ควรแทนตัวเองว่าอะไร เมื่อไม่มีคำไหนที่เรารู้สึก ‘เท่าเทียม’ : คุยเรื่องสรรพนามที่ช่างซับซ้อนเหลือเกินกับ ‘ครูทอม’ จักรกฤต โยมพยอม

ควรแทนตัวเองว่าอะไร เมื่อไม่มีคำไหนที่เรารู้สึก ‘เท่าเทียม’ : คุยเรื่องสรรพนามที่ช่างซับซ้อนเหลือเกินกับ ‘ครูทอม’ จักรกฤต โยมพยอม

  • ‘สรรพนาม’ สิ่งที่เราพูดกันอยู่ทุกวัน และสร้างความหนักใจในบางครั้งว่าจะเลือกแทนตัวอะไรดี เพราะไม่ใช่แค่ความสบายใจของเรา แต่รวมถึงคนตรงข้ามด้วย
  • หยิบเรื่องนี้มาคุยกับ ‘ทอม’ จักรกฤต โยมพยอม หรือ ‘ครูทอม คำไทย’ หนึ่งในผู้หลงใหลและเชี่ยวชาญการใช้ภาษาไทย
  • “ตัวผมเอง ก่อนหน้านี้ก็เคยรู้สึกแปลกๆ กับคำสรรพนามใหม่ๆ แต่เราก็ยอมรับมากขึ้น คิดว่าต่อไปคนอื่นจะยอมรับสิ่งเหล่านี้มากขึ้นด้วยเหมือนกัน” 

คุณแทนตัวเองว่า ‘หนู’ ครั้งล่าสุดเมื่อไร? 

ถ้าเราถามเด็กๆ หรือผู้ใหญ่บางคนคงตอบได้ทันทีว่า เพิ่งพูดกับแม่ไปเมื่อตะกี้ บางคนอาจจะต้องใช้เวลานึกนานสักหน่อยว่า ครั้งล่าสุดที่เราแทนตัวเองว่า ‘หนู’ คือช่วงไหน ตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นเด็ก? 5 ปีที่แล้ว? หรือ 10 ปีที่แล้ว?  

ถึงอย่างนั้น ไม่ว่าเมื่อไร เราก็ยังคงได้ยินคำว่า ‘หนู’ จากคนทุกช่วงวัย ถ้าพูดว่าคำนี้เป็นสรรพนามสุดคลาสสิกที่ใช้ได้หลากหลายวัยก็คงไม่ผิด

แต่สำหรับบางคน คำนี้กลับทำให้รู้สึกว่ายังไม่โตหรือรู้สึกด้อยกว่า ความรู้สึกแบบนี้ก็ไม่ใช่ความรู้สึกที่แปลก เพราะในวันหนึ่งที่เราเติบโต เห็นโลกในมุมมองใหม่ๆ และมีประสบการณ์มากขึ้นตามโลกที่เปลี่ยนไป มุมมองของเราก็เปลี่ยนตามโลกที่เห็นด้วยเช่นกัน

“พอยุคสมัยมันเปลี่ยนไป ตอนนี้เราสนใจเรื่องความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น การที่ใครจะเกิดก่อน เกิดหลัง แก่กว่า เด็กกว่า มันไม่ได้ส่งผลต่อศักยภาพหรือความสามารถของคนนั้นๆ ก็เลยมีประเด็นขึ้นมาว่า บางคนไม่อยากแทนตัวเองว่าหนู เพราะรู้สึกว่ามันเป็นคำที่มีนัยยะของการกดทับตัวเรา”

ความคิดเห็นจาก ‘ทอม’ จักรกฤต โยมพยอม หรือ ‘ครูทอม คำไทย’ ถึงการเลือกใช้สรรพนามในภาษาไทย บริบทสังคมก็มีผลต่อการเลือกสรรพนามของเรา อย่างเช่นตอนนี้ที่ ‘ความเท่าเทียม’ กำลังเป็นประเด็นร้อนแรง ส่งผลถึงการเลือกใช้คำแทนตัวเองที่แสดงให้เห็นถึงความเท่ากัน ไม่มีฝ่ายไหนสูงหรือด้อยกว่า

ทอม – จักรกฤต โยมพยอม

นี่อาจเป็นอีกเหตุผลที่ว่า ทำไมหลายคนถึงไม่อยากใช้คำว่า ‘หนู’ เรียกแทนตัวเอง เพราะคำนี้มีผลต่อ ‘ความรู้สึกของเรา’ 

“บางครั้งผู้พูดเลือกใช้คำแบบนี้เพื่อตอบสนองความรู้สึกบางอย่างของตัวเอง โดยไม่ได้คำนึงว่าผู้รับสารเข้าใจคำศัพท์คำนี้มากน้อยแค่ไหน สิ่งนี้จึงทำให้เกิดปัญหาของการสื่อสาร”

ในฐานะคนที่หลงใหลและศึกษาภาษาไทยมานานหลายสิบปี ครูทอมเล่าว่า ภาษาไทยสะท้อนถึงความแตกต่างทางชนชั้นวรรณะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมนี้ แทรกซึมอยู่ในการใช้ชีวิตของเรา ทำให้การเลือกใช้คำสรรพนาม ไม่ได้มีแค่ตัวเรา แต่ยังคงมีเรื่องอื่นอย่าง ‘ความรู้สึกของคู่สนทนา’ และกรอบของสังคมที่ซ่อนอยู่ในทุกการพูดคุยของเราให้ได้ปวดหัวไม่แพ้กัน

“ตัวผมเอง ก่อนหน้านี้ก็เคยรู้สึกแปลกๆ กับคำสรรพนามใหม่ๆ แต่เราก็ยอมรับมากขึ้น คิดว่าต่อไปคนอื่นจะยอมรับสิ่งเหล่านี้มากขึ้นด้วยเหมือนกัน” 

บทสนทนาด้านล่างอาจเป็นลูกครึ่งระหว่างวิชาภาษาไทย 101 กับมุมมองการใช้สรรพนามของครูทอม ที่จะทำให้เราเข้าใจเรื่องสรรพนามมากขึ้น 

‘คำสรรพนามไทย’ เป็นอย่างไรในมุมมองของครูทอม

ผมว่ามีหลากหลายเหมือนคำทั่วไปนี่แหละ ด้วยความที่ภาษาไทยมีคำให้เลือกใช้เยอะมาก (เน้นเสียง) แถมมีแบ่งเป็นหลากหลายระดับ คำบางคำ ความหมายเดียวกันแต่มีคำให้เลือกใช้เยอะมากแล้วแต่บริบท ซึ่งคำสรรพนามก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เราเห็นลักษณะแบบนั้นเหมือนกัน

อย่างเช่น คำสรรพนามบุรุษที่ 1 ที่ใช้แทนตัวเรา ก็มีให้เลือกเยอะนะ แล้วแต่ละคำก็แสดงสถานะ ฐานะ และชนชั้นของคนพูดด้วย เช่น ฉัน ดิฉัน ผม กระผม คำพวกนี้ก็แสดงถึงความแตกต่างเรื่องเพศ หรือคำว่า ‘หนู’ ที่ใช้แล้วรู้เลยว่า คนพูดต้องเด็กกว่าหรือสถานะด้อยกว่า หรือถ้าเป็นคำว่า ‘อาตมา’ เรารู้เลยว่าคนนั้นเป็นพระ 

คำสรรพนามในภาษาไทยมีหลากหลายมาก ในขณะที่ภาษาอังกฤษมีแค่ ‘I’ สิ่งนี้สะท้อนให้เราเห็นถึงอะไร

สะท้อนให้เห็นลักษณะบางอย่างของวัฒนธรรมไทยครับ คือ เรื่องของชนชั้นวรรณะ การแบ่ง category ต่างๆ มันชัดมากเลย อย่างที่พูดไปตอนต้นว่า เราเลือกใช้คำสรรพนามแตกต่างกัน แสดงถึงเพศ ระดับอาวุโส และชนชั้นที่แตกต่างกัน

แปลว่าภาษาไทยให้ความสำคัญกับลำดับชั้นและเพศ

แน่นอนครับ ภาษาไทยเป็นตัวหนึ่งที่สะท้อนถึงเรื่องความแตกต่างทางชนชั้นวรรณะ ถ้าเราดูในหลายๆ มิติในประเทศนี้ ชนชั้นวรรณะเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และมันก็แทรกซึมอยู่ในทุกการใช้ชีวิตของเรา

ครูทอมเรียกแทนตัวเองว่าอะไรบ้าง

หู้ย หลากหลายมาก (ยิ้ม) แล้วแต่เลยว่าเราพูดกับใคร จริงๆ ขนาดพูดกับคนคนเดียว เรายังใช้สรรพนามไม่เหมือนกันเลย เช่น เวลาเราคุยกับเพื่อน บางครั้งก็แทนตัวเองว่า ‘ผม’ หรือบางครั้งหลุดเรียก ‘มึง กู’ ก็มี

เคยมีจังหวะคิดไม่ออกไหมว่าจะแทนตัวเองด้วยคำว่าอะไรดี เช่น ไปถามทางคนแปลกหน้า หรือมีจังหวะเอ๊ะกับการที่คนอื่นเรียกเรา ทำไมเขาถึงเรียกเราด้วยคำนี้ 

มี ช่วงมัธยมเราจะรู้สึกแปลกมากเวลาไปร้านอาหารแล้วพนักงานเรียกเราว่า ‘พี่’ เราก็สงสัยนะว่า ทำไมถึงเรียกพี่ เพราะความรู้สึกของเราในตอนนั้น การเรียกพี่มันต้องเรียกคนที่อาวุโสกว่า คนที่โตกว่าเรา 

พอเราโตขึ้น เห็นอีกมิติหนึ่งว่า คนที่ใช้คำว่าพี่ เขาไม่ได้ตั้งใจเรียกคนแก่กว่าเท่านั้น บางคนมองว่าคำนี้คือการให้เกียรติ อย่างพนักงานที่เรียกเราว่าพี่ เขาไม่ได้มองว่าเราแก่กว่า แต่เขาอยากจะให้เกียรติลูกค้าโดยการใช้คำนี้ 

มันมีมิติหลากหลายมากในการใช้คำสรรพนามแต่ละคำ ตอนที่ประสบการณ์เรายังน้อย ยังไม่รู้ว่าเขาใช้แต่ละคำเมื่อไหร่ อย่างไร แต่พอเราโตขึ้น มีประสบการณ์และเห็นสิ่งต่างๆ มากขึ้น เราก็เข้าใจมิติที่หลากหลายมากขึ้น

แล้วอย่างคำว่า ‘หนู’ ที่เป็นคำสรรพนามยอดฮิต คนใช้หลากหลายมากตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ เลยสงสัยว่า คำนี้มีที่มาจากไหน ใช่คำว่า ‘หนู’ ที่หมายถึง สัตว์ตัวเล็กๆ หรือเปล่า

เอาจริงๆ ไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ) ยังไม่เคยได้ศึกษาจริงจังเลยว่าคำนี้มีที่มายังไง แต่เท่าที่สังเกต ในการเล่าเรื่องวรรณกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับหนู เช่น ราชสีห์กับหนู หรือในนิทานชาดกที่มีหนูเป็นตัวละคร หนูจะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความตัวเล็กตัวจ้อย สู้คนตัวใหญ่ตัวโตไม่ได้ 

ฉะนั้น เราเอาคำว่าหนูมาใช้เรียกแทนตัวเอง ในการรับรู้ของคนที่ได้ยินจะรู้สึกว่า คนพูดกำลังแสดงว่าตัวเองอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่า ซึ่งคำว่า ‘ด้อยกว่า’ ในที่นี้ อาจจะไม่ใช่ความสามารถ ความรู้ ความคิด แต่อาจจะเป็นเรื่องอายุ 

หรือบางครั้งเขาอาจจะไม่ต้องการจะสื่อว่าตัวเองด้อยกว่านะ แต่กำลังยกย่องอีกฝ่ายแทนก็ได้ หรือบางคนก็พูดไปโดยที่ก็ไม่รู้สึกหรอกว่าตัวเองด้อยกว่า เด็กกว่า แต่เป็นสิ่งที่เราจำและทำต่อๆ กันมาว่า ถ้าเราคุยกับผู้ใหญ่ เราต้องใช้คำแทนตัวเองนี้เพราะเราเป็นเด็ก ซึ่งเขาไม่ได้คิดถึงขั้นว่า มันเป็นการแสดงถึงความด้อยกว่า แต่เป็นเพียงการรับรู้โดยทั่วไปว่านี่คือสรรพนามที่เด็กต้องใช้ 

แต่พอยุคสมัยมันเปลี่ยนไป ตอนนี้เราสนใจเรื่องความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ทุกคนเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน การที่ใครจะเกิดก่อน เกิดหลัง แก่กว่า เด็กกว่า มันไม่ได้ส่งผลต่อศักยภาพหรือความสามารถของคนนั้นๆ ก็เลยมีประเด็นขึ้นมาว่า บางคนไม่อยากแทนตัวเองว่าหนู เพราะรู้สึกว่ามันเป็นคำที่มีนัยยะของการกดทับตัวเรา

ครูทอมเคยแทนตัวเองว่า ‘หนู’ บ้างไหม

ไม่เคย (ลากเสียง) ไม่เคยใช้เลยครับ เรารู้สึกไม่คุ้น เพราะตั้งแต่ตอนเด็กๆ เราจะรู้สึกว่า คนที่ใช้คำนี้จะต้องเป็นเด็กหรือคนที่อาวุโสน้อยกว่า และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงด้วย มีบ้างที่เป็นเด็กผู้ชายใช้ ขึ้นอยู่กับความเคยชินของแต่ละครอบครัวด้วย แต่ครอบครัวเราไม่ได้ใช้คำนี้ 

แล้วครูทอมเรียกแทนตัวเองกับครอบครัวว่าอะไร

ตอนเด็กๆ กับพ่อแม่เรียกตัวเองว่า ‘ลูก’ 

อะไรที่ทำให้ครูทอมเรียกแทนตัวเองว่า ‘ลูก’ กับครอบครัว

ไม่รู้เลย เราตอบไม่ได้จริงๆ ถ้าพูดถึงเรื่องกระบวนการเรียนรู้ทางภาษาของคนเนี่ย การที่เราจะใช้ภาษาแบบไหนมันขึ้นอยู่กับว่าเราได้ยินมาแบบไหน เป็นไปได้ว่า เราอาจจะได้ยินพ่อแม่เรียกเราว่า ลูก เราก็เลยแทนตัวเองว่า ลูก ตามไปด้วย

ตอนเด็ก เวลาเราจะเลือกใช้คำสักคำหนึ่ง เราคงไม่มานั่งคิดว่า ทำไมถึงใช้คำนี้ แต่เราเลือกใช้คำนี้เพราะได้ยินมา เห็นพ่อแม่ใช้ เราก็ใช้ตาม บางครอบครัวที่ลูกแทนตัวเองว่า ‘หนู’ เป็นไปได้ว่าพ่อแม่เรียกลูกว่าหนูก่อน แล้วเขาก็เรียกตาม

แต่จะมีบางครอบครัวใช้ ‘กู มึง’ กับลูก สำหรับครูทอมมันสะท้อนอะไร

ก็อาจจะสะท้อนสไตล์ของครอบครัวนั้นแต่ละครอบครัวมีเงื่อนไขการใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งกับเพื่อนบางคน การใช้คำว่า ‘กู มึง’ ก็ไม่ใช่คำหยาบนะ แต่มันคือคำที่ใช้แสดงความสนิทสนม 

ในหลายๆ ครอบครัว อย่างเพื่อนผมเอง พ่อแม่เรียกลูกว่า ‘มึง’ เรียกตัวเองว่า ‘กู’ เขาก็รักใคร่กันดีไม่มีปัญหา นั่นแปลว่าในครอบครัวของเขา คำนี้แสดงถึงความสนิทสนม แต่เวลาลูกคุยกับพ่อแม่ก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่ากูนะ (ขำ)

ถ้าบางคนมองว่าการใช้คำนี้เป็นคำหยาบ คำไม่ดี แปลว่าการเลือกใช้คำต่างๆ มันขึ้นอยู่กับกาลเทศะด้วยเนอะ คำบางคำเราพูดกับคนกลุ่มนี้ได้ แต่พอไปพูดกับอีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้

บางครอบครัวคุ้นเคยกับการใช้คำว่ากู มึง อะโอเค ในครอบครัวนี้ใช้ได้ แต่ก็ต้องรู้เหมือนกันว่าคำนี้ไม่ใช่คำที่ครอบครัวอื่นๆ จะยอมรับ บางครอบครัวอาจจะไม่คุ้นเคยที่จะใช้ พอไปใช้กับเขา เขาอาจจะรู้สึกแปลกๆ อาจจะตัดสินใจเราว่า เราเป็นคนไม่รู้กาลเทศะได้

มีคนบอกเยอะว่าสมัยก่อนคำว่า ‘กู มึง’ ก็เป็นคำสุภาพ แต่ ณ วันนี้กลายเป็น ‘คำหยาบ’ จริงไหม

จริงๆ ไม่มีข้อมูลว่ากูมึงเคยเป็นคำสุภาพหรือเปล่านะแล้วก็ยากด้วยที่จะแบ่งว่าคำไหนเป็นคำสุภาพรือคำหยาบ เพราะบางคำมันอยู่ตรงกลาง ไม่ได้มีนัยยะหรือถูกตัดสินว่า อันนี้สุภาพหรือหยาบ เช่น คำว่า กู มึง ปัจจุบันเป็นคำที่ถูกมองว่าเป็นคำหยาบ แต่ในสมัยก่อนอาจจะไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคำสุภาพก็ได้ แต่เป็นคำกลางๆ ไม่ได้ judge ว่าคำนี้หยาบหรือสุภาพ

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนคิดว่าต้องมีคำหยาบกับคำสุภาพ เพราะภาษาไทยมีภาษาที่แสดงชนชั้นอย่างหนึ่งที่เราเรียกว่า คำสุภาพ ก็ไม่ได้ตรงข้ามกับคำไม่สุภาพนะ แต่มันอาจจะเป็นคนละหมวดกับคำเฉยๆ ยกตัวอย่างเช่น คำว่า ปลาช่อน เราไม่ได้รู้สึกว่าคำนี้เป็นคำหยาบ แต่ปลาช่อนก็มีคำสุภาพ คือ ปลาหาง 

กลับมาที่คำว่า กู มึง คำนี้มีนัยยะเรื่องความเปลี่ยนแปลง เท่าที่เคยศึกษาเกี่ยวกับภาษาศาสตร์ ธรรมชาติอย่างหนึ่งของภาษาแต่ละภาษา มันสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ ลักษณะหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง คือ การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง คำที่ไม่เคยหยาบถูกมองว่าเป็นคำหยาบ วันหนึ่งมันก็อาจกลายเป็นคำหยาบได้ อย่างเช่น คำว่า ‘สันดาน’ สมัยก่อนคำนี้ก็เป็นคำกลางๆ หมายถึง พฤติกรรมโดยทั่วไป สันดานดี สันดานไม่ดี เห็นไหมว่ามันจะมีคำขยาย แต่พอคนเอามาใช้ ณ ปัจจุบัน แค่พูดคำนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าความหมายมันเป็นไปในเชิงลบ 

อีกคำหนึ่งที่เราจำได้แม่นเลย ตอนเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เขายกตัวอย่างคำว่า ‘เย็ด’ อาจารย์บอกว่าเมื่อก่อนคำนี้เป็นคำความหมายกลางๆ แปลว่า ‘ทำ’ เทียบเท่ากับ ‘เฮ็ด’ ในภาษาอีสาน สมัยก่อนคนจะพูดถึงพฤติกรรมอย่างว่า เขาไม่รู้ว่าจะเอาคำว่าอะไรดี ก็เลยเลือกคำนี้มาใช้ แล้วใช้กันจนคนเข้าใจความหมายแบบปัจจุบัน คำนี้เลยกลายเป็นคำไม่สุภาพแล้ว คนก็เลยเลือกคำว่า ‘เอา’ มาใช้แทน ซึ่งหลายสิบปีก่อนก็เป็นคำกลางๆ แต่พอเป็นปัจจุบัน มันมีนัยยะของความไม่สุภาพเพิ่มมากขึ้น นั่นแปลว่า ภาษาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาครับ

ถ้าภาษามีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ แล้วคำสรรพนามในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตด้วยไหม

ก็ต้องถามก่อนว่าย้อนกลับไปอดีตแค่ไหน ถ้าเอาเท่าที่ตัวเองจำความได้ รู้สึกว่า เดี๋ยวนี้มีคำให้เลือกใช้เยอะขึ้น สามารถใช้ได้หลากหลายมากขึ้นและในบริบทที่กว้างกว่าเดิม 

เรามองว่า นี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของภาษาไทยนะ คนใช้สามารถสร้างสรรค์คำใหม่ๆ ได้เรื่อยๆ 

แล้วถ้าย้อนกลับไปช่วงรัตนโกสินทร์?

โอ้โห เอาอะไรไปย้อน เกิดทันหรือเปล่าก่อน (หัวเราะ) สมัยนั้นก็มีสรรพนามที่หลากหลายนะ อย่างคำว่า ‘ดิฉัน’ ในเรื่องขุนช้างขุนแผน ตัวละครผู้ชายก็ใช้ ‘ดีฉัน’ เหมือนกัน มิติของภาษามันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับการยอมรับของคนในแต่ละสังคมด้วย

ในแต่ละยุคมันมีคำใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว คำไหนที่คนใช้กันแล้วเป็นที่นิยมเขาก็ใช้กันต่อเรื่อยๆ แต่ถ้าบางคำมันไม่แมส คนไม่ได้ใช้กัน คำนั้นมันก็หายไป

ครูทอมเคยเจอคำสรรพนามที่ฟังแล้วรู้สึกแปลกหรือประทับใจบ้างไหม

นึกไม่ออกเลยครับ (หัวเราะ) เรารู้สึกชอบเวลาเห็นการเลือกใช้คำใหม่ๆ รู้สึกว่ามันสนุก เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าภาษาไทยมันจะยังอยู่ไปเรื่อยๆ อยู่ได้อีกนาน เพราะยังมีคนใช้อยู่ ยังมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ 

ครูทอมพอจะให้คำแนะนำได้ไหมว่า เวลาไปคุยกับคนที่ไม่รู้จัก เราควรแทนตัวเองและเขายังไง

เอาจริง เพราะเป็นผู้ชายเลยไม่ค่อยมีปัญหานี้ (หัวเราะ) ใช้ง่ายกว่าเพราะมีแค่คำว่า ผม คำเดียวจบเลย คำลงท้ายก็มีแต่ครับ แต่ผู้หญิงมีสรรพนามบุรุษที่ 1 ทั้งฉัน หนู ดิฉัน เยอะไปหมดเลย คะ กับ ค่ะ ก็ยังมีให้สับสนอีก

ถ้าจะให้แนะนำแบบแย่ๆ เลย คือ ไปทำความรู้จักเขาก่อนเถอะ (หัวเราะ) เพราะจะทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ เราต้องรู้ว่าเราจะคุยกับใคร เขามี background ยังไงไม่ใช่แค่เรื่องการยอมรับกับการใช้ภาษานะ แต่รวมถึงเนื้อหาที่เราจะพูดกับเขาด้วย เขามีความรู้ในประเด็นนี้ในมิติไหนบ้าง 

แต่ถ้าเราไม่รู้จักจริงๆ คิดว่าวิเคราะห์บุคลิกท่าทางของเขาจากการคุยกันก็ช่วยให้เราประเมินเบื้องต้นได้ เราลองแทนตัวเองด้วยคำคำหนึ่ง สังเกตอาการอีกฝ่ายหนึ่ง เขาแสดงอะไรที่มันแปลกไปไหม เช่น เราอายุน้อยกว่าแต่อยากใช้คำว่า เรา และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ใหญ่ เราลองดูว่าถ้าใช้คำนี้ อีกฝ่ายหนึ่งมีปฏิกิริยายังไง มีการขมวดคิ้วหรือเลิกคิ้วไหม เอ๊ะไหม เราสามารถสังเกตได้จากอวัจนภาษา ภาษาท่าทางคืออีกสิ่งหนึ่งที่เราจะสามารถวิเคราะห์ผู้พูด ผู้ฟังได้

ด้วยความยากแบบนี้ ผู้หญิงบางคนไปตั้งกระทู้ถามเลยว่า “เราควรจะใช้คำสรรพนามว่าอะไรดี” บางคนก็คิดขึ้นมาใหม่เลย อย่างคำว่า ‘นี่’ จริงๆ คำนี้ก็ไม่ใช่คำสรรพนามที่ใช้กัน ครูทอมมีความเห็นอย่างไรกับปรากฏการณ์นี้

ธรรมชาติของภาษา การเกิดคำใหม่ ไม่ใช่แค่คำที่เกิดขึ้นใหม่จริงๆ แต่การที่คำหนึ่งคำมีคนนำไปใช้ในอีกความหมายหนึ่งก็ถือเป็นคำเกิดใหม่ได้เช่นกัน  การที่เราเลือกใช้คำว่า ‘นี่’ เป็นสรรพนามแทนตัวเอง โอเค ผุดขึ้นมาใหม่อีกคำหนึ่ง 

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะมีคำใหม่ขึ้นมาให้ใช้ แต่ก็กลับมาที่องค์ประกอบของการสื่อสารว่า ถ้าเราใช้คำนี้แล้ว คนฟังเข้าใจหรือเปล่า อันนี้คือสิ่งที่เราก็ต้องมอง

ทำไมคำศัพท์สำหรับผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย อย่างคำสรรพนามเองก็ด้วย และดูเหมือนว่า คำที่ใช้ด่าผู้หญิงก็จะมีหลากหลายมากกว่าผู้ชายเหมือนกัน 

ถ้าเราไปดูในอักขราภิธานศรับท์ (พจนานุกรมไทยที่รวบรวมคำศัพท์ภาษาไทยหมวดต่างๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยาและมีนิยามศัพท์เป็นภาษาไทย เขียนโดยหมอบรัดเลย์) ลองหาคำหมวด อ.อ่าง คำว่า ‘อี’ กับคำว่า ‘ไอ้’ คำว่า ‘อี’ เยอะมาก คำว่า ‘ไอ้’ น้อยกว่ามาก นอกจากจำนวนแล้ว เรื่องเนื้อหาที่แฝงอยู่ในการด่าก็ต่างกันด้วย เช่น อีร้อยซ้อน อีร้อยควย หมายถึง ผู้หญิงที่มีผัวมาก แต่ในขณะเดียวกัน ไม่มีคำด่าผู้ชายที่มีเมียมาก มันก็สะท้อนให้เห็นค่านิยมของคนในสมัยนั้น ถ้าผู้หญิงมีผัวหลายคน แย่เลย แต่ผู้ชายมีเมียกี่คนก็ได้ เห็นความปิตาธิปไตยที่แฝงอยู่ในภาษาเหมือนกัน 

หรือแม้กระทั่งคำว่า อีหน้าสด เป็นคำด่าผู้หญิงที่ชอบทำหน้ารื่นเริงอยู่เป็นนิจ ทำไมผู้หญิงทำหน้ารื่นเริงอยู่เป็นนิจแล้วถึงโดนด่า แต่ผู้ชายทำหน้ารื่นเริงได้ เหมือนกับว่า ผู้หญิงต้องอยู่ในกรอบของความเรียบร้อย ความเป็นกุลสตรี สงบเสงี่ยม เจียมตัว ทำหน้ารื่นเริง เริงร่าไม่ได้ เอ้า! ทำไมอะ (หัวเราะ)

มีอีกคำด่าผู้หญิง อีแดกแห้ง แปลว่า ด่าผู้หญิงที่มีผัวตั้งแต่อายุยังน้อย ระดู (ประจำเดือน) ยังไม่ขึ้น แดก คือ กระแทกแดกดัน แดกแห้ง คือ ถูกกระแทกเข้าไปตอนยังแห้งอยู่ สำหรับผู้ชายแล้ว เทียบเคียงกันมันไม่มีคำด่าผู้ชายที่มีเมียตั้งแต่อายุยังน้อย สังเกตได้ว่า เราได้เรียนรู้ค่านิยมเหล่านี้จากภาษาที่ใช้ของคนในสมัยนั้นด้วย นั่นแปลว่า เราใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร และภาษายังเป็นสิ่งที่สะท้อนความเชื่อวัฒนธรรมของแต่ละยุคสมัยอีกด้วย

ในภาษาไทยมีข้อกำหนดไหมว่า เราจะต้องใช้สรรพนามคำนี้ในตอนไหน และใช้คำนี้ได้ถึงอายุเท่าไร เช่น คำว่าหนู อายุเท่าไรควรเลิกใช้

ไม่มีบอกเลยครับ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคนใช้ ถ้าเรารู้สึกพึงพอใจที่จะใช้ เราก็ใช้ แต่ถ้าเรารู้สึกไม่สะดวกใจ เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้ อย่างกรณีของการเลือกใช้คำว่า ‘หนู’ ไม่ใช่แค่ความรู้สึกบวกหรือลบของตัวคนพูดเท่านั้น แต่หลายๆ ครั้งมันก็ส่งผลต่อความรู้สึกของคนฟังด้วยเหมือนกัน

การสื่อสารแล้วแต่คนมากๆ บางครั้งคนฟังก็รู้สึกดีที่อีกฝ่ายแทนตัวเองว่า ‘หนู’ รู้สึกว่าเขาถ่อมตน แต่เคยเจอผู้ใหญ่บางคนที่ไม่โอเคกับการใช้คำว่า ‘หนู’ เวลาทำงาน เพราะเขารู้สึกว่าการทำงานเราไม่จำเป็นต้องมาแสดงความถ่อมตัว ความเป็นเด็กขนาดนั้น เราต้องทางการ มีความจริงจัง เราคือผู้ร่วมงานในระดับเท่ากัน 

การรับรู้และการแปลความหมายมันขึ้นอยู่กับแต่ละคนเลย นั่นแปลว่าเวลาที่เราเลือกใช้คำ เราอย่าไปจำกัดกรอบว่าเราต้องพูดคำนี้เมื่อเราอายุเท่านี้ เราต้องพูดคำนี้เมื่อเราไปงานนี้ สำคัญที่สุดคือ เราต้องดูว่าใช้คำนี้กับใคร ที่ไหน เพราะว่าคนสื่อสารแต่ละคนแตกต่างกันอยู่แล้ว

ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘They’ แทน ‘He’ กับ ‘She’  เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ แล้วการเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยมันมีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นบ้างไหม

ในภาษาอังกฤษ ณ ปัจจุบันที่เราเห็นว่ามีการเลือกใช้คำว่า They แทนการเอ่ยถึงบุคคลที่บางครั้งไม่ได้อยากจะระบุเพศ เพราะคำสรรพนามในภาษาอังกฤษจะมีคำว่า He กับ She เพื่อแยกเพศชายกับเพศหญิง ถ้าเทียบเคียงเป็นภาษาไทยเราจะเห็นว่า เป็นการใช้สรรพนามบุรุษที่ 3 คือการพูดถึงคนใดคนหนึ่ง เราลองดูในนิยายหรือภาพยนตร์ซับไทยในสมัยก่อน ถ้าเป็น She มักจะแปลว่า หล่อน เจ้าหล่อน แล้วผู้ชายเป็นเขา หรือตอนเราอยู่ประถมเรียนภาษาอังกฤษ ก็จำได้ว่าครูสอนว่า He แปลว่าเขา She แปลว่าหล่อน 

แต่ตอนนี้เราก็เห็นว่าสิ่งหนึ่งที่มันเปลี่ยนมาเรื่อยๆ คือ การใช้สรรพนามบุรุษที่ 3 ของไทยเอง เราใช้คำว่า เขา แทนได้ทั้งชายและหญิง ของไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงในมิตินี้มาสักพักหนึ่งแล้วเหมือนกัน แต่สิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ก็คือ สรรพนามเรียกแทนตัวเองนี่แหละ อย่างที่เราคุยกันก่อนหน้านี้แล้วว่าจะมีฉันกับผม ที่แสดงชัดเจนมากว่า ฉันคือผู้หญิง ผมคือผู้ชาย ปัจจุบันสิ่งนี้มันกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่เหมือนกัน

อย่างที่เราได้พูดกันไปว่า มีการใช้คำว่า เรา คิดว่านอกจากการใช้คำว่า เรา แทนคำว่า หนู ในมิติของเรื่องความอาวุโสแล้ว แต่คนเลือกใช้คำว่า เรา แทนการระบุเพศด้วยเหมือนกัน เราไม่ได้อยากจะระบุว่า เราเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่ได้อยากจะระบุว่าฉันหรือผม แต่เลือกใช้คำว่าเรา สิ่งนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงเหมือนกันครับ

ตอนนี้คนที่อายุน้อยหลายคนเลือกใช้คำว่า ‘เรา’ แทน ‘หนู’ เวลาคุยกับคนที่อายุมากกว่า สิ่งนี้คือการเปลี่ยนแปลงไหม

เอาจริงตั้งแต่เด็ก เวลาคุยกับเพื่อนจะแทนตัวเองว่า ‘เรา’ ตลอดเลย เพราะเรารู้สึกว่า คำว่า ‘เรา’ ใช้กับคนที่สถานะระดับเดียวกัน อายุไล่เลี่ยกัน แล้วเวลาเรียกเพื่อน ไม่ว่าผู้ชายผู้หญิงเราก็เรียกเรากับเธอหมดเลย ตอนเด็กค่อนข้างสุภาพ ไม่พูดมึง กู ค่อยๆ เรียนรู้ตอนโต (หัวเราะ) พอเราโตขึ้นมา เราก็เรียนรู้เรื่องคำสรรพนามที่หลากหลายมากขึ้น แต่สิ่งที่ฝังหัวเรามาตั้งแต่เด็ก คือ เราจะเลือกใช้คำนี้กับคนที่สถานะระดับเดียวกัน อายุไล่เลี่ยกัน

จนมีครั้งหนึ่งที่รุ่นน้องส่งอีเมลมาหา เขาขึ้นต้นว่า “สวัสดีค่ะ เราชื่อฟ้า” ลองนึกภาพตามนะ ย้อนกลับไป 10 กว่าปีที่แล้ว การที่นิสิตปี 2 ใช้คำแทนตัวเองว่าเรา กับผมที่เรียนจบมาหลายปีแล้ว รู้สึกแปลกมากเลย ทำไมเขาถึงใช้คำนี้ เราไม่ใช่คนเจ้ายศเจ้าอย่าง แต่กังวลกลัวไปพูดกับผู้ใหญ่คนอื่นแล้วเขาอาจจะไม่โอเค เราเลยแนะนำไปว่า คำนี้มันดูไม่เหมาะสมนะ เลือกใช้คำอื่นดีกว่า น้องตอบเมลกลับมาว่า “สวัสดีค่ะพี่ทอม ข้าพเจ้า..” (หัวเราะ)  เนี่ย ภาษาไทยมันซับซ้อนเหลือเกิน 

เราจะชอบยกตัวอย่างนี้เวลาพูดเรื่องการเลือกใช้คำที่ไม่เหมาะกับกาลเทศะ ไม่เหมาะสำหรับสื่อสารกับอีกคนมันเป็นยังไง แต่พอเราโตขึ้น เราก็เข้าใจมิติของความหมายที่มันแฝงอยู่ในคำนั้นๆ เราเข้าใจน้องมากขึ้นว่าทำไมน้องไม่ใช้คำว่า หนู ไม่รู้ว่าน้องคิดแบบนี้หรือเปล่า หรือน้องแค่คุ้นเคยกับคำว่า เรา เราไม่จำเป็นจะต้องเลือกใช้คำที่แสดงว่าเราอยู่ในสถานะที่เด็กกว่าหรือด้อยกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง การที่อีกฝ่ายใช้คำว่า เรา ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย มันขึ้นอยู่กับผู้ฟังว่า เขาเข้าใจมากน้อยแค่ไหน 

อย่างตอนนี้ เราจะเห็นเลยว่า น้องๆ หลายคนใช้คำว่าเรา แล้วผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ เพราะผู้ใหญ่ไม่คุ้นเคยกับคำนี้ สิ่งที่ผู้ใหญ่คิด คือ คำนี้ใช้กับคนที่มีช่วงอายุไล่เลี่ยกัน ถ้าพูดถึงองค์ประกอบของการสื่อสาร เราต้องมีผู้ส่งสาร สาร ผู้รับสาร แล้วก็สื่อ ถ้าเราทำองค์ประกอบเหล่านี้ให้ดี การสื่อสารของเราก็จะมีประสิทธิภาพ แปลว่าในเคสนี้ ปัญหาอย่างหนึ่งของมิติการสื่อสาร คือ ความไม่เข้าใจกัน ผู้รับสารไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ส่งสารเลือกใช้คำลักษณะนี้ บางครั้งผู้พูดเลือกใช้คำแบบนี้เพื่อตอบสนองความรู้สึกบางอย่างของตัวเอง โดยไม่ได้คำนึงว่าผู้รับสารเข้าใจคำศัพท์คำนี้มากน้อยแค่ไหน สิ่งนี้จึงทำให้เกิดปัญหาของการสื่อสาร

ครูทอมคิดว่า อนาคตของการใช้สรรพนามจะมีแนวโน้มเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ผมเชื่อว่า คนจะยอมรับคำสรรพนามใหม่ๆ มากขึ้น คนที่รู้สึกแปลก รู้สึกไม่ยอมรับ จะยอมรับมากขึ้น อย่างตัวผมเอง ก่อนหน้านี้ก็เคยรู้สึกแปลกๆ กับการใช้คำว่า ‘เรา’ แต่ประสบการณ์ชีวิตที่มากขึ้น ทำให้เรามองเห็นอะไรเยอะขึ้น เราก็ยอมรับมากขึ้น ต่อไปคนอื่นๆ จะยอมรับสิ่งเหล่านี้มากขึ้นเหมือนกัน แล้วก็… นอกจากจะยอมรับสรรพนามลักษณะนี้มากขึ้นแล้ว เผลอๆ ก็อาจจะมีคำสรรพนามใหม่ๆ เกิดขึ้นก็เป็นได้ 

Writer
Avatar photo
รดามณี กระแสสินธุ์

นักศึกษาภาษาศาสตร์ที่ทุกคนสงสัยว่าเรียนภาษาอะไร ผู้ชื่นชอบในการเล่าเรื่องและการเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เพราะเชื่อว่า การเรียนรู้ทำให้เราค้นพบสิ่งที่น่าสนใจได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Photographer
Avatar photo
บรรณสิริ มีศรี

นักเรียนถ่ายภาพ ชอบวาดรูป สนใจภาษา และเป็นชาไทยเลิฟเวอร์

Related Posts

Related Posts