ที่ผ่านมา พระพุทธศาสนาในโรงเรียนเหมือนเรียนพละด้วยการนั่งฟังทฤษฎี

ที่ผ่านมา พระพุทธศาสนาในโรงเรียนเหมือนเรียนพละด้วยการนั่งฟังทฤษฎี

  • การเรียนพระพุทธศาสนาในโรงเรียนแบบที่ผ่านมามันเหมือนกับการเรียนพละด้วยการนั่งฟังทฤษฎี”
  • ประโยคแรกจาก ‘พระอั๋น’ พระเอกวีร์ มหาญาโณ ต่อคำถามที่ผ่านมาว่า “ทำไมวิชาพระพุทธศาสนา ในห้องเรียนถึงต่อไม่ติดกับชีวิตจริง”
  • พอต่อไม่ติด แนวโน้มความไม่เข้าใจจึงมีอยู่สูง คำถามต่างๆ จึงตามมาและดังขึ้นเรื่อยๆ เช่น ทำไมเราต้องนับถือศาสนา, การมีศาสนาประจำชาติยังเป็นเรื่องสำคัญหรือไม่ กระทั่งคำถามว่าเพราะอะไรหลังจากประสูติ พระพุทธเจ้าถึงเดินได้ทันที 7 ก้าว ฯลฯ

“การเรียนพระพุทธศาสนาในโรงเรียนแบบที่ผ่านมามันเหมือนกับการเรียนพละด้วยการนั่งฟังทฤษฎี”

ประโยคแรกจาก ‘พระอั๋น’ พระเอกวีร์ มหาญาโณ ต่อคำถามที่ผ่านมาว่า “ทำไมวิชาพระพุทธศาสนาในห้องเรียนถึงต่อไม่ติดกับชีวิตจริง” 

พอต่อไม่ติด แนวโน้มความไม่เข้าใจจึงมีอยู่สูง คำถามต่างๆ จึงตามมาและดังขึ้นเรื่อยๆ เช่น ทำไมเราต้องนับถือศาสนา, การมีศาสนาประจำชาติยังเป็นเรื่องสำคัญหรือไม่ กระทั่งคำถามว่าเพราะอะไรหลังจากประสูติ พระพุทธเจ้าถึงเดินได้ทันที 7 ก้าว ฯลฯ 

mappa สนทนากับ ‘พระอั๋น’ พระเอกวีร์ มหาญาโณ ว่าด้วยความสงสัยต่างๆ เหล่านี้ 

ทำไมต้องเป็นพระอั๋น? 

1. พระสนใจเอาพุทธศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในห้องเรียน แล้วเปลี่ยนชื่อให้เรียบง่ายที่สุดว่า ‘วิชาชีวิต’

2. ก่อนบวช พระอั๋นเรียนกฎหมาย แต่เลือกเล่นดนตรีกลางคืนเป็นอาชีพ กลางวันทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน ก่อนจะเบนสายไปจับงานครีเอทีฟที่คลื่นวิทยุวัยรุ่นในสมัยนั้น จากนั้นไปเรียนต่อด้านการพัฒนาระหว่างประเทศที่ซีกโลกตะวันตก

“เรียนจบก็พบว่าแค่ความรู้มันใช้จริงไม่ได้  ไม่เชื่อในสิ่งที่เรียนว่าจะเปลี่ยนอะไรได้จริง เคว้ง เราก็เลยมาบวชฆ่าเวลาสัก 3 เดือนเผื่อความอ่อนแอน่าจะดีขึ้น แล้วพบว่าสิ่งที่ฝึกในพระพุทธศาสนาคือเรื่องการเข้าใจความเป็นมนุษย์” 

และ 3. พอส่งคำถามเรื่องการต่อไม่ติดของวิชาพระพุทธศาสนาไปล่วงหน้า พระอั๋นตอบกลับมาว่า 

“เราจะตอบเท่าที่เราพอจะทำได้นะ เราเองก็เป็นคนที่กำลังเรียนรู้เหมือนกัน”

พระอั๋นคิดว่าที่ผ่านมาการต่อไม่ติดของวิชาพระพุทธศาสนาเกิดจากอะไร 

โดยหลัก เราไม่ได้เรียนแค่เพื่อมีความรู้ แต่เรียนเพื่อช่วยให้ชีวิตดีขึ้น การมีความรู้อย่างเดียวไม่ได้ทำให้เราสามารถเข้าใจชีวิตได้ มันต้องนำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตจริง 

ไม่ใช่แค่ อนิจจัง ทุกขัง แปลว่าอย่างนั้นอย่างนี้ นี่เป็นการเข้าใจความหมายเฉยๆ ยังไม่ได้รู้ซึ้งถึงเนื้อหาเพราะเนื้อหาคือประสบการณ์ สิ่งที่เราเรียนๆ มาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความสนใจ แต่แค่นี้ยังไม่ได้ช่วยอะไรใครได้

เราไม่อยากให้รีบมองว่าพระพุทธศาสนาจะเข้ามาในบทบาทนี้ได้อย่างไร แต่อยากให้มองว่าคนเราต้องมีเครื่องมือที่ช่วยจัดการกับปัญหาชีวิตตัวเองได้ 

ยกตัวอย่าง ถ้าเด็กคนหนึ่ง พ่อตาย แล้ววันรุ่งขึ้นต้องไปโรงเรียน มันมีวิธีการจัดการแบบสังคมทั่วไปอยู่บ้าง เช่น จัดการเรื่องศพ จัดการเรื่องเงิน จัดการเรื่องบ้าน กฎหมายอย่างไร เรื่องสังคมต่างๆ นี่คือการจัดการกับสิ่งภายนอก เรารู้สึกว่ากระบวนการแบบที่สังคมมีอยู่อาจจะมีเครื่องมืออยู่แล้ว แต่อาจต้องเข้าถึงเด็กให้มากขึ้น 

ส่วนมิติเรื่องจิตใจเป็นอีกศาสตร์หนึ่งว่าเขาจะจัดการกับความรู้สึกอย่างไร รับมือกับการที่ต้องตื่นมาแล้วจะมีแรงบันดาลใจใช้ชีวิตอย่างไร เราไม่สามารถให้พระพุทธศาสนาแบบเดิมๆ ที่เรียนในโรงเรียน ทำหน้าที่นี้ได้เพราะมันทำไม่ได้ แล้วมิตินี้สำหรับโลกทุกวันนี้อาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่พระพุทธศาสนา เพราะความรู้พระพุทธศาสนาไม่ได้มีมาให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น มันเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ปลายทาง คำสอนในพระพุทธศาสนาพยายามจะพาเราไปไกลกว่าการมีชีวิตที่ดี แม้ชีวิตที่ดีก็ยังไม่ใช่คำตอบจริงๆ ของการสิ้นสุดปัญหา เพราะเราก็จะยังเวียนว่ายในทุกข์อยู่ ความลึกของความรู้พระพุทธศาสนาคือพาเราพ้นวัฏจักรการเวียนว่ายตายเกิด

แต่เวลามีปัญหาหรือทุกข์ต่างๆ ในชีวิต เราจะชอบนึกถึงพระหรือศาสนา?

เราถูกปลูกฝังให้คิดว่าคำตอบทั้งหมดพระรู้ดีที่สุด ซึ่งพระจำนวนมาก ถ้าไม่ได้ฝึกหรือไม่ได้ศึกษาจริงๆ ก็ไม่ได้รู้ดีไปกว่าเรา บางเรื่องโยมก็รู้ดีกว่าพระ ถ้าคนบวชแล้วไม่ได้เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้แบบพระพุทธศาสนาเขาก็ไม่ได้มีความรู้แบบพระพุทธศาสนาขึ้นมาได้ แก่นสำคัญของการบวชคือเข้ามาบวชแล้วมีครูที่สอนหรือไปเรียนในระบบที่จัดขึ้นมาแล้วมีประโยชน์  

แล้วพระอั๋นบวชเพราะว่าอะไร?

เพราะว่าไม่รู้ แต่คิดว่าศาสนาพุทธต้องมีอะไรดี อยู่มาตั้ง 2,600 กว่าปีแล้ว แถมยังมีคนเก่งๆ ในสังคมจำนวนมาก ที่เห็นเขาเถียงทุกเรื่องยกเว้นคำสอนนี้ เราก็คิดว่ามันคงจะมีอะไรช่วยเราได้เพราะตอนนั้นเรารู้สึกว่าเราห่วย ขี้หงุดหงิด ขี้น้อยใจ ขี้เบื่อ ขี้เกียจ จับจด ไม่จริงจัง อ่อนแอ ขี้อิจฉา เรารู้สึกว่าพวกนี้เป็นปัญหาในชีวิตมาตลอด ไม่รู้จะแก้ยังไง 

แล้วตอนนั้นมีเวลาว่างก็เลยลองไปบวชดูสักช่วงหนึ่งเผื่อจะดีขึ้น พอมาบวชแล้วได้รู้ว่าเป้าหมายของคนที่มาบวชมันเกินกว่าที่เราคิดไว้ เขาพูดถึงการดับทุกข์โดยสิ้นเชิง มันคืออะไร? การไม่กลับมาเกิดอีกหรือ? 

แล้วอะไรที่ทำให้บวชมาจนถึงทุกวันนี้ 

พอไปบวชแล้วเจออาจารย์ที่ยอดเยี่ยม ท่านพาฝึก การฝึกมันทำให้เราเกิดความเข้าใจกับตัวเองใหม่ว่าชีวิตจริงๆ มันไม่ใช่แบบที่เราเข้าใจ เราเคยคิดว่าเราเป็นเจ้าของตัวเอง เราเป็นคนคิดไอเดียนี้ เราฉลาด เราเก่งอย่างนู้นอย่างนี้ หลงในตัวเอง และสิ่งที่เราไม่ชอบเราก็ทุกข์กับมันมาก ปรากฏว่าพอไปเจอจริงๆ มันไม่ใช่ สิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหาเยอะๆ มาจากสิ่งที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา เราโดนความคิด โดนอารมณ์จำนวนมากควบคุมชีวิตเราอยู่ตลอดเวลา แล้วทุกคนก็ไม่เห็นสิ่งนี้เหมือนกัน 

ขนาดคนอย่างเรา สำมะเลเทเมา เล่นดนตรีกลางคืน ยังเข้าใจพระพุทธศาสนาได้บ้าง ซึ่งแค่นี้ก็ยังช่วยเราได้เยอะมาก เรารู้สึกว่ามันเจ๋ง แต่พระพุทธศาสนาแค่พีอาร์ไม่ดี มันไม่ใช่ของไม่ดี 

โดยเฉพาะตอนนี้รู้สึกว่าคนจำนวนมากต้องการสิ่งนี้ ต้องการเข้าใจตัวเองอย่างยิ่งเลย แล้วสิ่งที่เคยได้ยินมาตลอดว่าการเข้าใจตัวเองอย่างถึงที่สุดมีเฉพาะในพระพุทธศาสนา ทุกวันนี้เรารู้สึกว่าอาจจะใช่หรืออาจจะไม่ใช่ก็ได้ พระพุทธศาสนาอยู่คู่โลกมานานแล้ว และก็ถูกกลืนไปกับหลายสิ่งหลายอย่างในสังคมซึ่งอาจจะไม่เรียกว่าพระพุทธศาสนาแต่ว่ามันมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้กระบวนการภายในชีวิตของเรา เช่น การฝึกสติ การกลับมาอยู่กับการตื่นรู้ของตัวเอง พอไปอยู่ในศิลปะการต่อสู้ เขาก็เอาเรื่องศิลปะการต่อสู้มาเป็นส่วนหนึ่งของการภาวนา มันสามารถแตกแขนงไปได้อีก 

วิชาพระพุทธศาสนาที่เราเรียนมาตั้งแต่เด็กควรจะเป็นอย่างไร เป็นไปได้ไหมว่าเพราะวิชานี้ไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติใช้ในชีวิตจริง เลยทำให้คนรุ่นหลังตั้งคำถามกับศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ 

เรื่องชื่อวิชาอาจจะเหมาะกับยุคสมัยที่จะไม่บังคับว่าต้องเป็นชื่อนี้ เราไม่จำเป็นต้องไปกลัวว่าพระพุทธศาสนาจะหายไปเพราะส่วนตัวรู้สึกว่าศาสตร์ของพระพุทธศาสนาเป็นศาสตร์ที่คมคายที่สุดแล้ว คนที่นับถือพุทธจริงๆ ควรจะใจกว้าง เราว่าพระพุทธเจ้าคงสอนว่า “เธอไม่ต้องเรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธก็ได้นะแต่ขอให้เข้าใจแก่นของสิ่งที่ฉันสอน” 

การสอนพระพุทธศาสนาถ้ามันตอบโจทย์จริงๆ คนเรียนต้องไม่ทุกข์ ต้องรู้จักวิธีการทำให้ตัวเองไม่ทุกข์ ต้องเป็นผู้ที่เติบโตภายในเหมือนกินข้าวต้องอิ่ม แต่สิ่งที่เราเรียนในโรงเรียนตอนนี้ส่วนใหญ่คือการเรียนว่าในร้านมีเมนูอะไรบ้าง การเรียนพระพุทธศาสนาไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่เรียนตามหลักสูตรโรงเรียนตอนนี้ให้ตายก็ไม่นำไปสู่จุดของการมีชีวิตที่ไม่ทุกข์ มันยังไม่ใช่การเรียนแบบที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ เรียกว่าเป็นการทำความรู้จักมากกว่า รู้จักว่าประโยชน์ของการรู้จักพระพุทธเจ้าจะนำพาให้เราไปศึกษาท่านมากขึ้น

ถามว่ารู้หมดนี่จะเข้าใจชีวิตตัวเองมากขึ้นไหม ไม่เลย การเรียนพระพุทธศาสนาแบบเก่ามันทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ทางสังคมมากกว่าอุปกรณ์ทางจิตวิญญาณ ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ แต่ฟังก์ชั่นมันแค่นั้น ทำได้แต่แนะนำให้คนไทยรู้จักพระพุทธศาสนา เราไปคาดหวังให้คนหรือครูที่ไม่ได้เข้าใจพระพุทธศาสนาเชิงลึกพาเด็กๆ หลุดพ้นจากความทุกข์ไม่ได้ เราต้องเข้าใจว่าเขาก็ทำได้แค่นั้น

แล้ววิชาพระพุทธศาสนาในความคิดของพระอั๋น ควรจะเปลี่ยนและเป็นอย่างไร  

ถ้าสำหรับโรงเรียน น่าจะปรับเป็นวิชาทำความเข้าใจการเป็นมนุษย์ ซึ่งถ้าเข้าใจเรื่องนี้จริงๆ นั่นแหละความเป็นพระพุทธศาสนา แต่การเข้าใจความเป็นมนุษย์ในยุคนี้มันอาจจะหลอมรวมวิชาอื่นๆ เข้ามาด้วยซึ่งควรจะเป็นวิชาใหญ่ในระบบการศึกษา ไม่ควรเป็นวิชารอง ควรสำคัญกว่าเลข ฟิสิกส์ ชีวะด้วยซ้ำ เพราะทุกคนเป็นมนุษย์และทุกคนมีปัญหาชีวิตอันเนื่องมาจากความเป็นมนุษย์ เราไม่เข้าใจเวลาเราโกรธ เราเศร้า การติดอยู่ในความคิดวนลูปอยู่ตลอดเวลา เราจะออกจากลูปนี้ยังไง คำตอบพวกนี้อยู่ในคำสอนศาสนาเยอะ แต่ทุกวันนี้ก็ไปอยู่ในจิตวิทยา วิชาอื่นๆ หลายแขนงแทน

สุดท้ายก็กลับมาเรื่องของการฝึกภายในตัวเอง ฝึกเรื่องอารมณ์ ความคิด ฝึกสมาธิ ฝึกอยู่กับปัจจุบัน เข้าใจระบบที่ทำงานกับชีวิตเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ในคำสอนพระพุทธศาสนา แต่คำพูดมันไม่เชื่อมโยงกับยุคนี้คนก็เลยลิงค์ไม่เจอ 

ถ้าจะเริ่มลิงค์ตั้งแต่เด็กเล็ก ป.1 ป.2  ควรจะลิงค์หรือฝึกอย่างไร 

ทุกคนควรจะฝึก ยิ่งเด็กฝึกยิ่งดี แต่ว่าคนสอนก็ต้องเข้าใจว่าจะสอนอะไรแค่ไหน เช่น

ทำอย่างไรให้เด็กไม่เป็นคนขี้โกหก? คิดว่าตัวนี้เป็นวิชาพระพุทธศาสนาได้ไหม? การฝึกให้เด็กคนหนึ่งมีจิตใจเมตตาเรายึดตัวนี้เป็นแก่นก็ได้ ไม่ต้องไปรู้หรอกว่าประสูติแล้วเดินกี่ก้าว แต่ทำยังไงให้เด็กปฏิบัติได้จริง ทำยังไงก็ได้เมื่อเด็กเห็นคนกำลังลำบากแล้วรู้สึกว่าการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นเรื่องที่ควรทำ การเห็นสัตว์จะโดนฆ่าแล้วเด็กรู้สึกว่าไม่ถูกต้อง ทำยังไงให้ความรู้สึกแบบนี้อยู่ในใจคนเรา ปลูกฝังตั้งแต่เด็กยิ่งง่าย 

สิ่งนี้ไม่จำเป็นต้องเรียกว่าพระพุทธศาสนาก็ได้ ศาสตร์แห่งความเป็นมนุษย์ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ขโมยของ และคนสอนต้องเข้าใจว่าทำไมถึงขโมย มันเกิดอะไรขึ้นในใจของคนคนหนึ่งที่เห็นของที่ตัวเองไม่มีแล้วอยากได้ สิ่งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ตื้นนะ แต่ว่ามันฝึกได้และควรฝึกมากกว่าไปรณรงค์ว่าทุกคนต้องมีศีล 5 แต่ไม่บอกว่าทำยังไง

เราจะสอนศีล 5 อย่างข้อ 3 (กาเมสุมิจฉาจาราฯ) ให้เด็กๆ อย่างไร

เราต้องดูว่ามันมีข้อเสียอย่างไรสำหรับเด็ก การที่พ่อแม่อยู่ด้วยกันดีไหม ชอบความอบอุ่นในบ้านไหม ชอบไหมเวลาพ่อแม่ทะเลาะกัน พ่อแม่ทะเลาะกันด้วยเรื่องอะไร เรื่องการประพฤติผิดกับคำมั่นสัญญาต่อกัน 

แล้วข้อ 4 มุสาวาทาฯ การโกหกจะสอนอย่างไร

คนที่โกหกคือคนที่หนีความจริงของตัวเอง เด็กทุกคนก็เคยโกหกทั้งนั้นแหละ แล้วมันมีไหมวิชาที่สอนให้เด็กไม่โกหก สำคัญนะ เพราะเรื่องพวกนี้เป็นรากฐานของการโตขึ้นเป็นคนที่ดีหรือไม่ดีในสังคม

พระพุทธศาสนามีความโดดเด่นอย่างหนึ่งคือทุกอย่างมันสอดคล้องกันไปหมด ไม่มีอะไรขัดแย้งกันเลย ศีล 5 คือรากฐานของคนโตขึ้นไปแล้วมีคุณภาพ สังคมที่ดีเกิดขึ้นจากคนที่มีหน้าที่เหล่านี้ 

ข้อสุดท้ายข้อ 5 งดดื่มสุรา 

ข้อสุดท้ายจริงๆ คือการทำอย่างไรให้คุณมีศักยภาพที่จะทำ 4 ข้อแรกได้ตลอดเวลาโดยไม่ถูก contaminate โดยสารเสพติดอื่นๆ บางคนจริงจังมากว่าดื่มไวน์แก้วหนึ่งก็ไม่ได้ ทั้งที่ศาสนาอื่นยังดื่มเพื่อกระตุ้นหัวใจเลย เขาก็จะอ้างแบบนี้ จริงๆ พระพุทธเจ้าเน้นว่าสิ่งใดก็ตามที่ทำให้สูญเสียสติสัมปชัญญะ สิ่งเหล่านั้นควรละ

เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่ไม่ดื่มเหล้า ยาบางอย่างดมเอาก็เมา ฉีดเอาก็มึน เราฝึกที่จะไม่ยุ่งกับมันได้หรือเปล่า การกินไวน์กินอะไรนิดหน่อยแต่ไม่ถึงกับเมาดื่มแค่กระชุ่มกระชวย จริงๆ ก็ไม่ได้ซีเรียสอะไรขนาดนั้น ประเด็นที่สำคัญกว่าเหล้าคือสติของคุณ 

สมมุติว่าถ้าถามว่าสอนทั้งหมดนี้ มันคือวิชาพระพุทธศาสนาหรือเปล่าถ้าไม่พูดคำว่าพระพุทธเจ้าเลย แต่สังคมต้องตีความใหม่ว่าจะสอนสิ่งที่ท่านสอนหรือจะสอนเรื่องราวของท่าน

การทำสิ่งที่ลึกให้เป็นสิ่งที่ตื้นก็ถือว่าเป็นการเสื่อมเสีย ทุกวันนี้พระพุทธศาสนาไม่ได้มีค่าเพราะเรียนแบบเดิมๆ แล้วไม่มีประโยชน์อะไร ต้องกลับไปถามว่าสิ่งที่เรียนมาแบบนั้นมัน represent หรือเป็นตัวแทนพระพุทธศาสนาจริงๆ ไหม อย่าลืมประเด็นนี้ ขอให้ตั้งคำถามว่า หรือว่าสิ่งที่เราเรียนมันยังไม่ใช่ แล้วค่อยไปสังเกตว่าจริงๆ แล้วพระพุทธศาสนาต้องการจะสอนอะไร 

เราจะวัดอย่างไรว่าเราเข้าใจหรือไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา และจะวัดอย่างไรว่าสิ่งนี้คือพระพุทธศาสนาจริงๆ 

เราเอากรอบคำสอนบางอันที่พระพุทธเจ้าสอน สมมุติเรื่องโอวาทปาติโมกข์ พระพุทธเจ้าบอกว่าจริงๆ แก่นของพระพุทธศาสนามี 3 ทาง คือ การไม่ทำชั่ว (อกุศล) การทำดี (กุศล) ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส สิ่งนี้คือกรอบกว้างที่สุดของพระพุทธศาสนา ก็ต้องถามต่อว่ากรอบที่เราเรียนแบบเดิมๆ ทำให้เราเป็นคนดีขึ้นหรือเปล่า ละความชั่วหรือไม่ แล้วจิตใจของเราบริสุทธิ์หรือเปล่า 

ความเป็นคนดี จริงๆ แล้วคืออะไร 

คนทุกวันนี้ชอบที่จะปฏิเสธว่าเป็นคนดีด้วยซ้ำ เป็นคนดีแล้วมันเหนื่อย สังคมทุกวันนี้ทำดีมาตลอดชีวิตแต่ทำชั่วแค่ครั้งเดียวกลายเป็นคนชั่วไปเลย มากกว่านั้นทุกคนก็แสวงหาขุดคุ้ยความชั่วของคนที่ไม่ชอบขึ้นมาประจาน เพราะฉะนั้นสังคมเราจะไม่เหลือคนดีเลย ไม่มีใครไม่เคยทำไม่ดี ถ้าเราอยู่กับการกระทำแบบนี้ เรากำลังฆ่าตัวตายหมู่โดยที่เราไม่รู้ตัว ทั้งที่ในพระพุทธศาสนา การเป็นคนดี มีใจเป็นกุศลคือรากฐานนำไปสู่จิตที่บริสุทธิ์ซึ่งเป็นเป้าหมาย 

ความเป็นคนดีมันอาจจะไม่ได้มีมาตรฐานเดียวแล้ว บางคนคิดว่าสิ่งนี้ดีบางคนบอกไม่ดีนะ เวลาเราอยู่กับตัวเองเราควรรู้ว่าสิ่งที่เราทำ จริงๆ แล้วเจตนารมณ์ของเรามันดีหรือชั่ว บางทีมันเป็นทิศทางทางใจของเราเองแต่ในขณะเดียวกันเราต้องดูบริบท ดูความสัมพันธ์ประกอบกันด้วย ถ้าสิ่งที่เราคิดว่าดีแต่มันทำให้คนอื่นทุกข์มากๆ อาจจะเรียกว่าชั่วก็ได้นะ มันก็เลยไม่แน่ไม่นอนเสมอไป 

ปัญหาอยู่ที่เราตีความคำว่า ‘ดี’ ไม่เหมือนกัน?

จริงๆ แล้วหลายอย่างมันไม่มีบทสรุป แต่บางอย่างที่ดีแน่ๆ ก็มี ความห่วยของเราเองคือเราไม่แม่นคำสอนของพระพุทธศาสนาเชิงตำรา ถ้าไปถามคนที่เขาแม่นตำราที่เรียนปริยัติมา จริงๆ แล้วกรอบของพระพุทธศาสนามีวิธีการอธิบายที่รัดกุมกว่านี้ 

ทุกวันนี้สังคมตีความทุกอย่าง จนไม่สังเกตความรู้สึกของตัวเองจริงๆ เถียงกันในนามของความดีแต่เถียงกันเพียงเพราะว่าคุณโกรธคนนี้ก็มี แม้คุณว่าดีแต่เจตนาของอารมณ์ในใจคุณมันไม่ดีก็มี 

เช่น การต่อสู้เพื่อความถูกต้องแต่ระหว่างการต่อสู้ บางคนอาจต่อสู้ด้วยความเกลียดชังล้วนๆ ก็ได้ ก็เหมือนเอาความดีมา justified อกุศลในใจของตัวเองได้เหมือนกัน การคิดว่าเราทำดีแล้วเราสามารถจะด่าอีกฝ่ายว่าชั่วร้ายด้วยอารมณ์แค่ไหนก็ได้เพราะฉันทำในนามของความดี อันนี้ก็เป็นการ abuse ความดีได้เหมือนกัน เพราะว่ามันเป็นความดีเชิงความเห็น ความเห็นมันไม่สามารถเอาแน่เอานอนได้ 

แล้วการทำจิตใจให้บริสุทธิ์คืออะไร ทำได้อย่างไร 

คือการทำให้เห็นว่าปกติจิตใจไม่บริสุทธิ์เลย หมายความว่าเรายึดติดกับสิ่งที่เราไม่เคยตั้งคำถามเลยว่ามันจริงหรือไม่จริง เช่น ตอนที่เราโกธรมากๆ เราเป็นไปกับสิ่งนั้นทั้งเนื้อทั้งตัวจนเราไม่สามารถมีศักยภาพที่จะหันกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า อารมณ์ที่เรารู้สึกตอนนี้มันจริงหรือเปล่า 

สมมุติเราไปดูหนังผี เรากลัว แล้วเราก็อยู่กับความรู้สึกนั้น แต่เราไม่ได้กลับมาสังเกตว่าเมื่อก่อนเราไม่กลัวแต่พอดูหนังเสร็จเรากลัว ตกลงความกลัวมันจริงหรือเปล่า สรุปแล้วเราต้องกลัวไหม เราสามารถที่จะไม่กลัวได้ไหม ถ้าเราเห็นความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์หนาๆ พวกนี้สักครั้งหนึ่งหรือเห็นบ่อยๆ เราจะเริ่มจับทางแล้วว่าจริงๆ แล้วชีวิตเราเหมือนอยู่ในบับเบิลของอารมณ์อยู่ตลอดเวลา อยู่กับความคิดบางอย่างตลอดเวลา เป็น framework บางอย่างที่เป็นระบบอัตโนมัติ 

การทำจิตใจให้บริสุทธิ์คือการออกมาจากระบบอัตโนมัติตรงนี้อย่างสิ้นเชิง วิธีการหลักคือการฝึกสติ

เราสามารถตั้งคำถามว่า “ทำไมเราต้องมีศาสนา” ได้ไหม

ตั้งได้ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้บังคับทุกคนให้มาเป็นชาวพุทธ ท่านบอกว่าอย่าเพิ่งเชื่อด้วยซ้ำ ท่านไม่ใช่คนที่จะไปบังคับให้คนมาเดินตามท่าน ถ้าคุณมีคำถามท่านก็จะช่วยให้คำถามของคุณคลี่คลายจนกระทั่งคุณรู้สึกว่ามันมีค่าและน่าเดินตาม 

แล้วการเป็นศาสนาประจำชาติสำคัญหรือเปล่า 

มีประโยชน์ได้แล้วก็มีโทษได้ด้วย ในยุคที่คนอาจจะไม่ตั้งคำถามมากมันอาจจะทำให้คนคล้อยตามโดยไม่ตั้งคำถาม

ถ้าพาให้คนคล้อยตามไปสู่สิ่งที่ดีแล้วรู้ทางจริงๆ ก็มีประโยชน์ แต่ในยุคที่คนตั้งคำถามเยอะๆ แล้วคนที่พาเดินทางรับไม่ได้กับการตั้งคำถาม ซ้ำกดขี่ ก็อาจจะเป็นโทษมากๆ ก็ได้ เพราะมันผิดวิสัยของการที่จะให้คนมีความเชื่อใจ 

ในยุคโบราณ หลายที่พระพุทธศาสนารุ่งเรือง authority สูงสุดของสังคมไม่ได้ปฏิเสธนะ แต่ที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองได้เพราะ authority ใหญ่ของสังคมนั้นเห็นประโยชน์และส่งเสริม พอส่งเสริมแล้วความสามารถในการขยายมันก็ไปได้ง่าย แต่ถ้าสังคมบังคับให้คนต้องมาเป็นชาวพุทธก็อาจจะเกิดการต่อต้านได้ เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้บังคับให้เชื่อแต่เอื้อเฟื้อให้คนได้รู้จักมันมากขึ้น แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คนมีคำถาม คุณควรจะตอบเขาแบบมนุษย์ ไม่ใช่มองเขาเป็นเครื่องจักรหรือเป็นตัวชี้วัดบางอย่างว่าเรารุ่งเรืองหรือไม่รุ่งเรือง 

ถ้าเด็กคนหนึ่งเรียนพระพุทธศาสนามาแล้วเกิดคำถามว่า “ทำไมพระพุทธเจ้าเกิดมาแล้วเดินได้ 7 ก้าว” เราจะตอบเด็กว่าอย่างไร

ท่านเดินกี่ก้าวก็เรื่องของท่าน ท่านไม่ได้สอนว่าทุกคนต้องเรียนรู้ว่าท่านเดินได้กี่ก้าวนะ สิ่งนี้คือ dilemma ความย้อนแย้งของคนยุคนี้ เวลาเราตัดสินอะไร เราเอาสิ่งที่เราไม่ชอบใจเกี่ยวกับสิ่งนั้นมาตัดสินทั้งหมดของสิ่งนั้น คนเราทำแบบนี้เยอะมากจนไม่เหลืออะไรดีในสังคมเลย 

การเอาองค์ประกอบเล็กๆ ของสิ่งนั้นมาตีความรวมทั้งหมดว่างั้นฉันไม่เชื่อทั้งหมดนี้ เราก็ด่วนตีความเกินไป อย่าไปเอาเรื่องไม่ใช่เรื่องมาเป็นแก่น เราต้องมองให้ถูกว่าอะไรคือเรื่องประกอบรายล้อม อะไรเป็นสิ่งที่เป็นจริงตามคำสอน อะไรคือสิ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาตามประวัติศาสตร์ จริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่พระพุทธเจ้าเดินได้กี่ก้าว เกิดเมืองไหน เราต้องมีวิธีเช็คว่าเรื่องพวกนี้คือแก่นสารไหม ถ้าเราเข้าใจองค์ประกอบพวกนี้ทั้งหมดแล้ว แปลว่าเราเข้าใจธรรมะไหม ถ้าเราเข้าใจพระพุทธศาสนาที่เราเรียนในตำราเรียนทั้งหมดแล้วเรายังไม่เข้าใจธรรมะเลย เราต้องรู้เลยว่าสิ่งที่เรียนยังไม่ใช่คำสอนจริงๆ ของพระพุทธศาสนา แต่เป็นองค์ประกอบเรื่องราวของพระพุทธศาสนาเท่านั้น 

แล้วการสอนให้เด็กรับมือได้กับความไม่แน่นอน ควรสอนอย่างไร 

ควรสอนเด็กในมิติที่เขาเผชิญ เราไม่จำเป็นต้องไปสอนเขาว่าพระพุทธเจ้าสอนว่า… แต่เราสามารถสอนในสิ่งที่เขาเห็นได้ตลอดเวลา เช่น เขามีของเล่นอันหนึ่งแล้วมันพัง เราก็สอนเขาว่าเห็นไหมว่าถ้าเราทำไม่ดีกับมัน มันก็พังได้นะ ทุกสิ่งทุกอย่างมันพังได้ เปลี่ยนแปลงได้ เราสอนเขาด้วยหัวใจได้ไม่จำเป็นต้องไปท่อง ควรจะสอนเขาด้วยสิ่งที่เขาเจอ เด็กไม่จำเป็นต้องไปเอาความเข้าใจเชิงตรรกะ เขาควรจะได้รับการอธิบายว่าโลกรอบตัวเขาเป็นอย่างไร คนที่สอนก็ต้องเข้าใจจากประสบการณ์ของตัวเองมันถึงจะสามารถสอนประสบการณ์ให้กับเด็กได้  ไม่จำเป็นต้องสอนชีวิตให้ซับซ้อน 

อย่างเรื่องความตาย สอนตั้งแต่เด็กก็ได้ ถ้าเราไม่บอกเด็กว่ามีความตายในโลกใบนี้ แล้ววันหนึ่งเขาไปเจอกับมัน เขาก็เข้าใจไม่ได้เลย แต่เราสามารถพูดกับเขาเหมือนกับเป็นเรื่องปกติของชีวิตได้ 

ควรเปลี่ยนมุมมองว่าความตายเป็นเรื่องเศร้า น่ากลัว ห้ามเกิด คนที่เข้าใจวงจรของชีวิตจริงๆ จะเข้าใจว่าความตายไม่เศร้าก็ได้ ความตายเป็นการเดินทางครั้งต่อไป เป็นการเปลี่ยนแปลงตามปกติของจิต มันจะทำให้เราเข้าใจชีวิตเปลี่ยนไป  

ถ้าเด็กคนหนึ่งเข้าใจเรื่องนี้ตั้งแต่เล็กๆ เขาจะสัมพันธ์กับมิติภายในของเขาได้อย่างลึกซึ้ง

ถ้าปรับคำของพระพุทธศาสนามาเป็น ‘วิชาชีวิต 101’ จะเข้าถึงง่ายขึ้นไหม แล้วจะสอนอย่างไร 

ในระบบของการศึกษา เราคิดว่ามันต้องเปิดมิติของวิชาชีวิต ไม่ใช่แค่เรื่องของความรู้ทางการคิดวิเคราะห์ ซึ่งวิชานี้จริงๆ แล้วเป็นวิชาที่ใหญ่มาก เราไม่สามารถฝากความยิ่งใหญ่ของประเด็นนี้ไว้กับแค่ในวิชาพระพุทธศาสนาในระบบแบบเดิม เราคาดหวังมากเกินไปกับวิชาพระพุทธศาสนาตรงนั้น

แต่วิชาชีวิตนี้ต้องมีในโรงเรียน ซึ่งเป็นวิชาที่เข้าใจชีวิตแล้วก็ไม่จำเป็นต้องบังคับว่าการเข้าใจชีวิตต้องเข้าใจผ่านพุทธศาสนาเท่านั้น ยุคนี้มันกว้างมากเลย แต่การมีองค์ประกอบที่สัมพันธ์กับคำสอนในพระพุทธศาสนาช่วยให้มันชัดเจน มั่นคง เช่น การฝึกให้ตัวเองเป็นคนที่มีคุณภาพที่ดีในทางบวก เราอาจจะไม่จำเป็นต้องเรียกศีล 5 ว่าศีล 5 ก็ได้ แต่เราจะทำยังไงที่จะรักษาศีล 5 ให้เป็นจริง ที่พูดนี้ไม่ได้แปลว่าไม่ให้มีวิชาพุทธศาสนา แต่อย่าให้มันเป็นทั้งหมดของการพัฒนาด้านจิตใจของเด็ก

การฝึกให้เด็กๆ เข้าใจตัวเอง สำคัญแค่ไหน 

ควรสอนตั้งแต่เด็กๆ เลย เมื่อก่อนเด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่จำกัด แต่ยุคนี้เด็ก expose ต่อสื่อเหมือนที่ผู้ใหญ่ expose แล้วคุณจะให้เขาไม่มีเครื่องมือสำหรับเข้าใจโลกเลยหรือ คุณต้องมี framework ให้เขาเข้าใจและเข้าใจตัวเองว่าเขาจะสัมพันธ์กับโลกกว้างยังไง เขาจะสัมพันธ์กับเพื่อนต่างชาติ ต่างภาษา ศาสนา ควรจะทำอย่างไร 

เด็กมีความอยากในใจเยอะมาก อยากได้เกม อยากได้ของที่เราไม่คาดคิดเต็มไปหมด เขาจะจัดการความอยากนั้นยังไง 

เมื่อเด็กเข้าใจตัวเองแล้วจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมโดยรวมไหม

ใช่ ถ้าเขาเข้าใจตัวเองได้เขาก็จะสามารถ regulate ตัวเองได้ ปรับสมดุล จัดการความรู้สึกของตัวเองได้ เขาจะเห็นคุณค่าในตัวเอง เขาจะสามารถสัมพันธ์กับความทุกข์ยากของตนเองและผู้อื่นได้ 

ไปฝึกตอนโตนั้นยากกว่าเพราะมนุษย์ทุกคนถูกปลูกฝังบางอย่างตลอดเวลาอยู่แล้ว ถ้าเราปล่อยให้เขาถูกสังคมปลูกฝังตามยถากรรมไปเรื่อยๆ เขาก็จะเติบโตมาในระบบที่บิดเบี้ยว เพราะระบบมันมักจะออกแบบมาเพื่อมอมเมา มากกว่าเพื่ออุ้มชูให้คนเติบโต  

Writer
Avatar photo
tippimolk

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Photographer
Avatar photo
ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า

Related Posts

Related Posts