เมื่อความรักและความสัมพันธ์แยกจากกันไม่ขาด ชวนรู้จัก ‘ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรัก’ ที่ส่งผลต่อการก่อรูปของความสัมพันธ์
เมื่อความรักและความสัมพันธ์แยกจากกันไม่ขาด ชวนรู้จัก ‘ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรัก’ ที่ส่งผลต่อการก่อรูปของความสัมพันธ์
คุณคิดว่าความรักและความสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่?
หรือถึงทั้งสองคำนี้จะเป็นคนละสิ่งอย่างกัน
แล้วทำไมพวกเราจึงแยกสองคำนี้ออกจากกันอย่างไม่เคยขาด
ความรักของคุณเป็นแบบใด? และคุณเชื่อหรือไม่ว่าระดับของความรักส่งผลโดยตรงต่อความสัมพันธ์
วันนี้ Mappa ขอชวนคุณผู้อ่านสำรวจรูปแบบของความรักและความสัมพันธ์ไปกับ ‘ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรัก’ (The Triangular Theory of Love) ที่ประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 3 อย่างสำคัญอย่าง ความใกล้ชิด (Intimacy) ความหลงใหล (Passion) และความไว้วางใจ (Commitment) เพื่อทำความเข้าใจทุกความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวของพวกเรามากขึ้น
ใกล้ชิด หลงใหล และไว้วางใจ: 3 นิยามในองค์ประกอบความรักสำหรับโรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก (Robert Sternberg)
โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก (Robert Sternberg) นักจิตวิทยาชาวสหรัฐอเมริกา เคยเสนอถึงนิยามและองค์ประกอบของความรักเอาไว้ตั้งแต่ปี 1987 โดยกล่าวว่า ‘ความรัก’ เป็นความรู้สึกที่มีองค์ประกอบอยู่ 3 อย่าง ได้แก่ ความใกล้ชิด (Intimacy) ความหลงใหล (Passion) และความไว้วางใจ (Commitment) นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อทฤษฎีนี้อย่าง ‘ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรัก’ (The Triangular Theory of Love) เช่นเดียวกัน
(ที่มาภาพ: Robert J. Sternberg)
ส่วนประกอบแรกอย่าง Intimacy อาจแปลได้ทั้งในแง่ของ ‘ความใกล้ชิด’ และ ‘ความสนิทสนม’ ซึ่งหมายถึงความรู้สึกดีที่ได้อยู่ใกล้ๆ มีการพูดคุยสื่อสาร มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน และรู้สึกว่าสามารถพึ่งพิงอีกฝ่ายได้ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงไปถึงความผูกพัน (bondedness) ในความสัมพันธ์
ส่วนต่อมาก็คือ Passion หรือ ‘ความหลงใหล’ ซึ่งหมายถึงความรู้สึกที่ชอบหรือปรารถนาอะไรสักอย่างมากๆ เป็นอารมณ์ที่ค่อนข้างมีอิทธิพล ในแง่ความรักอาจหมายถึงแรงขับที่จะนำไปสู่ความโรแมนติก เป็นความรู้สึกเสน่หา เปรียบเสมือนเป็นความเร่าร้อนในความสัมพันธ์
และองค์ประกอบสุดท้ายคือ Commitment ที่หมายถึงทั้ง ‘ความไว้วางใจ’ และ ‘การผูกมัด’ เป็นส่วนประกอบที่ราวกับเป็นสัญญาใจว่าเราและอีกฝ่ายจะตกลงปลงใจอยู่ด้วยกัน เคียงข้างกันไปนานๆ ซึ่งหากเทียบกับในแง่ของคู่รักอาจหมายถึงสิ่งที่ยังยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์นี้เอาไว้ให้คงอยู่ แม้ว่าในขณะนั้นความสัมพันธ์อาจจะจืดจางแล้วหรือกำลังอยู่ในช่วงมีปัญหากัน
สำหรับสเติร์นเบิร์กแล้วนั้นความรักจะประกอบไปด้วย 3 สิ่งนี้ แต่ก็ใช่ว่าทุกความสัมพันธ์จะมีครบทั้ง 3 อย่าง
อันที่จริงแม้ว่าทฤษฎีนี้จะขึ้นชื่อว่าเป็นทฤษฎีความรัก แต่ส่วนประกอบที่กล่าวไปข้างต้น และรูปแบบของความรักที่กำลังจะกล่าวถัดไป ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทั้งสิ้น
ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขา (คนที่เรากำลังนึกถึง) จะเป็นอย่างไร และเรียกว่าเป็นความรักแบบไหนกันนะ?
8 รูปแบบของความสัมพันธ์อันเกิดจากส่วนประกอบของ ‘ความรัก’
สเติร์นเบิร์กมองว่าในทุกความรักความสัมพันธ์ นอกจากแต่ละส่วนประกอบทั้ง 3 อย่างที่แตกต่างกันไปในแต่ละความสัมพันธ์แล้ว ระดับความเข้มข้นของแต่ละองค์ประกอบในทุกความสัมพันธ์ก็มีส่วนในการกำหนดรูปแบบและทิศทางความสัมพันธ์เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนในแต่ละความสัมพันธ์
(ที่มาภาพ: Simply Psychology)
โดยจำแนกได้เป็น 8 รูปแบบ ได้แก่
1. ความไม่รัก (Non Love) หมายถึง ความสัมพันธ์ที่ไม่มีส่วนประกอบใดเลยในทั้ง 3 อย่างข้างต้น เช่น คนแปลกหน้า
2. ชอบ (Linking) หมายถึง ความสัมพันธ์ที่มีเพียงแค่ความใกล้ชิดเป็นส่วนประกอบเพียงอย่างเดียว เช่น เพื่อนในที่ทำงาน
3. ความรักแบบหลงใหล (Infatuated Love) หมายถึง ความสัมพันธ์ที่มีเพียงความเสน่หา อาจเป็นความหลงใหลชั่วขณะที่ไม่ได้คิดจะสานสัมพันธ์ต่อ (หรืออาจเป็นความสัมพันธ์ในแบบไอดอล-แฟนคลับในช่วงแรกเริ่มก็ได้เช่นกัน)
4. ความรักแบบว่างเปล่า (Empty Love) หมายถึง ความสัมพันธ์ที่มีเพียงแค่ความผูกมัด อาจหมายถึงความสัมพันธ์ที่อยู่กันไปเพียงแค่นั้น ด้วยเหตุผลบางประการ หรือความจืดจางเหล่านี้อาจพบได้ในช่วงท้ายความสัมพันธ์
5. รักแบบโรแมนติก (Romantic Love) หมายถึง ความสัมพันธ์ที่มีทั้งความใกล้ชิดและความเสน่หา อาจมองได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่เกือบจะสมบูรณ์แบบ ขาดเพียงแค่การผูกมัดในระยะยาว ซึ่งรูปแบบนี้มักพบในคู่รักข้าวใหม่ปลามัน
6. รักแบบมิตรภาพ (Companionate Love) หมายถึง ความสัมพันธ์ที่มีทั้งความสนิทใจและความผูกพัน แต่ไร้ซึ่งความเสน่หา เช่น รักที่มีให้คนในครอบครัว เพื่อนสนิท สัตว์เลี้ยง หรือกระทั่งคู่แต่งงานที่อยู่ด้วยกันมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งในชีวิต เพราะความเสน่หาอาจจางหายไปตามกาลเวลาแต่ความผูกพันยังคงอยู่เสมอ
7. รักลวง หรือ รักหลงรูป (Fatuous Love) หมายถึง ความสัมพันธ์ที่มีเพียงความหลงใหลและการผูกมัด ซึ่งมักเกิดจากความพึงพอใจซึ่งกันและกัน และตัดสินใจอยู่ในความสัมพันธ์กันอย่างรวดเร็วโดยที่อาจยังไม่รู้จักตัวตนของอีกฝ่ายอย่างแท้จริงเสียด้วยซ้ำ
8. รักในอุดมคติ (Consummate Love) คือความสัมพันธ์ที่มีครบองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างทั้งความใกล้ชิด การหลงใหล และความไว้วางใจ อาจเรียกได้ว่าเป็นความรักและความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด และเป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนาและใฝ่ฝันถึงความสัมพันธ์ลักษณะนี้
อย่างไรก็ตาม ‘รูปร่าง’ ของสามเหลี่ยมความรักจากองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างนั้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละคนในแต่ละความสัมพันธ์ อาจเป็นได้ทั้งสามเหลี่ยมด้านเท่าหรือไม่เท่า หรือเป็นรูปทรงใดๆ ได้หลายอย่าง
และสิ่งสำคัญไปมากกว่านั้น ขึ้นชื่อว่า ‘ความสัมพันธ์’ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว ความสัมพันธ์ที่ดีหรือความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบของแต่ละคนก็แตกต่างกันไปตามมุมมองและประสบการณ์เชิงอัตวิสัย และทั้งความสุขและความพึงพอใจในความสัมพันธ์อาจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดไปมากกว่าสิ่งอื่นใด
ความสัมพันธ์จึงสำคัญกับความเป็นตัวเรามากกว่าที่คิด
และเพราะการมีสายสัมพันธ์อยู่ จึงทำให้เรารู้สึกถึง ‘ตัวตน’ และ ‘คุณค่า’ ของเราที่มีต่อโลกใบนี้ได้เช่นเดียวกัน
Writer
รุอร พรหมประสิทธิ์
หนังสือ ไพ่ทาโรต์ กาแฟส้ม แมวสามสี และลิเวอร์พูล
illustrator
สิริกร พรอนงค์
ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล