เรื่องเล่าไร้กาลเวลา ภาษากลอนสี่ ชวนคุยครูชีวัน วิสาสะ ผู้สร้างชีวิตให้กับ ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ เจ้าห่านหน้าบูดที่โลดแล่นอยู่ในใจของเด็กไทยทุกยุค
เรื่องเล่าไร้กาลเวลา ภาษากลอนสี่ ชวนคุยครูชีวัน วิสาสะ ผู้สร้างชีวิตให้กับ ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ เจ้าห่านหน้าบูดที่โลดแล่นอยู่ในใจของเด็กไทยทุกยุค
‘อย่าลืมความเป็นเด็ก ไม่ว่าวันนี้เธอจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เติบโตมาพร้อมกับฉัน หรือว่า เธอเป็นเด็กตัวน้อยที่รอวันเบ่งบานในยุคสมัยนี้’
เสียงกระซิบแผ่วเบาที่ดังออกมาจากด้านในของนิทานเรื่อง ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ ผลงานการสร้างสรรค์ของ ครูชีวัน วิสาสะ นักออกแบบนิทานเด็กที่อยู่คู่สังคมไทยมากว่าสามสิบปี
“อย่าลืมเก็บนิทานเด็กเล่มโปรด เล่มไหนที่มีคุณค่าทางจิตใจ ควรเก็บเอาไว้ สามารถส่งต่อรุ่นสู่รุ่นได้ นิทานเด็กไม่มีคำว่าล้าสมัย เพราะภาษาที่ใช้ เป็นภาษาเด็ก ไม่ต้องใช้สำนวน ไม่มีการประดิษฐ์ มีเพียงการใช้วิธีจัดวางถ้อยคำให้พอดี” ครูชีวันขยายความจากเสียงกระซิบ
ประโยคที่เราได้ยิน แท้จริงคือเสียงอีเล้งเค้งโค้งที่ครั้งหนึ่งเราเคยถามครูชีวันว่า หากอีเล้งเค้งโค้งพูดได้ เขาอยากจะบอกอะไร
เล้งชื่นใจที่ครองใจเด็กๆ ได้ และยังอยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน จึงส่งเสียงออกไปว่า อีเล้งเค้งโค้ง
“แต่รู้มั้ย ที่จริงแล้ว เล้งมีความดาร์กอยู่ มีมุมมืดซ่อนอยู่” ครูชีวันบอกกับเรา
เล้งตกใจ ครูบอกทำไม จึงตะโกนออกไปว่า “อีเล้งเค้งโค้ง”
“อีเล้งเค้งโค้งเกือบจะไม่ได้ตีพิมพ์อีกแล้วนะ ยังดีที่ได้สำนักพิมพ์เล็กๆ อย่าง Barefoot Banana พิมพ์เล่มแรกอีกครั้ง ส่วนเล่มอื่นๆ อย่าง ‘ปีศาจปากกว้าง’ และ ‘งูจอมตะกละ’ ก็ได้สำนักพิมพ์ ขวัญเจ้าเอย มารับไปตีพิมพ์”
เมื่อเล้งได้ยิน ก็รู้สึกใจหาย ครูชีวันปลอบใจ ครูยังทำหน้าที่อยู่ตรงนี้ต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง อีเล้งเค้งโค้งโล่งใจ จึงไม่ส่งเสียงอะไรออกมา
“โอ้โห! นี่เหรอโลกกลมกลมของอีเล้งเค้งโค้ง” (และเรื่องเล่าของครูด้วย) เรารู้สึกว่าน่าสนใจ จึงเผลอส่งเสียงออกไปเช่นกัน ทว่าเรื่องราวความน่าสนใจแบบกลมกลมนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด
Mappa อยากชวนคุณๆ ที่เติบโตมาพร้อมกับอีเล้งเค้งโค้ง และคุณผู้อ่านที่เริ่มสนใจอีเล้งเค้งโค้ง พร้อมผลงานชิ้นอื่นๆ ของครูชีวัน มาร่วมล้อมวงอ่านโลกกลมกลมของ (วงการ) นิทานเด็กนี้ไปด้วยกัน
จากนครปฐม สู่ ‘แพรวเพื่อนเด็ก’
“จุดเริ่มต้นของอาชีพนักเขียนและนักวาดนิทานเด็กของครูชีวันอยู่ที่ไหนหรือคะ” เราอยากชวนครูชีวันย้อนเวลา
“ครูเป็นคนที่ชอบวาดรูป เลยเรียนเอกศิลปศึกษา วิชาโทภาษาไทย หลักสูตร ปก.ศ. สูง (ประกาศนียบัตรทางศึกษาชั้นสูง) เทียบแล้วคือ อนุปริญญาของวิทยาลัยครูนครปฐม ระหว่างเรียนก็รับจ้างทำงานเขียนและวาดให้กับนักศึกษาคณะอื่นๆ บรรณารักษ์บ้าง เอกอนุบาลบ้าง นี่คงเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ” ครูหมุนนาฬิกาย้อนเวลากลับไปในวัยหนุ่ม
“จากนั้นก็สอบบรรจุครู สอนได้สองปี ก็ไปเรียนต่อเพื่อให้ได้วุฒิปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ คณะเดิม เอกเดิม วิชาโทการผลิตหนังสือ ทำให้ครูรู้เรื่องเกี่ยวกับการทำหนังสือทุกด้าน ทั้งการวาด การเขียน การบรรณาธิการกิจ”
ระหว่างเรียนปริญญาโท โลกของนิทานเด็กได้เปิดประตูต้อนรับนักเขียนวาดนิทานคนใหม่อย่างครูชีวัน ทำให้ได้มีโอกาสรู้จักกับสำนักพิมพ์มากมาย ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือนิทานออกมาบ้าง แต่ไม่ใช่อีเล้งเค้งโค้งที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2534
“ครูเสนอสำนักพิมพ์ไป แต่เขาบอกว่า ก็ชอบนะ แต่ไม่พิมพ์” ครูยังคงหัวเราะ และเขาคนนั้นที่ครูชีวันเอ่ยถึงก็คือ ‘อาจารย์วิริยะ สิริสิงห’ เจ้าของสำนักพิมพ์ชมรมเด็ก ผู้เป็นที่เคารพรักของครูชีวัน ซึ่งปัจจุบันได้ล่วงลับไปแล้ว
ครูชีวันเล่าต่อว่า “ครูเองก็เข้าใจ อาจเป็นแนวใหม่ที่ไม่มีใครเข้าใจ น่าจะมาเร็วไปหน่อย (หัวเราะ) สามสิบกว่าปีที่แล้ว คนในวงการนิทานจะรู้เลยว่า แบบนี้ฉีกออกมามาก ทั้งการเล่าเรื่อง ใช้คำและภาพ เพราะปกติจะทำนิทานสอนคุณธรรมและพฤติกรรมเด็ก” สิ่งที่ครูเล่ามาเหมือนว่าจะเจอทางตัน
“ท้ายสุดแล้ว ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ ได้ตีพิมพ์กับทาง ‘แพรวเพื่อนเด็ก’ สำนักพิมพ์ก่อตั้งใหม่ในเครืออัมรินทร์ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับทางสำนักพิมพ์ได้เชิญ อาจารย์ทาดาชิ มัตสุอิ (Tadashi Matsui) มาให้ความรู้และแนวคิดเรื่องนิทานภาพยุคใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นเมื่ออีเล้งเค้งโค้งเป็นแนวนิทานภาพที่ตรงกับทางสำนักพิมพ์ จึงได้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี 2537 ใช้เวลาตั้ง 3 ปี อีเล้งเค้งโค้งจึงออกสู่สายตาเด็กๆ”
ความลับของอีเล้งเค้งโค้ง
ได้เวลาห่านเล้งปรากฏกาย เราถามถึงที่มาที่ไป จนรู้ว่า เจ้าห่านหน้าบึ้งตัวนี้ มาจากโจทย์ที่เคยได้รับตอนทำเวิร์กชอปกับอาจารย์ แอร์นส์ เอ. เอ็กเคอร์ นักเขียนนิทานเด็กชาวออสเตรียที่อยากให้เชื่อมโยงรูปนกกับสิ่งที่ประทับใจ
“ครูได้เชื่อมโยงไปถึงสัตว์เลี้ยงตอนเป็นเด็ก ที่บ้านเคยเลี้ยงห่าน มันชอบส่งเสียงดัง เลยสร้างขึ้นมาให้เป็นเจ้าห่านที่ชอบส่งเสียงดัง แต่หากออกไปทางขี้โวยวาย น่าจะดูลบไปหน่อย เลยส่งเสียงเป็นเพลงแทน และมาเชื่อมกับความชอบฟังเพลง เพลงแทนความรู้สึกที่หลากหลายของคน ไม่ว่าจะสุขใจหรือตกใจก็ส่งเสียงเป็นเพลง จึงดูซอฟท์ลง จากนั้นก็สร้างเนื้อเรื่องขึ้นมา” ครูเล่าจากความทรงจำที่ชัดเจน
เนื้อเรื่องที่ครูสร้าง ล้วนมาจากประสบการณ์ตรงและสิ่งที่ครูพบเจอระหว่างทาง อาศัยการหยิบความรู้สึกที่ค้างคาอยู่ในใจ มาสะท้อนเป็นเรื่องราวที่สอดแทรกนัยอยู่ตลอดทั้งเล่ม
“หากวิเคราะห์กันจริงๆ อีเล้งเค้งโค้งเป็นเรื่องดาร์ก มีด้านมืดแทรกอยู่ สังเกตว่า เนื้อเรื่องจะเริ่มต้นที่ความสุข อยู่กับบ้าน แต่ห่านตัวนี้ก็นั่งอยู่บนชิงช้าที่กำลังแกว่งไกว ดูอย่างไรก็ไม่มั่นคง ลองคิดต่อดูสิ (ยิ้ม) แต่แล้วเกือบทั้งเล่มก็แทบจะไม่มีเรื่องความสุข ตั้งแต่เข้านั่งรถอึดอัด เข้าเมืองใหญ่เจอคนเยอะ ซ้ายขวาเวียนหัว แล้วยังมาถูกลิงขโมยกล้อง ตกใจ แล้วก็กลับบ้านดีกว่า เรื่องนี้ไม่มีความสุขนะ(หัวเราะ) แต่เห็นความสุขได้จากที่บ้าน จากหน้าแรกและหน้าสุดท้าย” ครูกางหนังสืออีเล้งเค้งโค้งแล้วอธิบายไปทีละจุด
“แต่เด็กๆ อาจจะนึกไม่ถึง รู้แค่ว่า สนุกไปกับการส่งเสียงอีเล้งเค้งโค้ง ดีใจก็ส่งเสียงอย่างหนึ่ง เสียใจก็ส่งเสียงอ่อยลง ตกใจกลัวก็ตะโกน เพื่อให้เด็กได้ปลดปล่อย ได้ตะโกนออกมาอย่างสนุกสนาน” ครูเสริมประเด็น
เราเปิดหนังสือเล่มนี้ทีละหน้า และรู้สึกว่า เสียงจากห่าน เสียงที่เด็กๆ ตะโกนออกมา หากมองให้ลึกลงไปจะพบว่า อาจเป็นอีกเสียงสะท้อนสังคม ที่ได้เห็นจากรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในภาพวาดของครูชีวัน
“อย่างหน้าลิงขโมยกล้อง จะมีหมูและหมาอยู่ข้างถนน จริงๆ แล้วมันสอดแทรกการเผยมุมมืดของสังคม และสะท้อนสังคมออกมา” ครูอธิบาย และถามกลับมาว่า “หมูนอน หมาทำอะไร” เราตอบว่า “หมานอนกอดขวดเหล้า ซึ่งเชื่อมโยงได้ถึงสำนวนไทยว่า เมาเหมือนหมูเหมือนหมา และอาจมองได้ไปจนถึงว่า เรื่องการดื่มเหล้าของคนไทย”
“นี่คือการอ่านภาพแล้วนึกเชื่อมโยงกับความเป็นจริง” ครูขยายความ
เรื่องเล่าแบบไร้กาลเวลา มีที่มาจากการใช้ภาษาแบบกลอนสี่ และภาพวาดที่มีอิสระ
ถึงแม้ว่า อีเล้งเค้งจะซ่อนความลับที่เป็นนัยอยู่ในนิทานเด็ก แต่ถึงอย่างนั้นห่านเล้งตัวนี้ ก็สามารถครองใจเด็กๆ มาได้นานกว่าสามสิบปี นั่นแสดงว่า ต้องมีความลับอะไรซ่อนเอาไว้อีกแน่ๆ
“ครูคิดว่าเพราะวิธีเล่าเรื่องและการใช้ภาษา” ครูชีวันเฉลย (ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่ความลับ)
“หนังสือภาพมีสามอย่างที่สำคัญคือ หนึ่ง เนื้อหาว่าด้วยเรื่องอะไร สอง ภาษาว่าด้วยเรื่องอะไร ด้วยการใช้วิธีการแบบไหน และ สามภาพสื่อสารอย่างไร ออกแบบตัวละครแบบไหน” ครูชีวันอธิบาย
สำหรับครูชีวันแล้ว นิทานจะสนุกจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้ภาษา ครูเล่าต่อว่า ‘อีเล้งเค้งโค้ง’ จะใช้เป็นกลอนสี่ ตัวอย่าง มีห่านตัวหนึ่ง หน้าบึ้งหน้าบูด.. ซึ่งเป็นฉันทลักษณ์ของครูชีวันเอง ไม่ใช่ฉันทลักษณ์แบบดั้งเดิม โดยให้เหตุผลว่า เพราะพอดีปากพอดีคำ สำหรับธรรมชาติในการใช้ภาษาไทยของคนไทย
“คนไทยส่วนใหญ่จะพูดด้วยคำคล้องจองสี่พยางค์ เช่น ไปไหนมาไหน กินข้าวกินปลา ล้างถ้วยล้างชาม ซึ่งจะตรงกับจังหวะของดนตรี มีทำนองหนึ่งห้อง” ครูอ่านออกเสียงช้าๆ เพื่อให้เราเข้าใจ
ครูบอกว่า ที่ใช้กลอนสี่กับอีเล้งเค้งโค้ง เพราะจะช่วยให้เด็กสนใจมากขึ้น อ่านออกเสียงได้ง่ายขึ้น ฟังก็ง่าย เพราะครูได้เลือกใช้คำศัพท์ที่เข้าใจง่ายและมีความหมายจริงมาร้อยเป็นกลอน โดยเลี่ยงความกลอนพาไป คือลงแค่เสียง แต่ไม่มีความหมาย เด็กๆ ที่ฟัง ก็จะเติมคำศัพท์ที่ถูกต้องเก็บใส่คลังส่วนตัวได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย
ความกลมกล่อมของภาพวาดและภาษา
“ภาษาที่กลมกล่อมต้องสอดคล้องไปกับภาพวาดด้วยไหมคะ” เราอยากรู้ว่าภาพทำงานกับเด็กๆ อย่างไร
“ใช่แล้ว ภาพมีทั้งออกแบบตามเนื้อเรื่อง แต่จะมีบางส่วนของภาพวาดเล่าเรื่องนอกเหนือจากตัวหนังสือ อันนั้นจะเป็นส่วนที่สนุกกว่าเรื่อง สนุกกว่าตัวหนังสือ ตรงนี้นี่เองที่จะเป็นการเปิดความคิด เปิดสมอง เปิดจินตนาการของเด็กให้มากขึ้น มากไปกว่าตัวหนังสือที่มีเพียงไม่กี่คำ” ครูตอบพร้อมยกตัวอย่างเรื่อง ‘อ่านได้ เสียงดัง’ นิทานภาพที่เน้นให้เด็กส่งเสียงอ่านภาพเอง
“เด็กที่เริ่มอ่านออก ก็จะอวดด้วยความภาคภูมิใจว่า เขาก็จะอ่านเสียงดัง เพราะเขาอ่านได้ อย่างครูเคยเจอมาว่า เด็กป.3, ป.4 ยังอ่านหนังสือไม่ออก แต่พอได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เขาอ่านภาพได้ ออกเสียงได้ จากนั้นครูก็ให้กำลังใจว่า อ่านภาพก็คือ การอ่านแล้ว ก็จะทำให้เด็กๆ อยากอ่านและอ่านได้เอง” ครูชีวันเสริม
ครูยังบอกต่ออีกว่า
“การเรียนรู้ภาษา เกิดจากเห็นก่อน แล้วจดจำ เข้าใจเรื่องหลักการสะกดคำ แล้วจึงอ่านได้ เมื่อโตขึ้น ขั้นตอนที่สองจะถูกลบออกไป ก่อนย้อนกลับไปขั้นตอนที่หนึ่งใหม่อีกครั้ง ด้วยการอ่านจากความจำ โดยไม่ต้องสะกดแล้ว”
ออ อา นอ ไม้เอก ‘อ่าน’ พอ เอือ ไม้โท ‘เพื่อ’
โลกกลมกลมของนิทาน หมุนมาจนบรรจบกับที่คำถามว่า ทำไมต้องอ่านนิทานให้ลูกฟัง ครูตอบด้วยการยกตัวอย่างนิทานหนึ่งเรื่องขึ้นมา จากข้อมูลที่พบว่า ยังมีครอบครัวไทยอีกจำนวนมากที่ไม่มีหนังสือ
“มันมีจริงๆ นะบ้านที่ไม่มีหนังสือภาพ เล่มนี้จึงเกิดขึ้น ชื่อว่า ‘อ่าน…เพื่อ’ (หัวเราะ) แล้วหน้าต่อไปมีคำว่า ‘ลูก’ เมื่อพ่อแม่อ่านหนังสือเล่มนี้ให้ลูกฟัง ลูกจะเกิดการต่อคำ เช่น พ่อหนูชอบอ่านหนังสือให้ลูก พ่อหนูอ่านดัง จี๊ดจี๊ด ลูกก็จะต่อคำว่า จี๊ดจี๊ด ลูกก็จะมีปฏิกิริยา ผู้ใหญ่ก็จะเริ่มเข้าใจ ว่าเด็กคิดได้นะ ฟังแล้วก็คิด แล้วก็ตอบโต้ พอตอนจบ พ่ออ่านหนังสือให้ลูกฟัง ลูกมีความสุขจัง และเป็นเด็กดี ขมวดแบบกระชับเลย สั้นๆ เข้าใจง่าย พออ่านให้เด็กฟัง เด็กมีปฏิกิริยา ก็เพิ่มความมั่นใจ เกิดเป็นความภูมิใจ จากนั้นก็นำไปสู่หนังสือเล่มอื่นๆ ปูพื้นฐานไปสู่หนังสือเล่มอื่นๆ ต่อไปได้
“หรือหนังสือเรื่อง ‘อีเล้งเค้งโค้ง เกษตรสุขสันต์ ขุนคันคาก’ ว่าด้วยเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ และลดการใช้พื้นที่เกษตรเคมี ซึ่งใช้เป็นอุบาย หนังสือเล่มนี้ผู้ใหญ่ต้องอ่านให้เด็กฟัง คือเรื่องราวบอกเด็ก แต่จริงๆ แล้วต้องการบอกผู้ใหญ่ พอผู้ใหญ่ได้อ่าน ก็คือ การสอนผู้ใหญ่ และเราต้องเลือกใช้คำ และตรรกะ ที่ไม่ต้องพูดเยอะ”
ครูชีวัน วิสาสะ อยากเล่า… อีกมุม (มอง) หนึ่งในโลกของหนังสือนิทานสำหรับเด็ก
ครูเล่าว่า เมื่อสมัยสามสิบปีก่อน นิทานจะเป็นแนวสอนที่ออกแนวจิกกัด จนมาถึงช่วงสักสิบกว่าปีก่อน มีหนังสือรุ่นใหม่และเริ่มมีหนังสือแปลมาบ้างแล้ว จนในปัจจุบันมีหนังสือแปลออกมาครองตลาดมากขึ้น
อย่าง นิทานเด็กจากญี่ปุ่น จะเริ่มปูฐานการอ่านให้เด็กด้วยหนังสือภาพตั้งแต่อายุ 0,1,2 ในระดับที่ผู้ใหญ่สนุก และเด็กก็รับได้ จากนั้นก็ทำนิทานสำหรับเด็กวัยที่สำคัญ อย่างช่วงอนุบาล 3,4,5 สอดคล้องไปกับบริบทของชาวญี่ปุ่น รวมทั้งแนวคิดและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์
“สำนักพิมพ์ต่างประเทศเขาทำงานกันหนักมาก ด้วยวิธีการบรรณาธิการกิจตามบริบทของแต่ละประเทศ ในขณะที่บ้านเราใช้วิธีแข่งกันเลือกหนังสือมาแปล ไม่ค่อยสร้างนักเขียนของเราขึ้นมา ทั้งๆ ที่นักเขียนหนังสือเด็ก ไม่ใช่รุ่นเด็ก แต่นักเขียนไทยกลับถูกมองว่า เด็กๆ”
“กว่าจะได้หนังสือ กว่าจะได้นักเขียนขึ้นมาสักคน ไม่ได้หมายความว่าทำหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาแล้วจบ อาจจะไม่สำเร็จก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ล้มเหลว แต่มันจะทำให้วิธีคิดและมุมมองต่างๆ อยู่ในตัวนักเขียน แล้วศักยภาพนั้นจะติดตัวไปตลอด และเราก็จะได้หนังสือเล่มใหม่ๆ ขึ้นมาได้ในที่สุด” ครูชีวันบอกไว้
อนาคตวงการนิทานภาพของไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป หนังสือแปลจะมีจุดอิ่มตัวหรือไม่ ผลงานของนักทำนิทานเด็กของไทยจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้นหรือเปล่า คำถามเหล่านี้ ล้วนต้องใช้เวลา และผู้คนมากมายในวงการ ไปจนถึงแนวโน้มการผลักดันจากสังคมไทย
Writer
ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล
คุณแม่ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยให้มีความสุขแบบกำลังพอดี และตัวเองก็แฮปปี้ได้ด้วย คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 14 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักเขียนและวาดนิทานเด็ก
Photographer
ณัฐวุฒิ เตจา
illustrator
Arunnoon
มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด