Where the Crawdads Sing ในทุ่งน้ำแห่งความเป็นอื่น
Where the Crawdads Sing ในทุ่งน้ำแห่งความเป็นอื่น
- Where the Crawdads Sing เป็นภาพยนตร์แนว coming-of-age สืบสวนสอบสวนที่อิงจากนวนิยายชื่อเดียวกันของดีเลีย โอเวนส์ (Delia Owens)
- คยา คลาร์ก เติบโตโดยลำพังในพื้นที่ชุ่มน้ำโดดเดี่ยวห่างไกลจากผู้คนจนทำให้ชาวเมืองเห็นเธอเป็นคนนอก และสร้างข่าวลือมากมายเกี่ยวกับเธอ
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงแต่ถ่ายทอดวิถีชีวิตของคนที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ แต่ยังเปิดโปงธรรมชาติของมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคมที่เต็มไปด้วยอคติ การเกาะกลุ่ม กีดกัน และการเอาตัวรอด
*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์
หลายคนรู้จัก ดีเลีย โอเวนส์ ในฐานะนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นักสัตววิทยาผู้ร่วมเขียนหนังสือ Cry of Kalahari (1984) กับมาร์ก โอเวนส์ อดีตสามี อันเป็นบันทึกศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ป่าและประสบการณ์การอาศัยในทะเลทรายคาลาฮารีในประเทศบอตสวานากว่าเจ็ดปี ทว่าครั้งนี้งานเขียนของเธอที่ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หาใช่หนังสือสารคดีแต่เป็นนวนิยายเล่มแรกที่ใช้เวลาเขียนยาวนานไม่แพ้กัน
Where the Crawdads Sing หรือชื่อภาษาไทยว่า ปมรักในบึงลึก (สนพ.ยูนิคอร์น) นวนิยายเรื่องแรกของโอเวนส์ตีพิมพ์เมื่อปี 2018 และดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี 2022 โดยผู้กำกับโอลิเวีย นิวแมน
ภาพยนตร์ติดตามชีวิตอันโดดเดี่ยวของ คยา คลาร์ก ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงลมหายใจสุดท้าย ในพื้นที่ชุ่มน้ำห่างไกลชุมชนที่ไม่มีใครอยากอาศัยอยู่
เด็กหญิงตัวน้อยที่ถูกทิ้งไว้
ครอบครัวของเธอประกอบด้วยพ่อ แม่ และพี่น้องอีกสามคน แต่เพราะพ่อเอาแต่เมาหัวราน้ำทุกวันและทำร้ายร่างกายคนในครอบครัว ทุกคนจึงทยอยหนีออกจากบ้านไปทีละคน จนแม้แต่พ่อก็ทิ้งเธอไปจนไม่เหลือใคร
“แม่ไม่เคยกลับมาอีก คนอื่น ๆ ก็จากไปในลักษณะเดียวกัน”
และเช่นนั้น คยาวัยสิบขวบจึงต้องหาเงินเองด้วยการเก็บหอยแมลงภู่ไปขายให้ จั๊มพิน ชายชราผิวดำเจ้าของร้านขายเหยื่อตกปลาและน้ำมันเติมเรือในย่านคนผิวสีซึ่งภายหลังเขาและภรรยาดูแลคยาเหมือนเป็นลูกแท้ ๆ คงเพราะสงสารและเป็น “คนนอก” เหมือนกับเธอ
แม้หน่วยงานท้องถิ่นสนับสนุนเงินทุนให้เธอไปโรงเรียน คยาก็ฝืนไปได้เพียงวันเดียวเพราะถูกเพื่อนร่วมชั้นล้อเลียนและรังแก เธอเนื้อตัวมอมแมม ไม่มีเสื้อผ้าดี ๆ ใส่
เธอไม่รู้หนังสือ ได้เพียงเอาตัวรอดไปวัน ๆ ด้วยการหาปูหาปลา ปรุงยาด้วยสมุนไพรจนกระทั่งเธอพบกับเทต วอล์กเกอร์ ลูกชายเจ้าของเรือตกกุ้งซึ่งอายุมากกว่าเธอสี่ปี หลังเลิกเรียนเทตมาสอนหนังสือให้คยาอย่างสม่ำเสมอจนอ่านออกเขียนได้ แต่แล้วเทตก็ย้ายไปรัฐอื่นเพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัย คยาเฝ้ารอวันแล้ววันเล่าแต่เทตก็ไม่มีวี่แววว่าจะกลับมา เวลาล่วงไปสี่ปี เธอจึงตัดใจจากเขาแล้วทุ่มเทเวลาทำสมุดภาพสีน้ำบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในบริเวณหนองน้ำ ริมหาดทราย และบึงใกล้บ้านเธอไว้ โดยเธอเพียงอยากเก็บไว้อ่านเองเท่านั้น
เมื่อเรื่องราวดำเนินไปเราจะสังเกตเห็นรูปแบบหนึ่งที่เกิดซ้ำ นั่นคือไม่ว่าจะมีใครผ่านเข้ามาในชีวิตของคยา เขาก็จะจากไปในที่สุด เธอคือเด็กสาวที่ถูกครอบครัวทิ้งไว้ และภาครัฐไม่ได้มีความพยายามมากพอที่จะสนับสนุนเธอทั้งด้านความเป็นอยู่และการศึกษา ไม่พิจารณาว่าเงื่อนไขชีวิตของเธอเป็นอย่างไร จนกลายเป็นการช่วยเหลือที่เปล่าประโยชน์ ส่วนคนในชุมชนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรไปยุ่งกับเธอ มองว่าเธอเป็นเด็กสกปรก ไร้อารยะ ไม่รู้หนังสือ และแม้บางคนจะเห็นว่าเธอน่าสงสารแต่ก็ทำอะไรได้ไม่มากไปกว่าแบ่งปันเสื้อผ้าหรืออาหารให้
เปลี่ยนผ่านสู่วัยผู้ใหญ่
เธอได้พบกับเชส แอนดรูส์ หนุ่มหล่อคนดังประจำเมืองบาร์กลีโคฟซึ่งเข้าหาเธอเพราะความคึกคะนอง บวกกับได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับสาวทุ่งน้ำมานาน
ทั้งสองเที่ยวเล่นด้วยกันบ่อยครั้ง บ้างนั่งเล่นริมหาดทราย บ้างอยู่ริมหนองบึง และในที่สุดเชสก็ตกหลุมรักคยาอย่างจริงจัง เขาวางแผนจะแต่งงานกับเธอ วาดฝันถึงอนาคตร่วมกันมากมาย แต่แล้ววันหนึ่งเชสก็หลบหน้าคยา จนเธอรู้ในภายหลังจากข่าวหนังสือพิมพ์ว่าเขาแต่งงานกับเจ้าสาวที่พ่อแม่จัดหาให้ คยาไม่ข้องแวะกับเขาอีก
ไม่นานหลังจากนั้น เทตกลับมายังบาร์กลีโคฟหลังเรียนจบ เขามาขอโทษคยาและช่วยเธอประสานงานกับสำนักพิมพ์เพื่อตีพิมพ์สมุดภาพสีน้ำ ในตอนนั้น เทตทำงานเป็นนักชีววิทยาในสถาบันทดลองใหม่เอี่ยมในเมือง
ราวหนึ่งปีหลังจากเชสแต่งงาน คยาได้รับหนังสือของเธอ และไม่กี่เดือนหลังจากนั้น หนังสือของเธอก็วางจำหน่ายบนแผงหนังสือในรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา รายได้จากการจำหน่ายหนังสือทำให้คยามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
คดีฆากรรมในบาร์กลีโคฟ
เมืองแสนสงบอย่างบาร์กลีโคฟต้องตกอยู่ในความพรั่นพรึงในรอบหลายทศวรรษ เมื่อมีคนพบศพเชส แอนดรูส์ในป่าพรุใต้หอสังเกตการณ์ไฟป่า นายอำเภอพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ และพบเบาะแสเพียงอย่างเดียวคือเส้นใยขนแกะสีแดงบนเสื้อผ้าเชสซึ่งมาจากหมวกของคยา
ในปี ค.ศ.1970 หนึ่งปีหลังจากเหตุฆาตกรรม คยาจึงตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีสังหารเชส แอนดรูส์ และถูกกักตัวไว้เรือนจำสองสัปดาห์ก่อนขึ้นศาล
“ผมละอายใจที่จะบอกว่า เรารังเกียจกีดกันเธอเพราะคิดว่าเธอไม่เหมือนเรา ถึงตอนนี้ หน้าที่ตัดสินเด็กสาวขี้อายที่ถูกรังเกียจรังแกคนนี้คือภารกิจของท่าน แต่ท่านต้องตัดสินด้วยข้อเท็จจริงที่ถูกนำเสนอในศาล ไม่ใช่จากเสียงเล่าลือ”
คยามีพยานหลักฐานชัดเจนว่าในคืนเกิดเหตุเธอได้นั่งรสบัสออกนอกเมืองไปพบบรรณาธิการหนังสือของเธอที่เมืองใกล้เคียง และกลับมายังบาร์กลีโคฟในเช้าวันถัดมา ด้วยความสามารถของทนาย บวกกับคนในเมืองที่เปลี่ยนใจ คยาได้รับการปล่อยตัว เธอไม่เพียงพ้นจากข้อกล่าวหา แต่ชาวเมืองยอมรับเธอมากขึ้นในฐานะนักเขียนสาขาชีววิทยาผู้มีชื่อเสียง
เทตสารภาพรักกับคยาอีกครั้ง ทั้งคู่ตัดสินใจย้ายไปอยู่ด้วยกัน และทำการต่อเติมบ้านคยาให้มีห้องปฏิบัติการเพื่อทำงานร่วมกัน ทั้งสองไม่มีทายาทแต่ชีวิตก็สงบสุขดี จนกระทั่งวันหนึ่งเธอเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลว หลังดำเนินพิธีศพตามธรรมเนียมศาสนา เทตจึงกลับไปยังห้องของคยาในบ้าน ที่นั่น เขาพบกล่องเหล็กบรรจุกระดาษจำนวนมาก มีกลอนเขียนอยู่ บทกลอนเหล่านั้นคยาแอบส่งไปตีพิมพ์ในนิตยสารท้องถิ่นตลอดหลายสิบปี และใต้กองกระดาษ ในสมุดบันทึก เทตยังพบจี้ทำจากเปลือกหอยและสร้อยหนัง แม่ของเชสยืนยันว่าเขาสวมติดตัวตลอดจนกระทั่งมันหายไปในคืนที่เขาเสียชีวิต
หนังจบลงด้วยใบหน้าพรั่นพรึงของเทต ส่วน “ความจริง” เป็นอย่างไรให้ผู้ชมคิดต่อเอง
อ้างอิง
https://www.bookbrowse.com/author_interviews/full/index.cfm/author_number/3155/delia-owens
Writer
ศิริกมล ตาน้อย
อยากเกิดใหม่เป็นแมงกะพรุน
illustrator
ลักษิกา บรรพพงศ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรีส์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นทาสแมว