“ลดการบ้าน ลดคาบเรียน ลดค่าเทอม” เมื่อเด็กไทยเรียนออนไลน์หนักที่สุดในโลก

“ลดการบ้าน ลดคาบเรียน ลดค่าเทอม” เมื่อเด็กไทยเรียนออนไลน์หนักที่สุดในโลก

  • แนวโน้มเรียนออนไลน์ตลอดทั้งเทอม นักเรียนถึงกับกุมขมับ เมื่อการบ้านจำนวนมหาศาลกำลังล้มทับสุขภาพกายและใจของพวกเขา
  • ถ้าขออะไรก็ได้ 3 ข้อ นักเรียนอยากขออะไรเป็นตัวช่วยที่เวิร์คที่สุดในสถานการณ์ตอนนี้ 
  • “ขอลดการบ้าน นำโด่งมาเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยลดเวลาเรียน และลดค่าเทอม ฯลฯ ใครว่าเรียนออนไลน์เป็นเรื่องง่ายสำหรับนักเรียน

“ถ้าต้องเรียนออนไลน์ทั้งเทอม ผู้เรียนอยากขออะไร 3 ข้อ” 

ทันทีที่ทีม mappa หย่อนคำถามเพื่อสำรวจความต้องการและปัญหาที่นักเรียนกำลังเผชิญกับการต้องเรียนออนไลน์อย่างไม่มีกำหนด …กว่า 400 คำตอบหลั่งไหลคอมเมนต์อย่างไม่ขาดสายตลอดระยะเวลา 3 วัน

บางคำตอบสะท้อนความรู้สึกของผู้เรียนต่อการศึกษา “ผมอยากลาออก” “หนูเครียดมากค่ะ” “ดร็อปไปสักเทอมดีไหม” 

และบางคำตอบ เสนอแนวทางการเรียนการสอนใหม่ๆ เพื่อคลี่คลายปัญหาที่ถูกละเลย

ข้อความถัดจากนี้ ทีมงาน mappa ได้ประมวลผลความคิดเห็นจาก 400 กว่าข้อความ ภายในระยะเวลา 3 วัน พบว่า 5 อันดับความต้องการแรกของพวกเขา มีดังนี้  

  • ลดการบ้าน
  • ลดวิชาและเวลาเรียน
  • ลดค่าเทอม
  • สนุบสนุนค่าอินเทอร์เน็ตของนักเรียนและครู  
  • ปรับวิธีการสอน เพราะเรียนออนไลน์ไม่เข้าใจเลย

1. ลดการบ้านหน่อยครับ/ค่ะ 

“สั่งการบ้านพอจำเป็น อย่านัดสั่งกันมา ทุกวันนี้มีการบ้านประมาณ 5 ชิ้นต่อสัปดาห์ มันค่อนข้างล้า ไม่ได้ทำอย่างอื่นนอกจากการบ้านเลย สุขภาพจิตก็ค่อนข้างเครียดครับ กลัวจะทำงานไม่ทัน”

นักเรียนจำนวนมากกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การบ้านจำนวนมากต่อสัปดาห์ ส่งผลกระทบต่อพวกเขาทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต มากกว่านั้น หลายวิชามักมอบหมายงานเป็นกลุ่ม แน่นอนว่า การที่ผู้เรียนต้องสื่อสารกับเพื่อนร่วมกลุ่มผ่านทางออนไลน์เพื่อผลิตชิ้นงานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจนำไปสู่การผลักภาระไปยังใครคนใดคนหนึ่งในกลุ่มที่ต้องรับผิดชอบผลิตงานชิ้นนั้นไปโดยปริยาย 

“สั่งงานหรือสั่งการบ้านพอประมาณค่ะ ให้ประเมินตัวเด็กด้วยว่าเรียนกี่วิชา แล้วจะสามารถทำทันไหม”

แม้จะเรียนที่บ้าน แต่สำหรับนักเรียนส่วนใหญ่ จำนวนวิชาและเวลาเรียนไม่ได้ลดลงจากปกติแม้แต่น้อย บางวิชามอบหมายการบ้านมากกว่า 1 ชิ้นต่อสัปดาห์ และบางวิชา ผู้เรียนมองว่าการบ้านชิ้นนั้นไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้เท่าที่ควร 

“อยากให้จัดตารางการสั่งงานของครูเพื่อไม่ให้การบ้านทับถมกันเกินไป ตอนนี้แค่วิทย์ ก็วันละ 15-20 สไลด์แล้วครับ ภาษาไทยวันละ 2 แผ่นกระดาษ รวมๆ เรียน 11 วิชา ประมาณ 50 ชิ้น ต่อสัปดาห์ได้ ตอนนี้ยังทำไม่เสร็จเลยครับ”

จากความเห็นของผู้เรียนจำนวนไม่น้อย พยายามเสนอทางออกของปัญหา ‘การบ้านล้นมือ’ เป็นต้นว่า 

หนึ่ง – เปลี่ยนจากการสั่งการบ้านท้ายคาบ เป็นการทำแบบทดสอบให้เสร็จภายในคาบเรียน เพื่อลดภาระงานล้นมือของผู้เรียน 

สอง – คุณครูทุกวิชาควรหารือกันเพื่อจัดตารางการสั่งการบ้านในแต่ละสัปดาห์ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดปัญหาการบ้านกองโตที่ทับถมนักเรียนในแต่ละสัปดาห์ 

สาม – คำนึงถึงความยาก-ง่าย ในการสั่งงาน เพราะศักยภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียนจะลดลงในบริบทของการเรียนออนไลน์ เช่น นักเรียนบางคนไม่ถนัดวิชาคณิตศาสตร์เป็นทุนเดิม ยิ่งเรียนออนไลน์ ประสิทธิภาพการเรียนรู้ก็ถดถอยจากอุปสรรคมากมาย ทั้งสมาธิในการจดจ่อหน้าจอ สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ขาดๆ หายๆ (ทั้งของครูและนักเรียน) ตลอดจนบรรยากาศของบ้านที่ไม่เอื้อต่อการนั่งเรียนเป็นเวลานาน 

“ผมเห็นด้วยที่ต้องมีการบ้าน เพราะถ้าไม่มีการบ้านครูจะเก็บคะเเนนนักเรียนอย่างไร? เเต่ควรทำให้น้อยลงเพราะศักยภาพในการเรียนเเต่ละวิชามันต่างกัน เช่น ผมไม่ถนัดคณิตฯ เรียนออนไลน์ไม่เข้าใจเลย จะให้ผมทำการบ้านได้อย่างไร?”

สี่ – โจทย์ของการบ้านควรเกิดประโยชน์กับผู้เรียนในการใช้ชีวิต และทำให้ผู้เรียนเข้าใจในบทเรียนมากขึ้น งดสั่งการบ้านที่ไม่เกิดประโยชน์ เช่น การจดตามหนังสือ หรือการปรินท์ภาพมาแปะลงสมุด 

“สั่งการบ้านได้ แต่ขอตรงตามเนื้อหาที่สอน เช่น วิชานาฏศิลป์ ครูให้ปรินท์ใบงานแปะรูป หนูคิดว่ามันไม่ทำให้เกิดความเข้าใจกับเรื่องที่เรียนมากขึ้นเลย การบ้านมันต้องสั่งเพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจในเรื่องที่เรียนมากขึ้น เช่น ทำแบบทดสอบ ตอบคำถาม หรือทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เข้าใจในเรื่องที่เรียนมากยิ่งขึ้น”

2. ตัดวิชาที่ไม่จำเป็น และลดเวลาเรียนลงหน่อยครับ/ค่ะ 

“ลดระยะเวลาในการเรียนครับ”

“ตัดวิชาที่ไม่จำเป็น หรือไม่เกี่ยวกับการใช้ชีวิต เช่น พระพุทธศาสนา ลูกเสือ”

“อยากให้มีเวลาพักตามากยิ่งขึ้นค่ะ เพราะเวลาจ้องโทรศัพท์หรือคอมฯ นานๆ ทำให้สายตาเสีย มันปวดหัวมากๆ เลยด้วย (ส่วนตัว)”

“เวลาพักหายไปเยอะพอสมควร (ป.ล. เราเรียนวันเสาร์ชดเชยด้วย แปลว่าเหลือวันพักแค่วันอาทิตย์วันเดียว ไม่แปลกใจที่ในอีกไม่ช้าเราจะต้องใส่แว่น)”

เด็กไทยเรียนหนักที่สุดในโลก – คือข้อค้นพบจากการสำรวจของสถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) 

ข้อค้นพบข้างต้นไม่เกินจริงแต่อย่างใด ยิ่งในสถานการณ์ที่ต้องเรียนออนไลน์ เราอาจอนุมานได้ว่า – เด็กไทยเรียนออนไลน์หนักที่สุดในโลก

จากความเห็นของผู้เรียนพบว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ บางโรงเรียนยกโมเดลการเรียนการสอนในช่วงเวลาปกติ มาสวมทับกับการเรียนในบริบทออนไลน์ – ราวกับว่า เรียนในห้องเรียนปกติกี่ชั่วโมงต่อวัน เรียนออนไลน์ก็เช่นกัน 

“ควรให้นักเรียนเลือกวิชาที่ตัวเองอยากเรียนได้ หรือถ้านักเรียนไม่มีวิชาที่ชอบ แต่เขาอยากทำงานเลย ก็อยากให้ครูเพิ่มทักษะการเอาตัวรอดให้เขา เพราะเคยมีเด็กที่เรียนไม่เก่งวิชาหนึ่ง แล้วครูก็ชอบถามแต่เด็กคนนั้น ไม่ถามคนอื่น พอเด็กตอบไม่ได้ก็ทำให้นักเรียนคนอื่นเยาะเย้ยและหัวเราะ ทำให้เด็กคนนั้นอาย และทำให้เด็กไม่มีความมั่นใจ (มีหลายโรงเรียนมากที่เจอเคสแบบนี้ครับ)”

“ขอให้เลือกวิชาที่อยากเรียนได้ หรือกำหนดตารางสอนเอง” คือความต้องการของพวกเขา ที่ส่งตรงไปยังทุกคนและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3. ลดค่าเทอมหน่อยครับ/ค่ะ 

“เรียนออนไลน์ แต่ทางโรงเรียนยังเก็บเงินจำนวนเต็มอยู่เลย ค่าไฟ ค่าเน็ตของผมเพิ่มขึ้น อย่างของผม แค่ค่าไฟเพิ่มมาประมาณหนึ่งพันบาทได้ครับ”

“ขอค่าเทอมคืนสัก 80 เปอร์เซ็นต์ได้ไหม ค่าไฟจากการอยู่บ้านเพิ่มมากขึ้นค่ะ ค่าอินเทอร์เน็ตในการเรียนด้วย ค่าใช้จ่ายในช่วงนี้มันค่อนข้างแย่เป็นพิเศษอยู่แล้ว เราจ่ายค่าเทอมเต็มจำนวนแล้วยังต้องมาจ่ายค่าจิปาถะต่างๆ อีก”

ในบรรยากาศที่ครัวเรือนจำนวนมากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ จากการประกาศล็อคดาวน์หลายครั้งในรอบสองปีของการระบาด การจ้างงานลดลง โรงงานและกิจการหลายแห่งปิดตัวลง หลายครอบครัวต้องเป็นหนี้ และหลายครอบครัวตกงาน 

ปัญหาเหล่านี้กระทบกับผู้เรียนโดยตรง เพราะรายจ่ายทางการศึกษาที่สูงขึ้นจากเดิม สวนทางกับรายรับที่ดิ่งลงของครัวเรือนอย่างมีนัยสำคัญ 

จากการสำรวจ ‘ลดค่าเทอม’ จึงติดโผมาเป็นอันดับที่ 3 นั่นเพราะนักเรียนรับรู้ได้ถึงสถานะการเงินของครอบครัว ที่ซ้ำร้าย รายจ่ายทางการศึกษากลับเป็นตัวซ้ำเติมปัญหา

“ค่าไฟขึ้นเท่าตัวเลย ทั้งบ้านเด็ก 4 คน ใช้ทั้งคอมฯ มือถือ แล็ปท็อป”

“อย่าไปบังคับให้ผู้ปกครองซื้อคอมฯ หรือโน้ตบุ๊คเพื่อให้เด็กเปิดกล้อง ครูบางคนพูดไม่คิดถึงเงินของผู้ปกครองเลย”

เรื่องลดค่าเทอมนี้ เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ให้ความเห็นที่พิงกับโครงสร้างหลักเอาไว้ในวงเสวนา Equity Talk ครั้งที่ 14 ‘ชวนครูติดเกม เพิ่มทางเลือกการเรียนรู้’ โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เอาไว้ว่า

“เรื่องการลดค่าเทอม คือภารกิจของรัฐบาล เพราะปัญหานี้ถ้าเรามองจากฝั่งโรงเรียน ต้นทุนส่วนใหญ่ไม่ใช่ค่าไฟ ค่าน้ำ แต่อยู่ที่ครู ถามว่าสอนออนไลน์เราจ้างครูน้อยลงไหม คำตอบคือไม่ ต้นทุนของโรงเรียนจึงไม่ได้ลดลงมาก

“แต่ในฝั่งผู้ปกครอง เขาเจอปัญหามากจริง สิ่งที่จะตอบปัญหาเรื่องนี้จึงเป็นรัฐบาล ดังนั้น ถ้าเราถามไปที่ครูหรือโรงเรียน ผมว่าเป็นเรื่องที่ตอบยาก ผมคิดว่าอย่าไปกดดันโรงเรียนเลยเรื่องลดค่าเทอม” อ่านต่อได้ที่ https://fkwp.mappamedia.co/voice-of-parents/ 

4. สนับสนุนค่าอินเทอร์เน็ตของนักเรียนและครูหน่อยครับ/ค่ะ

“หนูเติมอินเทอร์เน็ตประมาณครั้งละ 50 บาท อาทิตย์นึงจะอยู่ที่ 250 โดยประมาณค่ะ อ้างอิงจากตัวหนูเอง เรียนไม่ถึงครึ่งชั่วโมงเน็ตก็ใช้ไม่ได้แล้วค่ะ ต้องไปสมัครเพิ่มอีก เพื่อนบางคนเขาไม่มีจริงๆ ถ้าสมัครรายเดือนก็ประมาณ 300 กว่าบาทค่ะ เข้าใจทั้งครูและนักเรียนเลย ต่างคนต่างมีปัญหา นักเรียนบางคนมีปัญหาอินเทอร์เน็ตจริงๆ แต่คุณครูดันเช็คขาด มันแย่นะคะ”

ในสังคมที่เหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัดจากประสบการณ์ตรงโดยไม่ต้องอ้างอิงสถิติใดๆ การสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษา เช่น แทบเล็ต อินเทอร์เน็ต สมุด หนังสือ แอพพลิเคชั่น จึงเป็นความต้องการของผู้เรียนอันดับที่ 4 จากการสำรวจครั้งนี้ 

“ขอแทบเล็ตให้นักเรียนและครู พร้อมซิมอินเทอร์เน็ต จะมีความพร้อมกับการเรียนมากขึ้น”

“อยากให้ครูใช้แอพฯ เดียวกันทั้งหมด ตอนนี้มีทั้ง Meet classroom, Messenger Facebook, Line และอีกแอพฯ หนึ่ง ถ้าถามว่ามีผลกระทบอย่างไร บางคนพื้นที่ในโทรศัพท์เต็มก็ไม่สามารถเรียนได้ครับ ถ้าใช้ Line สอน Line สั่งงาน Line ส่งงาน จะได้สะดวกเป็นสัดส่วนครับ”

เพราะการเรียนออนไลน์ที่ราบรื่น จำเป็นต้องอาศัยสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เสถียร อุปกรณ์ที่เอื้อต่อการเพ่งสายตา โปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นในการออนไลน์ร่วมกัน ทว่าในปัจจุบัน นักเรียนจำนวนมากสะท้อนว่า “พวกเขาต้องเพ่งจอมือถือทั้งวัน และอีกไม่ช้า คงต้องเสียเงินตัดเเว่นแน่ๆ” กระทั่งว่า “บ้านผมมีเด็ก 4 คนแล้วต้องเรียนพร้อมกัน จะทำยังไง?” หรือมากกว่านั้น “สัญญาณเน็ตของครูกระตุกมากค่ะ ฟังไม่รู้เรื่อง”

5. ปรับวิธีการสอน เพราะเรียนออนไลน์ไม่เข้าใจเลยครับ/ค่ะ

“อย่าสอนแบบอ่านสไลด์”

“ไม่อยากให้สอนแบบน่าเบื่อเพราะเด็กจะได้สนุกด้วย อยู่บ้านมันต้องใช้พลังงานทำงานหรือเรียนเยอะมากเลย”

“เน้นแค่วิชาที่สำคัญ ส่วนวิชาอื่นขอเรียนแบบผ่อนคลาย ส่วนบางวิชาที่ต้องเรียนภาคปฏิบัติ ผมขอเถอะ อย่าให้เรียนแต่ทฤษฎีเลยไม่มีประโยชน์”

ลำพังสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ขาดๆ หายๆ อุปกรณ์ที่ไม่พร้อม การบ้านจำนวนมหาศาล เวลาเรียนอัดแน่นตลอดวัน ก็เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของเด็กไม่น้อย ไหนจะรูปแบบการสอนออนไลน์ในลักษณะของการถ่ายทอดความรู้ทางเดียว การเรียนออนไลน์จึงกลายเป็นช่วงเวลาไม่พึงปรารถนาของนักเรียน

งานวิจัยหลายชิ้นบอกตรงกันว่า ประสิทธิภาพทางการเรียนรู้ของผู้เรียนจะลดลงเมื่อต้องเรียนผ่านหน้าจอคอมฯ หรือมือถือ ในแง่นี้ รูปแบบการเรียนการสอนจึงอาจต้องอาศัยเครื่องมือ การพลิกแพลง และการออกแบบของครูผู้สอนเป็นอย่างมาก 

แต่ในอีกด้าน ภาระงานและทรัพยากรทางการศึกษา ก็ไม่เอื้อให้ครูได้ใช้ศักยภาพการสอนได้อย่างเต็มกำลัง ในข้อนี้ ระบบการศึกษาจึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีระบบสนับสนุนครู และอำนวยเครื่องมือการสอนอย่างเต็มกำลัง

“เด็กบางคนเรียนในห้องก็แทบไม่เข้าใจอยู่แล้วค่ะ”

“การสอบในช่วงสถานการณ์นี้ ไม่ใช่การวัดความสามารถที่เเท้จริงของเด็กครับ”

เพื่อตอบการชี้วัดทางการศึกษาทุกข้อ คุณครูจำนวนไม่น้อยจึงจำเป็นต้องสอนเนื้อหาทั้งหมดให้ทันตามระยะเวลา และจัดสอบออนไลน์เพื่อวัดผลทางการเรียนรู้ ผลที่ตามมาคือ ความเครียด ความกดดัน และความรู้สึก ‘ไม่ยุติธรรม’ ของผู้เรียน เมื่อพวกเขาต้อง ‘สอบให้ได้’ ภายใต้บริบทที่ไม่ปกติ และไม่เอื้อต่อการเรียนรู้เช่นนี้

นอกจากความเห็นต่อการศึกษาและสารพัดปัญหาที่ผู้เรียนต้องเจอกับการเรียนออนไลน์ ยังมีอีกหลายความเห็นที่สะท้อนถึงความกังวลใจของผู้เรียน เช่นว่า 

“ผมมองว่าการเปิดกล้องเป็นเรื่องส่วนบุคคล มนุษย์มีความหลากหลาย เด็กก็เช่นกัน เด็กบางคนนิสัย introvert ไม่ชอบเปิดกล้อง ขี้อาย ไม่มั่นใจในตัวเอง อาจเป็นเรื่องของรูปลักษณ์หน้าตา เป็นสิว ไม่มั่นใจในตัวเอง (ผมก็เป็นเลยเข้าใจคนอื่น)ขนาด extrovert ยังไม่ชอบเลย บางทีนี่เป็นการทำให้อับอายเข้าข่ายการ bully อย่างหนึ่ง”

หรือ…

“พยายามอย่าสอนเต็มเวลาเพราะโทรศัพท์จะเสื่อมสภาพง่าย อยากให้มีเวลาพักเครื่อง เพราะทุกคนต้องใช้โทรศัพท์ทำอย่างอื่นด้วย ไม่อย่างนั้นโทรศัพท์จะพังเพราะใช้ติดต่อกันตั้งแต่เช้ายันเย็น”

ความคิดเห็นอันหลากหลายของนักเรียนจำนวนมาก เปิดเปลือยให้เห็นถึงการรับมือที่ไม่ได้ประสิทธิภาพและการแก้ปัญหาไม่ถูกจุดของระบบการศึกษาไทย ในวันที่เด็กๆ ต้องเรียน และครูต้องสอนออนไลน์ในสถานการณ์คับขัน 

บางปัญหานั้น ก็เกินกว่ากำลังของคุณครูจะแก้ไขได้ นั่นจึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องอาศัยอำนาจการบริหารจัดการของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาและรับฟังสุ้มเสียงของผู้เรียนด้วยความจริงใจและจริงจัง

นั่นเพราะพวกเขาคือบุคคลสำคัญ และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการศึกษาโดยตรง

Writer
Avatar photo
อรสา ศรีดาวเรือง

ลูกสาวชาวประมงผู้ว่ายน้ำไม่เป็น ตกหลุมรักอีสานพอๆ กับหลงใหลในท้องทะเล เรียนจบมหาวิทยาลัยด้วยการเข้าห้องเรียนกับชาวบ้าน จึงได้ F เป็นรางวัลแห่งความพยายามหลายตัว

illustrator
ณขวัญ ศรีอรุโณทัย

ทำงานกราฟิกหลากหลาย นิยมการพูด-เขียนสั้นๆ วาดรูปน้อยๆ เพราะสมาทานแนวคิดประหยัดพลังงาน มองว่าเด็กคือมนุษย์ตัวเล็กย่อส่วน ไม่ได้รักหรือเกลียดเป็นพิเศษ

Related Posts

Related Posts