พรหมลิขิต กับ ฉันลิขิต เดินคู่กันได้อย่างงดงาม มอง ‘พรหมลิขิต’ แบบที่เป็นมิตรต่อใจผ่านนิทรรศการ Scene Erawan:Destiny

พรหมลิขิต กับ ฉันลิขิต เดินคู่กันได้อย่างงดงาม มอง ‘พรหมลิขิต’ แบบที่เป็นมิตรต่อใจผ่านนิทรรศการ Scene Erawan:Destiny

พรหมลิขิตทำงานกับคุณยังไง?

หลังจากได้รับตั๋วชมนิทรรศการแล้ว ฉันหยุดอ่านป้ายที่กำกับชื่อครีเอเตอร์ 30 คน ผู้ร่วมกันออกแบบพรหมลิขิตในที่แห่งนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือไม่ได้มีเพียงอาร์ตติสที่มาร่วมแจม แต่มีทั้งนักเล่าเรื่องปกรณัม นักวิชาการภาษาอิตาเลียน นักออกแบบกลิ่น นักออกแบบเสียง นักออกแบบนาฏศิลป์ไทย นักโบราณคดีและประวัติศาสตร์ นักปรัชญาศาสนา นักละครหุ่น นักเล่นบำบัดฝึกหัด นักออกแบบสิ่งทอ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักจดหมายเหตุ นักออกแบบโปรดักชั่นคอนเสิร์ต นักเขียน ช่างภาพ ฯลฯ นั่นแปลว่าความหมายของพรหมลิขิตในนิทรรศการศิลปะนี้ ไม่ได้ออกมาจากเลนส์ของอาร์ตติสที่ทำงานศิลปะเพียงเท่านั้น แต่เป็นประสบการณ์ของคนหลากหลายอาชีพ มาร่วมตีความคำว่าพรหมลิขิตให้กับตัวเอง และตั้งคำถามต่อผู้ชมทุกคน

ชู้ต-ชวัตถ์วิช เมืองแก้ว โปรดิวเซอร์ Scene Erawan:Destiny เล่าให้ฉันฟังว่า เขาตั้งโจทย์แรกเริ่มว่า “สำหรับคุณแล้วพรหมลิขิตมันทำงานยังไง?” และเพื่อได้มาซึ่งคำตอบนั้น เขาได้เชิญคนรอบตัวเขา 30 คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสายงานของตัวเองมาสนุกด้วยกัน และแต่ละคนก็ตีความคำว่าพรหมลิขิตออกมาแตกต่างกัน เพื่อให้เห็นว่าทุกคนมีสิทธิที่จะคิดเรื่องนี้ ‘ต่างกัน’

“พรหมลิขิตเป็นคอนเซ็ปต์ในการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา มันมีปัจจัยหลายอย่างมากที่ทำให้เหตุการณ์ในชีวิตเราเกิดขึ้น บรรพบุรุษเราอาจจะพยายามอธิบายว่า มันเกิดขึ้นเพราะมีอะไรบางอย่างกำหนดมาแล้ว เราควบคุมไม่ได้ แต่พอมายุคนี้ มันไม่ได้แปลว่าทุกอย่างมันกำหนดมาซะจนเราไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกได้เลย ยังมีบางสิ่งที่เราควบคุมได้ ตัดสินใจได้ เลือกได้ และนี่คือสิ่งที่อยากให้คนมาที่นี่ได้เมสเสจนั้น”

“แต่ในวันที่เราเหนื่อย ทำไมชีวิตมันยากจังเลย การได้มีอะไรมาบอกเรา มาปลอบใจว่าเดี๋ยวมันจะโอเค มันก็ดีต่อใจ ฟังก์ชั่นมันอาจจะอยู่แค่นั้น ผมไม่ได้บอกว่าคนมูเตลูเป็นคนไม่มีเป้าหมายในชีวิต กลับกัน คนที่มูต่างหากที่หาทางทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้นในแง่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะไม่มู”

นิทรรศการนี้แบ่งเป็นสององก์ องก์แรกมีชื่อว่า ‘จุดหมาย’ องก์สองชื่อว่า ‘ปลายทาง’

คอนเซ็ปต์ในองก์แรกคือการมอบประสบการณ์ให้เราเดินไปตามทางที่ผู้จัดงานวางไว้ จากจุดหนึ่ง ไปอีกจุดหนึ่ง เพื่อสะท้อนว่าลึกๆ แล้วชีวิตเราก็ถูกกำหนดโดยใครบางคนไว้ ในห้องนิทรรศการที่ชื่อว่า ‘ทุ่งรำพึง’ นอกจากฉันจะสัมผัสได้ถึงการจัดดอกไม้ที่ลอยลงมาจากเพดาน ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในเทพนิยาย ทางนิทรรศการยังให้สวมหูฟังเพื่อฟังเรื่องเล่าจากนักเล่าเรื่องปกรณัม พร้อมกับให้ชมภาพฉายบนพื้นที่เป็นนิทาน ออกแบบโดยนักละครหุ่น

พวกเขาเล่านิทานที่ว่าด้วยเรื่องราวของมนุษย์ที่ลูกลิขิตให้เป็นดอกไม้ แม้ตอนที่เขามีชีวิตอยู่จะมีชีวิตที่แสนเศร้า แต่พอเขาได้จากไป กลับกลายเป็นคนที่จำได้ทั้งโลก ฟังรอบแรกฉันก็รู้เลยว่านี่เป็นการเปรียบเปรยถึงจิตรกรชื่อก้องโลกอย่าง วินเซนต์ แวน โก๊ะ

และมันก็ทำให้ฉันคิดว่า แม้ชีวิตเราจะถูกกำหนดมาให้ต้องจากไป หรือเราคิดว่าเราถูกกำหนดให้มีชีวิตอันแสนเศร้า แต่สำหรับบางคน เขาอาจจะมองว่าชีวิตเรานั้นมีคุณค่า และมีความหมายก็ได้ ฉันยิ้มให้กับประสบการณ์ตรงหน้า ก่อนที่จะเดินต่อไปที่ห้องถัดไป

เรื่องที่ถูกลิขิตไปแล้ว ไม่ดีไปทุกเรื่อง แต่ก็ไม่แย่ไปเสียหมด

ห้องนี้มีชื่อว่า ‘ป่าอับแสง’ ที่นิทรรศการจะให้เราจับเส้นด้ายแห่งโชคชะตา เพื่อเดินเข้าไปในห้องมืด ไร้แสง มองไม่เห็นอะไรเลย นอกจากเสียงที่ได้ฟัง สารภาพว่าฉันน้ำตาไหลเพราะห้องนี้ อาจารย์มิ้น-ภณิตา ศิลปวิทยาดิลก นักวิชาการภาษาอิตาเลียน ออกแบบการเล่าเรื่องผ่านป่าของดันเต้ ที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมารักดี เกิดมาเป็นคนที่พระเจ้าสร้างมาให้เห็นสิ่งดีๆ ในโลกนี้ แต่มนุษย์เองนั่นแหละ ที่เลือกช้อยส์ออกนอกเส้นทางของพระเจ้า ซึ่งมันก็สื่อเป็นนัยว่ามนุษย์ทุกคนยังมีพลังในการเลือก

ผู้บรรยายเสียงชวนตั้งคำถามในความมืดถึงความสัมพันธ์ที่ผ่านมา การงานหรือการตัดสินใจของตัวเราที่มีทั้งถูกบ้าง และพลาดบ้าง มันทำให้น้ำตาของฉันไหลโดยไม่รู้ตัว เพราะปกติก็แทบจะไม่ค่อยได้ตั้งคำถามกับชีวิตของตัวเองเท่าไหร่นัก ไม่เคยนึกย้อนว่าการตัดสินใจเล็กๆ ของเรามันทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปแล้วกี่ครั้ง นั่นอาจหมายความว่าสิ่งที่เราเชื่อว่าพรหมเป็นคนลิขิต ในบางเรื่อง ถ้าเราย้อนกลับไปดู…ตัวเราเองหรือเปล่า ที่ลิขิตมัน ไม่ว่าทางที่เลือกจะสวยงาม หรือพบเจอบาดแผลก็ตาม

เช่นเดียวกับสิ่งที่เราไม่ได้เลือก แต่เราคอนโทรลกันไม่ได้ อย่างการที่เพื่อนที่เคยมีอยู่ วันนี้ไม่มีอีกแล้ว คนรักที่เคยอยู่ข้างกัน ตอนนี้เขาจากไปแล้ว บางครั้งมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราลิขิตอย่างเดียว แต่คนอื่นก็สามารถลิขิตชีวิตตัวเองให้อยู่กับเราต่อ หรือไม่อยู่อีกแล้วได้เหมือนกัน นี่แหละ ชีวิต

อีกห้องที่ให้ประสบการณ์ดีๆ ที่ฉันจำได้เลยคือ ‘ด้ายในแดนดาว’ เป็นห้องที่ให้เลือกหยิบไพ่ที่ตรงใจ และสุ่มเลือกน้ำหอมที่ออกแบบโดยนักออกแบบกลิ่น ชลิดา คุณาลัย มาฉีดลงบนกระดาษไพ่นั้น และไปดูคำทำนายตามเลขที่ได้ผ่านรูปภาพ

“ห้องนี้เป็นห้องที่มีผู้ชมจำนวนมาก มหัศจรรย์มากที่ตัวเลขที่ได้จากไพ่ มันไปแมตช์กับภาพถ่าย และแมตช์กับคำที่นักเขียนเขียนออกมา มีคุณยายท่านหนึ่ง เลือกไพ่แล้วเดินไปเจอรูปที่สื่อสารกับเขาว่าคนที่ไม่ได้อยู่กับเราแล้ว ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ได้อยู่กับเรานะ เขายังอยู่กับเราเสมอ คุณยายท่านนี้น้ำตาซึมตรงนั้น เขาบอกว่าเขาเพิ่งคิดถึงสามีที่เสียไปเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งนั่นก็ล้วนเป็นพรหมลิขิตของคุณยายครับ เราไม่ได้ทำอะไรเลย มันเป็นความรู้สึกของคุณยายจริงๆ” ชู้ตเล่าให้ฟัง

ส่วนคำทำนายที่ฉันได้ ถามว่าตรงไหม ก็ตรงอยู่เหมือนกัน

บางครั้ง ‘คน’ ก็มีส่วนลิขิตชีวิตคนอื่น ทั้งแฟร์ และไม่แฟร์

ระหว่างรีเสิร์ชตอนทำงาน เราเจออะไรบ้าง เกี่ยวกับความเชื่อของผู้คน? ฉันถามชู้ต

“ข้อดีคือพอเราทำงานกับคน 30 คน คนที่มีความเชี่ยวชาญต่างกัน 30 คน ต่างคนต่างโยนไอเดียของตัวเองลงมา มันทำให้ผมได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย”

“อาจารย์ประวัติศาสตร์โบราณคดี (ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ) ตีความเรื่องพรหมลิขิตผ่านรถไฟในอเมริกา ช่วงที่อเมริกาเพิ่งเป็นโลกใหม่ ขยายจากฝั่งตะวันออกไปตะวันตก เส้นทางเล่านั้น ฆ่าคนพื้นเมืองเป็นล้าน แต่มันไม่อยู่ในประวัติศาสตร์ มันมีปัญหามาก แต่ไม่มีใครพูดถึงมัน”

“เขาตั้งชื่อว่า Manifestation of Destiny ที่ใช้แนวคิดเรื่องพรหมลิขิตเป็นข้ออ้างในการยึดครองโลก ซึ่งเขาบอกว่าเราต้องก้าวพ้นคำว่าพรหมลิขิตให้ได้ ถ้าเราเป็นมนุษย์แล้วคิดว่าทุกอย่างถูกกำหนดมาหมดแล้ว ประวัติศาสตร์จะไม่มีวันเดินหน้า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง”

พรหมลิขิตในห้อง ‘สระแห่งความสงสัย’ ที่ว่าด้วยเรื่องรถไฟที่ว่านี้ ทำให้ฉันนึกถึงเวลาที่บางคนเจอเรื่องแย่ๆ ในชีวิต แล้วมีอีกคนมาพูดถึงเขาว่าเป็นเพราะเวร เพราะกรรม ที่ทำให้เขาต้องเป็นแบบนี้ ทั้งๆ ที่ในบางครั้งมันอาจไม่ใช่เสมอไป บางทีคนที่ฐานะยากจน ต้องกัดฟันสู้จนตัวตาย มันอาจเป็นเพราะความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ผู้มีอำนาจไม่สามารถขจัดปัญหาความยากจนไปได้ บางคนที่ต้องเสียชีวิตไปอย่างไม่ยุติธรรมเพราะโควิด-19 มันอาจไม่ใช่เพราะเขาถึงวันเดดไลน์ แต่เป็นเพราะระบบสาธารณสุขในไทยช่วยเขาไว้ไม่ทัน 

ขณะที่ฉันเดินตามทางในห้องนี้ ฉันไล่อ่านข้อความที่เป็นราวจดหมายเหตุที่ครีเอเตอร์ตั้งใจวางไว้ให้อ่านมากมาย จดหมายฉบับหนึ่งที่สะดุดตาฉันคือ จดหมายจากนักโทษประหารถึงภรรยาก่อนถูกประหาร ที่เขาต้องจากไปโดยไม่ได้มีความผิด ห้องนี้จึงเป็นอีกห้องที่ชวนตั้งคำถามถึงพรหมลิขิตในลักษณะที่บางครั้งก็เอามาใช้โทษทุกอย่างไม่ได้ เพราะสิ่งที่เราควรโทษอาจจะเป็นอย่างอื่นที่เห็นกันตำตาว่าไม่ปกติ

องก์ที่ 1 จบลงในห้องที่มีรายล้อมไปด้วยดอกดาวเรือง และให้ผู้ชมคุกเข่าลง เพื่อยอมจำนนต่อสิ่งที่กำหนดมาแล้ว ตอนที่คุกเข่า เราจะได้เห็นวิดีโอในช่องเล็กๆ ที่ให้มองลอดเข้าไป ภาพที่ฉันเห็นแรกเริ่มคือ ภาพแอนิเมชั่นผู้หญิงที่กำลังร้องไห้ และหากคนถัดจากฉันเข้ามาในเวลาที่แตกต่างกันนี้ เขาก็จะเห็นวิดีโอไม่เหมือนกับฉัน ซึ่งเป็นตั้งใจของครีเอเตอร์

“นัก Data Scientist (ภวิศ แพร่ภัทร) ออกแบบให้ทุกครั้งที่ตอนเรานั่งคุกเข่าลงไป จะไม่มีใครเห็นภาพเดียวกันเลย เพราะวิธีการเริ่มมันแรนด้อม ห่างกัน 2 วิ ก็ไม่เหมือนกันแล้ว ความเร็วความช้า ในการเดิน มันสัมพันธ์กับสิ่งที่คุณจะเห็น”

“ความน่าสนใจคือเขาบอกว่า เขาทำงานกับมาร์เก็ตติ้ง เขาเลยมองว่าพรหมลิขิตหมายถึง ‘คนลิขิต’ ว่าลูกค้าจะซื้อของเขาเมื่อไหร่ พอเขาอยู่กับข้อมูลเยอะๆ มันก็มีเรื่องของพฤติกรรมของคนในการเห็นโฆษณาในอีกกี่นาทีข้างหน้าที่จะนำไปสู่การสื่อ ซึ่งมันคือความพยายามของมนุษย์ในการเข้าใกล้ความเป็นผู้กำหนดชะตาลิขิตนะ” ชู้ตพูดจบ เราคิดในใจทันทีว่า “เออว่ะ”

ความเชื่อเป็นสิ่งไม่ผิด แต่อย่าลืมที่จะเชื่อในตัวเอง

เข้าสู่องก์สอง ‘ปลายทาง’ คอนเซ็ปต์ขององก์นี้ชัดเจนในการบอกผู้ชมว่าเรามีสิทธิเลือก ไม่ต้องสนใจตลอดเวลาก็ได้ว่าพรหมจะลิขิตอะไรมา สิ่งที่ลิขิตมามันอาจจะจบไปแล้ว หลังจากนี้เราก็มีสิทธิเขียนเรื่องของเราขึ้นมาได้ และยังมีความเป็นไปได้ใหม่ๆ รออยู่ข้างหน้าเสมอ

รอบๆ พื้นที่ในองก์นี้ จะมีการให้เรานั่งแล้วฟังคำถามตั้งแต่จุดที่ 1-5 มีทั้งถามว่า เราคือใคร คิดว่าตัวเองเป็นธาตุอะไร เป้าหมายของคุณคืออะไร แบบที่ไม่ต้องยิ่งใหญ่หรือเป็นไปตามที่คาดหวัง คิดว่าอะไรคือจุดเปลี่ยนในชีวิต คุณใช้น้ำเสียงแบบไหนคุยกับตัวเอง และฤดูกาลแบบไหนที่เหมาะกับคุณ จะเห็นได้ว่าเหล่าคำถามนั้นเชื่อมโยงกับ ‘ตัวตน’ ของเราทั้งสิ้น เพื่อเป็นการบอกว่าตัวเราอาจจะรู้จักตัวเองมากที่สุด และโปรดจงเชื่อในตัวเองเข้าไว้!

กิจกรรมที่ฉันชอบมากที่สุดในองก์นี้ และรู้สึกว่าเหมือนได้ย้อนกลับไปตอนเด็กๆ สมัยเคยเรียนรำไทย คือ การที่นิทรรศการพาผู้ชม ‘รำไทย’ โดยที่มองออกไปนอกหน้าต่างจะเห็นวิวเป็นพระพรหม ซึ่งรายล้อมไปด้วยผู้คนที่กำลังสักการะ ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่เจ๋งและแปลกใหม่มากสำหรับฉัน

เบื้องหลังแนวคิดการรำไทยต่อหน้าพระพรหม ชู้ตแชร์ให้ฟังว่า “เราจัดไว้ในจุดที่เรากำลังเห็นคนกำลังขอพรพอดี เวลาที่เราอยากจะขอพรหรือสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ ไม่ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะบันดาลให้เราตามที่ขอไหม แต่คนโบราณเขาใช้วิธีจ้างคณะละครมารำ ซึ่งคอนเซ็ปต์ของการจ้างรำ คือการรำแก้บน ซึ่งเราตีความว่าเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์พอใจ”

“ครีเอเตอร์ของเรา เขาบอกว่าเขาเชื่อว่ามันไม่อะไรที่ศักดิ์สิทธิ์และจริงใจไปกว่าลมหายใจหรือร่างกายของเราเอง คือถ้าอยากจะสื่อสารกับเทพเจ้า ก็ทำผ่านตัวเองสิ รำเองก็ได้ นี่คือจุดเริ่มต้น”

ฉันที่ยืนอยู่หน้าตำแหน่งที่จัดวางมาเพื่อการรำ เบื้องหน้ามีชอยส์ให้จิ้มเลือกว่า เราอยากจะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เรื่องใด แน่นอน คนอย่างฉันที่ช่วงนี้ใจมันเหงาเกินต้าน กดเรื่องความรักอย่างไม่ลังเล ความพิเศษคือท่ารำที่เราต้องทำตาม จะมีคลิปวิดีโอของคุณครูนักออกแบบนาฏศิลป์ไทยจาก Thai Fit Studio มาสอน พอได้ขยับร่างกายแบบนี้ ก็รู้สึกเหมือนกำลังได้ออกกำลังกายไปด้วย ที่สำคัญดนตรีที่ใช้รำยังมีเสียงคาสิโนออนไลน์ ผสานเข้ากับเสียงภาวนา ที่แม้จะไม่คุ้นหู แต่ก็ทำให้ดูโมเดิร์นเข้ากับคนยุคใหม่ดี

ในฐานะที่วันนี้ โปรดิวเซอร์ของงานให้เกียรติมาร่วมพูดคุยกัน ฉันจึงฝากคำชมไปยังเขาต่อหน้า ว่าชอบกิจกรรมรำไทยนี้ที่สุด ซึ่งตัวชู้ตเองก็ได้เล่าให้ฟังว่า แนวคิดเรื่องของ ‘พระพรหม’ จากการที่เขาได้ทำงานกับเหล่าครีเอเตอร์นั้นแตกต่างกันออกไป เขายกตัวอย่าง อาจารย์ตุล-คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง นักปรัชญา ศาสนา หนึ่งในครีเอเตอร์ของนิทรรศการนี้ ไว้ว่า “อาจารย์ตุลบอกว่าความเชื่อเรื่องของพระพรหมในไทยกับอินเดีย คนละเรื่องกันเลยนะ ขณะที่พระพรหมอินเดียซึ่งเคยเป็นเทพสูงสุดในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่สุดท้ายก็โดนลดความสำคัญลงมาตามกาลเวลา จนตอนนี้ที่อินเดีย มีเทวาลัยพระพรหมอยู่เพียงองค์เดียว เห็นไหมล่ะ ว่าขนาดเทพที่เคยเป็นคนที่เคยลิขิตทุกอย่าง ก็ยังถูกลดความสำคัญเลย เราจะไปให้ความสำคัญอะไรขนาดนั้น แทนที่เราจะกลับมาเชื่อมั่นในตัวเองว่าเรา สามารถกำหนดชีวิตเองได้” ฉันพยักหน้าตามชู้ต และพอคิดตามก็รู้สึกว่า การมีเทพเจ้าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจนั้นไม่ผิด แต่อย่าให้กลายเป็นความยึดติดจนหมดสิ้นความเชื่อในตัวเอง

เราลิขิตชีวิตตัวเองได้ พร้อมกับให้พรหมลิขิตคอยช่วย

ยังมีอีกหลายอย่างในนิทรรศการนี้ที่ฉันอาจจะไม่ได้เล่าให้ฟัง แต่มันก็ดีงามมากไม่แพ้กันรอคอยให้ทุกคนได้ไปชมกันอยู่ สำหรับฉันการได้เข้ามาชมนิทรรศการนี้ เป็นเหมือนการยืนยันในสิ่งที่ฉันยึดมั่นไว้ตั้งแต่ต้นให้แข็งแรงขึ้น

มนุษย์ทุกคนเกิดมาไม่เท่ากัน บางครั้งเรามีเรื่องที่กำหนดเองไม่ได้ ทั้งจากสภาวะทางสังคม ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม แรงกดดันทางครอบครัว ความรู้สึกและการกระทำของคนอื่นเราก็ไม่อาจคอนโทรลมันได้ ยิ่งเรื่องฟ้า เรื่องฝน ยิ่งแล้วใหญ่ เราควบคุมทุกอย่างไว้ด้วยมือเราไม่ได้ แต่ใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเราจะลิขิตเองไม่ได้ มันยังมีเรื่องที่เราเลือกเองได้ ตัดสินใจเดินไปในเส้นทางที่คิดไว้ได้ หรือเลือกที่จะรักหรือไม่รักตัวเองได้ ซึ่งมันนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต่างกันออกไปหลังจากที่เลือกแล้ว

บางครั้งสิ่งที่ขึ้นชื่อว่า ‘พรหมลิขิต’ อาจเป็นสิ่งที่เราเลือกเชื่อเพื่อความสบายใจ ขณะเดียวกันเราก็เลือกไม่เชื่อเพราะความสบายใจได้อยู่เสมอ เพราะใจความสำคัญหลักคือ ‘เรามีสิทธิเลือก’ นี่เป็นอีกนิทรรศการที่ฉันอยากให้หลายคนได้มาลองสัมผัสด้วยตัวเอง และเพื่อยืนยันในคอนเซ็ปต์ที่แข็งแรงของนิทรรศการ ฉันก็มีเรื่องอยากถามมุมมองของผู้จัดงานอย่างชู้ตดูก่อนกลับบ้าน

1. คิดว่าเรื่องจิตวิญญาณ ความเชื่อ มันสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์ยังไง?

“เราเชื่อในพรหมลิขิตไหม เราเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไหม พลังบางอย่างที่มีอำนาจเหนือเรา เราเชื่อว่ามันสามารถบันดาลชีวิตเราไปในทางใดทางหนึ่งได้หรือเปล่า แล้วถ้าเราไม่มีสิ่งนี้ คำถามประเภทเรามีชีวิตอยู่ไปทำไม มันจะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะคำถามลักษณะนี้บางครั้งก็มาในตอนที่เราสงสัยว่าใครบางคนกำลังพยายามกำหนดชีวิตเรา ถ้าเราไม่ใคร่ครวญถึงมัน เราอาจจะไม่รู้สึกถึงสิ่งนั้น”

“บางครั้งความเชื่อก็กลายเป็น trauma เพราะพลังงานของเราไปจดจ่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เราตั้งคำถามว่า ตกลงเรามีสิทธิ์เลือกอะไรไหม ทำไมเราตัวเล็กจังเลย เรามีคุณค่าอะไรหรือเปล่า บางครั้งความเชื่อก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราเบาลง เพราะเราไม่ต้องแบกมันไว้ อะไรจะเกิดก็คิดไปเลยว่าเป็นเรื่องของสิ่งที่มองไม่เห็น สิ่งที่เราพยายามจะทำให้เกิดในงานนี้คือ ทั้งหมดที่คุณรู้สึกมัน valid นะ มันไม่เป็นอะไร มันอาจจะมีบางวันที่เราอยากจะไหว้อะไรบางอย่าง หรือมีวันที่เรามีความสุขโดยที่เราไม่ได้รู้สึกว่าต้องขอพร”

“ถ้าเมื่อไหร่ความเชื่อมันทำให้เราใช้ชีวิตไม่ได้ ทำให้เรากลัวมาก เพราะคิดไปแล้วว่ามีสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือเราคอยกำหนดชีวิตอยู่ เราจะพยายามไปทำไมวะ พยายามไปก็เหนื่อยเปล่า อันนั้นผมคิดว่าเริ่มท็อกซิกถ้าเป็นแบบนั้น เรียกว่าขาดทุน แทนที่เราจะใช้ชีวิตแบบให้ได้กำไร หรืออย่างน้อยที่สุดก็มองชีวิตว่ามันมีทั้งวันที่ได้กำไร และขาดทุน” 

2. คนรุ่นใหม่เหมือนจะไม่มีศาสนา เรื่องความเชื่อก็เหมือนจะไม่เชื่อ แต่สายมูก็ขายดีมาก สิ่งนี้กำลังสะท้อนอะไรอยู่?

“ตอนเราคุยกับครีเอเตอร์ที่มีทั้งคนอายุ 20 ต้นๆ จนถึง 40 กว่าๆ เราพบว่าฟังก์ชั่นของศาสนา สำหรับแต่ละคนมีฟังก์ชั่นไม่เหมือนกันเลย สำหรับบางคน บางยุคสมัย ศาสนาคือโครงสร้างของชีวิต ถ้าไม่ยึดเกาะสิ่งนี้ไว้มันจะพังลง ไม่มีหลักการในชีวิต แต่เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น เราได้เห็นโลกกว้างขึ้น ยิ่งเห็นความเป็นไปได้ต่างๆ บนโลกที่แตกต่างหลากหลายไปหมด มันทำให้เห็นว่าศาสนาไม่ได้มีฟังก์ชั่นเดียวสำหรับทุกคน บางคนมีศาสนาและความเชื่อเป็นเซฟสเปซ ไม่ไหว ถอยออกมาหาศาสนาสักหน่อย เติมพลังงานเป็นปั๊มน้ำมัน บางคนมองเป็นเครื่องอธิบายสังคมวัฒนธรรมเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกว่าต้องเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น บางคนอย่างคนรุ่นใหม่ที่มูเตลูกัน เขาอาจจะหยิบเรื่องความเชื่อมาใช้ในฐานะที่ยึดเหนี่ยวจิตใจชั่วคราว ไม่ได้เอาทั้งหมดของศาสนามาอยู่กับเขาก็ได้”

“ยิ่งในประเทศที่ความหวังมันน้อย ความเชื่อเรื่องมูเตลูเป็นเหมือนสูตรโกงในเกมให้เรารู้สึกช่ำชื่นหัวใจขึ้นมาบ้าง ท่ามกลางความวุ่นวายฉิบหายของสังคมเรา”

3. สิ่งที่คุณอยากบอกกับผู้ชมที่สนใจเข้ามาร่วมนิทรรศการคืออะไร?

“ในวันที่เราตั้งคำถามว่าตกลงเรามีพลังงานแค่ไหน เลือกได้แค่ไหน วันที่เราตั้งคำถาม มักจะเป็นวันที่เรารู้สึกไม่ค่อยดี ถ้าเราชีวิตโอเค เราไม่ตั้งคำถามแบบนี้หรอก แต่วันที่ไม่โอเค เราตั้งคำถาม แต่สิ่งที่เรารู้สึกว่าไปต่อได้ มันไม่ใช่แค่พลังงานภายในของเราคนเดียว ที่อยู่ๆ เราจะปลอบใจตัวเองได้ขึ้นมา บางทีเราต้องการบูสเตอร์อะไรบางอย่างจากสิ่งที่มองไม่เห็น”

“ถ้าต้องการสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วย ต้องการความเชื่ออื่นๆ มาให้เราแข็งแรงมากขึ้นที่ทำให้เราออกไปใช้ชีวิตได้ มันไม่เป็นอะไรเลยครับ และถ้าเรากลับมามีกำลังใจดีทุกอย่างแล้ว ก็สะสมความรู้สึกดีนั้นไว้ แล้วนึกถึงมันในวันที่เราเจอวันแย่ๆ”

“โทษดวงอาจจะดูง่ายสุด เพราะมันทำให้เราไม่ต้องรู้สึกแย่กับตัวเอง มันก็เป็นการใจดีกับตัวเองในรูปแบบหนึ่ง ว่าเราไม่ต้องแบกทุกอย่างไว้คนเดียว แต่สุดท้ายอนาคตยังเป็นของเราเสมอ เรายังตัดสินใจ และเลือกทางของเราได้”

Writer
Avatar photo
พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts