่งเรามองว่าตรงนี้ยากที่สุด ซึ่งถ้าเด็กมีทักษะนี้ตั้งแต่เด็ก รู้จักวิพากษ์วิจารณ์ ครูไม่ต้องเหนื่อย แต่เด็กจะรู้ด้วยตัวเอง”

อ้างอิง

https://www.naewna.com/local/669024

Writer
Avatar photo
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

illustrator
Avatar photo
กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts

Related Posts