หมดคำถาม “เรียนไปทำไม” วิชานี้ที่หนูอยากเรียน

หมดคำถาม “เรียนไปทำไม” วิชานี้ที่หนูอยากเรียน

  • ทำไมอยากเรียนแต่ไม่ได้เรียน สุดท้ายวิชาที่ชอบมักเป็นแค่วิชาเสริมและบางวิชาไม่มีใครสอน
  • mappa ชวนเด็กๆ เสนอวิชาที่อยากเรียนและอยากให้มีอยู่จริงในใบเกรด
  • ถ้าเด็กได้เรียนวิชาที่อยากเรียน ครูและผู้ใหญ่คงไม่ต้องมาตอบคำถามว่า เราเรียนวิชานี้ไปทำไม

ทำไมวิชาที่อยากเรียนกลับไม่ได้เรียน

เพราะ ‘วิชาที่อยากเรียน’ มักเป็นแค่ ‘วิชาเสริม’ แล้วเรื่องที่น่าเสียดายยิ่งกว่า คือ บางวิชาไม่มีใครสอน

mappa ชวนเด็กๆ ออกแบบรายวิชาที่อยากให้มีอยู่จริงในใบเกรด หลายคนตั้งต้นจากความสนใจ บางคนตั้งต้นจากปัญหา และบางคนตั้งต้นจากความฝัน

และนี่คือรายวิชาที่พวกเขาอยากเรียน 

วิชานี้ที่ ‘เด็กประถม’ อยากเรียน

“อยากเรียน simulator (เครื่องจำลอง) เตรียมพร้อมไปเที่ยวดาวอังคาร” 

วิชาแรกที่ ‘โอม’ อายุ 9 ขวบชั้นป.3 ตัวแทนจากซอยสังฆสันติสุขสนใจอยากเรียน คือ วิชานักบินอวกาศ

เนื่องจาก SpaceX (บริษัทของอีลอนมัสก์) จรวด และยานอวกาศ เป็น 3 สิ่งที่อินสนใจ

นอกจากนี้เขายังเสนอวิชาเกมจับผิดภาพเพื่อวิธีฝึกไอคิว

ขณะที่ ‘ปัน’ เพื่อนร่วมซอยรีเควสต์วิชาบริษัท เรียนเรื่องบริษัทเตรียมพร้อมสู่โลกการทำงานล่วงหน้าส่วน ‘เหมย’ ขอเรียนเต้น ด้วยความหวังว่าวันหนึ่งเธอจะได้เต้นตามใจตัวเอง 

ส่วนเด็กๆ ประถมปลาย พี่ ‘อิน’ ชั้นป.4 ขอเรียนวิชาไข่พื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น ไข่ดาว ไข่คน ไข่ตุ๋น ไข่เจียว และเมนูสารพัดไข่อื่นๆ ที่ไม่กล่าวถึง 

เพราะความฝันของอิน คือ การเป็นเชฟ 

แต่ประสบการณ์การเรียนเชฟที่ผ่านมา เขามองว่าไม่ใช่วิชาทำอาหาร แต่เป็นวิชาแต่งจาน เชฟตัวน้อยไม่ได้จับกระทะ จับมีด จับเขียงเลย 

“ผมว่ามันไม่ได้ยาก ครูน่าจะสอนเมนูไข่ให้เด็กๆ ได้ โตไปพวกผมจะได้ไม่อดตายครับ” เสียงยืนยันจากอิน เด็กชายที่ฝันอยากเป็นเชฟ

ต่อมา คือ วิชาการหาเงินและบริหารเงินด้วยตัวเอง เพื่อความมั่นคงของชีวิต โดยจิ๊กซอว์วัย 12 ปี

จริงๆ แล้วสำหรับเขา เรื่องเงินไม่จำเป็นต้องรอโตแล้วค่อยเรียน

รวมถึง วิชาเข้าใจผู้สูงวัย ด.ช.จิ๊กซอว์จะมีห้องเรียนของความเข้าใจคนสูงวัย

“เรากับปู่ย่าตายายจะได้เข้าใจกัน ปู่ย่าตายายไม่เหงา เราก็เรียนรู้และดูแลเขาได้”

อีกหนึ่งวิชาที่จิ๊กซอว์ขอเรียน วิชาป้องกันตัวเองจากเรื่อยแย่ๆ เพราะเขาเชื่อว่าโลกไม่ได้ดีเสมอไป

ปิดท้ายด้วยวิชา Safe Space สร้างพื้นที่ปลอดภัยไว้คุยเรื่องปัญหาและแลกเปลี่ยนความเห็นกัน

พื้นที่ของการเติมเต็มความรู้สึก เพื่อให้รู้ว่าแม้ปัญหาตรงหน้าจะยากเกินรับไหว แต่เด็กอย่างจิ๊กซอว์ในวัย 12 ปีจะไม่โดดเดี่ยว แต่จะมีคนอยู่ข้างๆ คอยรับฟังเสมอ

วิชานี้ที่ ‘เด็กมัธยม’ อยากเรียน

วิชา e-sport และ วิชาเกมเมอร์ เพื่อตั้งต้นเส้นทางอาชีพของตัวเอง คือ วิชาที่ ‘พรพิชัย ธนกร และหญ้าแพรก’ นักเรียนม.1 อยากเรียน

นอกจากนี้ หญ้าแพรกยังอยากเรียนวิชาซ่อมบำรุงรถเบื้องต้นจะได้ดูแลและซ่อมรถส่วนที่ง่ายๆ ได้เอง และวิชาเทรดหุ้นและคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เพราะอนาคตเขาอยากมีเงินเยอะๆ แล้วการลงทุนก็คือความเสี่ยงที่ต้องศึกษาก่อน

‘จิ๊กกี๋’ วัย 14 ปี ขอวิชาทำความเข้าใจผู้ใหญ่ เพราะคนแต่ละวัยมีความคิดและประสบการณ์ที่ต่างกัน คงดีหากมีพื้นที่ทำให้เราเข้าใจกันและกัน 

วิชาเพิ่มไฟในตัว (inspiration) เพราะเด็กและวัยรุ่นก็มีช่วงหมดไฟได้ วิชานี้เกิดมาเพื่อให้เด็กๆ รู้วิธีเติมไฟในแบบฉบับพวกเขาเอง 

วิชาสุดท้ายที่จิ๊กกี๋อยากเพิ่ม คือ วิชาระบายความรู้สึก เพราะเป็นเด็กก็อยากระบายความรู้สึกเหมือนกัน “บางคนก็ไม่มีที่ คน หรือวิธีให้ระบายความรู้สึก จนต้องเก็บไว้กับตัวเองคนเดียว”

วิชาภาษาญี่ปุ่นและเกาหลี เรียนไว้จะได้ดูซีรีส์รู้เรื่อง เป็นวิชาของ ‘ขนิษฐา’ ชั้นม.3 

ส่วนพี่ๆ ชั้นม.5 ‘เมและแก้ม’ อยากเรียนทักษะนอกตำราเพื่อเสริมการเรียนของตัวเองในอนาคต

  • วิชาจัดการภาษี : เรื่องสำคัญในอนาคตที่โรงเรียนไม่ได้สอน 
  • วิชาการเอาตัวรอด : สอนให้รู้จักไหวพริบเพื่อเตรียมพร้อมตัวเองในทุกสถานการณ์
  • วิชาจัดการสุขภาพจิต : รู้วิธีรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ จัดการอารมณ์ได้ด้วยตัวเอง
  • วิชา ‘วาทศิลป์และมนุษยสัมพันธ์’ : เพราะเราพูด พูด พูดทุกวัน คงเป็นเรื่องดีที่ได้เรียนรู้วิธีพูดต่างๆ พูดต่อหน้าชุมชนโดยไม่รู้สึกประหม่า พูดโน้มน้าวคน หรือพูดสื่อสารในชีวิตประจำวัน

รายวิชาเหล่านี้ คือ วิชาที่เด็กอยากเรียน และอยากให้มีอยู่จริงในตารางสอน

เพราะเราเชื่อว่าถ้าเด็กๆ ได้เรียนวิชาที่เขาอยากเรียน พวกเขาจะไม่ถามว่า “เราเรียนวิชานี้ไปทำไม?”

Writer
Avatar photo
mappa

illustrator
Avatar photo
กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts

Related Posts