‘ปรัชญา’ วิชาที่หล่นหาย เหตุใดจึงควรมีการเรียนการสอนปรัชญาในระดับมัธยมศึกษา
‘ปรัชญา’ วิชาที่หล่นหาย เหตุใดจึงควรมีการเรียนการสอนปรัชญาในระดับมัธยมศึกษา
ผมรู้จักวิชาปรัชญาสมัยเรียนอยู่ปีหนึ่ง.
เมื่อราวๆ ยี่สิบปีที่แล้ว, ผมเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งแถวสามย่าน. แต่เมื่อเรียนจบเทอมแรก, ผมรู้สึกเป็นทุกข์กับสิ่งที่เรียน (ผมเรียนเอกเคมี) จนไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป. ในขณะลงทะเบียนเรียนเทอมสอง, ผมค้นหาวิชาเรียนที่จะลงเป็นวิชาเลือกด้วยความคับข้องใจ. ผมคลิกหน้าจอแบบมั่วๆ สุ่มๆ แล้วบังเอิญไปพบวิชาสังกัดคณะอักษรศาสตร์วิชาหนึ่งเข้า. วิชานั้นมีชื่อว่า ‘พุทธปรัชญาในอภิธรรมปิฎก.’
ผมตัดสินใจลงเรียนโดยไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า เนื้อหาวิชาเกี่ยวกับอะไร, ยากแค่ไหน, อย่างไร.
หลายครั้ง, ไม่ใช่สิ่งที่เราคุ้นเคย, แต่กลับเป็นสิ่งที่เราไม่รู้จักที่ส่งผลต่อชีวิตเราอย่างมหาศาล.
วิชานี้เปลี่ยนแปลงชีวิตผม.
อันที่จริงต้องพูดให้ชัดว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงจริงๆ คือ วิธีคิดและวิธีตั้งคำถามซึ่งนำไปสู่การมองโลก, สังคม, และมนุษย์ที่แตกต่างออกไปจากเดิม. ผมเข้าเรียนวิชานั้นโดยไม่รู้อะไรเลย, เข้าไปพร้อมกับคำถามว่า ชีวิตคืออะไร, เรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร. แต่สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจและเป็นอะไรที่เหนือความคาดหมายอย่างยิ่งก็คือ เมื่อเรียนจบแล้ว, แทนที่จะได้คำตอบให้แก่คำถามเหล่านั้น, ผมกลับพบว่าตัวเองเดินออกมาจากชั้นเรียนพร้อมกับคำถามต่างๆ ที่ตอบไม่ได้ง่ายๆ อีกเป็นจำนวนมาก.
แต่คราวนี้สิ่งที่แตกต่างออกไปก็คือ ผมไม่กลัวแล้วอีกแล้ว เพราะผมเดินออกมาจากชั้นเรียนพร้อมกับโลกทัศน์ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป. การเรียนปรัชญา, แม้จะไม่ช่วยให้เราพบกับคำตอบ, ช่วยให้รู้จักตั้งคำถาม. ในแง่หนึ่ง, ปรัชญาช่วยให้เราตั้งคำถามกับชีวิตและสิ่งที่สัมพันธ์กับชีวิตอย่างจริงจัง, ซึ่งท้ายที่สุดทำให้เรารู้ว่าอะไรสำคัญกับชีวิตเราบ้าง. แม้มันจะไม่ได้ให้คำตอบที่แน่ชัด, ปรัชญาช่วยให้เราตั้งคำถามได้ถูก และการตั้งคำถามได้ถูกนี่แหละที่อาจนำเราไปสู่คำตอบที่ต้องการได้.
เมื่อได้เรียนปรัชญาและเห็นว่ามีประโยชน์, ผมก็ฉุกคิดว่า เหตุใดจึงไม่มีการเรียนการสอนวิชานี้ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา. ผมไม่เคยได้ยินคำว่าปรัชญามาก่อนเลยในชีวิต, กว่าจะรู้จักก็เข้ามหาวิทยาลัยเสียแล้ว, แถมยังคิดอีกด้วยว่า กว่าจะรู้จักวิชานี้ก็เกือบสายไปเสียแล้ว. หากรู้จักปรัชญาก่อนหน้านี้, บางทีชีวิตผมอาจจะไม่ต้องมาหลงทางและเป็นทุกข์อย่างที่เป็น. ผมจึงคิดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะให้นักเรียนไทยได้เรียนและรู้จักกับวิชานี้.
ปรัชญาไม่ควรถูกมองข้ามอีกต่อไปและควรได้รับการบรรจุลงในหลักสูตรมัธยมศึกษาในประเทศไทย.
ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาล, กอปรกับความสัมพันธ์กันระหว่างผู้คนในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป. ลักษณาการนี้เองทำให้ทักษะในการคิดวิเคราะห์และตั้งคำถามอย่างมีวิจารณญาณกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้. ปรัชญาจะเข้ามามีบทบาทในการเสริมสร้างสองทักษะดังกล่าว. ผมเชื่อว่าปรัชญา, ซึ่งหัวใจหลักคือกระบวนการโต้แย้งด้วยเหตุผลเพื่อแสวงหาคำตอบที่เป็นไปได้และทำความเข้าใจประเด็นต่างๆ อย่างลึกซึ้ง, จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักเรียนในปัจจุบัน.
ปรัชญาเชิญชวนให้นักเรียนตั้งคำถาม, โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสิ่งที่ผู้คนยึดถือหรือปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน. ปรัชญาเปิดโอกาสให้นักเรียนสงสัย, คิดข้อโต้แย้ง, และพิจารณาเหตุการณ์หนึ่ง ๆ ผ่านมุมมองที่หลากหลาย. ยกตัวอย่างเช่น, การลอยกระทง, ซึ่งการอ้างว่าเป็นประเพณีอันดีงามทำให้การลอยกระทงยังคงอยู่ต่อไปได้ การเรียนรปรัชญาจะชวนให้นักเรียนท้าทายความคิดนี้และตั้งคำถามต่อประเพณีนี้ว่า จริงหรือ สิ่งที่คนเราทำสืบต่อกันมาหรือปฏิบัติกันมาช้านานจำเป็นจะต้องเป็นสิ่งที่ดีและเหมาะสมเสมอไป. การเรียนปรัชญาจะช่วยตั้งคำถามและทำให้นักเรียนสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่าง ‘สิ่งที่เป็นอยู่’ กับ ‘สิ่งที่ควรหรืออาจจะเป็น’.
นอกจากนี้, การเรียนปรัชญาฝึกฝนให้นักเรียนคิดอย่างเป็นระบบระเบียบ. ซึ่งหัวใจในการเรียนปรัชญาคือการแลกเปลี่ยนและโต้แย้งกันบนฐานของเหตุผลและตรรกะ, นักเรียนจะต้องรู้จักเรียบเรียงความคิดของตัวเองอย่างเป็นลำดับและนำเสนอออกมาอย่างชัดเจนเป็นระบบ. ทักษะเหล่านี้ไม่ได้มีคุณค่าแต่เพียงในห้องเรียนเท่านั้น, แต่ยังเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันของนักเรียนซึ่งจะต้องข้องเกี่ยวและเผชิญกับปัญหาทางการเมือง, สังคมและจริยธรรมที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นไป.
ประโยชน์ประการสุดท้ายที่ผมขอหยิบยกมาชวนแลกเปลี่ยนว่าเหตุใดปรัชญาจึงเป็นวิชาที่จำเป็นสำหรับเด็กมัธยมศึกษาก็คือ การที่ปรัชญาช่วยยกระดับนั่งร้านทางสติปัญญา และทำให้ผู้เรียนเปิดกว้างทางความคิด. การเปิดกว้างทางความคิด – การตระหนักรู้ว่าอาจมีวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องหนึ่งๆ มากกว่าหนึ่งวิธี – ทำให้เกิดความรอบคอบทางปัญญาซึ่งทำให้ไม่ด่วนตัดสินสิ่งต่างๆ ก่อนที่จะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและมั่นใจเสียก่อน.
สิ่งนี้เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบันที่ความหลากหลายของผู้คน, ความคิดและทัศนคติกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน. การเรียนปรัชญาจะช่วยพานักเรียนขบคิดต่อได้ว่า ปัญหาจำนวนมากในชีวิตมักไม่มีคำตอบที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา และทำให้นักเรียนรู้จักพิจารณาปัญหาจากมุมมองที่แตกต่างกัน. ผู้เรียนจะ ‘ฟังเป็น’ และมองเห็นคุณค่าในการรับฟังผู้อื่นโดยไม่พิพากษาหรือตัดสินไปล่วงหน้า.
ท่านผู้อ่านสงสัยเหมือนผมหรือไม่ครับว่า วิชาที่มีประโยชน์เช่นนี้, วิชาที่ส่งเสริมให้คนรู้จักคิดและตั้งคำถาม, ทำให้คนรู้จักมองสิ่งต่างๆ อย่างรอบคอบรอบด้าน, วิชาที่ทำให้คน ‘คิดเป็น’ ‘ฟังเป็น’ และ ‘พูดเป็น’ เช่นนี้, ไฉนจึงหล่นหายไปจากการศึกษาไทย.
ผมเองก็ไม่แน่ใจ … ไม่แน่ใจว่า ผู้มีอำนาจจงใจทำให้วิชานี้หล่นหายไปหรือเปล่า?
Writer
กิตติศักดิ์ โถวสมบัติ
นักเขียน/นักแปล/ล่ามอิสระ เจ้าของเพจชวนคิด, ชวนตั้งคำถามและถ่ายทอดสรรพวิทยา The Wissensdurst.