สายสัมพันธ์ของ ‘วัยทำงาน’กับตัวละครในอนิเมะที่มีส่วนทำให้พวกเขาเป็นตัวเองในทุกวันนี้
สายสัมพันธ์ของ ‘วัยทำงาน’กับตัวละครในอนิเมะที่มีส่วนทำให้พวกเขาเป็นตัวเองในทุกวันนี้
ไม่ได้มีแค่เด็กๆ ที่รักในการดู หรืออ่าน ‘การ์ตูน’ แต่ผู้ใหญ่หลายคนก็ยังรักและผูกพันกับคาแรกเตอร์ในการ์ตูนที่ส่งผลต่อความเป็นตัวตนของพวกเขาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่รักการ์ตูนเรื่องหนึ่งมาตั้งแต่เด็ก โตมาก็ยังรักเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนไป เหมือนเพื่อนวัยเยาว์ที่ร่วมเดินทางและเติบโตมาด้วยกัน หรือจะเป็นเหล่าคนที่เพิ่งมาดูการ์ตูนตอนโตแล้ว มุมมองที่ได้รับจากการ์ตูนเรื่องที่รักจากเลนส์ความเป็นผู้ใหญ่ก็อาจให้แง่คิดบางอย่างที่น่าสนใจและลึกซึ้งมากขึ้นไปอีก
ตัวผู้เขียนเองที่อีกไม่กี่ปีก็จะอายุครบ 30 ปี มีการ์ตูนอนิเมะที่รักมากที่สุด นั่นก็คือ Sailor Moon ซึ่ง เป็นการ์ตูนที่เราดูมาตั้งแต่สมัยเรียนอนุบาลและไม่เคยพลาดแม้แต่ตอนเดียว เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ที่ก็ยังรัก และตามดูภาคใหม่ๆ ที่ออกมาเอาใจแฟนๆ อยู่เสมอ โดยตัวละครที่เรารักมากที่สุด คือ ‘ไอโนะ มินาโกะ’ หรือเซเลอร์วีนัส เด็กสาวมอปลายผู้เปี่ยมไปด้วยพลังความรัก เธอทำให้เราเห็นว่า เด็กผู้หญิงคนหนึ่งสามารถแข็งแกร่งและอ่อนหวานได้ในคนเดียว มินาโกะจังเป็นผู้นำของกลุ่มอัศวิน เธอคอยปกป้องคนที่เธอรักอย่างเด็ดเดี่ยว เฉียบขาด ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งความฝันในชีวิตจริงของเธออย่างการเป็นไอดอล และกีฬาวอลเลย์บอล เธอผู้นี้มีส่วนทำให้เราเชื่อว่าผู้หญิงจะเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น จะทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ และไม่จำเป็นต้องมีสถานะอยู่ในบทบาทเดียวเสมอไป เธอจึงมีส่วนทำให้เราเติบโตมาโดยกล้าที่จะฝันถึงความเป็นไปได้หลายๆ อย่างในชีวิต
สายใยความรักที่เรามีต่อคาแรกเตอร์การ์ตูนที่เรารัก ทำให้เราพาตัวเองไปคุยกับคนรอบตัวที่อยู่ในวัยทำงานเหมือนกัน ว่าพวกเขามีการ์ตูนที่รักและผูกพันกันเป็นใคร และทำไมถึงรักตัวละครนั้น หรือยกให้เป็นสิ่งที่มีส่วนสร้างตัวตนของพวกเขาขึ้นมา และนี่คือเสียงของ 5 นักรักการ์ตูนวัยทำงานที่รักและผูกพันกับตัวการ์ตูนในดวงใจของพวกเขา
ทั้งคนที่มียางามิ ฮิคาริ จาก Digimon Adventure เป็นเพื่อนรักที่โตมาด้วยกัน คนที่มี ซากาตะ กินโทกิ จาก Gintama เป็นพี่ชายที่พึ่งพาได้ คนที่มีมิตสึริ จาก Kimetsu no Yaiba เป็นพลังใจในการใช้ชีวิต คนที่มีโออิคาวะ โทรุ จาก Haikyuu!! เป็นเพื่อนที่อยากแชร์ความล้มเหลวในแต่ละวันให้ฟัง และคนที่มีทามาดะ ชุนจิ และตัวละครหลักอื่นๆ จาก BLUE GIANT เป็นเครื่องเตือนใจ
1. ‘เวม’ ผู้มี ยางามิ ฮิคาริ จาก Digimon Adventure เป็นเพื่อนรักที่โตมาด้วยกัน
เวมส่งรูปของเธอที่ย่านโอไดบะมาให้เรา แล้วบอกว่านี่คือ setting ของเรื่อง Digimon Adventure ที่เธอรัก เธอเล่าให้ฟังว่า เธอเริ่มดูดิจิมอนครั้งแรกตอนอายุเพียง 3 ขวบ ขณะเดียวกันเด็กๆ ในดิจิมอนตอนนั้นก็อยู่เพียงชั้นประถมฯ ซึ่งทำให้เธอได้เรียนรู้ลักษณะนิสัยที่เล่าผ่านตราสัญลักษณ์ของตัวละครทั้ง 8 ได้แก่ ความกล้าหาญ พลังแห่งมิตรภาพ ความรัก ความรู้ ความบริสุทธิ์ ความซื่อสัตย์ ความหวัง และแสงสว่าง ซึ่งทำให้เธออินตามได้ง่าย เพราะไม่ว่าจะเธอ หรือตัวละครก็ล้วนแต่เป็นเด็กเหมือนกัน
“ยางามิ ฮิคาริ เป็นตัวละครที่เราชอบมากที่สุด ไม่ใช่เพราะแค่ดิจิมอนคู่หูสวยนะ (หัวเราะ) แต่เพราะฮิคาริจัง เขาค่อนข้างจะเป็นคนชัดเจนในตัวเอง เธอเป็นน้องสาวคนเล็กที่มีนิสัยโตมาก เราจะเห็นพัฒนาการของฮิคาริมาตลอด ถึงตัวจะเป็นเด็กแต่ความคิดเป็นผู้ใหญ่สุดๆ ใจดี อ่อนโยน เข้าใจจิตใจผู้อื่น ก็เลยรักฮิคาริจังมากๆ เลย”
คาแรกเตอร์ของตัวละครนี้ ต่างหรือเหมือนตัวคุณอย่างไร?
“เพราะเป็นน้องสาวคนเล็กเหมือนกันในครอบครัว เรารู้สึกว่าต่อใหัผ่านมา 20 ปีแล้ว เราก็ยังประทับใจในความเป็นฮิคาริตั้งแต่ภาคแรก ที่เป็นเด็ก ป.2 จนมาเป็นครูอนุบาลในภาคใหม่ๆ ตอนโต เรารู้สึกว่าฮิคาริมีนิสัยหลายอย่างเหมือนเรามากๆ ทั้งความนิ่ง ความเห็นอกเห็นใจ การให้ความสำคัญต่อมิตรภาพ และการเรียนรู้ที่จะปล่อยหรือรักษาในอะไรหลายๆ อย่าง น่าจะต่างกันตรงที่ฮิคาริรับมือกับเด็กๆ ได้ดีกว่าเรา”
“เรากล้าคิด กล้าทำ และใช้ชีวิตอิสระมากๆ แบบที่ไม่อยู่ในกรอบสักเท่าไหร่ แม่ค่อนข้างปล่อยให้เราโตเอง ต่างจากพี่สาวเราที่แม่เลี้ยงมาแบบลูกคนแรก การทำงาน การใช้ชีวิต มุมมองความคิด ความกล้าได้กล้าเสีย เรามีมากกว่าพี่สาวในจุดนี้ เหมือนที่ฮิคาริแอบโตกว่าไทจิ (พี่ชายของฮิคาริ)ในบางเรื่อง เช่น ส่วนใหญ่ไทจิจะเป็นคนใจร้อน และฮิคาริจะเป็นคนใจเย็น เพราะฉะนั้นเวลามีอะไรเขาก็จะสามารถเตือนสติพี่ชายเขาได้ เหมือนเราที่ช่วงเริ่มวัยทำงาน เราจะกล้าได้กล้าเสีย แต่พี่เราขี้กลัว เราเลยแบบคอยซัพพอร์ตและมอบความหวังดีให้พี่เสมอว่า ถ้าไม่ลองทำอะไรเลยมันก็ไม่ได้อะไรกลับมาสักอย่างเลยนะ”
นิสัยอะไรของตัวละคร ที่คุณเอามาปรับใช้ในตัวเอง?
“ตราสัญลักษณ์ของฮิคาริคือแสงสว่าง เรามองว่ามันคือความเชื่อมั่นในจุดยืนของตัวเอง และไม่ยอมรับต่อความมืด เราอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร ขอแค่มีจุดยืนของตัวเอง ยึดมั่นกับมัน เรียนรู้และยอมรับที่จะเก็บและปล่อยไป ถ้าสมมติเราพลาดโอกาสไหนไป เราว่าแสงสว่างในชีวิตมันจะมีมาใหม่เสมอ เช่น ตอนไปอยู่เมืองนอก เราก็ไปด้วยความตั้งใจมากๆ มีความสุขทุกวัน แต่พอต้องกลับและจะไปใหม่อีกมันก็ยากขึ้น แต่เราก็ยังเชื่อมั่นว่าวันหนึ่งเราจะกลับไปใช้ชีวิตแบบนั้นได้อีก จุดยืนเรายังมองเห็นแสงสว่างนั้นอยู่”
สำหรับเวมแล้ว เธอนิยามความรักของเธอกับฮิคาริจังว่าเป็นเพื่อนที่อยู่ข้างกันมาเรื่อยๆ และรอเห็นพัฒนาการของกันและกันอยู่เสมอในทุกช่วงวัย “เหมือนเป็นเพื่อนรักที่โตมาด้วยกันจริงๆ เลย”
2. ‘หญิง’ ผู้มี ซากาตะ กินโทกิ จาก Gintama เป็นพี่ชายที่พึ่งพาได้
หญิงเรียก ซากาตะ กินโทกิ จากเรื่อง Gintama ว่า ‘คุณกิน’ เธอมองเขาเป็นผู้ใหญ่ที่ทั้งน่านับถือและไม่น่านับถือในเวลาเดียวกัน แต่สุดท้ายก็ขอนิยามเขาเป็นคนที่พึ่งพาได้ และเป็นเครื่องผลิตคำปลอบใจชั้นเยี่ยม พร้อมทั้งยังเป็นตำราในการใช้ชีวิต 101 ของเธอ คิดถึงเมื่อไหร่ก็จะเปิดหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้แวะไปทักทาย เธอบอกว่า “เวลาเห็นตัวเองห่วยแตก มองดูชีวิตพี่แกก็จะมีกำลังใจขึ้นเยอะ ถ้ามีตัวตนจริงๆ วันหยุดคงอยากซื้อนมสตรอว์เบอร์รี่ไปฝาก เอาเรื่องคนที่ทำงานไปปรึกษา แล้วบอกให้เพลาๆ เรื่องกินเหล้าบ้าง”
เหตุผลที่หญิงรักการ์ตูนเรื่องกินทามะ และยังอยากป้ายยาให้ทุกคนไปตำตาม เป็นเพราะเธอมองว่า กินทามะเป็นการ์ตูนที่แหกขนบการ์ตูน ไม่ว่าจะด้วยเนื้อหา มุกตลก และพาโรดี้เสียดสีนักแสดง ไอดอล นักการเมือง และแม้จะดูเป็นการ์ตูนขายฮาที่พระเอกเป็นเบาหวาน ตกงาน ค้างค่าเช่า ใช้ชีวิตแบบนอนอ่านการ์ตูนแคะขี้มูกไปวันๆ แต่จริงๆ แล้วกลับสะท้อนสังคม ชนชั้น และการเมือง ที่ relate ได้ทุกยุค
“กินทามะเป็นเรื่องที่ถ้าแค่เอาชื่อตอนทุกตอนมารวมเล่มกันก็สามารถตีพิมพ์ได้เป็นคัมภีร์ชีวิตเล่มนึงได้เลย ตั้งแต่รู้จักกินทามะมา เราก็เข้าใจชีวิตมากขึ้น และใช้ชีวิตได้ดีขึ้นมากๆ การมองโลกค่อยๆ เปลี่ยนไป ผ่านประสบการณ์ที่คุณกินเจอมา เหมือนเราโตมากับกินทามะ มีคุณกินและผองเพื่อนคอยเชปการใช้ชีวิตของเราตามวัย”
“ไม่ว่าจะตอนเด็กๆ ที่อ่านเรื่องนี้ ตอนอายุ 14 เท่าคางุระจัง (แก๊งตัวเอก ผู้หญิงชุดหมวย) หรือจะโตขึ้นมาหน่อยอายุ 16 เท่าชินปาจิ (แก๊งตัวเอก เด็กผู้ชายใส่แว่น) ก็ยังคิดว่าเรื่องนี้เป็นแก๊กเหมือนกัน เราก็อ่านเอาสนุกไปเรื่อยจนผ่านโลกมาประมาณหนึ่ง แต่พออายุจะเท่าคุณกิน (เรา 25 คุณกิน 27) ถึงได้เข้าใจคุณกินมากขึ้นว่า ทำไมเป็นพระเอกที่ซังกะตายแบบนั้นไปได้ เข้าใจการกระทำบางอย่างของคนรุ่นผู้ใหญ่ในเรื่องมากขึ้น เช่น การเล่นปาจิงโกะอย่างมีความหวังว่าสักวันจะเป็นเศรษฐี มันรีเลทกับสังคมบ้านเราโดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำที่พบเจอมาก็เลยเข้าใจสิ่งที่เรื่องนี้ต้องการจะสื่อ เข้าใจแล้วว่าทำไมต้องทำเป็นตลกกลบเกลื่อน อารมณ์เดียวกันกับที่ประเทศไทยกำลังเละเทะแต่คนไทยก็ยังเล่นมุกอยู่ได้”
“คุณกิน เป็นตัวเอกที่ผ่านโลกมาเยอะ ผ่านการกู้โลกแบบโชเน็นเรื่องอื่นๆ มาแล้ว ผ่านการสูญเสีย สงคราม ติดคุก ผ่านมาหมด จนละทิ้งทุกอย่าง เลิกเป็นกบฎ เรื่องกู้โลก ปล่อยให้พระเอกเด็กๆ วัยรุ่นไฟแรงเรื่องอื่นเขาทำดีกว่า ปัจจุบันตอนนี้พี่แกมาเป็นคนธรรมดาที่เปิดร้านรับจ้างสารพัด มีชีวิตเรียบง่าย ทุกครั้งเวลามีเรื่องวุ่นวาย แกจะชอบบ่นว่าไม่ยุ่งหรอก แต่สุดท้าย เห็นใครเดือดร้อนก็วิ่งไปช่วยทุกที เพราะงั้นระหว่างทางพี่แกถึงเก็บทุกคนได้มากมาย จากที่ตัวคนเดียวก็ได้พวกพ้องที่คอยช่วยในยามยากลำบาก”
หญิงยอมรับว่าคุณกินของเธอ นั้นมีชีวิตที่ต่างไปจากเธอ แต่เพราะอย่างนั้นเลยทำให้ “คุณกินนี่แหละมาช่วยเติมเต็มโลกอีกมุมที่ไม่เคยมองไปถึงตรงนั้นเลยของเรา ทำให้เราซึมซับประสบการณ์จากคุณกินมาเรื่อยๆ ถึงได้โตมาเข้าใจผู้คนและสังคมที่หลากหลายมากขึ้น ทุกวันนี้ก็เลยเลิกนิสัยตัดสินคนอื่นจากสิ่งที่เจอไปเลย เพราะเราไม่รู้แบ็กกราวนด์ชีวิตของใครมากมาย เป็นผู้เป็นคนได้ทุกวันนี้ก็เพราะคุณกินหลายๆ เรื่องเหมือนกัน”
“คุณกินทำให้รู้ว่าคนเราไม่จำเป็นต้องมีอะไรยิ่งใหญ่ ไม่มีอะไรเลยก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร แค่รู้ว่าเราเป็นใคร ยังมีลมหายใจอยู่ก็พอ ชีวิตมันก็แค่นี้ ไม่เคยกดดันเราให้ต้องประสบความสำเร็จตามบรรทัดฐานสังคม ขนาดความฝันเดียวของพี่แกยังเป็นการมีผมนุ่มตรงสลวยเลย ซึ่งสุดท้ายจนเรื่องจบ เฮียแกก็ไม่ได้มีผมนุ่มตรงด้วยนะ (หัวเราะ) เห็นไหม ความฝันไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ ไม่สำเร็จก็ไม่ตาย จบเรื่องได้อย่างสวยงามอีกต่างหาก จะมีสักกี่เรื่องที่ตัวละครรีเลทกับเรามากขนาดนี้ เหมือนกับว่าเราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว ไม่ได้ห่วยอยู่คนเดียว คุณกินก็ตกงานเหมือนกันแหละน่า แต่พี่แกก็ยังใช้ชีวิตต่อไป วันข้างหน้ามีอะไรให้ค้นพบอีกตั้งเยอะแยะ”
เมื่อพูดจนจบ สิ่งหนึ่งที่เธออยากฝากทิ้งท้ายคือ “มาอ่านกินทามะด้วยกันเถอะ”
3. ‘ชัช’ ผู้มี มิตสึริ จาก Kimetsu no Yaiba เป็นพลังใจในการใช้ชีวิต
เชื่อว่า Kimetsu no Yaiba หรือ ดาบพิฆาตอสูร เป็นหนึ่งในการ์ตูนที่ใครหลายคนชื่นชอบในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นเส้นเรื่องน่าติดตาม และฉากต่อสู้ที่ทำถึง งานภาพสวยฉ่ำ ยกระดับซีรีส์อนิเมะเลยก็ว่าได้ เช่นเดียวกับชัชที่เธอผู้นี้ยกให้การ์ตูนเรื่องนี้ ‘เป็นคุณค่าทางด้านจิตใจ ให้บทเรียน และสอดแทรกชีวิตที่คล้ายกับความเป็นจริงในหลายๆ เรื่อง’
ตัวละครที่ชัชรักมากที่สุดในเรื่องนี้คือ คันโรจิ มิตสึริ หญิงสาวนักล่าอสูรที่มาพร้อมผมสีชมพูสดใส เธอมีลุคขี้อาย ใจดี แต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความเข้มแข็งในเวลาเดียวกันเมื่อถึงคราวต้องต่อสู้
“มิตสึริ เป็นคนกินเก่ง เราก็ชอบกิน เอ็นจอยกับการกินมากๆ แฮปปี้สุดๆ และเธอก็ชัดเจนว่าหวังกับเรื่องความรักมากๆ ซึ่งตัวเราเองก็หวังเหมือนเธอเลยค่ะ ต่างตรงที่มีพละกำลังไม่เท่าเธอ (หัวเราะ)”
“เรามองว่าการที่มิตสึริกล้าแสดงออกเรื่องความรัก มันสะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงทุกคนมีสิทธิ์ในตัวเอง ความรักเป็นสิ่งสวยงาม การที่เราตรงไปตรงมา หรือมีแพสชันในเรื่องนี้ ไม่ได้ดูไม่ดีอะไรเลย ในการ์ตูนแสดงออกมาให้เห็นแล้วว่าการที่มิตสึริมีแพสชันในเรื่องนี้ สุดท้ายก็ได้พบความรักที่ตัวเองตามหาและคนรักก็เข้าใจ”
การที่มิตสึริยึดมั่นในความเป็นตัวเอง และไม่คิดจะเปลี่ยนตัวเองเพื่อใคร ส่งผลต่อตัวตนของชัชในปัจจุบัน เธอเล่าให้เราฟังว่า “มิตสึริทำให้เราไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อให้เป็นที่พอใจหรือให้ถูกใจใคร เพราะสุดท้ายอะไรที่ไม่เป็นตัวเราเองก็จะอึดอัด ไม่แฮปปี้ ถ้าเรามีความสุขพอใจกับตัวเอง ความสุขก็ตามมา และเราก็ยังคงศรัทธาในความรัก เชื่อมั่นว่าต้องมีสักวันที่เราจะเจอคนที่รักเราอย่างใจจริง โดยที่เราไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมาก”
“ในอดีต เราเป็นกังวลเมื่อเราเลือกจะแต่งหญิงบ้าง แต่งตัวบอยๆ บ้าง สลับกันอยู่บ่อยๆ แรกๆ ก็มีคนมาว่าเรา บอกว่าเลือกสักอย่างได้ไหม จนเรากลัวว่าจะมีคนไม่ชอบเรา ไม่โอเคกับเรา ไม่พอใจในสิ่งที่เรากำลังทำ แต่สุดท้ายเราก็ได้ค้นพบทางของเรา ได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น ได้รักตัวเองมากขึ้น และเราจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อใครอีก เราจะทำในสิ่งที่เราพอใจและไม่สนใจอีกต่อไป ซึ่งมันทำให้เรามีความสุขขึ้นมากๆ”
สำหรับชัช มิตสึริ จึงเป็นเป็นตัวละครที่นึกถึงทีไรก็ทำให้เธอมีพลังใจ และรับพลังงานดีๆ ซึ่งทำให้เธอได้เป็นตัวเองอย่างมีความสุข
4. ‘แปม’ ผู้มี โออิคาวะ โทรุ จาก Haikyuu!! เป็นเพื่อนที่อยากแชร์ความล้มเหลวในแต่ละวันให้ฟัง
การ์ตูนที่รักที่สุดของแปมคือ Haikyuu!! หรือ ไฮคิว!! คู่ตบฟ้าประทาน เธอยอมรับกับเราตรงๆ ว่า โดยปกติแล้วเธอไม่ค่อยดูอนิเมะแนวกีฬาสักเท่าไหร่ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พอได้ดูตอนแรกก็หยุดไม่ได้อีกเลย โดยเธอมองว่าเสน่ห์ของเรื่องนี้คือ การฉายภาพเส้นทางความฝันของตัวละครที่ยังตั้งอยู่บนความเป็นจริง มีแพ้ มีชนะให้ได้เรียนรู้ตลอดทั้งเรื่อง
“ตัวละครที่เราชอบที่สุดคือ โออิคาวะ โทรุ ตำแหน่งเซตเตอร์ ที่หลายๆ คนอาจจะเรียกกันว่า พี่โอย หรือไอโอย เราประทับใจที่เขาเปิดตัวมาแบบคนเก่ง สุดหล่อ เห็นแวบแรกคือ หมอนี่มีพรสวรรค์แน่ๆ แต่พอดูไปสักพัก ตัวละครนี้ทำให้เรารู้ว่า เขาไม่ใช่ผู้เล่นที่เกิดมาพร้อมพรสวรรค์ แต่ทุกอย่างเกิดจากความพยายามและฝึกฝนของเจ้าตัวล้วนๆ”
“ส่วนที่เหมือนกันระหว่างเรากับโอย คือเราก็ไม่ได้เกิดมาพร้อมพรสวรรค์อะไรเลย รู้สึกว่าตัวเองเป็นเป็ดมากๆ ส่วนที่ต่างคือ เรารู้สึกว่าตัวเองยังพยายามเพื่อความฝันได้ไม่มากพอเท่ากับตัวละคร เช่น
เรื่องการวาดรูป เรารู้สึกว่าเราทิ้งไปนานมากๆ แล้วก็พยายามจะกลับมาวาดหลายครั้ง แต่ก็ยังทำไม่ได้สักที”
“แต่สิ่งหนึ่งที่ตัวละครนี้ทำให้เราเห็นได้ชัดเลยคือ การย้ำเตือนเราว่า ถ้าเรารักในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากจริงๆ เราจะไม่ยอมแพ้และพยายามเพื่อสิ่งนั้น ต่อให้มีอุปสรรคแค่ไหน เหมือนที่โออิคาวะไม่เคยยอมแพ้ในเรื่องของวอลเลย์บอลเลยสักครั้ง เวลาเราเจอกับงานยากๆ ที่รู้สึกว่าเราทำมันไม่ได้แน่ๆ ก็จะรู้สึกว่า ถ้าเราฝึกมันไปทุกวันมันก็คงมีวันที่เราทำได้เอง นิสัยความไม่ยอมแพ้ของตัวละครเลยเป็นสิ่งที่เรานำเอามาปรับใช้ในตัวเอง”
“เรามองโอยเป็นเพื่อนคนนึงเลย เป็นเพื่อนที่อยากแชร์ความล้มเหลวในแต่ละวันให้ฟัง เพราะเราเชื่อว่าโอยคงเป็นตัวละครที่ไม่ตัดสินความผิดพลาดของเรา แล้วก็คงอยากเล่าให้เราฟังเหมือนกันว่าวันนี้ซ้อมมาหนักแค่ไหนแต่ก็ยังแพ้ทีมนั้นอยู่เลยว่ะ (หัวเราะ)”
แปมเป็นตัวแทนของคนวัยทำงาน ที่ตอนเด็กๆ เธอแทบจะไม่ค่อยดูการ์ตูนเลย แต่เธอก็มองว่าการได้มาผูกพันกับการ์ตูนตอนโต “ทำให้เห็นอีกแง่มุมของเรื่องราว ว่ามันไม่ใช่แค่สนุกอย่างเดียว แต่มันทำให้เราเข้าใจการกระทำของตัวละครมากขึ้นด้วย ตอนเด็กๆ เราอาจจะจะรู้สึกว่า การ์ตูนคงมีแค่ฝั่งพระเอกกับฝั่งตัวร้าย แต่พอโตขึ้นเราถึงได้รู้ว่าจริงๆ ทุกตัวละครมันเป็นสีเทาหมด เลือกที่จะหยิบส่วนที่ดีไปใช้กับชีวิตก็พอ”
5. ‘ยู’ ผู้มี ทามาดะ ชุนจิ และตัวละครหลักอื่นๆ จาก BLUE GIANT เป็นเครื่องเตือนใจ
“BLUE GIANT เป็นการ์ตูนที่เติมไฟให้คนช่างฝันแบบผม” ยูเปิดบทสนทนากับเราด้วยประโยคนี้ คนช่างฝันอย่างเขาบอกว่า ตัวละครหลัก 3 ตัวจากเรื่องนี้ ล้วนเป็นคนที่มีแพสชัน คนที่มีความฝัน และคนที่กล้าเริ่มต้นใหม่ ที่สำคัญการ์ตูนเรื่องนี้ยังสื่อสารผ่านเพลงแจ๊สที่มอบความอิน และส่งอารมณ์มาถึงเขาได้มาก จนเขายอมรับว่า “ร้องไห้ในรอบหลายปีเลย”
“ตอนที่ดูเรื่องนี้จบ มันเหมือนเตือนสติตัวเองว่าเรายังไปได้ไกลมากกว่านี้อีก ถ้างั้นเราลองพยายามมากขึ้นดู”
“ผมชอบทามาดะ ชุนจิมากที่สุด เพราะตัวละครนี้ยอมทิ้งฟุตบอลที่เล่นมานานแล้ว มาเริ่มฝึกตีกลองใหม่และผ่อนกลองเอง ตั้งใจซ้อมให้ทันเพื่อนที่เริ่มกันมาก่อน ผมว่าเขาค่อนข้างเหมือนผม เพราะผมก็ทิ้งภาษาที่ผมเรียนมา 7-8 ปี มาผ่อนกล้อง 1 ตัว แล้วก็ใช้เวลาฝึกถ่ายภาพในช่วงปีสุดท้ายของมหาลัย และคิดว่าเราจะเต็มที่กับมันไปทั้งชีวิตแล้วนะ”
“ตัวละครนี้ทำให้ผมได้ข้อคิดว่า อยากทำอะไรก็ทำเลย ตั้งเป้าหมายก่อน แล้วก็ใช้เวลากับมัน แต่ยิ่งถ้าเป้าหมายใหญ่ เราก็ต้องให้เวลากับมันเยอะหน่อย และตอนจะตัดสินใจเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ก็ต้องใช้ชีวิตอย่างรอบคอบมากขึ้นด้วย”
“ฉากที่ผมประทับใจมากๆ น่าจะเป็นตอนกลางๆ เรื่อง ช่วงจบโชว์ของตัวละคร ทามาดะ พัฒนามาจนเกือบทันเพื่อนๆ แล้ว แล้วก็มีลุงคนหนึ่งที่เคยโผล่มาในฉากแรกๆ ของเรื่อง ที่ไม่คิดว่าจะกลับมาดูแล้ว แต่ลุงกลับเดินมาบอกว่าเทียบกับโชว์ครั้งแรก พัฒนาขึ้นเยอะมากเลยนะ วันนี้ตั้งใจมาดูโดยเฉพาะ”
ในมุมของยู จึงไม่ใช่แค่ทามาดะ ชุนจิ ที่เขาประทับใจ แต่เขาใช้คำว่า ตัวละครหลักทั้ง 3 ตัวล้วนเป็นเครื่องเตือนใจในหลายๆ ด้านในชีวิตของเขาเลยก็ว่าได้
ถ้าชุนจิมีตัวตนจริงๆ อยากบอกอะไรกับชุนจิ? เราถามยู
“ผมคงบอกว่า เก่งมากแล้วนะตอนนี้” ยูตอบ
“บอกชุนจิแล้ว ต้องบอกตัวเองด้วยนะ” เราบอกยู
Writer
พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ
illustrator
พรภวิษย์ เพ็งเอียด
ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม