เมื่อ ‘การ์ตูนวาย’ ทำให้เราเปิดใจให้กัน จะอายุ 70 หรือ 17 ก็เข้าใจกันได้ สำรวจความสัมพันธ์ของคนต่างวัยใน BL Metamorphosis
เมื่อ ‘การ์ตูนวาย’ ทำให้เราเปิดใจให้กัน จะอายุ 70 หรือ 17 ก็เข้าใจกันได้ สำรวจความสัมพันธ์ของคนต่างวัยใน BL Metamorphosis
- BL Metamorphosis เล่าเรื่องราวมิตรภาพระหว่าง อุราระ เด็กสาววัย 17 ปี ที่หลงใหลใน ‘การ์ตูนวาย’ แต่ไม่กล้าเปิดเผย และ คุณยายยูกิ วัย 75 ปี ที่เพิ่งเริ่มสนใจในโลกของการ์ตูนวาย การพบกันของทั้งสองทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่งดงามและช่วยทลายช่องว่างระหว่างวัย
- นอกจากจะพูดถึงเรื่องมิตรภาพในความต่างระหว่างวัยที่มีการ์ตูนวายเป็นตัวเชื่อมแล้ว ยังพูดถึงเรื่องการเปิดใจเพื่อเข้าใจกันระหว่างคนต่างวัย ความสำคัญของการลงมือทำตามความฝันแม้จะไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ และการมีคนที่เข้าใจและแบ่งปันความชอบเดียวกัน ซึ่งทำให้เราก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงไปได้
- ผ่านการแบ่งปันความสนใจในการ์ตูนวาย อุราระ และ คุณยายยูกิ ได้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกัน ทั้งการ์ตูนวายและระเบียงบ้านของคุณยายกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ช่วยให้พวกเขาก้าวข้ามความท้าทายในชีวิตและค้นพบความหมายใหม่ในการดำเนินชีวิตอีกครั้ง
หลายๆ คน คงต้องเคยผ่านมาบ้างแหละ ช่วงวัยมัธยมสุดเบียวเป็นหมาป่าเดียวดาย ช่วงวัยที่โลกดูจะใจร้ายกับเราไปซะหมด อุราระ ซายามะ เด็กสาววัย 17 ตัวเอกในภาพยนตร์เรื่อง ‘BL Metamorphosis’ กำกับโดยชุนซุเกะ คาริยามะ และดัดแปลงจากมังงะในชื่อเดียวกัน เธอเป็นเด็กสาวที่ชอบอ่านการ์ตูนวาย มันอาจจะแปลกในสายตาของเพื่อนๆ และคนรอบข้าง อุราระจึงไม่เคยแสดงตัวว่าเป็นสาววาย ไม่กล้าบอกใครว่าชอบการ์ตูนวาย จะอ่านหนังสือวายเมื่อไรก็ต้องอ่านแบบหลบๆ ซ่อนๆ
กระทั่งวันที่อุราระไปทำงานพาร์ตไทม์ที่ร้านหนังสือและได้เจอกับยูกิ อิชิโนอิ คุณยายวัย 75 ปี ที่เพิ่งเริ่มเข้าวงการการ์ตูนวายได้ไม่นาน มิตรภาพต่างวัยของสาววายสองคนจึงก่อตัวขึ้น และปูทางให้ทั้งสองได้เจอกับความหลงใหลใหม่ๆ ได้ก้าวข้ามกำแพงบางอย่างของตัวเอง และได้เติบโตไปพร้อมกัน แม้ด้วยวัยที่ต่างกันมากก็ตาม
ต่างวัย แค่เปิดใจก็ไม่ต่างกัน
ค่านิยมและความเชื่อบางอย่างของสังคมในยุคสมัยที่ต่างกันอาจทำให้ช่องว่างระหว่างวัยกลายเป็นปัญหาหลักที่ทำให้ความสัมพันธ์ของเด็กๆ และผู้ใหญ่เปราะบางมากขึ้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคุณยายยูกิกับอุราระก็ทำให้เราได้เห็นว่า ณ จุดใดจุดหนึ่งในช่องว่างนั้น อาจมีพื้นที่เล็กๆ ที่คนทั้งสองวัยจะใช้ร่วมกันได้ พื้นที่ดังกล่าวใน ‘BL metamorphosis’ ก็คือพื้นที่การ์ตูน BL (การ์ตูนแนว Boy Love หรือที่คนส่วนใหญ่อาจรู้จักในชื่อการ์ตูนวาย) ที่ต่างชักนำทั้งสองเข้าหากันและสร้างมิตรภาพที่งดงามขึ้น
เริ่มเรื่องยูกิคือคุณยายผู้ใช้ชีวิตเหงาๆ ในบ้านหลังใหญ่คนเดียวตั้งแต่สามีจากไปได้สามปี
ส่วนลูกสาวก็ไปลงหลักปักฐานที่นอร์เวย์ ชีวิตของคุณยายยูกิจึงมีแค่เพียงการเปิดบ้านหลังใหญ่ให้คนที่สนใจได้มาเรียนเขียนพู่กันกับเธอบ้างเป็นบางวัน นอกนั้นชีวิตในวัย 70 กว่าปีก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ กระทั่งวันที่เธอเข้ามาในร้านหนังสือและถูกใจลายเส้นการ์ตูน BL เรื่องหนึ่ง
ส่วนอุราระนั้นเป็นเด็กมัธยมปลายที่ดูจะมีปัญหาด้านการเข้าสังคมกับเพื่อนๆ และความมั่นใจในตัวเอง เธอมักจะนั่งเงียบๆ คนเดียวที่โต๊ะของตัวเองในห้องเรียน ไม่ไปจับกลุ่มสุงสิงพูดคุยกับเพื่อนๆ คนอื่น แอบอ่านการ์ตูนตามลำพังและลุกลี้ลุกลนทุกครั้ง เมื่อคิดว่าจะมีใครสักคนมาเห็นเธออ่านการ์ตูนวาย กระทั่งเธอได้มาพบกับสาววายมือใหม่อย่างคุณยายยูกินั่นเอง อุราระจึงเริ่มกล้าแสดงออกมากขึ้นและเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น
ความพิเศษในความสัมพันธ์ของสองตัวละครนี้คือการมีการ์ตูน BL เป็นตัวเชื่อมทั้งสองเข้าหากัน เป็นพื้นที่ที่คนสองวัยแบ่งปันร่วมกัน และความพิเศษที่สุดคือมันดูเป็นพื้นที่ที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่สุดที่จะทำให้มิตรภาพของคนต่างวัยก่อตัวขึ้น เพราะสำหรับคนรุ่นราวคราวเดียวกับยูกิหลายๆ คน แค่ยังอ่านหนังสือการ์ตูนอยู่ก็คงถูกมองว่าเป็นเรื่อง ‘ไร้สาระ’ มากพอแล้ว ยิ่งเป็นการ์ตูนวาย เชื่อว่าคงไม่ได้มีภาพลักษณ์ที่ดีเท่าไรนักในหมู่ผู้สูงอายุ
ขณะเดียวกัน อุราระก็อาจจะเคยประสบพบเจอด้วยตัวเอง หรือเคยเห็นการตีตราสาววายคนอื่นๆ จากสังคม ทำให้เธอต้องอ่านการ์ตูนวายอย่างหลบๆ ซ่อนๆ กระทั่งวันที่คุณยายสอบถามข้อมูลหนังสือการ์ตูนวายที่เพิ่งซื้อไปอ่านกับเธอ ณ ร้านหนังสือที่เธอทำงานพาร์ตไทม์อยู่นั่นเอง ที่อุราระได้มีโอกาสแบ่งปันความชอบความสนใจของเธอกับใครอีกคน
คนทั้งสองวัยสานสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นมาได้ด้วยความชอบในสิ่งเดียวกันซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ และทั้งหมดนั้นเกิดจากการลองเปิดใจล้วนๆ หากคุณยายยูกิเป็นหญิงชราที่เชื่อว่าการอ่านการ์ตูนเป็นเรื่องไร้สาระ ยิ่งการ์ตูนวายยิ่งเป็นเรื่องผิดผี คุณยายก็อาจยังต้องใช้ชีวิตเหงาๆ ในวัย 70 กว่าปีตามลำพัง ไม่ได้สัมผัสความสดใส แรงใจ หรือไฟฝันแบบในวัยเด็กอีกครั้ง และไม่มีทางเข้าใจเลยว่าโลกของเด็กสาวผู้หลงใหลในการ์ตูนวายเป็นอย่างไร เช่นกัน หากอุราระเอาแต่หวาดกลัวการตีตราตัดสินใจคนที่อายุมากกว่า หรือตัดสินคุณยายไปเองว่าคนสูงอายุคงไม่มีทางมาเข้าใจโลกของสาววายได้ เธอก็คงจะต้องเป็นสาววายผู้เหงาหงอยในโลกเงียบของตัวเองต่อไป
Q ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ทำให้เรารู้ว่ากำแพงที่คั่นกลางความสัมพันธ์ของคนสองวัยนั้นอาจเป็นเพียงกำแพงที่คนแต่ละวัยก่อขึ้นมาเองด้วยอคติหรือความเชื่อบางอย่าง และสิ่งที่ต้องใช้เพื่อทลายกำแพงนั้นก็เพียงแค่การก้าวข้ามอคตินั้นและเปิดใจให้กับสิ่งที่ไม่เคยคุ้น เราอาจจะได้พบว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เราคิดว่าสงวนไว้ให้คนรุ่นใดรุ่นหนึ่ง หรือไม่มีทางที่คนอีกรุ่นจะเข้าใจ แท้จริงแล้วไม่ใช่อย่างที่เราคิด
ในวัยหลังเกษียณเราอาจค้นพบว่าการอ่านการ์ตูนเป็นกิจกรรมที่ทั้งเพลิดเพลินใจและทำให้ไฟฝันของเรากลับมาอีกครั้ง ในวัย 17 ปีเราอาจพบว่าผู้ใหญ่ที่เราคิดว่าไม่มีทางเข้าใจและคงต่อว่า ก็อาจเป็นใครสักคนที่คอยสนับสนุนเราในสิ่งนั้นๆ ได้ หากเราพร้อมเปิดใจแบ่งปันความชอบและความสนใจนั้นให้กับเขา
ไม่ถึงเป้าหมาย แต่เราก็ได้ลงมือทำ
“เราไม่มีทางรู้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น ท้ายที่สุดคนเราก็อาจเป็นในสิ่งที่เราไม่เคยจินตนาการถึงก็ได้”
คุณยายยูกิบอกกับอุราระเมื่อเห็นว่าเธอยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อหลังจบมัธยมปลาย
ความพิเศษที่ BL Metamorphosis ถ่ายทอดประเด็นเรื่องความหลงใหลใฝ่ฝันออกมาคือหนังบอกเล่าเรื่องราวของเด็กสาวทั่วๆ ไปจริงๆ ตัวเอกของเราไม่ใช่คนมีพรสวรรค์ที่ซ่อนอยู่ภายใน เธอคือคนธรรมดาๆ ที่ไม่ได้ชอบวาดรูปเป็นพิเศษ แค่คนที่ชอบอ่านการ์ตูนวาย ไม่ได้ฝันอยากเป็นนักวาดการ์ตูนด้วยซ้ำ แต่เมื่อมีคุณยายยูกิคอยหนุนหลังและเป็นกองเชียร์ให้เธอ ‘ลอง’ ดูก่อน อุราระที่ไม่กล้าและไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองชอบอะไรก็เริ่มลองลงมือทำมันอย่างเต็มที่ดูสักตั้ง
ที่ผ่านมาอุราระมักจะมีข้ออ้างเสมอ เช่น เธอวาดรูปไม่สวย ไม่มีพรสวรรค์ เธอนึกภาพตัวเองวาดรูปไม่ออก แต่แล้ววันหนึ่งเธอก็ได้รู้ว่าคุณยายยูกิผู้ที่ตอนนี้กลายเป็นครูสอนเขียนพู่กันและยังมีลูกศิษย์ลูกหามากมายแวะเวียนมาที่บ้านเสมอในวัย 70 กว่าปี ก็เคยเป็นเด็กหญิงคนหนึ่งที่แค่เขียนจดหมายยังลายมือดูไม่ได้ เส้นทางการเป็นครูสอนเขียนพู่กันของคุณยายยูกินั้นเริ่มจากการที่สมัยยังเด็ก คุณยายชอบมังงะเรื่องหนึ่งมากจนต้องเขียนจดหมายหาผู้แต่ง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ส่งเพราะรับลายมือแย่ๆ ของตัวเองไม่ได้ แถมเนื้อหาในจดหมายก็ยังไม่ดีด้วย แต่ก็ลายมือแย่ๆ นี่เองที่ทำให้คุณยายเริ่มหัดเขียนพู่กันจนยึดการสอนเขียนพู่กันเป็นอาชีพ ทว่าท้ายที่สุดคุณยายก็ไม่เคยได้ส่งจดหมายไปเพราะนักเขียนคนโปรดเลิกเขียนการ์ตูนไปเสียแล้ว จริงอยู่ที่ต่อให้คุณยายยูกิส่งจดหมายไปก็อาจจะไม่ได้ทำให้นักเขียนเปลี่ยนใจ แต่อย่างน้อยก็คงไม่ต้องเสียดายแบบนี้
เรื่องราวของคุณยายยูกิทำให้อุราระลุกขึ้นมาจับปากกาจีเพ็น ฝึกวาดมังงะและลงทะเบียนจองบูธขายการ์ตูนในงานอีเวนต์งานหนึ่ง ตามสูตรหนังทั่วๆ ไป เมื่อได้ฟังคำพูดปลุกใจจากคุณยายยูกิ จู่ๆ อุราระก็อาจจะค้นพบพรสวรรค์ที่ตัวเองไม่เคยรู้ตัวว่ามี และเราก็จะพบว่าอุราระแท้จริงเป็นคนที่มีฝีมือวาดรูประดับเทพ อานาโตมีเป๊ะปัง แต่งการ์ตูนได้มีพลอตเรื่องสนุกอย่างเหลือเชื่อ และประสบความสำเร็จในสิ่งที่เธอทำ แต่ BL Metamorphosis กลับไม่เป็นแบบนั้น
ชีวิตจริงเป็นไปได้ยากเหลือเกินที่เด็กซึ่งไม่เคยฝึกวาดรูปจริงจัง จู่ๆ จะค้นพบพรสวรรค์การวาดรูปจนสามารถวาดรูปและเขียนการ์ตูนได้อย่างมืออาชีพภายในไม่กี่เดือน อุราระก็เช่นกัน ไม่มีทางหรอกที่เธอจะวาดรูปหรือแต่งการ์ตูนได้วิเศษเลิศเลอภายในไม่กี่เดือน และระหว่างทางเธอยังต้องเผชิญกับอุปสรรคที่เกิดทั้งจากความไม่เชื่อมั่นในตัวเอง รวมถึงความไม่พร้อมในหลายๆ ด้านที่จะนำผลงานตัวเองไปขายออกสู่สายตานักอ่านคนอื่นๆ จนท้ายที่สุดอุราระก็ไม่ได้ตั้งบูธขายมังงะแบบที่คิดไว้ แถมสุดท้ายยังขายไปได้แค่สองเล่ม อุราระรู้สึกอับอายกับสิ่งที่ตัวเธอทำมาก
เด็กสาวเอาแต่คิดว่าทำไมเธอถึงได้กล้าฝันและลงมือทำในสิ่งที่ไกลเกินความสามารถ เธอวาดรูปและวางเนื้อเรื่องมังงะไม่เก่ง ไม่มีความพร้อมอะไรสักอย่าง แต่สำหรับคุณยายยูกิ แค่อุราระลงมือทำก็เจ๋งที่สุดแล้ว
เมื่ออุราระได้มาทบทวนเรื่องราวทั้งหมดรวมถึงทุกสิ่งที่เธอฝ่าฟันมาว่าต้องใช้ความกล้าเท่าไรจึงจะทำมังงะเล่มหนึ่งออกมาได้ อุราระก็พบว่าอย่างน้อยที่สุดรางวัลสำหรับเธออาจไม่ใช่การที่มังงะเรื่องแรกขายได้เป็นร้อยเป็นพันเล่ม แต่คือการที่เธอสนุกระหว่างที่ลงมือทำเท่านั้นเอง
สิ่งที่คุณยายยูกิได้เรียนรู้จากชีวิตและสิ่งที่อุราระได้เรียนรู้จากการลองวาดมังงะขายก็คงคล้ายๆ กัน คือการลงมือทำบางสิ่งบางอย่างอาจไม่ได้พาเราไปถึงเป้าหมายที่เราตั้งไว้ แต่มันก็อาจจะนำพาเราไปยังเป้าหมายอื่นๆ อย่างที่คุณยายได้ลงเอยมาเป็นครูสอนเขียนพู่กันแม้จะไม่มีโอกาสส่งจดหมายหานักเขียน และอย่างน้อยประสบการณ์ในครั้งนั้นก็คงมีส่วนผลักดันให้คุณยายยูกิสนับสนุนและส่งต่อความฝันให้อุราระด้วย ส่วนอุราระนั้นใครจะรู้ว่าการได้ลองลงมือทำในวันนี้จะมอบประสบการณ์หรือแรงบันดาลใจอะไรให้เธอได้นำไปใช้ในอนาคตและเปิดประตูอีกบานให้เธอก็ได้ รางวัลของคนกล้าฝันอาจไม่ได้ผลิดอกออกผลในวันนี้ แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้ลองแล้ว
เมื่อมีคนที่เข้าใจ โลกก็ไม่ได้ใจร้ายขนาดนั้น
ชื่อเรื่องของภาพยนตร์และมังงะเรื่องนี้ทั้งในภาษาอังกฤษและในภาษาญี่ปุ่นต่างก็มีคำว่า ‘Metamorphosis’ ที่แปลว่า ‘การเปลี่ยนแปลง’ อยู่ แต่ขณะที่อังกฤษใช้ชื่อว่า BL Metamorphosis ซึ่งอาจจะตีความได้ว่า BL นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างกับตัวละคร แต่ชื่อภาษาญี่ปุ่นนั้นกลับใช้ชื่อว่า メタモルフォーゼの縁側 ซึ่งแปลได้ว่า ‘ระเบียงแห่งการเปลี่ยนแปลง’ (เป็นที่มาของชื่อภาษาไทยว่า ‘ระเบียงพักใจ สายใยผูกพัน’) เพราะเราจะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่ทำให้ทั้งสองได้สานสัมพันธ์กันนั้นคือระเบียงบ้านของคุณยายยูกิซึ่งกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของอุราระด้วย อีกแง่หนึ่งคำว่า ‘ระเบียง’ก็อาจจะหมายถึงช่วงเวลาที่ชีวิตเกิดความเปลี่ยนแปลงซึ่งทั้งสองต้องก้าวข้าม
หนังไม่ได้บอกเราว่าอะไรเป็นสาเหตุให้อุราระเป็นคนค่อนข้างเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่มั่นใจในตัวเอง และไม่กล้าเข้าสังคม บางทีมันอาจจะไม่มีเหตุผลอะไรเลยก็ได้นอกจากมุมมองที่เธอมีต่อโลกเสียเอง แต่หนังก็พอจะทำให้เราเข้าใจได้ว่าส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะที่ผ่านมาอุราระไม่มีใครที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเธอเลย เธออาศัยเพียงลำพังกับแม่ที่เข้างานกะกลางคืน กว่าที่เธอจะกลับมาจากการทำงานพาร์ตไทม์ที่ร้านหนังสือ แม่ก็ออกไปทำงานของแม่เสียแล้ว ช่วงเวลาที่แม่ลูกจะได้เจอกันจึงสั้นแสนสั้น อาจเพราะไม่ค่อยมีคนคุยด้วยที่บ้าน อุราระจึงประสบปัญหาการเข้าสังคมที่โรงเรียนด้วย
หนังพาเราไปทำความรู้จักกับตัวละครอีกสองตัวที่โรงเรียนของอุราระอย่าง สึมูกุ เพื่อนชายที่เป็นเพื่อนกับเธอมาตั้งแต่เด็กและดูเหมือนว่าอุราระจะแอบปลื้มเขาไม่มากก็น้อย กับ เอริสาวสวยสุดป๊อปประจำชั้นเรียนผ่านสายตาของอุราระ มุมมองนั้นมีความน้อยเนื้อต่ำใจ บางครั้งโทษตัวเองว่าทำไมเธอจึงขลาดกลัวไม่เข้าสังคม บางครั้งก็โทษว่าโลกช่างไม่ยุติธรรมกับเธอเลย ยิ่งเพื่อนที่รู้จักกันมาตั้งแต่เด็กอย่างสึมูกุก้าวพ้นช่วงวัยของเด็กๆ และเริ่มมีใจให้เอริ ขณะที่อุราระไม่กล้าแม้แต่จะสนทนาเป็นเรื่องเป็นราวกับสึมูกุ ก็ยิ่งทำให้ความมั่นใจในการเข้าสังคมของอุราระลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ
อีกแง่หนึ่งหนังก็ทำให้เรารับรู้ได้ว่าที่จริงโลกไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น เพราะในขณะที่อุราระพยายามปกปิดความชื่นชอบในการ์ตูนวายของตัวเอง เราก็จะได้เห็นฉากที่เอริกับเพื่อนคนอื่นๆ อ่านการ์ตูนวายและดูจะชอบด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นช่างไม่ยุติธรรมเลยในสายตาของอุราระ ทั้งที่ที่จริงแล้วหากเธอก้าวข้ามความไม่มั่นใจและการกลัวการเข้าสังคมไปได้ เธอก็อาจจะพบว่าโลกมันก็ยุติธรรมดี และเธออาจจะได้เพื่อนอ่านการ์ตูนวายมาอีกมากมายก็ได้ แต่หากจะให้โทษอุราระว่าเธอมองโลกในแง่ร้ายเกินไปก็อาจจะใจร้ายกับเด็กอายุ 17 ไปหน่อย เพราะนั่นคือหนึ่งในช่วงวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ขณะที่เธอต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงนั้นเพียงลำพัง โลกในสายตาอุราระจะโหดร้ายเกิดจริงไปบ้างก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
ทางฟากคุณยายยูกินั้น แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วจะถือว่าเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีบ้านหลังใหญ่ มีลูกสาวที่เป็นฝั่งเป็นฝา มีลูกศิษย์ลูกหาที่เรียนเขียนพู่กันแวะเวียนมาเรียนกันเรื่อยๆ แต่คุณยายเองก็มีเรื่องให้ต้องก้าวผ่านเหมือนกัน
หนังเล่าไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่าคุณยายสูญเสียสามีไปได้สามปีแล้ว ขณะที่ลูกสาวก็อาศัยอยู่ต่างประเทศและกลับมาเยี่ยมแม่นานๆ ครั้ง ภายใต้ภาพชีวิตดีๆ จึงมีมวลของความเหงาอยู่ด้วยเสมอ และภายใต้ใบหน้ายิ้มแย้ม ท่าทีมีความสุข เราไม่มีทางรู้เลยว่าคุณยายยูกิรับมือกับการจากไปของสามีได้อย่างไร ก้าวข้ามความสูญเสียมาได้หรือยัง และที่จริงแล้วคุณยายให้คุณค่ากับชีวิตที่ไม่มีสามีอยู่ด้วยไว้แค่ไหน รู้สึกกับตัวเองอย่างไรในวันที่แก่ตัวลงเรื่อยๆ
“ขอโทษนะคะคุณ แต่ฉันคงยังตามคุณไปที่โลกฝั่งโน้นไม่ได้หรอก” คุณยายยูกิบอกกับรูปของสามีหลังจากที่เธอกลายเป็นแฟนตัวยงของการ์ตูนวายและมีเป้าหมายชีวิตใน ‘โลกฝั่งนี้’ เป็นการเฝ้าการ์ตูนเล่มใหม่ออกมา
BL Metamorphosis ทำให้ฉันเห็นผู้สูงอายุหลายคนที่รู้จักอยู่ในตัวของคุณยายยูกิ เรารู้ว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก แต่เรามักจะมองข้ามอีกวัยที่ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงมากมายไม่แพ้กันนั่นคือวัยชรา วัยที่คุณอาจต้องรับมือกับการสูญเสียคู่ชีวิตที่ใช้ชีวิตร่วมกันมากว่าครึ่งชีวิต วัยที่คุณต้องเฝ้ามองลูกๆ ค่อยๆ ย้ายออกจากบ้านไปมีครอบครัวหรือชีวิตของตัวเองทีละคนๆ วัยที่คุณรู้ว่าไม่นานคุณก็อาจต้องอยู่บ้านที่เคยมีสมาชิกมากมายเพียงลำพัง ด้วยเรี่ยวแรงและสังขารที่ถดถอยลงเรื่อยๆ บางคนอาจโชคดีมากพอที่เจอกิจกรรมหรือเป้าหมายใหม่ในชีวิต แต่อีกหลายคนไม่เป็นเช่นนั้น แรงใจและไฟฝันแต่เก่าก่อนดูจะเป็นเรื่องที่ผ่านมาแสนนานจนจับต้องไม่ได้ และคุณก็มีชีวิตเหงาๆ บ้าง หวาดกลัวอนาคตที่รออยู่บ้าง และบางครั้งก็ได้แต่รอคอยว่าวันหนึ่งคุณจะได้ตามคนที่คุณรักไป ‘โลกอีกฝั่ง’
‘ระเบียงบ้าน’ ของคุณยายยูกิที่ทั้งสองคนใช้เป็นพื้นที่อ่านการ์ตูนวายร่วมกัน เม้าท์มอยเรื่องการ์ตูนที่ชอบด้วยกัน และแบ่งปันสารทุกข์สุกดิบกัน จึงกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของคนสองคนที่อยู่ในระหว่างวัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน
การมีพื้นที่และมีใครอีกคนให้เธอได้แบ่งปันความชอบและเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง ทำให้อุราระมีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กล้าแสดงอารมณ์ ความรู้สึกและความนึกคิดของตัวเองออกมามากขึ้นเรื่อยๆ และนั่นทำให้เธอเชื่อมต่อกับโลกรอบตัวได้มากขึ้นด้วย เธอกล้าแสดงความรู้สึกให้สึมูกุเห็น เปิดเผยทั้งความชอบและด้านที่อ่อนแอให้เพื่อนรับรู้ และการ์ตูนหนึ่งในสองเล่มที่เธอขายได้ ก็เป็นสึมูกุนี่เองที่ซื้อให้ นอกจากนั้นเธอยังลดกำแพงที่มีต่อเอริซึ่งเปรียบเหมือนเป็นตัวแทนของสังคมรอบตัวเธอลง และถึงแม้ว่าเธอจะยังบอกใครต่อใครว่าเอริไม่ใช่เพื่อน แต่เธอก็ไม่ได้มองเอริด้วยสายตาของคนที่มองว่าโลกไม่ยุติธรรมต่อไปแล้ว
ขณะเดียวกัน การได้พบเจอกับอุราระและการได้มีการ์ตูนวายเป็นสรณะใหม่ ก็ทำให้คุณยายยูกิรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในวัยชราได้ดียิ่งขึ้น หนังฉายให้เราเห็นภาพการพยายามต่อสู้กับสังขารที่ร่วงโรยของคุณยายยูกิ เธอพยายามทำอะไรด้วยตัวเอง แม้ทำแล้วจะทำให้ปวดหลังและบางครั้งถึงกับลุกจากเตียงไม่ได้ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่คุณย่าคุณยายอีกหลายคนต้องเผชิญอยู่ เพราะการยอมรับว่าร่างกายเราไม่ได้แข็งแรงเหมือนเมื่อก่อน และบางทีเราอาจต้องพึ่งพิงคนอื่นมากขึ้นนั้นคงเป็นเรื่องยากสำหรับหลายคน แต่ที่ผ่านมาคุณยายอาจจะลืมไปว่าคุณค่าของชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับสังขาร แต่มันอาจคือทุกวันที่ตื่นมาแล้วพบว่ายังมีอะไรสักอย่างให้ตั้งตาคอย อะไรก็ได้ที่ทำให้หัวใจพองโต ในตอนท้ายของเรื่องเราจึงได้เห็นคุณยายยูกิผู้เข้มแข็งนั้นยอมพึ่งพาคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ และแล้วก็ยอมที่จะทิ้งบ้านที่คุ้นเคย ก้าวเท้าออกจาก ‘ระเบียงพักใจ’ ไปอยู่กับลูกที่ต่างประเทศในที่สุด
ต้องใช้เวลาถึงสามปี เด็กหญิงคนหนึ่ง และการ์ตูนวาย ที่จะทำให้คุณยายสนุกกับชีวิตในวัยชรามากพอที่จะบอกกับภาพของสามีที่จากไปได้ว่า “ฉันคงยังตามคุณไปที่โลกฝั่งนู้นไม่ได้” การ์ตูนยังไม่จบ ยังมีเด็กคนหนึ่งที่เห็นคุณค่าในตัวฉัน และแม้จะต้องยอมรับว่าร่างกายไม่ได้แข็งแรงเหมือนเก่าก่อนและต้องพึ่งพาคนอื่น แต่ก็ยังไม่ได้แก่เกินไปสำหรับ ‘โลกฝั่งนี้’
Writer
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา
อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า