ห้องเรียนวรรณกรรม ไม่ใช่โรงละครคุณธรรมโลกหลากหลายอาจจะหล่นหาย ถ้าวิชาวรรณกรรมชวนท่องจำแต่ “ข้อคิด”

ห้องเรียนวรรณกรรม ไม่ใช่โรงละครคุณธรรมโลกหลากหลายอาจจะหล่นหาย ถ้าวิชาวรรณกรรมชวนท่องจำแต่ “ข้อคิด”

ตั้งแต่เด็กจนโตเรามักจะคุ้นชินดีกับประโยคลงท้ายที่ว่า “เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…” แล้วตามด้วยข้อคิดที่ถูกระบุมาในหนังสือหรือจากผู้เล่า ตั้งแต่ฟังนิทานตอนเด็กๆ ไปจนถึงช่วงสรุปปิดท้ายในห้องเรียน โดยเฉพาะห้องเรียนวิชาภาษาไทยช่วงเนื้อหาวรรณกรรม-วรรณคดีไทยที่นอกจากจะต้องท่องบทอาขยาน ถอดคำประพันธ์ จำตัวละครให้แม่นแล้ว ก็มักจะต้อง ‘อธิบายคุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรมที่อ่าน ตลอดจนสรุปความรู้-ข้อคิดจากการอ่านเพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง’ ตามตัวชี้วัดในหลักสูตร 

จะว่าไปการค้นหาข้อคิดหรือสิ่งที่เราคิดกลั่นกรองออกมาจากเรื่องที่อ่านก็ไม่ใช่เรื่องที่มีปัญหาอะไร หากว่าข้อคิดเหล่านั้นออกมาจากการได้ลองคิดอย่างหลากหลายมุม มีคำถามหลากหลายชุดในการชวนคิด หรือมีอิสระในการตั้งคำถามในขณะอ่าน หากแต่ประสบการณ์การเรียนวรรณกรรมในวัยประถม-มัธยมที่ผู้เขียนเองจดจำได้ก็ยังเป็นห้องเรียนที่เน้นเติมคำในช่องว่าง จำคำตอบมากกว่าการตั้งคำถาม ซึ่งความแปลกประหลาดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือคำตอบในช่อง “ข้อคิด” จากวรรณกรรมเรื่องต่างๆ ที่ได้เรียนมักจะออกมาคล้ายๆ กันทั้งชั้น! กล่าวคือเราได้ “ข้อคิดจากการอ่านเพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง” ที่ไม่ต่างกันนักในการอ่านวรรณกรรมหนึ่งเรื่อง ถ้าไม่ใช่เพราะนักเรียนกว่า 30 คนในห้องรู้สึกนึกคิดเหมือนกันหมดราวกับเป็นคนเดียวกันอย่างน่าอัศจรรย์ ก็อาจเป็นเพราะว่าการเรียนวรรณกรรม-วรรณคดีเช่นนี้กลายเป็นพื้นที่ที่คำตอบมีเพียงหนึ่งเดียวหรือแบบเดียว ทั้งที่สิ่งที่อ่านนั้นประกอบไปด้วยตัวละครมากมายและเรื่องราวซับซ้อนหลากหลายมุม 

https://www.pexels.com/th-th/photo/5905441/ 

น่าคิดไปกว่านั้นคือข้อคิดที่ได้มักวนเวียนอยู่กับความมีน้ำใจ ปัญหาของความรัก โลภ โกรธ หลง การอ่อนน้อมถ่อมตน การอย่าหลงตน ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญู ความเสียสละ การทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แบบที่ว่าเข้าคลาสภาษาไทยทำใบงานวรรณกรรม-วรรณคดีทีไรก็เตรียมเลือกคำตอบจากคติธรรมคำสอนเหล่านี้ไปเติมลงตามความเหมาะสมได้เลย ทว่า โลกการอ่านที่เต็มไปด้วยข้อคิด คติธรรม คำสั่งสอนที่ดีงามจนเหมือนกลายเป็นหมุดหมายในการเรียนวรรณกรรมไทยเช่นนี้ก็อาจทำให้เราลืมรู้สึกไปกับตัวละคร ลืมลุกขึ้นมาต่อสู้ให้ตัวละครที่เราเห็นอกเห็นใจ ลืมมองเห็นตัวละครที่ดูไม่สลักสำคัญในเรื่อง ลืมสนุก และอาจลืมโต้เถียงกับสิ่งที่อ่านโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้  

https://www.pexels.com/th-th/photo/5212686/ 

ห้องเรียนที่ “ได้คิด” จะเปลี่ยน “ข้อคิดที่ได้” 

ในเว็บไซต์ Inskru ที่รวบรวมไอเดียจากคุณครูหลายคนทั่วประเทศซึ่งต้องการแบ่งปันวิธีการสอนในรายวิชาต่างๆ รวมถึงการสร้างกระบวนการในห้องเรียนวรรณคดีไทยมีหลากหลายเคสที่คุณครูภาษาไทยมาร่วมแบ่งปันห้องเรียนที่น่าสนใจของพวกเขา หลายห้องเรียนเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้ลองคิดอ่านไปกับเนื้อหา ด้วยกระบวนการสอนที่เน้นให้นักเรียนได้พูดคุย แลกเปลี่ยน วิพากษ์วิจารณ์ รวมไปถึงลองเชื่อมโยงเรื่องราวหรือวิธีการของเรื่องที่อ่านเพื่อสะท้อนปัญหาในชีวิตของตัวเอง 

ยกตัวอย่างเช่น ไอเดียการสอนวรรณคดีที่เว็บไซต์ Inskru เลือกปักหมุดแนะนำอย่าง “Cause&Effect Mind Map แก้ปัญหาแบบโคลนติดล้อ” โดยคุณ christmas puttamas เป็นคลาสที่คุณครูเลือกใช้กิจกรรมหลังอ่านเป็น cause and effect mind mapping และการเรียนรู้แบบร่วมมือ หยิบยกเอาแนวคิดแก้ปัญหาโดยให้หลักเหตุ-ผลอย่างเป็นขั้นตอนที่ถูกนำเสนอในเรื่อง “โคลนติดล้อ” มาสร้างกระบวนการ โดยให้นักเรียนแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนกันถึง “ปัญหาและอุปสรรคในการเรียน”  แล้วให้นักเรียนในห้องร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาใดบ้างที่นักเรียนทุกคนเจอ ปัญหาใดที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน ปัญหาใดที่แก้ไขได้ยากที่สุด ฯลฯ ความน่าสนใจอยู่ที่ว่านักเรียนได้พูดคุยถึงปัญหาที่พวกเขาพบมากมาย ซึ่งค้นพบว่าเกิดจากทั้งตัวเขาเอง คุณครูและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ  นับว่าเป็นห้องเรียนวรรณกรรมที่ทำให้นักเรียนเห็นวิธีการต่อยอดจากการอ่านเพื่อเชื่อมโยงกับตัวและโลกของพวกได้อย่างน่าสนใจ  

ภาพจากเว็บไซต์ Inskru: https://inskru.com/idea/-MYi5Kyf9cIrw4ycZx3G

อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือห้องเรียนภาษาไทยที่คุณครูตั้งชื่อชั่วโมงนี้อย่างน่ารักว่า “หากฉันเป็นใครสักคนในเรื่องมัทนะพาธา”  โดยคุณ Oathai แบ่งปันชั่วโมงเรียนวรรณกรรมเรื่อง “มัทนะพาธา” ที่ลองให้เด็กๆ เลือกตัวละครที่ชื่นชอบและจำลองตัวเองเป็นตัวละครนั้นๆ แล้วลองคิดว่าตัวเองจะรู้สึกอย่างไรหากเป็น “ผู้กระทำ” หรือ “ผู้ถูกกระทำ” ในเรื่อง ต่อด้วยเขียนอธิบายความคิดความรู้สึกนั้นให้อยู่ในรูปแบบของกลอนเปล่าไร้ฉันทลักษณ์

ปรากฏว่าผลงานนักเรียนที่ออกมาจากห้องเรียนนี้มีทั้งนักเรียนที่เลือกเป็นตัวละครที่ไม่โดดเด่นนักอย่างมายาวิน” ซึ่งบรรยายความรู้สึกผ่านกลอนเปล่าว่าเขาหลงรักสุเทษณ์ เป็นการพยายามจินตนาการแหวกออกไปโดยมีประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง ในขณะที่นักเรียนบางคนเลือกเป็น “นางมัทนา” โดยบรรยายถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ได้รับความยุติธรรม หรือบางคนเลือกเป็นสุเทษณ์และบรรยายความรู้สึกมุมมองที่ทำให้สุเทษณ์กระทำเช่นนั้น จะเห็นว่าการนำกลอนเปล่าไร้ฉันทลักษณ์มาใช้เป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นอย่างไม่จำกัด ทำให้คุณครูได้เห็นความคิดหลากหลายของนักเรียนที่แสดงออกทั้งความรู้สึก แนวคิดเรื่องความรัก ความยุติธรรม เพศ และความเท่าเทียม เรียกได้ว่าเป็นห้องเรียนที่ทำให้วรรณคดีอย่าง “มัทนะพาธา” ไม่ได้สอนให้เรารู้ว่า “ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์” แบบที่นักเรียนไทยหลายคนเคยชินอีกต่อไป 

จากสองห้องเรียนที่ยกมานี้จะเห็นว่าสิ่งที่ทั้งสองห้องเรียนพานักเรียนไปถึงในตอนท้ายเหมือนกันคือการไม่สรุปว่าวรรณกรรมเรื่องนั้นมีข้อคิดของเรื่องอย่างไร ทำให้ไม่มีข้อคิดใดเลยถูกสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าของตัวบท หากสังเกตจากคำตอบของนักเรียน “แต่ละคน” ที่คุณครูยกตัวอย่างก็จะเห็นว่าความคิดพวกเขาโลดแล่นไปในแง่มุมที่หลากหลายมาก พวกเขามีคำตอบที่ “แตกต่าง” และเมื่อคำตอบที่แตกต่างเหล่านั้นมารวมกัน นักเรียนก็จะเรียนรู้ได้ทันทีว่าความคิดต่อเรื่องราวหนึ่งๆ นั้นมีหลายแง่มุมขนาดไหน พวกเขาจะเห็นว่าคนเราเลือกที่จะคิดและอ่านในมุมที่แตกต่างกันได้ เลือกที่จะรู้สึกด้วยเงื่อนไขที่ปะทะเข้ามาไม่เหมือนกัน มากไปกว่านั้นคือพวกเขาก็จะเห็นว่าความคิดเห็นหรือเสียงของเพื่อนๆ ล้วนมีความหมาย มีคุณค่าที่จะรับฟังทั้งสิ้น ไม่ใช่เพียงเสียงของคุณครูหรือเสียงจากหนังสือเรียนเพียงเท่านั้นที่จะเป็น “คำตอบ” หนึ่งเดียวของห้องเรียน  ดังนั้นห้องเรียนวรรณกรรมที่ “ได้คิด” จึงนำมาสู่ “ข้อคิดที่ได้” ที่ไม่ต้องเติมลงในช่องว่างแบบซ้ำๆ กันอย่างน่าเบื่อหน่าย ถ้าพูดในอีกทางหนึ่งห้องเรียนวรรณกรรมที่ได้คิดอย่างอิสระก็เหมือนการคืนอำนาจในการอ่านและการตีความให้กับผู้อ่านอย่าง “นักเรียน” นั่นเอง เมื่อพวกเขารู้สึกถึงอำนาจนั้นได้ หนังสือเล่มอื่นๆ ก็จะน่าอ่านมากยิ่งขึ้น เพราะพวกเขารู้ว่าจะสามารถหลีกหนีเข้าไปในโลกของเรื่องเล่าและคิดอะไรต่อมิอะไรได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ แล้วเด็กๆ อาจรักการอ่านด้วยตัวเขาเอง โดยที่ไม่ต้องมีแคมเปญ “บันทึกรักการอ่าน” เลยก็เป็นได้   ผู้เขียนนึกถึงคำสัมภาษณ์ของอาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในบทสัมภาษณ์ว่าด้วย “การอ่านมันยากเกินไปหรือเรากำลังมองคนเป็นเด็กตลอดเวลา” โดย “รุจิภาส กิจติเวชกุล” เผยแพร่ทางเว็บไซต์ Mappa ที่ว่า  

“โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ทำให้เด็กเกลียดการอ่านหนังสือมากที่สุด แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวหนังสือ ไม่ได้อยู่ที่การอ่าน แต่อยู่ที่วิธีการเรียนการสอนในระบบการศึกษาไทยที่ทำให้หนังสือและการอ่านเป็นเรื่องน่าเบื่อ หรือเป็นเรื่องที่มันไม่สอดคล้องชีวิตของนักเรียน”

ปลายทางของห้องเรียนวรรณกรรม

หากว่าระบบการศึกษาที่เราต่างใฝ่ฝันคือการศึกษาที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง เห็นความหมายและความสำคัญในผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งในแง่ความคิด ความเชื่อ ตัวตน เพศ ชาติพันธุ์ ร่างกาย สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ การขยายขอบและสลายกรอบย่อมสำคัญยิ่ง ห้องเรียนวรรณกรรมที่ก้าวข้ามการยึดคำตอบหนึ่งเดียวเป็นสรณะก็อาจจะเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่จะช่วยคลี่ขยายความคิด ความรู้สึก และมุมมองของผู้คนที่หลากหลายให้ผลิบานขึ้นได้อย่างไม่จำกัด เพื่อบอกกับเด็กๆ ว่าโลกที่พวกเขาอยู่นั้นควรจะกว้างใหญ่พอที่จะมี “พื้นที่” ให้พวกเขาได้ทำความรู้จัก ทักทาย และทำความเข้าใจตัวละครใหม่เก่า ไปจนถึงเรื่องเล่าของหลากหลายชีวิตในมุมต่างๆ เสมอ     

อ้างอิง 

https://inskru.com/idea/-MYi5Kyf9cIrw4ycZx3G 

https://inskru.com/idea/-MOWol_SoAj32GxDrgga  

https://fkwp.mappamedia.co/chusak-pattarakulvanit/

Writer
Avatar photo
ศิรินญา สุวรรณโค

มีฝีมือในการทำอาหารประเภทยำ และอยู่อย่างมีความหวังเสมอ ในวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน

illustrator
Avatar photo
พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts

Related Posts