Active Empathic Listening (AEL) : รับฟัง ใส่ใจ ไม่ตัดสิน ‘การรับฟัง’ คือสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณทำได้ในความสัมพันธ์

Active Empathic Listening (AEL) : รับฟัง ใส่ใจ ไม่ตัดสิน ‘การรับฟัง’ คือสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณทำได้ในความสัมพันธ์

  • วิลลาร์ด ฮาร์ลีย์ ออกสัมภาษณ์คู่รักหลายคู่และพบว่า ‘การพูดคุยกันแบบแนบใจ’ คือหนึ่งใน ’10 ความต้องการทางจิตใจและอารมณ์’ ที่คู่รักต้องการมากที่สุด
  • คริสโตเฟอร์ เกียร์ฮาร์ทและเกรแฮม โบดี้ ทำเกณฑ์การประเมินที่ชื่อว่า ‘การฟังด้วยใจและตื่นตัว’ (Active Empathic Listening: AEL)’ ขึ้นมา เพื่อทดสอบความสามารถในการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy) เมื่ออยู่ในฐานะผู้ฟัง
  • แบบทดสอบ AEL ประกอบไปด้วย 11 ข้อที่แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ การรับรู้ ประมวล และตอบสนอง

ในปี 2001 วิลลาร์ด ฮาร์ลีย์ จิตแพทย์ชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือ ‘His Needs, Her Needs’ ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของคู่รัก ได้ออกไปสัมภาษณ์คู่รักหลายคู่เพื่อสรุป ‘10 ความต้องการทางจิตใจและอารมณ์’ ที่แต่ละฝ่ายต้องการจากคู่ของตัวเองมากที่สุด หนึ่งในนั้น คือ ‘การพูดคุยกันแบบแนบใจ’ ซึ่งหมายถึงความต้องการมีบทสนทนาที่ลึกกว่าการพูดคุยทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น การเปิดเผยอารมณ์ ความกังวล และความใส่ใจความรู้สึกกันและกัน  

‘การพูดคุยแบบแนบใจ’ มักเกิดขึ้นในช่วงเดท และน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดหลังแต่งงาน บทสนทนาแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากอีกฝ่ายวอกแวกและไม่ได้ใส่ใจคู่สนทนาอย่างแท้จริง นายแพทย์ฮาร์ลีย์ให้นิยามไว้ว่าการพูดคุยแบบแนบใจคือการใช้บทสนทนาเพื่อบอกกล่าวหรือทำความเข้าใจอีกฝ่าย การให้ความสนใจในเรื่องเดียวกัน การมีโอกาสพูดเท่า ๆ กันอย่างสมดุล และที่สำคัญที่สุดคือการตั้งอกตั้งใจฟังและใส่ใจคู่สนทนาอย่างแท้จริง

คริสโตเฟอร์ เกียร์ฮาร์ทและเกรแฮม โบดี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารจากหลุยเซียน่า ได้ทำเกณฑ์การประเมินที่ชื่อว่า ‘การฟังด้วยใจและตื่นตัว’ (Active Empathic Listening: AEL)’ ขึ้นมา แบบทดสอบนี้ทดสอบกับนักศึกษากว่า 300 คน โดยเน้นไปที่ความสามารถในการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy) เมื่ออยู่ในฐานะผู้ฟัง ผลการประเมินพบว่ายิ่งนักศึกษามีคะแนน AEL ต่ำเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีทักษะการเข้าสังคมและทักษะการรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นต่ำเท่านั้น 

เกียร์ฮาร์ทและโบดี้ใช้การประเมิน 11 ข้อว่ากลุ่มตัวอย่างมีความสามารถในการรับรู้ ประมวล และตอบสนองต่อคู่สนทนาอย่างไร ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขั้น ประกอบไปด้วย

ขั้นที่ 1: Sensing คือขั้นตอนที่ผู้ฟังต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นเครื่องรับ ผู้ฟังจะต้องสังเกตท่าทางของผู้พูดและพยายามรับรู้ความรู้สึกของผู้พูด เพื่อเข้าใจว่าผู้พูดต้องการจะสื่ออะไรแม้ไม่ได้พูดออกมา ในขั้นตอนนี้ประกอบด้วย 4 คำถาม คือ

1.        คุณรู้สึกถึงสิ่งที่คู่สนทนาพูดมากน้อยแค่ไหน

2.        คุณสังเกตถึงสิ่งที่คู่สนทนาต้องการจะสื่อถึงแต่ไม่ได้พูดออกมาไหม

3.        คุณรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของคู่สนทนาไหม

4.        คุณฟังคู่สนทนาได้ลึกลงไปกว่าคำพูดไหม

ขั้นที่ 2: Processing คือขั้นตอนที่ผู้ฟังพยายามทำความเข้าใจ จดจำและรวบรวมเนื้อหาของสิ่งที่ได้ฟังมาเพื่อเห็นภาพรวมสำหรับวิเคราะห์และตีความสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อ ประกอบด้วยคำถาม 3 ข้อ คือ

5.        คุณทำให้คู่สนทนาแน่ใจได้ไหมว่าคุณรับรู้และจดจำสิ่งที่เขาพูดได้

6.        คุณพอพูดถึงสิ่งที่คุณเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในจังหวะที่เหมาะสมได้ไหม

7.        คุณคิดตามประเด็นและเรื่องราวที่คู่สนทนาพูดได้ไหม

ขั้นที่ 3: Responding คือขั้นตอนที่ผู้ฟังใช้คำพูดและท่าทาง เช่น การถามคำถามที่สำคัญ เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ฟังใส่ใจรับฟังอีกฝ่ายจริง ๆ ประกอบด้วย 4 ข้อ คือ

8.        คุณสามารถตอบสนองคู่สนทนาด้วยคำพูดที่ยืนยันว่าคุณรับฟังอยู่ได้ไหม

9.        คุณทำให้คู่สนทนารับรู้ว่าคุณเปิดรับความคิดของเขาไหม

10.      คุณถามคำถามเพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณเข้าใจจุดยืนของคู่สนทนาไหม

11.      ภาษากายของคุณช่วยให้คู่สนทนารู้ว่าคุณตั้งใจฟังอยู่ไหม

บทบาทของของการเป็นผู้ฟังที่ใช้ใจฟังนั้นต้องตั้งใจ และให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผู้พูดไม่ได้พูดออกมาโดยสังเกตจากอารมณ์ น้ำเสียง และท่าทางของอีกฝ่าย แล้วจึงนำมาสิ่งที่ได้รับฟังมาประมวลผลเพื่อสร้าง ‘เรื่องราวทั้งหมด (Narrative Whole)’ จนกระทั่งมาถึงขั้นตอนสุดท้าย ที่ผู้ฟังแสดงออกด้วยภาษากายและภาษาพูดว่ากำลังให้ความใส่ใจ รวมถึงใช้การถามคำถามเพื่อยืนยันว่ารับรู้และเข้าใจสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อ 

ไดแอนน์ แกรนด์ จิตแพทย์จากชิคาโก ได้กล่าวถึงความสำคัญของ AEL ไว้ใน Psychology Today ว่า หลายครั้ง คนที่อยากมีคนรับฟังก็เพียงอยากจะระบายความอัดอั้นตันใจบางอย่างออกมาและแค่อยากรู้ว่าคุณใส่ใจเขามากเพียงพอ แม้ว่าท้ายที่สุดคุณจะไม่สามารถแก้ปัญหาให้เขาได้เลย แต่การรับฟังอาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณจะสามารถทำได้เพื่อให้ความสัมพันธ์ดียิ่งขึ้น 

อ้างอิง :

https://www.psychologytoday.com/us/blog/in-it-together/202006/active-listening-skills

https://www.psychologytoday.com/us/blog/fulfillment-any-age/201203/11-ways-active-listening-can-help-your-relationships

https://www.marriagebuilders.com/intimate-conversation.htm

https://bmcpsychology.biomedcentral.com/articles/10.1186/s40359-020-00422-4

Writer
Avatar photo
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

illustrator
Avatar photo
กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts

Related Posts