“สุขภาพจิตควรเป็นเรื่องปกติ” คุยกับมะเฟือง – เรืองริน อักษรานุเคราะห์ นักจิตบำบัด เมื่อการเป็นวัยรุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย
“สุขภาพจิตควรเป็นเรื่องปกติ” คุยกับมะเฟือง – เรืองริน อักษรานุเคราะห์ นักจิตบำบัด เมื่อการเป็นวัยรุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย
- ปัจจุบันนี้ วัยรุ่นต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ด้วยปัจจัยอย่างโซเชียลมีเดีย ระบบทุนนิยม และสังคมปิตาธิปไตย
- อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นยุคใหม่ตระหนักถึงสุขภาพจิตมากขึ้น และหันมาใช้บริการด้านการดูแลสุขภาพจิตมากขึ้น
- ปัญหาความสัมพันธ์เป็นประเด็นที่วัยรุ่นรู้สึกเจ็บปวดที่สุด
- สิ่งที่วัยรุ่นต้องการมากที่สุดในการเยียวยาจิตใจ คือความใส่ใจและการรับฟัง
คนแต่ละรุ่น แต่ละช่วงวัย ล้วนมีปัญหาเป็นของตัวเอง ด้วยความเป็นมนุษย์ที่เชื่อมโยงเข้าหากันและกัน เติบโตและแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ทั้งดีและร้ายท่ามกลางพื้นที่ที่เรียกว่าสังคม และหนึ่งในช่วงวัยที่ดูจะเจอปัญหามากที่สุดและเหน็ดเหนื่อยที่สุดก็คือ “วัยรุ่น” ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อระหว่างวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ สภาวะ “ครึ่งๆ กลางๆ” ที่ไม่เป็นเด็กและไม่ได้เป็นผู้ใหญ่ บวกกับการออกมาเผชิญโลกภายนอกครอบครัวทั้งที่ปีกยังไม่แข็งพอ รวมทั้งโลกที่ไม่ได้มีทรัพยากรหลงเหลือให้พวกเขาครอบครองมากนัก จึงเป็นที่มาของประโยคที่ว่า “เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย”
วัยรุ่นทุกวันนี้เหนื่อยกับอะไรบ้าง และจะมีทางไหนที่เราจะสามารถประคับประคองคนรุ่นนี้ให้เติบโตได้อย่างตลอดรอดฝั่ง Mappa คุยกับมะเฟือง – เรืองริน อักษรานุเคราะห์ นักจิตบำบัดและเจ้าของเพจสุขภาพจิต Beautiful Madness by Mafuang ถึงสถานการณ์สุขภาพจิตของวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน พร้อมหาแนวทางในการดูแลสุขภาพจิตของวัยรุ่น ในยุคที่การใช้ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครเลย
หลากปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นเหนื่อย
การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสุขภาพจิตของผู้คนอยู่เสมออย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ในยุคปัจจุบันนี้ก็เช่นกัน มีปัจจัยมากมายที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่น ซึ่งมะเฟืองกล่าวว่า ปัจจัยหลักอย่างแรกได้แก่ “โซเชียลมีเดีย” ที่แม้จะช่วยให้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวกสบาย แต่ก็มีด้านมืดที่ทำร้ายผู้ใช้งานเช่นกัน ตั้งแต่ความกดดันจากการเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตที่โชว์ในโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงไซเบอร์บูลลี่4
“ด้วยความที่เป็นโซเชียลมีเดียมัน 24 ชั่วโมง สมัยก่อนสมมติเด็กโดนบูลลี่ที่โรงเรียน เพื่อนแกล้ง เด็กคนนั้นกลับถึงบ้านในที่สุด ได้พักแล้ว ถึงบ้านแล้ว แต่สมัยนี้คือ เด็กคนหนึ่งโดนเพื่อนบูลลี่ อย่างเพื่อนสัก 10 คนถ่ายวิดีโอไว้ ลงติ๊กตอก ลงไอจีอยู่ 24 ชั่วโมง เด็กคนนั้นกลับมาบ้านเปิดมือถือก็เห็นวิดีโอตัวเองแล้ว” มะเฟืองยกตัวอย่าง
นอกจากนี้ ระบบทุนนิยมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แข่งขันกัน ก็บีบให้ “ผู้เข้าแข่งขัน” เหล่านี้ต้องเก่งที่สุด ดีที่สุด เพราะความขยันขันแข็งและศักยภาพจะนำพาพวกเขาไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น และนั่นก็นำไปสู่การที่คนในสังคมไม่อนุญาตให้ตัวเองอ่อนแอและแสดงอารมณ์ความรู้สึก เพราะจะกลายเป็นคนล้มเหลวทันที
“ยกตัวอย่างเด็กสมัยนี้ มีหลายคนที่เขาก็อยากใช้ชีวิตสบาย ๆ แต่สังคมสอนเขาว่าเขาจะใช้ชีวิตชิลล์ ๆ ไม่ได้ เพราะว่าถ้าเขาไม่เก่งที่สุด เขาก็จะเสี่ยงตกงาน เขาก็จะเสี่ยงโดนไล่ออก เขาจะเสี่ยงโปรโมชั่นไม่ขึ้น เพราะว่าทุนนิยมมันวิ่งไปข้างหน้าเสมอ บางคนมาบอกเฟืองว่ารู้สึกตัวเองไม่เจ๋งเลยที่มานั่งระทมทุกข์เรื่องความรักแทนที่ตัวเองจะไปเครียดเรื่องงาน ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเรื่องพื้นฐานของคนมาก ๆ ที่อกหักแล้วถึงจะไม่ร้องไห้ บางคนรู้สึกผิดที่จะเชื่อมต่อกับความรู้สึกตัวเอง”
ยิ่งกว่านั้น ระบบทุนนิยมยังทำงานกับระบบปิตาธิปไตย หรือระบบชายเป็นใหญ่ ที่กำหนดบทบาทของเพศหญิงและชาย “ที่ดี” ซึ่งนำไปสู่ความเครียด ความรุนแรง และอื่นๆ ในที่สุด
“สิ่งที่น่าสนใจคือ เฟืองเริ่มงานที่อเมริกา ส่วนใหญ่คนไข้ที่มาคุยกับเฟือง เราจะช่วยแค่สะท้อนเขากลับไปว่าคุณจะทำยังไงกับชีวิตดี แต่หลายคนที่เป็นคนไทย พ่อแม่ไม่ให้ เดี๋ยวทำพ่อแม่เสียใจ หรือว่าต้องกลับมาช่วยธุรกิจพ่อแม่อะไรแบบนี้ หรือว่าเราออกจากบ้านไม่ได้ เฟืองรู้สึกว่าตรงนี้มันยาก เพราะว่าหลายครั้งที่เรารู้ว่าเราต้องการอะไร แต่ว่าสังคมไม่เอื้อ” มะเฟืองอธิบาย
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัจจัยที่คอยขัดขาไม่ให้วัยรุ่นได้เติบโตอย่างราบรื่น ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติของผู้คนด้วยเช่นกัน ขณะที่คนรุ่นเก่าให้คุณค่ากับความอดทนและความมานะอุตสาหะ ด้วยเชื่อว่าจะนำไปสู่คุณภาพชีวิต ชื่อเสียง และความร่ำรวย แต่คนรุ่นใหม่กลับเลือกที่จะ “ไม่ทน” อีกต่อไป
“แต่เดี๋ยวนี้การมีหน้ามีตาในสังคมมันสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ คุณไม่ต้องทำงานรับช่วงต่อจากพ่อแม่เท่านั้น เพื่อที่จะได้แสดงถึงความกตัญญูรู้คุณ แต่ตอนนี้ สมมติว่าเด็กไปเปิดบริษัทเป็นของตัวเองแล้วเอาเงินมาให้พ่อแม่ ก็เป็นความกตัญญูได้อีกแบบหนึ่ง มันก็เป็นวิธีอื่นๆ มากมายในการใช้ชีวิต” มะเฟืองยกตัวอย่าง
ในระยะหลังนี้ มะเฟืองสังเกตว่าผู้ที่มาใช้บริการจิตบำบัดของเธอเป็นวัยรุ่นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะขณะนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการตื่นตัวและตระหนักรู้ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยม ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิต ที่มีการตัดสินตีตราผู้ป่วยน้อยลง และหลายคนก็มีทัศนคติที่ดีต่อการพบบุคลากรด้านจิตเวชมากขึ้น ส่วนวัยรุ่นเองก็ตระหนักถึงการดูแลตัวเองด้านสุขภาพจิตมากขึ้น และต้องการพื้นที่ที่ปลอดภัยมากพอในการเรียนรู้โลกภายนอก
“เด็กรุ่นนี้โตมาพร้อมกับการตระหนักมากมายต่อเรื่องสุขภาพจิต เพราะเขาเข้าใจว่าโอเคเรื่องนี้เครียด ก็คุยกับนักจิตได้นี่หว่า หรือว่าเราไม่ชอบงานนี้เราลาออกได้นี่หว่า เมื่อก่อนเขาจะรู้สึกว่าควรปรึกษาพ่อแม่ แต่ว่าหลายคนก็เริ่มเรียนรู้ว่าบางทีพ่อแม่ ด้วยเจเนอเรชั่นที่มันต่างกันมาก ก็อาจจะไม่ได้เข้าใจเราร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาก็อาจจะแค่อยากหาพื้นที่ปลอดภัย ที่รู้สึกว่าเราได้รับรู้ถึงความเข้าใจ และปลอดภัยจริงๆ” มะเฟืองกล่าว
“ความรัก – ความสัมพันธ์” เรื่องเล็กในสายตาใครๆ แต่เรื่องใหญ่สำหรับวัยรุ่น
มะเฟืองเลือกศึกษาการบำบัดด้านชีวิตคู่และครอบครัว ซึ่งผู้ใช้บริการที่เป็นวัยรุ่นก็มักจะมาบำบัดจิตใจจากปัญหาความสัมพันธ์กับคนรัก เพื่อน หรือครอบครัว
“สำหรับวัยรุ่น สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดก็คือความสัมพันธ์ แล้วก็มีความไม่เข้าใจเยอะ ทำไมคนนี้ถึงไม่รักเรา ทำไมเรามีความสัมพันธ์แบบนี้ไม่ได้ มันจะมีคำถามอยู่เยอะ วัยรุ่นที่เพิ่งก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่มันใหม่มาก มันก็จะท้าทายในการที่ค่อยๆ จับมือเขา ค่อยๆ อยู่เป็นเพื่อนเขา แล้วก็ผ่านเรื่องราวที่มันโหดนี้ไปด้วยกัน เพราะว่ามันก็คือการอกหักครั้งแรก มันคือการโดนทิ้งครั้งแรก มันคือการเจ็บครั้งแรกที่มันแย่มากๆ มันคือการโดนทำร้ายจิตใจครั้งแรก มันคืออะไรหลายๆ อย่าง”
ทว่าสิ่งหนึ่งที่วัยรุ่นจำนวนมากต้องเผชิญ คือท่าทีของพ่อแม่และผู้ใหญ่รอบข้างที่มีต่อปัญหาของพวกเขา ซึ่งมักจะลงท้ายว่า “เรื่องแค่นี้เอง” และ “ทำไมไม่รู้จักอดทนให้มากกว่านี้” และทำให้วัยรุ่นรู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจและโดดเดี่ยวกว่าที่เคย
“สมัยก่อน หนึ่งในคุณค่าที่ผู้ใหญ่ให้ค่ามากๆ มันคือความอดทน หมายถึงว่า การที่เขาเป็นเขามาจนถึงทุกวันนี้ รวยไปเป็นมหาเศรษฐีได้ทุกวันนี้มันคือความอดทนแหละ มันคือการทำงาน 7 วัน มันคือการตื่นมาแล้วทำงานเลยถึงก่อนนอน นอนแล้วก็ตื่นมาทำงานอีก มันคือการที่เหนื่อยขนาดไหนก็ต้องทน แล้วมันทำให้เขาได้ดี มันก็เลยง่ายที่เขาจะเชื่อว่าวิธีนี้แหละ เป็นวิธีถูกต้องที่สุดวิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนคนหนึ่งได้ดี” มะเฟืองอธิบาย
นอกจากนี้ ยังมีผู้ใหญ่หลายคนที่รู้สึกเป็นห่วงเป็นใยเมื่อเห็นลูกหลานมีปัญหา และพยายามเอาความทุกข์ออกจากจิตใจของลูกหลานทันที แต่วิธีการจัดการกับความทุกข์เช่นนี้ก็มีที่มาจากการที่คนเราไม่เคยถูกสอนให้ยอมรับและอยู่ร่วมกับอารมณ์เชิงลบ เมื่อต้องเผชิญกับอารมณ์โกรธ เศร้า หรือรู้สึกตึงเครียด จึงพยายามดิ้นรนเพื่อที่จะหนีจากอารมณ์เหล่านี้ให้เร็วที่สุด ซึ่งอาจจะไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ตรงจุดนัก
“สำหรับบางคนเขาก็รู้สึกว่า เขายังอยากอยู่กับก้อนนี้ก่อน ที่เขายังไม่อยากสลัดออกไป เพราะว่ามันเศร้ามากเลย เขาต้องการคร่ำครวญในสิ่งเหล่านี้ก่อน”
“ทุกอารมณ์มันก็คือส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์น่ะ ถ้าเราอยู่กับมันได้ เราก็จะอยู่กับอารมณ์นี้ที่คนที่เรารักมีได้ หมายถึงว่าเราก็จะรู้สึกสบายใจมากขึ้น ที่คนที่เรารักเขาจะมาแชร์เรื่องราวที่เจ็บปวดของเขา แล้วเราก็จะรู้สึกว่า ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเราที่ต้องปัดมันออกไป” มะเฟืองกล่าว
มะเฟืองกล่าวว่า การอยู่กับอารมณ์ตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อก้าวข้ามจุดนี้ได้ เราจะสามารถอยู่กับอารมณ์เหล่านี้ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องกลัวหรือพยายามหนี ซึ่งนั่นหมายความว่า อารมณ์ด้านลบเหล่านี้ไม่ได้ควบคุมเราอีกต่อไป
“ถ้าคุณเป็นมิตรกับบาดแผลของคุณหรือเรื่องราวที่ทำให้คุณเจ็บมากเท่าไร นั่นคือคุณชนะ แต่ว่าบางครั้งมันยากที่เราจะเป็นมิตรกับสิ่งที่เรารู้สึกแย่กับตัวเองมาก ๆ มันก็เลยต้องใช้อีกคนหนึ่งช่วยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ช่วยไกด์ แล้วเวลาที่คุยกับระหว่างบำบัด บาดแผลคุณไม่ได้หายไปนะ คุณเห็นมันชัดขึ้นด้วยซ้ำแต่ว่าคุณไม่ได้รู้สึกเป็นทาสมันหรือทำให้คุณตายได้เหมือนเมื่อก่อน” มะเฟืองระบุ
แล้ววัยรุ่นต้องการอะไรในการเยียวยาจิตใจจากความทุกข์? มะเฟืองกล่าวว่า สิ่งที่วัยรุ่นต้องการคือ “พื้นที่ปลอดภัย” ในการแชร์ความรู้สึกของตัวเอง
“คนเดี๋ยวนี้รู้สึกสบายใจมากขึ้นที่จะแชร์เรื่องราวที่เมื่อก่อนถูกห้ามแชร์มากขึ้น แค่มีเพื่อนสนิทสักคนก็สามารถมีสุขภาพจิตที่ดีได้แล้ว เพื่อนสนิทที่รับฟังบางคนไม่ถึงขั้นมาหานักจิตด้วยซ้ำ เพื่อนสนิทที่รับฟังตลอดเวลา มันคือที่พักใจ” มะเฟืองกล่าว
สุขภาพจิตควรเป็นเรื่องปกติ
เมื่อปัญหาสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใดก็ตาม ทำอย่างไรที่เราจะป้องกันไม่ให้ปัญหาสุขภาพจิตส่งผลกระทบต่อชีวิตเรา มะเฟืองเสนอว่า ควรทำให้เรื่องสุขภาพจิตกลายเป็นเรื่องปกติ แทนที่จะพยายามฝืนตัวเองเพื่อให้ดูเป็นคนเข้มแข็ง
“การที่ต้องไม่ร้องไห้ ต้องไม่แสดงความเครียดออกมา มันไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง มันคือเป็นแค่ความอึดอัด ความฝืนมากๆ เราก็ต้อง normalize สุขภาพจิตว่า เรารักเขาขนาดนี้ แล้วเขาเลิกกับเรา ทำไมเราจะไม่เจ็บวะ มันโคตรสมเหตุสมผลเลย มันคือการค่อยๆ จูนความรู้สึกตัวเอง บอกว่าทำไมเราถึงรู้สึกอย่างนี้นะ โดยที่ไม่ต้องตัดสิน แล้วพอเรารับรู้มันได้แล้ว มันก็จะเยียวยาต่อได้”
นอกเหนือจากการดูแลตัวเองผ่านการทำให้สุขภาพจิตเป็นเรื่องปกติ และยอมรับอารมณ์แง่ลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ครอบครัวและโรงเรียนก็มีบทบาทสำคัญในการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของวัยรุ่น ผ่าน 2 วิธี คือ “ใส่ใจ” และ “รับฟัง”
“สมมติว่ามันเป็นปัญหาที่เล็ก มันง่ายมากที่คุณครูหรือพ่อแม่ที่จะปัดทิ้ง อาจจะพูดว่า อะไรเนี่ย นิดเดียวเอง แล้วใครจะไปรู้ว่าจริงๆ แล้วปัญหานี้มันใหญ่สำหรับใจเขา หรือว่าเพื่อนไม่ชวนไปเที่ยว ทั้งๆ ที่ชวนคนอื่นไปหมดเลยทั้งห้อง หลายคนก็อาจจะมองว่าเล็กน้อย แต่จริงๆ มันคือการที่เด็กคนหนึ่งมองตัวเองว่ามีคุณค่าแค่ไหน มีตัวตนขนาดไหน คือมันใหญ่มาก”
“แล้วก็การรับฟังโดยที่ไม่ต้องรีบปัด โดยที่ไม่ต้องรีบบอกให้คิดในแง่ดีว่าเรามีพ่อแม่ที่รักเราจะตาย อย่าเพิ่งรีบปัด ปล่อยให้เขาได้พูดความรู้สึกในใจ ให้ได้ระบายออกมา คือทุกคนแค่ต้องการการมองเห็นและการรับรู้ว่าสิ่งที่เขาแบกอยู่มันสำคัญนะ มันใหญ่สำหรับเขานะ”
Writer
ณัฐธยาน์ ลิขิตเดชาโรจน์
บรรณาธิการและแม่ลูกหนึ่ง ผู้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ผ่านการเติบโตของลูกชาย มีหนังสือและเพลงเมทัลร็อกเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยกาแฟและขนมทุกชนิด
illustrator
ลักษิกา บรรพพงศ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรีส์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นทาสแมว
Photographer
ชัชฐพล จันทยุง
หลงรักการบันทึกรอยยิ้มและความรู้สึกเป็นภาพถ่าย