ลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ : มันก็แค่เช้าที่แย่ แต่ไม่ใช่ทั้งวันเราจะมีความสุขไม่ได้
ลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ : มันก็แค่เช้าที่แย่ แต่ไม่ใช่ทั้งวันเราจะมีความสุขไม่ได้
- “เช้าที่แย่ ไม่ได้แปลว่าทั้งวันเราจะมีความสุขไม่ได้” นี่คือทักษะที่ ‘ลูกกอล์ฟ’ คณาธิป สุนทรรักษ์ฝึกมาเสมอตั้งแต่วัยเรียน
- เพราะความสุขสั้นๆ ไม่ได้แปลว่าไม่มีความหมาย แต่เป็นการบอกว่า อย่างน้อยเราก็มีชั่วโมงที่ดีมากแล้ว
- คุยกับ ลูกกอล์ฟ ผู้ที่ยอมรับว่าตัวเองคือแสงแดดที่มีหลายเฉดและเป็นนักฟังที่จะนั่งอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของทุกคน
“เรากำลังอยู่ในสังคมที่โดดเดี่ยวขึ้นเรื่อยๆ และเราต้องการใครบางคนรับฟัง”
แม้จะมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่ ‘ลูกกอล์ฟ’ คณาธิป สุนทรรักษ์ กลับบอกว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์ห่างกัน
ไม่ค่อยได้มานั่งคุยกันต่อหน้า ไม่ได้ยินเสียงถามสารทุกข์สุกดิบ แต่รับรู้เรื่องราวของกันและกันผ่าน ‘โซเชียลมีเดีย’ เท่านั้น
สำหรับผู้ใหญ่บางคน นี่เป็นเรื่องที่ข้ามผ่านไปได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับเด็กคนหนึ่งที่กำลังเติบโต ระยะห่างที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พวกเขาหมดแรง หมดแพสชัน และไม่รู้ว่าความสุขคืออะไร
เมื่อยังไม่รู้ว่าความสุขหน้าตาเป็นอย่างไร สิ่งที่พวกเขาอยากได้คือ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ พื้นที่ที่เราจะเป็นใครก็ได้ บทบาทไหนก็ได้ แต่รู้ว่าคนคนนั้นจะรับฟังและเคารพตัวเราที่เป็นเราจริงๆ โดยไม่ตัดสิน
และที่สำคัญคือ เป็นพื้นที่ปลอดภัยของกันและกัน แม้จะเจอเช้าที่แย่ แต่ไม่ได้แปลว่าทั้งวันเราจะมีความสุขไม่ได้
“ความสุขในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความหมาย อย่างน้อยๆ เราก็มีชั่วโมงที่ดีในวันนี้แล้ว”
คนที่พูดประโยคนี้คือ ลูกกอล์ฟ ผู้ยอมรับว่าตัวเองคือแสงแดดที่มอบความสุขให้คนรอบตัวและเป็นนักฟังที่นั่งอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของทุกคน
ประสบการณ์ 10 กว่าปีที่ผ่านมาในวงการบันเทิง คุณคิดว่า ‘ลูกกอล์ฟ’ คือใคร
ตลอดชีวิตที่ผ่านมาจนถึงวัย 37 ปี ลูกกอล์ฟเป็นทั้งพี่ชายคนโต ครู อดีตนักจัดรายการวิทยุ และอดีตพิธีกร แต่สิ่งพวกนี้มาพร้อมกับอะไรบางอย่างเสมอในใจเรา มันทำให้เราต้องแบกภาระหนัก มีความคาดหวังเต็มไปหมด ก็เลยพยายามเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า เราคือ ‘student of the world’ ฉันเป็นนักเรียนของโลกใบนี้
ถามว่า วันนี้เป็นผู้สอนภาษาอังกฤษ เป็นครูไหม ก็ยังเป็นอยู่ แต่เป็นที่เดียวในโรงเรียน ในห้องเรียนตัวเองเล็กๆ ที่ชื่อว่า Angkriz นอกห้องเรียน เราคือมนุษย์คนหนึ่งที่อยากถ่ายคลิปกับแฟน เดินเล่น ทำตัวบ้าจี้กับเพื่อน หรือบอกคนอื่นว่าตอนนี้เรากำลังมีความสุขกับทะเล
ไม่ได้ถูกกำหนดว่า เธอเป็นอาจารย์ เป็นดาราเธอต้อง.. เหมือนมีกรอบของคนอื่นหรือสังคมมาตีเรา เลยเลือกที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นนักเรียนของโลกใบนี้เหมือนทุกคน อาจจะมีประสบการณ์มากกว่าบางคน แต่ก็ยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับหลายๆ คน
อะไรที่ทำให้คุณเป็นคนรับฟังเรื่องราวของคนอื่นอยู่เสมอ
พอเรามีบทบาทหน้าที่หลากหลาย ทุกครั้งที่ไลฟ์ก็จะมีคำถามหลายเรื่อง ค่อนข้าง random เหมือนเขาแค่อยากได้ยินใครสักคนฟังเขาในประเด็นนี้
คิดว่าเราอยู่ในสังคมที่เหงาขึ้นเรื่อยๆ ตอนเด็กเคยคิดว่าโลกที่มีเทคโนโลยีต้องดีมาก เพราะจะทำให้เราคอนเน็กกับคนได้เยอะ แต่วันนี้ เทคโนโลยีมันล้ำไปมาก แต่เรากลับพบคนเหงาเยอะมากในสังคม เพราะเทคโนโลยีไม่ได้ทำให้เราใกล้กันมากขึ้นในฐานะมนุษย์ มันทำให้เราห่างกันขึ้นไปอีก ขนาดเพื่อนสนิทเรายังรู้สึกว่าเดี๋ยวไปตามในอินสตาแกรมก็ได้
สำหรับเรา คือ โทร.หาเลย เราไม่คุยกัน แต่รู้หมด เธอไปกระบี่ ไปภูเก็ต เพิ่งกลับจากเมืองนอก มีปาร์ตี้ แต่เราไม่มีโมเมนต์แบบนั้นกันแล้ว หลังๆ ก็พยายามกลับมาสู่ความ old school โทร.หา เพื่อนตกใจว่า โทร.มาทำไม เป็นอะไรหรือเปล่า เราก็ตอบว่า เปล่า กูก็แค่อยากคุยกับมึง วันเกิดก็โทร. ไม่มีไรก็โทร.หา โทร.ไปเมาท์
คุณเคยจำโมเมนต์ที่การโทร.มันเป็นโมเมนต์ล้ำค่าไหม แต่ตอนนี้เราพิมพ์ ส่งสติ๊กเกอร์ ก็ว่าไม่ได้ เพราะโลกมันเปลี่ยนเปลี่ยนไป
ยกตัวอย่างคำถามที่เจอระหว่างไลฟ์อินสตราแกรมครั้งล่าสุดได้ไหม
ขอพูดถึงคำถามหลังไมค์แล้วกัน ถ้าเป็นเรื่องเรียนจะเป็นเรื่องเรียนออนไลน์แล้วรู้สึกดาวน์ทำยังไง หมดแพสชัน หนูไม่มีอะไรเหลือแล้วค่ะพี่ คำว่าไม่เหลือนี่มันโหดมาก มันไม่เหลือความสุข เหมือนอยู่ไปวันๆ ถ้าเจอแบบนี้เราก็จะพยายามตอบว่า ให้โฟกัสปัจจัยที่เราแก้ไขได้และยอมรับปัจจัยที่เราทำอะไรไม่ได้
สิ่งที่พยายามบอกนักเรียนเสมอ เพราะเราลองทำแล้วเวิร์ก คือ แบ่งทุกอย่างเป็นห้วงๆ ตอนเด็ก เวลาทะเลาะกับที่บ้านตอนเช้า นั่งรถสองแถวไปโรงเรียนก็ยังร้องไห้ตลอดมีป่ายางรอบข้าง 20 กิโลฯ จากทุ่งลุงมาหาดใหญ่ ป๊าด่ากู แต่พอถึงโรงเรียน เล่นวอลเลย์ มีความสุข แฮปปี้ เอนจอย เพราะมันเป็นแค่เช้าที่แย่ แต่เช้าที่แย่ สำหรับพี่มันไม่ควรจะมากำหนดทั้งวันของฉันไหม เพราะฉันยังมีเวลาอีกตั้งเยอะ จะมานั่งดาวน์ นั่งเศร้าใส่เพื่อนเหรอ
ขีดเส้นให้ชัดว่า นี่เป็นชั่วโมงที่ดีของวันนั้น เราอาจจะมีเช้าที่เลวร้ายมาก แค่ครึ่งชั่วโมง เราก็ต้องขีดเส้นว่าเป็นชั่วโมงที่เลวร้าย แต่มันไม่ใช่ทั้งวัน เดี๋ยวกลับบ้านไปค่อยเศร้าใหม่ ไปสู้ใหม่ แต่ที่โรงเรียนมันเป็นอีกเรื่อง ทำแบบนี้มาตลอด และเป็นสิ่งที่เราฝึกมาได้ดี และเป็นจุดแข็งมากกับการโตเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้
คุณค้นพบวิธีนี้ได้อย่างไร
ไม่รู้ มันเป็นไปเอง แค่รู้ว่า โดนด่าตอน 6 โมง แล้วเคารพธงชาติตอน 8 โมง เราจะร้องไห้ใส่เพื่อนเหรอ ก็ไม่ได้ ก็แค่แบ่งเป็นช่วงๆ แล้วมันก็เวิร์ก เพราะเธอเรียนหนังสืออยู่ เอาไว้ก่อน ให้ฉันมากังวลเรื่องที่ฉันแก้ไม่ได้ตอนนี้เหรอ เรื่องการให้พ่อแม่ยอมรับว่าเราเป็นแบบนี้ ช่องว่างระหว่างวัยตั้ง 20 กว่าปี บางปัญหาก็ต้องตั้งสติ มันใช้เวลานานมากในการแก้ บางปัญหา บางประเด็น บางปม ชั่วชีวิตเรายังแก้ไม่ได้เลย ก็แค่มองมันไปตามความจริง
เพราะการเป็นผู้ใหญ่มันเป็นโลกจริง ไม่ใช่โลกจำลองเหมือนเราเรียนหนังสือที่มันยังปลอดภัย โลกของผู้ใหญ่คือคนไม่ได้แคร์เราขนาดนั้น หมาเธอตายเหรอ แล้วไง ก็มีเดดไลน์ไง กูก็รองาน มันเป็นโลกที่คนไม่ได้มาโอ๋เอ๋เรา
เคยถามนักเรียนว่า เขาเรียนกับพี่ 2-3 ชั่วโมง มีความสุขไหม เขาตอบว่ามีความสุขมาก ร่าเริง มีพลังชีวิตขึ้นมาเลย ก็บอกว่าจำไว้สามชั่วโมงนี้ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความหมาย อย่างน้อยๆ เรามีสามชั่วโมงในวันนี้ที่ดีมากแล้ว
คุณคิดว่าอะไรที่ทำให้เด็กวัยรุ่นวันนี้หมดแพสชัน
โควิดสองปีที่ผ่านมากระทบกับทุกวัย ถ้าเป็นเด็กอนุบาล วัยที่เขาจะได้ไปเจอเพื่อนที่โรงเรียนก็หายไป เด็กม.3 ขึ้นม.ปลายโดยไม่เจอเพื่อนเลย เด็กม.6 เข้ามหาวิทยาลัย จริงๆ ต้องได้ทำกิจกรรม แต่ก็ไม่ได้ทำเลย เด็กที่เพิ่งเรียนจบ บางคนยังไม่มีงานเลย ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง เรียนจบพวกเขาควรจะได้ลองผิดลองถูก สิ่งเหล่านี้หายไปหมด
แต่เราคิดว่าวิกฤติแบบนี้จะส่งผลต่อวัยที่กำลังเติบโตมากกว่าผู้ใหญ่ วันนี้เลยได้แต่หวังและภาวนาว่า คนรอบตัวและคนที่มีอำนาจจะเข้าใจว่า ทำไมเด็กเหล่านี้จึงรู้สึกห่อเหี่ยว ทำไมเด็กเหล่านี้จึงรู้สึกว่าชีวิตไม่มีเชื้อเพลิง หวังว่าเสียงนี้จะไปถึงผู้ใหญ่ วันนี้เราต้องการความช่วยเหลือจากคนที่มีพลังและอำนาจมากกว่า หรือรับมือกับความฉิบหายได้มากกว่ามาช่วยบอกเด็กๆ ว่าไม่เป็นไร สู้ และเรามาหาทางผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน
เรื่องที่เข้ามาปรึกษาค่อนข้างหลากหลาย คิดว่าทำไมเขาต้องมาปรึกษาคุณ
คุณสมบัติอย่างหนึ่งของเราคือ เป็นคนรับฟัง สมมติในบ้าน น้องทุกคนจะคุยกับเรา เพราะเขารู้ว่าคนนี้ฟังแน่ๆ ดังนั้นเราคิดว่าคุณสมบัตินี้ทำให้คนค่อนข้างกล้าที่จะมาปรึกษาเราในหลายๆ เรื่อง เพราะเขารู้ว่าด่านแรกเราจะไม่ฟังผ่านๆ แต่ฟังจริงๆ
ฟังแบบไหนที่ทำให้คนอื่นรู้สึกว่าเราฟังจริง
ฟังด้วยการอยู่กับเขาตรงนั้น ยกตัวอย่างเช่น คุณเล่าเรื่องที่สำคัญให้ใครฟัง แล้วเขาอยู่ตรงนั้น แต่เหมือนไม่อยู่ตรงนั้น และเป็นคุณสมบัติที่ตัวเราก็รู้สึกได้ จากการประเมินตัวเอง ถามน้องที่สนิทด้วยว่า ทำไมเป็นกูตลอด มึงมาเล่าให้กูฟังตลอดเลย อะไรหนักหนา เขาก็บอกว่าเพราะเฮียฟังไง อย่างนี้เป็นต้น
เคยย้อนกลับไปหาต้นทางไหมว่า ทำไมเราถึงเป็นนักฟัง
เพราะเราโตมากับการไม่ถูกรับฟัง แล้วเราก็เห็นความสำคัญของการที่มีคนฟังเราจริงๆ เพราะการไม่มีใครฟังมันทรมานนะ ต้องมานั่งฟังเสียงตัวเองซ้ำๆ แต่การโตมากับการนั่งฟังเสียงตัวเองเรื่อยๆ ก็เป็นทั้งข้อดีข้อเสีย
ข้อดี คือ ทำให้เราสังเกตตัวเองตลอด เพราะโตมากับความรู้สึกว่า ไม่มีใครเข้าใจกูเลย มาคุยกับตัวเองในหัว มุนินทร์มุตา กาสะลองซ้องปีบ แต่กูคุยกับตัวเอง (หัวเราะ) เราเป็นเด็กที่ญาติไม่ฟัง รู้ว่าถ้าเล่าเรื่องนี้ โดนด่าชัวร์ มันเป็นการหล่อหลอมโดยที่ไม่รู้ตัว เริ่มคุยกับตัวเองหน้ากระจก คุยในใจ ลูกกอล์ฟตอนนี้มันยังไง มึงเป็นยังไง ทำไมเศร้า เล่าซิ มันเกิดอะไรขึ้น มันมีที่มาที่ไปไหม ทำไมโกรธ ก็โกรธเพราะมันทำแบบนี้ (ขึ้นเสียง) ใช้เทคนิคนี้มาตลอด
จริงๆ แล้ว หลายคนก็โตมากับการไม่ถูกรับฟัง และไม่รู้จะคุยกับใครเลยคุยกับตัวเอง พอเราเป็นผู้ฟังเราเลยฟังเขาเหมือนอยู่ตรงนั้นจริงๆ สำหรับคุณเป็นแบบนั้นไหม
อาจจะเป็นหนึ่งสาเหตุ บวกกับความที่เราเป็นแสงแดด บางครั้งก็แผดเผา บางครั้งก็ให้ความอบอุ่น แล้วแต่ว่าจะเป็นเฉดไหน แต่เราจะยังเป็นแสงแดด ต่อให้หม่นก็ยังเป็นฤดูใบไม้ผลิ แล้ว energy ของเราเป็น spring เป็น summer คือ เป็นฤดูที่ดี พูดตรงๆ ให้ประเมินตัวเอง เราไม่ได้เป็นคนฤดูหนาว ถ้าเป็นแบบนั้นเราก็จะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แล้วให้มองหาคนที่เป็นแสงแดดเพื่อเยียวยาตัวเรา
เพราะฉะนั้นด้วยคาแรกเตอร์เป็นแบบนี้ เราเลยรู้ว่า เขามาหาเราเพราะต้องการแสงแดดใช่ไหม คุณรู้แน่นอนว่าถ้าคุณมานั่งกินข้าวกับฉัน กลับไป energy คุณจะดี คิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่คนรอบตัวสัมผัสได้แล้วบอกเราตลอด เพราะรู้สึกว่าเราเป็น sunshine แล้วเราก็รู้ตัว
แต่ข้อเสีย คือ จะมีช่วงที่ฉันจะต้องเป็นแสงแดดตลอดเวลา ต่อให้ตัวเราข้างในจะหนักอึ้งแค่ไหน แต่พอมีคนขอความช่วยเหลือ เราต้องช่วยเขาก่อน ทำให้ต้องหยิบยืมพลังและยืมแสงแดดจากอนาคตของเรามาใช้ สุดท้ายคนที่พังโดยไม่รู้ตัวคือ เรา
ตอนนี้เราจึงเริ่มที่จะเรียนรู้ที่จะปฏิเสธ เมื่อเราก็ไม่ได้พร้อมที่จะให้พลังคนอื่น นี่เป็นสิ่งที่เราทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น กล้าถามว่ารอได้ไหม ถ้ารอได้ รอก่อน เพราะตัวเราก็ไม่พร้อมเหมือนกัน เพราะถ้าไม่พร้อม เราจะฟังไม่ลึกซึ้ง สมาธิสั้น บางทีเราไม่ไหว เราก็มีปัญหาส่วนตัวเหมือนกัน รอได้ไหม ให้เราไป recharge ก่อนได้ไหม ทำให้เราปฏิเสธคนได้ง่ายขึ้น
เคยเจอปัญหาที่เราไม่รู้จะให้คำปรึกษาอย่างไรบ้างไหม
ปัญหาที่ค่อนข้างยากคือ ปัญหาที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญ เช่น สงสัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า เราก็แนะนำให้เขาไปหาผู้เชี่ยวชาญ อย่างน้อยถ้าฟังได้ก็ฟังก่อน เราไม่ได้แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง บางอย่างฟังแล้วไม่รู้เลย เพราะเราไม่เคยสวมรองเท้าคู่นั้น ดังนั้นสิ่งที่พี่หยุดทำแล้วคือ หยุดรับบทนางฉอด ถ้าแก้ไม่ได้ก็บอกว่าไม่รู้ วันนี้เราฟังแล้ว แต่ไม่รู้จริงๆ
ก็บอกเขาตรงๆ ว่าพี่ไม่รู้เหมือนกันว่าจะช่วยน้องได้ยังไง แต่วันนี้สิ่งที่เราช่วยได้มากที่สุดคือ การรับฟัง แต่ถ้ามีอะไรให้ช่วยมากกว่านี้บอกได้เลย ถ้ารู้สึกว่าสิ่งนั้นอยากให้พี่ช่วย บอกได้เลย เราช่วยได้แค่นี้
ตอนนี้วัยรุ่นมีคุณเป็นหนึ่งคนที่เขาเลือกปรึกษา แล้วตอนวัยรุ่นคุณปรึกษาใคร
คุยกับเพื่อน ไม่ค่อยคุยกับรุ่นพี่หรือครู คุยกับแม่ได้บ้างประมาณ 80% อีก 20% คุยไม่ได้ ต่อให้แม่เปิดรับประมาณหนึ่งก็ไม่ได้เปิดรับทั้งหมด แต่เรื่องเพศแม่ไม่เข้าใจ เราไปตกหลุมรักรุ่นพี่ผู้ชายก็ปรึกษาใครไม่ได้เลย
แต่อย่างน้อยก็ยังมีคนที่รับฟังและเข้าใจ
จริงๆ แล้วเราเป็นคนกล้าเปิดความรู้สึกของตัวเอง รู้ว่าวันนี้ฉันต้องการความช่วยเหลือและต้องการ energy แบบนี้ เช่น ฉันต้องการ energy ที่เป็นแสงแดดเหมือนกัน เราก็จะเอาเราไปอยู่ใน energy แบบนั้น เราก็จะมีเพื่อนที่คอยบอกว่า “เฮ้ย มึง ไม่เป็นไร มากินข้าวกัน มากินน้ำชา มึงมานี่ มึงอย่าเศร้า” เราก็ได้แสงแดดที่เป็นความอบอุ่นมาโอบล้อมเราเหมือนกัน
นอกจากการปรึกษาคนใกล้ตัว หรือพูดคุยกับตัวเอง คุณมีวิธีก้าวข้ามปัญหาชีวิตวัยรุ่นของตัวเองตอนนั้นอย่างไร
จริงๆ เพิ่งคุยกับนักเรียนว่า ถ้าสมัยก่อนมีทวิตเตอร์ เราคงเป็นเด็กพ่นอะไรที่โหดร้ายออกมาเต็มไปหมด เพราะมองว่าทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่ไม่เลย เพราะมีใครไม่รู้มาติดตามเราเต็มไปหมด แล้วพร้อมที่จะแคปอดีตของเรากลับมาทำร้ายเราได้
แต่ในช่วงชีวิตที่ดาร์กที่สุด ตอนกำลังจะเป็นวัยรุ่นอายุประมาณ 14-17 ทำไมถึงดาร์กก็เพราะรู้สึกว่าเราใหญ่คับฟ้า โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ความจริง ชีวิตแทบไม่เป็นของเรา ควบคุมอะไรไม่ได้ก็เลยต้องหาวิธีปลดปล่อยด้วยการเขียน ยังเก็บไว้ลึกสุดในมุมห้องนอน กลับมาอ่านก็ยังรู้ว่า ทำไมเด็กคนนี้เศร้าจังเลย
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากพูดอะไรกับลูกกอล์ฟในวัยนั้น
อยากบอกว่าเก่งแล้ว แล้วจะกอดเขา แต่ก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้หรอก เด็กที่โตมากับพายุก็จะโตมาเป็นพายุ ให้กาลเวลาขัดเกลาเขาเอง เพราะว่าวันนี้อายุ 37 จะไปสอนอะไรกับลูกกอล์ฟในวันนั้นที่ไม่พร้อมรับฟังคนอื่น เพราะเขาฟังแค่เสียงในหัวเป็นกาสะลองซ้องปีบ (หัวเราะ) ยังไม่พร้อมรับฟังคนอื่นด้วยซ้ำ
เราจะบอกนักเรียนว่า คำสอนไหนของเราทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะบางเรื่องมันต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง เหมือนถ้าเอาตัวเราวันนี้ไปสอนตัวเองในอดีตที่กำลังเฟียซๆ กำลังร้ายๆ แล้วโกรธ ในใจคงคิดว่าแบบ อะไรหนักหนาเนี่ย อีแก่ (หัวเราะ) ด่าตัวเองค่ะ สาระแน ยุ่ง ทำมาพูด พูดเหมือนรู้ แต่อันนี้จริงๆ แล้วเป็นตัวเองในอนาคตนะ (หัวเราะ)
นี่คิดภาพตัวเองออกเลย ถ้าเอาตัวเองวัย 37 ไปสอนตัวเองที่อยู่ทุ่งลุงที่ดิ้นรนอยู่ เด็กคนนั้นก็จะบอกว่ามึงจะมารู้อะไร แล้วก็กลับไปคุยกับกาสะลองซ้องปีบในหัวต่อ ก็เลยบอกเด็กๆ ว่าเวลามาคุย จะพูดเท่าที่ตัวเองพูดได้ บางเรื่องก็ประยุกต์ได้ บางเรื่องก็อาจจะไม่ได้ แค่นั้นเอง เพราะบริบทชีวิตเราไม่เหมือนกัน
พื้นที่ปลอดภัยสำหรับคุณหน้าตาเป็นอย่างไร
ที่ไหนก็ได้ที่รู้สึกปลอดภัย เข้าไปแล้วเราไปฟัง มีส่วนร่วม พูด สังเกตการณ์ โดยรู้ว่าคนในนั้นจะเคารพเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง พร้อมที่จะรับฟังและไม่ตัดสิน เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน
แล้วในเรื่องการพูดภาษาอังกฤษ โรงเรียนก็ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยด้วยหรือเปล่า เด็กจะได้ไม่กลัวที่จะสื่อสาร
ลูกกอล์ฟเชื่อว่าไม่มีเด็กคนไหนเกิดมาแล้วกลัวภาษา เขาถูกสอนให้กลัวทั้งนั้น เราจึงต้องคุยกันไปเรื่อยๆ โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยมากๆ สำหรับเด็ก ถ้าตอบผิดต้องไม่มีใครโดนล้อ
แต่วันนี้ในแง่ภาษาอังกฤษ คอมเมนต์ที่บอกว่าพูดภาษาอังกฤษ กระแดะ ทำมาเป็นพูดเหมือนฝรั่ง คอมเมนต์พวกนี้กำลังหายไป เพราะสื่อการเรียนการสอนเรื่องนี้ทั้งในและต่างประเทศมันเยอะมากพอที่เปลี่ยนความคิดของคนได้ เพียงแต่วิธีการสอนในระบบก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง พูดแบบแฟร์ๆ แต่กรณีที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ เด็กดู YouTube กับเจ้าของภาษา เขาออกเสียงถูกแล้ว แต่พอไปโรงเรียนครูออกผิด เพราะครูก็มีอำนาจอยู่ที่จะทำให้ตัวเองถูก แต่พอมันเกิดขึ้นกับเด็ก วัยที่อยากตั้งคำถามก็อาจเกิดความกลัวได้
และไม่ใช่แค่วิชาภาษาอังกฤษก็ลามไปต่อวิชาอื่นๆ ในห้อง นั่งในห้อง ไม่อยากถาม เดี๋ยวถามก็โดนด่าอีก
เราจะมั่นใจในการพูดภาษาอังกฤษได้อย่างไร
ข้อแรกต้องถามว่ามีแรงจูงใจในการเรียนภาษาอังกฤษไหม เรามีความจำเป็นไหม ต้องเรียนไหม ถ้าวันนี้ต้องเรียน มีแรงจูงใจ และมีความจำเป็น เราจะหาทางได้เอง
แต่ถ้าเรามั่นใจแล้ว แต่ยังมีคนบูลลี่เรื่องภาษา ควรจะเข้าใจเขาว่าอย่างไร
ถ้าอยากให้เข้าใจ ก็คือเข้าใจว่า เขาไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องฝึกภาษาอังกฤษ แต่ถ้าอยากฟาดกลับ ฟาดมาฟาดกลับ ไม่โกง ก็แล้วแต่สะดวก เพราะมนุษย์แต่ละคนก็มีวิธีรับมือกับสิ่งพวกนี้ต่างกัน
Writer
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์
ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง
illustrator
กรกนก สุเทศ
เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง