เล่านิทานก่อนนอน: เสียงตวาดของแม่นั่นไง ที่ทำหัวใจตกแตก ชวนอ่าน ‘แม่จ๋าอย่าโมโห’ (Schreimutter) ความแตกสลายใน ‘สายสัมพันธ์’ ที่คงอยู่

เล่านิทานก่อนนอน: เสียงตวาดของแม่นั่นไง ที่ทำหัวใจตกแตก ชวนอ่าน ‘แม่จ๋าอย่าโมโห’ (Schreimutter) ความแตกสลายใน ‘สายสัมพันธ์’ ที่คงอยู่

“ฉันอยากออกตามหาชิ้นส่วนต่างๆ ของฉัน แต่ดวงตาของฉันอยู่ในอากาศ” 

เคยไหม? ทะเลาะกับใครสักคนแล้วรู้สึกว่าตัวเราแตกสลายจนกระจัดกระจายออกไปคนละทิศคนละทาง ไม่รู้ว่าจะไปตามหาชิ้นส่วนที่แตกกระจายเหล่านั้นเจอได้ที่ไหน ยิ่งเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นความบาดหมางที่เกิดขึ้นระหว่างเราและคนในครอบครัวหรือผู้ปกครองที่อยู่ใกล้ชิดกับเรามากที่สุดในวัยเด็กแล้ว ยิ่งรู้สึกแตกสลายกว่าครั้งไหนๆ เป็นความเจ็บปวดยิ่งกว่าความบาดหมางกับใครอื่น เหมือนเวลาที่แม่ดุเราในเรื่องเดียวกับที่คนอื่นๆ ดุเรา เราก็มักจะเสียใจกับคำพูดของแม่มากกว่าคำพูดของคนอื่น เหมือนกับเจ้าเพนกวินน้อยในนิทานภาพเรื่อง แม่จ๋าอย่าโมโห (Schreimutter) ที่โดนแม่เพนกวินตวาด จนร่างกายของเขาแยกออกเป็นชิ้นๆ แล้วปลิวหาย กระจัดกระจายไปคนละส่วน บางชิ้นกระจายไปอยู่บนอากาศ บางชิ้นอยู่นอกโลก บางชิ้นอยู่กลางป่า ห่างไกลกันออกไปจนน่าทดท้อใจไปกับเจ้าเพนกวินน้อยในการตามหาชิ้นส่วนต่างๆ ให้กลับมาประกอบเป็นตัวตนขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง 

แม่จ๋าอย่าโมโห (Schreimutter)  ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย วิภาศิริ กิจสุบรรณ จากสำนักพิมพ์ SandClock ซึ่งเป็นผลงานการเขียนและวาดภาพประกอบโดย ยุททา เบาเออร์ (Jutta Bauer) ศิลปินผู้มีผลงานวาดภาพประกอบหนังสือวรรณกรรมเยาวชนหลากหลายเล่ม และยังมีผลงานเขียนเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น หนังสือภาพกรกฎาคม (Juli) ซึ่งเป็นผลงานร่วมกับเคียสเทน โบ (Kirsten Boie) และ ราชินีแห่งสีสัน (Konigin der Farben) รวมถึง แม่จ๋าอย่าโมโห เล่มนี้ซึ่งเป็นผลงานหนังสือเด็กรางวัลวรรณกรรมเยาวชนดีเด่นแห่งประเทศเยอรมนี (Deutscher Jugendliteraturpreis) ปี 2001 ฉายเรื่องราวความสัมพันธ์ของแม่กับลูกผ่านตัวละครแม่เพนกวินและลูกเพนกวิน ทำให้เราเห็นหลากด้านในมิติความสัมพันธ์ที่อาจไม่ได้สวยงามราบรื่นหรืออบอุ่นเสมอไป ตลอดจนคลี่ขยายให้เห็นการสร้างสายสัมพันธ์บางประการระหว่างกันที่ส่งผลต่อชีวิตและการเติบโตของคนคนหนึ่งได้อย่างลึกซึ้ง  

ชิ้นส่วนที่กระจัดกระจายคือตัวตนที่หล่นหายระหว่างเติบโต 

นิทานเรื่องนี้ให้ภาพที่ชัดเจนถึงเหตุการณ์บาดหมางที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างกัน นอกจากจะทำให้ผู้อ่านได้เห็นความขัดแย้งระหว่างแม่และลูก รวมไปถึงอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงซึ่งเกิดขึ้นระหว่างพวกเขาแล้ว ยังทำให้เราเห็นภาพ ‘การทำงาน’ ของรอยร้าวที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ ที่ส่งผลถึงชีวิตและตัวตนอย่างลึกซึ้ง การที่ชิ้นส่วนของตัวละครเพนกวินน้อยกระจัดกระจายจนยากจะตามหาในทางหนึ่ง นั่นจึงกำลังชี้ชวนให้เราเห็นว่าเมื่อความบาดหมางและความไม่เข้าใจกันในครอบครัวที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ย่อมส่งผลเปลี่ยนแปลงชีวิตหนึ่งได้อย่างที่เราอาจคิดไม่ถึง  อย่างการที่ ‘หัว’ ของเพนกวินกระเด็นไปอยู่ใน ‘อากาศ’ ก็ทำให้เราเห็นว่าความเจ็บปวดจากความสัมพันธ์ที่สร้างรอยร้าวนั้นสามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึก ‘เคว้งคว้าง’ ทิ้งไว้ในตัวตนคนคนหนึ่งได้ หรือการที่เพนกวินอยากออกตามหาชิ้นส่วนเหล่านั้นให้มาประกอบกันอีกครั้งแต่เป็นไปอย่างยากลำบากก็ทำให้เราเห็นว่า การตั้งหลักตัวเองขึ้นอีกครั้งเมื่อพบเจอความสัมพันธ์ที่บุบสลายไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะการยืนหยัดขึ้นมาได้ของชีวิตหนึ่งๆ นั้นจำเป็นต้องใช้หลายอย่างประกอบกัน เหมือนกับเพนกวินน้อยที่ต้องมีชิ้นส่วนต่างๆ จึงจะสามารถกลับมาประกอบตัวของตัวเองขึ้นใหม่ได้ เฉกเช่นการเติบโตและการยืนหยัดขึ้นของคนเราที่อาจต้องใช้ทั้งความเชื่อมั่น ความรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง ความกล้าหาญ และอีกมากมายประกอบกันในตัวคนคนหนึ่ง อย่างที่เพนกวินน้อยได้กล่าวในระหว่างตามหาชิ้นส่วนของเขาว่า 

ฉันอยากออกตามหาชิ้นส่วนต่างๆ ของฉัน แต่ดวงตาของฉันอยู่ในอากาศ

อยากจะกระพือปีก แต่ปีกของฉันก็อยู่ในป่า

อยากจะตะโกนเสียงดัง แต่จะงอยปากของฉันก็อยู่บนภูเขา

ดวงตา ปีก ปาก เท้าที่เจ้าเพนกวินน้อยว่านั้น อาจไม่ได้หมายความถึงแค่ว่าเป็นอวัยวะสำคัญที่จะทำให้เขาทำอะไรต่างๆ เพราะบางครั้งดวงตาอาจหมายถึงการมองเห็นทิศทางบางอย่างของการมีชีวิตอยู่ รู้ว่าเราอยากจะไปทางไหน ชอบอะไร อยากทดลองเดินทางไปในเส้นทางไหน  การกระพือปีกอาจหมายถึงความเชื่อมั่นในการทำสิ่งต่างๆ  ความภาคภูมิใจในตัวเอง ความมุ่งมั่น ความใฝ่ฝันที่จะโบยบินไปในที่ใหม่ๆ และจะงอยปากที่ใช้ส่งเสียงอาจหมายถึงความกล้าหาญในการส่งเสียงหรือการบอกความต้องการบางอย่างของเขาออกมาก็เป็นไป 

“เท้าทั้งสองของฉันวิ่งไปเรื่อยๆ วิ่งไปจนเหนื่อยล้า”  

แน่นอนว่าแม้เท้าของเขาจะวิ่งไปเรื่อยๆ หากไม่มีชิ้นส่วนอื่นๆ ประกอบการวิ่งไปด้วยนั้น ก็ดูเหมือนกับว่าเขาจะไม่อาจได้พบกับชิ้นส่วนตัวของเขาที่หล่นหายแต่ละชิ้นได้เลย หากคนเราถูกทำให้ปีกแห่งความเชื่อมั่นหักลง ปากถูกปิดเงียบไม่ได้มีช่วงเวลาในการส่งเสียงความคิดความเชื่อของตัวเองออกมา ก็คงรู้สึกไม่แตกต่างนักกับเจ้าเพนกวินที่ทดท้อ เคว้งคว้าง และว่างเปล่า เหมือนกับว่าชีวิตจะแตกสลายไม่อาจหวนคืนได้ตลอดกาล 

สายสัมพันธ์คือ ‘เส้นด้าย’ เดียวที่จะเย็บหัวใจเรากลับคืน 

แน่นอนว่าในความสัมพันธ์หนึ่งๆ รวมถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวนั้น เราไม่อาจสร้างเฉพาะเรื่องที่ดีงามต่อกันได้ เราคงไม่สามารถที่จะกีดกันไม่ให้เกิดเรื่องบาดหมางหรือรอยร้าวบางอย่างได้อย่างหมดจดแม้จะระแวดระวังอย่างดี เพราะชีวิตมนุษย์สลับซับซ้อนและมีเงื่อนไขมากมายที่เข้ามาปะทะสังสรรค์เกินกว่าจะควบคุมทุกสิ่งให้เป็นไปด้วยความสุขเสมอได้ แม่เพนกวินเองก็คงไม่สามารถทำบทบาทในฐานะแม่ได้อย่างไม่บิดพลิ้วเลยแม้แต่น้อยได้เช่นกัน ทว่าเมื่อรอยร้าวได้เกิดขึ้นแล้วคงไม่มีอะไรที่จะถักทอกลับมาได้ดีเท่ากับ ‘สายสัมพันธ์’ ที่แม่และลูกเพนกวินได้เคยสร้างขึ้นมาด้วยกันก่อนหน้า สายสัมพันธ์ที่เราสร้างขึ้นมากับใครคนหนึ่ง สายสัมพันธ์ที่คนเราสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดโยงเกาะเกี่ยวในการเติบโตเป็นสายสัมพันธ์ที่มีความหมายและมีพลังพอในการถักทอหัวใจที่แตกสลายให้กลับคืนได้ เหมือนกับที่แม่เพนกวินตามหาชิ้นส่วนของเจ้าเพนกวินน้อยพบทุกชิ้นแล้วนำมาเย็บเข้าด้วยกัน ในทางหนึ่งก็เพราะแม่เพนกวินเป็นคนที่รู้จักลูกของเธออย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นผลของการก่อร่างความรักความผูกพันผ่านชีวิตและตัวตนระหว่างกัน จึงรู้ว่าชิ้นส่วนแต่ละชิ้นกระจัดกระจายไปที่ไหนบ้าง ที่สำคัญเธอจะไม่มีทางประกอบลูกของเธอกลับขึ้นมายืนหยัดได้อีกครั้งเลยหากไม่มี ‘เส้นด้าย’ ในการใช้เย็บกลับคืน ซึ่งเส้นด้ายนั้นก็เปรียบเสมือน ‘สายสัมพันธ์’ ที่มีความรักความผูกพันของเธอกับลูกนั่นเอง และแม้สายสัมพันธ์นั้นจะกอบเอาชิ้นส่วนต่างๆ ของเพนกวินน้อยจนเย็บกลับคืนร่างได้ แต่บาดแผลจากความแตกสลายก็คงไม่ผสานกันดีได้ยิ่งขึ้น หากแม่ไม่ได้ ‘สื่อสาร’ กับลูกเพนกวินถึงเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อทำความเข้าใจกัน 

…‘แม่ขอโทษนะ’ …

Writer
Avatar photo
ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts