‘ครูเม’ ตามใจนักจิตวิทยา: ความรักไม่ใช่เหตุผลของ consent การเยียวยาเด็ก จึงไม่ใช่เรื่องภายในครอบครัว
‘ครูเม’ ตามใจนักจิตวิทยา: ความรักไม่ใช่เหตุผลของ consent การเยียวยาเด็ก จึงไม่ใช่เรื่องภายในครอบครัว
- การแสดงออกความรักมักอ่อนไหวเสมอ โดยเฉพาะการแสดงออกที่มากเกินไป จนข้ามเส้น consent ความยินยอมในสิทธิเนื้อตัวของเด็กคนหนึ่ง
- ตัดประเด็นเรื่องภายในครอบครัวออกไป เพราะเรื่องสำคัญกว่ามากคือ เส้นแบ่งระหว่างการแสดงความรักกับการยินยอมของเด็ก (consent) ว่าควรอยู่ตรงไหน
- ความรักผิดพลาดได้ และเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราจะช่วยเหลือและเยียวยาจิตใจเด็กๆ อย่างไร บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้มีคำตอบ
นักจิตวิทยาก็คือมนุษย์คนหนึ่ง
“ใช่ค่ะ ในใจก็ไม่ไหวเหมือนกัน ก็ด่า ก็กระเจิดกระเจิง เเต่ใช้วิธี time out ตัวเอง หรือพูดกับเพื่อนร่วมวิชาชีพว่าเราขอพื้นที่พ่นของเสียนะ สักพักหนึ่งก็โอเค เราเคลียร์สติ ตกตะกอนได้แล้ว”
ตอนที่รู้ข่าวครั้งแรก ‘ครูเม’ เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว เจ้าของเพจตามใจนักจิตวิทยา ยอมรับว่าตัวเองก็ไม่ไหวเหมือนกัน
แต่ครูเมใช้วิธีไม่รีบ หลังเคลียร์สติได้แล้ว ก็กลับมาทบทวนและถามตัวเองว่าโกรธเพราะอะไร จากนั้นถามตัวเองว่าจะต่อว่าเขาหรือจะช่วยเขา
ตัดคำตอบคือต่อว่าออกไป เพราะความตั้งใจของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้คือ ‘ช่วยเขา’ เพราะเราไม่ควรนับว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องภายในครอบครัว ความเป็นส่วนตัวบางอย่างเมื่อโพสต์ในโลกโซเชียลออนไลน์ นั่นเท่ากับว่า คุณขยับสถานะให้เป็นเรื่องสาธารณะเรียบร้อยแล้ว
ที่สำคัญมากกว่าและควรข้ามพ้นความ privacy ของครอบครัว คือเส้นแบ่งระหว่างการแสดงความรักกับการยินยอมของเด็ก หรือ consent ว่าควรอยู่ตรงไหน
แม้ประเด็นเกิดขึ้นจากบุคคลสาธารณะ แต่การแสดงความรักคือเรื่องพื้นฐานของทุกครอบครัว พ่อแม่หลายคนอาจเคยแสดงความรักกับลูกแบบนี้เพราะถูกรักแบบนี้มาก่อน ทิ้งร่องรอยต่างๆ เป็น Digital footprint เต็มไปหมด
ยังไม่สายเกินไปสำหรับการกลับมาตั้งต้นกันใหม่ รักลูก เคารพสิทธิของลูกในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
เพราะความรักผิดพลาดได้ แต่อย่าใช้ความรักมายืนยันความถูกต้อง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คิดว่าหลายๆ ครอบครัวเป็นแบบนี้ ถ้าพ่อแม่เอากลับมาคุยกับตัวเองก่อน เราจะเริ่มคุยกันเองยังไง
ไม่ได้บอกว่าเหตุการณ์นี้ผิดหรือถูก แต่มองในฐานะนักจิตวิทยา เวลาเจอสถานการณ์ เราอย่าเพิ่งรีบพิมพ์ รีบเขียน รีบพูด เพราะอันนั้นมันมักจะมาจากประสบการณ์ของเราที่ไปเปรียบเทียบ เอา mindset ของเราไปวางทาบกับของเขา ถ้าเราเจอเหตุการณ์อะไรให้เราหยุดอยู่ตรงนั้น อย่าเพิ่งรีบ respond กลับไปทันที ให้คิดทบทวนอยู่ในสมองสักชั่วโมงสองชั่วโมงหรือเป็นวันก็ได้ ก่อนที่จะเขียนอะไรออกไป พูดอะไรออกไปหรือว่าแม้กระทั่ง react อะไรออกไป
เพราะว่าช่วงแรกๆ การตอบสนองเรามักจะเกิดจากประสบการณ์เก่า สัญชาตญาณและอารมณ์ ถ้าโชคดีมีเหตุผลมันก็ดีไป แต่ถ้าไม่ มันก็จะทำให้เราเผลอไปทำร้ายเขา เราไม่อยากให้เขาทำร้ายเด็กหรือไม่อยากทำให้ใครรู้สึกแย่ แต่เราเองก็อาจจะเป็นฝ่ายที่ไปทำร้ายเขาเช่นกัน
ในขณะที่เรายังไม่ได้มีเหตุผลเพียงพอที่จะพูดอย่างมีเหตุมีผล เราทบทวนอะไรได้บ้าง
หนึ่ง ทบทวนอารมณ์ โกรธไหม ตกใจไหม เครียดหรือเปล่าและเพราะอะไรเราถึงเกิดอารมณ์นี้ คำถามคือเพราะอะไรเราถึงโกรธ เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่เหมือนกับที่เรารับรู้มาหรือเพราะว่าเราคิดว่ามันไม่ถูกต้อง เพราะว่าเราเติบโตมาอีกแบบหนึ่งหรือเพราะเราคิดว่าเขาน่าจะต่ำกว่าเรา เราอยู่เหนือเขาแล้วเรากำลังจะตัดสินเขา เรารู้สึกโกรธไม่พอใจ ได้นะ ไม่ได้บอกว่าห้ามโกรธ
แต่อยากให้สงบเพียงพอถึงจะมาพูดคุยกันในเรื่องที่รุนแรง โดยเฉพาะเรื่องที่จะทำให้มนุษย์ปรี๊ดถึงขีดสุด คือกฎ 3 ข้อ 1.การไม่ได้รับความยุติธรรม 2.การทำร้าย 3.การเอารัดเอาเปรียบ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องการเวลาในการตกผลึก
และถ้าคำตอบของเราคือ โกรธเพราะเรารู้สึกว่ามันผิดกับสิ่งที่เรารับรู้หรือประสบการณ์ ก็จะไปต่อขั้นที่สอง
สอง ถามตัวเองว่าเราต้องการจะทำโทษ ลงโทษ หรือช่วยเหลือ อีกฝ่าย ซึ่งการด่า ต่อว่า (blaming) ก็อยู่ในการโทษอีกฝ่าย ซึ่งทำได้ง่าย และเกิดหมู่มวลชนง่ายมาก ดังนั้นถ้าเราต้องการลงโทษอีกฝ่าย เราต้องย้อนกลับมาว่าตัวเราอยู่ในขั้นที่จะไปตัดสินเขาได้ไหม แล้วการตัดสินนำไปสู่อะไร ถ้าเราคิดว่าเพื่อความสะใจหรือเพื่อระบายอารมณ์มันก็จะนำไปสู่อารมณ์ที่กลับมาเหมือนๆ กัน action = reaction ซึ่งไม่ได้นำไปสู่ solution ใดๆ วนอยู่ในวัฏจักรเดิม สังคมก็จะขับเคลื่อนด้วยการวนเป็นวงกลม ไม่ได้หลุดออกมาจากอารมณ์เสียที
แต่ถ้าสองคือเราต้องการช่วยเหลือ เราต้องการสิ่งที่ดีกว่านี้ ไม่ได้ต้องการให้มันเป็นเหมือนเดิม ดังนั้นการช่วยเหลือเราก็จะตัดเรื่องที่ไม่จำเป็นออกไปได้ เช่น อารมณ์ toxic ต่างๆ การต่อว่า (blaming) การประจาน ทำให้อับอาย จริงๆ ก็เหมือนเด็ก เวลาเราจะสอนอะไรเขา เราต้องทำให้เขาอับอายไหม เราต้องประจานเขาไหม เราต้องลงโทษให้เขาเจ็บตัวไหม ครูเมก็มองสังคมเหมือนเด็กคนหนึ่ง ถ้าสังคมเป็นเด็ก เขาคงต้องการความช่วยเหลือไม่อย่างนั้นเขาคงไม่ทำแบบนี้ เขาอาจจะเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เอื้อให้เขาคิดวิธีอื่นได้ เขาเลยทำแบบนี้
อาจจะดูโลกสวย แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกคนต้องการโอกาส ต้องการความช่วยเหลือ แต่ถ้าเรายื่นไปเเล้วเขาไม่เอา ค่อยมาคุยกัน
ดังนั้นข้อ 2 คือสิ่งที่ครูเมพยายามทำอยู่เสมอ ถึงในใจไม่ไหวเหมือนกัน บางทีจะตบะแตก แต่เราใช้วิธี time out ตัวเองออกมาจากการ response ไปด่าให้เสร็จเรียบร้อยหรือไปเคลียร์สติตัวเองก่อนจะมาพิมพ์ พิมพ์สิ่งที่มันจะช่วย ถ้าเราต้องการช่วยเหลือใครสักคน เราต้องให้โอกาสเขาแล้วลองให้ solution เขาว่าคุณลองทำแบบนี้ดูไหม หรือบางทีคุณไม่ทำแบบนี้คุณมีทางออกแบบไหนได้บ้าง เราไม่ได้บังคับว่าคุณจะต้องขอโทษ รู้สึกผิด หรือสำนึกได้แล้ว อันนี้มันคือการที่เราก็เผลอตัดสินเขาไปเหมือนกันว่า เขาคิดเองไม่ได้ เขาควรต้องทำแบบนี้
การที่เราจะช่วยใครสักคนมันคือการมองเขาเป็นมนุษย์เหมือนกัน จริงๆ เด็กก็เป็นมนุษย์ แต่เขาอาจจะขาดประสบการณ์หรือขาดความรู้บางด้านไป เราก็ให้ความรู้ไป อันนี้ก็เหมือนกัน เราให้โอกาสให้การช่วยเหลือ เขาจะทำหรือไม่ทำมันคือเรื่องของเวลา บางอย่างมันฝังรากลึก ต้องใช้เวลา แล้วถ้ามันเหนือความความสามารถของเราก็จำเป็นจะต้องมีคนที่มี power หรือมีความรู้มากกว่ามาช่วยเขา เหมือนบางคนในสังคมตอนนี้ก็แนะนำว่าคุณหนึ่งหรือใครหลายคนที่เป็นเหยื่อ ไปปรึกษาจิตแพทย์ไหม
ต้องเปลี่ยนสังคมว่าเราไม่ได้ด่าอยู่นะ การไปพบจิตแพทย์ก็เหมือนกับคุณไม่สบายไปหาหมอไหม เราพาไปได้นะ มันเป็นเรื่องน้ำเสียง เป็นเรื่องความปรารถนาดีซึ่งตรงนี้มันคือเรื่องของมนุษย์ ความเห็นอกเห็นใจ เรากำลังขาดมันไป
เหตุการณ์ตอนนี้คือสังคม response ไปแล้ว ถึงค่อยหา solution หาวิธีช่วยเหลือเด็กอย่างไรดีในเมื่อมี digital footprint เต็มไปหมด
เราต้องการอะไร ข้อหนึ่งคือทบทวนอารมณ์ ข้อสองคือทบทวนว่าเราต้องการจะช่วยเขาหรือ blaming หรือ judge เขาลงโทษเขา ซึ่งสังคมตอนนี้กำลังใช้ข้อนี้อยู่ซึ่งมันเลยกลายเป็นว่าแทนที่จะลงโทษเขาคนเดียว บางครั้งเราทำร้ายคนที่อยู่รอบตัวเขาไปด้วยหรือทำร้ายคนที่เป็นผู้ถูกกระทำไปด้วย
เหมือนหลายๆ ครั้ง เราจะเห็นคลิปวิดีโอของเหยื่อ จริงๆ เหยื่ออับอายนะ แล้วเขาจะใช้ชีวิตต่อไปยังไง อันนี้ไม่ได้หมายถึงแค่น้อง 8 ขวบ แต่หมายถึงเหยื่อในทุกๆ เหตุการณ์ เราแชร์มันไปเราแค่ต้องการสะใจหรือได้ลงโทษคนที่กระทำ แต่เราลืมไปไหมว่าเหยื่อเองก็ได้รับการกระจายข้อมูลตรงนี้ออกไปเหมือนกัน เขาก็รู้สึกเหมือนกัน
ในทางกลับกัน จากข่าวที่เกิดขึ้น มันทำให้พ่อแม่หลายคนกลับมาคุยกับตัวเองว่าฉันเองก็เคยเเสดงความรักกับลูกด้วยวิธีการแบบนี้ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว เส้นตรงกลางหรือความเหมาะสมในการแสดงความรักควรอยู่ตรงไหน
เรื่องของร่างกายหรือการแสดงออกทางความรักที่เหมาะสม เส้นแบ่งมันไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ทฤษฎี ไม่ใช่วัฒนธรรม เเละไม่ใช่เรื่องภายในบ้าน แต่มันคือเรื่องของ consent ลูกสบายใจหรือเปล่า ถ้าลูกรู้สึกว่ามันไม่โอเคเขาควรจะปฏิเสธได้
แต่ถ้าเป็นเด็กเล็ก มีส่วนไหนบ้างที่ควรจะจับ เด็กควรจะรู้จักการช่วยเหลือตัวเองได้ตอนอายุตั้งแต่เท่าไหร่ เราสอนได้ตั้งแต่ 9 เดือนก็สอนการกินข้าวไปเรื่อยๆ ไปจนถึงการทำความสะอาด เช็ดปาก การเช็ดปากได้ถือว่าเป็นการดูแลร่างกายขั้นแรก สอง พอเขาอายุประมาณขวบครึ่งหรือ 2 ขวบขึ้นไป เขาจะลองใส่เสื้อผ้าได้บ้างง่ายๆ หรือแม้กระทั่งรู้แล้วว่า พุงเปิดก็ต้องปิดผ้าได้ ซึ่งตรงนี้เขาจะเริ่มรับรู้แล้วนะว่าอันนี้ฉันใส่เสื้อผ้าเพื่อปกปิดร่างกายของฉัน แสดงว่าร่างกายของฉันก็สำคัญ ดังนั้นบริเวณในร่มผ้าจึงไม่ใช่ส่วนที่ควรจะสัมผัสกันแบบหยอกล้อเย้าแหย่ เล่นเป่าพุง หรืออะไรแบบนี้ ถ้าในเด็กทารกยังพอได้อยู่แต่เมื่อเด็กถึงวัยที่เขาเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว โดยรวมๆ คือ ขวบครึ่งจนถึง 3 ขวบ เริ่มเดินได้ พูดคุยสื่อสารได้ ในร่มผ้าควรขออนุญาตลูกก่อน
แล้วแบบไหนคือ สัมผัสที่ค่อนข้างอ่อนโยน ถ้ามองในแง่ของความเป็นจริงคือเราลูบหลังลูกให้เขานอน ถ้าเป็นเด็กวัยเล็กอาจจะมีการตบก้นได้บ้างแต่ไม่ใช่ถึงกับไปจก ขยำขยี้ และการลูบหัวก็มีข้อจำกัดอยู่ มันควรจะเป็นแค่คนในบ้านหรือว่าเป็นคนที่ใกล้ชิด คนที่เด็กไว้ใจ เเต่สุดท้ายพอเขาโตมากพอจนเข้าห้องน้ำเองได้แล้ว การล้างก้น ล้างจิ๋ม ล้างจู๋ควรเป็นสิ่งที่พ่อแม่สอน
เมื่อเด็กช่วยเหลือตัวเองได้แล้วเราควรงดการสัมผัส (no touch) 4 จุดสำคัญ คือ อวัยวะเพศ (อวัยวะเพศรวมไปถึงบริเวณขาหนีบ) ก้น ปาก เเละหน้าอก เพราะว่า 4 จุดนี้ทางกายภาพมันค่อนข้างไวต่อความรู้สึก เป็นจุดที่ผู้สัมผัสเองหรือผู้ถูกสัมผัสจะเกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นมาได้ ในเด็กอาจจะรู้สึกจั๊กจี้ แต่ผู้ที่สัมผัส ถ้าในเชิงสัญชาตญาณเขาก็จะรู้สึกบางอย่างขึ้นมาได้ ดังนั้น 4 จุดนี้จึงเป็นส่วนที่ห้ามสัมผัสเมื่อลูกช่วยเหลือตัวเองได้เเล้ว
แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่คิดว่าลูกจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ การสัมผัสอวัยวะเพศ เราเน้นการสอนด้วยการสัมผัสผ่านมือของเขา การใช้ทิชชู หรือการใช้ฝักบัว แต่ไม่ใช่ไปจับของเขาทันทีเพื่อหยอกล้อ เย้าเเหย่เล่น
เด็กบางคนที่สัมผัสอวัยวะเพศของตัวเองก่อนนอน พ่อแม่บางคนสงสัยว่าลูกช่วยตัวเองเป็นแล้วหรือ อันนั้นคือไม่ใช่ เขาแค่กำลังสำรวจร่างกาย จับแล้วรู้สึกอบอุ่น ดังนั้นอวัยวะเพศก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยเหมือนกัน แต่เมื่อมันถูกกระทำด้วยผู้อื่นมันเลยทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยจึงเป็นเหตุและผลว่าทำไมเมื่อเด็กรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือรู้สึกกังวลใจเขาจะจับจู๋ นั่นคือเขากังวล หรือเด็กผู้หญิงบางคนก็จับจิ๋มเวลานอนเพราะว่าบางครั้งมันทำให้เขารู้สึกปลอดภัย เป็นพัฒนาการของเขา
ถ้าตามทฤษฎีของฟรอยด์ มันเป็นช่วง Phallic Stage สำรวจตัวเองของเด็กในวัย 3-5 ปี การช่วยเหลือตัวเองได้ ทำให้เขารู้จักตัวเอง ร่างกายตัวเอง และปกป้องตัวเองได้ สมมุติว่าเด็กไม่ consent ให้คนอื่นอุ้มหรือหอม แต่พ่อแม่กลับบอกว่าให้ลุงจุ๊บหน่อยลุงคิดถึง เด็กจะรู้สึกว่าร่างกายไม่ใช่ของเขา แต่เป็นของพ่อแม่
ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เขาจะกลัวว่าพ่อแม่จะรู้สึกยังไงแทนที่เขาจะรู้สึกยังไง ดังนั้นเวลาเกิดอะไรขึ้นเด็กควรจะเป็นผู้อนุญาตหรือไม่อนุญาตในร่างกายเขาไม่ใช่เรา (พ่อแม่) เพื่อที่ว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายเขาในอนาคต เช่น มีคนมาทำร้ายเขา เขาจะรู้สึกว่าเขาควรจะโกรธ เขาควรจะบอกได้ ไม่ใช่กลัวว่าพ่อแม่จะรู้สึกยังไงกับร่างกายของเขาที่ถูกกระทำ
มันไม่ใช่แค่เรื่องเนื้อตัว คือมันมีความปลอดภัยของเด็กในอนาคตด้วย?
เด็กเขาเชื่อมโยงนะว่าพ่อแม่เป็นคนอนุญาตให้คนอื่นมาสัมผัสร่างกาย หรือเด็กบางคนกลัวว่าตัวเองไปหกล้มมาแล้วปกปิดไว้ กลัวแม่โกรธ เจ็บมากแต่เขากลัวเราจะโกรธ เพราะเขารู้สึกว่าถ้าร่างกายเกิดอะไรขึ้นมา พ่อแม่จะรู้สึกยังไง
จริงๆ เขาควรจะคำนึงถึงความรู้สึกตัวเองเป็นอันดับแรกด้วยซ้ำ
ไม่ใช่พ่อแม่รู้สึกยังไง
ใช่ค่ะ จริงๆ หนูเป็นอะไรหนูบอกได้ หนูโกรธ หนูไม่พอใจ หนูไม่ชอบให้คนมาหยิกแก้ม แม่จะปกป้องหนูเอง มันดูเหมือนหยิ่ง อย่ามาสัมผัสลูก แต่จริงๆ เรื่องพวกนี้ ทำไมเราไม่เคยทำกับผู้ใหญ่ ไม่จกพุงผู้ใหญ่เวลาเจอกัน แต่ทำไมเราทำแบบนี้กับเด็ก เพราะเรามองว่าเขาเป็นเด็กหรือ
อันนี้วัฒนธรรมก็มีส่วนเหมือนกัน เพราะเด็กกว่าหรืออายุน้อยกว่าแปลว่าผู้ใหญ่จะถูกต้องเสมอ อันนี้ในต่างประเทศหรือในการบำบัดบางอย่างเราก็ต้องไปรื้อ mindset บางอย่างออกไป ว่าเด็กก็มีสิทธิ์ที่จะปกป้องร่างกายของตัวเองได้ ผู้ใหญ่ไม่มีสิทธิ์ถ้าเราไม่ได้ขออนุญาตเขา
พ่อแม่ที่เคยทำแบบนี้ไป และรู้ตัวว่าผิด จะแก้ไขได้อย่างไรบ้าง
พ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่เราทำมันผิดพลาดไปแล้ว และมันไปลบทุกอย่างที่อยู่ในดิจิทัลไม่ได้แล้ว สิ่งที่พ่อแม่ทำได้คือเราคุยกับลูกว่าพ่อแม่รู้สึกว่าที่ผ่านมา พ่อแม่อาจจะทำบางอย่างที่ไม่ค่อยโอเค ซึ่งจริงๆ เเล้วพ่อเเม่ควรขออนุญาตลูกก่อน ต่อไปนี้เราจะหยุดการโพสต์หรือถ่ายรูปลูกโดยไม่ขออนุญาต แต่ถ้าลูกเบบี๋มากๆ อันนี้พ่อแม่ก็คือหยุดได้เลยก่อนที่มันจะไปถึงจุดที่เกินเลยไปมากกว่านี้
เด็กรู้สึกว่าอยากให้พ่อแม่พอใจ รักพ่อแม่มาก ดังนั้นความรักที่ไม่มีเงื่อนไขมันคือลูกนะ ไม่ว่าพ่อแม่ทำอะไรเขาก็จะให้อภัยแหละ แต่สุดท้ายแล้วความผิดพลาดที่ทำให้เกิดบาดแผลมันเป็นไปได้ในวัยโต ตอนนี้เขาอาจจะรู้สึกน้อยเพราะเขาไม่รู้ว่าผลกระทบคือเรื่องอะไรได้บ้าง เช่น ความอับอาย ชื่อเสียง สังคม คือเด็กยังไม่ได้อยู่ในขั้นที่จะรับรู้ถึงความหนักหนาของการที่มีร่องรอยในอินเทอร์เน็ตไปตลอด
ดังนั้นสิ่งที่เราจะเตรียมลูกได้คือเรื่องของการที่พูดคุยกับเขาอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่ว่าไปร้องห่มร้องไห้กับลูก แต่คุยกับลูกว่าอันนี้พ่อแม่ผิดพลาดไป ต่อไปนี้พ่อแม่จะขออนุญาตลูกนะ
พ่อแม่ขอโทษได้ไหม
ขอโทษได้ จริงๆ ควรขอโทษแล้วให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ทำผิดได้นะ แต่จริงๆ การขอโทษมันยังไม่ได้แสดงถึงความรับผิดชอบมันเป็นเพียงการยอมรับขั้นแรก ขั้นที่ 2 คือรับผิดชอบอย่างไร ตรงนี้เราก็อาจจะบอกลูกว่าสิ่งที่พ่อแม่พยายามแก้ไขอยู่คืออะไร พ่ออาจจะตั้ง private ไม่ public แล้วนะ ลบรูปแล้ว
ที่สำคัญคือพยายามดำเนินการบางอย่างอย่างเต็มที่ที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ ไม่ได้บอกว่าให้ไปติดสินบนใครให้ลบออกจากอินเทอร์เน็ตทั้งหมดนะ แต่หมายถึงทำในสิ่งที่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งจะสามารถทำได้อย่างเต็มที่
หลังจากนั้น ถ้าลูกยังไม่รู้สึกอะไร เราก็ให้การเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดในลักษณะที่ไม่ได้ปกป้องหรือห่วงลูก แต่ให้การเลี้ยงดูตามวัยของลูกไปเรื่อยๆ เมื่อถึงวันหนึ่งที่เขาต้องใช้อินเทอร์เน็ต อาจจะ 9-10 ขวบหรืออาจจะเร็วกว่านั้น
สิ่งที่เราทำได้ก่อนที่ลูกจะไปเสิร์ชชื่อเขาเองใน Google ให้เราคุยกับเขาตรงไปตรงมาเลยว่าบางอย่างที่เคยอยู่มันคืออะไร แล้วถ้าลูกโกรธ พ่อเข้าใจ รับรู้อารมณ์ก่อนที่ลูกจะไปรู้ได้ด้วยตัวเอง อารมณ์เหมือนพ่อแม่ทำอะไรผิดมาให้เราเป็นคนที่บอกเขาดีกว่าให้เขาไปรู้ด้วยตัวเอง
ถ้าพ่อแม่บอกว่าลูกจะไปรู้ได้ไงไม่มีทางเจอหรอก อย่าดูถูกศักยภาพของเขา เราอย่าคิดว่าสิ่งนี้จะไม่เกิด ถ้ามันเกิดแล้วบาดแผลจะใหญ่กว่าถ้าลูกไปเจอมันด้วยตัวเอง ความไว้ใจมันจะหายไป สิ่งที่เราสร้างมันมา อย่าง ความผูกพัน ความไว้ใจ การมองเห็นพ่อแม่เป็นไอดอลหรือว่าหลายๆ อย่าง มันจะพังไปต่อหน้าต่อตาเลย สิ่งที่เข้ามาแทนคือ พ่อแม่คือคนที่ทำให้เขาอับอายหรือทำร้ายเขา
ถ้าทำได้ เราค่อยๆ เผยให้ลูกรู้ว่า สิ่งที่พ่อแม่ทำลงไป มันมีภาพนี้ คลิปนี้นะลูก แต่พ่อแม่ขอโทษนะ พ่อแม่ผิดมากๆ เลย แล้วลูกรู้สึกยังไง แล้วบอกด้วยว่าเราพยายามทำอะไรแล้วบ้าง เช่น พยายามลบออกหมดแล้วแต่บางอย่างมันเกินความสามารถจริงๆ นะลูก ลูกรู้สึกยังไง มีอะไรที่อยากให้พ่อแม่ทำให้ลูกไหม ลูกบางคนอาจจะเงียบไปเลย บางอย่างอาจจะต้องการเวลาแล้วก็รอให้เขาระเบิดความโกรธใส่เราบ้าง
เด็กบางคนอาจพูดว่าทำไมพ่อทำแบบนี้ หนูโป๊จะตาย ทำได้ไง เพื่อนหนูเห็นจะเป็นยังไง พ่อแม่ควรฟังให้เยอะ ฟังให้มาก แล้วทำความเข้าใจว่ามันเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้แน่นอน เขาอาจจะเกลียดเราไปสักพักหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วการยอมรับความจริงกับลูก ลูกจะรู้ว่าพ่อเเม่จริงใจต่อเขา ต่อให้ลูกจะระเบิดอารมณ์ใส่แล้วพ่อแม่บอกว่าอันนี้พ่อแม่สมควรได้รับแล้ว ถ้ามีอะไรไม่โอเคอีกบอกได้เลยนะ
อันนี้จะนำไปสู่ solution ต่อไปคือ ความไว้ใจของเรากับลูกก็ยังอยู่ต่อไปในแบบที่เราสารภาพกับเขาแล้ว และเราบอกเขาว่าตั้งแต่วันนั้นพ่อแม่ไม่ได้ทำอีกเลยนะ แต่อย่าคิดว่าเขาต้องให้อภัยเราเดี๋ยวนั้น บางครั้งมันต้องใช้เวลานะ
ให้พ่อแม่เผื่อใจว่าลูกอาจจะโกรธมาก แต่ถ้าเรายิ่งสารภาพกับเขาเร็วและยอมรับแบบตรงไปตรงมาอย่างเต็มที่ คิดว่าลูกทุกคนน่าจะให้อภัยได้เมื่อถึงจุดที่เขารู้สึกว่าพ่อแม่ก็เป็นคนเหมือนกับเรา
แต่ถ้าในลูกที่โตมาก จำเป็นที่ตัวเราเอง (พ่อแม่) อาจจะไปพบจิตแพทย์พร้อมกับลูก หรือว่าพูดคุยกันในลักษณะว่าจะทำยังไงดีเพื่อจะอยู่กับ digital footprint หรือใช้ชีวิตต่อไปยังไงให้มันดีที่สุดและไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีก
ที่ผ่านมาลูกอาจจะรับรู้ว่าอันนี้คือการแสดงออกซึ่งความรักมาตลอด และไม่เคยตั้งคำถามด้วยซ้ำ แต่อยู่ๆ วันหนึ่งสังคมบอกว่าเขาคือเหยื่อ สำหรับเด็กคนหนึ่ง จากความรักกลายเป็นเหยื่อ จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง
ถ้าเขารู้ว่าพ่อแม่ทำอะไรผิดต่อเขาบางอย่าง เด็กๆ หลายคนคงถามว่าพ่อแม่รักเขาจริงไหม เขาคงกลัวว่าแล้วทำไมพ่อแม่ถึงทำแบบนั้น เขาคงต้องการคำตอบว่าถ้ารักแล้วทำไมถึงทำแบบนั้นล่ะ ทำไมถึงทำให้เขารู้สึกแย่ ทำไมต้องทำร้ายเขา ก็เลยกลับไปที่พ่อแม่ว่าจริงๆ แล้วการรับมือในเรื่องนี้ นอกจากตัวเด็กเองต้องรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือพ่อแม่ที่ต้องรับมือกับคำถามของลูกให้ได้
คำตอบที่ดีที่สุดคือเราเป็นพ่อแม่ที่ทำผิดพลาด ยอมรับมันอย่างตรงไปตรงมาเลย ดูเสียศักดิ์ศรีนะแต่มันคือความจริง มันคงไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ พ่อเเม่ขอโทษมากๆ และเข้าใจลูกถ้าลูกจะโกรธมากๆ พ่อแม่รักลูกมากแต่พ่อแม่เป็นคนที่ทำผิดพลาด ความรักไม่ได้ทำให้คนทำถูกตลอด
พ่อแม่รักลูก เราทำผิดต่อลูกมากมาย เช่นเดียวกันกับคนรักกันที่ทำผิดต่อกันมากมาย ต้องแยกแยะ ไม่ได้แปลว่ารักแล้วต้องทำถูกต้องเสมอ สังคมชอบจับคู่ไปด้วยกันว่ารักแล้วทำทำไม มันคนละเรื่องกัน ความรักคือพลังงานที่เรารู้สึกว่าผูกพันกับใครสักคนหนึ่งแต่บางทีมันไม่มีเหตุผล ไม่มีความถูกต้อง ไม่มีขาวกับดำ ความถูกต้องก็คือความถูกต้อง การทำผิดก็คือการทำผิด ต้องแยกจากกัน
บางครั้งเรารักใครสักคนมากแต่ด้วยความที่เราเติบโตมาแบบนี้ เราอาจจะใช้วิธีผิดพลาดแสดงออกไป ความรักสำหรับบางคนคือการแสดงออก ต้องให้คนอื่นรับรู้ถึงสบายใจว่าฉันรักลูก ฉันเลยต้องถ่ายเค้กวันเกิด ต้องรับรู้ว่าฉันจัดงานวันเกิดให้ลูกยิ่งใหญ่มาก อยากจะแชร์ให้คนรับรู้ว่ารัก ในแง่ของมนุษย์มันไม่ได้ผิด แต่ในแง่ของเด็กคนหนึ่งที่ถูกละเมิดสิทธิบางอย่างบนเนื้อตัวหรือ privacy ทำให้เขาเติบโตกับการละเมิดตรงนี้ไป
พอเป็นข่าว มันคงไม่ใช่เรื่องในครอบครัวแต่เป็นปัญหาร่วม สังคมจะช่วยเหลืออย่างไร
ความรับผิดชอบต่อเด็กคนหนึ่งมันไม่ใช่แค่พ่อแม่ แต่คือสังคม คือผู้ใหญ่ทุกคน ครูเมมองว่าสุดท้าย เด็กคนนี้และคนอื่นๆ ก็ต้องเติบโตมาในสังคมนี้ ถ้าเราต้องการสังคมที่ดีกว่า เราก็ควรมีส่วนในการรับผิดชอบเด็กคนหนึ่งด้วยกัน หลายคนบอกว่าเรื่องของครอบครัวเขาเราจะไปยุ่งทำไม แต่ Walt Disney เขายังพูดว่าเด็กคือสมบัติของชาติ ดังนั้นเขาคือสมบัติที่ยิ่งใหญ่ เราควรจะช่วยกันดูแลไม่ใช่หรือ สังคมจะดีขึ้นหรือไม่คืออยู่ตรงนี้เลย
ถ้าเด็กคนหนึ่งเติบโตมาด้วยการเข้าใจว่าการแสดงความรักเเบบนี้มันถูกต้อง เด็กคนนั้นจะเป็นอย่างไร
มันก็อาจจะออกมาหลายเเบบ แบบที่ 1 คือก็อาจจะไม่รู้ว่าความรักแบบนี้มันไม่ถูกต้องแล้วก็ส่งต่อไปยังเจเนอเรชั่นต่อไป ซึ่งมันเกิดขึ้นเยอะมากในปัจจุบัน เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ถูกนะ แต่เราก็ส่งต่อมันไปแล้วแหละ แล้วมันก็ส่งต่อไปเรื่อยๆ แล้วกลายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่ง ‘ส่วนใหญ่’ มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป
แบบที่ 2 คือรู้ว่ามันผิดแต่ว่าแก้ไขไม่ได้ อันนี้ก็เกิดจากการที่เขาไม่มีทางออกหรือว่าไม่มี supporter และสังคมตอนนี้ก็ยังขาด supporter มากสำหรับคนที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงหรือว่าคนที่ยังไม่รู้ว่าเขามีทางออกอะไรบ้าง ทางด้านจิตใจ ร่างกาย เเละเศรษฐานะ
บางคนอยากจะเปลี่ยนแต่เศรษฐานะของเขาทำให้เขาจะต้องดิ้นรนทำให้เขาก็ต้องกลับไปสู่จุดเดิม ใช้อารมณ์ ใช้ความรุนแรง เพราะมันเร็วกว่า เขาไม่มีเวลามาประนีประนอม เขาไม่มีเวลามาถกเถียงกับเรื่องเหตุและผล เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือปากท้องของเขา
แบบที่ 3 คือรู้และพยายามเปลี่ยนแปลงมัน แต่บางครั้งเขาก็อาจจะรู้สึกว่าโดดเดี่ยว อันนี้จะคล้ายอันที่ 2 แต่จะต่างตรงที่เขาพร้อม เเต่เป็นคนส่วนน้อยแล้วมันอาจจะทำให้เขารู้สึกว่าเขาจะเปลี่ยนไปเพื่ออะไร ในเมื่อทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม เลยทำให้คนเป็นโรคจิตเวชมากขึ้นโดยเฉพาะโรคซึมเศร้า หรือว่าการที่ทุกวันนี้บางคนบอกว่าคนฆ่าตัวตาย คิดสั้นนะหรือทำไมโง่อย่างนี้ บางครั้งคนฆ่าตัวตายเขาเป็นคนที่ฉลาดมาก หรือบางคนเขาก็อาจจะคิดมามากแล้ว เขาอาจจะพยายามเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างแล้ว แต่สุดท้ายแล้วมันไม่มีอะไรที่ดีขึ้นเลย แล้วเขาไม่รู้ว่าเขาจะพยายามคนเดียวไปทำไม
เราจึงต้องการ supporter สำหรับคนแบบที่ 3 มากๆ ช่วยแบบไม่ไปตัดสินเขา หรือช่วยเพราะคิดว่าเราดีกว่า เหนือกว่า
นักจิตวิทยาเองก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ก็ต้องผ่านขั้นตอนการทบทวน ถามตัวเองเหมือนกัน ก่อนจะเข้ามาซัพพอร์ต
ใช่ค่ะ ก็ด่า ก็กระเจิดกระเจิง เเต่พูดกับเพื่อนร่วมวิชาชีพนะว่าเราขอพื้นที่พ่นของเสียนะ สักพักหนึ่งก็โอเค เราตกตะกอนได้แล้ว อันนี้คือกรองเหลือเเต่เหตุผล แต่ถ้ากรองเเล้วไม่เหลือเหตุผลอะไรก็ไม่ทำอะไรเลย
เพราะว่าสุดท้ายแล้วจะทำอะไรลงไปมันมีแต่จะแย่กว่า บางครั้งครูเมจึงไม่ได้โพสต์อะไร เพราะกรองเเล้วมันไม่เหลืออะไรดีๆ เลย
บางครั้งการเงียบอาจจะดีกว่าการ take action บางคนบอกว่ามัน ignorant หรือเปล่า เเต่ถ้าเรามีอารมณ์โกรธ กรองเท่าไหร่ก็ยังมีอารมณ์ทางลบที่ไม่ได้พาเราไปสู่ solution ก็จะหยุดอยู่ตรงนั้นดีกว่า
สังคมขาดการรับฟังหรือพื้นที่ที่เราจะพ่นอะไรบางอย่างอย่างปลอดภัยเเละตกตะกอนกัน เพื่อมาช่วยเหลือ เราขาด empathy ขาด supporter
เราขาดเพื่อนที่มองว่าเราเป็นมนุษย์
จริงๆ ไม่ได้อยู่ที่อายุ เเต่เป็นการยอมรับเเละให้เกียรติซึ่งกันและกัน บางครั้งคนที่อายุน้อยกว่าหรือบางครั้งคนอายุมากกว่าก็สามารถเป็นเพื่อนได้ เพราะทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกันใช่ไหม เด็กก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เขาไม่เข้าใจไม่ได้แปลว่าเขาไม่รู้สึก แล้วก็เขาอาจจะรู้สึกมากกว่าผู้ใหญ่ด้วยซ้ำแต่ด้วยประสบการณ์อันน้อยนิดของเขา เขารับรู้มัน มันหนักหนาสำหรับเขามาก และเราต้องช่วยเขา
Writer
tippimolk
คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa