Brain-based Learning – เรียนรู้ จดจำ ผ่านการลงมือทำจริงบนพื้นฐานพัฒนาการของสมอง
Brain-based Learning – เรียนรู้ จดจำ ผ่านการลงมือทำจริงบนพื้นฐานพัฒนาการของสมอง
- การจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง หรือ BBL (Brain-based Learning) เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของสมอง โดยคำนึงถึงพัฒนาการของสมองในแต่ละช่วงวัย เพราะสมองของเราจะมีความยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
- สมองของเราปรับตัวและเรียนรู้ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Neuroplasticity ซึ่งเป็นความสามารถของสมองในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเซลล์ประสาทและการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาท
- เรเนต นัมเมลา เคน และ จอฟฟรี เคน ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้สรุปว่าผู้เรียนจะมีความจำและความเข้าใจในหัวข้อต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ที่เน้นการใช้สมอง โดยทั้งสองได้เสนอหลักการพัฒนาสมอง 12 ประการ เพื่อช่วยให้ผู้สอนเข้าใจถึงกระบวนการการเรียนรู้ของสมอง
การจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง หรือ BBL (Brain-based Learning) คือ การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของสมอง โดยคำนึงถึงพัฒนาการของสมองในแต่ละช่วงวัย เพื่อที่จะสามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและดึงศักยภาพของผู้เรียนออกมาได้อย่างเต็มที่
สมองปรับตัวอย่างไรเมื่อเกิดการเรียนรู้
สมอง เป็นอวัยวะที่สำคัญและซับซ้อนที่สุดในร่างกายของเรา การเรียนรู้เกิดขึ้นในสมองผ่านการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาท สมองของเราปรับตัวและเรียนรู้ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Neuroplasticity ซึ่งเป็นความสามารถของสมองในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเซลล์ประสาทและการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาท เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าทั้งภายในและภายนอก และเพื่อปรับปรุงการทำงานของสมองตามประสบการณ์และการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา โดยสมองสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทได้ตลอดชีวิต แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของระบบประสาทที่สอดคล้องกับความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ของมนุษย์
หลักการพัฒนาสมอง 12 ประการ
เรเนต นัมเมลา เคน และ จอฟฟรี เคน ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้สรุปว่าผู้เรียนจะมีความจำและความเข้าใจในหัวข้อต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ที่เน้นการใช้สมอง โดยทั้งสองได้เสนอหลักการพัฒนาสมอง 12 ประการ ดังนี้
- สมองมีระบบการเรียนรู้ที่ซับซ้อนมากเพราะแต่ละระบบในร่างกายต่างมีหน้าที่ที่แตกต่างกัน สมองจะต้องทำการเรียนรู้แต่ละระบบ พร้อมกับทำหน้าที่ควบคุมระบบต่าง ๆ ในร่างกาย
- สมองเรียนรู้ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติและลงมือทำ หรือที่เรียกว่าประสบการณ์ตรง
- สมองจะแสวงหาความหมายความเข้าใจจากประสบการณ์ในชีวิตตลอดเวลา
- สมองมีการจัดหมวดหมู่แบบแผนในสิ่งที่เรียนรู้
- อารมณ์มีส่วนสำคัญในการเรียนรู้ และยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
- กระบวนการทางสมองจะเกิดการเรียนรู้พร้อมกัน ทั้งในส่วนที่เป็นภาพรวมและในส่วนย่อย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้สมองทั้งสองซีกคือซีกซ้ายและซีกขวาได้ทำงานพร้อม ๆ กัน
- การเรียนรู้ของสมองจะเกิดจากทั้งการตั้งจุดสนใจเรื่องที่จะศึกษาและเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มิได้ตั้งใจศึกษา
- สมองจะมีกระบวนการเรียนรู้ในขณะที่รู้ตัว (มีจิตสำนึก) และในขณะที่ไม่รู้ตัว (จากจิตใต้สำนึก)
- สมองมีรูปแบบการจดจำอย่างน้อย 2 แบบ คือการจดจำแบบเชื่อมโยงมิติ/ระยะ ซึ่งบันทึกประสบการณ์ประจำวันของเรา ประสบการณ์ตรงที่เราได้เผชิญ และความจำแบบท่องจำ ซึ่งเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและทักษะแบบแยกส่วน
- การเรียนรู้ของสมองเป็นไปตามพัฒนาการ
- การเรียนรู้ที่ซับซ้อนในบรรยากาศสภาพแวดล้อมที่ท้าทายจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ส่งผลดีต่อผู้เรียน บรรยากาศที่เครียดและกดดันจะเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้
- สมองของแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัว และมีความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน
หลักการพัฒนาสมอง 12 ประการข้างต้น เป็นหลักการที่จะช่วยให้ผู้สอนเข้าใจถึงกระบวนการการเรียนรู้ของสมองได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งผู้สอนยังสามารถนำไปปรับใช้กับการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองเพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้เรียน รวมถึงใช้ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ผู้เรียนและกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ได้อีกด้วย
เตรียมความพร้อมให้ผู้เรียน
เมื่อเริ่มใช้การจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ผู้เรียนจะต้องพร้อมสำหรับการเรียนรู้อย่างอิสระ กิจกรรมการเรียนรู้ต้องตอบสนองความต้องการทางสรีรวิทยาและอารมณ์ของเด็ก และช่วยพัฒนาทักษะการฟังและสมาธิของเด็กให้ดียิ่งขึ้น โดยผู้สอนอาจเริ่มจากขั้นตอนต่อไปนี้
- จัดระเบียบห้องเรียนโดยคำนึงถึงกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้สมองเป็นหลัก เช่น ตกแต่งห้องเรียนด้วยการ์ด กระดาษหลากสี และ mind map
- ศึกษาและค้นคว้าวิธีที่ผู้เรียนสนใจ
- สอนทักษะการจัดการเวลาและสมาธิ
- ใช้การสื่อสารด้วยความรักและการเอาใจใส่ผู้เรียน
ประโยชน์ของการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง
เสริมสร้างสุขภาพร่างกาย
การจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ช่วยส่งเสริมสุขภาพและช่วยให้ผู้เรียนได้ออกกำลังกาย เนื่องจากเป็นการเรียนรู้ที่เน้นการลงมือทำกิจกรรม (active learning) เน้นการปฏิบัติจริงมากกว่าการท่องจำ
ช่วยพัฒนาอารมณ์ความรู้สึก
การจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการคิด เสนอ และออกแบบกิจกรรมที่เหมาะกับตนเอง จะช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกดี รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เคารพและมองตนเองในแง่บวกมากขึ้น
เรียนรู้ที่จะให้ความร่วมมือ
การจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ช่วยให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้น ได้เรียนรู้วิธีให้ความร่วมมือและทำตามข้อตกลงร่วมกัน
เสริมสร้างความจำ
การจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ช่วยให้ผู้เรียนจดจำได้ดียิ่งขึ้น เพราะผู้เรียนจะได้ทำความเข้าใจชุดข้อมูลต่าง ๆ ในรูปแบบที่เหมาะกับการเรียนรู้ของสมอง
นอกจากนี้ผู้สอนก็ยังได้รับประโยชน์จากการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองด้วย เพราะผู้สอนจะมีกลยุทธ์ในการออกแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย เนื่องจากผู้เรียนจะตอบสนองต่อการสอนและการเรียนรู้ในรูปแบบที่ต่างกันออกไป ทำให้ผู้สอนได้สังเกตและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับผู้เรียน เก็บเกี่ยวประสบการณ์และเรียนรู้กลวิธีในการสอน ช่วยให้รับมือกับผู้เรียนที่มีความสามารถในการเรียนรู้ที่หลากหลายได้ดียิ่งขึ้น
อ้างอิง
https://www.okmd.or.th/bbl/about/bbl.php
https://lc.rsu.ac.th/weblog/11
https://www.edtechreview.in/dictionary/what-is-brain-based-learning/
https://www.waterford.org/education/brain-based-learning/
Writer
ณัฐนรี บัวขม
มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง
illustrator
พรภวิษย์ เพ็งเอียด
ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม