‘แม่ตุ๊ก’ Little Monster: เราไม่ได้อยากเลี้ยงลูกให้มีความสุข เราอยากบ่มเพาะให้เขาอยู่และแข็งแรงในวันที่ทุกข์
‘แม่ตุ๊ก’ Little Monster: เราไม่ได้อยากเลี้ยงลูกให้มีความสุข เราอยากบ่มเพาะให้เขาอยู่และแข็งแรงในวันที่ทุกข์
- เวลามีคอมเมนต์ลบใดๆ เข้ามา แม่ตุ๊กเลือกที่จะอ่านให้จินฟัง ไม่ปิดบัง ไม่ปัดออกให้ลูกไม่รู้ แต่อยู่ข้างๆ คือเป้าหมายในการเลี้ยงลูก
- ความกลัวเกิดจากการเลี่ยงที่จะให้ลูกเจอเพราะกลัวลูกเจ็บ กลัวลูกจะเสียใจ แต่การเลี่ยงให้เขาไม่เจอ ไม่ใช่ทางแก้ กลับยิ่งทำให้กลัวเข้าไปใหญ่
- สนทนากับ ‘แม่ตุ๊ก’ Little Monster ในวันที่กลัวน้อยลงและแข็งแรงมากขึ้น และอยากให้บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ช่วยตบบ่าและโอบกอด “แม่ที่คิดว่าตัวเองไม่เคยดีพอ” ไปด้วยกัน
เพจ Little Monster เกิดจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของ ‘แม่ตุ๊ก’ นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์ ด้วยความที่เปลี่ยนชีวิตจากคนบ้างาน มาเป็นแม่ที่เลี้ยงลูกอย่างเดียว
เหตุผลที่ตัดสินใจทิ้งทุกอย่าง แม่ตุ๊กบอกว่าเพราะมีความกลัวเป็นแรงผลักดัน โดยเฉพาะกลัวจะเลี้ยงลูกได้ไม่ดี บวกกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงหลังคลอดอย่างรวดเร็ว อาการทุกอย่างมาพร้อมความกลัว แม่ตุ๊กจึงไปปรึกษาคุณหมอ คุณหมอวินิจฉัยว่าไม่ได้อยู่ในระดับที่หนักมาก เลยจ่ายใบสั่งยาให้คุณแม่ไปลองทำอะไรที่ชอบและหาเวลาพักบ้าง
“เราชอบเขียนไดอารี่ วาดการ์ตูน ทำกราฟิก แต่ตอนนั้นยังไม่ได้คิดถึงการตั้งเพจ เราแค่เล่นเฟซบุ๊คฆ่าเวลาระหว่างลูกหลับ แล้วเรารู้สึกว่า ทำไมมันไม่มีเพจที่พูดแทนใจเรา พูดถึงแม่ในด้านที่ไม่แฮปปี้ มันไม่ได้สบายนะ ไม่ได้สวยหรูอย่างที่โฆษณาในทีวี”
สามีสนับสนุนเต็มที่ แต่รู้ว่าภรรยาเป็นคนทำอะไรจริงจัง เลยเสนอให้ทำสต็อคไว้ให้มากก่อนเปิดเพจ จนได้ตัดริบบิ้นเปิดเพจเมื่อ ‘น้องจิน’ ลูกสาวคนโตเกือบหนึ่งขวบแล้ว
ก่อนเปิดเพจคุณตุ๊กกลัวอะไรบ้าง
ความกลัววันนั้นกับวันนี้ไม่เหมือนกัน วันนั้นเรากลัวคนไม่เข้าใจว่าทำอะไรอยู่ เพราะว่าภาพในหัวเราในวันนั้นเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว คือ แม่ที่ดีต้องเลี้ยงลูกอย่างเดียว แล้วมาทำเพจอะไรบ้าบอ วาดการ์ตูนขำๆ แต่เรารู้ว่าเราต้องทำเพื่อเยียวยาตัวเอง เพราะการเขียนคือการระบายอย่างหนึ่ง การได้จับเครื่องมือทำกราฟิกอีกครั้ง ถึงจะไม่ได้ตังค์ แต่คือการได้ทำในสิ่งที่เราชอบ
กลัวแต่ทำ เป็นความรู้สึกที่ค่อนข้างจะตีกัน?
ใช่ เรารู้ว่าต้องเปิด แต่พอมองย้อนกลับไป เราก็เพิ่งเข้าใจว่าวันนั้นเรากลัวคนไม่ยอมรับเรามากกว่า ลึกๆ มันน่าจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว ที่กลัวการไม่ถูกยอมรับในฐานะแม่ เพราะสิ่งที่ทำ ณ วันนั้นมันค่อนข้างใหม่ เราเขียนในสิ่งที่เรารู้สึก เราเขียนในสิ่งที่ไม่ค่อยมีแม่พูดถึง มันเป็นความอ่อนไหวของคนเป็นแม่
มือใหม่หัดทำเพจตอนนั้น รับมือกับ feedback อย่างไร
แรกๆ ไม่ค่อยเยอะเพราะยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่พอทำไปแล้วมันมีจุดเปลี่ยน เพจใหญ่แชร์เรา แล้วก็มีคนที่ไม่ใช่เพื่อนเข้ามา add วันละ 1,000 ซึ่งมันเยอะมาก แล้วก็ inbox มาปรึกษา ทั้งที่เราไม่ได้รู้จักเขา
ช่วงแรกเราหาจุดบาลานซ์ไม่ได้ ตอบทุกคน ถ้าไม่ตอบเราก็คิดว่าเขาจะเสียใจไหมนะ เขาจะไหวไหม เราเองก็ต้องให้นมลูก ดูลูก นอนตี 3 ตี 4 แล้วมาตอบ inbox มันไม่โอเคเพราะว่าพักผ่อนน้อย เราเหนื่อย
แต่ความอยากทำมันก็อยากนะ เราจำความรู้สึกได้ เรายังบอกพี่เหว่งว่า ตุ๊กอยากตื่นเช้ามาทำเพจ มันสนุกอะ ได้เขียนในสิ่งที่เรารู้สึกจริงๆ กลายเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ
จนมาถึงจุดที่เราต้องบาลานซ์ ถึงเราจะทำคอนเทนต์ ทำเพจ แต่หน้าที่หลักคือดูแลลูก เราจะบาลานซ์เลยว่าลูกหลับค่อยมาทำตรงนี้ แต่ก็ต้องมีเวลาที่ฉันต้องหลับนะ ไม่งั้นก็โต้รุ่งเหมือนเดิม จากช่วงแรกๆ พิมพ์มาวันนี้ตอบวันนี้ แต่หลังๆ ร่างกายเราไม่ไหว เราทำคนเดียว
มีวิธีหาสมดุลอย่างไร
เราแค่รู้สึกว่าเราต้องห่วงสุขภาพตัวเองก่อน เดิมเรามักกังวล กลัวคนเสียใจ เป็นคนที่ please กลัวเขาโกรธ แต่เราต้องเรียนรู้ที่จะปฏิเสธ ไม่เอาความเครียดของเขามาไว้ที่ตัว
ถึงวันนี้เพจมันจะมีความเป็น business มากขึ้น แต่แก่นของเราก็ยังอยู่ เราไม่ได้ treat มันเป็น business จ๋า เรายังมีความพูดคุยปรึกษา เหมือนเป็นแม่คนหนึ่งอยู่
พอมาทำเพจ ความซึมเศร้าได้รับการเยียวยาไหม
ดีขึ้น ส่วนหนึ่งคือเราได้ระบายสิ่งที่เราคิด ได้พูดสิ่งที่เรารู้สึก แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าร่างกายเรา ชีวิตประจำวันเรา เราปรับตัวได้ เราเริ่มหาจุดบาลานซ์ เราเริ่มรู้จักลูกเรามากขึ้น เริ่มรู้ว่าทำไมเขาร้อง ทำยังไงเขาหยุดร้อง ความเครียดที่เกิดจากความไม่รู้ หรือชีวิตจากหน้ามือเป็นหลังมือ มันค่อยๆ ดีขึ้น คุณแม่ก็มาช่วย เราได้หลับมากขึ้น เราก็ดีขึ้น
แต่ที่เพิ่มเข้ามาแทนก็คือความ burnout เรารับทุกอย่าง ไอ้นั่นก็อยากทำ ไอ้นี่ก็จะต้องดู วันนั้นมันรู้สึกว่าเราทำได้อีก เราไปได้อีก เราไม่รู้หรอกว่าจริงๆ เราไม่ไหวแล้ว ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังมี (หัวเราะ) เราก็ยังต้องเรียนรู้ที่จะหาบาลานซ์ไปเรื่อยๆ เพราะเราเป็นคนที่ทำงานหนัก
พอทำเพจ มีชุมชนแม่ๆ มีเพื่อนที่รู้สึกเหมือนกัน ตรงนี้ก็เยียวยาได้ด้วยใช่ไหม
ใช่ค่ะ แน่นอนเลย ถึงเราไม่รู้จักเขาแบบ in person นะ แต่เรารู้สึกว่าเราคุยกับเขาได้ เพราะเขาเข้าใจในจุดที่เรายืนอยู่ ตรงนี้มันสำคัญมาก สำคัญในทุกเรื่องด้วย ถ้าเรามีคนที่เรารู้สึกว่าเราคุย เราระบายแล้วเขาเข้าใจเรา เขาอยู่เรือลำเดียวกับเรา มันช่วยมาก เราช่วยเขา เขาก็ช่วยเรา คุยกันจนถึงวันนี้ บางคนลูกโตไปแล้วแต่ยังคุยกันอยู่ บางคนถึงจุดที่ หนูเลิกกับเขาแล้วนะพี่ แบบนี้ก็มี
การคุย การได้แชร์กับคนที่เราไม่เคยรู้จักกันเป็นการส่วนตัวมาก่อน มันสำคัญอย่างไร
มันช่วยได้เยอะค่ะ แต่ถ้าจะไปให้สุดเนี่ย การรับฟังและการได้ระบายกับคนในครอบครัวจะช่วยให้เราดีขึ้นได้จริงๆ เรารู้สึกว่าเขาคือพื้นที่ปลอดภัยของเรา
จนมาถึงจุดเปลี่ยนที่สอง ตอนเปิดเผยครอบครัว
เราเห็นโมเมนต์เขาคุยกับลูกในรถแล้วมันตลกดีนะ แล้วตอนนั้นพี่เหว่งอยู่ในจุดที่ไม่แน่ใจว่าอยู่ในช่วง midlife crisis หรือเปล่า (หัวเราะ) แต่เราอยากให้เขาทำอะไรที่เขาจะรู้สึกดีกับตัวเองเหมือนที่เราได้ทำ
โมเมนต์พ่อกับลูกสาว เราดูแล้ว positive ดีก็ลงไป พี่เหว่งเป็นคนตัดคลิปด้วย แล้วดันเป็นไวรัลขึ้นมา เราเองพอลงคลิปแล้วก็นอน พอพี่เหว่งกลับมาจากทำงานตอนมืดๆ เขาบอกตุ๊กรู้เปล่า คนดูเป็นล้านเลยนะ เราตื่นมาก็ตกใจ เช็คแค่ว่า เขาไม่ด่าอะไรใช่ไหม ส่วนใหญ่บอกว่าน่ารักดี
จนวันรุ่งขึ้น เราถึงรู้ว่า เฮ้ย มันเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน เพราะมีสถานีโทรทัศน์โทรมาเยอะมาก ให้พี่เหว่งไปออกกับลูก อันนั้นตกใจจริง เราก็แบบทำยังไง ไม่รู้อะ จะไปไหม ตื่นเต้น แต่ก็ไป ไปให้รู้ว่ามันเป็นยังไง เป็นประสบการณ์ แต่นั่นเป็นจุดที่เราเพิ่งเรียนรู้ว่า อ๋อ เนี่ยเหรอที่เขาเรียกว่าเส้นทางของ influencer นั่นคือจุดเริ่มต้น
บอกตรงๆ ไม่ได้คิดวางแผนเพื่อสิ่งนี้ และช่วงที่ขึ้นมากๆ มันน่ากลัว
คำว่าน่ากลัวของคุณตุ๊กคือเรื่องอะไรบ้าง
ตอนแรกไม่น่ากลัว ตอนแรกรู้สึกว่า โห งานเต็มเลย ก็ต้องยอมรับว่า ณ ตอนนั้น ฐานะทางบ้านเราก็ไม่ได้โอเคมากนะ ยังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจอยู่ เราต้องย้ายโรงเรียน ย้ายบ้าน แล้วพอมีงานเข้ามา เรารู้สึกว่ามันก็ยังมีลู่ทาง แต่ไม่ได้มองตัวเองเป็น influencer นะ แค่มีโอกาสเข้ามาก็ทำ
แต่โอกาสเข้ามาแล้วก็ยังอยู่ภายใต้กฎที่เราให้ในครอบครัวว่าเราจะไม่รับงานที่ส่งผลกระทบกับลูก เราอยู่ในจุดที่เหมือนแหย่เท้าไปข้างหนึ่ง ดูลู่ทางก่อน เพราะเราก็ยังคิดว่าถ้าเราไม่มีตังค์ หรือตังค์ไม่พอ ก็ยังทำขนมขายได้ ทำอาชีพอื่นได้
งานช่วงแรกๆ ให้มาเป็นสคริปต์ (บทพูด) มาเลย ซึ่งเรารู้สึกว่ามันน่ากลัวเหมือนกัน เราจะบอกลูกค้าก่อนว่าลูกเรานิสัยเป็นยังไง ถ้ามีสคริปต์เราคงไม่รับนะ เพราะว่าลูกทำไม่ได้ แล้วมันคงไม่ดีถ้าไปบังคับเขา
จากจุดนั้นแล้วยาวไปอีกครึ่งปี กราฟยังขึ้นอยู่ มันน่ากลัวตรงที่เราทำงานหนักกันมาก ถ้าใครติดตามเพจจะรู้ว่าช่วงนั้นลงงานสปอนเซอร์รัวมาก ทุกวันมั้ง สำหรับลูก เราคิดว่าลูกไม่น่าจะกระทบมากเพราะเขายังเด็กแล้วเขาไม่รู้ว่านี่คืองาน มันไม่เห็นเหมือนงานเลย ณ วันนี้เขาย้อนไปดูคลิปเก่าๆ แล้วถามว่า นี่งานเหรอ นั่นเพราะความเหนื่อยอยู่ที่เรา เราสร้างบรรยากาศให้ไม่เหมือนงานมากที่สุด แต่ว่าในหัวเรากับพี่เหว่งคิดตลอดว่า ในคลิปมี message ครบหรือยัง จะตัดคลิปกันยังไง แต่วันนี้เขาโตแล้ว เราบอกเขาว่านี่คืองาน ทุกครั้งที่มีลูกค้าเข้ามา มีบรีฟมา เราจะบอก จิน ลูกคนโตว่าอันนี้เป็นงาน หนูโอเคเปล่า หนูว่ามันได้ไหม
เวลาเรารับงาน เราจะดูว่ามันใช่ไลฟ์สไตล์ของครอบครัวเราหรือเปล่า ลูกค้าหรือเอเจนซีจะรู้อยู่แล้วว่าถ้าจ้าง Little Monster จะไม่มีสคริปต์นะ ไม่ใช่ว่าสคริปต์ไม่ดีนะคะ แต่เราไม่ถนัดด้านนี้ แล้วพอมีการกรองมาระดับหนึ่ง มันเลยเป็นงานที่เหมาะกับวิถีครอบครัวเราไปโดยปริยาย สมมุติมีงานหนึ่งให้ไป adventure โดดหอไรงี้ (หัวเราะ) ก็คงไม่ใช่ (หัวเราะ) ตุ๊กไม่แน่ใจว่าคนเขาจะมองว่าเราเรื่องมากหรือเปล่านะ แต่เรารู้ว่าเราถนัด ไม่ถนัดอะไร เราก็บอก
โซเชียลมีเดีย มีทั้งด้านบวกและด้านลบ คอมเมนต์แรง คุณตุ๊กมีวิธีการรับมือกับเรื่องแบบนี้อย่างไรบ้าง
มันน่าจะต้องเริ่มจากแยกแยะก่อนว่าใครคอมเมนต์ สมมุติว่าบัญชีที่ไม่มีตัวตนแล้วก็เน้นบูลลี่อย่างเดียว ด่าแบบไม่รู้จักเรา อันนั้นจะตัดไปเลย ไม่สะเทือนเราเลยเพราะว่าเขาไม่มีตัวตน เรารู้ว่าเขาทำเพื่อความสะใจของเขา
กับบางคนมีตัวตนแต่เราไม่ได้รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว เขาคอมเมนต์จากความคิดของเขา บางครั้งมันก็สะเทือนเราเหมือนกัน แต่พอเวลาผ่านไป เรารู้สึกว่าบางครั้งการคอมเมนต์มันมาจากมุมมองที่เขามองเรา หรือไม่ก็ประสบการณ์ที่เขาเจอมันเลยตีความอย่างนั้นได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด เราก็ต้องมาดูว่าภายในครอบครัว เราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
2-3 ปีที่แล้วตอนดราม่าคนคอมเมนต์ว่าเรารักลูกไม่เท่ากัน อันนั้นกระทบหนักสุดตั้งแต่ทำเพจ Facebook, Twitter, IG มันมาทุกช่องทางพร้อมกันหมดจนเราตกใจ ความกลัวของเราตอนนั้นคือกลัวลูกคิดว่าเรารักลูกไม่เท่ากัน
มันเป็นดราม่าที่เข้ามา trigger ความกลัวของเรา สะเทือนความเป็นแม่มาก จำได้ว่าสะเทือนมากจนรู้สึกว่าไม่ไหว เราบอกพี่เหว่งในวันที่มันคุมไม่อยู่ว่า ไม่ทำเพจแล้ว
ที่แย่ก็คือบางคนถึงขั้นวิเคราะห์ไปแล้วว่าลูกคนโตจะเป็นซึมเศร้า โอ้โห นั่นคือจุดที่มันเป็นความกลัวของเรา ต้องบอกว่าเราก็เติบโตมาด้วยความที่คิดว่าพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน ด้วยการ treat ที่ไม่เท่ากัน treat ด้วยนิสัยเรากับพี่ไม่เหมือนกัน แต่ ณ วันนั้นเรายังเด็ก เราก็ตีความไปว่าเขารักไม่เท่ากัน แต่วันนี้เราคิดว่าปมนั้นมันได้รับการแก้ไขไปแล้ว และเราก็เข้าใจแหละ เลยรู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นปัญหาในความคิดเรานะ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคนจะตีความว่าเราเป็นแม่แบบไหน มันอยู่ที่ว่าเราหันมาหาลูก ถามลูกว่าเขาคิดยังไงกับสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือเราได้สื่อสารกับลูกมากพอหรือยังและเรามีความคิดยังไงกับตัวเอง
เรากับลูกต้อง communicate (สื่อสาร) กันเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน คีย์เวิร์ดคือการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เราถามลูกว่ารู้สึกยังไงหรือทำไมเงียบๆ มีอะไรคุยกัน มันจะได้เข้าใจ
แต่กับวันนั้นมันใหญ่โตนะ เราก็ทำไงดี พี่เหว่งเขาก็นักเลง บอกว่าปิดเพจเลย เดี๋ยวพี่ไปบอกกับน้องพนักงานเลยว่าหางานใหม่นะ พรุ่งนี้พี่เรียกประชุมทุกคน เพราะพี่เอาความรู้สึกตุ๊กเป็นสำคัญอันดับหนึ่ง ตุ๊กจะไปขายขนมเค้กก็ไป ไอ้เราก็ เฮ้ย เดี๋ยวก่อน (หัวเราะ)
ช่วงนั้น เราใช้เวลาไปกับการ healing เยอะ เพราะเรายังไม่เข้าใจปมในอดีตของเราว่า trigger มันไปสะกิดแผลของเรายังไง มันไม่เกี่ยวกับรักลูกไม่เท่ากันเลย มันเกี่ยวกับการที่เราตีค่าความเป็นแม่ของเรายังไง เราพลาดตรงนี้ มันเลยสะเทือนเยอะ ตุ๊กไปหา therapist (นักบำบัด) ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าเมื่อก่อน เราเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มี self-esteem ต่ำ บางส่วนมาจากการเลี้ยงดูยุคโบราณที่ผู้ใหญ่จะติอย่างเดียว ไม่ชมกัน และสิ่งแวดล้อม คนภายนอกครอบครัวที่ชอบเปรียบเทียบตุ๊กกับพี่ชาย
คนภายนอกคือป้าข้างบ้าน?
ใช่ๆ ป้าข้างบ้าน บางทีไม่ใช่ญาติเราด้วย เพราะพี่ชายเป็นคนฉลาดมาก ฉลาดแบบไม่อ่านหนังสือก็สอบผ่าน แล้วเราจะวาดรูปอย่างเดียว มันจะมีการหล่อหลอมบางอย่างให้เราไม่มี self-esteem ที่ดี
คำชมจากภายนอกที่เข้ามาหาเราในวันที่เราไม่ได้มีเยอะ มันเป็นสิ่งให้เรายึด ซึ่งวันไหนที่เขาไม่ชมปุ๊บมันดิ่งนะ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลมันแก้ที่ภายนอกไม่ได้ว่าเขาจะชมจะว่าหรือจะตีค่าว่าเราเป็นแม่แบบไหน มันต้องแก้ข้างใน ถ้าข้างในของเราแข็งแรง มันจะสะเทือนยากมาก ที่สำคัญเราอยู่ในจุดที่ใครมาคอมเมนต์เราได้ง่าย แล้วเราดันมาอยู่ในฐานะที่เลี้ยงลูกบนโซเชียลมีเดียให้เขาเห็นด้วย ยิ่งง่าย ถ้าข้างในเราที่เปรียบเหมือนเสาหลักของบ้านไม่แข็งแรง มันก็อยู่ยาก
จุดที่เราตัดสินใจไปหา therapist มันไม่ใช่เพราะดราม่าที่เกิดขึ้น เราแค่รู้สึกว่าเสาหลักข้างในมันสั่นคลอนเรามากๆ ซึ่งเราไม่อยากส่งต่อให้ลูก เราต้องกลับไปแก้
อะไรที่สั่นคลอนคุณตุ๊ก
คือการที่เราเติบโตมากับการร้องไห้ไม่ได้ ผู้ใหญ่หลายคนบอกว่าห้ามร้องนะ แม้กระทั่งในช่วงแรกๆ เราก็เป็นกับลูก บอกลูกว่าไม่ร้องนะ การที่เราไปหา therapist ทำให้เรารู้ว่าอารมณ์นี้มันถูกปิดตาย มันไม่ได้ทำงาน ซึ่งตามธรรมชาติของมนุษย์ มันต้องเศร้า ร้องไห้ เสียใจ ฟูมฟายแล้วมันจะค่อยๆ ดีขึ้น
แต่ของเราคือเศร้าปุ๊บปิดเลย ก็จะเก็บๆ เอาไว้ พอมีเหตุการณ์คล้ายๆ กันมาสะกิดแผลเดิมนิดหนึ่ง เราก็ เฮ้ย เสียใจว่ะ ปิดไว้ก่อนดีกว่า ไม่งั้นอยู่ไม่ได้ พอเจอเหตุการณ์ซ้ำมากๆ เข้า เราจะดิ่ง เพราะอารมณ์เราไม่เคยได้รับการแก้ไข มันไม่ได้ดีขึ้นโดยธรรมชาติ
สมมุติว่าเรามีบาดแผลหนึ่งแล้วเราให้เวลากับมัน เสียใจจนค่อยๆ ดีขึ้น พอวันหนึ่งเราเจอสิ่งที่คล้ายๆ กัน เราจะไม่สะเทือนเท่า เพราะมันได้รับการ healing ไปแล้ว เราจึงเรียนรู้ว่าหลายๆ อย่างจากอดีต มันมีผลกับการเป็นปัจจุบันของเรา ซึ่งถ้าแก้ไขตรงนั้น คอมเมนต์ต่างๆ มันคือจุดจุดหนึ่งเท่านั้น สิ่งสำคัญคือเราดูแลตัวเองยังไง เราเป็นมิตรกับความรู้สึกด้านลบของเรายังไง
จริงๆ แล้วตุ๊กเติบโตมาด้วยความรู้สึกว่าต้องมีความสุข ต้องไม่ร้องไห้ แล้วช่วงที่เราเป็นแม่ใหม่ๆ เรายังคิดเลยว่าฉันจะต้องเลี้ยงลูกให้มีความสุข ซึ่งมาถาม ณ วันนี้เราไม่ได้อยากเลี้ยงลูกให้มีความสุข นั่นไม่ใช่เป้าหมายของเรา เราอยากบ่มเพาะเขาให้เขาอยู่ได้ในวันที่เขาทุกข์และค่อยๆ ดีขึ้น คือเขาจะเรียนรู้อยู่กับความทุกข์ยังไง
สิ่งสำคัญคือ เราต้องค่อยๆ ปรับตัวที่จะแสดงความรู้สึกมากขึ้น แม้ว่ามันคือด้าน negative เวลาคุยกับ therapist เขาทำให้เราเข้าใจว่าแม้กระทั่งอารมณ์โกรธก็มีประโยชน์ เสียใจก็มีประโยชน์ ร้องไห้ก็มีประโยชน์ มันเป็นสิ่งที่บอกให้รู้ว่าเราไม่โอเคกับสิ่งนั้น
สิ่งที่คุณตุ๊กเรียนรู้ กลับไปค้นปม กู้ self-esteem แล้วกลับมาคุยกับตัวเอง ตรงนี้มีผลต่อการทำคอนเทนต์ในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน
จะบอกว่าคอนเทนต์มันก็มี rerun เนอะ (หัวเราะ)
ได้บ้างในบางคอนเทนต์ เราค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่อง growth mindset, self-esteem แม่ไม่ต้องแอบไปร้องไห้เสมอไป คือสมัยก่อนเราจะมีคอนเทนต์ประมาณแอบไปร้องไห้ในห้องน้ำ จะให้ลูกเห็นน้ำตาไม่ได้เลย ห้าม
ซึ่งปัจจุบันก็มีนะ แต่จะเปลี่ยนไปในแง่ว่า โอเคนะที่จะร้องไห้ แล้วมันก็เป็นการบอกลูกว่าแม่ก็เป็นมนุษย์ปกติ ถ้าคนไม่สังเกตไม่รู้หรอกค่ะ มันเป็นจุดเล็กๆ ที่สื่อสารออกไป
TikTok ของคุณตุ๊ก เห็นเรื่องการทำตัวเองให้มีความสุขผ่านการแต่งหน้า แต่งตัว ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ดูเหมือนเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็มาจากการเข้าใจตัวเองในระดับหนึ่งว่า ณ ตอนนี้ฉันจะเป็นแม่ที่จะรักและมีความสุขกับตัวเอง
TikTok มันไม่ได้ general ขนาดเพจ คือถ้าในด้านคอนเทนต์หรือวิดีโอ ถ้ามองลึกในรายละเอียดจะเห็นบ้าง ต่างจากเมื่อก่อนเราจะค่อนข้าง keep look ห้ามกินชานมไข่มุก ไม่กินมาม่า ช่วงกลางๆ ของการทำเพจ บอกตัวเองว่าฉันต้องเป็นแม่ที่ดี ฉันต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งเอาจริงๆ ไม่ได้ดีขนาดนั้น (หัวเราะ) ลึกๆ รู้สึกว่าตัวเองเป็นแม่แบบชิลๆ แต่ว่ามันมีจุดที่เรารู้สึกว่าเราต้องเป็น เพราะว่าการทำเพจมันยาก คือคนเขาก็ตามเราเยอะ ถ้าเราเป็นแม่ที่ชิลไป ไม่เป๊ะ ไม่ดี มันจะไม่ดีกับคนดูหรือเปล่า
ทีนี้เรากลับมองอีกมุมหนึ่งว่าก็ชิลบ้าง เขาจะได้ไม่กดดันว่ามีแม่อย่างนี้ เห็นจุดไม่ดีของเราบ้าง มันมีความปกติธรรมดามากขึ้น ที่เมื่อก่อนไม่มี แต่ตอนนี้ก็จะเห็นชานมไข่มุก มาม่าได้บ้าง ไม่ได้ strict ขนาดนั้น เราไม่ได้มีหัวโขนในหัวว่าต้องเป็นแม่ที่ดี
เมื่อก่อนมีอยู่จุดหนึ่งที่รู้สึกว่าเขินที่จะลงอะไรเกี่ยวกับตัวเรา ลงแต่เรื่องลูกไว้ก่อน คนไม่ดูเราหรอก แต่วันนี้เราไม่ได้มองว่าคนจะดูหรือไม่ดู ถ้าเรื่องนั้นเราสนใจหรือเราอยากลง เราก็ลง เรื่องยอดคนดู ยอดคนคอมเมนต์ไม่ได้เป็นสิ่งที่รบกวนเราขนาดเมื่อก่อนแล้ว
ณ ตอนนี้ ยอดแชร์ ยอดไลค์ คอมเมนต์ ยังมีความสำคัญกับคุณตุ๊กมากแค่ไหน
สำคัญค่ะ ต้องยอมรับ เพราะส่วนหนึ่งคืองาน แต่เราก็ไม่ได้คิดว่ามันสำคัญที่สุด เราคิดว่าการที่เรามาอยู่จุดนี้ได้ ส่วนหนึ่งคือคนในคอมมูนิตี้ของเรา แต่เราก็มองว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่จะคงอยู่ตลอดไป กราฟไม่ได้พุ่งขึ้นตลอดไป มีขึ้นมีลง แล้วเราก็คิดว่าเราน่าจะลงมาสักพักแล้ว ซึ่งเราก็โอเค เราแค่อยู่และ maintain ของเราไป
เราไม่ได้เอาตรงนี้มาเป็นรายได้หลักหรือว่าสิ่งที่ต้องยึดเหนี่ยวอย่างเดียว ถ้าเมื่อไหร่ที่สิ่งนี้เป็นเส้นเลือดใหญ่ของครอบครัว มันจะอันตราย เราจะเครียดว่าเราไม่ได้อยู่ในกระแส จะเครียดว่ายอดมันตก ยอมรับว่าตรงนี้มันก็เป็นรายได้ส่วนหนึ่ง แต่เราก็มีรายได้หลักอย่างอื่นเหมือนกัน ลูกโตแล้วด้วย มีโอกาสได้ทำธุรกิจอย่างอื่น
ถามถึงลูกๆ บ้าง มีคนชอบจินกับเรนนี่เยอะมาก ในฐานะคุณแม่ มีวิธีการบอกลูกอย่างไร เพื่อการรับมือกับสถานการณ์หรือคนที่เข้ามา
เรนนี่เคยถามเมื่อหลายเดือนก่อนนะคะ เขาถามว่า “Are we famous?” เราก็ตอบ “It depends on how you define famous.” ก็ถามเขาค่ะว่าอะไรคือดัง แล้วเขาก็บอก พี่วี-วิโอเลต (หัวเราะ) เออ อันนั้นอะดัง เพราะเห็นรูปในบิลบอร์ด แล้วเราก็ถามเขาว่าเคยเห็นรูปบิลบอร์ดเราไหม เขาบอกไม่เคยเห็น (หัวเราะ) ตุ๊กก็บอกว่าเรามีคนรู้จัก แต่ไม่ได้ดังขนาดนั้น เราคุยตาม fact ที่เกิดขึ้นตามหลักความเป็นจริง
สมมุติออกไปข้างนอกมีคนเดินเข้ามาทัก เขาก็จะเก็บความสงสัยอยู่ ถ้าเป็นวัยจินเนี่ยคุยได้เกือบจะเหมือนผู้ใหญ่แล้ว แต่วัยเรนนี่เขาจะไม่ถามทันทีแต่เขาจะกลับมาถามที่บ้านว่า ทำไมคนต้องถ่ายรูป ทำไมอยากถ่ายเรนนี่ ก็ตอบว่าเขาเห็นเรนนี่ทางเฟซบุ๊ค ทางยูทูบ แม่เปิดให้ดู เขาว่าเรนนี่น่ารัก เขาเลยอยากถ่ายรูป เหมือนเรนนี่อยากถ่ายรูปกับกระต่ายอะ เวลามันน่ารัก เราก็ต้องเปรียบเทียบให้เขาเห็นภาพกลายๆ
เขาก็…แต่เรนนี่ไม่อยากถ่าย ก็ไม่ต้องถ่าย ก็บอกไม่ถ่ายค่ะก็ได้ แต่เรนนี่ไม่อยากบอกแม้กระทั่งพูดว่าไม่ถ่ายค่ะ เราก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวแม่พูดให้ว่าไม่ถ่ายค่ะ
แต่ถ้าใครเข้ามาขอถ่ายรูป เราจะหันไปหาเขาก่อน ว่าถ่ายได้ไหมลูก ก็แล้วแต่อารมณ์เรนนี่ ถ้าพี่คนนี้เล็บสวยหรือว่าผมยาว ก็ยอม (หัวเราะ) แต่ถ้าเขาไม่โอเค เราก็ให้โอกาสลูกปฏิเสธ หรือไม่เราก็ปฏิเสธแทน เขาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรนะคะ โรงเรียนเองก็ไม่ได้ treat เขาแตกต่างกับคนอื่น เขารู้ว่าจินมีช่องยูทูบ แต่เขาไม่ได้แบบ โอ้โห ยูเป็นยูทูบเบอร์ชื่อดัง ไม่ใช่ เราไม่ได้อยู่ในจุดที่คนจะแห่มาสนใจขนาดนั้น เรารู้สึกอย่างนั้น เรายังใช้ชีวิตปกติมากๆ
ให้เขาดู feedback ทางช่องทางต่างๆ มากน้อยแค่ไหน
เราให้เขาดูงานที่ลงในเพจที่ตัดมาแล้ว บางทีจินก็เห็นตอนที่ยังไม่ได้ตัด ให้เขาดูก่อนที่จะลง สมมุติว่าคลิปนี้เราเห็นเขาเต้นตลกมาก เราก็ให้เขาดู แม่ลงได้ไหม ถ้าเขาบอกไม่ได้ ก็ไม่ได้ลง มีหลายคลิปที่น่ารักมากในสายตาเรา แต่ไม่ได้ลง บางอันถ้าเขารู้สึกว่าถ้าเขาไม่สวยก็ไม่อยากให้ลง ซึ่งบางทีตัดคลิปมา แม้กระทั่งปก บางทีปกมันฮาๆ ให้เขาดู เขาบอกไม่โอเค ก็เปลี่ยน น้องกราฟิกก็แบบได้ค่ะๆ คือน้องๆ น่ารัก ที่ออฟฟิศจะเข้าใจว่าเราให้สิทธิ์ลูกได้เลือกเสมอ
ก็คือการขอความยินยอม ขอ consent จากลูกก่อนที่เราจะเอาเรื่องของเขาไปเผยแพร่
เราเริ่มรู้จุดว่าเขาไม่โอเคกับจุดไหน ซึ่งเราจะมีบรรทัดฐาน มีกฎหลักในครอบครัวเราคือ ต้องไม่โป๊ เหมาะกับวัย อย่างจิน จะมีงานยาสระผม ต้องใส่ชุดว่ายน้ำ ไม่ก็ crop และเราถามลูกก่อนว่าลูกโอเคไหม
ตอนนี้จินกับเรนนี่เขาเข้าถึงโซเชียลมีเดียอะไรบ้าง
ถ้าจิน เขาจะเข้าถึง LINE ในโรงเรียนที่เขามีกรุ๊ปเพื่อน ครู เพราะเขาต้องเรียนออนไลน์แต่ IG, TikTok, Facebook เขายังไม่มี แต่ก็จะมีขอดูบ้าง อย่าง TikTok ต้องดูกับเราเท่านั้นเลย มันไม่เหมือน YouTube ที่มีการกรอง
บางทีตอนดูด้วยกันแล้วสไลด์ไปเจอคำหยาบหรืออะไรโหดๆ ให้เขาดูกับเรา เราก็อธิบาย บางทีเขาก็บอกว่า เนี่ย คนนี้พูดคำหยาบเหมือนแม่ตอนอุทานเลย ก็มี (หัวเราะ) เขาก็เข้าใจ คือสมัยเรายังเด็ก เวลาเราเห็นอะไรที่มันไม่ควรจะเห็นในวัยของเรา คุณพ่อคุณแม่จะเปลี่ยนช่องหรือเลี่ยงที่จะพูด เพราะยุคสมัยที่เขาเติบโตมา เขาไม่ได้มีคู่มือแบบเรา แต่เรามองว่าถ้าเจออะไรที่มันไม่เหมาะ ก็ดูด้วยกันนั่นแหละ
สมมุติเรานั่งดูซีรีส์เกาหลีของเราอยู่ ก็แบบมาแล้ว ฉากก็…อื้อหือ ผู้ใหญ่เชียว แล้วลูกลงมาพอดีเราก็ อะ มานั่งนี่ แม่อธิบายให้ฟัง (หัวเราะ) ช่วงแรกก็อึดอัดนะ เนี่ย เขารักกัน อย่างบางทีมันมีซีรีส์วัยรุ่น เราก็ต้องดูก่อนว่ามันจะเกิดอะไร เราก็อธิบายว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นในแบบที่เขาเข้าใจ เราจะไม่อธิบายลึกจนเขาหลุดโฟกัส ไม่ฟังเรา
เราเห็นคอนเทนต์ของจิน เรนนี่พูดถึงเรื่องความรวย หรือว่าความสวย คอนเทนต์นี้มาได้อย่างไร
พี่เหว่งเขาสอนลูกดี บางเรื่องเขาก็สอนดีกว่าเราด้วยซ้ำ เขาจะสอนให้ลูกอยู่กับความเป็นจริงมากที่สุด อย่างคอนเทนต์เรื่องความรวย หรือคอนเทนต์เรื่องการอยู่บนโซเชียลมีเดีย มันเกิดจากคำถามของลูก อย่างเรนนี่เวลาวาดรูป เขาจะชอบบอกคนนี้รวย She’s so rich. ไปบ้านเพื่อนแม่ เขาก็จะบอกว่า This friend’s so rich. แบบ big house เพราะว่าบ้านเราจะไม่ได้ใหญ่ เขาจะกลับมาแบบทำไม We don’t have high ceiling. เพดานมันเตี้ยจังเลย อะไรอย่างนี้
ได้โอกาส เราอยากทำคอนเทนต์ลง เพราะนอกจากลูกได้ประโยชน์ คนดูก็ได้ประโยชน์ด้วย ก็เลยทำ โดยที่เขาไม่ได้รู้คำถามก่อน ไม่มีสคริปต์ เราอยากรู้จริงๆ ว่าเขาคิดยังไง แต่เราก็มีคำพูดในหัวเราอยู่เหมือนกันว่า ถ้าเขาคิดอย่างนี้เราจะคุยกับเขายังไง
เขาเป็นเด็กที่อยู่บนความเป็นจริง อย่างจินเขาจะยอมรับว่า เขาแคร์ยอดไลค์นะ แต่มันก็ไม่ได้สำคัญที่สุด อย่างเรนนี่ก็จะยอมรับว่ามีเงินก็ดี มีเงินก็ซื้อของเล่น คืออยู่บนพื้นฐานของความต้องการของความจริงว่าฉันไม่รวยก็ได้ เราไม่เคยพูดว่าเงินไม่สำคัญ แต่เราก็ไม่เคยพูดว่าเงินสำคัญกว่าความสุข
เขาก็เห็นจากพ่อแม่ว่า เออ บางทีเราก็เป็นพ่อแม่ที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ บางทีพ่อก็รู้ตัวว่าไม่มีเวลาให้หนูเลยนะ เพราะมัวแต่ทำงาน มันก็มีจุดที่ไม่ดีของเรา แต่พ่อก็พร้อมแก้ไข มีเวลาให้เยอะขึ้น แม้กระทั่งคอมเมนต์แย่ๆ ที่เคยพิมพ์เรื่องผลงานของจินหรือเรื่องครอบครัวเรา ถ้ามันไม่หยาบคาย ตุ๊กจะอ่านให้ลูกฟัง
อ่านเพราะอะไร
หลักๆ เราอยากรู้ว่าเขาคิดยังไง คือโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ณ วันหนึ่งเขาก็ต้องอยู่บนโซเชียลมีเดียด้วยตัวของเขาเอง เขาเลี่ยงไม่ได้ที่จะอยู่จุดนี้ แต่ในเมื่อมันอยู่แล้ว จะอยู่ยังไงให้แข็งแรงและโอเคที่สุด เราก็เลยอ่านให้เขาฟัง โดยที่เรายังอยู่ข้างๆ เขา ให้เขารู้วันนี้ดีกว่าวันที่เขาโตและเราตายไปแล้ว
วันนี้เรายังช่วยเขาได้ ยังอธิบายเขาได้ เรายังพูดคุยและรู้ว่าจริงๆ เขารู้สึกยังไงบ้าง เพราะบางคอมเมนต์เขาก็ไม่แฮปปี้ที่จะได้ยิน เราก็ถามว่ารู้สึกยังไง ไม่แฮปปี้เพราะอะไร แล้วคิดว่าที่เขาพูดเนี่ยมันเป็นความจริงหรือเปล่า
ก็คุยกันมากขึ้นโดยที่ไม่ได้ปิดบังหรือไม่ได้ปัดออกให้ลูกไม่รู้ โดยส่วนตัวลึกๆ เราก็ไม่ได้กลัวเท่าเมื่อก่อน ความกลัวมันเกิดจากเราเลี่ยงมัน เลี่ยงที่จะพูด เลี่ยงที่จะให้ลูกเจอเพราะกลัวลูกเจ็บ กลัวลูกจะเสียใจเหมือนที่เราเสียใจ แต่การเลี่ยงให้เขาไม่ปะทะหรือไม่เจอ มันไม่ได้เป็นทางแก้ปัญหา มันยิ่งทำให้เรากลัวเข้าไปใหญ่ แต่มันต้องเป็นวันที่เราพร้อม แข็งแรงพอที่จะเผชิญหลายๆ อย่างกับลูกด้วยนะ วันนี้เรา strong เราพร้อมละ โอเค มาคุยกันเลย
เหมือนเอาคอมเมนต์ที่ไม่ดีมาวางตรงหน้า แล้วสร้างบทสนทนาของพ่อแม่กับลูก?
ซึ่งบางทีเขาแข็งแรงกว่าเราอีก บางทีมีคนมาวิจารณ์งานเราไม่ดี เรากลับว่าตัวเอง ทั้งๆ ที่เขาว่างานเรา ไม่ได้ว่าเรา เราก็บ่น ลูกเห็นเราแบบเซ็งๆ เขาก็ถาม แม่เป็นไร เขากลับเป็นคนที่สอนเราว่ามันก็แค่ opinion น่ะ มันแค่ความคิดของคนคนหนึ่ง It doesn’t mean they don’t like you or they know you.
เหมือนกับว่าการพาลูกไปพบเจอคนที่คิดไม่เหมือนกับเรา รู้สึกถึงคำว่า empathy พยายามทำความเข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ แล้วทำไมเขาถึงคิดไม่เหมือนกับเรา
empathy สำหรับตุ๊กมันเกิดจากการที่เราต้องยอมรับและเข้าใจอารมณ์หลากหลายในตัวเรา พอเราเริ่มเรียนรู้ปุ๊บ ความ empathy จะเกิดขึ้นเพราะว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น เมื่อก่อนเราไม่ได้ต้อนรับอารมณ์อะไรหลากหลายแบบนี้กับตัวเอง แต่วันนี้เรามี empathy มากขึ้นเพราะเราเรียนรู้ รู้จักตัวเองมากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าเรารู้สึกโอเคกับ bad comments แต่เราเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมเขาถึงพิมพ์แบบนี้
มันเรียกว่า empathy หรือเปล่าไม่แน่ใจ เราเข้าใจว่าเขาพิมพ์เพราะอะไร เรารู้สึกโกรธไหม โกรธอยู่แล้ว เข้าใจแต่โกรธ แต่มันขึ้นอยู่กับตัวเราว่าเราจะตอบกลับไปหรือเปล่า บางทีเจอ negative มา ไม่ตอบกลับก็มี เราไม่ได้คิดว่าเราอยู่ในจุดที่ต้องอธิบายทุกอย่างแล้ว
Writer
tippimolk
คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa
Writer
ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์
ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง