จากบ้านข้างๆ สู่ฤดูใหม่: พ่อที่อธิบายความรักไม่ได้ “แต่ถ้าลูกไปเจอฤดูอะไรก็บอกเล่าให้กันฟัง”

จากบ้านข้างๆ สู่ฤดูใหม่: พ่อที่อธิบายความรักไม่ได้ “แต่ถ้าลูกไปเจอฤดูอะไรก็บอกเล่าให้กันฟัง”

เรื่อง: เลิศศักดิ์ ไชยแสง
ภาพ: เพจ sky and whale

  • “จะมอบหัวใจเพื่อสร้างเธอเป็นฤดูใหม่” คือเพลงที่ ‘ตูน’ ณัฐธีร์ อัครพลธนรักษ์ เจ้าของร้านคาเฟ่ และเพจ บ้านข้างๆ  แต่งให้กับ ‘ฤดู’ ลูกชายตัวน้อยวัย 4 เดือน
  • มันก็เป็นความรักที่ตูนอธิบายไม่ได้ว่าเป็นแบบไหน ชีวิตเราจะไม่ตายแทนใครเลย นอกจากลูก 
  • มันเป็นฤดูหนึ่งของพ่อ ในอนาคตพ่อก็เป็นอีกฤดูหนึ่ง ชีวิตลูกก็เหมือนกัน ไม่ต้องยึดติดกับความคิดใดความคิดหนึ่งคนเรามันเปลี่ยนกันได้ตลอด แต่ความผูกพันของความเป็นพ่อลูกจะไม่เปลี่ยนแปลง 

พอถามว่าเนื้อเพลงท่อนไหนเป็นท่อนที่สุดของหัวใจ ในเพลงใหม่ที่แต่งให้กับลูกชายตัวน้อย “จะมอบหัวใจเพื่อสร้างเธอเป็นฤดูใหม่” ‘ตูน’ ณัฐธีร์ อัครพลธนรักษ์ เจ้าของร้านคาเฟ่ และเพจ บ้านข้างๆ ผู้ชอบถ่ายรูปตึกสีขาวอยู่ตรงกลาง กับมีท้องฟ้าโล่งกว้างหลากสีเป็นฉากหลัง และเป็นนักร้องวงดนตรีโฟล์ค t_047 

แทนคำตอบ เขาหยิบเอาช่วงหนึ่งของเพลง ‘ฤดูใหม่’ ตอนที่ถามถึงลูกชายตัวน้อยวัย 4 เดือน 

ก่อนจะได้ชื่อว่าพ่อ

ตูนเป็นนักร้อง นักดนตรี และแต่งเพลงมาเสมอ เขาเล่าว่านี่คือความฝันหลงใหลมาตั้งแต่เด็ก ใช้ชีวิตสุดติ่งต่างจากภาพถ่ายท้องฟ้าพร้อมกับแคปชั่นเหงาๆ และแนวเพลงเบาสบายราวกับขนนก

“เป็นคนค่อนข้างร็อคแอนด์โรล ใช้ชีวิตสนุก ไปเที่ยว เล่นดนตรี สูบบุหรี่ กินเหล้าเมา มันค่อนข้างย้อนแย้งกับงานที่เราทำ เราสื่อสารความสงบไปแต่เราก็โลดโผนอยู่ ซึ่งมันก็เป็นปกติ เรามีทั้งมุมที่บุกตะลุย มีมุมที่นั่งสงบ ก็แล้วแต่จังหวะนะ อย่างไปอยู่ร้านเหล้ากับเพื่อนก็ไม่ได้นั่งมองพระจันทร์… ก็คงเมาแหลก”

เขาหัวเราะเมื่อพูดถึงอดีตของตัวเองที่ผ่านมา ก่อนจะเสริมต่อว่าชีวิตเราก็มีช่วงหนึ่งที่ได้กลับมาพิจารณาตัวเอง ตูนเรียกมันว่า กระบวนการสำรวจตัวเอง ว่าในขณะนั้นเขาใช้ชีวิตมาถึงไหนแล้ว กำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่ได้ลงมือทำไปในชีวิตเป็นสิ่งที่ถูกต้องไหม โดยเฉพาะการมีลูก 

“การตั้งใจจะมีลูกก็ไม่ได้คิดอะไรเยอะ แค่รู้สึกว่าโอเค ทรัพยากรเรามีพร้อมไหมที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตได้แบบมีศักยภาพ มีความสะดวกสบาย ซึ่งรู้สึกว่าเราสามารถทำได้

“แต่ว่าความพร้อมของแต่ละคนก็เป็นปัจเจกอีกว่าอะไรคือความพร้อม ถ้าเกิดว่าคำว่า พร้อม มันมีบรรทัดฐานเดียวกัน คงวุ่นวายแย่ ซึ่งเราจะเอาบรรทัดฐานของใครกัน ของเราแบบหนึ่ง ของพ่อแม่ก็แบบหนึ่ง เราเอาตัวเราเป็นหลักดีกว่า ตอนเด็กเรารู้สึกว่าอะไรที่มันไม่ควรจะได้รับ เราก็จะไม่ทำกับลูก ตอนเด็กที่เรารู้สึกว่าอะไรมันขาดเราก็เติมให้ลูกเรา”

มรสุมชั่วขณะ

ก่อนร้านบ้านข้างๆ จะปิดตัวลง ตูนวางแผนไว้ว่าจะจัดระบบร้านให้ดีระหว่างรอลูกคลอด เพื่อที่จะไม่ต้องดูแลร้านเอง แต่โควิด-19 ก็พรากเอาชีวิต ความหวัง และความฝันของหลายๆ คนหายไป ทำให้เขาต้องกลับมาดูแลร้านต่อเหมือนเดิม 

“พอมีโควิดปุ๊บเหมือนเราจะต้องเข้าร้านเอง ทุกอย่างมันไม่ได้รันไปตามแผน งั้นเราก็พักไปก่อนดีกว่า ถ้าเกิดว่ามีโอกาสก็ค่อยหาที่เปิดใหม่ จริงๆ ก็อยากจะเปิดในอนาคต เราไม่อยากออกมาทำงานข้างนอกด้วย เหมือนเปิดคาเฟ่ที่บ้านได้เลยก็น่าจะสะดวกกว่า แต่ว่าก็ให้เป็นแผนในอนาคต ช่วงนี้ทำดนตรีไปก่อน”

แม้ผลกระทบที่ตามมาจะเป็นปัญหาอยู่บ้าง แต่รายได้สำหรับเขายังพอมีไหวที่จะใช้ชีวิต ซึ่งได้มาจากการสตรีมเพลง และเขียนหนังสือ พอถามว่าอะไรที่มีผลกระทบที่สุดในช่วงนั้น…

“ที่รู้สึกที่สุดคือเรื่องความกังวล ลูกก็คลอดแล้วด้วย ถ้าเราติดโควิดกัน กลัวจะมีผลกับลูก ก็จิตตกอยู่แล้วก็แพนิคมาก แพนิคแบบว่าแทบจะล้างมือกันทุกนาที ล้างมือกันจนจะถลอก กลัวติดโควิด เวลากินอาหารก็ดูแลป้องกันสุดๆ มันก็จะหลอนๆ หน่อย”

การมาของฤดูใหม่

วันที่รู้ว่าตัวเองจะได้เป็นพ่อ ตูนบอกว่าความรู้สึกในใจมันหวิวๆ อย่างบอกไม่ถูก 

“เราไม่เคยมีความรู้สึกที่แบบโห… จะมีหนึ่งชีวิตเกิดขึ้นจากเรา แล้วมันก็มีความรู้สึกว่าความเป็นพ่อ มันมาตั้งแต่วันที่รู้ว่าเราจะมีลูก แล้วการใช้ชีวิตก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเองตามธรรมชาติ เริ่มเกเรน้อยลง รับผิดชอบชีวิตมากขึ้น”

เช่นกันกับวันที่ได้เห็นหน้าลูกครั้งแรก “หูย… ใจเต้นเลย โอ้โห นี่เหรอ ชีวิตที่เกิดมาจากเรา หลังจากได้อุ้มก็มีความรู้สึกที่ “อ้อ เราจะต้องดูแลคนนี้ไปอีกนานเลย” เหมือนกับว่าเสี้ยวหนึ่งของหัวใจเรา เสี้ยวหนึ่งของวิญญาณเราไปอยู่กับเขา มันก็ถูกเชื่อมโยงโดยธรรมชาติของสัญชาตญาณความเป็นครอบครัว”

เมื่อได้เจอหน้าลูกที่เฝ้าหวัง และตั้งตารอพบอีกหนึ่งชีวิตตัวน้อย ความเป็นนักดนตรี นักแต่งเพลง และนักร้องในร่างเดียวกัน ตูนจึงแต่งเพลงขึ้นมาให้กับเจ้าตัวน้อยเพื่อใช้ในการเตือนสติเมื่อเติบใหญ่ พร้อมๆ กับชื่อซึ่งเป็นตัวแทนของพ่อในแง่ของการเตือนสติเช่นกัน

“ชื่อลูกมาจากชื่อเพลง ‘เพียงฤดู’ เราก็เลยเอามาตั้งชื่อจริง และชื่อเล่นว่าฤดู’ คือแค่รู้สึกว่าเราไม่ได้อยากตั้งชื่อลูกให้จริงจังอย่าง คุณชายสมสมรอะไรแบบนี้ เราก็เลยให้ชื่อเป็นสิ่งที่เตือนสติเขาได้ เหมือนกับเพลงนี้ที่เราใช้ในการเตือนสติตัวเองเหมือนกัน แต่ถ้าชื่อของเขาเป็นสิ่งที่เตือนสติเขาได้ในการใช้ชีวิต ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เป็นประโยชน์ ที่ชื่อจะทำได้

“ส่วนเพลงมันเป็นธรรมชาติของนักดนตรี คือนักดนตรีเขียนเพลงจากความรู้สึกใช่ไหม พอเรามีลูก ความรู้สึกเราไปผูกอยู่กับลูก เกิดเป็นเพลงที่เราอยากจะเล่าความรู้สึกของเราที่คิดกับเขาในตอนนั้น

“เพลง ‘ฤดูใหม่’ มันก็คือการที่เราเจอเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต เจอฤดูร้อน ฝน ลมหนาวของเรา เราอาจจะแนะนำอะไรไม่ได้ในสิ่งที่เราผ่านมา แต่สิ่งที่เขาต้องเจอมันก็เป็นอีกฤดูหนึ่งที่เขาต้องไปเจอเอง แค่เพลงบอกว่าเราผ่านมาในฐานะฤดูของเรา เราอยู่ตรงนี้นะ ถ้าเกิดเจอฤดูอะไรมาก็บอกเล่าให้กันฟัง”

พอถามว่าเนื้อเพลงท่อนไหนเป็นท่อนที่สุดของหัวใจ ท่อนไหนที่ตอบแทนความรู้สึกข้างในใจที่มีให้ลูกชายตัวน้อยวัย 4 เดือน ตูนตอบว่า “จะมอบหัวใจเพื่อสร้างเธอเป็นฤดูใหม่” 

สร้างให้เขาได้เติบโตอย่างที่เขาอยากเป็น สร้างให้เขาได้เรียนรู้ชีวิตไปตามธรรมชาติ และสร้างให้เขาเคารพความเป็นมนุษย์ของผู้คนบนโลก

โลกอันโหดร้าย

การมีชีวิตอยู่มันเป็นเรื่องยากและง่ายพอๆ กัน เหมือนที่ท่อนหนึ่งของบทเพลงฤดูใหม่ ได้บอกไว้ว่า ฉันจะรักเธอ ไม่ว่าโลกจะโหดร้ายเพียงใด ได้ตอบแทนความรู้สึกข้างในของตูนผู้ซึ่งเรียกตัวเองว่าพ่อ 

เขาเล่าเสริมเกี่ยวกับโลกอันโหดร้ายไว้ว่า คือความใจร้ายของมนุษย์ คือความเห็นแก่ตัว ผู้คนที่โตแล้วจะสนใจแต่เรื่องของตัวเองไม่รู้จักเป็นผู้ให้ 

“รวมถึงคนที่ขี้โกงแต่ว่าไม่ได้รับผลกรรมในสิ่งที่เขาทำ คุณจะได้เจอโลกที่คนโกงจะเจริญ คนที่เป็นคนดีก็จะตาย มันมีความโหดร้ายของโลก อยู่ที่เขาจะได้เรียนรู้เอง แต่ว่าสิ่งที่ยังคงเหมือนเดิม ไม่ว่าโลกจะเป็นยังไง ก็คือความรักที่เรามีให้เขา”

ไม่เพียงแค่ความใจร้ายของมนุษย์ที่แฝงอยู่ในตัวเราทุกคน ยังรวมถึงสังคมที่พร้อมโอบกอด และทำร้ายคุณเช่นกัน

“จริงๆ สังคมแบบไหนที่เราอยากจะให้เขา มันเป็นสิ่งที่เลือกยาก ต่อให้เราพาเขาไปอยู่ในสังคมที่ดีที่สุด แต่มันไม่ใช่ตัวเขา เขาก็จะวิ่งหาสิ่งที่ตรงความต้องการของเขาอยู่ดี เหมือนที่บ้านก็ส่งเราเรียนในโรงเรียนที่เขาคิดว่าเราจะเติบโตไปในทางที่เขาหวัง แต่สุดท้ายเราก็วิ่งไปหาสังคมแบบที่เราชอบ ชอบไปหาดนตรี ชอบไปหาของเราเอง ครอบครัวอาจจะวางให้เรารับราชการ หมอ ครู แต่เราก็เลือกเส้นทางดนตรี รู้ตัวเองว่าเราต้องการอะไร 

“แต่ถามว่าอยากให้ลูกอยู่ในสังคมแบบไหน เอาแค่เป็นสังคมที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขก็โอเคแล้ว ไม่ได้กำหนดเลยว่าจะต้องเป็นเด็กแบบนี้ มีเพื่อนแบบนี้ คุณจะมีเพื่อนแบบเฟี้ยวๆ ไปเล่นสเก็ต ไปสักแขนได้หมดเลย แล้วแต่ แค่อะไรไม่ดีก็อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับมันเท่านั้นเอง

“สำหรับเรานะ สิ่งที่ดีที่สุดก็คือสิ่งที่ลูกเลือก เลือกแล้วมันไม่ดีเขาจะได้รู้ว่าอ๋อ อันนี้ไม่ดี การเลือกสิ่งที่ไม่ดีมันก็เป็นอีกหนึ่งหนทางหนึ่งไปสู่ทางที่ดีที่สุด เราก็ปล่อยให้เขาใช้ชีวิตเต็มที่เลย”

ฉันจะเป็นสายลม คอยพัดพาฤดูกาลเปลี่ยนหมุน

สิ่งที่เป็นบทเรียนและการเรียนรู้อันยิ่งใหญ่จากการเป็นพ่อของตูน คือรู้จักการให้ ให้ใครคนหนึ่งได้หมดทุกอย่างอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

“เราได้เรียนรู้ที่สุดเรื่องความรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบเขา แต่รวมถึงความรับผิดชอบตัวเองให้ดีด้วยต่อการเป็นพ่อที่ดี”

สำหรับบทเรียนที่เขาได้รับกลับ เป็นเรื่องของความรักที่ไม่รู้จะหาคำไหนมาอธิบาย 

“เหมือนรักเขาตั้งแต่ยังเป็นเซลล์ ยังเป็นก้อนเนื้อ มันคือความรักในสายเลือด และรักในสายเลือดน่าจะชัดเจนสุด ถ้าเราไม่ได้มีลูกเราคงไม่ได้รู้ถึงตรงนั้น

“และมันก็เป็นความรักที่อธิบายไม่ได้ว่าเป็นแบบไหน ชีวิตเราจะไม่ตายแทนใครเลย อย่างเราจะไม่ตายแทนแฟนเรา เราจะไม่ตายแทนพ่อแม่เรา แต่ว่าเราสามารถตายแทนลูกได้ ซึ่งมันเป็นความลับที่คุณต้องเจอถึงจะเข้าใจ”

นอกจากนี้ตูนยังได้นิยามลูกชายวัย 4 เดือนกับชีวิตของเขาว่า เสมือนเนื้อตัวและวิญญาณอีกเสี้ยวที่อยู่ในร่างตัวจิ๋ว ส่วนภรรยาก็เปรียบเสมือนเกราะป้องกันที่คอยดูแลหัวใจ คอยเติมเต็มและคุ้มกันให้เขาอยู่เข้าที่เข้าทางเป็นคนที่ดี และสุดท้ายตูนก็นิยามตัวเองในฐานะพ่อว่า 

“เป็นคนที่ต้องดูแลเขาในช่วงที่เขายังดูแลตัวเองไม่ได้ แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตเขา เราแค่มีหน้าที่ในการดูแลเขาในช่วงนี้ และสุดท้ายก็เป็นคนที่คอยซัพพอร์ตเขาในสิ่งที่เขาเลือกจะเป็น นั่นคือนิยามตัวเราเอง”

ก่อนจะปิดท้ายด้วยว่า หากวันใดวันหนึ่งฤดูพัดพาเปลี่ยนหมุน และได้ออกเดินทางใช้ชีวิตโดยมีสายลมคอยดูแลอยู่ห่างๆ สิ่งที่พ่อคนหนึ่งฝากไว้คือการเฝ้ามองในที่ตรงนี้เสมอ

“นี่เป็นความคิดของพ่อ ณ ช่วงอายุวัยรุ่น 25-26 ความคิดของเราตอนนี้ มันอาจจะไม่เหมือนความคิดของเราในแบบที่ลูกโตแล้ว ก็แค่ให้รู้ว่าช่วงหนึ่งพ่อมีความคิดแบบนี้ แล้วโตขึ้นพ่อมีความคิดเปลี่ยนไปแบบไหนหรือเปล่า อาจจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ซึ่งนั่นก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ 

“อย่างที่พ่อบอก ว่ามันเป็นฤดูหนึ่งที่พ่อเป็นฤดูแบบนี้ ในอนาคตพ่อก็เป็นอีกฤดูหนึ่ง เป็นธรรมดาของชีวิต ชีวิตของลูกก็เหมือนกัน มันก็เป็นแบบนั้น แบบไม่ต้องยึดติดกับความคิดใดความคิดหนึ่ง เพราะคนเรามันเปลี่ยนกันได้ตลอด แต่ว่าความรู้สึก ความผูกพันของความเป็นพ่อลูก นั่นคือสิ่งที่จะไม่เปลี่ยนแปลง อย่างเพลงที่พ่อได้เขียนไว้ให้”

Writer
Avatar photo
เลิศศักดิ์ ไชยแสง

เด็กน้อยผู้ซึ่งออกตามหาสิ่งใหม่ ผ่านการมองท้องฟ้า ชีวิตมนุษย์ และสิ่งละอันพันละน้อย ค่อย ๆ เขียนทั้งหมดให้เป็น เรื่องเล่าชีวิต

Related Posts

Related Posts