เพราะห้องไม่ใช่เพียงสถานที่แต่คือความรู้สึก: เมื่อมนุษย์เชื่อมโยงกับพื้นที่ด้วยประสาทสัมผัสอื่นที่มากกว่ารูป รส กลิ่น เสียง
เพราะห้องไม่ใช่เพียงสถานที่แต่คือความรู้สึก: เมื่อมนุษย์เชื่อมโยงกับพื้นที่ด้วยประสาทสัมผัสอื่นที่มากกว่ารูป รส กลิ่น เสียง
- ร็อบ วอล์กเกอร์ ผู้เขียนหนังสือ The Art of Noticing: 131 Ways to Spark Creativity, Find Inspiration, and Discover Joy in the Everyday กล่าวว่าส่วนหนึ่งของการสังเกตคือการใช้สัมผัสทั้ง 5 ต่อสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา แต่บางครั้งองค์ประกอบที่ทำให้สถานที่ใดที่หนึ่งถูกจดจำคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตัวเรา
- แครอลีน เพอร์เนล นักประวัติศาสตร์และนักเขียน เชื่อว่าเรา ‘รับรู้’ มีประสบการณ์ และเชื่อมโยงกับห้องห้องหนึ่งด้วยสิ่งที่มากกว่าสัมผัสทั้ง 5
- ห้องห้องหนึ่งเชื่อมโยงกับเรามากกว่ารูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เพราะยังมีอารมณ์ ความรู้สึก ความทรงจำ ความหลงใหลอยู่ในนั้นด้วย
รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส คือ สัมผัสทั้ง 5 ที่ทำให้เรารับรู้ถึงการมีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ ในเชิงกายภาพ แต่ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ที่อยู่รายล้อมตัวเรา และมีส่วนในการ ‘มอบประสบการณ์’ ให้กับเราไม่ต่างไปจากสัมผัสทั้ง 5
ในหนังสือ The Art of Noticing: 131 Ways to Spark Creativity, Find Inspiration, and Discover Joy in the Everyday ผู้เขียนอย่าง ร็อบ วอล์กเกอร์ กล่าวว่า การสังเกตและใส่ใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เราได้ค้นพบความสนุกและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในชีวิต ส่วนหนึ่งของการสังเกต คือการมุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่อยู่นอกตัวเรา เช่น สิ่งที่เราได้เห็น สิ่งที่เราได้ยิน สิ่งที่เราได้กลิ่น สิ่งที่เราได้สัมผัส หรือสิ่งที่เราได้ชิม แต่บางครั้งองค์ประกอบที่ทำให้สถานที่หนึ่งถูกจดจำกลับเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในตัวเรา
วอล์กเกอร์ยกถ้อยคำจากเรื่อง Across the River and into the Trees โดย เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ นักเขียนชื่อดัง มาว่า “เมื่อมีคนพูด จงฟังอย่างตั้งใจ อย่าเพิ่งคิดว่าคุณจะพูดอะไร คนส่วนใหญ่ไม่เคยฟังจริง ๆ และยังไม่เคยสังเกตด้วย คุณควรจะเข้าไปในห้องห้องหนึ่งและออกมาโดยรู้จักทุกอย่างที่คุณเห็นในนั้น และไม่ใช่แค่นั้น ถ้าหากห้องห้องนั้นก่อให้เกิดความรู้สึกอะไรขึ้นกับคุณ คุณก็ต้องรู้ชัดว่าอะไรในห้องนั้นที่ให้ความรู้สึกนั้นกับคุณ”
แม้เรามองไม่เห็นความรู้สึก แต่มันก็เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงพอ ๆ กับรูป รส กลิ่น เสียง หรือสัมผัส ที่เรารับรู้ได้ทางกายภาพ องค์ประกอบที่เรามองไม่เห็นเหล่านี้ก็คือสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้โลกของเราไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าองค์ประกอบอื่น ๆ
ห้องที่เป็นมากกว่าห้อง
เช่นที่เฮมมิงเวย์เขียนไว้ว่า เมื่อเข้าไปในห้องห้องหนึ่ง นอกจากสิ่งที่ตาเห็นแล้ว คุณควรรู้ว่าห้องนั้นให้ความรู้สึกอะไรกับคุณ หากจะยกตัวอย่างง่าย ๆ ของสิ่งที่อยู่รายล้อมตัวเรา สิ่งที่มีผลกับเรา แต่ไม่อาจสัมผัสได้ในเชิงกายภาพ สิ่งนั้นก็คือความรู้สึกและประสบการณ์ที่เราได้รับจากห้องห้องหนึ่ง
ในเรียงความแนะนำนิทรรศการ The Senses: Design Beyond Vision ที่จัดขึ้นในพิพิธภัณฑ์คูปเปอร์ ฮิวอิทท์ พิพิธภัณฑ์การออกแบบหนึ่งเดียวของสหรัฐอเมริกา ระบุไว้ว่า “ในฐานะคนคนหนึ่ง เรารับข้อมูลผ่านสัมผัส แล้วสร้างความตระหนักรู้ (การรับข้อมูล) ขึ้น จากนั้นเราก็นำข้อมูลนั้นไปสู่การทำความเข้าใจ (กระบวนการทางความคิด) ซึ่งจะเป็นสิ่งที่กำหนด ‘ความเป็นจริงของเรา’ เราใช้เวลาปีแรก ๆ ของชีวิต ในการพยายาม ‘หาความสมเหตุสมผล’ ของโลกใบนี้ด้วยการดู สัมผัส รับกลิ่น รับรส และฟังเสียงสิ่งที่อยู่รอบ ๆ เรา ความเชื่อมโยงของสัมผัสเหล่านี้ซึ่งก่อตัวขึ้นในสมองจะทำให้เราสร้าง ‘ความหมาย’ และ ‘ความทรงจำ’ ขึ้น”
แครอลีน เพอร์เนล นักประวัติศาสตร์และนักเขียน ผู้เขียนหนังสือ The Sensational Past: How Enlightenment Changed the Way We Used Our Senses ได้เขียนบทความ Understanding the 5 Ways You Experience a Room ลงในเว็บไซต์ Psychology Today ว่าด้วยเรื่องประสบการณ์ของเราที่มีต่อห้องห้องหนึ่ง
คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการสร้างห้องขึ้นมาห้องหนึ่งต้องคำนึงถึงความสวยงามหรือความหรูหรา หรือบางส่วนก็คิดว่าห้องต้องประกอบไปด้วยความสะดวกสบายและเหมาะกับการอยู่อาศัย แต่ความจริงห้องห้องหนึ่งมีอะไรมากกว่านั้น ห้องแต่ละห้องมีทั้งความสมหวัง ผิดหวัง ความต้องการ และความปรารถนาอยู่ในนั้น และห้องที่เราอยู่ก็มักจะข้องเกี่ยวกับจิตใจส่วนลึกของเราด้วยเสมอ
อย่างที่จูฮานี พัลลัสมา สถาปนิกชื่อดังชาวฟินแลนด์ เคยกล่าวไว้ว่า “สถาปัตยกรรมคือศิลปะของความกลมกลืนระหว่างตัวเราและโลก และความกลมกลืนนี้เกิดขึ้นได้ผ่านสัมผัส”
ด้วยเหตุนี้เพอร์เนลจึงเชื่อว่าเรา ‘รับรู้’ มีประสบการณ์ และเชื่อมโยงกับห้องห้องหนึ่งด้วยสิ่งที่มากกว่าสัมผัสทั้ง 5 โดยเพอร์เนลได้อ้างถึงหนังสือ Environmental Interiors ซึ่งกล่าวว่า มนุษย์สามารถรับประสบการณ์จากสิ่งแวดล้อมได้ 5 ด้านหลัก ๆ ได้แก่
สัมผัส
อย่างที่กล่าวไปว่าสัมผัสทั้ง 5 อย่างรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส คือการรับประสบการณ์ที่ตรงไปตรงมาที่สุด แสงที่ตกกระทบมุมต่าง ๆ ในห้อง กลิ่นของน้ำยาถูพื้น พื้นผิวของพื้น ผนัง และเฟอร์นิเจอร์บางชิ้น รวมถึงการจัดวางของสิ่งต่าง ๆ คือสิ่งที่เราสัมผัสได้ เสียงเพลง เสียงพูดคุย เสียงกิจกรรมอื่น ๆ ทั้งเสียงในห้องและเสียงที่ลอดเข้ามาก็เช่นกัน
เรียงความชิ้นเดิมจากพิพิธภัณฑ์คูปเปอร์ ฮิวอิทท์ บรรยายไว้อีกว่า “ผู้คนรับรู้วัตถุและพื้นที่ด้วยเสียงและสัมผัสเช่นเดียวกับการมองเห็น ผู้คนได้ยินเสียงผ่านการสัมผัสแรงสั่นและมองความเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับการใช้หูฟัง” ยิ่งเราใช้สัมผัสมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เรามีความสัมพันธ์ต่อช่วงเวลา สิ่งของ สถานที่มากเท่านั้น
เวลาและการเคลื่อนที่
ห้องหลายห้องมีช่วงเวลามากมายอยู่ในนั้น ห้องที่มีเฟอร์นิเจอร์สไตล์เก่า ๆ หรือเป็นสไตล์ที่ข้ามผ่านกาลเวลามาหลายยุคหลายสมัยก็จะให้ประสบการณ์ที่ต่างไปจากห้องที่เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่ที่เรียบง่าย
ส่วนการเคลื่อนที่นั้นหมายถึงการจัดพื้นที่แบบแปลนห้องให้เหมาะกับการขยับเขยื้อนของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อความรู้สึก ‘ลื่นไหล’ หรือเป็นอิสระในห้อง รวมถึงความรู้สึกถูกกักขังหรือถูกรายล้อมด้วยเช่นกัน ช่องว่างสำหรับการเดินในห้อง ระยะห่างระหว่างข้าวของต่าง ๆ รวมถึง พื้นที่ว่าง (negative space) ก็สามารถส่งผลต่อประสบการณ์ที่แต่ละคนจะได้รับจากห้องห้องหนึ่งได้
ความทรงจำ เหตุผล และจินตนาการ
การตกแต่งห้องแต่ละห้องไม่ได้เกิดขึ้นโดยไร้ที่มา และแม้แต่ข้าวของชิ้นที่เล็กที่สุดในห้องก็อาจจะมีความทรงจำมากมายอยู่ในนั้น ห้องของบางคนจึงอาจคำนึงถึงเรื่องของความรู้สึกมากที่สุด มันอาจเป็นห้องที่รายล้อมไปด้วยรูปภาพครอบครัว อาจเป็นของที่ระลึกหรือของฝากจากทริปสุดประทับใจ และข้าวของอื่น ๆ ที่ได้มาจากคนที่พวกเขารัก ห้องห้องนั้นจึงกลายเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำและความอบอุ่น ที่ที่ความทรงจำอันมีค่าได้มาอยู่รวมกัน
แต่สำหรับบางคน ห้องของพวกเขาอาจแสดงให้เห็นถึงความมีเหตุผล เช่น ห้องทำงานที่ทุกอย่างถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบและเน้นความสะดวกสบายในการใช้งาน และห้องแบบนั้นก็มีอีกสิ่งที่เรามองไม่เห็นล่องลอยอยู่ในบรรยากาศ นั่นคือการมีลำดับขั้นตอนในการทำสิ่งต่าง ๆ ของเจ้าของห้อง
สถานที่อีกประเภทที่ต้องใช้จินตนาการเป็นองค์ประกอบหลักที่จะทำให้คนที่อยู่ในนั้นรู้สึกสร้างสรรค์ ถูกกระตุ้น ได้รับแรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นสถานที่สาธารณะประเภทสวนสนุก คาสิโน หรือห้างสรรพสินค้าที่ต้องเป็น ‘มหาวิหารแห่งการบริโภค (Cathedrals of Consumption)’ ที่เต็มไปด้วยงานศิลปะ หนังสือ หรือวัตถุที่กระตุ้นความอยากรู้ไม่สิ้นสุดและทำให้เดินวนอยู่ในนั้นได้ทั้งวัน
อารมณ์ความรู้สึก
ความรู้สึกสงบเมื่ออยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ความรู้สึกหวาดกลัวเมื่อก้าวเข้าไปในห้องที่ถูกทิ้งร้างมาเนิ่นนาน ความรู้สึกอบอุ่นเมื่อก้าวเข้าไปในห้องครัวอันหอมกรุ่นไปด้วยกลิ่นอาหารของแม่ ความรู้สึกเหล่านี้ก็คืออีกสัมผัสหนึ่งที่ไม่จัดอยู่ในสัมผัสทั้ง 5 แต่เราก็รับรู้ได้ว่ามีอยู่
แต่ก็มีบางสถานที่เช่นกันที่ออกแบบมาเพื่อให้เรา ‘ไม่รู้สึก’ หรือรู้สึกเป็นกลางต่อสถานที่นั้น เช่น สถานที่ประเภท ‘non-place’ (พื้นที่เชิงมานุษยวิทยาแห่งสภาวะที่ไม่ยั่งยืน ที่ที่มนุษย์เป็นเพียงบุคคลนิรนาม และพื้นที่นั้นไม่ได้มีความสลักสำคัญมากพอที่จะถูกมองเป็น ‘สถานที่’) เช่น สนามบิน โรงแรม กล่าวคือ ไม่ว่าจะอยู่ที่ฮ่องกง หรือซานฟรานซิสโก สนามบินก็จะให้ความรู้สึกไม่แตกต่างกัน
ความคุ้นเคยและความคาดหวัง
การที่ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในที่ที่คุ้นชินและการที่เราสามารถคาดเดาสิ่งต่าง ๆ ได้ ส่งผลต่อจิตใจมากกว่าที่คิด เพราะนอกจากจะทำให้เรารู้สึกสบายอกสบายใจแล้ว เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการได้รู้ว่ารีโมททีวียังอยู่บนโซฟา รีโมทแอร์ยังอยู่บนหัวเตียง ก็ทำให้เรารู้สึกว่ามีความสามารถในการควบคุมชีวิต (Sense of Control) ได้เช่นกัน
ความคาดหวังก็เหมือน ๆ กับความคุ้นชิน ความคาดหวังสามารถเปลี่ยนประสบการณ์ที่เรามีต่อห้องห้องหนึ่งได้ ลองจินตนาการถึงห้องพักโรงแรม 3 ดาว เราอาจนึกถึงห้องที่ดูจืดชืดไร้ชีวิตชีวาแต่สะอาดสะอ้าน ห้องที่ไม่ได้มีความวิจิตรบรรจงแต่สะดวกสบาย และหากว่าเราจองห้องพักโรงแรม 5 ดาว ที่เรามีความคาดหวังอีกแบบ แต่กลับต้องเจอกับห้องแบบโรงแรม 3 ดาว ห้องนั้นก็จะกลายเป็นห้องที่น่าผิดหวังและมีแต่สิ่งที่ไม่ถูกใจไปเสียหมด แต่หากเราตั้งใจเพียงแค่หาที่พักแรมกลางทาง เลือกโรงแรมที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ได้ห้องระดับ 3 ดาว ห้อง ๆ นั้นก็จะกลายเป็นห้องที่น่าประทับใจไปเสียทุกอย่างเหมือนกัน
เพราะห้องเป็นมากกว่าสถานที่ ห้องห้องหนึ่งให้ประสบการณ์กับเรามากกว่ารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และเชื่อมโยงกับตัวตนของเรามากไปกว่าลายกระเบื้องในห้อง มากกว่ากลิ่นน้ำยาถูพื้น มากกว่ารสของน้ำในตู้เย็น มากกว่าเสียงจากทีวี มากกว่าสัมผัสของผ้าห่ม หากแต่ยังมีความคุ้นชิน ความทรงจำ อารมณ์ ความรู้สึก ความหลงใหลมากมายอยู่ในนั้นด้วย
อ้างอิง
หนังสือ The Art of Noticing: 131 Ways to Spark Creativity, Find Inspiration, and Discover Joy in the Everyday
https://blog.interface.com/how-engaging-the-senses-creates-meaningful-design/
Writer
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา
อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า
illustrator
กรกนก สุเทศ
เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง