เปลี่ยน ‘กำราบ’ เป็น ‘เข้าใจ’ เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ มีทางเดินของตัวเอง : The Little Mermaid

เปลี่ยน ‘กำราบ’ เป็น ‘เข้าใจ’ เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ มีทางเดินของตัวเอง : The Little Mermaid

  • ‘แอเรียล’ ตัวละครเอกจากการ์ตูนคลาสิกอย่าง The Little Mermaid เงือกสาวที่มีความฝันอยากอยู่บนโลกมนุษย์
  • ความปราถนาของแอเรียลไม่ใช่เรื่องน่ายินดีและสนับสนุนในสายตา ‘ราชาไตรตัน’ ผู้เป็นพ่อ ทำให้ทั้งสองคนขัดแย้งกันบ่อยๆ
  • “เด็กๆ ควรจะมีอิสระนำทางชีวิตของตัวเอง” คำแนะนำที่ ‘เซบัสเตียน’ มอบให้ราชาไตรตัน เพราะทุกคนมีชีวิตเป็นของตัวเอง ทางที่ลูกเลือกอาจแตกต่างกับสิ่งที่พ่อแม่คิด สิ่งที่ควรทำไม่ใช่ต่อต้าน แต่ทำความเข้าใจ

“วัยรุ่นพวกนี้นึกว่าตัวเองรู้มาก ถ้าเราอ่อนข้อให้นิด พวกเขาก็จะยิ่งเอาใหญ่”

ความคิดเห็นของ ‘เซบัสเตียน’ ปูสีแดง ตัวละครในเรื่อง The Little Mermaid และนักแต่งเพลงประจำตัว ‘ราชาไตรตัน’ เจ้าผู้ปกครองโลกใต้ผิวน้ำ ที่มีต่อ ‘แอเรียล’ ลูกสาวคนสุดท้องของราชา 

ภาพของแอเรียลในสายตาเซบัสเตียน คือ วัยรุ่นจอมดื้อที่ใช้ชีวิตด้วยความเลินเล่อและประมาท จนต้องใช้ไม้แข็งในการควบคุม ทำให้เขามักจะให้ท้ายราชาไตรตันเมื่อมีปากเสียงกับลูกสาว

ด้วยเหตุนี้ เซบัสเตียนมักได้รับมอบหมายให้เป็นพี่เลี้ยงคุมเข้มแอเรียลไม่ให้ออกนอกกรอบที่ราชาขีดไว้ โดยเฉพาะการออกไปสานสัมพันธ์กับมนุษย์ กฎเหล็กที่ไตรตันกำหนดไว้ว่าห้ามทุกคนทำเด็ดขาด

ความสัมพันธ์ระหว่างเซบัสเตียนและแอเรียลเป็นแบบ ‘ผู้คุมและผู้อยู่ใต้การควบคุม’ ต่างฝ่ายต่างมองว่าอีกคนพยายามสร้างความยุ่งยากให้กับตัวเอง แอเรียลที่รู้สึกว่าเซบัสเตียนเป็นเหมือนกล้องวงจรปิดที่สอดส่องว่าเธอจะทำอะไรนอกลู่นอกทาง มากกว่าจะทำความเข้าใจเธอจริงๆ ส่วนเซบัสเตียนก็ตั้งแง่ในทุกการกระทำของแอเรียล และคิดเสมอว่าเธอจะต้องทำอะไรไม่ดีแน่ๆ

ยิ่งห้าม ยิ่งอยากรู้ ยิ่งถูกจองจำ ยิ่งอยากได้อิสรภาพ ยิ่งราชาและเซบัสเตียนห้ามแอเรียลมากเท่าไหร่ เจ้าหญิงน้อยยิ่งดื้อมากขึ้นเท่านั้น และด้วยเหตุนี้เอง ที่แอเรียลถูกเซบัสเตียนและพ่อมองว่าเป็นฤทธิ์ที่ต้อง ‘กำราบ’  

“ถ้าแอเรียลเป็นลูกของกระหม่อม กระหม่อมจะสั่งสอนให้รู้ว่าพ่อสิใหญ่ ไม่ให้ไปเล่นที่ผิวน้ำหรือหนีเที่ยวเด็ดขาด” คำยืนยันจากเซบัสเตียนที่มอบให้กับราชาไตรตันว่า เขาจะควบคุมแอเรียลได้ตามที่ราชาของตนต้องการแน่นอน

สำหรับแอเรียล ความหลงใหลที่เธอมีให้กับชาวมนุษย์และโลกบนแผ่นดิน เพิ่มพูนขึ้นเพราะเธอไม่เคยมีโอกาสได้คลายความสงสัยเลยว่าข้างบนนั้นเป็นอย่างไร สิ่งที่รับรู้มีเพียงถ้อยคำจากคนเป็นพ่อที่มักบอกว่า มนุษย์โหดร้ายและโลกบนดินไม่เหมาะกับชาวเงือกเด็ดขาด แต่คำพูดเหล่านี้ไม่อาจตอบความอยากรู้อยากเห็นของแอเรียลได้เลย 

และเหตุผลสำคัญอีกอย่าง คงเพราะโลกใต้น้ำเป็นบ้านเกิดและที่ที่เธอเติบโตมา แต่กลับไม่มีใครในที่แห่งนั้นเข้าใจหรือพยายามที่จะเข้าใจเธอ ความคิดและตัวตนของเธอถูกปัดทิ้งหรือมองเป็นสิ่งผิด ถ้าคนที่มีอำนาจสูงสุดเช่นพ่อไม่เห็นด้วย

“อย่ามาทำเสียงแข็งกับพ่อนะ แม่สาวน้อย ตราบใดที่เจ้ายังอยู่ในมหาสมุทรของพ่อ เจ้าต้องเคารพกฎของพ่อ” คำพูดจากคนเป็นพ่อที่แอเรียลมักได้ยินเสมอ ทำให้เธอในวัย 16 ปีล้มเลิกที่จะทำให้พ่อเข้าใจ แต่พยายามหาทางไปอยู่บนโลกมนุษย์ที่ใครๆ ก็พากันบอกว่าอันตราย แต่สำหรับแอเรียลที่ยังไม่ทันรู้จักโลกนั้นด้วยซ้ำ กลับมองแล้วว่ามันสวยงาม เพราะคิดว่าเป็นหนทางเดียวที่จะได้มาซึ่งอิสรภาพและเป็นตัวของตัวเอง 

“คนบนโลกคงเข้าใจ ไม่มัวเฝ้าบังคับและคอยห้ามเรา” ท่อนหนึ่งของเพลงที่แอเรียลร้องให้ ‘ฟลาวเดอร์’ ปลาตัวน้อยที่เธอนับว่าเป็นเพื่อนเพียงคนเดียวบนในโลกนี้ เพราะเข้าใจเธอมากที่สุด 

การใช้เวลาร่วมกันระหว่างเซบัสเตียนกับแอเรียล แม้จะตั้งต้นที่การสอดส่องและจับผิด แต่ก็ทำให้เขาได้รู้จักแอเรียลในมุมอื่นๆ อาจเพราะเขาไม่ใช่พ่อหรือราชาผู้ยิ่งใหญ่ สำหรับแอเรียล เซบัสเตียนก็เหมือนคุณลุงที่เชื่อมั่นในมุมมองและความคิดของตัวเอง แต่คุณลุงคนนี้มีข้อดีตรงที่ไม่ได้ตั้งป้อมปราการที่ห้ามทลาย เขายอมคลายกำแพงเพื่อทำความเข้าใจอีกฝ่าย อย่างเช่นความรักที่แอเรียลมีต่อ ‘เจ้าชายเอริค’ ที่แม้พบเจอไม่ถึงหนึ่งวัน แต่เธอกลับรู้สึกถึงความรัก และยอมแลกเสียงของตัวเองกับขาเพื่อจะได้เป็นมนุษย์อยู่กับความรักของเธอ 

ถึงจะดูเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับเซบัสเตียน แต่เขาก็พ่ายแพ้ต่อแววตาที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นของแอเรียลว่า รักครั้งนี้เป็นของจริง เขายอมช่วยแอเรียลพิชิตใจเจ้าชายเอริค แต่การยอมทำตามแอเรียลก็ทำให้เซบัสเตียนเกิดคำถามว่า เขาจะกลายเป็นปูที่ใจอ่อนเกินไปไหม และขัดคำสั่งของราชาที่ส่งเขามาควบคุมลูกสาวหรือเปล่า

หรือเซบัสเตียนอาจกำลังวางความคิดความเชื่อตัวเอง และหันไปรับฟังอีกฝ่ายบ้าง แม้ฟังดูเป็นเรื่องไร้สาระและเต็มไปด้วยความอันตราย แต่การปล่อยให้อีกฝ่ายได้ลองทำตามความต้องการตัวเอง แม้จะผิดพลาด แต่เขารับรู้ว่ายังมีคนอยู่ข้างๆ ที่จะช่วยให้กลับมาได้

และถึงแม้เซบัสเตียนจะเป็นลุงแก่จุ้นจ้านในสายตาแอเรียล แต่ประสบการณ์ชีวิตที่มีมากกว่าก็ช่วยให้เขารับมือและช่วยแก้ปัญหาที่แอเรียลเผชิญ โดยไม่ใช่แค่สั่งว่าแอเรียลต้องทำอะไร แต่ช่วยแนะนำและรับฟัง พร้อมปล่อยให้แอเรียลจัดการปัญหาด้วยตัวเองเช่นกัน 

“ลูกไม่ได้ตั้งใจ ลูกไม่รู้” ความใจร้อนหุนหันและประสบการณ์ที่ยังไม่มากเท่าผู้ใหญ่ อาจทำให้แอเรียลตัดสินใจทำสิ่งที่ผิดพลาด แต่ความผิดพลาดจะกลายเป็นตราบาปชั่วชีวิต หรือเป็นบทเรียนที่ทำให้เธอลุกขึ้นมาเรียนรู้สิ่งต่างๆ อีกครั้งก็คงขึ้นอยู่กับมุมมองและโอกาสที่ผู้ใหญ่รอบๆ ตัวเธอมอบให้

“เด็กๆ ควรจะมีอิสระนำทางชีวิตของตัวเอง” คำแนะนำสุดท้ายที่ครั้งนี้เป็นเซบัสเตียนมอบให้ราชาไตรตัน 

ลูกและพ่อแม่ต่างมีเส้นทางและชีวิตเป็นของตัวเอง สายสัมพันธ์จะถูกตัดให้ขาดออกหรือเชื่อมให้แข็งแรง และดึงให้กลับมาเจอกันงชาร์จพลังให้กันในวันที่เหนื่อยล้า ขึ้นอยู่กับเราแต่ละคนจะเลือกสร้างความสัมพันธ์นั้นอย่างไร

ราชาไตรตันเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี ราชาผู้ยิ่งใหญ่ได้ความรักจากลูกกลับคืนมาในท้ายที่สุด เพราะเขาเรียนรู้ที่จะเปิดใจ ผ่อนคลายการควบคุม และปล่อยให้ลูกได้มีทางเดินของตัวเอง

Writer
Avatar photo
เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป

illustrator
Avatar photo
กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts

Related Posts