ค้นหาและเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปจากตัวตนผ่าน ‘เสียง’ บทสัมภาษณ์ที่อยากให้คุณได้ยินเสียง

ค้นหาและเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปจากตัวตนผ่าน ‘เสียง’ บทสัมภาษณ์ที่อยากให้คุณได้ยินเสียง

สำหรับคนที่มาเยือนห้องบนชั้น 2 ที่อยู่เหนือ Arai Arai: slow bar coffee ซึ่งตั้งอยู่ในตึกแถวย่านวงเวียน 22 เป็นครั้งแรก ปฏิกิริยาแรกน่าจะใกล้เคียงกัน นั่นคือ การกวาดสายตามองไปยังเครื่องดนตรีหลากลักษณะที่มีอยู่ทั่วห้อง รวมถึงขันขนาดต่างๆ ที่วางเรียงรายอยู่ที่พื้นด้วย

ห้องนี้เป็นพื้นที่ที่ ‘วริศ ลิขิตอนุสรณ์’ ใช้เป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมที่เขาให้ชื่อว่า Transcultural Sound Healing หรือนอนฟังเสียง ตื่นมาคุยกัน ที่ใช้ ‘เสียง’ ของเครื่องดนตรีที่เดินทางมาจากที่ต่างๆ เป็นประตูสู่การเยียวยาด้วยวิถีข้ามวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของ PLACEBo CLUB: weird stuff that helps พื้นที่ที่ใช้ในการดูแลร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ผ่านวิธีการหลากหลายรูปแบบที่วริศและเพื่อนๆ ร่วมกันก่อตั้งขึ้น

วริศเชื่อว่า เสียง ดนตรี และการสนทนา จะมีส่วนช่วยเยียวยาหลายปัญหาที่หลายคนต้องรับมืออยู่ได้

“เราสนุกกับการหาเสียงใหม่ไปเรื่อยๆ”

“ตอนเด็กๆ เราเติบโตมาในห้องดนตรีไทยของโรงเรียน ตั้งแต่ประมาณ ม.1 แต่เป็นห้องดนตรีที่เครื่องดนตรีหลายอย่างพัง ไม่มีใครเล่นเครื่องสาย ถ้าจะมีคนเล่นก็เล่นแต่ปี่พาทย์หรือระนาด ไม่มีสมาชิกในชมรมนี้เลย มีเราคนเดียวกับครูอีก 4-5 คน เวลาเราอยากเล่นเครื่องอะไรก็ต้องเอาเครื่องเหล่านั้นกลับไปซ่อม มีทั้งเอาไปหาช่างหรือเอากลับบ้านไปลองซ่อมเอง

“ห้องดนตรีไทยห้องนั้นพาเราไปเจอกับกู่เจิง มันทำให้เรารู้จักสายกับเสียงที่มาจากสาย แล้วก็ทำให้เรารู้จักอะไรอีกหลายๆ อย่าง ทำให้เรารู้ว่าวัตถุชนิดไหนตกกระทบกับเหล็กแบบไหนแล้วเกิดเสียงอย่างไร ส่วนนี้นี่ละที่มันสนุก สนุกกว่าการซ้อมเพลงอีก เราสนุกกับการหาเสียงใหม่ไปเรื่อยๆ จนพอ ม.3 ต้องตัดสินใจว่าจะเรียนต่อทางไหนตอนม.ปลาย จะเรียนดุริยางคศิลป์เลยหรือเปล่า ตอนนั้นคิดอยู่ 3 อย่างคือ บวช ดุริยางคศิลป์ หรือทำกราฟิก เพื่อจะได้หาเงิน ช่วยที่บ้านด้วย สุดท้ายตอนนั้นก็เลือกกราฟิก

“การไม่ได้เรียนดุริยางคศิลป์ตอนนั้นก็เป็นเรื่องเศร้านะ ย้อนกลับไปคิดแล้วเราเพิ่งมาเศร้าตอนนี้ เราเรียนรู้ดนตรีหลายวัฒนธรรม อย่างดนตรีอิหร่านหรือเปอร์เซีย บ้านเขาเล่นดนตรีของตัวเองเยอะกว่าดนตรีสากล หรืออย่างอินเดีย นักดนตรีที่นั่นคนในสังคมก็เคารพ เขาใช้วัฒนธรรมของตัวเองเป็นอาชีพได้ มีหลากหลายวัฒนธรรมมากบนโลกนี้ที่เครื่องดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจริงๆ ใช้เป็นอาชีพได้ ไม่ได้ดับฝันคนที่อยู่ในวัยเด็กว่า ทำไม่ได้หรอก ทำแล้วใครจะมาฟัง พอเรารู้สึกว่ามันไม่มีคนฟัง เราก็ถามตัวเองว่าแล้วเราจะเล่นไปทำไมวะ เราจะเล่นให้ตัวเองฟังไปได้อีกนานแค่ไหน เราก็เลยทิ้งมันไป

“แต่พอเราหยิบขันกลับมา สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันกลับมาหมดเลย มือเราเคยฟังก์ชันอย่างไรเวลาเล่นดนตรีก็กลับมา แล้วมันทำให้เรารู้สึกอยากกลับไปต่อกับธรรมชาติข้างในของตัวเองว่าเราเจออะไรบ้าง”

“ข้อมูลที่ส่งผ่านเสียงมันตรงไปตรงมากว่าภาษามาก”

“เราไม่รู้เลยว่าทำไมถึงต้องเป็นขัน แต่ตอนนั้นจำได้ว่ามีคืนที่นอนไม่หลับถึง 7 โมงเช้า แล้วก็เลื่อนเฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ จนเจอร้านหนึ่งชื่อ Kim Antique เราก็โทรไปถามเขาว่า วันนี้ร้านเปิดไหมครับ เขาก็บอกว่าไม่เปิดนะครับเพราะเป็นช่วงโควิด แต่วันนี้จะเข้าไปจัดของที่ร้านพอดี อยากดูไหม เราก็เลยไป แล้วก็ได้เจอคนที่ถือว่าเป็นครูคนแรกของเราเลยในเจอร์นีย์ของขัน ซึ่งก็คือคุณคิม เจ้าของร้าน เขาเรียนเรื่องขันแล้วก็ทำเรื่องนี้มานานมาก ตั้งแต่ยังไม่มีคนสนใจและทำมาโดยตลอด เข้าใจว่าเราน่าจะเป็นคนที่เขาสอนและแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องนี้จริงๆ จังๆ คนสุดท้าย

“ไปถึงที่ร้าน เขาก็เอาขันจิ้มหลัง แล้วก็สวดมนต์เสียงต่ำๆ ใส่ เราก็รู้สึกว่า อะไรวะเนี่ย แต่ภายใต้ความวะเนี่ย เราเห็นความปรารถนาดีมากๆ เห็นความไม่กลัวว่าเขาจะตัดสินเสียงเราอย่างไร คือหลายคนไม่กล้าร้องเพลง ไม่กล้าสวดมนต์ ไม่กล้าพูด เพราะกังวลว่าเสียงตัวเองจะดีหรือเปล่า แต่คุณคิมเขาไม่กลัวว่าเราจะสงสัยเขา ไม่กลัวว่าเราจะมองว่าเขางมงายหรือเปล่า ไม่กลัวว่าเสียงเขาจะดีหรือไม่ดี แต่เขามีความปรารถนาดีจนเรารู้สึกว่า ความกล้าตรงนั้นมันเป็นแรงบันดาลใจให้กับเรา

“หรือมีอีกครั้งหนึ่ง เราเริ่มทำงาน Healing แรกๆ แล้วทำงานกับน้องคนหนึ่งเขาเศร้ามากๆ จนวันรุ่งขึ้นตื่นขึ้นมาแล้วเราเศร้าแบบไม่มีสาเหตุ ไม่รู้ว่าเศร้าอะไร Healer บางคนอาจจะบอกว่า เป็นเวรกรรมของคนอื่นติดมา ซึ่งเราไม่เชื่อในอะไรแบบนี้ เราเชื่อว่ามันคือ Overwhelmed Empathy นึกถึงเวลาเราดูหนัง เรายังร้องไห้ได้เลย แล้วนี่เราอยู่กับมนุษย์จริงๆ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มันมีการแชร์กัน มีบางอย่างที่เชื่อมโยงกันอยู่

“ตอนนั้นเราก็ไปหาครูคิมแล้วถามเขาว่า เวลาเราทำอะไรแบบนี้แล้วเป็นอย่างนี้ เราต้องมีวิธีจัดการตัวเองอย่างไรไหม เขาก็หยิบฆ้องหรือฉาบนี่ละ บอกว่าใช้ในการชำระล้างความรู้สึกที่ไม่ดีได้ แล้วก็ตี เสียงดังฉิบหาย (หัวเราะ) ตกใจมาก ตกใจแล้วก็ตาสว่างเลย หายจริง หายแบบอยู่ๆ มันก็สว่างวาบขึ้นมา เราว่ามันไม่เหนือธรรมชาติเลยนะ เป็นเรื่องปกติมากเลย การมีของแบบนั้นมาตีใกล้ๆ เป็นใครก็ตกใจ แต่วินาทีนั้นคือเข้าใจเลยว่า มันคือ Sound Healing เราเพิ่งหลุดจากอารมณ์ความรู้สึกเมื่อกี้นี้ได้ด้วยเสียงตีเพียงครั้งเดียว

“เราว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ยืนยันเลยว่า Sound Healing มันไม่ใช่เรื่องคอร์ดเอไมเนอร์ คอร์ดบีเซเว่น หรือคอร์ดอะไรเลย มันคือเรื่องของเสียง เพราะเสียงเป็นสัญลักษณ์ของมูฟเมนต์บางอย่าง แล้วบางทีมันทำงานแบบเราส่งสัญลักษณ์เข้าไปก่อน มูฟเมนต์จะเกิดขึ้นตามมา

“ปกติเวลาคนเรารู้สึกอะไร อย่างเวลารู้สึกเศร้า มันมีเสียงของความเศร้า เวลารู้สึกโกรธ มันก็มีเสียงของความโกรธ มันมีเสียงตลอด แล้วเสียงเหล่านี้คนรอบข้างได้ยินนะ อย่างเรานั่งอยู่ในห้อง มีคนเดินเข้ามาในห้อง แล้วเราได้ยินเสียง เฮ่อ เราจะรู้ว่า โอ๊ย มึงเป็นอะไร เดี๋ยวกูเป็นไปด้วยหรอก มันมีการส่งผ่านกันตลอดเวลา ข้อมูลมันส่งผ่านเสียงได้

“แล้วข้อมูลที่ส่งผ่านเสียงมันตรงไปตรงมากว่าภาษามาก ภาษาสามารถบอกว่า ฉันรักเธอ แต่จริงๆ แล้วในใจแปลว่า กูอยากได้เงินจากมึง ได้ แต่เสียงมันทำไม่ได้ เราหลอกกันแบบนั้นไม่ได้ เราดีดนิ้วแล้วให้มันเป็นเสียงปรบมือไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราสามารถใช้สิ่งนั้นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงอารมณ์และร่างกายได้

“พอเห็นอย่างนั้น เราเริ่มใช้ขันหลากหลายขึ้น ไม่ได้สนใจเลยว่ามันจะเป็นโน้ตอะไร เราสนใจว่าโน้ตไหนจะนำพาให้คนเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร เราจะเห็นความรู้สึกต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นและมันต่างกันอย่างชัดเจน ยิ่งเราเห็นความต่างนั้นชัด ยิ่งเรารู้สึกกับมันมาก หมายความว่าเรามีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงอารมณ์หรือจินตนาการบางอย่างข้างในได้เสมอ

“จริงๆ นี่ก็คือวิปัสสนา เพราะเราทำเพื่อเปลี่ยนแปลงข้างในตัวเอง”

จุดประสงค์ของเราคือทำอย่างไรให้คนเชื่อมโยงกับเครื่องดนตรีและทำหน้าที่แทนร่างกายของเขาได้”

“Sound Healing มันต่างจากการเล่นดนตรีแบบที่เป็นคำว่า Music เพราะ Music คือการที่เราต้องการแสดงความงามออกไป แต่สิ่งที่เราทำกับ Sound Healing คือเราตอบกลับพลังงาน ความต้องการ หรือมูฟเมนต์ที่เขาส่งออกมา เราอยู่กับพลังงานที่เป็นธรรมชาติของตัวเขา แทบจะไม่ได้เล่นเพื่อความสวยงาม แต่เล่นเพื่อตอบต่อเขาเพียงคนเดียวเท่านั้น

“เราไม่เห็นด้วยว่า เราควรจะเล่นดนตรีให้ทุกคนเหมือนกัน แต่ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จเป็นซูเปอร์สตาร์หรืออยากเป็นนักดนตรีมีค่าย นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของผม เพราะจุดประสงค์ของผมคือทำอย่างไรให้คนเชื่อมโยงกับเครื่องดนตรีในฐานะที่มันทำหน้าที่แทนร่างกายของเขาได้ แทนสภาวะอารมณ์ของเขาได้ โดยที่ไม่ได้ต้องมีคำว่า เล่นเป็น เข้ามาอยู่ในชีวิต การเล่นคือการเล่น เราอยากโฟกัสตรงนั้น

“เราเรียนรู้โลกทั้งใบผ่านการเล่น อย่างตอนที่เราพูดภาษาได้แรกๆ เราเล่นปากตัวเอง แต่พอโตขึ้นเราไม่เล่นนะ เราเล่นไม่ได้ ทุกอย่างต้องเป็นมืออาชีพ พอเป็นอย่างนี้ปุ๊บ พลังชีวิตมันแห้ง มันไม่เหลือ แล้วก็เกิดเป็น Existential Crisis นี่กูเกิดมาทำไม มันถูกตั้งคำถามไปหมดว่าเราต้องทำสิ่งนี้เพื่ออะไรบ้าง พอเราไม่เล่น พลังชีวิตมันก็หาย เพราะจริงๆ แล้วมันคือธรรมชาติของเรา มันคือวิธีการที่พลังชีวิตแสดงออกมา ความสงสัยแสดงออกมา

“เราพบว่าปัญหานี้จะเป็นมากเป็นพิเศษในคนกรุงเทพฯ คนต่างจังหวัดไม่ค่อยเป็นนะ บางทีเขาก็เล่นเฉยๆ หรืออย่างเวลาไปเรียนดนตรีหลายวัฒนธรรม ไม่ค่อยมีใครถามว่าเรียนไปทำอะไร เขาก็รู้กันโดยบรรทัดฐานว่าก็เล่นไง มันต้องตั้งคำถามด้วยเหรอ

“แต่คนที่มาแล้วไม่เล่นก็มีนะ มันมีเหตุผลต่างๆ กันไป อย่างมีคนหนึ่งเป็น HR เขามาดูว่าจะเอากิจกรรมนี้ไปทำ Group Therapy ที่บริษัทดีไหม เราก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นมาลองสาธิตกัน เป็นเอ็กเซอร์ไซส์ง่ายๆ เขาก็ตี ตีแค่ 2 ครั้งแบบนี้ แล้วก็ทำเหมือนตีเสร็จแล้ว ซึ่งผมวิเคราะห์เขาว่า สภาวะที่เขาไม่กล้าไปต่อเพราะว่าเขารู้สึกว่าไม่อยากให้ตัวตนที่แท้จริงของเขาปรากฏขึ้นที่นี่ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ตัวตนที่แท้จริงของ HR ปรากฏขึ้น อำนาจในการประเมินของเขาจะลดลง คือความเป็นมืออาชีพทำให้เขารู้สึกว่าฉันประเมินเธอได้ เธอต้องไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับฉัน ฉันจะต้องเหนือกว่าเธอ การที่ฉันเหนือกว่าเธอแปลว่าฉันรู้ข้อมูลของเธอ เธอไม่ข้อมูลของฉัน นี่ฉันกำลังประเมินเธออยู่

“แต่เสียงเดียวกันที่เขาตี 2 ครั้งแล้วหยุดนั่น สภาวะนี้มันบอกได้อีกอย่างว่า เขากำลังจะทำบางอย่างแล้วก็คิดว่าไม่เอาแล้วดีกว่า คำถามของเราก็กลับไปที่หลักการหลักของ Indian Music Therapy เลย ก็คือ Sound is the symbol of movement. เสียงนี้เป็นสัญลักษณ์ของอะไรในใจเขาที่ไม่ใช่เรื่องนี้ คนคนหนึ่งเวลาอยู่ในจังหวะแบบนี้ มันจะอยู่ในจังหวะแบบนี้กับหลายเรื่อง การที่เขาตีแค่นี้มันไม่ใช่แค่เรื่องนี้ แต่มันมีเรื่องอื่นอยู่ในใจด้วย เราก็ถามเขาว่า กำลังจะลาออกหรือเปล่าครับ เขาก็ยิ้มแล้วตอบว่า ใช่ เขากำลังจะลาออกจริงๆ เพราะฉะนั้นที่เขาไม่เล่นเพราะเขาเป็น HR ที่ต้องประเมินคนอื่นเข้าไปทำงาน มันเลยยิ่งต้องไม่แสดงออกว่ากำลังจะลาออก

“หรือบางคนเล่นกับเรา แล้วเราบอกว่า กลับบ้านไปเล่นกับแฟนได้นะ เราก็บอกแฟนเขาว่าเล่นด้วยกันอย่างนี้ๆ นะ เดี๋ยวความสัมพันธ์จะได้ดีขึ้น กลายเป็นว่าพอกลับไป ผู้หญิงบอกว่าฉันไม่อยากเล่นกับเธอเพราะฉันกลัวเธอรู้ว่าฉันเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้บอกได้ว่าเขาเข้าใจเอ็กเซอร์ไซส์นี้มากเลยนะ เพราะการที่เขาปฏิเสธที่จะเล่นนั่นคือเขารู้ว่าถ้าตีปุ๊บ เดี๋ยวตัวตนที่แท้จริงของเขาจะออกมา เป็นการปฏิเสธโดยรู้ว่าปฏิเสธอะไรอยู่ ซึ่งเราโอเคมากกับสิ่งนี้

“คนที่ไม่ยอมเล่นจะมีอีกประเภทคือคนที่มองภาพของที่นี่เป็น Wellness Center ซึ่งช่วงหลังๆ เราก็ไม่ค่อยเจอแล้วเพราะเราไม่ได้วางตัวแบบนั้น แต่คนที่รับบริการที่คิดแบบนี้ก็จะรู้สึกว่าเธอต้องบริการฉันสิ ทำไมต้องถาม ต้องคุยว่ารู้สึกอะไร ตีๆ ขันไปไม่ได้เหรอ ซึ่งมันก็ได้ แต่เรารู้สึกว่าแบบนั้นมันไม่ได้อะไร หรือเราไม่ได้ใช้สิ่งที่เราต้องการเสนอให้จริงๆ แล้วมันก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือ Transformation”

“เวลาคนเราเลือกอะไรเข้ามาในชีวิต มันมีความหมายบางอย่างเสมอ”

“หนึ่งในกิจกรรมที่ทำ ผมจะให้เลือกเครื่องดนตรี อย่างเลือกเครื่องดนตรีในห้องนี้ที่ชอบที่สุด เลือกเครื่องดนตรีที่เป็นหนัง และเลือกเครื่องดนตรีที่ไม่ชอบ เพราะปกติแล้วเวลาคนเราเลือกอะไรเข้ามาในชีวิต มันมีความหมายบางอย่างเสมอ ต่อให้เป็นการเลือกชั่วคราวก็ตาม

“มีเคสที่ชัดเจนมากๆ อย่างเช่นในขณะที่เขารู้สึกว่าไม่มีใครให้พึ่งพาได้ เขาก็จะไม่หยิบอะไรเล็กๆ แต่จะเดินไปที่ออร์แกน แล้วมักจะถามว่า อันนี้ได้ไหม เพราะมันดูใหญ่และไม่รู้ว่าเลือกอันนี้ได้หรือเปล่า จริงๆ แล้วระหว่างที่เขาเลือก ผมก็ดูว่าเขาพิจารณาอย่างไร เขาลังเลมากไหม เขาทรีตเครื่องดนตรีแบบไหน หรือว่าเป็นคนมี Boundary ขนาดไหน

“สมมติคนคนหนึ่งหยิบเครื่องดนตรีขึ้นมาทดสอบว่าเป็นอย่างไรได้บ้าง แล้วก็ทดสอบดูแบบนี้ (เคาะทีเดียว) เทียบกับแบบนี้ (เคาะต่อเนื่องกันหลายที หลายจังหวะ) แค่นี้มันก็บอกแล้วนะ ที่จริงบางทีเราก็ไม่ดูว่าเขาเลือกเครื่องไหน แต่จะดูว่าเขาเลือกอย่างไร แต่บางทีตัวเครื่องก็บอกบางอย่างจริงๆ เราเลยใช้ทั้งสองมุม ทั้งมุมที่เป็นการสังเกตและมุมที่บางทีเราใช้เครื่องดนตรีแทนไพ่ออราเคิล เครื่องดนตรีแต่ละเครื่องจะมีประวัติของเขา เหมือนไพ่ออราเคิลที่แต่ละใบจะมีรูปภาพ มีเรื่องราว เวลาที่เราสุ่มออกมา รูปภาพนั้นอาจเล่าถึงเรื่องราวบางอย่างในชีวิตเราได้ เครื่องดนตรีเองก็เหมือนกัน ในห้องนี้มีเครื่องดนตรีหลากหลายมาก แล้วทุกเครื่องมีประวัติ การที่เราเดินไปหยิบอะไร จักรวาลอาจจะกำลังบอกอะไรบางอย่างกับเราอยู่

“แต่ในทางตรงกันข้าม กับหลายๆ คนเราจะไม่อยู่ตอนที่เขาเลือก เพราะเรารู้ว่าเขาก็สังเกตการณ์เราอยู่เหมือนกัน ก็เลยคิดว่ากลับมาดูอีกทีตอนที่เลือกแล้วจะดีกว่า เพราะเราไม่ต้องการให้เอฟเฟกต์นี้มารบกวนการทำงานกับตัวเองของเขา

“ส่วนเรื่องระยะเวลาที่แต่ละคนอยู่กับเครื่องดนตรีได้นานแค่ไหน มันบอกจังหวะของชีวิต อย่างเช่นมีคนหนึ่งมาถึงเขาบอกเลยว่า พี่เป็นคนไม่ฟังนะ เป็นคนใจร้อนมาก เราเลยชวนมาตีกลองกัน ตอนแรกเราก็คิดว่าเขาน่าจะตีนานแน่ๆ ปรากฏว่าตีแป๊บเดียวจบ แต่นี่คือการบอกจังหวะของเขา บอก Shortage อย่างถ้าเขาโดนจู่โจมก็จะโมโหมาก อาจจะต่อยกลับเลย มันไม่มีจังหวะของการใคร่ครวญต่างๆ

“หรืออย่างคนที่อยู่กับเครื่องดนตรีได้นาน แม้กระทั่งเครื่องที่ไม่ชอบ มันอาจจะแปลได้ถึงความอดทนบางอย่าง การทำงานกับรายละเอียดบางอย่าง ความใส่ใจบางอย่างที่อยู่ข้างในตัวเขา เหมือนเขาสื่อสารผ่านเครื่องดนตรีว่า ฉันอาจจะไม่ชอบเธอ แต่ฉันก็อยากจะรู้จักเธอมากกว่านี้ อยากรู้ว่าฉันไม่ชอบจริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นทั้งวิธีเลือก เครื่องดนตรีที่เลือก และระยะเวลาที่เลือกจะอยู่กับเครื่องดนตรีนั้นมันมีความหมายหมด”

“การวางขันก็เหมือนเป็นการทำงานบนร่างกาย บนอารมณ์ความรู้สึกของคน”

“การใช้ขันในการทำ Sound Healing เราต้องเข้าใจก่อนว่า ขันนี่เราควบคุมเรื่องโน้ตไม่ได้ และต่อให้โน้ตมันตรง คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าโน้ตตัวไหนจะ Resonate กับร่างกายของแต่ละคน เพราะร่างกายคนเราทุกคนไม่ได้เหมือนกัน หัวใจเราไม่ได้เต้นด้วยจังหวะเดียวกัน เพราะฉะนั้นมันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะใช้โน้ตของตัวเองในการคิดว่าอันนี้ต้องอยู่ตรงนั้นตรงนี้

“แต่ในตำรามีบอกไว้ว่า มันมีความเป็นไปได้ว่า เสียงที่ต่ำกว่าจะทำงานกับบริเวณที่ต่ำกว่าในร่างกาย อย่างเอว ช่วงล่าง เท้า แต่เวลาเราได้ยินเสียงที่สูงขึ้นไป คำว่า ปิ๊ง มันเหมือนมีแสงไฟ ทำไมแสงไฟมันขึ้นบนหัว ทำไมเวลาคนคิดอะไรออก มันวิ่งขึ้นข้างบน ไม่วิ่งลงข้างล่าง นั่นเพราะเสียงสูงมักจะทำงานกับครึ่งบน ในขณะที่เสียงต่ำมันทำงานกับครึ่งล่างมากกว่า

“ในขณะเดียวกัน มันไม่จำเป็นว่าพอเสียงต่ำทำงานกับร่างกายช่วงล่างแล้วเราจะต้องเอาขันเสียงต่ำมาวางไว้ที่ส่วนล่าง ไม่จำเป็นเลย เพราะไม่ว่าจะวางตรงไหน ถ้าเสียงมันจะทำงานก็คือทำงาน แล้วระยะของการทำงานก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบของเราว่าต้องการแบบไหน หมายความว่า เราเอาเสียงต่ำไปเล่นข้างบนก็ได้ หรือเอาเสียงสูงไปเล่นข้างล่างก็ได้ ถ้าเราต้องการเอฟเฟกต์บางอย่าง เราอยากให้เสียงมันส่งมูฟเมนต์หรือสร้างเส้นทางในการเดินทางในร่างกายของเขาอย่างไรก็วางขันในแบบนั้น เหมือนวาดรูปการเดินทางของเสียงว่าเสียงไหนจะวิ่งไปทางไหน

“คราวนี้มันก็ขึ้นอยู่กับการทำงานของอะนาโตมีในใจแล้วว่า อารมณ์ของคนนี้อยู่ในส่วนไหนของร่างกายเขา แล้วเราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับเขา มันก็จะออกมาในรูปแบบของการวางขันแต่ละที่ แต่อย่างแรกเลยคือตัว Healer เองต้องรู้จักขันของตัวเองมากๆ ก่อน อันนี้เป็นเหตุผลว่าเวลาเราสอนเรื่องขัน เราจะไม่แนะนำให้ใครซื้อขันเป็นเซ็ตเลย เพราะถ้าคุณซื้อเป็นเซ็ต คุณจะไม่รู้จักขันของคุณทีละใบ เราจะแนะนำให้อยู่กับขันทีละใบจนมั่นใจรู้จักมันแล้วและต้องการเสียงอื่นเพิ่มจริงๆ แล้วต้องนึกออกด้วยนะว่าจะเอาเสียงอื่นมาทำอะไร ถึงค่อยเอาขันมาเพิ่ม มันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับขัน

“ทั้งหมดนี้ทำให้เวลาที่เราวางขัน มันไม่ได้มีฟอร์มที่ตายตัว แต่เราจะมีขาประจำอยู่ อย่างเรารู้ว่าขันนี้เราใช้ในการ Cut Off เขาจากเสียงภายนอก หรือขันเล็กๆ จะทำให้คนที่กลัวจินตนาการของตัวเองตอนนี้หลุดออกมาจากภาพที่คลุมเครือ เราจะรู้ว่าขันไหนมีฟังก์ชันไหน และทำไมเราจึงต้องเอามันไปวางไว้ตรงนั้น การวางขันก็เหมือนการวาดภาพ การแต่งบทกวี แต่เป็นการทำงานบนร่างกาย บนอารมณ์ความรู้สึกของคน”

“มันจำเป็นที่เราจะต้องยอมรับว่า สิ่งที่เราทำมันเป็น Healing และจำเป็นที่จะยอมรับว่า เราเป็น Healer เพื่อความรับผิดชอบ”

“ถามว่าทุกวันนี้เรียกตัวเองว่าอะไร เราว่ามันยากมากเลยเพราะตอนนี้เราก็กำลังตั้งคำถามต่างๆ นานา เพราะมันมาด้วยความรับผิดชอบไม่มากก็น้อย ก็ต้องยอมรับว่าเราเป็น Healer เพื่อที่จะยอมรับในสิ่งที่ Healer ต้องรับผิดชอบ เราไม่อยากจะพูดว่า ไม่ ฉันไม่ใช่ Healer เวลาเราพูดแบบนี้ เรากลัวอะไร เราไม่อยากรับผิดชอบเขาเวลาที่เห็นเขาไม่หายหรือเปล่า

“แต่เราคิดว่ามันจำเป็นที่จะต้องยอมรับว่า สิ่งที่เราทำมันเป็น Healing และจำเป็นที่จะต้องยอมรับว่าเราเป็น Healer เพื่อที่จะให้คนอื่นเรียกร้องความรับผิดชอบคืนได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เราไม่ควรจะหนีมัน

“แต่ในบางบริบทที่บอกว่าไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็น Healer นั่นอาจเป็นเพราะว่าเราไม่อยากถูกเหมารวม เพราะเราไม่แน่ใจว่านิยามคำนี้ของแต่ละคนมันตรงกันไหม อย่างบางคนขายของชิ้นหนึ่งให้คนคนหนึ่ง แล้วคนคนนั้นรู้สึกดีขึ้น บางทีคนที่ขายก็เรียกตัวเองว่า Healer แล้วและบอกว่านี่คือ Healing ซึ่งถ้านิยามของเขาเป็นคนแบบนั้น เราจะรู้สึกว่าเราไม่ใช่ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เราทำนะ แล้วก็เราก็ไม่รู้ว่าในสังคมที่เราอยู่ ในบริบทไหน คนมองว่า Healer คืออะไรกันแน่

“แต่ถ้ากับคนที่อ่านสิ่งนี้ เราค่อนข้างมั่นใจว่า คำว่า Healer ตรงกับเรา และถ้าความเข้าใจของคุณเป็นอย่างนั้น Healing Process หรือการเยียวยารักษาทางจิตวิญญาณหรือร่างกาย หรือการทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกดีขึ้นทั้งภายในและภายนอก เกิดการพัฒนา เกิดการเรียนรู้บางอย่าง เกิด Transformation ใช่… เราทำอย่างนั้น แล้วนั่นคือความรับผิดชอบของเรา ณ วันนี้ผมโอเคกับคำว่า Healer เพราะผมพร้อมที่จะรับผิดชอบในคำนี้

“สมมติถ้าเราไปคลับคนรวย มีลูกคนรวยมารวมกัน มีคนซื้อขันเซ็ตนี้ราคาสิบล้าน มีคนเอาหินคริสตัลยี่สิบล้านมาวาง แล้วบอกว่า ฉันกำลังใช้วัตถุเหล่านี้ Heal เธอนะ เธอต้องการมารับ Vibration ที่ดีจากฉัน ถ้าเราอยู่ในบริบทนั้น วันนั้นก็จะบอกว่าตัวเองไม่ใช่ Healer เพราะเราไม่ได้ทำสิ่งเดียวกัน

“สิ่งที่เราทำอยู่คือ ดูเครื่องดนตรีเหล่านี้สิ บางเครื่องพัง บางเครื่องก็ถูกมาก บางเครื่องได้จากโกดังมือสอง บางคีย์ก็ใช้ไม่ได้ แต่มันเวิร์ก มันทำให้คนดีขึ้น มันเหมือนชีวิตน่ะ คุณไม่ได้มีครบทุกอย่างในทุกๆ วัน แต่คุณก็ฟังก์ชันได้ อย่างคีย์ที่พังแล้วเราตั้งใจไม่ซ่อมเพราะเวลาที่คนเข้ามาที่นี่ เราไม่ได้ต้องการเอฟเฟกต์ที่ว่า โห ของแพง ตื่นเต้นแป๊บเดียวพอ แล้วมองเข้าไปลึกๆ ว่า จริงๆ มันก็เหมือนกูนี่หว่า มันก็ Broken เหมือนกัน มีบางส่วนที่ไม่เรียบร้อย ไม่สวยงามเหมือนกัน แต่จนจบกระบวนการมันก็ทำงานกับคุณได้ เราอยากให้เขาเห็นอย่างนั้น อยากให้ความพิเศษมันอยู่กับคน ไม่ใช่กับของ ให้เขาเห็นว่าตัวเองเล่นได้ ทำอะไรด้วยตัวเองได้

“ปกติพอมาทำด้วยกันสัก 2-3 ครั้ง เรามักจะบอกว่าไม่ต้องกลับมาแล้ว เพราะคำถามที่คนถามบ่อยคือต้องกลับมาบ่อยขนาดไหน ซึ่งจริงๆ ไม่ต้องกลับมาเลยก็ได้ ถ้าทุกอย่างมันโอเคแล้ว หรือยกเว้นว่าถ้าร่างกายข้างในอยากหาคำตอบบางอย่าง ยังอยากลองบางอย่าง ก็กลับมาได้ แต่เราไม่เชียร์ให้กลับมา เพราะถ้าดีลกับตัวเองได้ก็คือดี แต่ว่าถ้ารู้สึกว่าดีลไม่ได้แล้วสิ่งนี้จะช่วยได้ก็กลับมาได้ เราว่านั่นคือโจทย์ที่เราต้องซื่อสัตย์ เพราะเราไม่ได้ทำงานเพื่อให้เขากลับมาเราเรื่อยๆ

“ตั้งแต่ทำงานมาหลายๆ อย่าง การใช้เสียงเยียวยาคนเป็นงานที่รู้สึกว่าดีที่สุดแล้ว เพราะอย่างเวลาเราขายของ ลึกๆ เราก็รู้สึกว่ามันดีจริงหรือเปล่า แต่มันพูดไม่ได้ หรือเวลาเราทำสื่อ สื่อของเราดีจริงไหม มันมีคำถามแบบนั้นตลอดเวลา หรือถ้าเราทำงานให้บริษัท ให้นายทุน เราไม่รู้ว่าปลายทางจะไปจบที่ตรงไหน เรากำลังเอาชีวิตของเราไปเพิ่มพลังชีวิตให้อะไร ให้ใคร

“แต่เวลาทำ Healing เราไม่มีคำถามเลยนะ เพราะเราเห็นว่าตรงหน้าคือใคร เขาเป็นอะไร เขาเผชิญปัญหาอะไรมา แล้วโจทย์ในการทำให้ดีขึ้นมันเห็นตรงหน้า ณ วันนั้นน่ะ บอกเลยว่าถ้าเป็นเคสปกติที่มากัน เรารู้สึกดีมาก ชอบมาก และเราว่ามันเป็นประโยคที่ยิ่งใหญ่ที่เราจะพูดว่า เราทำอาชีพนี้ได้จนตาย เรารู้สึกว่าเราตายด้วยอาชีพนี้ได้ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่เกิดขึ้นกับอาชีพอื่นที่เคยทำมา ต่อให้ในอนาคตจะมีเรื่องอื่นที่เราสนใจ แต่เครื่องมือหรือสิ่งนี้ที่เราทำ มันอยู่กับเราไปจนตายได้”

Writer
Avatar photo
พนิชา อิ่มสมบูรณ์

นักเขียนที่ชอบบอกทุกคนอย่างภูมิใจว่าเคยเป็นครูอนุบาลและยังชอบเล่นกับเด็กๆ อยู่ แต่ชอบคุยกับคนทุกวัยผ่านงานสัมภาษณ์ ส่วนชีวิตอีกด้านเป็นโอตาคุกีฬาโอลิมปิกและการ์ตูนญี่ปุ่น

Photographer
Avatar photo
อนุชิต นิ่มตลุง

ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว จนถึงสารคดี ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision เพิ่งตัดสายสะดือเป็นคุณพ่อหมาดๆ เมื่อเมษาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563)

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts