เป็น “เพื่อนรัก” เมื่อเขาอกหัก คืนดีกันปั๊บเรากลายเป็น “หมา”

เป็น “เพื่อนรัก” เมื่อเขาอกหัก คืนดีกันปั๊บเรากลายเป็น “หมา”

เคยเป็นหมาในความสัมพันธ์ของเพื่อนจนเก็บไปนอยด์กันไหม?

‘หมา’ ในที่นี้ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง เพียงแต่เป็นคำเปรียบเปรยบุคคลที่สามในความสัมพันธ์ของคู่รักสักคู่ ซึ่งส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปแบบ ‘เพื่อน’ สายซัพพอร์ต คอยเคียงข้างเมื่อเพื่อนทะเลาะกับแฟน แต่เมื่อทั้งสองคืนดีกัน หลายคนอาจมองว่าการออกโรงปกป้องไปก่อนหน้าเป็นความแห้วที่เสียเปล่า เหมือนถูกแจกอาหารหมาให้กิน แต่ความเป็นห่วงที่สื่อสารออกไปจะเสียเปล่าจริงเหรอ? ชวนเรียนรู้อีกด้านของการเป็นหมา ที่สามารถเฮลตี้ และไม่แย่ไปเสียหมด ผ่านมุมมองของ ‘ตั้ง’ เพื่อนที่เคยเป็นหมาของเรา  ‘มุก’ เพื่อนที่เราเป็นหมาของมัน และ ‘เรา’ ซึ่งเคยเป็นทั้งหมา และคนที่ทำให้เพื่อนเป็นหมา

เพราะความหวังดีที่เรามีให้เพื่อน อาจกำลังทำงานของมันอยู่เสมอ และกำลังสะท้อนปัญหาในความสัมพันธ์ให้เพื่อนเห็น (แค่บางครั้งอาจไม่ได้รวดเร็วทันใจเราเฉยๆ) และหากมองมันกว้างๆ เรื่องราวของเพื่อนอาจกำลังสอนให้เราเรียนรู้การเป็นผู้ฟังที่ดีมากกว่าที่เราเคยคิดเองว่าดีอยู่แล้วก็ได้

โฮ่งที่ 1 : หมารักเจ้าของ และเจ้าของรักหมา

ความน้อยใจที่เกิดขึ้นในสถานะหมากินแห้วมันห้ามยาก และถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากเรียกตัวเองว่าหมาในความสัมพันธ์ของใคร เราจึงไม่ห้ามให้รู้สึกแย่ เพราะด้วยความที่เราได้เห็นทั้งภาพที่เพื่อนร้องไห้ กังวล และเป็นทุกข์กับความสัมพันธ์ ตัดสลับกับภาพที่เพื่อนยังให้ความสลักสำคัญกับแฟน ผู้ที่เรารับรู้นิสัยบางอย่างอันน่าโมโหของเขามาบ้างแล้ว อาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่เข้าใจเพื่อนตัวดีคนนี้เท่าไหร่ ทว่าหากเพื่อนคนนั้นเป็นเพื่อนที่เรารักจริงๆ เราอาจจะต้องเรียนรู้การเป็นหมาให้เฮลตี้มากกว่าท็อกซิก และพึงระลึกไว้ว่า การที่เพื่อนเลือกมาปรึกษาเรา นั่นแปลว่าเราเป็นคนที่เพื่อนไว้ใจจะแชร์ความเศร้าให้ฟัง

“เรามีเพื่อนที่สนิทใจจริงๆ และสบายใจที่จะคุยด้วยแบบนับนิ้วมือข้างเดียวได้เลย เวลาเราเลือกทักหาเพื่อนเพราะอยากระบายความในใจสักอย่าง เลยต้องเป็นเพื่อนที่ตัวเราสบายใจที่จะพูด และเราก็ต้องคิดว่า เขาจะตั้งใจที่ฟังเราอย่างไม่ตัดสิน” เป็นครั้งแรกที่เราถามมุกตรงๆ ถึงเหตุผลที่มอบหมายให้เราเป็นที่ปรึกษาด้านความรัก

“สมมติเรามีปัญหากับแฟน หลากหลายความรู้สึกมันจะตีกันในหัว ทำให้เราทำตัวไม่ถูก เพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่คิดมันถูกหรือเปล่า ดูงี่เง่าเกินไปไหม เลยอยากให้เพื่อนลองฟังดู และแทบทุกครั้งเพื่อนจะมีคำแนะนำดีๆ ที่ทำให้เราใจเย็นลง และได้ตกตะกอนบางอย่าง” 

พอฟังเธอพูดแบบนี้ หมาอย่างเราก็ได้ย้อนถามตัวเองถึงแรกเริ่มว่าทำไมเราถึงอยากจะให้คำปรึกษาเพื่อนเรื่องความรัก แถมทุกครั้งจะตั้งใจให้คำปรึกษา เพื่อให้เพื่อนหาทางออกเจอ ถ้าเพื่อนอยู่ใน toxic relationship เราจะคอยบอกว่าการรักตัวเองนั้นสำคัญกว่าการรักเขา และการจะรักใคร อาจต้องรักให้ถูกคน ไม่ทำให้ชีวิตที่เป็นอยู่ทุกข์กว่าเดิม ทั้งหมดที่เราคอยปลอบประโลมในวันที่เพื่อนหาทางออกไม่เจอล้วนเกิดจาก ‘ความรัก’ ทั้งนั้น และทุกครั้งที่เพื่อนเลือกจะทักมาปรึกษา นั่นก็เกิดจากความรักเช่นกัน

ที่เรากล้าพูดว่าเกิดจากความรัก เพราะตอนเราทักไปหาเพื่อนเพื่อขอคำปรึกษา เราหรือหลายๆ คนก็คงเลือกเพื่อนที่เรารัก และไว้ใจก่อนเป็นอันดับแรกเช่นกัน เนื่องจากลึกๆ เรารู้ว่าเพื่อนคนนี้จะอยู่ข้างเรา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์

โฮ่งที่ 2 : เพราะเป็นห่วงจึงรู้สึกแย่ และรู้สึกหมา

เราเป็นคนหนึ่งที่เคยอยู่ใน toxic relationship ไม่อยากไปต่อ แต่เดินออกทันทีก็ไม่ได้ สิ่งที่ทำได้มีเพียงการสนทนากับเพื่อนในยามยากที่ทำให้รู้สึกดีขึ้น แม้เราอาจจะทำตาม หรือไม่ทำตามที่เพื่อนบอก เพราะสุดท้ายเรื่องของความสัมพันธ์ มันอาศัยเวลาในการคิดไตร่ตรอง แต่สิ่งหนึ่งที่รู้สึก คือการมีบุคคลที่ 3 มาคอยฟัง คอยแลกเปลี่ยนความคิด มันไม่เหงา ไม่โดดเดี่ยว ไม่อ้างว้าง

กรณีไม่ทำตาม ไม่ใช่ว่าความเป็นห่วงของเพื่อน เราจะไม่เก็บเอามาใส่สมองเลยสักนิดนะ แต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว เราอยากให้การตัดสินใจว่าจะไปต่อ หรือพอแค่นี้ มันเกิดจากความรู้สึกข้างในของเราจริงๆ เพราะเมื่อเราหลุดพ้นได้แล้ว เราจะรู้สึกไม่ติดค้างอะไรได้มากกว่าการเลือกทำตามเพื่อน เพราะกลัวเพื่อนโกรธ แม้ข้างในจะยังไม่อยากทำแบบนั้น

“สมัยก่อนเป็นนะ รู้สึกว่าตัวเองเป็นหมาเวลาที่เราให้คำปรึกษาเพื่อนแล้วเพื่อนกลับไปคืนดีกับแฟน มันรู้สึกแย่เพราะเพื่อนออกมาไม่ได้ ยังพาตัวเองไปอยู่ใน toxic relationship เหมือนที่ผ่านมาคำแนะนำ และความหวังดีของเราไม่มีความหมาย ยิ่งไปกว่านั้น จะรู้สึกแย่มาก หากเป็นกรณีที่แฟนทำร้ายร่างกายเพื่อนเรา แต่เพื่อนออกมาจากตรงนั้นไม่ได้สักที คือเราเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยและความรู้สึกของเพื่อนจนเรารู้สึกแย่ตามไปด้วย”

ตั้งบอกถึงความรู้สึกข้างในกับเรา และย้ำว่า “หลายคนก่อนมาปรึกษามีธงในใจอยู่แล้ว ซึ่งเราอาจเป็นหนึ่งในชอยส์การตัดสินใจ พอโตขึ้นเรารู้สึกว่าไม่มีใครมีสิทธิ์ตัดสินชีวิตคนอื่นได้ และยังเชื่อว่าเวลาใครมาปรึกษา เขาจะไม่ตัดคำแนะนำของเราทิ้งไปหมด แน่นอนว่าต้องเห็นความหวังดีของเรา ไม่งั้นคงไม่เลือกมาปรึกษาเรา แสดงว่าตัวเขาเองก็อาจจะหนักใจเหมือนกันที่ยังตัดความสัมพันธ์ไม่ได้ แล้ววนลูปอยู่กับความทุกข์”

ในฐานะคนที่เคยทำให้ตั้งเป็นหมา เราฟังตั้งพูดแล้วรู้สึกดีเหลือเกินที่มีเพื่อนคนนี้ในชีวิต และสารภาพว่าสิ่งที่ตั้งพูดมานั้นถูกทุกข้อ เพราะในแง่มุมส่วนตัว เราได้ข้อคิดจากสิ่งที่ตั้งให้คำปรึกษาเสมอ แต่อย่างที่บอกว่า กว่าจะทำความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของตัวเอง มันอาจต้องผ่านกระบวนการคิดหน้า คิดหลัง เพื่อให้การตัดสินใจนั้นมาจากใจเรามากที่สุด ตั้งเสริมว่าจะมีกรณีเดียวสำหรับการเป็นหมาเท่านั้นที่จะโกรธเพื่อนจนสามารถตัดเพื่อนได้เลยคือ

“เราจะโกรธมากถ้าอีกฝ่ายมองความหวังดีของเราเป็นเรื่องที่แย่ หรือไม่พอใจที่เราพูดถึงพฤติกรรมของแฟนเขาที่มันไม่ดี ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่เขาทนฟังไม่ได้ เราก็คงไม่อยู่ให้คำปรึกษา แล้วแต่มึงเลย (หัวเราะ)” ก็จริงของตั้ง เพราะสุดท้าย แม้จะเป็นหมา ก็ไม่ควรเป็นหมาที่รองรับอารมณ์ของเพื่อนได้ตลอด

ถามว่ารับรู้ความเป็นห่วงของเพื่อนเสมอไหม เวลาไปขอคำปรึกษา เรารับรู้ถึงมันได้อย่างเต็มที่ และเมื่อรับรู้ถึงมัน เราจึงมีความรู้สึกผิดต่อเพื่อนขึ้นมา เพราะรู้ดีว่ามันเป็นห่วงเราเหลือเกิน เหมือนกับที่เราตอนเป็นหมาให้เพื่อน เราก็รู้สึกแย่เพราะเป็นห่วงเพื่อนจริงๆ แต่ถามว่าจะไปบังคับเพื่อนให้ทำตามเราได้ไหม? คงไม่มีทาง เพราะเราอยู่ในบทบาทคนให้คำปรึกษา ไม่ใช่คนออกคำสั่ง

“เราไม่อยากให้เพื่อนรู้สึกแย่ที่เป็นห่วงเราแล้วเราไม่สนใจ ตอนเราคบกับแฟนเก่า วันหนึ่งเราเจอเหตุการณ์ที่แฟนเก่าทำกับเราแบบโคตรไม่น่าให้อภัย ก็มีเพื่อนเนี่ยแหละที่คอยปลอบ เราก็คิดว่าคงไม่ยุ่งกับมันอีกแล้ว ทำกันซะขนาดนี้ แต่ท้ายที่สุด เราก็กลับไป เพียงแค่ว่ามันมาพูดว่าจะไม่ทำแบบนั้นอีกแล้ว ใครอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะแอบด่าในใจว่าโคตรควาย แต่คำพูดของเพื่อนมันยังอยู่ในหัวเราเสมอ เราได้ตกตะกอนด้วยตัวเองหลายๆ อย่างจากการกลับไปคบ และสิ่งที่เราค้นพบว่าดีกับตัวเองในตอนจบ คือออกมาจากความสัมพันธ์นั้น แบบที่ไม่มีใครมาบังคับ แต่เกิดจากความต้องการของเรา” มุก เพื่อนที่ทำให้เราเป็นหมากล่าว

โฮ่งที่ 3 : หมาผู้ควรเป็นคนฟังที่ดี และคนเลี้ยงหมาผู้ควรเป็นคนพูดที่คิดตาม

“มุก ถามตรงๆ ทำไมตอนนั้นถึงอยู่ต่อใน toxic relationship?” เราถาม

“แค่ทำตามใจตัวเองมากเกินกว่าเหตุผล แต่ถ้ามันขึ้นชื่อว่าท็อกซิก ยังไงมันก็จะท็อกซิก และทำให้เสียใจอีกรอบแน่ๆ เรื่องนั้นเรารู้ดี พอออกมาได้เหมือนมีชีวิตใหม่อีกครั้งเลย ตอนนี้พอมองย้อนกลับไปเลยได้บทเรียนจากเหตุการณ์นั้นเยอะมาก แต่ที่ซึ้งใจที่สุดคือเพื่อน ที่แม้จะเอือมระอากับการตัดสินใจของเรา แต่สุดท้ายเพื่อนก็ยังมีความเป็นห่วงให้เรา อยู่ข้างๆ เรา เราเลยจะรักเพื่อนให้มากๆ ให้สมกับความเป็นห่วงที่เขามีให้”

“แม้สิ่งที่เพื่อนพูดมันจะไม่ใช่ความต้องการของเราจริงๆ แต่ก็ควรฟังแล้วลองคิดตามสักหน่อยว่าที่เพื่อนพูดมันจริงไหม ไม่ใช่ผลดีกับใคร แต่มันดีสำหรับตัวเราเองนั่นแหละ เราไม่จำเป็นต้องทำตามเพื่อนบอกทุกอย่าง แค่เราเปิดใจฟังก็พอ”

การเป็นผู้พูดที่คิดตามเป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากมุก เพราะอย่างน้อยการไม่ปิดหู ปิดตา ถึงความเป็นห่วงที่เพื่อนมีให้เรา จะทำให้เรามีสติไตร่ตรองเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าเดิม บางครั้งการออกจากความสัมพันธ์แย่ๆ อาจเริ่มจากการเปิดใจที่จะมองเห็นกุญแจไขประตูบานนั้นก่อนก็ได้ แม้จะยังไม่ได้ลงมือไขมัน แต่คุณจะไม่มืดแปดด้านเสียทีเดียว

“ตั้ง ถามตรงๆ อะไรที่ทำให้ยอมเป็นหมา เพื่ออยู่ข้างเพื่อน?” เราถาม

“เพราะรักไง อยากให้เขาได้สิ่งที่ดีที่สุดในความสัมพันธ์ ไม่อยากให้เขามองว่าตัวเองว่าผิดหรือโง่ที่ยอมอยู่ในความสัมพันธ์แย่ๆ จนเขาไม่กล้าปรึกษาเรา หรือใครอีกเลย ซึ่งมันจะแย่กว่ามากเลยนะ ถ้าเพื่อนเครียดหรือมีปัญหาแต่ไม่สามารถบอกใครได้ เพราะกลัวทำใครเป็นหมา ขนาดเราเวลามีปัญหายังอยากปรึกษาเพื่อน เพื่อนก็เหมือนกัน เราเลยพยายามพร้อมฟังเพื่อน ถึงเพื่อนจะอยากให้เรานั่งฟังเฉยๆ เราก็จะเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังแบบไม่ตัดสิน”

นิยามการเป็นผู้ฟังที่ดีของแต่ละคนนั้นต่างกันมาก สำหรับเรา การเป็นผู้ฟังที่ดีคือการไม่เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง หรือคิดว่าเรารู้ดีไปกว่าเพื่อน เพราะจริงๆ แล้ว เราไม่มีทางเข้าใจความรู้สึกอันซับซ้อนของเพื่อนได้ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ เราทำได้เพียงฟังและคิดตาม ซึ่งการนั่งฟังเฉยๆ สำหรับเพื่อนบางคนอาจจะรู้สึกดีมากแล้วก็ได้ที่มีคนนั่งฟังความอึดอัดเป็นหมื่นล้านคำนี้ แต่สำหรับบางคนที่ไม่ได้อยากให้นั่งฟังเฉยๆ และถามถึงความคิดเห็นของเรา สิ่งที่เราทำได้แบบกลางๆ คือ

“เราไม่ควรคิดถึงแต่ความรู้สึกของตัวเองที่อยากให้เพื่อนมาทำตามเรา เราทำได้เพียงพยายามมองหลายมุมว่ามันเกิดจากอะไรได้บ้าง เช่น บอกว่าแฟนเพื่อนผิดยังไง และเพื่อนเราผิดยังไง บวกกับว่าเราคิดเห็นยังไงกับเรื่องนี้ แต่ก็ควรเสริมไปตลอดว่าไม่ต้องเชื่อเรามากก็ได้ เพราะคนที่รู้นิสัยของฝ่ายนั้นดีที่สุดก็คือเพื่อนเราเอง และการจะใส่อารมณ์ร่วมเวลาเห็นเพื่อนโดนกระทำแย่ๆ มันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย เพียงแต่ควรคิดไว้เสมอว่าเราไม่มีสิทธิ์บังคับความรู้สึกเพื่อน ส่วนถ้าเป็นกรณีเพื่อนเราผิด ก็ควรจะบอก และเตือนถึงความผิดนั้น ไม่ควรเข้าข้างเพื่อนตลอดเหมือนกัน” ตั้งบอก และเรารู้สึกดีใจมากที่ได้ฟัง

ในฐานะเพื่อนซึ่งเป็นหมาในความสัมพันธ์ เราจะจำไว้เสมอว่า ไม่ว่าเราจะห่วงเพื่อนมากแค่ไหน เราก็ควรให้โอกาสเพื่อนได้ตัดสินใจสิ่งที่เพื่อนอยากจะทำ มันอาจจะเร็ว อาจจะช้า ถูกใจเรา หรือไม่ถูกใจเรา นั่นคือ ‘สิทธิ์’ ในความสัมพันธ์ของเพื่อน ที่เราได้ทำหน้าที่ช่วยสะท้อนความสัมพันธ์ของเขาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในความสัมพันธ์ เป็นหน้าที่ของเพื่อนที่จะต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง เราทำได้แค่รักและห่วงใยเท่านั้น

ในฐานะเพื่อนซึ่งเคยทำให้เพื่อนเป็นหมาในความสัมพันธ์ เราจะจำไว้เสมอว่า ทุกครั้งที่เพื่อนให้คำปรึกษา เราควรเก็บมาคิด และไม่ควรโยนความหวังดีนั้นทิ้งไป เพราะตราบใดที่เรามีปัญหาแล้วนึกถึงหน้าเพื่อนคนนี้ขึ้นมา นั่นแปลว่าเพื่อนคนนี้เป็นคนพิเศษ ที่เราควรรักษาเขาไว้ให้ดี แต่สุดท้ายแล้ว ฟังได้ เก็บมาคิดต่อได้ แต่อย่าเอามากดดันตัวเองจนลืมความต้องการในใจจริงๆ บางครั้งเราก็ต้องลองเรียนรู้เอง ถึงจะรู้ว่าปลายทางความสัมพันธ์จะจบลงแบบไหน สู้ๆ นะทุกคน

เป็นหมาอาจไม่แย่ อยู่ที่เราจะมองมันแบบไหน มองให้ดีก็ทำได้ มองให้แย่ก็ทำได้ แต่ท้ายที่สุด หากเลือกจะอยู่กับบทบาทการเป็นหมาแล้ว การอยู่อย่างไม่กระทบใจเรามากนัก คงเป็นการลดความคาดหวังบางอย่างลง และโฟกัสที่เพื่อนตรงหน้า ว่าเขายังเป็นเพื่อนที่เรารัก และยังห่วงอยู่ไหม ถ้าคำตอบคือใช่ การอยู่ข้างๆ เพื่อนในทุกจังหวะชีวิต ก็ถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากๆ ที่ได้ทำ เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนที่อยู่ในความสัมพันธ์โฮ่งๆ นี้นะคะ 

Writer
Avatar photo
พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

illustrator
Avatar photo
ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์

ชอบกินลาเต้เย็น

Related Posts

Related Posts