REFORM our learning ecosystem “เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน” ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง ‘ตาข่าย’ ป้องกันเด็กร่วงหล่นจากการศึกษา

REFORM our learning ecosystem “เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน” ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง ‘ตาข่าย’ ป้องกันเด็กร่วงหล่นจากการศึกษา

อีก 1 โซนที่ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามตลอดสองวันที่งาน Relearn Festival 2024 เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมานั่นก็คือโซน 4A หรือว่าโซน Reform our learning ecosystem นั่นเอง

Mappa ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ตั้งคำถามว่าด้วย ‘เขาวงกตแห่งการศึกษาไทย’ ที่จะพาคุณย้อนเวลากลับไปคิดว่า ‘คุณผ่านพ้นความท้าทายต่างๆ มาได้อย่างไร?’

เมื่อคุณก้าวเท้าเข้ามายังเขาวงกตแห่งการศึกษานี้ คุณจะพบกับสิ่งที่ชวนย้อนคิดและตั้งคำถามมากมาย ตั้งแต่ความฝันในวัยเด็กที่อาจหล่นหายไปเพราะโลกแห่งความเป็นจริงไม่เป็นอย่างใจหวัง ต่อด้วยน้ำหนักของความคาดหวังที่คุณต้องแบกรับมาตลอดชั่วชีวิต มากไปถึงความเหลื่อมล้ำที่บีบคั้นจนใครหลายคนต้องหลุดออกไปจากระบบการศึกษาและขาดโอกาสในการต่อยอด 

และสุดท้ายเราอาจพบว่าทุกอย่างที่กล่าวมาเป็นปัญหาที่แก้จากคนเดียวมันไม่พอ และคนรอบตัวเด็กอีกหลายคนก็สามารถมีส่วนเข้ามาช่วยเด็กๆ ได้เช่นเดียวกัน

รู้หรือไม่? เด็กไทยร่วงหล่นจากระบบการศึกษามากถึง 4 แสนคนในปีที่ผ่านมา (2566)

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับปัญหาเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษามานานแสนนาน ซึ่งข้อมูลล่าสุดที่ถูกเปิดเผยจากกสศ. คือมากถึง 4 แสนคน โดยที่มีสาเหตุหลักมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านสังคมและเศรษฐกิจที่ส่งผลโดยตรงต่อโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา เช่น ปัญหาความยากจนของครอบครัวที่ผลักดันให้เด็กออกจากการเรียนเพื่อทำงานหาเงินมาช่วยผู้ปกครอง

ในโซน 4A: Reform Our Learning Ecosystem ที่งาน Relearn Festival 2024 เราเนรมิตโซนนี้ให้เป็นเขาวงกตแห่งการศึกษา (Mapp Maze) ขึ้นมา และมอบ ‘เหรียญชีวิตเลือกได้’ ให้เป็นสารตั้งต้นก่อนการเริ่มเล่นเกม

เมื่อประตูบานแรกเปิดขึ้น ก้าวถัดไปคุณต้องเล่นกิจกรรมต่อเพื่อให้สามารถเข้าไปถึง ‘การศึกษา’ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทาง

อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยากอะไรหากคุณเป็นคนที่มีเหรียญในมือมากพอ แต่อันที่จริงแล้วทุกก้าวเดินของคุณจะต้องผ่าน ‘เงื่อนไข’ ที่ถูกกำหนดเอาไว้

ต่อเนื่องมาด้วย ‘ก้อนหิน’ ที่เปรียบได้กับน้ำหนักของความคาดหวัง คุณจะได้หยิบใันใส่ลงในกระเป๋าทีละก้อนให้จำนวนเทียบเท่ากับความรู้สึกที่คุณแบกรับความคาดหวังเอาไว้ในช่วงเวลาในการเรียนของคุณ 

“เรียนสายวิทย์สิจะได้ไปสอบหมอให้แม่ไง”

“อย่าแพ้ให้ลูกลุงเขานะ”

“พ่อก็หวังให้ลูกเลี้ยงตอนแก่นั่นแหละ”

“สอบให้ติดนะแม่จะได้ไปอวดเพื่อนได้บ้าง”

“แม่หวังพึ่งลูกนะ โตขึ้นจะได้เลี้ยงน้อง”

“ตั้งใจเรียนสิ โตมาจะได้เป็นเจ้าคนนายคน”

“อย่าเรียนดนตรีหรือศิลปะเลย มันทำมาหากินไม่ได้”

“ถ้ายังไม่ได้เกรด 4 ก็ไม่นับว่าเก่งหรอก”

และเส้นทางในฝันรวมถึงโอกาสในการศึกษาอาจไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณถูกท้าทายด้วย ‘เส้นทางแห่งความเสี่ยง’ ที่อาจทำให้คุณหลุดออกจากระบบ

มาถึงตรงนี้ก็ได้เวลาที่คุณจะต้องใช้ความสามารถของตัวเองเพื่อเดินไปบนเส้นทางแห่งความเสี่ยงนั้น พร้อมแบกความคาดหวังจำนวนมากไว้บนหลัง และคุณจะแบกสิ่งเหล่านี้ไปจวบจนจุดสุดท้าย

เราอยากชวนคุณย้อนนึกถึงเด็กที่กลับบ้านไปแล้วเจอพ่อแม่ทะเลาะกัน ความคาดหวังที่ถูกพูดกรอกหูซ้ำๆ ความกดดันที่มากเกินไปจนเด็กคนหนึ่งอาจแบกรับไว้ไม่ไหว ส่งผลให้เขาทำอย่างที่ใจหวังไม่ได้

และร่วงหล่นไปจากระบบการศึกษาในที่สุด

เมื่อทุกคนไม่ได้เกิดมามี ‘เหรียญ’ เท่ากัน

ถึงแม้ว่า ‘เหรียญชีวิตเลือกได้’ ทุกคนจะได้รับในตอนต้นด้วยจำนวน 3 เหรียญเท่าๆ กัน แต่นั่นไม่ใช่ความเท่าเทียมอย่างที่ใครกล่าวเอาไว้ เพราะทุกก้าวเดินของคุณตลอดเวลาในเขาวงกตแห่งนี้จะถูกกำหนดเอาไว้ด้วยเงื่อนไขบางอย่าง

คุณจะมีเรื่องให้ ‘เสียเหรียญ’ ในทุกย่างก้าวที่อยู่ในเขาวงกตแห่งนี้

บวกกับน้ำหนักแห่งความคาดหวังจากก้อนหินที่คุณแบกรับจนหนักอึ้ง

เมื่อผ่านไปสักระยะหากใครยังพอเหลือเหรียญติดตัว อาจกล่าวได้อย่างภาคภูมิใจเลยว่าคุณคือคนโชคดีคนหนึ่ง

แต่ถ้าคุณไม่เหลือเหรียญในมือแล้วก็ไม่เป็นไร เพราะยังมีคนอีกหลายคนที่พร้อมจะหยิบยื่นเหรียญให้คุณ แต่คุณเพียงแค่หลงลืมพวกเขาไป หรือกระทั่งไม่ได้สนใจการมีอยู่ของพวกเขา

“คุณเองก็เป็นได้นะ คนที่ยื่นเหรียญให้กับพวกเขา”

หากเราพูดถึงคำว่า ‘ระบบการศึกษา’ ภาพในหัวที่ผุดขึ้นมาอาจเป็นโรงเรียน คุณครู ผู้ปกครอง หน่วยงานต่างๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และการศึกษาของเด็กๆ

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างการศึกษาที่เรามักคุ้นเคยและรู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนสำคัญ รวมถึงยังส่งผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกับตัวเราที่เป็น ‘ฟันเฟือง’ ในเขาวงกตแห่งการศึกษานี้

หากแต่รู้ไหมว่าผู้คนตัวเล็กๆ ที่อยู่รายล้อมโรงเรียนและตัวเด็กล้วนเป็นกำลังสำคัญในการโอบอุ้มพวกเขาไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา 

ไม่ว่าจะเป็นป้าร้านขายข้าวแกงที่มักจะทักเวลาเราดูไม่สบายใจ และแอบเอาใจช่วยเราในบางคราวโดยการตักข้าวเพิ่มให้

พี่ร้านถ่ายเอกสารที่รู้ใจเร่งให้ได้ไม่บ่น

ป้าแม่บ้านที่แอบเห็นเราร้องไห้ และคอยด้อมๆ มองๆ จนกว่าเราจะกลับบ้าน

หรือกระทั่งครูแนะแนวที่แอบเห็นเราเศร้าๆ จึงทักมาถาม และจึงไปคุยกับฝ่ายการเงินให้ขอให้เราสามารถผ่อนผันค่าเทอมได้เป็นพิเศษเพราะเราต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย

ถึงแม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นอาจไม่รู้ตัวว่าหากไม่มีความหวังดีจากพวกเขาในวันนั้นที่เรากำลังสะดุด ก็อาจไม่มีเราที่ยืนหยัดในวันนี้ได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้นการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้รอบตัวเด็กจึงสำคัญและส่งผลอย่างมากต่อการโอบอุ้มไม่ให้พวกเขาร่วงหล่นไปจากระบบ

“เลี้ยงเด็กหนึ่งคนใช้คนทั้งหมู่บ้าน”

วลีเก่าแก่ของชาวแอฟริกันนี้ยังคงใช้ได้จริงอยู่เสมอกระทั่งในยุคปัจุบัน 

และหากการทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นต้องอาศัยคนทั้งสังคมฉันใด

การที่เด็กคนหนึ่งจะประคับประคองการศึกษาของตัวเองให้ตลอดรอดฝั่งก็ต้องอาศัยคนรอบตัวด้วยเช่นกัน

และหากเราลองสังเกตดูให้ดีๆ ปัญหาเด็กร่วงหล่นจากระบบการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเด็กเรียนไม่รู้เรื่อง แต่เป็นเพราะสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้มากกว่า

เราจึงอยากชวนทุกคนมาตั้งคำถามดังๆ และร่วมมือกันว่า แล้วพวกเราล่ะ จะมีส่วนร่วมช่วยประคับประคองเด็กอีกจำนวนมากที่กำลังเผชิญชีวิตที่อาจไม่ได้ราบเรียบได้อย่างไรบ้าง

และจะเป็นเราได้ไหมนะ? คนที่หยิบยื่น ‘เหรียญชีวิต’ ให้กับพวกเขา

ที่มา:

https://theactive.net/news/learning-education-20230619/

https://www.eef.or.th/tag/โครงการ-zero-dropout-เด็กทุกคนต้อง/

Writer
Avatar photo
รุอร พรหมประสิทธิ์

หนังสือ ไพ่ทาโรต์ กาแฟส้ม แมวสามสี และลิเวอร์พูล

Photographer
Avatar photo
ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts