ทุกวาระเร่งด่วนหมด โปรดงดตื่นตระหนก! MUSEUM2124 นิทรรศการเล่าเรื่องความตั้งใจของเด็กๆ ในมุมที่ใครก็คาดไม่ถึง คุยกับ ใบปอ-อ้อมขวัญ เวชยชัย และ นิดนก–พนิตชนก ดำเนินธรรม

ทุกวาระเร่งด่วนหมด โปรดงดตื่นตระหนก! MUSEUM2124 นิทรรศการเล่าเรื่องความตั้งใจของเด็กๆ ในมุมที่ใครก็คาดไม่ถึง คุยกับ ใบปอ-อ้อมขวัญ เวชยชัย และ นิดนก–พนิตชนก ดำเนินธรรม

ลองจินตนาการเล่นๆ ว่า โลกในอีก 100 ปี ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?

“มีโรคหวัด 100 ปี มีไข้ 100 องศา มีไอด้วย ต้องการยา” ภูมิ วัย 7.8 ปี  หรือจะเป็นคำตอบแบบเหนือจินตนาการของ ฮาซู ไป 8.2 ปี  “ไอติมอาจจะเดินไปจากโคน แล้วละลายไปทั่วเมือง แต่มันอาจจะเดินเข้าไปในปากคนก็ได้”

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำตอบจากเด็กๆ ที่ว่าด้วยเรื่องโลกในอีก 100 ปีข้างหน้า จากนิทรรศการ MUSEUM2124 : ทุกวาระเร่งด่วนหมด โปรดงดตื่นตระหนก (MUSEUM2124 : Don’t Panic, Everything is Urgent!) ในเทศกาลการเรียนรู้กรุงเทพฯ LEARNING FEST BANGKOK 2024 ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราได้ทบทวนความคิดเกี่ยวกับชีวิตและสิ่งแวดล้อมรอบตัว

นิทรรศการนี้ได้รับการดูแลและสร้างสรรค์โดย ใบปอ-อ้อมขวัญ เวชยชัย ผู้ก่อตั้ง CREAM Bangkok หรือโรงแรมครีม และ นิดนก-พนิตชนก ดำเนินธรรม นักเขียน และคุณแม่ลูกหนึ่ง ที่มาร่วมกันสร้างให้นิทรรศการนี้เกิดขึ้นได้ ณ พิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม 

ถ้านิทรรศการแสดงสิ่งประดิษฐ์คือการโชว์สิ่งของที่สมบูรณ์แบบ ที่ MUSEUM2124 : ทุกวาระเร่งด่วนหมด โปรดงดตื่นตระหนก มีเป้าหมายต่างออกไปคือ การจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ 100% แต่ถ่ายทอดความตั้งใจของเด็กๆ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้มาเยี่ยมชมงานได้มากกว่าที่คิด 

และนี่คือเรื่องราวของโลกในอีกร้อยปีข้างหน้าจากมุมมองของเด็กๆ

จุดเริ่มต้นของนิทรรศการ MUSEUM2124 : ทุกวาระเร่งด่วนหมด โปรดงดตื่นตระหนก เกิดจากการร่วมมือกันระหว่าง TK Park และ CREAM Bangkok และเพจ NidNok ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Learning Fest Bangkok 

นิดนกเริ่มเล่าว่า “งานนี้เป็นปีที่ 2 ที่เราร่วมกับ TK Park ในการจัดงาน โดยโจทย์ที่ได้ของปีนี้คือ การเปลี่ยนแปลง” (Change) เราจึงกลับมาทำการบ้านว่าจะนำเสนองานในรูปแบบอะไรที่จะสื่อสารกับคนหมู่มากได้มากที่สุด เพราะถ้าจัดงานที่ CREAM อาจรองรับเด็กได้ 10 คนต่อรอบ ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย ทว่า งานในปีนี้เราต้องการให้ผลงานถูกเผยแพร่ไปได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราจึงมองหาวิธีการนำเสนออื่นที่ไม่ซ้ำกับปีที่แล้ว 

ใบปอ เล่าว่า “ปีนี้เราต้องการนำเสนอสิ่งที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลง เรานึกถึงช่วงที่อากาศร้อนจัด ได้ยินหลายคนบ่นว่าโลกเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่เรื่องโลกร้อนหรืออากาศเปลี่ยน แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทุกแง่มุมที่เด็กๆ มองเห็น

แม้หลายคนจะมองว่าเด็กอายุน้อย อยู่บนโลกนี้แค่ไม่กี่ปี แต่สิ่งที่เขาเห็นค่อนข้างน่าสนใจ เพราะเด็กยุคนี้ส่วนใหญ่เติบโตในยุคโควิดที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก มีทักษะการปรับตัวในแบบที่เราคาดไม่ถึง เราจึงเริ่มสะสมเรื่องราว และวิธีการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาใช้” 

ทำไมต้องเป็น 100 ปีข้างหน้า?

นิดนก เล่าว่า เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลง เราจึงนึกถึงตัวเลข 100 ปีข้างหน้า เป็นตัวเลขที่ไม่ใกล้และไม่ไกลเกินไป เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากบอกว่าอีก 20 ปีข้างหน้า เด็กก็อาจมองเห็นตัวเองอยู่ในนั้น หรือหากเป็น 100 ปี ก็ยังพอมองเห็นภาพในอนาคตได้

“นอกจากนี้ ตัวเลข 100 ปี ยังชวนให้เราตั้งคำถามว่าอีก 100 ปีข้างหน้าโลกจะเป็นยังไง และเมื่อพูดถึงจินตนาการของเด็ก ยิ่งเป็นอะไรที่คาดเดาไม่ได้เลย เพราะเราคาดเดาอะไรไม่ได้” ใบปอ กล่าวเสริม

เชื่อว่าหลายคนคงทราบดีว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน และถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข คุณช่วยขยายความคำว่าวาระเร่งด่วนให้ฟังหน่อย

“เมื่อพูดถึงเรื่องโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลง ดูเหมือนมีหลายเรื่องที่จะต้องแก้ไขทันที ทุกอย่างกลายเป็นปัญหาเร่งด่วนหมด ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศ วิกฤตพลังงาน การขาดแคลนอาหาร แต่ในขณะเดียวกันปัญหาเหล่านี้ เด็กๆก็รับรู้ในอีกแง่มุมหนึ่ง และเขาไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องแย่ แต่มองว่าเป็นเรื่องที่ลงมือทำอะไรได้บ้างในเวลานั้น สำหรับผู้ใหญ่อย่างเรา ก็ไม่จำเป็นต้องพูดถึงวาระเร่งด่วนในเชิงที่เคร่งเครียดเกินไป

ต่อเนื่องมาถึงชื่อนิทรรศการที่บอกว่า ‘งดตื่นตระหนก’ เรากำลังบอกผู้ใหญ่ว่าอย่าตื่นตระหนกเกินไป แม้ปัญหาเหล่านี้จะเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงก็จริง แต่จากมุมมองของเด็กเขามองเห็นอนาคตที่ดี และรู้ว่าต้องทำอะไร ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบเด็กที่ไม่ได้มองภาพใหญ่ เช่น อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น ผู้ใหญ่จะเครียด แต่เด็กๆ มองว่านี่เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้หากค่อยๆ จัดการไปทีละเรื่อง” ใบปอ กล่าว

ผู้ใหญ่อาจมองว่าวาระเร่งด่วนเป็นความหวังดีที่อยากแก้ไขและสร้างอนาคตที่ดีให้ลูกหลาน นิดนก เล่าว่า “เราก็อยากเห็นว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพื่อที่จะรับประกันว่าวันนี้เราต้องทำอะไรเพื่อให้วันข้างหน้าดีขึ้น แต่สำหรับเด็กๆ พวกเขามีวิธีมองอนาคตที่ต่างจากเรา บางครั้งเราฟังสิ่งที่เด็กพูดถึง 100 ปีข้างหน้า คำตอบที่ได้ก้ำกึ่งระหว่างจินตนาการกับความหวัง เช่น ปัญหาการขาดแคลนอาหารหากวันใดไก่หมดโลก KFC ก็อาจขายหมูทอดก็ได้ เป็นการแสดงการไม่ตื่นตระหนกผ่านมุมมองของเด็กๆ ที่ทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราไม่เครียดมากนัก”

จากการทำงานร่วมกับเด็กๆ กว่า 2 เดือน คุณทราบไหมว่าอะไรคือปัญหาการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาเจอมากที่สุด

หลักๆ แล้วปัญหาที่พวกเขาเจอมาจาก 2 ส่วน คือ มาจากจินตนาการและประสบการณ์ที่ได้สัมผัสจริงๆ “เด็กหลายคนเล่าถึงประสบการณ์หรือสิ่งที่เคยพบเจอ เช่น การเล่าถึงภาพน้ำตกที่เชื่อมโยงถึงญาติผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตไปแล้ว ทำให้เราสังเกตได้ว่าเด็กมองภาพอนาคตว่าคือความหวัง ซึ่งตัวละครที่ปรากฏในเรื่องเล่าประหลาดๆ ของเขา เมื่อถอดรหัสออกมาแล้วจะพบว่าสิ่งสำคัญสำหรับเด็กคือ คนที่พวกเขารัก

และหากถามว่าโลกในอีก 100 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผู้ใหญ่อาจบอกว่ามีปัญหาการเมือง และโลกร้อน ซึ่งดูเป็นคำตอบที่สิ้นหวัง หากถามคำถามเดียวกันกับเด็ก เราจะได้คำตอบที่เต็มไปด้วยความหวัง และพวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีส่วนช่วยโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นการประดิษฐ์อะไรบางอย่าง การใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้โลกนี้ดีขึ้น ทุกอย่างล้วนเป็นการสร้างแรงบันดาลใจสู่กันและกัน” นิดนก อธิบาย

ขณะที่ใบปอเสริมว่า “สิ่งสำคัญคือเรื่องราวที่เราเก็บจากเด็กๆ ไม่ได้มาจากมุมมองว่าโลกเปลี่ยนไปอย่างไร แต่เราสนใจว่าเด็กๆ เห็นมันแบบไหนมากกว่า เราอยากฟังคำบอกเล่าของพวกเขาเพื่อหาคำตอบว่าสิ่งสำคัญของพวกเขาคืออะไร เพราะถ้ารู้แล้วว่าอะไรคือสิ่งที่มีความหมาย บางทีไม่จำเป็นต้องรออนาคต เราสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ตอนนี้” 

สิ่งที่ทำให้นิทรรศการนี้แตกต่างจากนิทรรศการอื่นคือ การประสานงานของ CREAM กับเด็กๆ ก็พาให้ทีมงานไปเจอกับเรื่องเล่าหลายอย่างที่นำมาต่อยอดได้ และจัดวางเป็นนิทรรศการให้ผู้มาร่วมงานได้เห็นความคิดและไอเดียของน้องๆ ในนิทรรศการนี้

“ในแง่ของการสื่อสารในนิทรรศการนี้ บทบาทหลักของใบปอคือการนำเรื่องเล่าและความคิดของเด็กๆ มาต่อยอดให้ทุกคนเข้าใจได้มากที่สุดผ่านการจัดแสดง เราพยายามดึงเอาความคิดและข้อมูลของเด็กออกมาเพื่อให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้ความคิดเหล่านั้น จริงๆ แล้วเราอยากให้ผู้ใหญ่มาร่วมงานนี้มากกว่าเด็กด้วยซ้ำ เพราะจะได้เห็นมุมมองและความคิดที่แท้จริงของเด็ก” นกนิด เล่าถึงวิธีการทำงาน เมื่อได้ข้อมูลแล้วทีมงานจะนำมาวิเคราะห์ และแบ่งกลุ่มในประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น สิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ ลมฟ้าอากาศและภัยธรรมชาติ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อาหารการกิน การสำรวจอวกาศ เป็นต้น 

ใบปอ เสริมว่า กระบวนการเก็บข้อมูลจากเด็กกว่า 2 เดือนค่อนข้างเป็นธรรมชาติ เราใช้วิธีนั่งคุยปกติทั่วไป วิ่งเล่นในสนามบ้าง แต่มีการอัดเสียงไว้ ทุกอย่างเป็นการเก็บข้อมูลแบบไม่เป็นทางการ ทำให้เด็กๆ กล้าแสดงความคิดเห็น ขณะเดียวกันเราก็ได้รู้ว่าเด็กๆ ให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องใดบ้าง เราจะเก็บข้อมูลและนำมาจัดกลุ่มตามประเภทปัญหา เช่น ในประเด็นอาหารการกิน เด็กบอกว่าในอนาคตจะมีกวยจั๊บหนอน ซึ่งก็เป็น Super food ที่ถูกพูดถึงในปัจจุบัน หรือในวันที่ไก่หมดโลก KFC จะขายอะไร เปลี่ยนมาขายหมูได้ไหม นี่ไม่ใช่แค่จินตนาการแต่เป็นเรื่องที่ทลายข้อจำกัดได้น่าสนใจ

ฟังดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่ จนทำให้หลายคนตื่นตระหนกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใครที่มางานนี้คุณจะได้เห็นวิธีการคิดต่อการเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ ซึ่งเป็นที่มาของชื่องานที่ว่า โปรดงดตื่นตระหนก เพราะเด็กมีวิธีคิดไม่เหมือนเรา และนี่คืออนาคตของพวกเขา ผู้ใหญ่จึงมีหน้าที่เตรียมพร้อมเพื่ออนาคตที่ดี อาจเรียนรู้วิธีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากเด็ก ที่มีความลื่นไหลและเป็นธรรมชาติมากกว่าเรา 

สำหรับใครที่ไม่ได้มาร่วมนิทรรศการ เราขอบรรยายสั้นๆ ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาในงานคุณจะได้เห็นสิ่งประดิษฐ์ถูกต่อยอดจากไอเดียของเด็กๆ มากมาย ทั้งจรวด เครื่อง Time Machine รถยนต์หรือแม้แต่เรือก็มาด้วย 

นิดนก เล่าถึงเรื่องราวเบื้องหลังการทำเรือสปีดโบตของน้องไบรตัน ซึ่งพัฒนาจากความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ สิ่งที่ทำให้ผลงานชิ้นนี้แตกต่างจากสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ อยู่ที่ความไม่สมบูรณ์แบบ แต่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้มาร่วมงานได้มาก ก่อนหน้านี้มีเด็กคนหนึ่งเห็นเรือลำนี้ แล้วบอกว่าอยากให้พวงมาลัยเล็กกว่านี้เพื่อให้มีที่นั่งมากขึ้นหรือแทนที่จะมีพวงมาลัยอันเดียวก็เพิ่มเป็นหลายๆ อัน แต่จะมีอันที่ใช้บังคับเส้นทางอันเดียวที่เหลือทำไว้หลอกๆ เพื่อให้เด็กคนอื่นได้รู้สึกมีส่วนร่วมในการบังคับเรือไปยังเส้นทางต่างๆ 

อีกหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีอย่างมากในงาน คงหนีไม่พ้น เครื่อง Time Machine เด็กๆ บอกว่าอยากทำเครื่องไทม์แมชชีนที่ดีกว่านี้ พวกเขามองว่าทำไมต้องเป็น 100 ปี สามารถไปไกลกว่านั้นได้ไหม หรือทำไมต้องทำใหญ่เกินไป สามารถออกแบบให้เป็นหมวกใบเล็กๆ ที่พกพาได้ เป็นวิธีคิดแบบดีไซน์ Thinking ที่เด็กๆ มองออกมาแบบธรรมชาติ ใบปอ กล่าวเสริม

นอกจากนี้ภายในงานยังมี ศูนย์บัญชาการรังผึ้ง (Honeycomb HQ) ทำหน้าที่เป็นฐานปฏิบัติการและเป็นศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับอนาคตอันใกล้และไกล รวมถึงเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแบ่งปันข้อมูลกันได้ ความน่าสนใจอยู่ที่การนำกระดาษรีไซเคิลมาเพิ่มมูลค่าให้เด็กๆ ได้หยิบใช้เพื่อต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง และได้ฟังผู้ปกครองก็สามารถนำไอเดียเหล่านี้กลับไปทำต่อที่บ้านได้

“สิ่งสำคัญคืองานนี้เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการจัดนิทรรศการ เพราะถ้าเราอยากสร้างการเปลี่ยนแปลง เราต้องทำสิ่งนี้ให้สำเร็จก่อน” ใบปอ กล่าว

ต้องบอกว่าในกระบวนการทั้งหมด ทีมงานใช้วัสดุเหลือใช้ที่ได้รับบริจาคมา เช่น ขวดน้ำ ลังกระดาษ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้ว ทำให้นิทรรศการนี้ถูกสร้างขึ้นจากสิ่งของ ‘เท่าที่มี เท่าที่ได้’นำขยะและของเหลือใช้มาแปลงร่างตามความคิดและจินตนาการของเด็กๆ ที่มีต่ออนาคตในอีก 100 ปีข้างหน้า ตามแนวคิดของ Reggio Emilia ที่ว่าด้วยเรื่องการร่วมมือร่วมใจกันทำอะไรบางอย่าง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการศึกษา แต่คือชีวิตและแนวคิดการทำงาน โดยเป็นการรวมความร่วมมือช่วยเหลือกัน ความเชื่อมั่น และพลังความอยากเรียนรู้โลกของเด็กๆ จึงเกิดเป็นนิทรรศการที่รวมผู้คนที่มีความเชื่อเหมือนกัน อยากสนับสนุนซึ่งกันและกัน จึงทำให้งานนี้เกิดขึ้นจริงได้ดังที่นิดนกกล่าว 

“เราอยากให้คนที่มาร่วมงานนี้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นว่าแนวคิด Reggio Emilia สามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ ซึ่งตัวเราเองก็เคยตั้งคำถามว่าเด็กๆ จะทำได้จริงไหม จากการจัดงานครั้งนี้ทำให้เราเห็นว่า เด็กสามารถถ่ายทอดความคิดออกมาได้ดี” 

คุณมีคำแนะนำสำหรับผู้ปกครองที่ต้องการส่งเสริมจินตนาการและไอเดียของเด็กๆ ไหม?

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ปกครองควรสร้างความคุ้นเคยกับการเล่าเรื่อง และการรับฟังเรื่องเล่าไม่ว่าจะเป็นการเล่าผ่านวิธีใดก็ตาม ซึ่งอาจเป็นเรื่องยากหากเจอเด็กที่ไม่ค่อยพูดหรือไม่แชร์ความคิด แต่ความเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญ หากเด็กรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจ พวกเขาจะกล้าเล่าเรื่องราวของตัวเอง” 

“เพราะในทุกๆ วัน เด็กที่ไปโรงเรียนมักถูกป้อนข้อมูลจนไม่ได้มีโอกาสคิดหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ถ้าเราเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เล่าเรื่องราว จะทำให้เราได้รับรู้ความคิดที่ไม่คาดคิดมาก่อน เพราะเด็กมีวิธีการสื่อสารหลายร้อยรูปแบบ แต่เรามักจะจำกัดการสื่อสารไว้แค่สองภาษา คือ ภาษาพูดและภาษาเขียน ดังนั้น ผู้ปกครองควรสนับสนุนให้เด็กได้ค้นหาวิธีการเล่าเรื่องในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูป การประดิษฐ์ หรือการเล่นสนุก เพื่อให้พวกเขาถ่ายทอดความคิดออกมาได้เต็มที่” ใบปอ กล่าว

“จากประสบการณ์ในการเลี้ยงลูก เราพบว่าเด็กๆ มีความคิดสร้างสรรค์มากมาย อย่าละเลยที่จะฟัง และสนุกไปกับเรื่องราว โดยเฉพาะเรื่องเล็กๆ ที่อาจดูประหลาดหรือขบขัน แต่เป็นสิ่งที่มีค่าและเป็นไปได้ในมุมมองพวกเขา เมื่อเด็กๆ โตขึ้น ความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้อาจลดลง หากบอกว่าโลกจะแตก เราอาจยอมรับและปล่อยผ่านไป แต่สำหรับเด็กๆ โลกของพวกเขายังเต็มไปด้วยความเป็นไปได้อีกมาก เราจึงควรรับฟังและให้ความสำคัญกับความคิดของพวกเขา

สำหรับผู้ใหญ่ การที่จะมีคนยอมรับไอเดียของเราอาจต้องผ่านการพิสูจน์ตัวเองมากมาย แต่สำหรับเด็ก เพียงแค่มีคนฟังและยอมรับความคิดของพวกเขา ก็ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า” นิดนก กล่าวทิ้งท้าย

ที่สุดแล้ว นิทรรศการ MUSEUM2124: ทุกวาระเร่งด่วนหมด โปรดงดตื่นตระหนก ไม่ใช่แค่การพูดถึงเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ แต่เป็นการนำเสนอมุมมองของเด็กๆ ที่มีต่อโลกในอีก 100 ปีข้างหน้า ให้ผู้ใหญ่อย่างเราได้มีความหวัง เพราะวาระเร่งด่วนเป็นเรื่องที่ไม่อาจแก้ไขได้ทันที เพราะเราไม่สามารถบอกได้ว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น ขอแค่ในอีก 100 ปีข้างหน้า โลกยังมีสิ่งมีชีวิตแบบเด็กๆ ที่พร้อมสร้างพลัง ส่งต่อความหวังให้คนรุ่นต่อไป เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

Writer
Avatar photo
เพ็ญทิพา ทองคำเภา

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจและ สังคมรอบตัว

Photographer
Avatar photo
อนุชิต นิ่มตลุง

ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว จนถึงสารคดี ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision เพิ่งตัดสายสะดือเป็นคุณพ่อหมาดๆ เมื่อเมษาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563)

Related Posts

Related Posts