ลูกคนโตไม่ควรเป็นเดอะแบก ลูกคนกลางไม่ควรถูกละเลย และลูกคนเล็กไม่ควรถูกมองเป็นเด็กตลอดเวลา
ลูกคนโตไม่ควรเป็นเดอะแบก ลูกคนกลางไม่ควรถูกละเลย และลูกคนเล็กไม่ควรถูกมองเป็นเด็กตลอดเวลา
เพราะไม่ว่าจะเกิดก่อน-หลัง ความรักที่ได้จาก ‘ครอบครัว’ ลูกทุกคนควรสัมผัสได้อย่างเท่าเทียม
มิตรสหายลูกคนโตคนหนึ่งเคยบอกว่า การเป็นเสาหลักและเดอะแบกของบ้าน เป็นหน้าที่ที่ครอบครัวคาดหวังให้เป็น ต้องเป็นแบบอย่างให้น้องๆ ขนานไปกับการถูกกดดันให้ต้องประ
สบความสำเร็จ โอกาสลองผิดลองถูกก็ไม่มี ระหว่างความฝันกับความจริง อย่างหลังจึงเป็นสิ่งที่เลือก จนเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าไม่ใช่ลูกคนโต ชีวิตตอนนี้จะเป็นอย่างไร?
มิตรสหายลูกคนกลางคนหนึ่งเคยบอกว่า การเป็นคนตรงกลางที่ขนาบข้างระหว่างพี่คนโตที่ครอบครัวภูมิใจกับความสำเร็จ และน้องคนเล็กที่ครอบครัวประคบประหงม พร้อมซัปพอร์ตในสิ่งที่อยากทำ แม้จะรู้ดีว่านั่นก็ดีแล้วที่พ่อกับแม่รักพี่กับน้องอย่างดี แต่ความรู้สึกของลูกคนกลางที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบกลางๆ ให้ความสนใจแบบกลางๆ ก็ยากที่จะห้ามความรู้สึกน้อยใจ
มิตรสหายลูกคนเล็กคนหนึ่งเคยบอกว่า ถึงจะมีอิสระในการทำตามฝัน แต่บางครั้งก็เผลอเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับความสำเร็จ ความเก่ง และความมั่นคงในชีวิตของผู้เป็นพี่
จนกระทบความรู้สึกเอาดื้อๆ ขณะที่มิตรสหายลูกคนเล็กอีกคนกลับบอกว่า อิสระในชีวิตแทบไม่มี เมื่อความเป็นห่วงเป็นใยมากเกินไปของครอบครัว กำลังฉุดรั้งการได้เป็นตัวของตัวเอง จนอดอิจฉาพี่ๆ ไม่ได้
แม้ชีวิตของมิตรสหายเหล่านี้จะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของคนในสังคม ไม่สามารถเหมารวมว่าลูกคนโต คนกลาง และคนเล็กทุกคนจะเผชิญความรู้สึกที่ว่าเหมือนๆ กัน แต่หากยังมีลูกสักคนรู้สึกถูกคาดหวังมากกว่า ถูกละเลยมากกว่า ถูกตามใจมากกว่า หรืออะไรที่ได้รับจากครอบครัว ‘มากกว่า’ หรือ ‘น้อยกว่า’ นั่นไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ‘การเลี้ยงดูมีผลต่อเด็ก’ และไม่ว่าจะเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ หากถูกเลี้ยงดูมาด้วยการจัดลำดับความสำคัญที่ไม่เท่ากันในบ้าน สุขภาพจิตและความรู้สึกนึกคิดของพวกเขา ก็อาจถูกบ่อนทำลายโดยคนในครอบครัว และคนในสังคมที่ปลูกฝังความคาดหวังต่อลูกมาอย่างยาวนานได้มากกว่าที่คิด
เพราะลูกทุกคนจำเป็นต้องได้ความรักและความปลอดภัยทางอารมณ์เท่าๆ กันจากคนในครอบครัว
Oldest Child Syndrome : ความเจ็บปวดของลูกคนโต
ปรากฏการณ์ลูกคนโต มีคำเรียกว่า ‘Oldest Child Syndrome’ ที่ Nicholette Leanza นักบำบัดให้นิยามอย่างง่ายต่อคำนี้ไว้ว่า
“เป็นความกดดันที่ลูกคนโตรู้สึกว่าต้องเป็นไปตามความคาดหวังอันสูงส่งที่มีต่อพวกเขา เช่นเดียวกับความเครียดที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกเหมือนต้องเป็นแบบอย่างที่เพอร์เฟกต์ให้เหล่าน้องๆ”
ลูกคนโตที่เกิดมาในครอบครัวที่วาดเส้นทางชีวิตไว้บนความคาดหวังที่สูงลิ่วนี้ มีโอกาสที่จะมีความรับผิดชอบสูง มีความทะเยอทะยานและมุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายบางอย่าง เป็นผู้นำ และทำตามกรอบที่ครอบครัวคิดว่าดี ซึ่งบางคนอาจจะมองว่านี่ก็ดูเป็นข้อดี และถือเป็นคุณสมบัติของลูกที่ดีตามแบบขนบสังคมที่ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ถ้าพวกเขาเต็มใจ และไม่ได้รู้สึกแย่อะไร แต่สำหรับบางคนแล้ว การถูกคาดหวังจากคนในบ้าน หรือลามไปถึงการถูกคาดหวังจากสังคมที่มักจะมีภาพจำกันแน่นแฟ้นว่า เป็นลูกคนโตต้องประสบความสำเร็จ ต้องเป็นผู้นำ ต้องเป็นแบบอย่าง และอีกสารพัด ‘ต้อง’ มีส่วนทำให้ลูกคนโตหลายคนดิ้นรนใช้ชีวิตภายใต้ความกดดันที่ว่า จนทำให้สูญเสียชีวิตวัยเด็กไป หรือกระทั่งเติบโตมาโดยไม่สามารถกำหนดชีวิตที่อยากมีได้ หากนั่นสวนทางกับความคาดหวังที่ครอบครัวอยากเห็น
แง่หนึ่ง ลูกคนโต ซึ่งเป็นลูกคนแรกในบางครอบครัว เหมือนถูกให้เร่งโต เพื่อที่จะเป็นพี่ใหญ่ที่สามารถดูแลน้องๆ ได้ ซึ่ง Leanza คิดว่า “พวกเขาอาจจะเป็นผู้ใหญ่เร็วกว่าวัย เพราะต้องรับหน้าที่รับผิดชอบภายในบ้านมากขึ้น หรืออาจต้องสวมบทผู้ปกครองดูแลน้องๆ โดยเฉพาะถ้าอยู่ในบ้านที่มีผู้ปกครองคนเดียว หรือถ้าทั้งพ่อและแม่ออกไปทำงาน” และเมื่อต้องรับหน้าที่ดูแลน้อง ความรู้สึกกดดันให้รีบโตมากจนเกินไป ก็อาจทำให้พวกเขาสูญเสียวัยเด็กในแบบที่ควรจะมีไปได้
“คุณอาจกำลังกดดันพวกเขามากจนลูกรู้สึกว่าคุณจะรักพวกเขาก็ต่อเมื่อเป็นคนเพอร์เฟกต์” Leanza กล่าว เช่นเดียวกับที่ Brandy Smith นักจิตวิทยา กล่าวไว้ว่า “หากมีหน้าที่ความรับผิดชอบมากเกินไปแบบนี้ ลูกคนโตอาจรู้สึกว่าพวกเขามีวัยเด็กไม่เพียงพอ เพราะพวกเขามีเรื่องที่ถูกขอให้ทำในฐานะพี่คนโตไปแล้ว”
มากไปกว่านั้น หากมีเรื่องของความคาดหวังที่ยึดโยงกับกรอบทางเพศเข้ามา ก็อาจทำให้พี่ใหญ่ยิ่งรู้สึกกดดันและเครียดมากขึ้นไปอีกได้ เช่น หากอยู่ในครอบครัวที่ยังมองว่าลูกสาวต้องดูแลบ้าน และดูแลสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก ความฝันที่พวกเธออยากจะมี อยากจะเป็น บางครั้งก็ถูกฉุดรั้งไว้จากกรอบความคาดหวังนี้ หรือแม้แต่ลูกชายคนโตที่อาจถูกคาดหวังว่าต้องเข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นพี่คนโต และเป็นผู้ชาย ที่ควรจะปกป้องน้องๆ ได้ นั่นก็เพิ่มความกดดัน และทำให้ทุกการตัดสินใจในชีวิตบางครั้ง ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเอง
ฉะนั้นแล้ว การถามไถ่ความรู้สึกของพี่ใหญ่ประจำบ้าน และมอบความรักมากกว่าความกดดันจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสมาชิกในครอบครัวควรสื่อสารกันบ่อยๆ เพราะโตที่สุด ไม่ได้หมายถึงไม่มีความรู้สึกนะคะ
Middle-Child Syndrome : ความเจ็บปวดของลูกคนกลาง
ปรากฏการณ์ลูกคนกลาง มีคำเรียกว่า ‘Middle-Child Syndrome’ ที่หมายถึงลูกคนกลางที่ชะงักอยู่ตรงกลางระหว่างพี่คนโตและน้องคนเล็ก ซึ่งอาจนำไปสู่การได้รับความสนใจจากผู้ปกครองน้อยกว่า เพราะบางบ้านอาจคิดว่า คนตรงกลางสามารถดูแลตัวเองได้แล้ว ไม่ต้องคาดหวังให้ดูแลครอบครัวเหมือนพี่ใหญ่ ไม่ได้จำเป็นอะไรมากที่ต้องเอาใจใส่ หรือคอยถามไถ่ความรู้สึกเหมือนน้องคนเล็ก และในทางจิตวิทยา ลูกที่ได้รับความสนใจไม่เท่ากับคนอื่นๆ อาจนำไปสู่สภาวะความรู้สึกที่คิดว่าตัวเองต้องประนีประนอมต่อทุกอย่าง จนกลายเป็นไม่กล้าพูดอะไรกับคนในครอบครัว เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัยทางจิตใจที่จะพูด
การที่ลูกคนกลางรู้สึกไม่อยากพูดอะไรกับที่บ้าน เพราะสัมผัสไม่ได้ถึงความพร้อมรับฟังของคนในครอบครัวมากเท่าที่ควร ซึ่งนั่นอาจนำมาสู่ผลเสียต่างๆ หากลูกคนนี้ต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง โดยเฉพาะในประเด็นละเอียดอ่อนต่างๆ ยกตัวอย่างเรื่องเพศศึกษา ที่ทุกคนน่าจะรู้กันดีว่า เรื่องเพศสำคัญ และครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับลูกๆ ซึ่งขณะที่ในสังคมเรากำลังค่อยๆ ทำลายกำแพงเรื่องเพศ และตอกย้ำว่า ‘เรื่องเพศควรพูดได้’ เพราะถ้าครอบครัวเป็นที่พึ่งเรื่องนี้กับลูกได้ จะช่วยทำให้ลูกเรียนรู้เรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทว่าก็มีบางการศึกษาที่ชื่อ Birth order and parental and sibling involvement in sex education. A nationally-representative analysis พบข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการกล้าพูดเรื่องเพศศึกษากับพ่อแม่ของลูกๆ และพบว่าลูกคนกลางจะกล้าพูดเรื่องนี้น้อยกว่าลูกสาวหรือลูกชายคนโตและคนเล็ก หรือแม้ว่าพวกเขาจะเผชิญเรื่องยากๆ จากสังคมภายนอกอื่นๆ มาจนใจพัง พวกเขาอาจจะไม่พูดอะไรออกมาให้พ่อแม่ฟังเลยก็ได้
ลูกคนกลางบางส่วนอยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก พยายามจะเข้าใจพ่อแม่ที่มีเวลาให้ หรือสนใจความต้องการของตนเท่าที่ควร บางคนจึงรู้สึกว่าต้องเป็นคนที่ประนีประนอมในหลายๆ สถานการณ์อยู่ตลอดเวลา Michelle P. Maidenberg ผู้เป็นนักบำบัดเด็กและครอบครัว อธิบายว่า
“หลายครั้งที่ลูกคนกลางลงเอยด้วยการยอมทำตามความต้องการของลูกคนโตและลูกคนเล็ก”
อนึ่งต้องตามใจน้องเพราะน้องเด็กกว่า และต้องเชื่อฟังพี่เพราะพี่โตกว่า ทำให้บางครั้งเซฟโซนของลูกคนกลางอาจจะเป็นเพื่อนฝูงข้างนอกบ้านที่รับฟังความรู้สึกของพวกเขาจริงๆ
และภาพที่เราเคยเห็นในละครที่เด็กคนหนึ่งเรียกร้องความสนใจด้วยการทำตัวแหกกฎบางอย่าง ก็อาจไม่เกินจริงนัก เพราะในอีกกรณีนี้ Meri Wallace นักบำบัดเด็กและครอบครัว ได้แชร์ว่า ลูกคนกลางบางคนอาจจะทำตัวสุดโต่งเพื่อดึงดูดความสนใจ แง่หนึ่ง นี่อาจเป็นวิธีเดียวที่ทำให้คนในบ้านกลับมามองที่พวกเขา ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาการขาดการสื่อสารในครอบครัวที่ควรหันหน้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ
สิ่งที่ Wallace แนะนำให้ผู้ปกครองทำนั้น ถือว่าเรียบง่ายเลยทีเดียว คือการให้เวลากับลูกคนกลางอย่างจริงใจ เช่น “ถ้าคุณกินข้าวเย็นกันอยู่ ก็อย่าลืมถามไถ่ลูกด้วยล่ะว่า ‘วันนี้เป็นยังไงบ้าง?’ หรือใช้เวลาตามลำพังกับลูกคนกลางบ้าง” นี่อาจเป็นการค่อยๆ ทำลายกำแพงความอึดอัดจนทำให้ลูกคนกลางเปิดใจพูดทุกความรู้สึกกับพ่อแม่ได้อีกครั้ง
Youngest Child Syndrome : ความเจ็บปวดของลูกคนเล็ก
ปรากฏการณ์ลูกคนเล็ก มีคำเรียกว่า ‘Youngest Child Syndrome’ ที่แม้บางครั้งจะถูกมองว่าลูกคนเล็กต้องถูกสปอยล์แน่ๆ เลย ซึ่งแน่นอนว่ามีลูกคนเล็กบางคนที่ถูกพ่อแม่เลี้ยงอย่างตามใจ จนติดนิสัยเอาแต่ใจไปบ้าง แต่ท้ายที่สุด หากมองไปยังครอบครัวบ้านคนไทยหลายๆ บ้าน จะเห็นว่ามีมิติที่หลากหลายเกี่ยวกับลูกคนเล็กมากไปกว่านั้น เพราะบางครั้งขึ้นชื่อว่าเป็นลูกคนเล็ก ก็อาจทำให้พ่อแม่รู้สึกเป็นห่วงมาก จนทำให้ลูกบางคนอึดอัดได้เลย
ลูกคนเล็กบางคนอาจเติบโตมากับพ่อแม่ที่พร้อมรับฟังทุกปัญหา และไม่กดดันที่จะให้ทำอะไรตามแบบแผนมากนัก เราจะเห็นได้ว่า เมื่อเทียบกับลูกคนโตหลายๆ บ้าน พ่อแม่จะค่อนข้างผ่อนปรนกับลูกคนเล็กเสียมากกว่า และนั่นทำให้ลูกคนเล็กหลายคนมีความสดใส ดูมีชีวิตชีวา ในการใช้ชีวิต แต่หากบางบ้านเลือกที่จะตามใจทุกอย่างจนเกินไป ก็อาจเกิดปัญหาตามมา เช่น บางคนอาจเป็นคนไม่มีเหตุผล อยากได้อะไรก็ต้องได้ ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองต้องคอยระมัดระวัง อีกทั้งยังอาจเกิดปัญหาในครอบครัวที่พี่น้องคนอื่นรู้สึกไม่แฟร์ หรือได้รับความรักไม่เท่ากัน หากพ่อแม่ใส่ใจลูกคนเล็กมากกว่าใคร
“ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดคำถามว่าพวกเขาจะมีความไม่รู้จักโตหรือเปล่า หรือมีแนวโน้มที่จะทำตัวเป็นเด็กๆ หรือไม่ก็ไปจนถึงลูกคนเล็กจะสนิทกับแม่มากกว่าพี่น้องคนอื่นๆ หรือเปล่า” Louis J. Kraus ซึ่งเป็น director ประจำสาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่นแห่ง Rush University กล่าว และให้ข้อสังเกตว่า เมื่อพ่อแม่มีลูกคนแรก หลายคนก็เลือกที่จะปกป้องมากเกินไป ทุกสิ่งทุกอย่างต้องถูกสุขอนามัย ทำตามตำราการเลี้ยงลูกแบบดั้งเดิมทั้งหมด แต่พอมีลูกคนที่สอง พวกเขาก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป และไม่จำเป็นต้องทำตามแบบแผนอะไรมากมายแล้ว เพราะได้เรียนรู้จากการมีลูกคนแรก ทำให้ลูกคนสุดท้อง กลายเป็นลูกที่พ่อแม่อาจจะพยายามที่จะเข้าใจมากที่สุดไปโดยปริยาย
แต่อย่างที่ย้ำกันมาตั้งแต่ต้นว่า เราไม่สามารถเหมารวมทุกบ้านว่าเป็นแบบเดียวกันได้ เพราะยังมีมิตรสหายบางคนมาบอกเล่าถึงความเจ็บปวดจากการเป็นลูกคนเล็ก เพราะถูกพ่อแม่เป็นห่วงมากเกินไป กลัวจะโดนหลอก หรือกลัวจะตกอยู่ในอันตราย ขณะที่พี่คนอื่นๆ ได้ใช้ชีวิตในแบบของตัวเองไปแล้ว ซึ่งก็นับว่าเป็นความน่าอึดอัดใจที่เกิดขึ้นในครอบครัว
หรือลูกคนเล็กบางคนก็ยังถูกเปรียบเทียบกับพี่คนอื่น หากไม่ได้ประสบความสำเร็จ หรือมีความเก่งในบางเรื่องไม่เท่ากัน ซึ่งเมื่อเกิดการเปรียบเทียบลักษณะนี้ขึ้น ก็ทำให้พี่น้องมีปัญหากัน และส่งผลต่อสภาพจิตใจทุกฝ่าย ไม่ได้มีผลดีอะไรเลย
สุดท้ายนี้ สิ่งที่ผู้ปกครองทุกบ้านสามารถทำได้ คือการมอบความรักให้ลูกทุกคนอย่างเท่าเทียม และพยายามสนับสนุนพวกเขาในทุกๆ ก้าวของชีวิต ที่สำคัญ คนเป็นพ่อ เป็นแม่ หากเรียนรู้นิสัยและบุคลิกที่แตกต่างกันของลูกแต่ละคนได้ ก็จะเป็นผลดีในการเลือกใช้วิธีสื่อสารกับลูก ที่ทำให้ความสัมพันธ์ภายในบ้านแน่นแฟ้นมากขึ้นได้
ลูกคนโตไม่ควรถูกกดดันให้เป็นเดอะแบกที่ต้องรับผิดชอบทุกอย่างอยู่ฝ่ายเดียว ลูกคนกลางไม่ควรถูกมองข้ามเพราะคิดว่าดูแลตัวเองได้ และลูกคนเล็กไม่ควรถูกมองเป็นเด็กอยู่ตลอดเวลา เพราะนั่นอาจส่งผลต่อการเติบโตของพวกเขาได้จริงๆ
อ้างอิง :
https://www.verywellmind.com/how-oldest-child-syndrome-shapes-childhood-development-7866816#:~:text=%E2%80%9CI%20would%20define%20’oldest%20child,clinical%20counselor%20and%20therapist%20at
https://www.healthline.com/health/mental-health/middle-child-syndrome#bottom-line
https://www.parents.com/parenting/better-parenting/style/10-tips-for-parenting-middle-children/
https://www.verywellmind.com/how-youngest-child-syndrome-shapes-development-8424093