![](https://fkwp.mappamedia.co/wp-content/uploads/2025/02/Interview_Nava_web-01.jpg)
![](https://fkwp.mappamedia.co/wp-content/uploads/2025/02/Interview_Nava_web-01.jpg)
อ่านฟินแลนด์เวอร์ชั่น ‘ก้อย’ – กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ หญิงสาวที่คุ้นเคยกับสื่ออะนาล็อค แต่บินไกลไปเรียนสื่อดิจิทัลถึงฟินแลนด์ เพียงเพื่อพบว่า หนังสือภาพคือความน้อยที่ ‘มาก’ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
อ่านฟินแลนด์เวอร์ชั่น ‘ก้อย’ – กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ หญิงสาวที่คุ้นเคยกับสื่ออะนาล็อค แต่บินไกลไปเรียนสื่อดิจิทัลถึงฟินแลนด์ เพียงเพื่อพบว่า หนังสือภาพคือความน้อยที่ ‘มาก’ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
“หนังสือภาพมีชีวิตชีวามาก เพราะมันรู้สึกจริงอยู่ในนี้” (ชี้ไปที่ศีรษะ) น้ำเสียงที่นุ่มนวล แต่ความหมายหนักแน่นของ ‘ก้อย’ – กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ เจ้าของสำนักพิมพ์นาวา ทำให้ภาพหนังสือวัยเยาว์ของก้อยเองปรากฏขึ้น ‘งานแรกของมี๊จัง’ เวอร์ชั่นเล่มเล็กจิ๋ว เหมาะกับมือน้อยๆ ในวัยอนุบาล ที่เธอยังคงเก็บไว้จนถึงทุกวันนี้
“เราชอบมี๊จังมาก สนุกมาก แค่มี๊จังออกไปปากซอย ก็รู้สึกตื่นเต้นแล้ว เหมือนได้ออกไปผจญภัยกับมี๊จังด้วย พอเราเป็นผู้ใหญ่กลับมาอ่านอีกครั้ง ก็พบว่า แค่ปากซอยเอง มี๊จังทำให้เรารู้สึกสนุก เรามีทุกเล่มเลยนะ” ก้อยยิ้ม
“เรามองว่า หนังสือคือเพื่อน สนุกไว้ก่อน ไม่ต้องการอะไรจากเธอ ณ ตอนนี้ เธอแค่มาสนุกกับฉัน มาสนุกกับหนังสือ ทำให้เด็กคิดว่า นี่คือของสนุก นี่คือเพื่อนของเขา แล้วเขาก็จะอ่านต่อได้”
มี๊จังอาจเป็นดั่งรากแก้วของต้นไม้ ทำให้ความทรงจำเล็กๆ นี้ค่อยๆ ผลักดันและขับเคลื่อนให้ก้อยเติบโต จนได้ทำงานด้านสื่อหนังสือ และนิตยสารชั้นนำ เรียนรู้ทุกขั้นตอนของการทำหนังสือ ตั้งแต่อิดิต วางเลย์เอ้าท์ และการใช้ฟอนต์
“ทุกวันนี้เราใช้ความรู้และประสบการณ์ที่เคยได้รับ วางเลย์เอ้าท์หนังสือเอง 90%” ก้อยหัวเราะแก้เขินก่อนจะไปเรียนต่อที่ประเทศฟินแลนด์ ดินแดนที่ทำให้เธอพบว่า หนังสือภาพคือ สื่ออะนาล็อกที่มหัศจรรย์ ‘น้อย’ แต่ ‘มาก’ แบบที่คาดไม่ถึง แถมยังทำงานกับเด็ก ผู้ใหญ่ และใจของเธอได้เป็นอย่างดี
“หนังสือมีข้อดีอย่างแรงกล้า มีเสน่ห์คือ หนังสือไม่มีอย่างอื่นเลย แถมยังมีข้อจำกัดทุกอย่าง มีจุดสิ้นสุด มีความน้อย ไม่มีเสียง ขยับก็ไม่ได้ แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นคือ พอมันน้อย และจำกัด สิ่งที่เกิดขึ้นจะทำงานกับเราโดยตรง ภาพที่ไม่ขยับในหน้าหนังสือ แต่เคลื่อนไหวได้ในหัวของเรา เสียงที่ไม่มีจากหน้าหนังสือ แต่เราจะได้ยินอยู่ในหูผ่านภาพหรือตัวอักษรกำกับ”
ก้อยกางหน้าหนังสือเรื่อง ตาตุและปาตุ ที่แปลมาจากภาษาฟินแลนด์ เป็นหนังสือภาพที่โด่งดังระดับโลก เรามองและอ่านเร็วๆ เพียงครู่ ภาพในหัวเคลื่อนไหว แต่ภาพในหน้าหนังสือหยุดนิ่ง ความสนุกได้เริ่มต้นขึ้น ที่นี่..
Mappa อยากชวนทุกคน โลดแล่นไปกับเรื่องราวดีๆ ของหนังสือภาพ การอ่านนิทาน แนวคิดที่น่าสนใจ ตลอดจนสวัสดิการห้องสมุดสุดเจ๋งจากรัฐบาลฟินแลนด์ ไปพร้อมๆ กันกับเราค่ะ
จุดสตาร์ทแบบนาวา เริ่มต้นด้วยการศึกษา เรียนฟรีที่ฟินแลนด์
ก่อนที่จะเรียนต่อที่ประเทศฟินแลนด์ ก้อยรู้มาว่า ประเทศฟินแลนด์ให้ชาวต่างชาติเรียนฟรีได้ แต่ปัจจุบันให้เรียนฟรีเฉพาะคนฟินแลนด์ตั้งแต่เดย์แคร์ จนถึงปริญญาเอก และกลุ่มประเทศ EU โดยไม่มีวงเล็บใดๆ ต่อท้าย
“เราเรียนต่อปริญญาโทด้าน Digital Culture ที่ University of Jyväskylä ลักษณะการเรียนที่ฟินแลนด์ จะเน้นให้ออกไปทำงานวิจัย เรียนแค่ส่วนหนึ่ง เราก็ทำหนังสือภาพ สื่ออะนาล็อคในยุคดิจิทัล แล้วเราก็พบว่า หนังสือเป็นสื่อที่ทำให้เด็กได้ฝึกสมอง เมื่อร่างกายอยากให้มีกล้ามเนื้อ ก็ต้องออกกำลังกาย แต่หากอยากให้เด็กๆ มีความคิดสร้างสรรค์ เราต้องทำแบบนี้ ให้ภาพให้หนังสือไปกระโดดได้ในสมอง
“เด็กแต่ละคนก็จะกระโดดไม่เท่ากัน ความสูง ความเร็ว เรื่องราวในหัวของเด็กแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน อันนี้ล่ะที่ฝึกความคิด ความสร้างสรรค์ และจินตนาการ แล้วจินตนาการก็จะกลายมาเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่จับต้องได้อีกที เมื่อเราศึกษาสื่อดิจิทัลกลับได้พบความวิเศษของสื่ออะนาล็อค ต้องเป็นหนังสือภาพเท่านั้น”
“ยิ่งได้เห็นนิทานภาพของฟินแลนด์ ยิ่งทำให้ตอบตัวเองได้ชัดมากขึ้น” เธอตอบทันทีว่า “ใช่”
“มีนักวิชาการท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นทั้งนักเขียนหนังสือภาพและนักวิจัย บอกไว้ว่า หนังสือภาพมีผู้เขียนสองคน คนแรกคือ ผู้เขียน อีกคนคือ ผู้อ่าน ที่เขียนเรื่องราวอยู่ภายในหัว ความเคลื่อนไหวต่างๆ และเสียงอื่นๆ ก็ไม่เหมือนกันทั้งๆ ที่อ่านเรื่องเดียวกัน ดังนั้นผู้อ่านจึงเปรียบเสมือนผู้แต่งอีกคนหนึ่ง สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นและมีได้เฉพาะสื่อแอนะล็อกเท่านั้น
“และเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ง่าย ทำให้เรายิ่งอยากรู้ ต้องไปห้องสมุดเพื่ออ่านหนังสือ ทีนี้ไปกันใหญ่ นั่นทำให้เรายิ่งสนใจหนังสือภาพมากขึ้นเรื่อยๆ” ก้อยบอก
ความลับจากชั้นใต้ดินในเมืองเล็กๆ สู่สำนักพิมพ์นาวา
“เราเรียนที่เมืองยูวาสกูลา ห่างจากเมืองหลวงเฮลชิงกิ ไปราวๆ สองร้อยห้าสิบกิโลเมตร พอไปถึง เราเจอแต่ความเงียบ เงียบกริบ” ก้อยหัวเราะ แล้วเล่าต่อว่า
“ตอนนั้นเราเริ่มออกสำรวจเมือง แต่ด้วยความที่นี่เป็นเมืองที่ออกแบบด้วยหลักการ ความต้องการของเนื้อที่ที่ใช้น้อยแต่เหมาะสมกับขนาดคน (Humam scale) ใช้เวลาสองวันก็หมด วันหนึ่งเราไปร้านหนังสือเอกชนแห่งหนึ่ง มีชั้นใต้ดิน ซึ่งเป็นโซนหนังสือเด็ก วันนั้นมีการจัดดิสเพลย์หนังสือเด็กออกใหม่ ตาตุและปาตุท่องฟินแลนด์ เราเห็นก็รู้สึกว่า น่ารักมาก สีสวยสดใส แถมยังสนุกอีก จากนั้นเราก็ออกตามหาตาตุและปาตุเรื่อยมา”
“แล้วอะไรที่เป็นความลับล่ะ” เราสงสัย
“ตลอดเวลามันอยู่ตรงนี้ไง” (ชี้ไปที่บริเวณขอบกะโหลกด้านหลังศรีษะ) ก้อยยังเป็นผู้กุมความลับ ก่อนจะเฉลยว่า เธอยังคงจำภาพที่ตัวเองเดินลงบันไดสู่ชั้นใต้ดินได้ดี ตาตุและปาตุทำให้เธอจดจำและเก็บซ่อนไว้อยู่ในส่วนที่ลึกที่สุด
“เมื่อราวเดือนกันยายนที่ผ่านมา เราเพิ่งได้ไปเจอนักเขียนเล่มนี้ที่เฮลชิงกิมา เราเล่าให้ฟังเขาว่า ตอนที่เห็นวันแรก จนถึงวันที่อีเมล์ไปคุยเรื่องซื้อลิขสิทธิ์ตาตุปาตุ ตลอดเวลามันอยู่ตรงนี้ (ชี้ไปที่เดิม) (หัวเราะ)
“เขาพูดกลับมาว่า งานของฉันก็เป็นอย่างนี้แหละ ชอบซ่อนอยู่ในซอกหลืบ อยู่สักที่ในตัวเธอ แน่นอนว่าอยู่มานานเป็นสิบปีเลย ถึงจะได้ทำสำนักพิมพ์ และตาตุปาตุเล่มที่อยู่ตรงนี้ (ชี้ไปที่เดิม) เวอร์ชั่นภาษาไทยก็ออกมาเป็นเล่มแรก
“เราเชื่อว่า หนังสือภาพมีคุณค่าที่อาจทำให้เกิดอะไรบางอย่างที่จะติดตัวเด็กไปจนโต เป็นเหมือนอุปกรณ์ที่จะอยู่กับเขาไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา แนวคิดที่ไม่ถอย มีความมานะ มุ่งมั่น ซึ่งก็คือปรัชญาฟินแลนด์ที่เรียกว่า ชิสุ (sisu) ให้ความหมายที่บ่งบอกว่าถึง การมีมานะ ล้มแล้วลุก ไปให้ถึงจุดหมายให้ได้ แนวคิดนี้ปรากฏอยู่ที่ทั้งในการปฏิรูปการศึกษา การคิดค้นเทคโนโลยี การสร้างความอยู่ดีมีสุขในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่วรรณกรรมเยาวชน สิ่งนี้ทำให้เขาก้าวเดินในฐานะประเทศได้”
ส่วนหนึ่งของปรัชญาชิสุ ผสานความเชื่อเรื่องการอ่านของชาวฟินแลนด์ ที่เธอได้สัมผัสมาด้วยตัวเอง อาจเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่ทำให้สำนักพิมพ์นาวาได้เกิดขึ้น ด้วยการคัดเลือกสไตล์หนังสือภาพที่เน้นสนุก ดีต่อใจ และมีประโยชน์ ทั้งต่อเด็กๆ และผู้ใหญ่ได้ไม่ต่างกัน
‘อ่านตามอากาศ’ วัฒนธรรมการอ่านของชาวฟินแลนด์ (รวมทั้งเด็กๆ ด้วย)
เราฟังแล้วรู้สึกสนุกตาม จึงอยากรู้ว่า เด็กฟินแลนด์สนุกกับการอ่านได้แบบนี้หรือเปล่า ก้อยเองก็อาจตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้พบเจอกับเด็กฟินแลนด์โดยตรง แต่เท่าที่มีข้อมูลมา ก้อยบอกว่า ฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับการอ่าน และการเล่นเป็นอันดับแรก การอ่านจะสัมพันธ์กับอากาศ ผสานไปกับความเชื่อ และจบลงที่กลายเป็นวิถีชีวิต
“ฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็ก ปฐมวัย คือตั้งแต่เด็กจนถึงอายุเจ็ดขวบหรือเริ่ม ป.1 และด้วยความที่ประเทศเขาเน้นงานวิจัย จึงวิจัยออกมาแล้วว่า เด็กก่อนเจ็ดขวบต้องได้อ่านและเล่นอย่างอิสระ อีกอย่าง การอ่านยังเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกเห็น แถมพ่อแม่เองก็ยังอ่านให้ลูกฟังอีก ทั้งหมดทำได้ทันทีโดยไม่ต้องฝืนเลย
“เด็กๆ เองจะอยู่ในสังคมการอ่านอยู่แล้ว บวกกับที่ฟินแลนด์มีเงื่อนไขด้วยสภาพอากาศที่หนาวนานปีละ 5-6 เดือน ทำให้ส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้าน อ่านหนังสือ ยกเว้นเด็กๆ ที่ต้องไปโรงเรียน แม้หิมะหน้าบ้านจะสูงเท่าเข่าก็ตาม บวกกับความเชื่อของคนฟินแลนด์ คือ การศึกษาและการอ่านเป็นสิ่งที่จะทำให้รอดพ้นจากความลำบากทุกข์ยากในชีวิตได้”
ก้อยอธิบายว่า เมื่อก่อนฟินแลนด์เป็นประเทศที่ยากจน และเป็นประเทศที่แพ้สงคราม เขาจึงเชื่อว่า การศึกษาจะแก้ไขทุกอย่างได้ ผ่านการอ่านวรรณกรรมประจำชาติ กับหนังสือเรื่อง Seitsemän Veljestä (sever brother) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2413 ว่าด้วยเรื่องพี่น้องเจ็ดคนในครอบครัวที่ยากจน แต่เมื่อพวกเขาอ่านหนังสือก็สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ ทุกคนจึงอ่านเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
เพื่อนของฉันชื่อว่า ‘หนังสือภาพ’ ที่มอบทั้งความสนุก และให้ความสงบได้ในช่วงวัยที่ต่างกัน
เราชวนก้อยคุยต่อด้วยการถามจากประโยคบอกเล่าว่า “หากการอ่านของเด็กฟินแลนด์คือวิถี อย่างนั้นการอ่านหนังสือภาพแบบก้อย นาวา คงเน้นที่ความสนุก..”
เธอตอบว่า ใช่ แล้วหยิบยกเรื่องราวของหนังสือภาพในดวงใจกับความสนุกในวัยเยาว์ อย่าง งานแรกของมี๊จัง กับความสนุกอีกครั้งในวัยผู้ใหญ่ อย่างเรื่องตาตุ และปาตุ จากร้านหนังสือในชั้นใต้ดินที่ฟินแลนด์
“มี๊จัง ในวันนั้น กับ ตาตุปาตุ ในวันนี้ ดีต่อใจเราเหมือนเดิม แม้จะเกิดขึ้นในเวลาที่ต่างกัน ความตื่นเต้นและความสนุกตอนที่ได้อ่านหนังสือภาพ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเรา อย่างตอนที่อ่าน มี๊จัง เรายังเล็กมาก เพราะฉะนั้นการออกไปแค่ปากซอยบ้าน ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเรื่องราวมันขยับได้อยู่ในหัว สำหรับเรา นี่แหละคือความสนุก สนุกไปกับเรื่องราว”
เราเห็นด้วยกับก้อยว่า ภาพวาดในหนังสือมันขยับได้ ขยับอยู่ในหัวของเรา มีเสียง มีกลิ่น มีจังหวะ ทั้งๆ ที่ภาพในหน้าหนังสือไม่ได้ขยับเลย หรือแค่เพียงอ่านตัวหนังสือเท่านั้น ก็กลายเป็นภาพในหัวของเราทันที
“ใช่เลย หนังสือภาพทำงานแบบนี้กับเด็ก รวมถึงผู้ใหญ่ และก็เป็นแบบนี้กับหนังสือทุกเล่ม ในทุกประเทศ เพราะมันคือธรรมชาติของหนังสือภาพ แล้วธรรมชาติของหนังสือภาพต้องสนุก สนุกไว้ก่อน ไม่ต้องการอะไรจากเธอ ณ ตอนนี้ เธอแค่มาสนุกกับฉัน มาสนุกกับหนังสือ เพราะฉันคือเพื่อนของเธอ” ก้อยขยายความ
“วันหนึ่งโตเป็นผู้ใหญ่ การได้กลับมาอ่านนิทานภาพเล่มเดิม หรือลองอ่านหนังสือภาพเล่มใหม่ คล้ายการกลับมาหาเพื่อน แม้ไม่มีเสียง แต่กลับขยับได้ในหัว ช่วยให้เราอยู่กับตัวเอง และมีสมาธิ แต่ตอนที่ยังเป็นเด็ก เน้นสนุกล้วนๆ”
เช่นเดียวกับเนื้อหาในนิทานภาพ ย้อนกลับไปราวสามสิบปีที่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ของเด็กวัยอนุบาลวันนี้ อาจเติบโตมาจากหนังสือนิทานแนวข้อคิดคุณธรรม ซึ่งก้อยบอกว่า แต่เรื่อง ตาตุปาตุ ต่างออกไป เน้นสนุก กระตุกต่อมความอยากรู้ และกระตุ้นให้เด็กคิดอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา (แบบสนุกๆ แม้จะเพี้ยนนิดหน่อยก็ตาม)
“ในหนังสือเล่มนี้กำลังบอกว่า ที่จริงแล้วเด็กๆ ก็มีปัญหาชีวิตแบบเด็กๆ เหมือนกัน ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ที่จะมีปัญหานะ เช่น ตอนเช้าขี้เกียจอาบน้ำแต่งตัวไปโรงเรียน ยังง่วงอยู่ ตาตุปาตุจึงประดิษฐ์เครื่องแต่งตัวตอนเช้าขึ้นมา สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดการชวนให้เด็กคิด คิดอย่างสร้างสรรค์ และคิดแก้ปัญหา นี่ล่ะคือความสนุก สนุกกับการคิดไว้ก่อน ให้เด็กๆ รู้สึกว่า หนังสือเป็นสิ่งที่สนุกจังเลย แถมยังตลกอีกด้วย
“ผู้เขียนเขาเชื่อว่า ถ้าพ่อแม่สนุก พ่อแม่ขำ ลูกก็จะรู้สึกดีกับหนังสือ บางอย่างไม่ได้เพื่อเด็ก บางอย่างเพื่อพ่อแม่ แล้วให้สะท้อนคิด เหมือนเวลาอ่านนิทานให้ลูกฟัง ลูกนั่งตัก แล้วพ่อแม่อ่านแล้วหัวเราะ อุ้ย! ของดี ในเมื่อพ่อแม่รู้สึกดีกับสิ่งนี้ แสดงว่าต้องมีอะไรดีแล้วล่ะ พอพ่อแม่เริ่มหัวเราะคิกๆ คักๆ เด็กก็จะรู้สึกร่วมไปด้วย ผู้เขียนเขารู้สึกแบบนั้น
“ส่วนในมุมคนทำหนังสือ เราอยากให้พ่อแม่อ่านแล้วสนุก นั่งอ่านคนเดียวก็ได้แค่ 5 นาที แล้วจะรู้ว่าสนุก แค่คำนี้เลย” ก้อยยังคงเน้นคำว่า ‘สนุก’ เพราะเธอเชื่อว่า หนังสือภาพอาจจะไปเปิดประตู หรือกล่องอะไรบางอย่างที่เก็บไว้มานานแล้วของคนเป็นพ่อเป็นแม่ หรือสามารถดึงอะไรบางอย่างจากอดีตที่มีประโยชน์กลับมาใช้กับลูกในปัจจุบันได้
ส่งเสริมการอ่านสไตล์ฟินแลนด์ ด้วยสวัสดิการสุดฟิน ‘ห้องสมุดสาธารณะ’ครบวงจร
สำหรับคนไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ฟินแลนด์เป็นเวลาสองปีครึ่ง ก้อยเห็นว่า สังคมฟินแลนด์ เป็นสังคมแห่งการอ่าน สามารถหาหนังสืออ่านได้ในทุกๆ ที่ ตั้งแต่ห้องสมุดที่เป็นมิตรในโรงเรียน ห้องสมุดชุมชนที่เหมาะกับเด็ก
ก้อยบอกว่า คนฟินแลนด์ชอบศึกษาวิจัย “เขาเล็งเห็นว่า ทุกวันนี้มีสื่อมากมายในชีวิต ก็ต้องเพิ่มความรู้และอำนวยความสะดวกให้ผู้คนมากขึ้น เพื่อเข้ามาใช้ห้องสมุด ซึ่งเป็นเสมือนการส่งเสริมการอ่านไปในตัว เรียกได้ว่า เป็นสวัสดิการให้กับชาวเมือง อีกอย่าง ห้องสมุดของฟินแลนด์ จะมีระบบเครือข่ายห้องสมุดเมือง สามารถยืมหนังสือจากเขตเมืองอื่นๆ ได้ ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ไม่เสียเงิน ห้องสมุดก็อยู่ในที่ที่ไปอยู่แล้ว เดินไปได้ ในเขตเมืองก็อาจอยู่ใกล้กับห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ใกล้โรงเรียน คือ ใกล้กับพื้นที่ที่อยู่ในชีวิตของทุกคน รวมถึงเด็กๆ ด้วย
“ส่วนห้องสมุดของเด็ก บางพื้นที่จะแยกเฉพาะ หรือบางเมืองก็จะอยู่รวมกับห้องสมุดผู้ใหญ่ แต่ความสนใจของห้องสมุดของฟินแลนด์คือ มีพื้นที่ที่หลากหลายรูปแบบอยู่ในที่เดียวกัน
ก้อยยกตัวอย่าง ห้องสมุดกลางประจำเมืองเฮลชิงกิ ชื่อว่า ออดิ (oodi) เป็นอาคารโมเดิร์น ดูสบายตา มีที่นั่งทุกแบบ นอนก็ได้ ติดกับแผนกเด็ก มีคาเฟ่ กินแล้วอ่าน อ่านแล้วกิน ได้ตามสบาย มีมุมของเด็กเฉพาะ ที่ให้สัดส่วนมากว่าโซนอื่น มีสนามเด็กเล่นให้ได้ปีนป่าย เด็กๆ จะนั่ง นอนตรงไหนก็ได้ หรือจะมาแค่เล่นอย่างเดียวก็ได้ ไม่มีใครว่า
“เรียกว่า ขอเชิญระเกะระกะเละๆ เทะๆ ได้เลย (หัวเราะ) และที่น่าสนใจคือ ชั้นหนังสือทำมาเพื่อให้เด็กใช้งานได้ง่าย ลักษณะคล้ายกระบะใส่หนังสือที่มีความสูงที่เด็กเลือกหนังสือเองได้ง่าย คนฟินแลนด์เขาคิดมาแล้วจริงๆ”
นอกจากนี้ยังมีห้องซ้อมดนตรี มีจักรเย็บผ้าให้มาใช้ได้ มีครัว ห้องประชุม ห้องอ่านหนังสือ มีโซนพริ้นท์ทั้งแบบขนาดเล็กและขนาดโปสเตอร์ มี 3D printer ด้วย เรียกว่า ครบเครื่องเรื่องการต่อยอดความคิดให้กับคนทุกเพศทุกวัย
หนังสือนิทานอ่านฟรี (ที่ฟินแลนด์) สวัสดิการแบบนี้วินๆ ทุกฝ่าย
การส่งเสริมการอ่านตามแบบชาวฟินแลนด์ มาพร้อมกับการมอบสวัสดิการที่เป็นขุมทรัพย์ทางความรู้ ด้วยการให้ประชาชนอ่านหนังสือฟรี และยืมได้นาน มีหนังสือใหม่ๆ ออกเพียบ ไม่เพียงแต่เป็นสวัสดิการที่ดีในภาคประชาชน แต่สำหรับธุรกิจสำนักพิมพ์ก็ยังอยู่ได้ ส่งผลให้เกิดการพัฒนานักเขียนและนักวาดหนังสือทุกประเภท
ก้อยบอกว่า “ที่ฟินแลนด์และประเทศแถบนอร์ดิก จะใช้กลไกการรับซื้อหนังสือโดยภาครัฐ หมายถึง ภาครัฐเป็นผู้ซื้อหนังสือรายใหญ่เข้าห้องสมุดทั่วประเทศ ในมุมสำนักพิมพ์ การที่รัฐรับซื้อตามจำนวนเล่มบวกกับจำนวนห้องสมุด เท่ากับว่าสำนักพิมพ์อยู่ได้ ผู้ปกครองก็ไม่ต้องเสียเงินซื้อ เด็กๆ ก็ได้อ่านหนังสือเล่มใหม่ตลอด วนกลับไปที่นักเขียนนักวาดหนังสือเด็กก็จะได้รับการสนับสนุนตามไปด้วยเรียกว่า เอื้อกันไปหมด วินๆ กันหมด”
แม้ว่าการเปิดสำนักพิมพ์ฟินแลนด์จะไปต่อได้ไม่ยาก แต่หากมองเส้นทางของนักเขียนนักวาดหนังสือเด็กในฟินแลนด์ กลับไม่ใช่เรื่องง่าย ก้อยเล่าว่า ในเชิงความอยู่รอดของการเป็นนักเขียนและวาดหนังสือเด็กที่ฟินแลนด์แบบเต็มเวลานั้น มีน้อยมาก อย่างคนทำ ตาตุปาตุ เอง ก็เคยทำงานด้านกราฟฟิกมาเหมือนกัน พอได้เล่มฮิตๆ สองสามเล่มแรกก็เลยทำต่อเนื่อง จากนั้นก็ออกปีละเล่มเรื่อยมา เรียกว่า อาจจะต้องมีฐานผู้อ่านจำนวนหนึ่ง ถึงจะไปต่อได้ คิดว่าเป็นทุกประเทศ เคยถามผู้เขียนและสำนักพิมพ์ว่า มีคนฟินแลนด์ที่ทำหนังสือภาพเป็นอาชีพอย่างเดียวเลยเยอะมั้ย เขาตอบว่า จำนวนหนึ่ง แต่สำหรับเขาก็อยากให้มีมากกว่านี้ อยากให้มีเยอะกว่านี้”
ย้อนกลับมาที่สำนักพิมพ์ไทย และการพัฒนาหนังสือเด็กในไทย ในมุมคนทำหนังสือและสำนักพิมพ์ ก้อยยอมรับว่า ทำหนังสือแปลง่ายกว่า แต่ก็มีเป้าหมายที่อยากจะทำหนังสือเด็กแบบไทย แต่ตอนนี้เธอต้องใช้วิธีซื้อลิขสิทธิ์หนังสือภาพจากต่างประเทศมาแปล เพราะทำได้เลย ผ่านคัดสรรมาแล้ว และคำนวณต้นทุนได้ง่าย เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสำนักพิมพ์และเพื่อให้เด็กไทยได้มีหนังสือภาพที่เน้นความสนุก อ่านแล้วดี มีประโยชน์ สามารถอยู่เป็นเพื่อนได้ต่อไป
Writer
![Avatar photo](https://fkwp.mappamedia.co/wp-content/uploads/2024/11/67336-96x96.jpg)
ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล
คุณแม่ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยให้มีความสุขแบบกำลังพอดี และตัวเองก็แฮปปี้ได้ด้วย คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 14 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักเขียนและวาดนิทานเด็ก
illustrator
![Avatar photo](https://fkwp.mappamedia.co/wp-content/uploads/2024/09/cropped-S__256942097-96x96.jpg)
Arunnoon
มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด
Photographer
![Avatar photo](https://fkwp.mappamedia.co/wp-content/uploads/2024/12/cropped-S__11845639-96x96.jpg)
ชวณิช สุริวรรณ
อย่าซีเล็ง เดี๋ยวซู้หลิ่ง