ไม่ได้อยากเป็นดาวจรัสแสง แต่อยากเป็นคนกลางๆ ที่มีแสงสว่างในตัวเอง

ไม่ได้อยากเป็นดาวจรัสแสง แต่อยากเป็นคนกลางๆ ที่มีแสงสว่างในตัวเอง

  • เพราะทุกคนมีแสงสว่าง เฉิดฉาย และโดดเด่นในไม้บรรทัดของตัวเอง แต่วันนี้เราถูกไม้บรรทัดคนอื่นทาบลงชีวิตของตัวเรา การถูกเปรียบเทียบคือเรื่องปกติที่ต้องก้มหน้ายอมรับ
  • mappa จัดวงชวนคุย “ฉันไม่อยากเป็นคนกลางๆ บนไม้บรรทัดของคนอื่น” เปิดประเด็นคนกลางๆ และถกเรื่องการวัดผลที่เป็นมากกว่าค่าตัวเลขร่วมกับครูและนักเรียน
  • หาคำตอบร่วมกันว่า เป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะเลิกเป็นคนกลางๆ บนไม้บรรทัดคนอื่น แล้วเริ่มต้นใช้ชีวิตของตัวเองในแบบที่เราชอบ

“ไร้ตัวตน ถูกมองข้าม ไม่มีใครสนใจ”

คือสถานการณ์ที่สังคมส่งเสียงว่า คุณคือคนกลางๆ ไม่มีอะไรโดดเด่นมากพอที่จะทำให้สังคมยอมรับ

เพราะ 20 ปีในระบบการศึกษา โรงเรียนเชิดชูคนเก่ง จับตาดูคนไม่เก่ง ขณะที่คนกลางๆ ต้องดูแลตัวเอง จากที่เคยภูมิใจและมั่นใจ ความรู้สึกเหล่านั้นก็ลดลง เพราะถูกเปรียบเทียบจนรู้สึกท้อว่า “พยายามเท่าไรก็ไม่เคยดีพอ”

ทั้งๆ ที่ “เราคือเรา” ไม่ได้เก่ง แย่ หรืออยู่ตรงกลาง แต่มั่นใจที่จะทำอย่างสุดความสามารถ โดดเด่น และเฉิดฉายบนไม้บรรทัดของตัวเราเองและไม่จำเป็นต้องเดินให้สุดบนไม้บรรทัดของใคร

จึงเป็นที่มาของวงสนทนา mappa ชวนคุย “ฉันไม่อยากเป็นคนกลางๆ บนไม้บรรทัดของคนอื่น” ใน Clubhouse เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 เปิดประเด็นเรื่องคนกลางๆ ที่อยากเป็นตัวเองและถกเรื่องการวัดผลที่ต้องเป็นมากกว่าค่าตัวเลขแต่นักเรียนสามารถนำไปพัฒนาตัวเองได้จริง

สนทนาร่วมกับ ‘มะพร้าว’ ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ อดีตคุณครูโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่ง และ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในบทบาทของครูที่ต้องฉายสปอตไลต์ให้เห็นเด็กทุกคน

รวมถึง ‘ตุ๊กตา’ ตัวแทนจาก First jobber และ ‘พู’ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คนสุดท้ายที่รู้สึกดีกับฐานะคนกลางๆ ของตัวเองแล้ว เพราะชีวิตตอนนี้ คือ เวอร์ชันที่ดีที่สุดในแบบที่พวกเธออยากเป็นบนมาตรวัดของพวกเธอเอง

และเป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะเลิกเป็นคนกลางๆ บนไม้บรรทัดของตัวเองไม่ใช่คนอื่น 

คนกลางๆ คือ คนธรรมดาที่ไม่อยากถูกกลืนหายไป

“ตอนเรียนม.ต้น เรารู้สึกว่าครูจะคอนเนคกับคนเก่งและไม่เก่งแค่สองกลุ่ม พวกเขาจะถูกพูดถึง เรียกชื่อ ในความรู้สึกเหมือนครูเข้ามาเพื่อมาคอนเนคกับคนแค่บางกลุ่มที่ไม่ใช่เรา มันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั่งร้องไห้เสียใจ แต่มันมีความน้อยใจที่รู้ว่าเขาคงไม่ได้สนใจ เราก็ก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ของเราต่อไป”

มะพร้าวอธิบายชีวิตวัยมัธยมต่ออีกว่า เขาคือเด็กที่เรียนได้ที่กลางๆ เกรดอยู่กลางๆ เล่นกีฬาก็กลางๆ ทำทุกอย่างได้ แต่ไม่มีรางวัลมาการันตีความสามารถ ทำให้มะพร้าวรู้สึกว่า เขานี่แหละคือคนกลางๆ

“ผมทำทุกอย่างเป็นหมด แต่ไม่มีถ้วยหรือเงินรางวัลการันตีสิ่งที่เราไปแข่งชนะมา ก็เลยรู้สึกว่าเราทำได้ทุกอย่างแต่ไม่เก่งสักอย่าง ก็ไม่ได้อ่อนสักอย่าง อันนี้น่าจะเป็นภาพคนกลางๆ ในมุมมองของเรา”

มะพร้าว ฉัตรบดินทน์ อาจหาญ อดีตครูโรงเรียนสาธิต

ต่อให้ทำดีแค่ไหน เก่งแค่ไหน หากไม่มีคนยอมรับและเห็นค่า แรงกายและแรงใจที่ทุ่มลงไปก็อาจจะไร้ความหมาย

มันคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตุ๊กตาในวันที่ยื่น resume สมัครงาน แต่ไม่มีใครตอบกลับ จนเธอเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ตุ๊กตากำลังจะเปลี่ยนสถานะจากคนธรรมดาเป็นคนกลางๆ หรือเปล่า

“เราว่าเราทำได้ดีระดับหนึ่งในจุดที่เรารู้สึกโอเคกับตัวเอง แต่พอยื่น resume ไปแล้วบริษัทไม่ตอบกลับก็ตื่นมาพร้อมความรู้สึกว่า ไม่มีที่ไหนอยากหยิบ resume มาแล้วติดต่อเราเลยเหรอ ก็ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นคนที่ไม่ได้โดดเด่น”

เมื่อนึกกลับไปถึงชีวิตในโรงเรียน ตุ๊กตาเล่าว่า แม้จะอยู่ในห้องเรียนขนาดเล็ก แต่เธอก็ยังคิดว่า เธอไม่ใช่คนที่ครูนึกถึงเป็นชื่อแรกๆ

“ถึงครูจะจำชื่อได้ แต่เราไม่ได้โดดเด่นขนาดที่ครูจะเลือกไปช่วยงาน แล้วเราเองก็ไม่ได้อยากโดดเด่นแต่ก็ไม่อยากถูกลืมหรือไม่เป็นที่นึกถึง”

เช่นเดียวกับห้องเรียนของพูที่ครูมักจะเรียกคนสนิทและคนเก่งตอบคำถามเสมอๆ

“เหมือนครูจำชื่อหนูไม่ได้ แล้วเขาก็ชอบเรียกเพื่อนที่ครูสนิทหรือเรียกแต่คนเก่งๆ”

ขณะที่อาจารย์อรรถพลเปิดประเด็นนี้ด้วยการตั้งคำถามว่า “เรากำลังพูดถึงกลางแบบไหนและเทียบกับอะไร”

หากวัดด้วยเกรดเฉลี่ย อาจารย์คือเด็กกลางๆ เนื่องจากเขาคือเด็กหัวศิลป์ท่ามกลางเด็กสายวิทย์ 

“ผมถูกผลักให้มาเรียนสายวิทย์ทำให้เป็นเด็กกลุ่มอ่อน แต่ถ้าเป็นวิชาภาษาไทย สังคม ภาษาอังกฤษ ผมอยู่ในเกณฑ์ที่ครูไว้ใจว่าส่งงานและงานออกมาดี พอสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็ไม่ได้อยู่ตรงกลางแล้ว ก็อยู่ในกลุ่มที่เพื่อนพึ่งพาได้”

เรื่องเล่าชีวิตคนกลางๆ จาก 4 คน 4 วัยบอกเราว่า ในช่วงชีวิตหนึ่ง พวกเราคือคนกลางๆ คนธรรมดาที่อยากส่งเสียงว่า เรามีตัวตนและไม่ถูกกลืนหายไป 

เด็กกลางๆ จางหายไปหรือครูแค่ไม่มั่นใจ

นอกจากความรู้ที่ครูต้องเตรียมสอนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ครูคนหนึ่งต้องแบกรับเมื่อก้าวเท้าเข้าห้องเรียน คือ ความมั่นใจ

“ผมว่าลึกๆ แล้วคนเป็นครูมีความไม่มั่นใจในตัวเองอยู่ว่า สอนวันนี้นักเรียนจะโอเคไหม ตอบได้ไหม ยิ่งตอนเป็นฝึกสอน เราจะรีบสแกนหาว่าเด็ก 30-50 คนในห้องมีใครตอบได้บ่อยๆ ซึ่งพอเราเจอแล้วมันจะเป็นที่พึ่งทางใจของคุณครูในวันที่ประสบการณ์ยังน้อย เป็นลูกชายลูกสาวที่ทำให้ห้องเรียนมีความสุข” มะพร้าวเล่า

นอกจากความกังวลว่าจะมีเด็กเรียนเก่งมาช่วยตอบคำถามไหม มะพร้าวบอกว่าครูยังต้องหันมาสนใจเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียน เพื่อให้เด็กทุกคนตามบทเรียนทัน

มะพร้าวอธิบายเพิ่มเติมว่า เด็กสองกลุ่มนี้เป็นด้านบวกและลบ วิ่งไปซ้ายขวาตลอด เป็นเหตุผลที่ครูคิดว่าไม่จำเป็นต้องคุยหรือสนใจคนกลางๆ เพราะไม่ว่าอย่างไร เด็กจะเอาตัวรอดได้

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในประเด็นนี้ อาจารย์อรรถพลเสริมว่า หากห้องเรียนจะเป็นพื้นที่ของนักเรียนทุกคน ครูควรเข้าใจว่า ทุกห้องเรียนไม่ได้มีแค่เด็กเก่งหรือไม่เก่ง แต่เต็มไปด้วยผู้เรียนที่มีความหลากหลาย 

“ครูต้องนึกถึงความหลายหลายในห้องเรียน มันไม่ได้มีแค่ลูกรักลูกชัง ใช้สายตากวาดไปทั่วห้อง พยายามจดจำชื่อนักเรียนให้ได้มากที่สุด แค่เรียกชื่อเขา เขาก็รู้สึกมีตัวตนแล้ว เพราะฉะนั้นกระบวนการสอนในห้องเรียน ถ้าจัดเป็นกิจกรรม ครูจะเห็นนักเรียนในหลากหลายมิติมากขึ้น”

เพราะอาจารย์ก็จำได้ว่า โมเมนต์ที่ดีในวัยเรียน คือ วันที่ครูบรรณารักษ์จำชื่อและชวนเขาคุย 

“ไม่จำเป็นที่ครูทุกคนต้องเข้ามาเข้าใจผมก็ได้ แต่มีบางคนที่เขาเห็นว่าผมเป็นใคร ผมว่าแค่นี้ก็พอแล้ว”

ตุ๊กตาเองก็คิดแบบนั้น ในวันที่เธอยังเป็นนักเรียนมัธยมปลาย วัยที่ตุ๊กตากำลังหาตัวเองและพื้นที่ที่ยอมรับตัวตนของเธอ

“ในช่วงเรียนม.ปลาย ซึ่งเป็นวัยที่อยากรู้ว่าเรามีตัวตนในที่ไหนหรือว่าตัวตนของเราคืออะไร การได้รับการ recognize จากใครสักคนนึง ไม่ว่าจะเป็นครูหรือเพื่อนที่จำเราได้ มีตัวตนมากพอที่เขาจะนิยามเราได้”

“สมมติคนอื่นเรียกเราว่า ตุ๊กตาคนนั้นที่เรียนวิทย์เก่งๆ ไง แปลว่าคนอื่นจดจำว่า เราเป็นคนเรียนวิทย์เก่ง แล้วพอคาบวิทย์ ครูก็อาจจะถามเราบ่อยๆ เราไม่ได้อยากโดดเด่น แต่มันรู้สึกดีที่คนจำเราได้ในแง่มุมหนึ่ง บางครั้งก็โอเคแต่ก็มีรู้สึกบ้างว่า อยากให้ครูหันมามองหนูสักนิดหนึ่งก็ยังดี”

เราจะหยุดวิ่งบนไม้บรรทัดคนอื่นได้เมื่อได้เลือกเป้าหมายเอง

ถ้าจะบอกว่าคนคนหนึ่งเก่ง แย่ หรืออยู่ตรงกลาง ไม้บรรทัดที่วัดได้อย่างเที่ยงตรงที่สุด คือ คะแนนและเกรดบนผลการเรียน

บางครั้งเราคิดว่า ทำดีที่สุด มีความสุขกับการเป็นที่หนึ่งใจตัวเอง แต่พอถูก ‘ตัวเลข’ บนไม้บรรทัดของคนอื่นมาเปรียบเทียบอาจทำให้เรารู้สึกว่า เรายังเก่งไม่พอ ดีไม่พอ แม้ใจเราจะไม่อยากเปรียบเทียบเลยก็ตาม

“เราโดนให้คะแนนชุดหนึ่ง เราพอใจกับตัวเลขนี้ สมมติได้ 15 เต็ม 20 เรามีความสุขมากเลย เป็นอันดับ 1 ในใจตัวเอง รู้สึกดีกับตัวเองมาก แต่พอมีตัวเลขอีกชุดหนึ่งที่บอกว่าคะแนน 15 เต็ม 20 ของเราได้ที่เท่าไรของห้อง สมมติได้ที่ 13 จาก 20 คน เราเริ่มรู้สึกว่าโห จาก 20 คนเราอยู่ที่ 13 เลยเหรอ เริ่มเปรียบเทียบตัวเอง ทั้งๆ ที่เราไม่ได้อยากเปรียบเทียบกับใคร” ตุ๊กตาเล่า

ถึงจะยอมรับว่าการถูกจัดอันดับเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อเห็นตัวเลข ตุ๊กตาก็อดรู้สึกแย่ไม่ได้ บางวันอาจจะร้องไห้เสียใจ แต่เธอก็ปลอบใจตัวเองด้วยน้ำเย็นๆ สักแก้วหรือหลับตานอนสักคืน เพื่อบรรเทาความรู้สึกในใจและอยากเป็นตัวเองในแบบที่ชอบ

ด้านพู นักเรียนม.6 คนนี้ไม่ได้อยากพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น เพราะเธอมีความสุขกับการเป็นคนกลางๆ และไม่อยากเห็นเพื่อนคนไหนไม่ว่าเก่ง ไม่เก่ง หรือเป็นคนกลางๆ ต้องถูกเปรียบเทียบ อยากให้ครูสนใจเด็กทุกคนเท่ากัน

ฝั่งมะพร้าวพูดเสริมว่า “เราจะหยุดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นได้ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าเป้าหมายของเราคืออะไร”

อดีตครูเล่าต่อว่า หากเราไม่รู้ตัวเอง นักเรียนจะถูกไม้บรรทัดของครูหลอกให้เชื่อว่าเป้าหมายในชีวิตที่ครูบอกให้เป็น ไม่ใช่ เป้าหมายที่เด็กเป็นคนเลือกเอง

ตอนเรียนเราก็ไม่รู้ว่าเราคือใคร เราจะเดินไปทางไหนดี สุดท้ายแล้วพอไม่มีเป้าหมาย เราจะถูกไม้บรรทัดที่ครูแต่ละคนถือหลอกว่านั่นคือเป้าหมายของเราแล้วหลวมตัวกระโดดลงไปบนไม้บรรทัดนั้น เราจะไปวิ่งในลู่วิ่งที่เราไม่ได้อยากวิ่ง มันเครียดและกดดันมาก”

“เป็นเรื่องที่เซ็งมากตอนเป็นคนกลางๆ เพราะเราจะพยายามวิ่งในทุกๆ ไม้บรรทัดที่ครูเขาพยายามจะเข้ามาวัดตัวเรา โดยไม่รู้ว่าเราจะมีเส้นทางชีวิตที่เราอยากเดินจริงๆ เป็นยังไงกันแน่

เรื่องนี้ อาจารย์อรรถพลเห็นด้วยกับมะพร้าวโดยชวนคิดและทบทวนต่อว่า อะไรคือเป้าหมายในชีวิตและไม้บรรทัดแต่ละอันที่เข้ามาทาบลงบนชีวิตของเรานั้นเกี่ยวข้องกับเป้าหมายนั้นหรือไม่

“บางทีคุณครูยื่นไม้บรรทัดเด็กด้วยการประกาศคะแนน จัดอันดับมา ซึ่งมันเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิด ทำให้ว่าเด็กบางคนตกเส้นไม้บรรทัดแล้วไม่มีตัวตน”

มันมีวิธีวัดผลที่เด็กรู้ว่าครูใส่ใจและใช้มันสำหรับการพัฒนา

เมื่อไม้บรรทัดของครู คือ การประเมินผลที่วัดด้วยตัวเลขที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดชะตาชีวิตของเด็กคนหนึ่งว่า ‘ควรจะไปต่อหรือพอแค่นี้’ ด้วยคำสองคำสั้นๆ ‘ผ่านหรือไม่ผ่าน’

ถ้าผ่านก็ไปต่อ ถ้าไม่ผ่านก็ซ่อมจนกว่าจะผ่าน ซึ่งเป็นปัญหาของระบบวัดผลในโรงเรียน

และมันเกิดขึ้นจริงที่โรงเรียนมัธยมของตุ๊กตา ครูไม่เคยเฉลยข้อสอบ สิ่งเดียวที่รู้ คือ เธอตอบผิด

“เวลาสอบครูเขาจะไม่เฉลย บอกแค่ว่าข้อนี้คนผิดเยอะ แล้วก็จบ ให้รู้ว่าเธอทำผิดข้อนี้ และคนอื่นก็ผิดเหมือนกัน เรารู้แหละว่าเราผิด แต่เราต้องทำยังไงต่อ”

อาจารย์อรรถพลอธิบายต่อว่า การวัดผลไม่ควรจบลงแค่การตัดเกรด แต่ตัวเลขนั้นต้องสะท้อนกลับมาที่ตัวเด็กว่า เขาคือใคร 

“การวัดผลในโรงเรียนมันเป๋ มันเป็นการวัดผลของการเรียนรู้ด้วยการตัดเกรด เขียนคะแนน ซึ่งไม่มีประโยชน์ ผมคิดว่าการวัดผลประเมินผลมันควรเป็นข้อมูลที่สะท้อนกลับมาที่ตัวเด็ก ให้เขารู้ว่าตัวเองเป็นใคร ถนัดอะไร สิ่งนี้จะช่วยปั้นชีวิตเด็กขึ้นมาได้”

“เรื่องนี้น่าจะเป็นบทบาทสำคัญของครูที่ไม่ใช่แค่เอาไม้บรรทัดไปวัดแล้วบอกเด็กว่าเขาอยู่ตรงเส้นไหนของคะแนนเต็มสิบ เป็นเกรดเฉลี่ยของวิชานั้นๆ แต่ทำให้เขาเห็นว่า เขาอาจจะไม่ถนัดวิชานี้แค่ถนัดวิชาอื่น แล้วทำอย่างไรให้เราเดินไปถึงเป้าหมายนั้น”

“ถ้าการวัดผลในโรงเรียนมันไปเพื่อการณ์นี้ นักเรียนก็จะไม่ตกอยู่ในมายาคติที่คุณครูเอาไม้บรรทัดมาหยิบยื่นให้เรา พอเราตกทุก mean ของไม้บรรทัด เราก็จะหมดความภาคภูมิใจในตัวเอง” 

มะพร้าวเสริมว่า เกรดและคะแนนควรมีไว้เพื่อการพัฒนา ไม่ใช่จุดจบ

“จริงๆ แล้วครูควรตั้งคำถามกับตัวเลขเหล่านั้น ถ้าเด็กได้คะแนน 12 เต็ม 20 คำถามคือ เขาขาดตกบกพร่องตรงไหน แล้วครูจะเสริมให้เขามีความสามารถดีขึ้นอย่างไร แต่ตอนนี้ครูหลายคนเลือกหยุดที่คะแนน แล้วตีตราว่าเธอเป็นเด็กอยู่ข้างใต้ ตรงกลาง หรือจุดสูงสุดของไม้บรรทัดฉัน”

“แล้วมันก็ไม่แปลกว่าทำไมครูถึงให้ความสนใจกับคนที่อยู่ตรง Top หรืออยู่ตรงปลายของไม้บรรทัดเพราะมันเห็นเด่นชัดว่า คนเก่งตั้งใจเรียนหรือสนใจเด็กอ่อน แต่ไม่ได้ดูว่าเราจะเสริมหรือพัฒนาเขาอย่างไร เราหยุดแค่การตีตราว่าเธออยู่ตรงนี้แล้วจบ”

อาจารย์อรรถพลจึงแทรกต่อว่า ด้วยเหตุผลเหล่านี้ การเรียนรู้กับการประเมินผลจึงต้องทำงานไปพร้อมกัน เด็กไม่จำเป็นต้องแข่งกัน เพราะพวกเขามีจุดสตาร์ตการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน

“การวัดประเมินผลไม่ได้เป็นไปเพื่อการตัดสิน แต่การวัดและประเมินผลมีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้”

และในมุมมองของผู้ผ่านระบบการศึกษามาไม่นาน ตุ๊กตามองว่า หากการวัดผลเป็นไปตามที่มะพร้าวและอาจารย์อรรถพลบอก เด็กคนหนึ่งคงเห็นว่าครูใส่ใจไปพร้อมกับให้ความรู้สำหรับการพัฒนาตัวเอง

“นักเรียนแต่ละคนโดดเด่นและมีความถนัดต่างกันไป การศึกษาไทยมันติดอยู่ในข้อจำกัดบางอย่าง อย่างเช่นสายการเรียน ถ้าเด็กชอบวิทยาศาสตร์กับภาษาอังกฤษ เขาจะเอาตัวเองไปอยู่ตรงไหน เพราะมันไม่มีสายวิทย์อังกฤษ เลยรู้สึกว่าการวัดผลที่ดีที่สุดน่าจะต้องหลากหลาย เพราะเด็กโดดเด่นต่างกัน”

ชีวิตคือการเดินทางไกล เราไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง

เพื่อนของเด็กไม่ใช่แค่เพื่อนวัยเดียวกัน แต่เป็นทุกคนในสังคม

“ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูต้องทำหน้าที่เป็นเพื่อนช่วยเช็กสิ่งที่เด็กถนัด ต่อให้เขาไม่รู้ว่าชอบอะไร แต่อย่างน้อยเขาต้องบอกได้ว่าไม่ชอบอะไร ถึงจะไม่รู้ว่าถนัดอะไร แต่ต้องรู้ว่าทำอะไรแล้วไม่ถนัด”

อาจารย์อรรถพลชวนคุยต่อว่า วิชาเลือกในโรงเรียนเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดประตูประสบการณ์ให้เด็กลงมือทำและสัมผัสจริง

นอกจากระบบการศึกษาต้องถูกถอดรื้อและประกอบสร้างใหม่ ผู้เรียนก็ต้องเห็นว่า การตามหาตัวตนเป็นเรื่องสำคัญ คอยสังเกตความสนใจและความชอบของตัวเองเป็นระยะ โดยไม่ต้องเปรียบเทียบใคร

“ถ้าเราต้องเทียบกับคนอื่นตลอดเวลา เราจะมีแต่ความทุกข์ ต่อให้ประสบความสำเร็จก็อาจเกิดคำถามว่า ทำไมเรามาอยู่ตรงนี้ คุณอาจจะกลายเป็นเด็กที่เรียนเก่งขึ้นมาเพราะคุณติวหนัก ที่บ้านสนับสนุน แต่สุดท้ายมันจะว่างเปล่า ไม่รู้ว่าสู้ทำไมแล้วตัวเราเป็นใคร”

อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์มองว่า ชีวิตคือการเดินทางไกล เราไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง

“การพบตัวเองไม่ใช่จุดจบ เพราะชีวิตคือการเดินทางไกล เป็น personal learning เมื่อถึงจุดหนึ่งอาจมีความสนใจและเรื่องใหม่ๆ เข้ามา เราไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง แม้จะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จแล้วก็ตาม”

เป็นคนกลางๆ ก็ไม่ได้แย่ แค่เป็นแบบที่เราชอบ

“สำหรับหนูไม่โอเคที่ต้องมาคอยเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือกับเพื่อนที่ไม่เก่ง หรือเก่งกว่าเรา หนูคิดว่าคนที่เก่งก็คงไม่อยากโดนเปรียบเทียบกับคนที่ไม่เก่ง”

พูเล่าว่า ไม่อยากให้มีการจัดอันดับ ไม่อยากให้ตัดเกรด และย้ำอีกครั้งว่า อยากให้ครูสนใจเด็กทุกคนให้เท่ากัน

“การเป็นคนกลางๆ ไม่ได้แย่” ตุ๊กตาก็คิดแบบนั้น

“เราอยากเป็นเราเวอร์ชันที่ดีที่สุดแบบที่เราชอบ แล้วเป็นคนกลางๆ บนบรรทัดของสังคมหรืออะไรก็ตามที่เราโอเค มันก็แฮปปี้กับการที่เราเป็นคนกลางๆ เพราะมันก็คือตัวเราอยู่ดี ขอแค่สามารถชอบเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันแค่นี้ก็ดีแล้ว”

ส่วนมะพร้าวมองว่า เมื่อไม้บรรทัดถูกทาบลงชีวิตวัยเรียน ทำให้โรงเรียนไม่ต่างจากสนามม้าที่เด็กแต่ละคนต้องแข่งขัน แต่มะพร้าวไม่อยากให้โรงเรียนมีหน้าตาแบบนั้น

“ไม่อยากให้โรงเรียนเป็นลู่วิ่งที่เด็กไม่กล้าและกลัวล้ม เพราะรู้ดีว่าถ้าล้มจะต้องรั้งท้ายแล้วรู้สึกแย่ แต่อยากให้โรงเรียนเป็นสนามเด็กเล่น เป็นสนามทรายที่ใครสักคนวิ่งแล้วล้มได้เป็นเรื่องปกติพร้อมกับเรียนรู้ที่จะลุกขึ้นใหม่ ลดภาวะแข่งขันลง มองจุดเด่นของเด็กแต่ละคน มองการล้มเป็นการพัฒนา เปิดโอกาสให้ลองผิดลองถูกเพื่อพัฒนาตนเอง” 

อาจารย์อรรถพลทิ้งท้ายด้วยเรื่องหน้าที่ของครูว่า ครูต้องเปิดไฟให้สว่างทั่วห้องแทนการฉายสปอตไลต์ไปที่เด็กบางคนหรือบางกลุ่ม เพราะเด็กทุกคนคือตัวละครเอกในชีวิตของเขาเอง

“บนเวทีของการเรียนรู้ ถ้ามันเป็นห้องเรียนห้องหนึ่ง หน้าที่ครูคือเปิดไฟให้สว่างทั้งห้องและให้เด็กเลือกเองว่าเขาอยากอยู่ตรงไหน และเมื่อไฟสว่างครูจะเห็นเด็กทุกคนที่เป็นตัวละครเอก มีเพื่อนเป็นนั่งร้านการเรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน”

“อย่าใช้สปอตไลต์ในการส่องเด็กด้วยเกณฑ์บางอย่างแล้วก็ให้เขาโดดเด้งขึ้นมาด้วยป้ายไวนิลหน้าโรงเรียนเลย เราควรจะมองเห็นเด็กที่เติบโตขึ้นมาในแบบเขาและเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาเป็น”

Writer
Avatar photo
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

illustrator
Avatar photo
โยษิตา แย้มภู่

เกิดมาเพื่อวาดรูป ฟังเพลง ดูการ์ตูน ทำทุกอย่างที่ตัวเองอยากทำ "เสียใจได้ แต่อย่าเสียดาย" และอยากสร้างผลงานที่ทำให้คนอื่นมีความสุขมากขึ้น

Related Posts

Related Posts