Victim Mentality : โลกใบนี้มันโหดร้าย หรือเราแค่ออกจากวังวนความเป็น “เหยื่อ” ไม่ได้เอง
Victim Mentality : โลกใบนี้มันโหดร้าย หรือเราแค่ออกจากวังวนความเป็น “เหยื่อ” ไม่ได้เอง
- Victim mentality คือความคิดที่เชื่อว่าตนเองเป็นเหยื่อของทุกสถานการณ์และของทุกคน คนที่มีความคิดเช่นนี้จึงมักจะโยนความผิดให้ผู้อื่น มองโลก มองผู้อื่น และมองตัวเองในแง่ลบ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการเจอสถานการณ์เลวร้ายซ้ำ ๆ จนทำให้พวกเขาคิดว่าไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว
- วัยรุ่นคือวัยที่ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงและความกดดันมากมาย ทั้งจากการเรียนและจากสังคมรอบตัว จึงไม่แปลกหากวัยรุ่นหลายคนจะมีความคิดแบบ victim mentality
- แม้จะต้องใช้ความพยายาม ความอดทน และความเข้าใจเป็นอย่างมาก แต่พ่อแม่ ผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดสามารถช่วยเหลือวัยรุ่นเหล่านั้นให้ก้าวพ้นจาก victim mentality ได้ เพื่อให้เขาหันกลับมารักโลกและรักตัวเองอีกครั้ง
“เหยื่อ” หมายถึงคนที่ถูกทำร้าย ทำให้บาดเจ็บ ถูกปล้น ถูกปลิดชีวิต ถูกโกง ถูกหลอกลวง โดยผู้อื่นหรือโดยเหตุการณ์เลวร้ายไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายหรือจิตใจ
ในชีวิตเราต่าง “ถูกทำร้าย” โดยบางสิ่งบางอย่าง ยิ่งในช่วงชีวิตวัยรุ่นที่ต้องเจอทั้งความกดดันจากการเรียนและการต้องปรับตัวให้เข้ากับเพื่อน ๆ เป็นเรื่องปกติหากจะมีวัยรุ่นที่รู้สึกว่าโลกช่างใจร้ายกับตนเองเมื่อถูกกดดันทั้งจากทางบ้านและโรงเรียนเรื่องผลการเรียนจนนำไปสู่ความเครียด หรือการโดนเพื่อน ๆ รุมทำร้าย แต่ในช่วงวัยที่กำลังค้นหาตัวตนและมีความเปราะบางด้านจิตใจ วัยรุ่นบางคนอาจรู้สึกขัดใจไปเสียทุกอย่างแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างผลคะแนนสอบย่อยที่ไม่ได้ดังใจ ถูกคนแปลกหน้ามองด้วยสายตาแปลก ๆ ในโรงอาหาร หรือเพื่อนไม่ตอบข้อความ
คนทั่วไปอาจตีความสถานการณ์ข้างต้นว่าพวกเขาสอบไม่ผ่านเพราะไม่มีความถนัดในวิชานั้น ๆ คนแปลกหน้าที่มองเราแปลก ๆ อาจเป็นคนที่เพิ่งเจอเรื่องแย่ ๆ มาและไม่ได้ตั้งใจจะมองมาทางเราเสียด้วยซ้ำ ส่วนที่เพื่อนไม่ตอบข้อความก็อาจกำลังยุ่งอยู่ แต่คนที่มี victim mentality หรือ ความคิดที่เชื่อว่าตัวเองเป็นเหยื่อในทุกสถานการณ์ จะตีความว่าเพราะอาจารย์ออกข้อสอบยากไปต่างหากพวกเขาจึงทำไม่ได้ คนแปลกหน้าคนนั้นคิดว่าพวกเขาแต่งตัวตลกและกำลังดูถูกเหยียดหยามพวกเขาอยู่ และที่เพื่อนไม่ตอบข้อความคงแอบเกลียดพวกเขาอยู่ลึก ๆ
ราฮาฟ กาเบ และคณะนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ เรียกคนเหล่านี้ว่า “คนที่มีแนวโน้มจะเป็นเหยื่อในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล” โดยคนกลุ่มนี้มักจะมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นเหยื่อในความสัมพันธ์ทุกประเภทอยู่ตลอดเวลา จน “ความเป็นเหยื่อ” กลายเป็นตัวตนของพวกเขา นอกจากนั้น พวกเขายังขาดความเชื่อในการควบคุมอำนาจภายนอกตนเอง และเชื่อว่าชีวิตอยู่ภายใต้การควบคุมของสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นโชคชะตา ลิขิตฟ้า หรือคนอื่น ๆ
ส่วน ศาสตราจารย์มองเฟร็ด แอฟ อาร์ เก็ตส์ เดอ วรีส์ นักจิตวิเคราะห์ชาวดัตช์ ได้กล่าวไว้ในงานเขียน “Are You a Victim of the Victim Syndrome?” ว่าคนที่มีความเชื่อว่าตัวเองเป็นเหยื่อมักจะคิดว่าพวกเขากำลังถูกทั้งโลกรุมทำร้ายและตัวพวกเขาเองก็มักจะเสียประโยชน์จากการกระทำหรือความแล้งน้ำใจของผู้อื่น และบางครั้งการต้องเป็น “เหยื่อ” อยู่เสมอก็ไม่ใช่โชคร้าย แต่เป็นเพราะพวกเขาพยายามเปลี่ยนทุกสิ่งให้เป็นเรื่องชวนขุ่นข้องหมองใจเสียเอง เพราะพวกเขาจะได้รับสิ่งที่เรียกว่า “ประโยชน์แอบแฝง” (secondary gain) เช่น การได้รับความสนใจ ข้ออ้างเพื่อเลี่ยงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่ตนเองก่อ
Victim mentality คืออะไร
ปัจจุบันยังไม่มีการฟันธงว่า victim mentality นั้นเป็นอาการหรือเป็นบุคลิกภาพ และยังคงต้องศึกษากันต่อไป แต่งานวิจัยของกาเบและคณะระบุว่า การมองตัวเองเป็นเหยื่ออาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคลิกภาพและคนที่ “มีแนวโน้มจะเป็นเหยื่อในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล” (Tendency for Interpersonal Victimhood: TIV) มักจะมีลักษณะนิสัยดังนี้
- อยากเป็นที่สนใจและอยากให้ผู้อื่นรับรู้ว่าตนเองเป็นเหยื่อ
- มักจะคิดว่าตนเองมีศีลธรรมสูงส่งกว่าผู้อื่นและมักจะคิดว่าใครก็ตามที่เห็นต่าง วิจารณ์ หรือ “ทำร้าย” ตนเองคือคนที่ไร้ศีลธรรม
- ไม่มีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นเพราะมักจะคิดว่าสิ่งที่ตนเองต้องเจอเจ็บปวดกว่าผู้อื่นเสมอ และคิดว่าตนเองสามารถแสดงออกอย่างไรต่อผู้อื่นก็ได้เพราะตนเป็น “เหยื่อ”
- มักคิดวนเวียนเกี่ยวกับช่วงเวลา เหตุการณ์ หรือความสัมพันธ์ที่ตนเองเคยเป็นเหยื่อหรือเคยถูกฉวยประโยชน์ไป
อย่างไรก็ดี มีนักวิจัยอีกกลุ่มที่มองว่า victim mentality ไม่ใช่บุคลิกภาพ แต่คือ ภาวะสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ (learned helplessness) เพราะคนที่มี victim mentality นั้นมักจะเป็นผู้ที่เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายที่กระทบกระเทือนจิตใจและทำให้พวกเขารู้สึกว่าพวกเขา “หนีไม่พ้น” ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหนก็ตาม
สตีเวน เมเออร์ ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด กล่าวว่า คนไม่ได้เรียนรู้ “ภาวะสิ้นหวัง” แต่พวกเขาล้มเหลวในการเรียนรู้ “การควบคุม” หรือความสามารถในการควบคุมและเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นความสามารถที่ทำให้หลุดพ้นจากแนวคิดว่าตนเองเป็นเหยื่ออยู่เสมอ
ในขณะที่ จูลี แลนดรีย์ จิตแพทย์จากเท็กซัส กล่าวว่า ความเชื่อที่ว่าตนเองเป็นเหยื่ออาจเป็นวิธีการรับมือเหตุการณ์เลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตซึ่งมักจะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เช่น เหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว การโดนหักหลังจากคนที่รักและไว้ใจซึ่งทำให้พวกเขาไม่กล้าเชื่อใจใครอีก ความสัมพันธ์อันเป็นพิษที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมเสียสละทุกสิ่งเพื่ออีกฝ่ายจนกลายเป็นความอึดอัดขับข้องใจเมื่อเวลาผ่านไป
ศาสตราจารย์เก็ตส์ เดอ วรีส์ เสริมว่า แม้พฤติกรรมนี้จะถือเป็นการควบคุมบงการและทำร้ายผู้อื่นได้ แต่บางครั้งก็มี “เหยื่อ” ที่ไม่ตระหนักรู้ถึงสิ่งที่ตนเองเป็นจริง ๆ และการได้ประโยชน์แอบแฝงก็ได้มาโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ตั้งใจ
สัญญาณของการคิดว่าตนเองเป็น “เหยื่อ”
คนที่มี victim mentality ส่วนใหญ่มักจะแสดงออกคล้ายคลึงกันและคนใกล้ตัวก็สามารถสังเกตสัญญาณของการมี victim mentality ได้ ดังนี้
ความรู้สึกว่าไร้อำนาจ
คริสทิน ไรน์ฮาร์ท นักจิตบำบัด กล่าวว่า วัยรุ่นที่รู้สึกว่าตนเองเป็นเหยื่อมักจะไม่พยายามเปลี่ยนแปลงแก้ไขสถานการณ์ใด ๆ ก็ตาม เพราะพวกเขาคิดว่าไม่มีสิ่งใดที่พวกเขาทำได้อีกแล้ว เช่น หากทำการบ้านไม่ได้ พวกเขาก็จะไม่ขอความช่วยเหลือ หากไม่เข้าใจงานที่ได้รับมอบหมายก็จะไม่ถามเพื่อความกระจ่าง เมื่อโดนเพื่อนกลั่นแกล้งก็จะไม่ยอมพูดคุยกับเพื่อนเพื่อกำหนดขอบเขตแต่จะยอมโดนแกล้งอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้พวกเขามีความเสี่ยงที่จะเป็นเหยื่อในสถานการณ์อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
มีทัศนคติเชิงลบ
การสงสารตนเอง การบั่นทอนตนเอง และการมองตนเองเป็นเหยื่อมักจะเป็นของคู่กัน ดังนั้นวัยรุ่นที่มองว่าตนเองเป็นเหยื่อจึงมักใช้ความพยายามหมดไปกับการทำให้คนอื่น ๆ เห็นใจมากกว่าการแก้ปัญหา การกล่าวโทษและก่นด่ามากไปกว่าการพยายามทำให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยที่บางครั้งพวกเขาก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำแบบนั้น
จูเลีย แชมเบอร์เลน นักบำบัดจากแมสซาชูเซตต์ กล่าวว่า “การบั่นทอนตนเองเป็นพฤติกรรมการปรับตัวแบบผิด ๆ ที่เกิดจากบาดแผลทางใจหรือความลำบากที่เจอ การบั่นทอนตัวเองและการปรับตัวแบบผิด ๆ ถูกนำมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการเพราะพวกเขาคิดว่า “มันเคยได้ผลมาแล้ว””
ใส่ใจแต่เรื่องแย่ ๆ
หากมีเรื่องราวดี ๆ เกิดขึ้น 9 ครั้ง และมีเรื่องราวแย่ ๆ เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว คนที่คิดว่าตนเป็นเหยื่อจะสนใจเพียงเรื่องราวแย่ ๆ ครั้งเดียวที่เกิดขึ้น แม้จะมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นหรือได้รับการปฏิบัติดี ๆ จากคนอื่น พวกเขาก็มักจะคิดว่า “มันจะไม่เกิดขึ้นอีกหนแน่” หรือ “พวกนั้นก็แค่ทำดีกับฉันเพราะมีคนอื่นอยู่ด้วย”
การคิดว่าตนเองเป็นเหยื่อเสมอจะทำให้วัยรุ่นกลุ่มนี้พลาดสิ่งดี ๆ ในชีวิต และยิ่งจดจ่อกับเรื่องเลวร้ายเท่าไหร่ พวกเขาก็จะยิ่งรู้สึกแย่ขึ้นเท่านั้น จนอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตได้
คาดการณ์ถึงสิ่งที่แย่ที่สุดเสมอ
วัยรุ่นที่มองตัวเองเป็นเหยื่อมักจะจินตนาการถึงสิ่งที่แย่ที่สุดอยู่เสมอ เช่น “ต้องทำข้อสอบไม่ได้แน่ ๆ” หรือ “ทุกคนต้องเห็นเราเป็นตัวตลกตอนพูดหน้าชั้นแน่ ๆ”
การจินตนาการถึงสิ่งต่าง ๆ ในแง่ลบนั้นมักจะทำให้วัยรุ่นเกิดความเครียดโดยไม่จำเป็นและทำให้พวกเขามีความสุขกับชีวิตได้ยากขึ้น
โทษทุกคนยกเว้นตัวเอง
วัยรุ่นกลุ่มนี้มักจะคิดว่าคนอื่น ๆ จ้องจะทำร้ายพวกเขาอยู่เสมอ บางครั้งพวกเขาอาจจงใจยั่วยุคนอื่นเพื่อการตอบสนองแย่ ๆ พวกเขาจะได้พิสูจน์ว่าคนอื่น “ใจร้าย” กับพวกเขา
นอกจากนี้ คนที่มองตัวเองเป็นเหยื่อมักจะไม่รับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของพวกเขาเอง
ตอบสนองต่อเหตุการณ์ร้าย ๆ จนเกินจริง
วัยรุ่นที่มองตัวเองเป็นเหยื่อมักจะใช้คำว่า “ตลอด” “เสมอ” หรือ “ไม่เคย” ในการบรรยายสถานการณ์ที่พวกเขาเจอ เช่น “หนูไม่เคยได้ทำอะไรสนุก ๆ เลย” “เพื่อน ๆ ใจร้ายกับผมตลอด”
การมองโลกเพียงด้านเดียวอย่าง “เสมอ” กับ “ไม่เคย” นี้จะทำให้เด็กไม่สามารถเปิดรับความแตกต่างได้ พวกเขามักจะคิดว่าความคิดของตนถูกที่สุดและเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียว
ขอเพียงใครสักคนที่เข้าใจ
ศาสตราจารย์เก็ตส์ เดอ วรีส์กล่าวว่าหนึ่งในปัญหาหลักเมื่อต้องรับมือกับคนที่มีความคิดว่าตนเองเป็นเหยื่อคือ พวกเขาไม่ยอมรับความช่วยเหลือ หรือตอบสนองแย่ ๆ ต่อใครก็ตามที่พยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือความคิดของเขา
พฤติกรรมนี้อาจมีผลมาจากประโยชน์แอบแฝงที่พวกเขาจะได้รับเมื่อเป็น “เหยื่อ” เช่น การไม่ต้องรับผิดชอบปัญหาที่เกิดจากตัวเอง พวกเขาอาจจะเริ่มปกป้องตัวเองหรือแสดงความก้าวร้าวทางอ้อมต่อใครก็ตามที่พยายามจะช่วย เพราะหากพวกเขาแสดงความก้าวร้าวอย่างตรงไปตรงมา พวกเขาก็จะกล่าวอ้างว่าผู้ที่พยายามจะช่วยเหลือนั้น “ใจร้าย” กับเขาได้ยากขึ้น แต่ใช่ว่าเราจะไม่สามารถช่วยเหลือคนที่มี victim mentality ได้ และการช่วยเหลือก็สามารถทำได้ดังนี้
หลีกเลี่ยงการแปะป้าย
การแปะป้ายไม่เคยช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้น คำว่า “เหยื่อ” หรือการบอกว่าพวกเขาทำตัวเหมือนเหยื่อก็เป็นการแปะป้ายอย่างหนึ่ง ดังนั้นแทนที่จะบอกให้พวกเขา “เลิกทำตัวเป็นเหยื่อ” พ่อแม่ ครู หรือเพื่อน ๆ สามารถช่วยวัยรุ่นที่คิดว่าตนเองเป็นเหยื่อได้โดยการชี้ให้พวกเขาเห็นพฤติกรรมที่เป็นพิษต่อผู้อื่น เช่น การพร่ำบ่น การกล่าวโทษ การไร้ความรับผิดชอบ การเฉื่อยชาไม่ยอมหาทางแก้ไขปัญหา
กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน
เพราะคนที่คิดว่าตนเองเป็นเหยื่อชอบโยนความผิดและทำให้ผู้อื่นรู้สึกผิดต่อพวกเขาอยู่เสมอ การอยู่ใกล้คนกลุ่มนี้จึงมักจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของผู้ที่พยายามจะช่วยเหลือด้วย
บอทนิกกล่าวว่า การพยายามช่วยเหลือคนกลุ่มนี้จะทำให้คุณถูกกล่าวโทษอยู่เสมอ คุณต้องคอยระมัดระวังทุกสิ่งที่ทำราวกับกำลังเดินบนเศษแก้ว และยังต้องหมั่นขอโทษพวกเขาต่อสิ่งที่คุณรู้สึกว่าเป็นความผิดของคุณด้วย
แต่อย่างไรเสียคุณก็ไม่ใช่นักจิตวิทยา จิตแพทย์ หรือนักบำบัดประจำตัวพวกเขา อย่าทำให้ความหวังดีกลายเป็นหน้าที่ เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกว่าพวกเขากำลังล้ำเส้น คุณก็สามารถถอยออกมาได้
“พยายามหลีกเลี่ยงพลังงานลบ ๆ จากพวกเขาให้ได้มากที่สุด และยื่นความรับผิดชอบกลับคืนไป คุณยังสามารถห่วงใยและเห็นใจเขาได้แม้ว่าอาจต้องเว้นระยะห่างระหว่างคุณกับเขาในบางครั้ง” บอทนิกกล่าว
ช่วยกันหาทางออก
คุณสามารถช่วยพวกเขาแก้ปัญหาได้โดยไม่จำเป็นจะต้องแก้ปัญหาให้พวกเขาด้วยการทำตามขั้นตอนเหล่านี้
- รับรู้และทำความเข้าใจความเชื่อของพวกเขาที่มองว่าตนเองไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ได้
- ถามเขาว่าหากพวกเขามี “อำนาจ” ที่จะแก้ไขสถานการณ์นั้นได้ เขาจะทำอย่างไร
- หาทางออกร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหานั้น
เช่น ในสถานการณ์ที่พวกเขากำลังเตรียมตัวสอบแต่คิดว่าอย่างไรเสียก็คงไม่ได้คะแนนดี ๆ คุณอาจคุยกับพวกเขาว่า “พ่อแม่เข้าใจที่ลูกกังวลและรู้ว่าข้อสอบมันยากแค่ไหน คงน่าหงุดหงิดมากเลยที่ทำไม่ได้ ลูกเรียนบทไหนมาและอยากให้ข้อสอบออกแบบไหนบ้างล่ะ” จากนั้นก็รอดูว่าพวกเขาจะตอบสนองอย่างไร คุณอาจจะช่วยเขากำหนดขอบเขตการอ่าน หรือบอกว่ายังมีวิชาอื่นที่พวกเขาทำได้ดี หรือแม้กระทั่งหันเหความสนใจของพวกเขาไปสู่สิ่งอื่น ๆ ที่พวกเขาชอบ
ให้กำลังใจและช่วยยืนยันว่าพวกเขาทำได้ดีแล้ว
ความเข้าอกเข้าใจและกำลังใจอาจไม่ได้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังพอช่วยเปลี่ยนความเชื่อของพวกเขาได้บ้างไม่มากก็น้อย ลองชี้ให้เขาเห็นสิ่งที่เขาทำได้ดี ยินดีกับความสำเร็จของพวกเขา ย้ำเตือนให้พวกเขารู้ว่ายังมีคนที่รักและหวังดีกับเขา ทำให้เขารู้ว่าความรู้สึกของพวกเขานั้นสำคัญและไม่ใช่เรื่องไร้สาระ การมีคนเข้าใจและคอยให้กำลังใจก็สามารถทำให้พวกเขามองโลกในแง่ดีขึ้นได้
คนที่มี victim mentality หรือความคิดที่เชื่อว่าตนเองเป็นเหยื่ออยู่เสมอ มักจะเป็นคนที่ประสบพบเจอกับเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตจริง ๆ และเหตุการณ์นั้นยังคงสร้างรอยแผลฝังจิตฝังใจจนทำให้พวกเขาหมดศรัทธาในชีวิต โยนความผิดให้คนทั้งโลกและโชคชะตา และคิดว่าพวกเขาคงไม่สามารถหนีพ้นโชคร้ายนี้ไปได้
การช่วยเหลือจึงต้องทำด้วยความอดทน ความพยายาม และความเข้าใจ ที่สำคัญคือการวางขอบเขตให้ชัดเจนว่านี่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของคุณ คุณไม่จำเป็นต้องรับโทษหรือรับพลังงานแง่ลบจากเขา เพราะในที่สุดแล้ว การจะก้าวพ้นจากความเป็น “เหยื่อ” มาได้ ก็คือการเรียนรู้ที่จะรักทั้งผู้อื่นและตัวเอง
อ้างอิง
https://www.verywellfamily.com/signs-your-child-has-a-victim-mentality-1094927
https://www.healthline.com/health/victim-mentality#takeaway
https://psychcentral.com/health/victim-mentality#what-can-loved-ones-do
https://www.mindtools.com/awf1zkf/managing-a-person-with-a-victim-mentality
https://www.betterup.com/blog/victim-mentality
https://www.scientificamerican.com/article/unraveling-the-mindset-of-victimhood/
https://www.psychologytoday.com/us/blog/women-who-stray/202012/the-victim-personality
Writer
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา
อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า
illustrator
พรภวิษย์ เพ็งเอียด
ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม