“ทุกคนล้วนเป็นครูสาธารณะ” เว่านัวหัวม่วน กับ ‘สัญญา มัครินทร์’ จากเด็กน้อย ‘ไทบ้าน’ สู่วันที่ห้องเรียนกว้างเท่าท้องฟ้า

“ทุกคนล้วนเป็นครูสาธารณะ” เว่านัวหัวม่วน กับ ‘สัญญา มัครินทร์’ จากเด็กน้อย ‘ไทบ้าน’ สู่วันที่ห้องเรียนกว้างเท่าท้องฟ้า

เมื่อดวงอาทิตย์ลับฟ้า ภูเขาลูกใหญ่ก็ถูกกลบด้วยเงามืดในยามพลบค่ำพร้อมกับท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้มที่ส่งบรรยากาศเหงาๆ ของธรรมชาติออกมาผ่านหน้าจอโปรแกรมประชุมวิดีโอออนไลน์ แม้จะน่าเสียดายที่ไม่ได้ไปพบเจอกัน แต่ก็นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เปิดบทสนทนากับชายผู้หลงรักในธรรมชาติและการเรียนรู้ สอญอ—สัญญา มัครินทร์ 

บนเส้นทางการเป็นครูกว่า 13 ปี การตัดสินใจลาออกจากอาชีพที่รักและกลับไปอยู่บ้านเกิดไม่ใช่เรื่องง่าย ชวนมาสัมผัสเรื่องราวของครูที่ลาออกไปเป็นนักเรียน ตลอดเส้นทางชีวิตตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงมุดหมายที่ใฝ่ฝัน 

ผมเกิดที่ ‘สีชมพู’ 

ในวัยเด็ก สัญญา เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อเป็นผู้ใหญ่บ้าน แม่เป็นผู้นำฝ่ายสตรี และพี่สาวก็เป็นประธานนักเรียน แม้ว่าจะได้เฝ้ามองและอยู่กับบทบาทผู้นำของที่บ้านตลอด แต่ในตอนนั้นเขากลับไม่เข้าใจและรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีความเป็นผู้นำอยู่ในตัวเลยแม้แต่น้อย 

“ผมเกิดที่สีชมพู โตมาในสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้านและอยู่กับครอบครัวที่อบอุ่น ในสมัยก่อนบ้านของผู้ใหญ่บ้านเป็นเหมือนศูนย์กลางของชุมชน เราก็เลยได้เห็นตัวละครต่างๆ แวะเวียนมาตลอด เลยทำให้เราได้เห็นการทำงานพ่อที่ต้องเสียสละให้คนอื่นอยู่เสมอ”

แต่เมื่อครอบครัวต้องเผชิญหน้ากับการสูญเสียพี่ชายไปจึงทำให้สัญญาลุกขึ้นมาดูแลหัวใจของทุกคนในบ้าน 

“ปีนั้นพี่ชายของเราหายไป กลายเป็นบุคคลสาบสูญ พี่สาวก็เอ็นทรานส์ไม่ติด พ่อก็ถูกโกง กลายเป็นปีวิกฤตของครอบครัวไปเลย ตอนนั้นเราวัยรุ่นกำลังซ่าเลย แต่เราก็เลือกมาดูแม่เพราะอยากจะช่วยเซฟพลังงานเขา รู้สึกว่าเป็นจังหวะที่ทำให้เราได้เห็นปัญหาครอบครัวเยอะเลย”

อยากเป็นครูตั้งแต่ทีแรก

จากเด็กบ้านนอกก้าวเข้าสู่ตัวเมืองขอนแก่นเพื่อเข้าเรียนมัธยมปลาย สัญญาต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึก ‘เป็นคนนอก’ จากความแตกต่างของสำเนียงภาษาและการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ จนทำให้ความรู้สึกคิดถึงบ้านปะทะเข้ามาตลอดเวลา 

“แต่พอเราได้ทำกิจกรรมมากขึ้นก็ไม่ค่อยได้กลับบ้านแล้ว อยู่ยาวจนทำงานเป็นครูที่ขอนแก่นก็ประมาณ 24 ปี”

และเมื่อย้อนถามไปถึงความฝันในวัยเด็ก สัญญาก็ตอบมาอย่างมั่นใจด้วยก้อนความทรงจำที่ยังชัดเจนอยู่ในใจตั้งแต่สมัย ป. 5 

“จำได้เลยวันนั้นอาจารย์ธวัชชัยใส่ชุดลูกเสือ แล้วก็ถามว่า ‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร’ เราดีใจมากที่อาจารย์ถามแบบนี้และเราก็ตอบด้วยความมั่นใจว่าอยากเป็นครูตั้งแต่ทีแรกเลย”

แต่ความฝันของ สัญญา ก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น เขายังเคยฝันอยากเป็นนักพากย์การ์ตูน ศิลปิน และผู้กำกับ 

“ตอนเด็กเราโตมากับช่องเก้าการ์ตูน พอได้ยินเสียงน้าต๋อยก็อยากเป็นนักพากย์ พอไปเรียน ม.ปลาย อินกับการฟังเพลงก็อยากเป็นนักร้องแบบพี่ป๊อด โมเดิร์นด็อก จนกระทั่งมาเรียนมหาลัยก็อยากเป็นผู้กำกับ เพราะในสมัยนั้นคนทำหนังเท่มาก อย่าง นนทรีย์ นิมิบุตร หรือ เป็นเอก รัตนเรือง”

จนสุดท้ายเขาก็ตัดสินใจเรียนที่คณะศิลปศึกษา ก่อนที่จะค้นพบว่า ‘มันไม่เหมือนอย่างที่คิด’ ด้วยความผิดหวังและไม่ชอบในระบบจึงทำให้ผลการเรียนออกมาไม่ดีนักจนเกือบต้องรีไทร์ (Retire) ออกไป 

“หลังจากได้โอกาสอีกครั้ง เราก็ค่อยๆ ปรับตัว เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ จะทำอย่างไรให้เราอยู่ได้ จนเริ่มชอบในสิ่งที่เราเรียน รู้สึกว่าโชคดีมากที่เลือกเรียนศิลปศึกษา ยิ่งตอนไปฝึกสอนก็รู้สึกว่านี่คือตัวเรามาก จากเคยเป็นเด็กเกเรและขี้เกียจ กลับรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ไปโรงเรียน  เราได้ออกแบบห้องเรียนอย่างเพลิดเพลิน เพราะเราได้รับพลังจากเด็ก เลยรู้สึกว่าถ้าต้องเลือกทำได้หนึ่งอาชีพ ขอเลือกเป็นครูดีกว่า หลังจากนั้นก็เป็นครูยาวมาเรื่อยๆ”

ในช่วงระหว่างที่ทำงานเป็นครูที่โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย ครูสอญอ ก็ได้ขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในโรงเรียนและชุมชน แม้ว่าเขาจะทุ่มเทตั้งใจในการเป็นครู แต่เขาก็ไม่ได้เห็นตัวเองจะเป็นครูจนถึงวันเกษียณอายุตั้งแต่แรก 

“เราตั้งใจว่าจะเป็นครูสัก 10 ปี เพื่อเช็กว่าจริงๆ แล้วเราชอบอาชีพนี้จริงไหม และอยากใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้ตัวเองในฐานะครูว่าเราจะเป็นครูให้ตัวเองได้อย่างไร เราจะเอาทักษะนี้ไปทำงานในด้านการพัฒนาได้อย่างไร เพราะงานพัฒนาหรืองานเตรียมอนาคตคน มันทำงานกับเรามากที่สุด”

นอกจากเรื่องการพัฒนาคนแล้ว เขายังสนใจในเรื่องของจิตวิญญาณและศาสนาอีกด้วย 

“จริงๆ งานครูกับงานพระ มันใกล้กันมากเลย พระจะเน้นสอนจริงจังไปในเชิงหลุดพ้น แต่งานครูสอนวิชาที่ยังอยู่กับโลก ปลายทางจริงๆ เราอยากเป็นครูสอนวิชาหลุดพ้น เพราะลึกๆ แล้วเราเองก็อยากหลุดพ้น”

เส้นทางการเป็นครูของ สัญญา ดำเนินมาเรื่อยๆ จนถึงปีที่ 13 ที่ทำให้เขาเริ่มคิดว่า ‘การเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด’ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่ไม่อาจแก้ไขได้จนทำให้รู้สึกว่าการเป็นครูไม่ได้สนุกเหมือนเดิม

“จริงๆ ในใจเราอยากทำงานพัฒนา โชคดีที่เราทำงานกับชุมชนเลยมีเครือข่ายอยู่แล้ว แล้วช่วงนั้นพอได้กลับบ้านก็เกิดความรู้สึกว่า อยากทำอะไรที่บ้านเกิดของตัวเองดูบ้าง พอทำดูมันก็สนุก เราเลยตัดสินใจย้ายมาสอนที่โรงเรียนแถวบ้าน เพื่อจะได้ทำงานท่องเที่ยวชุมชนได้ด้วย”

แต่สุดท้ายเมื่อย้ายมาสอนที่โรงเรียนแห่งใหม่ ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด เมื่อต้องพบกับโครงสร้างและระบบอำนาจภายในที่มาตอกย้ำความคิดที่จะ ‘ลาออก’ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

“มันเศร้านะ ถ้าคนทำงานแบบนี้แล้วไปทำงานแบบแห้งๆ เรารู้สึกว่าเราต้องไปชาร์จพลัง เราต้องไปปลุกความเป็นนักเรียนของเราให้กลับคืนมา เพราะในมุมของเรา คนจะเป็นครูได้มันต้องมีความเป็นนักเรียนด้วย เพราะถ้าคุณมี แสดงว่าคุณยังอยากที่จะเรียนรู้อยู่”

ทุกคนล้วนแต่เป็น ‘ครูสาธารณะ’ 

แม้ว่าเส้นทางการเป็นครูสัญญาจะยาวนานมาถึงปีที่ 15 แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจลาออกจากการเป็นครูเพื่อกลับไปเป็นนักเรียนในห้องเรียนอันกว้างใหญ่ที่เรียกว่า ‘โลก’ เขาเริ่มต้นออกเดินทางไปอินเดีย เรียนรู้ ท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ ค่อยเก็บเสริมเติมพลังความเป็นนักเรียนให้กลับมาพลุ่งพล่านอีกครั้ง 

“มันเหมือนว่าเราจากบ้านไปนาน ชาวบ้านก็เลยไม่รู้จักเรา เราก็เลยมีความรู้สึกเป็นอื่นอยู่เหมือนกัน เหมือนตอนที่ไปอยู่ที่อื่นเราก็รู้สึกว่าเป็นคนนอก แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ค่อยๆ ปะติดปะต่อ เริ่มได้เจอเพื่อนและได้มีเวลากลับไปสำรวจความทรงจำเก่าๆ เช่น ภูเขาที่เราเคยขึ้น หรือถนนที่พ่อเราเคยพาไปปั่นจักรยาน มันก็เกิดความรู้สึกอบอุ่นเหมือนได้กลับบ้าน”

ด้วยความตั้งใจแรกที่อยากทำท่องเที่ยวชุมชน สัญญา ก็ได้สร้างเพจ ‘เที่ยววิถีสีชมพู’ ที่อยากจะชวนคนรุ่นใหม่ให้คืนถิ่น จากนั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ จนนำไปสู่การถอดบทเรียนและนำเอากิจกรรม ‘มหาลัยเถื่อน’ มาเป็นโมเดลในการทำ ‘มหาลัย’ไทบ้าน’ กลายเป็นการศึกษานอกห้องเรียนที่ออกแบบ เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนโดยคนในและคนนอกพื้นที่ 

“เรามีความตั้งใจแบบนั้น คืออยากทำงานกับชุมชนเป็นหลัก แต่เรารู้สึกว่าพลังของคนสำคัญ ต้องอาศัยทั้งคนนอกคนใน เราจึงยังต้องการพลังของคนนอกที่จะมาช่วยบอกว่าความบ้านนอกมันมีเสน่ห์ อย่างวิชาการทำสาโท หรือวิชาการหาเห็ดในป่า มันโคตรเท่เลย”

“สำหรับตอนนี้ มหา’ลัยไทบ้าน ก็เดินทางมาเกินครึ่งทางแล้วในแง่ของการทำให้คนรับรู้ การมีอยู่ของเราเริ่มชัดเจนขึ้น จากตอนแรกเป็นกิจกรรมทางการศึกษา จนไปสู่การขับเคลื่อนชุมชน แต่ตอนนี้เราอยากให้กลายเป็นสถาบันจริงๆ เป็นรูปธรรม มีความชัดเจนมากขึ้น ปีนี้เราเลยตั้งใจทำหลักสูตรขึ้นมา”

“เราเชื่อว่าความรู้ดีๆ ไม่ได้มีแค่ที่กรุงเทพหรืออยู่ในเมือง ที่บ้านนอกเราก็มี เราอยากจะทำให้ทุกคนได้รับรู้”

สำหรับความตั้งใจต่อไปที่ทาง มหา’ลัยไทบ้าน พยายามจะผลักดันคือการเรียนรู้นอกระบบที่สามารถให้เด็กๆ เก็บหน่วยกิตได้จริง เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะช่วยโอบอุ้มเด็กๆ ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา และอีกหมุดหมายหนึ่งคือการเข้าไปทำความรู้จักคนในชุมชนในฐานะเพื่อน เพื่อดึงเอาตัวละครอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็รวมถึงการพยายามนำกลุ่มเด็กนอกระบบ ให้กลับเข้าสู่พื้นที่ดีๆ ในชุมชน ผ่านการเชื่อมโยงกับตัวละครอื่นๆ ในสังคมต่อไป

“ถ้าเด็กไม่เรียนหนังสือก็คือเขาปฏิเสธโรงเรียนไปแล้ว ซึ่งที่มหาลัย’ไทบ้าน ก็พยายามจะกอบเกี่ยวกลุ่มเด็กนอกระบบในชุมชนเอาไว้ โดยที่เราเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ไม่ได้อยู่ในความเข้าใจเดิมคือ ‘ครู’ กับ ‘นักเรียน’ แต่เราเป็นเพื่อนที่จะพาเขาไปในพื้นที่ดีๆ ผ่านกิจกรรมต่างๆ อย่างการเป็นผู้พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว การฝึกเป็นผู้ช่วยไกด์ และหลักสูตรต่างๆ  ซึ่งเขาก็จะไปเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับตัวละครอื่นๆ ต่อไปอีก เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว”

“จริงๆ พวกเราก็ตั้งใจว่าจะเข้าไปทำงานกับครูในระบบด้วย เพราะเหล่าเด็กๆ ที่พร้อมจะหลุดออกจากระบบมีไม่น้อย เราพยายามที่จะเสนอทางเลือกให้เด็กมาร่วมกิจกรรมกับทางมหาลัย’ไทบ้าน เราคิดว่านี่เป็นทิศทางที่ดีของชุมชน ชาวบ้านก็เริ่มเห็นบทบาทของพวกเรามากขึ้น โรงเรียนก็เปิดประตูให้พวกเรามากขึ้น เพราะเราอยากเป็นเพื่อนครู ช่วยเขาดูแลเด็กไม่ให้หลุดออกไปสู่ปลายน้ำที่เราไม่รู้เลยว่ามันจะดีหรือจะร้าย”

วลีที่ว่า ‘เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน’ สำหรับสัญญาก็คงจะเป็นหนึ่งสิ่งสำคัญที่เขาตั้งใจทำมาตลอดตั้งแต่ในฐานะครู นักเรียน นักกิจกรรม และฐานะชาวบ้านอีกหนึ่งคนที่มองเห็นว่า ทุกคนตัวละครมีผลต่อกันและกันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

“คนที่จะโตมาหนึ่งคนไม่ใช่หน้าที่ของแค่พ่อแม่ครอบครัว หรือครูในโรงเรียน แต่มันคือหน้าที่ของตัวละครอื่นๆ ในสังคม ทุกคนล้วนแต่เป็น ‘ครูสาธารณะ’ ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทุกอย่างมันมีผลกับตัวละครหรือลูกของคนอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน ซึ่งเราก็อยากจะมองสิ่งนี้ให้มันชัดเจนขึ้นในเชิงนโยบาย เราต้องจินตนาการภาพใหม่ด้วยกันว่าการเรียนรู้มันไม่ได้อยู่แค่ที่โรงเรียนแล้ว แต่มันอยู่ทุกที่”

ทุกอย่างมีช่วงวัยของมัน 

“ถามว่าทำแล้วเหนื่อยไหม มันก็มี แต่พอเราเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ เหนื่อยก็แค่พักก่อน”

ต่อไป สัญญา ก็ตั้งใจว่าจะลดบทบาทตัวเองให้น้อยลง อยากเพิ่มตัวละครใหม่ๆ ให้มากขึ้น และจะนำพาตัวเองเข้าสู่พื้นที่ปลีกวิเวกเพื่อศึกษาวิชาเบาใจ ปล่อยวางและหลุดพ้นจากสิ่งต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง 

หลังจากผ่านพ้นวันเกิดของ สัญญาไปไม่ได้นาน ในวัย 40 ปีนี้เขาก็ได้หัวเราะออกมาด้วยเสียงดัง พร้อมบอกถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากวัยนี้คือ “การยอมรับว่าเราแก่”

“ก็ยอมรับว่าเราแก่ ทุกอย่างมีช่วงวัยของมัน จงใช้ประสบการณ์และใช้ช่วงเวลานั้นให้เต็มที่ เรารู้สึกขอบคุณตัวเองมากที่ตัดสินใจลาออกจากการเป็นครู เพราะไม่อย่างนั้นเราคงไม่ได้มาทำอะไรแบบนี้”

Writer
Avatar photo
จินต์จุฑา ธงภักดิ์

คนธรรมดา ที่เชื่อว่าถั่วงอกเป็นสิ่งชั่วร้าย

Photographer
Avatar photo
นฤพล เวยสาร

Related Posts

Related Posts