ปลาวาฬไม่ไปทำงาน “งานมาก่อน ตัวเองไว้ทีหลัง” WFH ไม่ได้แปลว่าทำงานตลอดกาลและตลอดไป สื่อสารเพื่อดูแลใจจึงสำคัญ
ปลาวาฬไม่ไปทำงาน “งานมาก่อน ตัวเองไว้ทีหลัง” WFH ไม่ได้แปลว่าทำงานตลอดกาลและตลอดไป สื่อสารเพื่อดูแลใจจึงสำคัญ
- เมื่อบ้านกลายเป็นที่ทำงาน งานถูกยกเป็น priority เเรกๆ ของชีวิตทำให้ชั่วโมงการทำงานขยายขึ้นเเละกระทบต่อตารางชีวิตในเเต่ละวัน
- หลายครั้ง ‘เราทำงานจนลืมเวลา’ เเต่การพูดคุย ถาม เเละสำรวจตัวเอง รวมถึงการเเชร์ความรู้สึกให้คนอื่นฟังก็สำคัญไม่เเพ้งาน
- คุยกับปลาวาฬไม่ไปทำงานที่บอกว่า จงหมั่นหยอดเหรียญความสุขจากเรื่องเล็กน้อยในชีวิต เพราะถึงงานจะมาก่อน เเต่ตัวเราก็ควรมีความสุขไปพร้อมกับงานด้วยเช่นกัน
ถ้าไม่ทำงานได้ไหม?
เสียงในใจของมนุษย์เงินเดือนที่มักจะเข้ามาในความคิดหลังผ่านมรสุมกองงานเเละโปรเจกต์ที่ไม่รู้จะจบลงเมื่อไร
“ถ้าไม่ไปทำงานก็ไม่รู้จะทำอะไร สุดท้ายก็ทำงานอยู่ดี เเต่อยากให้เปลี่ยนเป็นถามว่า งานให้อะไรกับเรา”
ความเห็นของ ‘อั้น’ สิทธิศักดิ์ กลิ่นเจริญกุล เเอดมินเพจปลาวาฬไม่ไปทำงาน มองว่า ไม่อยากให้รู้สึกว่ากำลังทำงาน เเต่กำลังเล่นเกมที่ต้องผ่านด่านเเละสะสมทักษะจนค้นพบ
ในสถานการณ์ Work From Home บ้านกลายเป็นที่ทำงาน เจอเพื่อนร่วมงานน้อยลง ความสนุกในชีวิตหายไป จนเริ่มหมดไฟในการทำงาน ขณะที่ชิ้นงานยังถูกเรียกร้องในคุณภาพและปริมาณเท่าเดิม หลายแห่งเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ
เเอดมินเพจปลาวาฬไม่ไปทำงาน คิดว่า การสื่อสารเเละให้รางวัลกับตัวเองบ้าง จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น
เพราะการพูดคุย คือ การส่องกระจกเพื่อสำรวจความรู้สึกในใจจนนำไปสู่การเข้าใจตัวเอง รวมถึงเเชร์อารมณ์ตอนนั้นให้คนอื่นฟังอาจช่วยให้มนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งตอบโจทย์หลักในชีวิตได้ว่า ต้องการอะไร
วงจรชีวิตมนุษย์เงินเดือน
ชีวิตมนุษย์เงินเดือนสัมพันธ์กับเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน เงินเดือน เเละเเพชชันในตัวเอง
เเอดมินเพจปลาวาฬไม่ไปทำงาน บอกว่า ชีวิตคนทำงานคือวงจรที่ไม่จบสิ้น ตั้งเเต่การทำงานกับเจ้านาย ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน เงินเดือน ความก้าวหน้า ความสับสนระหว่างการมองหาที่ทำงานใหม่ การไม่ถูกยอมรับ ไปจนถึงโชคลาภ (เรื่องหวย)
เเต่สิ่งที่ปลาวาฬตัวนี้อยากบอก คือ “ถ้าเราอยากจะหนีออกจากวงจรนี้ เราก็ต้องพัฒนาตัวเองให้เก่งเเละโตขึ้น”
ในมุมมองของพนักงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่เเฝงตัวเป็นปลาวาฬ เล่าว่า ปลาวาฬคือตัวเเทนของคนทำงานที่เจอเรื่องท้าทายในชีวิต ทั้งการสมัครงาน การลาออก เเละการวางเเผนอนาคต
“ตอนเราเริ่มหางาน จะเขียนใบสมัครอย่างไร เลือกบริษัทไหน เงินเดือนควรเป็นเท่าไร เขาจะเลือกเราเพราะอะไร ต้องตอบคำถามแบบไหนให้ได้งาน พอเข้าไปได้แล้วก็ต้องปรับตัวกับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้า ตั้งเป้าหมาย เงินเดือนจะขึ้นเยอะไหม โบนัสเป็นอย่างไร รวมถึงเริ่มวางแผนอนาคตตัวเอง”
ขณะเดียวกัน หลายคนเคยทำงานเกินหน้าที่ของตัวเอง เเล้วตั้งคำถามว่า “ทำงานขนาดนี้ต้องขึ้นเงินเดือนเเล้วไหม”
สำหรับมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งคงตอบไม่ได้ว่างานไหนที่ทำเเล้วคุ้มเงินเดือน หรือทำงานคุ้มเงินเดือนไหม เเต่เเอดมินเพจปลาวาฬไม่ไปทำงานอยากชวนตั้งคำถามต่อว่า งานที่ทำอยู่เราใช้ความสามารถของตัวเองมากเเค่ไหนเเละตอบโจทย์เป้าหมายในชีวิตหรือเปล่า
“บางครั้งเราทำงานเยอะกว่าหน้าที่ตัวเอง ผมคงตอบไม่ได้ว่าเงินเดือน 15,000 บาทหรือ 20,000 บาทต้องทำงานกี่ชิ้น ผมมองว่างานที่คุ้มเงินเดือน คือ งานที่เราได้ใช้ความเก่งความสามารถ มีโอกาสเรียนรู้เเละต่อยอดงาน เมื่อเราลองทำเเล้วค่อยคิดต่อว่างานที่ทำอยู่ตอบโจทย์เราไหม ถ้าไม่ก็ลองสมัครงานที่อื่นดู โดยไม่ต้องตั้งคำถามว่าเงินเดือนน้อยหรือมากไป เเต่ถามว่าตัวเองทำได้ดีเเล้วหรือยัง”
เลิกทำงานไม่ได้ เเต่เลือกที่จะผ่อนคลายได้
Work From Home ทำให้หลายคนรู้สึกเหมือนทำงานตลอดเวลา เเละ ‘งาน’ ถูกยกเป็น priority เเรกๆ ของชีวิต เพราะเราสามารถเริ่มงานตอน 8 โมงเช้า เเละเลิกงานตอนเที่ยงคืนได้ เเล้วใช้เวลาพักผ่อนเพียง 30 นาทีก่อนเข้านอนเเทนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
หลายคนจึงบอกว่า “ทำงานที่บ้านหนักกว่าทำงานที่ออฟฟิศเสียอีก”
คงเป็นเพราะไม่ต้องตื่นเช้า ฝ่ารถติด เพื่อตอกบัตรเข้างานให้ทันเวลา เเละไม่ต้องทักทายเพื่อนร่วมงาน ทำให้มีเวลาโฟกัสกับการทำงานมากขึ้น เเละเป็นไปได้ว่า “เราจะทำงานจนลืมเวลา”
เเอดมินเพจปลาวาฬไม่ไปทำงาน คิดว่า เมื่อเราหลุดเข้าไปอยู่ในโลกของงานในสภาพเเวดล้อมที่เป็นบ้านส่งผลให้ชั่วโมงการทำงานขยายออกไปเเละกระทบต่อตารางชีวิตในเเต่ละวัน
อีกทั้งการอนุญาตให้ตัวเองผ่อนคลายก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่ต่างจากงาน
“ผมเลือกที่จะกำหนดตารางชีวิต เข้า-ออกงานเหมือนไปทำงานที่ออฟฟิศ เเต่บางครั้งเราก็เครียดเพราะทำงานมากเกินไป การลุกออกจากกองงาน ไปเข้าห้องน้ำ ชงกาเเฟ เปิดโทรทัศน์ หรืออาจจะดู netflix ไปด้วยทำงานไปด้วยก็ได้ จะช่วยให้เรามีช่วงเบรกไม่อยู่กับงานอย่างเดียว”
“ผมคิดว่า ประโยชน์ของช่วง Work From Home คือเราเลือกสิ่งที่เราผ่อนคลายระหว่างทำงานเเละใกล้ชิดกับชีวิตส่วนตัว เราจะเเต่งตัวอย่างไรก็ได้ จะเล่นกับหมาเเมวที่บ้านก็ได้ เเล้วรู้สึกว่าเวลาเป็นของเรา”
ถึงเเม้ว่าชาวมนุษย์เงินเดือนจะต้องทำงานที่บ้านเหมือนเป็นออฟฟิศที่ 2 เเต่เเอดมินเพจวาฬไม่ไปทำงานคิดว่า นิยามคำว่า ‘ออฟฟิศหรือที่ทำงาน’ จะเปลี่ยนไป
“ผมคิดว่า เราจะมีพื้นที่เเละใช้ชีวิตส่วนตัวในเวลางานได้ โดยไม่ต้องสนใจว่าทำงานที่ไหน เวลาไหน แต่ส่งงานได้ ตอนนี้บางออฟฟิศเริ่มมองเเล้วว่า ที่ทำงานจะเป็นที่คุยเเละประชุมงานกัน โดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ 5 วัน เเต่ทำงานที่ไหนก็ได้แต่ได้งาน”
เมื่อต้องทำงานต่างสถานที่ การสื่อสารกับตัวเองเเละคนรอบข้าง ทั้งเรื่องงานเเละเรื่องทั่วไป จะช่วยให้รับรู้ว่าเราไม่ได้ทำงานคนเดียว เเต่ยังมีคนอื่นที่คอยเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขไปพร้อมกันในวันทำงาน
หยอดกระปุกความสุขจากเรื่องเล็กน้อยในชีวิต
การทำงานที่บ้านช่วยเรื่องความสะดวก ประหยัดค่าเดินทาง เเละมีพื้นที่ส่วนตัว เเต่อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน
บางคนอาจจะรู้สึกเหงาเเละไม่สนุกเมื่อทำงานคนเดียวจนหมดไฟในการทำงาน
เเอดมินเพจปลาวาฬไม่ไปทำงาน เชื่อว่า หากเราสื่อสารกับตัวเองเเละคนรอบตัวเเล้ว จะทำให้เรามีความสุขเเละรับรู้อารมณ์ของตัวเองมากขึ้น
“จริงๆ ทุกวันนี้เราสื่อสารตลอดเวลา การสื่อสารไม่ได้มีเเค่การพูด เเต่รวมถึงการใช้สีหน้า แววตา ท่าทางการแสดงอารมณ์หรือการขังตัวอยู่ในห้องทั้งวันก็เป็นการสื่อสาร ผมให้ความสำคัญกับการสื่อสารมากเพราะสิ่งนี้จะบอกความคิดเเละอารมณ์ เพื่อเราจะได้รับมือกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้”
“รวมถึงทุกการสื่อสารคนอื่นรับรู้ได้ เช่น เราไม่ยิ้มเลยคนอื่นก็มองเห็น ถามตัวเองบ้างว่า เราไม่ยิ้มเพราะอะไร หมดไฟ ไม่มีเเพชชัน หรือมีปัญหาอะไรไหม ร่างกายเราประท้วงหรือเปล่านั่งทำงาน 10 ชั่วโมงทุกวัน ไม่ลุกไปไหน หรือการป่วย เป็นสิว ทั้งหมดนี้คือร่างกายกำลังสื่อสารทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอย่าลืมหันกลับมามองตัวเองด้วย”
วิธีการที่วาฬไม่ไปทำงานใช้คือ การสื่อสารเเละสังเกตตัวเอง โดยมองหาสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันที่จะช่วยให้เขามีความสุข
“บางทีเราละเลยตัวเองไป เพราะเราทำงานเพื่อเงินเดือนเเละ serve คนอื่นๆ เเต่เราต้องถามตัวเองว่า เรายังมีความสุขที่จะทำอยู่หรือเปล่า สิ่งที่ผมทำเสมอ คือ การมองหาเรื่องดีๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น วันนี้คนนี้พูดเรื่องนี้ดีมากเลย เข้าประชุมเเล้วพี่คนนี้พูดดีมาก ได้กินข้าวร้านนี้ มองเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต เหมือนหยอดกระปุกออมสินที่เราค่อยๆ เติมสิ่งเหล่านี้ทุกวัน ทำให้เรามีความสุข”
เเต่ในฐานะฝ่ายทรัพยากรบุคคลมองว่า การเชื่อมโยงกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงานก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะดูเเลใจกันในช่วงนี้ได้
“รูปเเบบการทำงานจะมีการจัด session ในการคุยกับหัวหน้างาน เล่าให้ฟังว่าคุยกับหัวหน้าอะไรที่ทำได้ดี อยากให้ช่วยเหลืออะไร บ่นให้เขาฟังก็ได้ ส่วนคนในครอบครัวมีเรื่องสนุกๆ ก็เล่าให้เขาฟัง เพราะอย่างน้อยเราพูดคุยเเละระบายความไม่สบายใจออกไปได้”
รวมถึงให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ กับตัวเองบ้าง ไม่จำเป็นต้องใหญ่โตหรือราคาเเพง เเต่ของชิ้นนั้นทำให้เรารู้สึกดี
เเอดมินเพจปลาวาฬทิ้งท้ายด้วยเคล็ดลับฉบับวาฬว่า “อย่าลืมสำรวจสิ่งที่อยู่ในเช็กลิสต์เมื่อตอนต้นปี ที่คุณอยากทำได้ทำหมดเเล้วหรือยัง สิ่งที่อยากได้ตอนนั้น ตอนนี้ยังอยากได้อยู่มั้ย”
ถึงงานจะมาก่อน เเต่ตัวเราก็ควรมีความสุขไปพร้อมกับงานด้วยเช่นกัน
Writer
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์
ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง
illustrator
กรกนก สุเทศ
เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง