คนอื่นเชียร์ให้ออกแต่เราเชียร์ให้อยู่ : ‘มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่’ safezone ของมนุษย์ทำงานที่แวะมาระบายทุกข์พร้อมหาทางออก

คนอื่นเชียร์ให้ออกแต่เราเชียร์ให้อยู่ : ‘มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่’ safezone ของมนุษย์ทำงานที่แวะมาระบายทุกข์พร้อมหาทางออก

  • “pain point พนักงาน คือ เขาไม่สามารถพูดเรื่องที่อยากพูดในที่ทำงานตัวเอง เขาเลยต้องหาที่ที่มาระบาย”
  • บทความแรกจากคอลัมน์ third space เพราะทุกพื้นที่มีความปลอดภัยเสมอ ความปลอดภัยแรก คือ พื้นที่ปลอดภัยของมนุษย์เงินเดือน กับ ‘เพจมนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่’
  • ชวนคุยกับพีร์ รพีรัฐ ธัญวัฒน์พรกุล เจ้าของเพจถึงชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่รุมเร้าด้วยปัญหาและวิธีหาทางออก

ปัญหาของชาวออฟฟิศมีไม่กี่เรื่อง ไม่เปลี่ยนงาน ก็ปัญหาเจ้านาย…

‘พีร์’ รพีรัฐ ธัญวัฒน์พรกุล เจ้าของเพจ ‘มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่’ บอกเราไว้แบบนั้น

จากประสบการณ์ทำงานประจำหลักสิบปี สวมบทตั้งแต่ลูกน้องจนถึงผู้บริหาร เข้าใจสภาพชีวิตของคนที่ต้องทำงานเพื่อ ‘เงิน’ ในแต่ละเดือน ทำให้พีร์อยากเปิดเพจนี้เพื่อแชร์ประสบการณ์ทำงานของตัวเอง เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ชาวมนุษย์เงินเดือน ได้มาระบายความทุกข์ พร้อมหาทางออกของปัญหาที่กำลังเผชิญ 

“pain point ของพนักงาน คือ เขาไม่สามารถพูดเรื่องที่อยากพูดในที่ทำงานตัวเอง เขาเลยต้องหาที่ที่มาระบาย”

งานในฝันหรืองานที่ทำแล้วมีความสุขอาจหายากสักหน่อย แต่ถ้าคุณกำลังมองหาพื้นที่ปลดความทุกข์ หรือหาทางไปต่อให้ชีวิต เพจมนุษย์เงินเดือนพันธ์ุใหม่ยินดีต้อนรับคุณเสมอ

พีร์ – รพีรัฐ ธัญวัฒน์พรกุล

จุดเริ่มต้นของเพจ ‘มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่’

ตอนนั้นผมเป็นผู้บริหารบริษัทต่างชาติ แล้วก็เจอว่าคนชอบเชียร์ให้คนออกจากงานประจำ เราก็คิดนะว่างานประจำผิดตรงไหนวะ? ใช่ทุกคนไหมที่ออกมาแล้วจะรอด เลยลองทำเพจนี้ขึ้นมาเพื่อเสนอแนวทางและประสบการณ์ทำงานที่เรามี เพราะการทำงานประจำก็มีทางของมัน

ถ้าพูดแบบกวนตีนเลยนะ มึงเชียร์ให้ออก กูเชียร์ให้อยู่ (หัวเราะ)

ทำไมถึงเชียร์ให้คนทำงานประจำ

ถ้าไม่เคยทำงานประจำมาก่อน แล้วมาทำธุรกิจเอง… ตายแน่ๆ เพราะมีหลายเรื่องที่เราไม่รู้ ส่วนตัวผมรู้สึกว่าเป็นผู้ประกอบการอาจเครียดกว่าเป็นพนักงานนะ อย่างแรกคือ เงินไม่ได้เข้าทุกวันทุกเดือน บางเดือนได้เงินมากเราแฮปปี้ บางเดือนได้เงินน้อยก็เครียด หรือปัญหาลูกค้าไม่จ่ายตังค์ แต่เราต้องจ่ายเงินให้พนักงาน หรือถ้าไม่เคยขายงานมาก่อน จะพรีเซนต์ขายงานเป็นไหม แถมการแข่งขันสูงด้วย เราต้องพัฒนาตัวเองหนักกว่าตอนเป็นลูกจ้างอีก

เหมือนเป็นจอมยุทธ์เลยนะคนที่ออกมาทำกิจการของตัวเอง ต้องครบเครื่อง ซึ่งคุณจะเรียนรู้สิ่งนี้ได้จากการทำงานประจำ เพราะสกิลทำงานที่ผมมีทุกวันนี้ก็มาจากตอนทำงานประจำทั้งนั้น

คุณเคยอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารมาก่อน การมาทำเพจที่กลุ่มเป้าหมายเป็นพนักงาน มีวิธีสื่อสารกับพวกเขาอย่างไร 

เพจเราจะพูดถึงปัญหาเบสิกทั่วไปของคนทำงาน เอาจริงๆ ก็เรื่องเดิมๆ แค่เปลี่ยนคนเท่านั้นเอง ต่างกรรมต่างวาระ วันนี้เรื่องเปลี่ยนงาน พรุ่งนี้เรื่องหัวหน้า วนเวียนไปมา เราจะแชร์ตัวอย่างวิธีรับมือ แล้วก็ให้คำปรึกษาคนที่เข้ามาถาม

life journey ของคนส่วนใหญ่มีไม่กี่อย่าง เรียนจบ ทำงาน ทะเลาะกับเพื่อน ทะเลาะกับเจ้านาย แต่งงาน มีครอบครัว มีลูก ทะเลาะกับลูก เปลี่ยนงาน มีประมาณนี้แหละ อยู่ที่ว่าใครจะเจอตรงไหนก่อน

ตั้งแต่ช่วงแรกที่ทำงานจนถึงปัจจุบัน คุณมองเห็นปัญหาของคนทำงานมีอะไรบ้าง เปลี่ยนไปจากสมัยก่อนไหม

อย่างที่บอกเรื่องเดิมๆ แล้วก็คนไม่ค่อยคิดถึงสิ่งที่จะเกิดในอนาคต อย่าเรียกว่าเราอยู่กับปัจจุบันเลย ออกจะก้ำกึ่งเอาอดีตมาเป็นปัจจุบันด้วยซ้ำ เช่น เราอยู่กับคนไม่ดี ก็บอกว่ากูต้องไม่ดีตามแน่ๆ เรากำลังเอาสถานการณ์ในอดีตไปผสมกับปัจจุบัน ตกลงเราไม่ดีเพราะคนอื่นหรือตัวเรากันแน่

อย่างเรื่องหัวหน้า โดยธรรมชาติเอาแบบพูดตรงๆ เลยนะ ผมมั่นใจว่าเราเจอหัวหน้าที่ดีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าที่เฮงซวยทั้งนั้นแหละ ต่อให้หัวหน้าดีแค่ไหนก็จะมีมุมแย่ๆ ให้เราเสมอ ผมก็โดนลูกน้องด่า ผมเองก็ด่าเจ้านาย แต่เรารู้ตัวดี เราแยกแยะได้ ทำงานกับคนแย่ๆ ยังไงให้เราทำได้ต่อ

คิดว่าบรรยากาศสังคมการทำงานตอนนี้เป็นอย่างไร

10 กว่าปีที่ผมทำงานประจำ รวมถึงออกมาทำงานตัวเอง ผมไม่เห็นว่าสังคมการทำงานมันจะดีขึ้นเลย รู้สึกยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ คนกล้าแสดงออกมากขึ้นก็จริง แต่กล้าแสดงออกในเชิงบวกมันน้อย โอเค ถ้าเราไม่พอใจคนในที่ทำงาน ก็มีสิทธิ์ที่จะเกลียดกันได้ แต่สำหรับผมจะคิดเรื่องมูลค่าความเสียหาย สมมติผมเลือกที่จะแสดงความรู้สึกออกมา ไม่ชอบหน้าสองคนที่ทำงาน ก็พูดกับมันตรงๆ เลย มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นวันนี้อาจทำลายอนาคตผมก็ได้ ผมต้องกันไว้ก่อน

สิ่งที่คนมักไม่มองก็คือผลที่ตามมา จะคิดแค่ชั้นเดียว ‘กูจะเอาแค่นี้’ แล้วหลังจากนั้นจะทำยังไงต่อ? เหมือนคำถามที่ผมเพิ่งเจอมาเลย เรื่องหางาน อยากได้งานที่เงินเยอะมีเวลา ตกลงคุณจะเอาเงินหรือเวลา เพราะถ้าคุณจะเอาเงินยังไงเวลาก็น้อยอยู่แล้ว มันเลือกไม่ค่อยได้

แต่เราเข้าใจที่เขามาปรึกษานะ ความเป็นมนุษย์อะ ไม่รู้จะปรึกษาใคร เพราะมันไม่มีพื้นที่จริงๆ ด้วยสภาพสังคมตอนนี้บวกกับคนอยู่ตรงกลางเยอะ คือ ไม่รู้ว่ากูควรทำยังไงต่อกับชีวิตดี พอไม่มีพื้นที่ที่สามารถมาบอกว่า มึงควรทำแบบนี้นะ เขาก็อาจทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ถ้ามันมีพื้นที่ที่มาตอบสิ่งนี้ มี option ให้เขาเลือกว่า เออ กูทำแบบนี้ได้นะ ก็คงดี สิ่งสำคัญคือพื้นที่ตรงนั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ แล้วเจ้าตัวเชื่อไหม

แล้วเพจของคุณน่าเชื่อถือสำหรับคนทำงานตรงไหน

ผมว่ามันเป็นการแชร์ประสบการณ์จากตัวเราหรือคนอื่น ในพื้นที่ผมเองไม่ได้แปลว่าทุกคนชอบนะ บางอย่างไม่ถูกใจลูกเพจก็มี เราพยายามสื่อสารหลายๆ แบบ ความตั้งใจของผมคือ อยากสื่อสารเพื่อให้เกิด call to action สามารถทำให้เขาเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ใช่ไปบังคับให้เขาเปลี่ยน แต่ด้วยการทำให้เขาเห็นแง่มุมที่หลากหลาย เช่น เวลาคนถามว่า ‘อายุเยอะเปลี่ยนงานได้ไหม’ ผมเข้าใจนะ ถ้าสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ไม่มีใครเปลี่ยนงานได้ เขาเลยต้องถาม แต่บางคนจะมองว่าตลก โง่ ถามทำไม เพราะคุณไม่ได้อยู่ในจุดนั้นไง เราเป็นคนกลาง มีหน้าที่หาหลักฐานมาปูให้เขาเห็น หาเคสตัวอย่างดีๆ ให้เขาดู สุดท้ายอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง

ผมเชื่อมั่นว่าการสื่อสารต้องทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ทำให้คนล้างภาพเก่าๆ ที่เกิดจากประสบการณ์เดิม ให้เขาเกิด imagination ภาพใหม่ ‘พี่คนนี้เขาเปลี่ยนงานตอนอายุ 50 เรา 39 ก็ต้องเปลี่ยนได้ดิวะ’ อาจเกิดจากการเปรียบเทียบกับ role model แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเป็นแบบเขานะ แค่ให้รู้สึกว่า เฮ้ย เป็นไปได้ เราต้องการคำว่า possibility มากกว่า negativity ไม่ใช่ ‘เปลี่ยนงานแล้วเจ๊งแน่นอน’ หรือ ‘เปลี่ยนงานแล้วไม่ผ่านโปรแน่ๆ’ แต่เราก็ห้ามความคิดแบบนี้ไม่ค่อยได้

สภาพแวดล้อมมีส่วนทำให้เราเกิดความคิดแง่ลบมากกว่าบวก

ผมรู้สึกว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ตั้งแต่เกิดจนโต เราโดนเปรียบเทียบตลอดเวลา หนีไม่พ้น พอโดนเปรียบเทียบมากๆ ก็บีบให้เราทำสิ่งที่เห็นแก่ตัวโดยที่ไม่รู้ตัว 

เช่น ทำไมต้องเรียนเก่ง… ก็เพราะกูโดนเปรียบเทียบจากป้าข้างบ้านไง ผมสอนนักศึกษา เวลาตัดเกรดจะมีคนนอยด์ เพราะได้เกรดไม่ดีบ้าง ไม่ได้อย่างที่คิดบ้าง เราก็อยากบอกเขานะว่า เกรดไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชีวิต การทำงาน การมีเงินต่างหาก แต่เราก็เข้าใจว่า ณ เวลานี้ เกรดมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาไง บางทีต้องปล่อยเวลาให้เขาได้เข้าใจเอง 

ปัญหาจากการทำงานถือเป็นหนึ่งในปัญหาโลกแตก แถมคนก็ไม่ค่อยกล้าพูดถึง แล้วไม่ค่อยมีที่ที่ให้พูดได้ด้วย จะหาคนปรึกษาก็ยาก การที่คุณสร้างเพจนี้ขึ้นมา คิดว่าช่วยมนุษย์ทำงานได้อย่างไรบ้าง

pain point ของพนักงาน คือ เขาไม่สามารถพูดเรื่องที่อยากพูดในที่ทำงานตัวเอง เขาเลยต้องหาที่ที่มาระบาย

ผมมองว่าพื้นที่ของเราอย่างน้อยทำให้เขาได้ระบายปัญหา จะได้รู้สึกโล่ง เช่น เรามีรายการทุกวันจันทร์ ชื่อ club monday มาจาก club friday มาบ่นให้เต็มที่ อาจได้ solution กลับไป กระแสตอบรับก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง บางตอนไม่มีใครกล้าโทรมาเลย ก็มานั่งวิเคราะห์นะว่าทำไม คือคนก็ยังคงกลัวอยู่ ถ้าพูดอะไรไปแล้วมีคนที่ทำงานฟังหรือคนรู้จักบริษัท

ถ้าคนยังคงกลัวที่จะพูดถึงที่ทำงาน แต่ยังมีคนส่งเรื่องมาเล่าให้ฟัง ไม่ว่าจะหน้าไมค์หรือ inbox คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร เขาถึงกล้าเล่าเรื่องนี้ในพื้นที่ของเรา

เราไม่มีส่วนได้ส่วนเสียและผมก็ไม่ได้ไปด่าเขา ตั้งแต่แรกเราวางตัวเป็นคนแชร์ตัวอย่าง ให้คำปรึกษา ไม่ใช่เป็นคนไปสั่งว่า ‘เฮ้ย มึงต้องเชื่อกูนะ’ เราจะบอกว่านี่คือวิธีการที่เราผ่านมานะ น้องลองเลือกเอาเองว่าอยากทำแบบไหน หรือจะไม่ทำตามเลยก็ได้นะ มีคนส่ง feedback กลับมานะว่า เขาไปมีชีวิตดีเพราะคำแนะนำที่เราบอก กลับมาขอบคุณเราก็เยอะ

หน้างานหนึ่ง คือ ให้คำปรึกษาคน อยากรู้ว่าวิธีให้คำแนะนำของคุณเป็นอย่างไร

สไตล์ผมจะไม่มานั่งฟังอะไรยาวๆ จะเอาอะไรบอกมาเลย แล้วก็ให้เป็นตัวอย่างซะมากกว่า เพราะชีวิตเขาก็ไม่ได้มีเวลาเยอะ รวมถึงเราด้วย วันๆ มีเรื่องเข้ามาเป็นสิบอย่าง ถ้าให้มานั่งฟังทีละเรื่องตายเลย ผมรู้สึกว่าการที่คนมีปัญหาแล้วต้องการหาใครสักคน เขามาพร้อมกับความเจ็บปวด เขาต้องการหาย ซึ่งหายในที่นี้คือ เจอ solution ทางออก

สมมติคนมาปรึกษาเรื่องลาออก ผมจะถามเลยว่าทำไมถึงอยากลาออก เขาก็จะเล่าปัญหาทั้งหมดให้เราฟัง ก็ถามต่อว่าเขามีทางเลือกอื่นไหม ลองคิดดูว่าถ้าเลือกลาออกจะเป็นยังไง แล้วถ้าไม่ลาออกล่ะ ให้เขาลองคิดถึงสิ่งที่ดีที่สุดของการทำงานที่นี่มาสัก 3 ข้อ 

เหมือนบังคับให้คนตัดสินใจช้าลง ทำให้เขาพิจารณาว่าที่นี่มันมีอะไรดีบ้างไหม บางทีแม่งหายไปเลย (หัวเราะ) ลองเทียบระหว่างลาออกกับอยู่ต่อ อันไหนส่งผลดีต่อเราที่สุด แต่ถ้าสุดท้ายเขาแน่วแน่จะลาออกก็จะได้รู้ว่าออกเพราะอะไร 

เราชวนเขาคิดซะมากกว่า?

ใช่ แต่ถ้าพูดตรงๆ ก็คือเราขี้เกียจ (หัวเราะ) ตัดบทด้วยคำถามให้เขาไปคิดเอา เดี๋ยวสักพักก็ได้คำตอบเอง

คิดว่ามีโอกาสที่จะเกิดพื้นที่พูดคุยแบบนี้ในโลกความเป็นจริงบ้างไหม

ผมว่ายังมีความเสี่ยงกับคนที่พูดนะ อาจจะมีผลกระทบต่ออาชีพ หรือที่ทำงานใหม่อาจจะรู้สึกไม่โอเคก็ได้ ยังเป็นเรื่องที่ทำยากอยู่ ฝั่งบริษัทไม่โอเคหรอกที่คนจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์เขา ยังรับไม่ได้ที่ตัวเองมีข้อด้อย แต่มันก็เป็นเรื่องจริง ไม่ต้องไปอายหรอก เพียงแต่จะแก้ปัญหายังไงดีกว่า

คิดว่ามีอะไรที่พอจะช่วยทำให้บรรยากาศสังคมทำงานดีขึ้นไหม

ผมว่าคนที่ต้องแก้ก็พนักงานนี่แหละ แก้ที่ตัวเองก่อน รักษาสุขภาพจิตตัวเองไว้ ให้บริษัทแก้ไปยังไงก็ไม่จบ เพราะจะมีเรื่องที่พนักงานไม่พอใจเพิ่มเรื่อยๆ และผมก็ไม่เชื่อว่าบริษัทที่บอกว่าดีที่สุดจะไม่มีข้อเสีย บริษัทที่ดีที่สุดไม่ใช่ว่าไม่มีคนเกลียด แต่อาจจะเป็นคนหมู่มากที่รับได้ ส่วนคนที่รับไม่ได้มีน้อย แก้ที่ตัวเรารับเรื่องไหนได้ – ไม่ได้ ตัดสินใจดูว่าจะไปต่อหรือลาออก 

การพูดถึงที่ทำงานยังคงต้องพูดในพื้นที่ปิด พื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัย

บางบริษัทก็มี option ถ้าพนักงานไม่พอใจอะไรสามารถรายงานได้ แต่พอพนักงานบอกไปแล้ว เรื่องมันไปสู่การแก้ไขหรือเปล่า หรือเวลาพนักงานลาออกจะมีให้ feedback ว่าทำไมถึงลาออก ส่วนใหญ่ไม่กล้าพูดความจริงกัน เพราะกลัวพูดไปเพื่อนที่อยู่จะซวย หรือพูดไปก็อาจจะไม่เกิดอะไร แล้วกูจะพูดทำไม เป็นเรื่องไม้เบื่อไม้เมา ต่อให้ระบบดี แต่ถ้าคนหน้างานไม่ทำ ผมยังมั่นใจว่าปัญหานี้ไม่หมดไปหรอก

มีคนจำนวนมากที่ทุกข์ทรมานกับการทำงานจนรู้สึกว่ายิ่งทำงานไปนานๆ ยิ่งไม่เจอความสุข หรือต่อให้เอาสิ่งที่ชอบมาทำเป็นงาน สุดท้ายมีโอกาสเกิดความทุกข์จากสิ่งนี้ สุดท้ายแล้วชีวิตการทำงานกับความสุขจะมีจุดที่อยู่ร่วมกันได้ไหม

งานที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ถือว่าสำเร็จนะ ยังมีปัญหาที่ต้องแก้ในแต่ละวัน คิดว่าจะหาลูกค้าใหม่ได้ยังไง แต่ผมไม่เคยคิดอคติกับสิ่งที่ทำ เจอลูกค้างี่เง่า บางทีเราก็งี่เง่าใส่ลูกค้าเหมือนกัน หรือถ้าอยากเป็นฝ่ายเลือกลูกค้าได้ เพื่อที่จะไม่ต้องเจอคนที่เราไม่อยากเจอ ก็ต้องสร้างให้เราเป็นบิ๊กใหญ่ที่ลูกค้าต้องวิ่งหาเราแทน เราถึงจะเลือกได้ แต่ถ้าวันนี้มันยังไปไม่ถึงจุดนั้นก็หาวิธีรับมือกับงานในแบบที่ไม่ทำให้เรารู้สึกเซ็งจัด

ผมรู้สึกว่ามีงานทำก็ทำงานนั้นให้ดี อย่างอื่นค่อยมาว่ากัน มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่ในความหมายผม คือ เราต้องทำงานแบบ hybrid ทำงานประจำเพื่อให้ได้เงิน แล้วก็มีอาชีพเสริม อาจไปทำสิ่งที่อยากทำ ดูสิว่าเราจะสามารถทำเงินจากสิ่งนั้นได้ไหม พยายามทำให้สมองไม่ว่าง ไม่งั้นเราจะไปคิดแต่เรื่องเครียดๆ ลบๆ สมองจะฝ่อเอาได้ หาอะไรทำเข้าไว้ อย่างผมก็เลือกเรียนต่อนะ

ส่วนคนที่บอกว่าชีวิตได้ทำในสิ่งที่รักแล้วอยู่ได้ ผมก็แฮปปี้กับเขานะ ผมเชื่อว่ากว่าเขาจะเจอและทำให้มันมีรายได้ โอ้โห ต้องใช้เวลา ต้องมีความบ้าระดับหนึ่งและเชื่อว่ามันทำได้ เรียกว่าเป็นสายบรรลุ  

แต่การทำงานแบบ hybrid จะทำให้คนรู้สึกเหนื่อยไปหรือเปล่า ยิ่งสังคมตอนนี้ที่พยายามทำให้ทุกคนเป็นคน productive 

ผมไม่ได้เป็นคน productive ขนาดนั้น แค่รู้ว่าต้องทำอะไร เมื่อไหร่ รู้ว่าทำสิ่งนี้เสร็จต้องไปทำอะไรต่อ ผมยังมีเวลาให้ตัวเองขี้เกียจ มีเวลาพาลูกไปทำอย่างอื่น ผมว่าเราส่วนใหญ่ไม่เคยถามตัวเองจริงๆ ว่ากูจะมีความสุขกับเรื่องอะไรได้บ้าง คนเราควรหาให้เจอว่าตัวเองจะมีความสุขกับเรื่องอะไร 

ผมคุยกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ทุกคนสรุปตรงกันว่าไม่ได้กลัวไม่มีเงินใช้เยอะๆ ตอนเกษียณ แต่กลัวจะใช้ชีวิตไม่มีความสุข ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ทำอะไรก็ไม่รู้ แล้วหวังว่าตอนเกษียณกูจะมีความสุข เพราะคนเราถูกหล่อหลอมด้วยความเชื่อประหลาดๆ เช่น ต้องมีเงินเก็บเท่านี้ ถ้าจะเกษียณต้องมีเงินเก็บ 5 – 6 ล้าน แล้วถ้าไม่มีผิดไหม หรืออาจไม่ได้มีเงินเก็บขนาดนั้น แต่เราไม่มีหนี้ล่ะ แฮปปี้ไหม สำหรับผมเท่านี้ก็พอ แล้วก็มีทักษะอะไรสักอย่างหนึ่งที่เราสามารถทำมาหากินรายวันได้ จบ แฮปปี้ละ 

หรือความสัมพันธ์เรากับงานจะคงเป็นแบบ Love – Hate relationship ตลอดไป

งานเปรียบเสมือนผู้ชายกับผู้หญิง เจอแบบ love at first sight รักแรกพบก็เยอะ หรืออยู่ไปเรื่อยๆ เสือกรักกันก็มี

ผมว่าความสัมพันธ์อย่างหลังดีที่สุด การเจอแค่สวยหล่อมันแป๊บเดียว มีโอกาสเลิกกันได้เพราะฉาบฉวย แต่ถามว่าเราอยากได้ไหม… ก็อยากได้ แต่สุดท้ายมันก็เป็นสิ่งที่อยู่แค่ชั่วคราว สิ่งที่จะอยู่ถาวรต้องเกิดจากความใกล้ชิด การสัมผัส เจอเสน่ห์ของมันที่ทำให้เราอยู่ด้วยกันไปได้นานๆ

เหมือนหาคู่ชีวิตเลย

ใช่ อย่างโลกออนไลน์ที่ใครๆ ก็อยากเข้าไปเป็น TikToker หรือ Youtuber อยากดังมีตัวตน แต่เข้าไปได้ไม่นาน เหมือน love at first sight ไม่กี่วันก็เลิกละ แต่ถ้าคุณสามารถอยู่กับมันไปได้นานๆ เรียนรู้พฤติกรรมคนในโลกนั้น ก็มีโอกาสอยู่ต่อยาวๆ นะ 

วางแพลนต่อไปไว้ไหมว่า เพจมนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่จะเดินไปไหนต่อ 

ก็ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ลองทำหลายๆ อย่าง ปั้นเพจเฟซบุ๊กให้ได้สัก 1 ล้าน followers ปั้นช่องทางอื่นๆ อย่าง YouTube สร้างให้เพจเราเป็นพื้นที่สีขาวที่ใหญ่ที่สุดสำหรับคนทำงาน เพราะเราไม่ค่อยทำคอนเทนต์แซะใคร เราให้แนวทางซะมากกว่า

ชีวิตทำงานยังไงมันก็ต้องทุกข์อยู่แล้ว บาดเจ็บบ้างก็รักษากันไป

ถ้าให้ฝากคำแนะนำสำหรับมนุษย์ออฟฟิศ คุณอยากฝากอะไร

อย่างแรกหางานที่ได้ทำอะไรเยอะๆ ไม่ต้องเน้นตำแหน่งหรือต้องเป็นหัวหน้าใคร เอาที่ได้ทำงานกับคนเยอะๆ เพราะผมคิดว่าคอนเนกชันเป็นสิ่งที่สำคัญ สอง – เวลา ที่ไม่ใช่เหลือจากการทำงาน แต่เป็นเวลาทำงานที่ flexible ยืดหยุ่นได้ เช่น งานที่ผมทำสามารถมีเวลาแวบไปทำอย่างอื่น 

ผมคิดว่านี่อาจจะเป็นเทรนด์ต่อไปของโลกการทำงาน การจ้างงานอาจจะไม่ได้จ่ายรายเดือน แต่เป็นรายชิ้นแทน ทำให้เราคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เพราะ routine การทำงานปัจจุบันทำให้เราเหนื่อย ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ถ้าคนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้แบบนี้ ก็จะสามารถเอาเวลาไปทำอย่างอื่น ตอนนี้เริ่มเห็นหลายบริษัททำละ แต่บริษัทคนไทยยังไม่ค่อยกล้าทำ เน้นจ้างพนักงานต้องเอาให้คุ้ม (หัวเราะ)

Writer
Avatar photo
เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป

Writer
Avatar photo
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Photographer
Avatar photo
อนุชิต นิ่มตลุง

ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว จนถึงสารคดี ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision เพิ่งตัดสายสะดือเป็นคุณพ่อหมาดๆ เมื่อเมษาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563)

illustrator
Avatar photo
กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts

Related Posts