มันจะมีเพื่อนคนนึง ที่ชอบส่งคลิปตลกมาให้ดู ‘Pebbling’ เมื่อการบอกรักของคนยุคใหม่คือส่งความห่วงใยไปตามมีม
มันจะมีเพื่อนคนนึง ที่ชอบส่งคลิปตลกมาให้ดู ‘Pebbling’ เมื่อการบอกรักของคนยุคใหม่คือส่งความห่วงใยไปตามมีม
- ในซีกโลกใต้ มีเพนกวินเจนทูที่หาคู่ด้วยการนำก้อนกรวดที่สวยที่สุดและเรียบเนียนที่สุดไปให้สาวที่หมายปอง เราจึงเรียกวิธีแสดงความรักแบบนี้ว่าการ ‘Pebbling’ ที่มาจาก Pebble (ก้อนกรวด)
- ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีมักถูกมองว่าเป็นตัวร้ายในการทำให้ผู้คนเหินห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ หลายๆ คนกลับใช้การส่ง ‘ก้อนกรวดออนไลน์’ หรือ เพ็บบลิงแบบมนุษย์ เช่น การส่งมีม คลิปตลก หรือสิ่งต่างๆ ที่อีกฝ่ายสนใจแทนการบอกรัก บอกว่าคิดถึง หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือ
“นึกถึงแกเลยว่ะ” - พ่อแม่หลายคนก็พบว่าการเพ็บบลิงนั้น ช่วยให้พวกเขาสนิทสนมกับลูกมากขึ้น และทำให้ช่องว่างระหว่างวัยลดลงด้วยเช่นกัน
ชีวิตคุณต้องมีเพื่อนสักคนแหละที่คอยส่งมีมส่งคลิปตลกมาทุกวัน หรือไม่ก็ส่งอะไรสักอย่างที่เขารู้ว่าคุณสนใจมาให้เสมอ
เหมือนแชตของฉันกับแม่ที่ 90% เต็มไปด้วยคลิปแมว มีมแมว ภาพแมวน่ารัก โดยเฉพาะแมวของฉันที่ชื่อโชบี้ จนเพื่อนๆ ต่างเรียกแม่ฉันว่า ‘แอดมินเพจโชบี้ไทยแลนด์’ หรือแชตของฉันกับพ่อที่ค่อนข้างร้าง แต่นานๆ ทีพ่อจะส่งคลิปสารคดีเกี่ยวกับสิ่งที่ฉันชอบหรือศิลปินคนโปรดมาให้ดู หรือกรุ๊ปแชตฉันกับเพื่อนที่ปามีมใส่กันทุกห้านาทีแล้วต้องกลั้นขำตอนอ่านในที่สาธารณะ
ข้ามไปที่ซีกโลกใต้ มีเพนกวินพันธุ์หนึ่งชื่อว่าเพนกวินเจนทู เจ้าเพนกวินเจนทูนี้ ขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์อีกชนิดที่แสนโรแมนติก มันมีคู่เพียงตัวเดียวไปตลอดชีวิตเหมือนญาติเพนกวินสายพันธุ์อื่นๆ แต่สิ่งที่ทำให้ชีวิตคู่ของเจนทูโรแมนติกสุดๆ
ก็คือในฤดูผสมพันธุ์นั้น เจนทูตัวผู้จะหาก้อนกรวดที่เรียบเนียนที่สุด งดงามที่สุด และหินที่ ‘ใช่’ ที่สุด ไปเป็นของขวัญให้กับสาวที่หมายปอง หากสาวเจ้ารับรัก กรวดก้อนนั้นจะเป็นเหมือนเสาเอกก่อร่างสร้างรังของมัน เราจึงเรียกวิธีการหาคู่ของมันว่า Pebbling (เพ็บบลิง) ที่มาจากคำว่า ‘Pebble’ หรือ ‘ก้อนกรวด’ นั่นเอง
ที่จริงการส่งมีม ส่งคลิปตลก ส่งสิ่งต่างๆ ที่ใครอีกคนสนใจไปให้เขานั้น
ก็ถือเป็นการแสดงความรักความห่วงใย ในยุคที่โซเชียลมีเดียกลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิต และการบอกรักแบบนี้ก็มีชื่อเรียกว่า Pebbling (เพ็บบลิง) ตามพฤติกรรมของเพนกวินเจนทูด้วยเช่นกัน เพราะมีม คลิป หรืออะไรในเน็ตที่เราสรรหามาให้เพื่อนๆ และคนที่เรารัก มันก็ไม่ต่างอะไรจากก้อนกรวดสวยๆ ที่เพนกวินหามาให้กันเลย
แปลรักฉันด้วยมีมเธอ
ในปัจจุบัน เทคโนโลยีมักถูกทำให้กลายเป็นตัวร้ายเมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทว่าในงานวิจัยที่ชื่อว่า Do It for the Culture: The Case for Memes in Qualitative Research พบว่าการส่งมีมสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลขึ้นมาได้ โดยการส่งมีมระหว่างผู้วิจัยและผู้เข้าร่วมนั้น กลายเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการทำความรู้จักอีกฝ่าย มีส่วนช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ทำให้เชื่อใจกันและมีความกลมเกลียวกันง่ายขึ้น และมุกตลกที่เฉพาะเจาะจงของมีมแต่ละมีมนั้น ยังทำให้สามารถคาดเดาลักษณะนิสัยของคู่สนทนาได้อีกด้วย
นอกจากนั้นช่องแชตก็เป็นสถานที่ให้คนที่สนิทสนมคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ได้แสดงความรัก ความห่วงใย และความใส่ใจกันและกัน ผ่านการ ‘เพ็บบลิง’ ของมนุษย์ นั่นคือการส่งมีม ส่งคลิปตลก ส่งเรื่องราวที่อีกฝ่ายสนใจไป แทนก้อนกรวดของเพนกวิน ในงานวิจัยที่ชื่อว่า Meme sharing in relationships: The role of humor styles and functions พบว่าคนที่กลุ่มตัวอย่างส่งมีมให้บ่อยที่สุด คือกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เช่น เพื่อนสนิท คนรัก หรือครอบครัว โดยมีเป้าหมายคือการสร้างอารมณ์ขันระหว่างกัน
เหตุที่หลายๆ คนมองว่าการส่ง ‘ก้อนกรวดออนไลน์’ ให้กันนั้น เป็นสิ่งที่พิเศษและแตกต่างจากการมอบของขวัญหรือบอกรักด้วยวิธีการอื่น คือมันเป็นการกระทำเล็กๆ ที่ไม่ต้องลงทุนลงแรง แต่ภายใต้การกระทำเล็กๆ อย่างการส่งมีม คลิปตลกหรือภาพหมาแมวนั้น ก็คือความปรารถนาดีที่อยากให้อีกฝ่ายได้ยิ้ม ได้หัวเราะเหมือนกัน เป็นการสร้างประสบการณ์ที่ทั้งผู้ให้และผู้รับต่างได้สนุกร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน พูดคุยกันต่อได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นการบอกว่า “ฉันคิดถึงเธออยู่นะ” โดยไม่ต้องพูดตรงๆ สำหรับคนขี้อาย
ซาแมนธา เบิร์นส์ (Samantha Burns) โค้ชและผู้ให้คำปรึกษาเรื่องการเดตและชีวิตคู่ บอกว่าการเพ็บบลิงนั้น “แตกต่างกันไปในความสัมพันธ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน แต่มันอาจเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างการส่งข้อความสวัสดีตอนเช้าถ้าคุณมีความสัมพันธ์ระยะไกล หรือกลับบ้านมาโดยมีของหวานที่คู่ของคุณโปรดปรานเป็นเซอร์ไพรส์ หรือส่งรีลคำๆ บนโซเชียลมีเดียให้เขาก็ได้”
และสิ่งที่ทำให้การ ‘เพ็บบลิง’ นี้มันเป็นเรื่องธรรมดาแสนพิเศษก็คือ “มันเฉพาะเจาะจงสำหรับคนคนนั้นและงานอดิเรก ความสนใจ และความเชื่อที่แตกต่างกันของแต่ละคน” กล่าวคือไม่ใช่ว่าคุณเจออะไรก็กดส่ง แต่แปลว่าคุณต้องพอจะรู้จักนิสัยใจคอของอีกฝ่ายว่าเขาจะขำกับมุกตลกแบบไหน มีมไหนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ชีวิตเขาตอนนั้น อะไรคือความสนใจของเขา อะไรที่ส่งไปแล้วจะทำให้เขายิ้มได้
เบิร์นส์ยังบอกอีกด้วยว่าแต่ละครั้งที่คุณส่งมีม บทความ หรือวิดีโอที่ทำให้คุณนึกถึงคนที่คุณรักไปให้พวกเขา มันก็ช่วยเสริมสายสัมพันธ์ที่ไม่เหมือนใครของคุณทั้งคู่ “มันเป็นวิธีที่ดีมากๆ ในการแสดงให้เขาเห็นว่าคุณคิดถึงพวกเขา และยังเป็นการสร้างอารมณ์ขันเฉพาะกลุ่มขึ้นมาด้วย”
สวัสดีวันจันทร์
ดร.เอลิซซา กิฟฟอร์ด (Elissa Gifford) นักสังคมสงเคราะห์จากนิวยอร์ก กล่าวว่าที่จริงการเพ็บบลิงในมนุษย์ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่เป็นหนึ่งในภาษารักที่ใช้กันมานานและประสบความสำเร็จในกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางระบบประสาท (neurodivergent) นั่นก็คือการให้ของขวัญนั่นเอง แต่ในปัจจุบันเพ็บบลิงได้กลายเป็นการแสดงความรักในความสัมพันธ์หลายๆ รูปแบบ
แม้การเพ็บบลิงจะเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น ในช่องแชตของเพื่อนและเพื่อน หรือคนรักกับคนรัก แต่หลายๆ ครอบครัวก็ใช้เพ็บบลิงในการสานสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นขึ้น
“การส่งมีมหรือรีลในกลุ่มแชตครอบครัวเป็นวิธีการที่ยอดเยี่ยมในการสานสัมพันธ์กับวัยรุ่นในยุคสมัยที่การสื่อสารซึ่งๆ หน้า ระหว่างพ่อแม่และลูกถดถอยลงและยากขึ้นเรื่อยๆ” คริสทีน แม็กอินนิส (Christine MacInnis) นักจิตวิทยาครอบครัวจากแคลิฟอร์เนียกล่าว “มันกดดันน้อยกว่าและทำให้เด็กที่เติบโตในยุคดิจิทัลรู้สึกปลอดภัยมากกว่า”
ไม่ว่าจะเป็นการส่งสวัสดีวันจันทร์จากพ่อแม่ หรือการส่งสิ่งใดๆ ให้กัน ก็เหมือนได้ทำให้พ่อแม่และลูกมี ‘ภาษา’ บางภาษาที่ใช้ร่วมกัน มีมุกตลกเฉพาะกลุ่ม หรือมีความสนใจใดๆ ร่วมกันที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยและเข้าใจกันมากขึ้น
สำหรับพ่อแม่ที่ชอบสวัสดีวันจันทร์หรือส่ง dad’s jokes, mom’s jokes หรืออะไรที่หลายคนอาจมองว่าเชยให้ลูกและได้รับการตอบสนองเป็นสติกเกอร์กลอกตากลับก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะ ดร.กิฟฟอร์ด บอกว่า “ถึงแม้ลูกๆ จะแค่กลอกตาหรือมองว่ามันเป็นเรื่องเด๋อๆ แต่สารที่ว่า ‘พ่อ/แม่นึกถึงลูกนะ’ ก็ถูกส่งถึงลูกเรียบร้อยแล้ว”
ดร.กิฟฟอร์ดแนะนำว่าการเสริมความอบอุ่นให้กับการส่งมีม ส่ง gif ส่งรีล หรือส่งวิดีโอให้ลูกๆ นั้น ทำได้ง่ายๆ เช่น นอกจากส่งมีมแล้ว ลองส่งข้อความให้กำลังใจในช่วงที่ลูกเจอสถานการณ์ที่ยากลำบาก ส่งบทความดีๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสนใจและความหลงใหลของลูก พร้อมความเห็นเล็กๆ น้อยๆ แนะนำแอปฯ หรือเกมใหม่ๆ ที่คิดว่าพวกเขาอาจจะชอบ และสร้างเพลย์ลิสต์เพลงโปรดของทั้งสองฝ่าย ก็จะยิ่งทำให้การแสดงความรักนั้นชัดเจนยิ่งขึ้นและเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งไปกว่าเดิม
อย่ารำคาญกันเลยนะเธอจ๋า
แม้ว่าการเพ็บบลิงจะเป็นวิธีการบอกรักของโลกยุคใหม่ที่ง่ายๆ แต่ได้ผลดี แต่เพ็บบลิงก็มีข้อเสียอยู่เช่นกัน
ในงานวิจัย Meme sharing in relationships: The role of humor styles and functions งานวิจัยเดียวกันกับที่พบว่าคนส่วนใหญ่มักส่งมีมให้คนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดนั้น กลับพบว่าการส่งมีมจะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ในคนที่มีอารมณ์ขันแบบส่งเสริมตัวเอง (Self-enhancing) หรือแบบล้อเลียนตัวเอง (Self-defeating) แต่ในคนที่มีอารมณ์ขันแบบเป็นกันเอง (Affiliative) การส่งมีมจะส่งผลเสียในความสัมพันธ์มากกว่า
งานวิจัยเดียวกันนี้ยังพบอีกว่าการส่งมีมในฐานะการสร้างอารมณ์ขันและความสนุกสนานจะส่งผลในแง่บวกต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ ขณะที่การส่งมีมเพื่อขอโทษกลับส่งผลแง่ลบในความสัมพันธ์
นอกจากนั้นจังหวะเวลาและความพอดิบพอดีก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน เพราะในบางครั้งคู่สนทนาของเราอาจกำลังยุ่งหรือมีงานสำคัญที่ต้องทำ ในช่วงนั้นการส่งมีมไปรบกวนคงจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก
ในด้านความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูก ดร.กิฟฟอร์ดแนะนำว่า “พ่อแม่ควรระวังไม่ให้ส่ง ‘ก้อนกรวด’ ไปมากเกินไป” เพราะอาจทำให้ลูกรำคาญใจแทน หรือบางครั้งหากลูกไม่ตอบกลับมา พ่อแม่เองก็อาจจะเกิดอาการนอยด์อ่าคุณน้า จนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ได้
นอกจากนั้นเพ็บบลิงก็ไม่ควรเป็นวิธีการบอกรักหรือการสื่อสารเพียงวิธีเดียวในความสัมพันธ์ เพราะการเอาแต่ส่งมีม คลิป หรือสิ่งต่างๆ ให้กันในแชต อาจทำให้เราสื่อสารกันจริงๆ น้อยลง และแทนที่จะทำให้ใกล้ชิดกันขึ้นก็กลับทำให้เราห่างเหินกันได้
ดร.กิฟฟอร์ดเสนอให้พ่อแม่เพ็บบลิงในชีวิตจริงควบคู่ไปกับการเพ็บบลิงในโลกออนไลน์ด้วยการแสดงออกง่ายๆ เช่น การเขียนโน้ตแสดงความห่วงใยหรือให้กำลังใจ ซื้อเครื่องดื่มหรือขนมที่ลูกๆ ชอบเตรียมไว้ให้พวกเขา อาจจะซื้อของขวัญหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นต่อสิ่งที่พวกเขาสนใจให้บ้าง หรือแม้จะแค่เปิดเพลงที่ทำให้คุณและลูกนึกถึงความทรงจำดีๆ ร่วมกันก็ยังได้
เมื่อเป้าหมายของการเพ็บบลิงคือการส่งความรักความปรารถนาดีให้อีกฝ่าย ดังนั้นกุญแจสำคัญของผู้ส่งในการเพ็บบลิงคือขอให้ทำโดยคิดถึงใจเขาใจเรา ทำโดยเหมาะสม ไม่ต้องกดดันตัวเองหรืออีกฝ่าย ไม่ต้องส่งไปโดยมีเงื่อนไขว่าเธอต้องตอบฉันภายในห้านาที หรือนอยด์เมื่อส่งมีมไปตั้งเยอะแยะแต่ได้รับการตอบกลับมาแค่ ‘เค’ หรือ ‘555’
ในขณะที่ผู้รับเองก็อย่าได้รำคาญภาพดอกไม้สีเหลืองพร้อมฟอนต์ Tahoma ที่พิมพ์ว่า “สวัสดีวันจันทร์” จากญาติผู้ใหญ่ หรือคลิปตลกเฮฮาจากเพื่อนๆ เลย เพราะนั่นแปลว่ามีคนกำลังคิดถึงคุณอยู่นะ
อ้างอิง:
https://firstmonday.org/ojs/index.php/fm/article/view/12789/11017
https://www.researchgate.net/publication/353188188_Do_It_for_the_Culture_The_Case_for_Memes_in_Qualitative_Research
https://www.parents.com/what-is-pebbling-and-why-are-teens-doing-it-8667690
https://www.today.com/life/relationships/pebbling-love-language-peguins-rcna155876
https://www.yahoo.com/lifestyle/why-pebbling-social-media-love-131845742.html?guccounter=1&guce_referrer=aHR0cHM6Ly93d3cuZ29vZ2xlLmNvbS8&guce_referrer_sig=AQAAANjBdCNT-RtcyCV4wF7VYIz3xJEWlS9MYK2eQDJkP7SyQ-_6soVwqgwwjbV40r7r9mF3uyQgLfBjyLHACFScp8ZZkKtreeji0YduydY5AF0CPuC1goP93nj0l0B9HEgk1yqiJfwsgGsstSpA5Yu5bf5oimXyRiwtg939Dhjs1Dm2
Writer
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา
อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า
illustrator
ลักษิกา บรรพพงศ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรีส์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นทาสแมว