A Year of Reading the World – 366 วัน 196 ประเทศ ภารกิจอ่านหนังสือจากทั่วทุกมุมโลกของ แอน มอร์แกน
A Year of Reading the World – 366 วัน 196 ประเทศ ภารกิจอ่านหนังสือจากทั่วทุกมุมโลกของ แอน มอร์แกน
ว่ากันว่าเราจะรู้จักตัวตนของคนคนหนึ่งได้มากขึ้นจากการสังเกตหนังสือที่อยู่บนชั้นวาง
แอน มอร์แกน มั่นใจมาตลอดว่าเธอคือนักอ่านตัวยง เธออ่านหนังสือมามากมายและคิดอยู่เสมอว่าตัวเองเป็นคนที่มี ‘วัฒนธรรมการอ่าน’ จนกระทั่งในวันที่เธอกวาดสายตามองไปยังชั้นหนังสือของตัวเอง เธอก็ได้พบจุดบอดอันยิ่งใหญ่ในวัฒนธรรมการอ่านที่เธอมั่นใจมาตลอด
บนชั้นวางนั้นมีแต่หนังสือที่มีชื่อผู้เขียนเป็นชาวอังกฤษและชาวอเมริกัน และแทบไม่มีผลงานแปลอยู่เลย
“มีคนเขียนเรื่องราวน่าทึ่งรอบตัวเราขึ้นมาด้วยภาษาอื่นๆ มากมายที่นอกเหนือไปจากภาษาอังกฤษ ซึ่งพอลองนึกดูแล้วมันก็แอบเศร้านะที่นิสัยการอ่านของฉันทำให้ฉันไม่ได้ค้นพบผลงานพวกนั้นเลย” แอนเล่า
และแล้วคอร์สติวเข้มการอ่านระดับโลกของแอนก็เริ่มต้นขึ้นในปี 2012
แอนตัดสินใจว่าเธอจะเริ่มอ่านหนังสือ นิยาย เรื่องสั้น และบันทึกต่างๆ จากทุกประเทศในโลกนี้
เธอคัดเลือกรายชื่อประเทศโดยใช้รายชื่อจากองค์กรสหประชาชาติ โดยรวมไต้หวันเข้าไปด้วย และในที่สุดเธอก็ได้รายชื่อ 196 ประเทศที่จะใช้ในโปรเจกต์ ‘อ่านโลก’ ของเธอ
แอนวางแผนว่าจะอ่านหนังสือและเขียนบล็อกไปด้วย ซึ่งถ้าว่ากันตามแผนนี้ เธอจะต้องอ่านหนังสือสัปดาห์ละ 4 เล่ม ในขณะที่ต้องทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์
“พอวางแผนตรงนี้เสร็จ ฉันก็ต้องเผชิญกับความจริงที่ว่าอาจจะหาหนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษจากทุกประเทศที่ลิสต์เอาไว้ไม่ได้ เพราะในสหราชอาณาจักรมีการตีพิมพ์วรรณกรรมแปลคิดเป็นสัดส่วนแค่ 4.5 เปอร์เซ็นต์ แถมพวกงานวรรณกรรมแปลที่เอามาตีพิมพ์ก็มักจะมาจากประเทศที่มีวงการสิ่งพิมพ์ค่อนข้างใหญ่อย่างฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ ในขณะที่ประเทศในแอฟริกาแทบจะไม่ได้รับการพิจารณาเลย” เธอเล่าถึงอุปสรรคใหญ่ในจุดเริ่มต้น
“แต่ที่ท้าทายมากที่สุด คือฉันไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนก่อนดี นักอ่านวรรณกรรมมือใหม่ที่ไม่รู้เหนือรู้ใต้จะอ่านหนังสือจากทั้งโลกได้ยังไง”
แอนต้องการความช่วยเหลือ
เธอจึงสมัครบล็อกขึ้นมาในเดือนตุลาคม 2011 และใช้ชื่อว่า ayearofreadingtheworld.com จากนั้นก็โพสต์ข้อความสั้นๆ เพื่อแนะนำตัวและขอความช่วยเหลือจากทุกคนที่สนใจโปรเจกต์นี้ให้ช่วยแนะนำว่าเธอควรอ่านอะไรดี
และภายในเวลาไม่กี่วัน เธอก็ได้รับความช่วยเหลือจากคนแปลกหน้าที่อยู่ไกลออกไปกว่า 6,000 ไมล์
“ฉันโพสต์ขอความช่วยเหลือได้ 4 วัน แล้วก็ได้รับข้อความจากผู้หญิงชื่อ ราฟิดาห์ จากกรุงกัวลาลัมเปอร์ เธอบอกว่าชอบไอเดียของฉันมาก”
ราฟิดาห์อาสาซื้อหนังสือมาเลเซียที่แปลเป็นภาษาอังกฤษส่งไปให้แอน และไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น แอนก็ได้รับพัสดุที่ในกล่องบรรจุหนังสืออยู่ถึง 2 เล่ม
“ราฟิดาห์ส่งหนังสือที่เธอเลือกมาจากมาเลเซีย และอีกเล่มนั้นมาจากสิงคโปร์ ซึ่งเธอเลือกให้ฉันเช่นกัน ตอนนั้นฉันทึ่งมากที่มีคนแปลกหน้ายอมให้ความช่วยเหลือมากมายกับใครสักคนที่เธออาจจะไม่ได้เจอตัวจริงเลยก็ได้”
ในปีนั้นมีนักอ่านจากทั่วโลกช่วยเหลือแอนมากมาย ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศที่แทบจะไม่มีวรรณกรรมแปลวางขาย และในหลายๆ ครั้ง หนังสือที่เธอได้รับก็มาจากแหล่งที่น่าประหลาดใจ
“ฉันได้หนังสือปานามาจากการพูดคุยกับแอคเคานต์ของ ‘คลองปานามา’ บนทวิตเตอร์ เขาแนะนำให้ฉันลองหาผลงานของนักเขียนชาวปานามา ชื่อ ฆวน เดวิด มอร์แกน พอเจอเว็บไซต์ของมอร์แกนฉันก็ส่งข้อความหาเขา ถามว่ามีนิยายเล่มไหนที่แปลจากภาษาสเปนเป็นภาษาอังกฤษแล้วบ้าง เขาบอกว่ายังไม่มีเล่มที่ได้ตีพิมพ์เลย แต่เขามีฉบับแปลที่ยังไม่ตีพิมพ์อยู่นะ มันคือนิยายเรื่อง ‘The Golden Horse’ จากนั้นเขาก็ส่งไฟล์มาให้ฉันทางอีเมล ทำให้ฉันเป็นคนแรกๆ ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้นเป็นภาษาอังกฤษ”
จากสวีเดนถึงปาเลา เหล่านักเขียนและนักแปลส่งหนังสือที่พวกเขาตีพิมพ์เองให้กับแอนเล่มแล้วเล่มเล่า
บ้างเป็นต้นฉบับหนังสือที่ยังไม่เคยได้ตีพิมพ์
บ้างเป็นต้นฉบับหนังสือที่ยังไม่ได้ถูกเลือกโดยสำนักพิมพ์ภาษาอังกฤษ
บ้างเป็นหนังสือที่ไม่มีวางขายแล้ว
แต่แอนได้รับสิทธิพิเศษในการอ่านหนังสือเหล่านี้ และมันก็ช่วยเปิดโลกจินตนาการให้กับเธออย่างน่าเหลือเชื่อ
“ฉันได้อ่านเรื่องราวของกษัตริย์แอฟริกาใต้ ได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับผู้นำกองทัพเพื่อต่อกรกับชาวโปรตุเกสในศตวรรษที่ 19 เรื่องราวเกี่ยวกับพิธีแต่งงานในหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปบนฝั่งทะเลแคสเปียน หรือเรื่องราวเกี่ยวกับการร่วมประเวณีบนต้นไม้ในแองโกล่า การอ่านหนังสือจากทั่วทุกมุมโลกทำให้ฉันได้รู้เรื่องราวที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยในชีวิตนี้”
เมื่อโปรเจกต์นี้เดินทางมาถึงช่วงโค้งสุดท้าย มีหนังสือจากประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่งที่แอนอยากได้และตามหามาตลอด นั่นคือประเทศเซาตูเมและปรินซิปี ซึ่งเป็นหมู่เกาะแอฟริกาเล็กๆ และใช้ภาษาโปรตุเกส
เธอใช้เวลาหลายเดือนในการตามหาหนังสือจากเซาตูเมและปรินซิปี แต่กลับไม่มีเล่มไหนที่เคยได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษเลย ทางเดียวที่พอจะเป็นไปได้ก็คือหาหนังสือเล่มใหม่ที่จะแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อให้เธอได้อ่าน
ฟังดูแล้วความหวังช่างริบหรี่ ใครกันนะจะใจดียอมแปลหนังสือทั้งเล่มให้เธอได้อ่านฟรีๆ ซ้ำยังเป็นหนังสือจากประเทศเล็กๆ ที่แทบจะไม่มีใครรู้จัก
แต่ในที่สุดแอนก็ทำได้
“ตอนนั้นฉันสงสัยจริงๆ ว่าใครจะอยากช่วยและยอมสละเวลาเพื่ออะไรอย่างนี้ แต่พอโพสต์ในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กเพื่อหาคนที่ใช้ภาษาโปรตุเกส แค่สัปดาห์เดียวก็มีอาสาสมัครที่อยากช่วยฉันแปลหนังสือติดต่อมาถึง 9 คน หนึ่งในนั้นคือ มาร์กาเร็ต ยูล กอสตา ผู้ได้แปลผลงานของเจ้าของรางวัลโนเบล โฆเซ ซารามาโก”
แอนสั่งซื้อหนังสือที่เขียนโดยชาวเซาตูเมมาชุดหนึ่ง แล้วเธอก็ส่งสำเนาไปให้อาสาสมัครแต่ละคน เพื่อรับเรื่องสั้นจากหนังสือชุดนี้ไปแปลคนละ 2 เรื่อง
หลังจากผ่านไป 6 สัปดาห์ แอนก็ได้รับฉบับแปลกลับมาจากอาสาสมัครทั้ง 9 คน และแล้วเธอก็ได้อ่านหนังสือจากเซาตูเมและปรินซิปี
หนังสือมอบความเป็นไปได้ให้กับทุกสิ่ง คำพูดนี้คงไม่เกินจริงเมื่อได้ฟังเรื่องราวของแอน
“สิ่งที่ฉันได้เจออยู่บ่อยๆ ตอนทำโปรเจกต์นี้ คือ ‘ความไม่รู้’ และ ‘การเปิดใจ’ เมื่อฉันไม่รู้ว่าจะเริ่มหาหนังสือเล่มหนึ่งจากที่ไหน ฉันลองเปิดใจก้าวข้ามขีดจำกัด และมันก็กลายเป็นโอกาสครั้งยิ่งใหญ่”
“หนังสือจากเซาตูเมและปรินซิปีที่ฉันได้อ่านไป ไม่ใช่แค่การอ่านเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ แต่เป็นการสร้างโอกาสใหม่ในการรวมตัวผู้คน มันทำให้เราได้เห็นการสานต่อ ได้เห็นความพยายามในการสร้างสรรค์งานร่วมกัน และกลายเป็นว่าจุดอ่อนของฉัน กลายเป็นจุดแข็งของโปรเจกต์นี้”
“เป็นไปไม่ได้หรอกที่การอ่านหนังสือเพียงเล่มเดียวจะทำให้เราเห็นภาพรวมของประเทศนั้น แต่เมื่อหนังสือเหล่านั้นถูกนำมาสะสมรวมกัน มันทำให้ฉันมองเห็นความสมบูรณ์ ความหลากหลาย และความซับซ้อนของโลก แต่ละเล่มเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป แต่พลังของหนังสือคือสิ่งที่เชื่อมโยงพวกเรา ข้ามการแบ่งแยกทางการเมือง ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม ศาสนา มันเป็นเรื่องราวของศักยภาพมนุษย์ที่ต้องทำงานร่วมกันบนโลกใบนี้”
และในปี 2023 นี้ แอนยังคงอ่านหนังสือจากทั่วทุกมุมโลกอยู่ และยังแนะนำหนังสือที่เธออ่านผ่านบล็อก ayearofreadingtheworld.com เป็นประจำทุกเดือน พร้อมทั้งยังเปิดรับการป้ายยาหนังสือจากทั่วทุกมุมโลกเช่นเดียวกัน
“คนรักการอ่านมักจะรู้กันดีว่าหนังสือมีพลังพิเศษที่จะนำเราออกจากมุมมองของตัวเอง และพาเราเข้าไปสู่มุมมองของคนอื่น คุณจะได้เห็นโลกผ่านมุมมองที่แตกต่างออกไปในช่วงเวลาหนึ่ง บางครั้งมันอาจเป็นประสบการณ์ที่น่าอึดอัด ถ้าคุณอ่านหนังสือจากวัฒนธรรมที่ยึดถือคุณค่าแตกต่างจากตัวเอง แต่เชื่อเถอะว่าการปลุกปล้ำกับแนวคิดที่ไม่คุ้นเคยจะทำให้ความคิดของคุณชัดเจนขึ้น และมันจะทำให้คุณได้เห็นจุดบอดในแบบที่คุณอาจจะเคยมองเห็นในโลกใบนี้เลยด้วยซ้ำ”
Writer
ณัฐนรี บัวขม
มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง
illustrator
สิริกร พรอนงค์
ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล