“พ่อหนุ่มไม่เคยทุบ ทั้งทุบ ทั้งเผา” มองตัวละคร ‘มืด’ ในจักรวาลหนังไทบ้านฯ ความเหลื่อมล้ำและการหลุดจากระบบการศึกษาของวัยรุ่นในชุมชน

“พ่อหนุ่มไม่เคยทุบ ทั้งทุบ ทั้งเผา” มองตัวละคร ‘มืด’ ในจักรวาลหนังไทบ้านฯ ความเหลื่อมล้ำและการหลุดจากระบบการศึกษาของวัยรุ่นในชุมชน

“พ่อหนุ่มไม่เคยทุบ ทั้งทุบ ทั้งเผา” 

น่าจะเป็นอีกหนึ่งฉากที่เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมจำนวนมากที่ตบเท้าเข้าไปรับชม สัปเหร่อ หนึ่งในภาคย่อยของหนังตระกูล ไทบ้าน เดอะซีรีส์  ซึ่งหากใครเคยดูภาค 1, 2.1 และ 2.2 จะเข้าใจว่าทำไมฉากนี้จึงได้ฮาและได้กระแสในโลกออนไลน์ไปอย่างล้นหลาม  

ฉากที่ว่านี้เป็นฉากที่ ‘เซียง’ ไปฉาบปูนหลุมศพของหญิงคนรัก (ใบข้าว) เพราะในภาคที่แล้วเซียงมาทุบหลุมศพด้วยความเสียใจที่เธอจากไป ‘มืด’ จึงได้แซวเซียงว่าเป็นคนทุบเองก็ต้องฉาบเอง ลอด พี่ชายของมืดเลยแซวน้องกลับด้วยประโยคที่ว่า “พ่อหนุ่มไม่เคยทุบ ทั้งทุบ ทั้งเผา” ด้วยเหตุที่ตัวมืดเองเคยทำมาแล้วทั้งสิ้นในภาคก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นทุบโอ่ง ทุบจักรยาน หรือแม้แต่พยายามจะเผาบ้านเมื่อครั้งที่เขายังเป็นนักเรียนแล้วผิดหวังจากความรัก  

แม้ตัวละคร ‘มืด’ จะปรากฏตัวไม่บ่อยครั้งนักในภาค สัปเหร่อ แต่ก็เป็นตัวละครที่ได้รับการพูดถึงไม่น้อยในภาคอื่นๆ และในช่องทางออนไลน์ ซึ่งหากเรามองตัวละครมืดในฐานะตัวแทนของ เด็กและเยาวชนที่เติบโตมาในชุมชน เข้าสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียนชุมชน เราก็อาจเห็นบางแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลต่อการเติบโต ครอบครัว ไปจนถึงภาพของมืดที่ดูเหมือนจะถอยห่างออกไปเรื่อยๆ จากระบบการศึกษาไทย 

ในภาพยนตร์ ไทบ้าน เดอะซีรีส์ ภาคแรก, 2.1, 2.2 และ ไทบ้าน × BNK48 เราเห็นมืดในชุดนักเรียนประถม-มัธยม พอมาถึง ภาคหมอปลาวาฬ เราเริ่มเห็นว่าแม้อยู่ในช่วงเปิดเทอม หนังก็ไม่ได้มีการบอกเล่าถึงการไปโรงเรียนหรือการเรียนต่อของมืดแต่อย่างใด จนถึงภาคสัปเหร่อก็เช่นกัน 

การกลับไปทบทวนชีวิตวัยเรียนของมืดกับเส้นทางขรุขระในขณะที่เขาสวมชุดนักเรียนจึงอาจฉายปัญหาเรียลๆ ออกมาให้เราขบคิดกันต่อได้อีกมาก   

เงินที่แม่ฝากมาอยู่ไส (?)

แม้ว่าหนังตระกูล ไทบ้าน เดอะซีรีส์ จะไม่ใช่หนังอีสานแนวโอดครวญต่อความอดอยากหรือความลำบากที่เกิดขึ้นในชีวิตและเรียกร้องความสงสารจากใคร แต่หนังไทบ้านฯ ก็ไม่ใช่หนังที่โรแมนติกกับชีวิตคนขนาดที่เสนอว่าผู้คนในชุมชนอยู่กันอย่างพอมีพอกิน อิ่มหนำด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่และเติบโตอย่างมีความสุขถ้วนทั่วหน้า หากแต่หนังมุ่งเล่าแบบ ‘ซือๆ’ หรือเล่าอย่างที่มันเป็น ซึ่งก็ไม่ใช่การเล่าแบบ ‘ซื่อๆ’ ในความหมายอย่างไร้เดียงสาแบบที่หลายคนคิดว่าคนชนบทเป็น เราจึงเห็นทั้งความเรียลของความรู้สึก ข้อเรียกร้องและความปรารถนาของผู้คนผ่านตัวละคร ความไม่หยุดนิ่งของชุมชน และปัญหาที่ปรากฏอยู่อย่างซื่อตรงแบบไม่ซุกอยู่ใต้ภาพท้องทุ่งและความลำบากยากจนอันสุขสงบแต่อย่างใด 

ปัญหาความยากจน เป็นประเด็นหนึ่งที่หนังตระกูลไทบ้านฯ เสนอให้เราได้เห็นผ่านครอบครัวของหลายตัวละคร ทว่าครอบครัวของมืดดูจะเป็นตัวแทนที่นำเสนอประเด็นนี้อย่างเข้มข้นกว่าครอบครัวอื่นๆ จะเห็นได้จากคำพูดอย่าง “ขอเงินแหน่” “เงินไปโรงเรียนอยู่ไส” ซึ่งเป็นคำพูดประจำของมืดในภาคแรกๆ ที่เขาเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนใกล้บ้าน โดยในแต่ละฉากตอนก็จะฉายให้เราเห็นว่าสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวมืดไม่ได้ดีพอที่จะสนับสนุนกระทั่งเงินไปโรงเรียนหรือความต้องการของมืดได้เลย ดังในตอนที่มืดกำลังจะไปโรงเรียนแล้วเดินมาขอเงินกับลอดผู้เป็นพี่ชาย

มืด: ลอด เงินที่แม่ฝากมาอยู่ไส 
ลอด: บ่มีดอก มึงสิเอาไปหยัง  
มืด: กูสิเอาไปโรงเรียน 
ลอด: (สีหน้าเจื่อน) สวยปานนี้แล้ว ไปหาสิแตกหยังโรงเรียน  (สายขนาดนี้แล้ว จะไปทำไมโรงเรียน)
มืด: เงินบ่มาโรงเรียนบ่ไปเว้ย 
ลอด: ดี มึงบ่ต้องไปโรงเรียน

จากบทสนทนาระหว่างมืดกับลอด เสนอให้เห็นปัญหาการสนับสนุนด้านทุนทรัพย์ของครอบครัวมืด โดยลอดซึ่งเป็นพี่ชายเองก็ไม่ได้มีอาชีพที่ทำรายได้นอกเหนือไปจากการขายข้าวจากที่นาไม่กี่ไร่ ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด ลอดจึงไม่รู้จะเอาเงินจากไหนให้น้อง เมื่อลอดไม่รู้จะให้คำตอบน้องอย่างไรก็เลยตอบด้วยอารมณ์หงุดหงิดและเบี่ยงประเด็นไปที่การไปโรงเรียนสายของน้องแทน ซึ่งบทสนทนาที่ดูเหมือนเล็กน้อยนี้นำไปสู่เหตุการณ์ที่มืดทะเลาะกับเพื่อน เพราะมืดไปกินยางลบเพื่อนด้วยความรู้สึกหิวและไม่มีเงินซื้ออาหารกิน กว่าจะทำให้มืดและเพื่อนเลิกตีกันได้ก็จะต้องหาเงินมาให้พวกเขา 

จากเหตุการณ์ที่หนังเลือกสื่อสารนี้คลี่ขยายให้เราเห็นถึงปัญหาเรื่องรายได้ในครัวเรือนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตและลามไปส่งผลกับชีวิตของเด็กน้อยคนหนึ่งถึงในรั้วโรงเรียน ไปจนถึงค่อยๆ ตัดและเติมความรู้สึกอยาก/ไม่อยากไปโรงเรียนในใจของมืดเข้าไปอีก    

ทั้งนี้หนังก็ไม่ได้เล่าเรื่องการ ‘ไม่มีเงิน’ อย่างไร้มิติ เพราะหากเราหวนกลับมาทบทวนโครงสร้างครอบครัวของมืด ก็จะเห็นความเหลื่อมล้ำที่ลึกลงไปในระดับโครงสร้างที่ฝากวิถีชีวิตวนลูปไว้รุ่นต่อรุ่น หากพิจารณาจากบทพูดของมืดที่ว่า “เงินที่แม่ฝากมาอยู่ไส” (ไทบ้าน เดอะซีรีส์,2560) ก็จะคาดเดาได้เลยว่า แม่ของมืดและลอดเดินทางออกจากชุมชนเพื่อไปหาเงินต่างถิ่น จึงได้ฝากเงินมาให้ลูกๆ ที่อยู่บ้าน เสนอให้เห็นภาพชุมชนอีสานที่คนรุ่นแม่พ่อของมืดพยายามดั้นด้นออกไปหาโอกาสในการเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจ ณ ต่างถิ่นต่างแดน และฝากลูกๆ เอาไว้ให้ที่บ้านดูแล เราจึงเห็นครอบครัวของมืดเหลือเพียง 3 คนคือ มืด ลอด และยาย ทั้งยังฉายชัดว่าการพยายามดั้นด้นออกไปของคนรุ่นพ่อแม่พวกเขานั้นก็ไม่ได้สวยงามราบรื่น เราคาดเดาได้จากหนังว่ามันก็ทำให้พอมีรายได้ที่จะช่วยจุนเจือครอบครัวบ้าง แต่ไม่สามารถเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจได้เลย    

 โครงสร้างครอบครัวลักษณะนี้ยังถูกเสนอให้เห็นในตัวละครอื่นๆ อย่าง ‘เซียง’ ที่อยู่กับยายเพียงสองคนโดยไม่ได้กล่าวถึงแม่และพ่อ หรืออย่าง ‘เบิด’ (โรเบิร์ต) ที่อาศัยกับแม่เพียงคนเดียว ไม่ปรากฏว่าพ่ออยู่ที่ไหน และต่อมาแม่ยังมาเสียชีวิตไปเพราะเพลิงไหม้ ก่อนที่เขาจะกลายเป็นคนเสียสติจากเหตุการณ์ดังกล่าว   

การขาดหายไปของตัวละครแม่และพ่อหรือผู้ปกครองของมืดและวัยรุ่นตอนต้น-ตอนปลายอีกหลายคนในเรื่องนี้ เกี่ยวโยงอย่างแนบแน่นกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะโครงสร้างครอบครัวลักษณะนี้จะปรากฏกับตัวละครที่มีฐานะไม่ดีเป็นส่วนใหญ่ แตกต่างจากตัวละครที่มีฐานะพอใช้อย่าง ป่อง ที่มีสมาชิกในครอบครัวครบถ้วน หรือครอบครัวของ ครูแก้ว ที่ปรากฏทั้งพ่อและแม่ที่เป็นข้าราชการคอยดูแล 

การสร้างลักษณะครอบครัวและตัวละครในจักรวาลไทบ้าน จึงคลี่ขยายให้เห็นมิติความเหลื่อมล้ำที่เข้าไปออกแบบโครงสร้างชีวิตของแต่ละตัวละครให้แตกต่างกันอย่างน่าสนใจ  

“ทั้งทุบ ทั้งเผา” โอ่งที่แตกสลายกับหัวใจเปราะบางของเด็กน้อย

ความเหลื่อมล้ำยื่นมือเข้าไปออกแบบชีวิตของมืดและครอบครัว ทำให้เราเห็น ‘รอยปริแตก’ ของการเติบโตในชีวิตเด็กคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นความรัก ความเข้าใจ และเวลาในการเลี้ยงดูเอาใจใส่ที่ขาดหายไปพร้อมๆ กับ ‘เสียงของแม่และพ่อ’ ที่หายไปในสายโทรศัพท์ของมืดเสมอ อย่างในตอนที่มืดเริ่มมีความรัก เป็นนักเรียนมัธยมตอนต้นและมีความคิดอยากได้มอเตอร์ไซค์ 

มืด: ฮัลโหลครับแม่ อยากได้มอเตอร์ไซค์แหมครับ ขี่ไปโรงเรียน
แม่: (ในหนังไม่มีเสียงแม่เล็ดลอดออกมา) 
มืด: ครับ ๆ โอเคครับ (มืดตอบรับแม่แล้ววางสาย)
มืด: ลอด ลอด ลอด แม่บอกให้มึงซื้อมอเตอร์ไซค์ให้กู
ลอด: โอ้ยบักควยเอ๊ย มึงหุบปากไป กูแฮงอารมณ์บ่ดีอยู่

จากบทสนทนา แม่รู้ดีว่าลอดไม่สามารถซื้อมอเตอร์ไซค์ให้กับมืดได้แน่นอน แต่แม่ก็บอกมืดให้มาขอกับลอด นั่นแปลว่าแม่เองก็ไม่รู้จะบอกลูกอย่างไร (จากการไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันหรือเลี้ยงดูมืดมาอย่างใกล้ชิดด้วยเหตุที่ต้องพลัดถิ่น) แต่ไม่อยากให้ลูกเสียใจ จึงให้ไปบอกพี่ชายให้ซื้อให้ ทำให้มืดมีความหวัง แต่พี่ชายก็ตอบมาด้วยอารมณ์หงุดหงิดเช่นเคย 

ในฉากนี้ทำให้เห็นการหายไปของคำอธิบาย การชี้แนะ และความเข้าอกเข้าใจจากครอบครัวและพี่ในฐานะผู้นำครอบครัวของมืด โดยตัวของมืดที่ยังเด็ก ก็ไม่สามารถเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาการเงินที่เกิดขึ้นในครอบครัวตัวเองได้ มืดจึงแสดงออกต่อความผิดหวังเหล่านี้ด้วยการทุบโอ่ง ทุบจักรยาน เผาบ้าน และอีกมากมาย

ที่มา: https://web.facebook.com/photo.php?fbid=646156434173419&id=100063372030668&set=a.429692719153126&_rdc=1&_rdr 

ลึกลงไปในพฤติกรรมเหล่านี้ อาจไม่ใช่เพียงเพราะว่าเขาไม่ได้มอเตอร์ไซค์อย่างใจหวัง หากแต่เป็นการส่งเสียงบางอย่างออกมาประท้วงความเงียบงันจากความรู้สึกที่ไม่มีใครรับฟัง อธิบายเหตุผล หรือทำความเข้าใจมืด ไปจนถึงความไม่เข้าใจว่าทำไมชีวิตของตนจึงยากเย็นนักกว่าจะได้ของบางอย่าง หรือแม้แต่ได้เงินเพื่อไปโรงเรียน 

เมื่อโครงสร้างครอบครัวของมืดเป็นเช่นนี้ เราจึงเห็นตัวละครมืดเติบโตขึ้นด้วยการเรียนรู้สิ่งรอบตัวด้วยตัวเอง กลุ่มเพื่อน กลุ่มวัยรุ่นตอนปลายในชุมชน หรือผู้ชายรุ่นลอดกับเซียง จึงเป็นเหมือนตัวละครที่ฉายภาพให้เห็นอดีตของวัยก่อนวัยรุ่นและวัยรุ่นตอนต้นที่จะเติบโตไปเป็นวัยรุ่นตอนปลายในชุมชนที่ในท้ายที่สุดก็หลุดลอยจากระบบการศึกษาหรือรู้สึกว่าชีวิตนี้ไร้จุดหมาย

ทั้งนี้เอง หนังก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่านี่เป็นความผิดของมืด ลอด หรือแม่ แต่ชี้ชวนให้เราเห็นอย่างรอบด้านว่าพวกเขาเผชิญต่อเงื่อนไขของตัวเองอย่างไร และยังขยายให้เห็นผ่านตัวละครอื่นๆ ในชุมชนอีกด้วย เพื่อให้เห็นว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจงกับใครคนใดคนหนึ่ง มันเชื่อมโยงส่งผลไปในครอบครัวอื่นๆ เช่นกัน มันจึงไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากปัจเจก ทว่าเป็นปัญหาในระดับภาพรวม    

จะเห็นว่าความเหลื่อมล้ำทำงานอย่างเป็นระบบ นอกจากมันทำให้คนเรารู้สึกขาดหายและรู้สึกมีไม่เพียงพอต่อการค้ำจุนชีวิตแล้ว มันยังทั้งถ่างขยายความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ห่างไกลกันมากขึ้นจากการพลัดพรากกันด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งการพลัดพรากนั้นก็มาพร้อมกับการหล่นหายไปของความรัก ความเข้าใจที่อาจส่งผลมากมายต่อหัวใจอันเปราะบางของเด็กน้อยคนหนึ่งที่กำลังเติบโต รวมถึงอาจส่งผลไกลไปถึงทางเลือกอื่นๆ ในชีวิตอีกมากมาย    

การศึกษาที่(ไม่ได้)เลือก

ในเว็บไซต์ กสศ. เสนอรายงานข้อค้นพบจากการวิจัยเชิงลึก จำนวน 848 กรณีศึกษาของศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา กสศ. ว่า ในปีการศึกษา 2566 สถานการณ์เด็กหลุดจากระบบการศึกษายังไม่พ้นวิกฤต โดยภาพรวมสถานการณ์พบว่า เด็กในวิกฤตการศึกษา 3 ใน 4 คน อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ โดยเป็นเด็กช่วงชั้นประถมศึกษา 58% และมัธยมศึกษาตอนต้น 24% สาเหตุส่วนใหญ่เชื่อมโยงครอบครัวทั้งหมด โดยพบว่ากว่า 70% ของเด็กวิกฤตฯ ไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพ่อแม่ และ 73% ชีวิตมีปัญหาซับซ้อนมากกว่า 1 เรื่อง (https://www.eef.or.th/infographic-210623/

หากพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าวแล้วหันมามองหนัง เราก็อาจจะเห็นว่าในวันหนึ่งมืดก็คงเป็นหนึ่งในเด็กคนนั้นเช่นกัน หรือหากเขาเรียนต่อในสายอื่นๆ ต่อไป ก็อาจไม่ใช่การเรียนด้วยความรู้สึกที่มีหมุดหมายหรืออยากที่จะเรียนก็เป็นได้ 

ไม่เพียงแค่มืดเท่านั้น ตัวละครอื่นๆ ในชุมชนอย่าง ลอด เซียง เบิด และกลุ่มวัยรุ่นในชุมชนที่ถูกเสนอในหนังไทบ้านฯ นี้ก็ล้วนเป็นตัวแทนของเด็กและเยาวชนฐานะยากจนที่หลุดจากระบบการศึกษาทั้งสิ้น 

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าแรงปรารถนาของคนอีสานที่จะหาช่องทางการเติบโตและอยู่รอดนั้นมีอยู่เสมอไม่มากก็น้อย ไม่ว่าเงื่อนไขของชีวิตจะเป็นเช่นไร อย่างที่ พัฒนา กิติอาษา (2557: 144) ได้อธิบายถึงชุมชนอีสานใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความใฝ่ฝัน ความปรารถนาของผู้คนในชุมชน ตลอดจนความพยายามที่จะเลื่อนชั้นทางสังคมให้มีสถานภาพที่ดีขึ้น ชุมชนอีสานใหม่จึงมีจินตนาการ ความมั่นใจ อัตลักษณ์ใหม่ และการให้ความสำคัญกับการดิ้นรนต่อสู้เพื่อที่จะเข้าถึงความมั่งคั่งทางวัตถุและมีสไตส์ชีวิตที่ทันสมัยเกิดขึ้นเสมอ เราจึงเห็นการเคลื่อนย้ายไปหาโอกาสต่างถิ่น เห็นเพลง หนัง วัฒนธรรม และศิลปะจากคนอีสานเคลื่อนไหวออกมาอยู่เสมอ 

ทั้งนี้ ‘ทางเลือก’ ที่ดูเหมือนมากขึ้นจากการเคลื่อนไปของโลกออนไลน์ ยิ่งดูเหมือนว่าเด็กและเยาวชนในชุมชนอีสานหลายๆ คนสามารถใช้มันเป็นเครื่องมือนำเสนอตัวตนความคิดของพวกเขาได้มากขึ้น จนบางครั้งอาจกลายเป็นอาชีพสร้างรายได้มหาศาลจนเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวก็เป็นได้ ถึงแม้พวกเขาจะเป็นคนที่ได้อยู่ในระบบการศึกษาหรือไม่ก็ตาม  

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่าแม้แรงปรารถนาและโลกไร้พรมแดนจะพาผู้คนในชุมชนอีสานร่วมสมัยไปพบ ‘ทางเลือกใหม่’ ในชีวิตได้ในทางหนึ่ง แต่การเกิดและเติบโตอย่างที่มี ‘ปัจจัยพื้นฐาน’ คอยโอบอุ้ม มีการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมเสมอหน้านั้น ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องเลือกหรือร้องขอเพื่อที่จะได้มา หากแต่ควรเป็นของพวกเขาตั้งแต่แรกในฐานะพลเมืองของรัฐ และหากว่าการเปลี่ยนแปลงที่ปะทะเข้ามาทำให้การเข้าสู่ระบบการศึกษาจนตลอดรอดฝั่งไม่ใช่ตัวเลือกแรก ก็ขอให้เป็นการเลือกด้วยตัวพวกเขาเอง โดยไม่ได้ถูกเงื่อนไขชีวิตและโครงสร้างสังคมเหลื่อมล้ำนี้เป็นผู้เลือกให้อย่างที่ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอมา

อ้างอิง

พัฒนา กิติอาษา (2557).สู่วิถีอีสานใหม่.กรุงเทพ: วิภาษา

Writer
Avatar photo
ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

Photographer
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts