

“งานแรกของมี้จัง” เมื่อเด็กเล็กได้ทำงาน และพบว่าตัวเองมีความหมาย
“งานแรกของมี้จัง” เมื่อเด็กเล็กได้ทำงาน และพบว่าตัวเองมีความหมาย
“งานแรกของมี้จัง” (Hatsukumei) คือหนังสือภาพสุดคลาสสิกของญี่ปุ่น วาดและเขียนโดย โยโกะ ซาโนะ ถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางไปซื้อของของเด็กหญิงตัวเล็กๆ ในวันที่แม่ยุ่งกับลูกคนเล็ก เป็นนิทานที่เล่าถึง “การทำงาน” อย่างเรียบง่าย แต่เปี่ยมไปด้วยรายละเอียดของโลกในสายตาเด็ก
เด็กไม่ต้องรอให้โตถึงจะเริ่ม “ทำงาน” ได้ เพราะจริงๆ แล้ว เด็กๆ สามารถเป็นคนริเริ่มทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเองได้ตั้งแต่ยังเล็ก โดยเฉพาะเมื่องานนั้นไม่ใช่งานที่มีเงินหรือรางวัลเป็นเป้าหมาย แต่เป็นงานเล็กๆ ที่ได้ช่วยคนอื่น ดูแลบางสิ่ง หรือมีหน้าที่ในบ้าน งานแบบนี้แหละที่ค่อยๆ ปลูกความรู้สึกว่า “เราเองก็มีความหมาย” ขึ้นมาในใจของเด็ก
พอเด็กเริ่มรู้สึกว่าเขาทำอะไรได้ด้วยตัวเอง มีผลต่อโลกใบนี้ได้บ้าง ไม่ว่าจะเล็กแค่ไหน นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของการมี “ตัวตน” หรือ self แบบที่ไม่ต้องอธิบายเยอะ แต่เด็กจะรู้สึกได้จากข้างใน
และหนึ่งในหนังสือภาพที่ถ่ายทอดเรื่องนี้ได้อย่างสวยงาม ละเอียด และซื่อสัตย์มากคือ “งานแรกของมี้จัง” นิทานสุดคลาสสิกของญี่ปุ่น ที่เล่าเรื่องเด็กผู้หญิงวัย 5 ขวบที่ต้องออกไป “ซื้อนม” ให้แม่ เพราะแม่กำลังยุ่งกับน้องเล็กอยู่ที่บ้าน
ฟังดูธรรมดามากใช่ไหม แต่สำหรับเด็กคนหนึ่ง นี่คือการผจญภัยเต็มรูปแบบเลยทีเดียว
มองโลกจากสายตาคนตัวเล็ก กับงานเด็กๆ ที่กลายเป็นเรื่องผจญภัย
ระหว่างทางมี้จังต้องเจอกับรถที่แล่นเร็ว
เหรียญที่หายไป
คนแปลกหน้าที่ดูน่ากลัว
ป้าที่แซงคิว
ป้าเจ้าของร้านที่ไม่เห็น
และเสียงของเธอไม่ได้มีใครได้ยินเลย
โลกที่ดูธรรมดาของผู้ใหญ่ กลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยอุปสรรค เมื่อมองจากสายตาเด็ก
แค่พูดคำว่า “ขอนมหนึ่งขวดค่ะ” ให้ชัดเจนก็ยากเหลือเกิน แต่เธอก็พยายาม และพอพูดออกไปได้ น้ำตาหนึ่งหยดก็ไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว
มันไม่ใช่น้ำตาแห่งความอ่อนแอ แต่เป็นน้ำตาที่ออกมาหลังจากฝ่าด่านอะไรบางอย่างสำเร็จแล้วต่างหาก
ตอนขากลับ เธอเกือบลืมเงินทอน แต่ป้าเจ้าของร้านก็วิ่งตามมาให้ทัน และที่อบอุ่นที่สุดคือ คุณแม่ที่อุ้มน้องมารอรับอยู่กลางทาง เหมือนเข้าใจว่าเด็กคนหนึ่งที่เพิ่งผ่านอะไรใหญ่ๆ มา ต้องการแค่ใครสักคนที่รออยู่ตรงปลายทาง
สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีพลังมาก คือ ภาพประกอบที่ตั้งใจเล่าเรื่องจากมุมมองของเด็กจริงๆ เช่น รถที่ดูใหญ่โตเกินจริง ร้านค้าที่ดูสูงเกินเอื้อม หรือมุมกล้องที่กดลงต่ำ ทำให้เรา “รู้สึกเล็ก” ไปกับมี้จัง
‘งาน’ คือพื้นที่สร้าง self
สิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องคือภาพสะท้อนกระบวนการสร้าง “ตัวตน” ของเด็กอย่างชัดเจน งานที่มี้จังได้รับไม่ใช่แค่ภารกิจซื้อนม แต่มันคือช่วงเวลาที่เธอ
- การจำคำสั่งและวางแผน (อย่าลืมเงินทอน ระวังรถ)
- การควบคุมอารมณ์เมื่อกลัวหรือไม่มั่นใจ (อยากจะร้องไห้แค่ไหนแต่งานต้องเสร็จ)
- รับมือกับความกลัว รับรู้กับมันแล้วใช้ความกล้านำทางแทน (จนเดินถึงที่หมาย)
- คิดแก้ปัญหาเมื่อสิ่งต่างๆ ไม่เป็นใจ
ที่สำคัญที่สุดคือได้เห็นว่า “ฉันทำได้” ซึ่งความรู้สึกแบบนี้แหละ ที่จะต่อยอดเป็นความมั่นใจ และความกล้าที่จะทำสิ่งอื่นๆ ต่อไปในชีวิต และเมื่อเด็กเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีค่าจากการได้ช่วยอะไรบางอย่าง นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของการเคารพตัวเอง ไม่ใช่เพราะมีใครบอกว่าเก่ง แต่เพราะเขาได้รู้สึกมันจากข้างใน
ไม่ว่าจะฝืนแค่ไหน ก็อยากให้ตัวเองมีค่า
หนังสือเล่มนี้ให้พื้นที่กับเด็กผู้หญิงในการเป็น “ผู้กล้า” และเห็นได้ว่ามี้จังไม่ได้ร่าเริงหรือมั่นใจตั้งแต่แรก เหมือนพวกเราทุกคนที่มีความลังเล กลัว และไม่แน่ใจ แต่สุดท้ายเธอก็ไปถึงเป้าหมายได้ด้วยตัวเอง
สิ่งที่หนังสืออยากบอกอาจจะไม่ใช่แค่ว่า “เด็กทำได้” แต่คือ “เด็กควรได้ลองทำ” และควรได้รู้สึกถึงการเติบโตของตัวเองจากข้างใน สำหรับเด็ก การได้ทำอะไรด้วยตัวเอง ได้รับความไว้ใจ และได้เห็นว่าตัวเองมีผลต่อโลก นั่นคือการทำงานที่สำคัญที่สุดแล้ว
และเช่นเดียวกับเราทุกคนที่กำลังผ่านความยากไม่ว่าจะเป็น การงาน หรือชีวิต นึกถึงโมเมนต์แบบ “มี้จัง” เอาไว้นะคะ ^^
Writer

Admin Mappa
illustrator

Arunnoon
มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด