วรรณกรรมและโรงละคร : ระยะปลอดภัยในการสร้าง empathy

วรรณกรรมและโรงละคร : ระยะปลอดภัยในการสร้าง empathy

  • Empathy คือทักษะในการเข้าใจความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่นโดยไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ผ่าน ทฤษฎีกระจกเงา (social mirroring) และ การมองจากมุมมองของผู้อื่น (perspective-taking)
  • งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการอ่านวรรณกรรมและการดูละครเวที จะเปิดโอกาสให้เราได้มองโลกจากสายตาของคนอื่นในพื้นที่ที่ปลอดภัยและมีระยะพอเหมาะพอดีซึ่งจะช่วยให้ empathy เกิดขึ้นได้  

“นักอ่านจะใช้ชีวิตนับพันชีวิตจนกว่าเขาจะตาย” คือคำพูดหนึ่งของโจเจน รีด จากหนังสือ ‘มังกรร่อนระบำ (A Dance with Dragons)’ ในนวนิยายชุด ‘มหาศึกชิงบัลลังก์ (A Song of Ice and Fire)’ ผลงานของ จอร์จ อาร์ อาร์ มาร์ติน ที่กลายเป็นมหากาพย์ซีรีส์ชื่อดังอย่าง Game of Thrones

และคงมีคนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับคำพูดนั้น

“วรรณกรรมและเรื่องราวมีผลกับเราหลายอย่าง” วิลเลียม ชอพพิค นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ให้ความเห็น “มันทำให้เราได้พบกับแนวคิดที่ท้าทาย และเปิดโอกาสให้เราได้มองโลกผ่านสายตาของคนอื่นแบบมีระยะและปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ วรรณกรรมจึงเปรียบเสมือนสนามเด็กเล่นในการฝึกทักษะการเห็นอกเห็นใจให้เรา”

เช่นเดียวกับวรรณกรรม หลายคนเชื่อว่าประสบการณ์ที่ได้จากการดูละครเวทีก็เป็นการสร้างและเสริม empathy หรือทักษะในการเข้าใจความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่นโดยไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เปรียบเหมือนการทดลองมองโลกด้วยสายตาของผู้อื่นโดยไม่ตัดสิน และความเชื่อนี้ก็ได้รับการยืนยันด้วยงานวิจัยหลายชิ้น รวมถึงคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทอีกด้วย

การอ่านวรรณกรรมและการดูละครเวทีทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นจริงหรือ?

ในปี 2013 เดวิด โคเมอร์ คิดด์ และ เอ็มมานูเอล คาสตาโน นักจิตวิทยาจาก New School for Social Research ในนิวยอร์ก ทำการศึกษาเรื่องการอ่านวรรณกรรมที่จะช่วยเพิ่มพูนทักษะการจับสังเกตและเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น โดยทั้งคู่ได้ทำการทดลอง 5 ครั้ง กับกลุ่มตัวอย่าง 1,000 คน ที่จะได้รับงานเขียนไปอ่านแบบคละประเภท เช่น นิยายขายดีอย่าง The Sins of the Mother ของแดเนียล สตีล หรือ Gone Girl ของกิลเลียน ฟลินน์ และงานเขียนที่มีความเป็น ‘วรรณกรรม’ มากกว่า เช่น เรื่อง The Tiger’s Wife ของทีอา โอเบรต์ เรื่อง The Runner ของ ดอน เดอลิลโล และงานของอันตอน เชคอฟ

ทั้งคู่ใช้ทฤษฎีจิต (Theory of Mind) ซึ่งเป็นความสามารถในการเข้าใจผู้อื่นมาเป็นตัวชี้วัดว่ากลุ่มตัวอย่างสามารถเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นได้มากแค่ไหน ผลลัพธ์ที่ได้คือคะแนนของกลุ่มที่อ่านวรรณกรรมนั้นสูงกว่ากลุ่มที่อ่านนิยายขายดีหรืองานเขียนเชิงสารคดี โดยคิดด์และคาสตาโนให้เหตุผลว่า วรรณกรรมส่วนใหญ่จะเน้นไปที่พัฒนาการของตัวละคร (character development) เช่น ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน (Don Quixote), The Great Gatsby, 1984 หรือ ชีวิตพลิกผันของเคานต์แห่งมองเต กรีสโต (The Count of Monte Cristo) ซึ่งจะพาผู้อ่าน`เจาะลึกเข้าไปยังจิตใจและอารมณ์ของตัวละคร และเกิดความเข้าอกเข้าใจได้มากกว่างานเขียนทั่ว ๆ ไป เช่น นิยายสยองขวัญหรือนิยายอาชญากรรมสืบสวน ซึ่งมักจะเน้นไปที่โครงเรื่องที่กระตุ้นให้ผู้อ่านคาดเดาเนื้อหามากกว่าความเข้าอกเข้าใจในตัวละคร

แม้จะมีนักจิตวิทยาอีกหลายคนที่ยังเคลือบแคลงกับวิธีทดลองของคิดด์และคาสตาโนที่ใช้การ อ่านความคิดจากสายตา(Reading the Mind in the Eyes) ประกอบ แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยว่าการอ่านวรรณกรรมจะช่วยให้คนอ่านมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น

“การตัดสินความสามารถในการอ่านสีหน้าของคนมันแปลกไปหน่อย เรื่องของเรื่องคือวรรณกรรมจะทำให้คุณได้เห็นวิสัยทัศน์ของโลกภายในที่ไม่ได้แสดงออกมา ส่วนใหญ่สิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากวรรณกรรมก็คือ จงงุนงงบ้างสักเล็กน้อย เพราะวรรณกรรมจะบอกให้คุณอย่าเพิ่งตัดสิน” ฟิลิป เดวีส์ ศาสตราจารย์จากสาขาวิทยาศาสตร์จิตวิทยา มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ให้ความเห็น “อย่างในเรื่อง แรงใจและไฟฝัน (Great Expectation)’ โจทำให้พิพอับอาย เพราะเขาเป็นคนหยาบโลน แต่พิพกำลังพยายามไต่เต้าทางสังคมอยู่ พอได้อ่าน คุณก็จะถามตัวเองว่า การเป็นพิพนี่จะรู้สึกยังไง หรือเราจะรู้สึกยังไงถ้าเราเป็นโจ เราจะควบคุมตัวเองได้ดีกว่าพิพไหมในสถานการณ์แบบนั้น ความเห็นอกเห็นใจมันจะปรากฏขึ้นมาระหว่างช่องว่างของตัวละครสองตัว”

ผลลัพธ์ที่ว่าการอ่านวรรณกรรมจะทำให้มีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นได้รับการยืนยันด้วยงานวิจัยอีกหลายชิ้น เช่น งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2014 ที่ตีพิมพ์ลงใน Applied Social Psychology พบว่าเด็กมัธยมที่อ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ จะมีความเห็นอกเห็นใจผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจากประเทศอื่น ๆ มากกว่า เพราะในเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้น ผู้คนที่ไม่มีเวทมนตร์มักจะถูกเลือกปฏิบัติ นักเรียนที่อ่านวรรณกรรมชุดนี้จึงเข้าใจได้ว่าการเป็นคนไร้สิทธิ์นั้นเจ็บปวดอย่างไร

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในการดูละครเวทีเช่นเดียวกัน ในปี 2021 ที่ผ่านมา มีงานวิจัยจากความร่วมมือของโรงละครไม่แสวงหาผลกำไรแห่งพอร์ตแลนด์ โอเรกอน และโรงละครสาธารณะแห่งนิวยอร์ก ที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 1,600 คน ที่เป็นผู้ชมละครเวที 3 เรื่อง ได้แก่ Skeleton Crew ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนงานในโรงงานผลิตรถยนต์หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 Wolf Play ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับคู่รักเพศเดียวกันที่พยายามจะอุปการะเด็กมาเลี้ยง และ Sweat ที่เกี่ยวกับชนชั้นแรงงานในเมืองดีทรอยต์

การทดลองพบว่าหลังจากดูละคร ผู้ชมมีความเห็นอกเห็นใจต่อกลุ่มคนในเรื่องมากกว่าก่อนดู  มีความสนใจประเด็นเชิงสังคมและการเมืองที่เกี่ยวกับประเด็นในเรื่องมากขึ้น และกลุ่มที่ดูละครมาแล้วก็มีการบริจาคให้มูลนิธิมากกว่ากลุ่มที่ยังไม่ได้ดู แม้ว่ามูลนิธินั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของละครที่ได้ดูก็ตาม และยิ่งกลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามว่าพวกเขาดำดิ่งลงไปในเรื่องราวของตัวละครมากเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งแสดงออกถึงการเห็นอกเห็นใจ เห็นด้วยกับทัศนคติทางการเมืองในเรื่อง และบริจาคมากขึ้นเท่านั้น

วรรณกรรมและละครเวทีเสริมสร้าง empathy ได้อย่างไร

บทความที่ชื่อว่า How We Empathize with Others: A Neurobiological Perspective ซึ่งตีพิมพ์ใน Medical Science Monitor กล่าวว่า การเกิด empathy สามารถอธิบายในเชิงประสาทวิทยาได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 โหมด คือ ทฤษฎีกระจกเงา (social mirroring) และ การมองจากมุมมองของผู้อื่น (perspective-taking)  

สำหรับโหมดแรกนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเราสังเกตอารมณ์ของคนอื่น ๆ เซลล์ประสาทกระจกเงาของเราจะทำงานและทำให้เราสามารถรับเอาอารมณ์ความรู้สึกของอีกฝ่ายมาได้ด้วยการมองเห็นและเลียนแบบ เช่น การเห็นคนหาวแล้วหาวตาม เห็นคนเตะขอบโต๊ะแล้วเจ็บด้วย   

แต่การมองจากมุมมองของผู้อื่นนั้นจะต้องใช้ความเข้าใจ โดยขั้นแรกต้องแยกตัวตนของเรากับอีกฝ่ายให้ออก การทำแบบนี้จะทำให้เราเข้าใจความต้องการ เจตนา และความเชื่อของผู้อื่น จากนั้น คอร์เท็กซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้าที่มีหน้าที่สร้างจิตภาพ (ความเข้าใจในความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ความอยาก ความต้องการ และความคาดหวังของตัวเองและผู้อื่น) จะทำงาน และจะเกิดการอนุมานสภาพจิตใจของอีกฝ่ายได้

อีกหนึ่งงานวิจัยชื่อ Action speaks louder than words: Empathy mainly modulates emotions from theory of mind-laden parts of a story ของวอลเลนทินและคณะ ได้สังเกตการกระตุ้นการใช้ประสาทสัมผัสและการสร้างจิตภาพในระหว่างที่เด็ก ๆ อ่านเรื่อง ‘ลูกเป็ดขี้เหร่ (Ugly Duckling)’ พบว่า มีการทำงานของทั้งเปลือกสมองส่วนการเห็น ที่ทำหน้าที่ประมวลข้อมูลสายตาและสมองส่วนที่ข้องเกี่ยวกับการสร้างจิตภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในขณะที่คนอ่านวรรณกรรม พวกเขาไม่ได้เพียงแค่อ่านเท่านั้น แต่ยังจินตนาการสถานการณ์นั้น ๆ ขึ้นมาในหัว และสมองของเขาก็จะได้รับประสบการณ์ราวกับว่าเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่อ่านด้วย

กระบวนการนี้เกิดขึ้นในการดูละครเวทีเช่นกัน

เคธี่ แลร์ นักให้คำปรึกษาสุขภาพจิตเด็กและนักละครบำบัด กล่าวว่า “สำหรับเราทุกคน โดยเฉพาะเด็ก ๆ โรงละครช่วยให้เรามีส่วนร่วมทางอารมณ์ในระดับที่ลึกลงไปกว่าศิลปะด้านอื่น ๆ เพราะมันจับต้องได้มากกว่า มันคือการผสมผสานทุกผัสสะของคุณไม่ว่าคุณจะเป็นนักแสดงหรือคนดูก็ตาม”

แลร์มองว่าองค์ประกอบของละครเวทีจะทำให้เราเข้าใจและเชื่อมโยงกับตัวละครที่มีความแตกต่างจากเราได้มากกว่า ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่สมองเราใช้ในการสร้างความเห็นอกเห็นใจ

อีกความเห็นหนึ่งจาก บิล อิงลิช แห่งโรงละครซานฟรานซิสโก (San Francisco Playhouse) ให้ความเห็นว่า “โรงละครก็เหมือนโรงยิมสำหรับการฝึก empathy มันคือที่ที่เราจะสร้างกล้ามเนื้อของความเห็นใจ คือที่ที่เราจะฝึกการรับฟัง เข้าใจ และมีส่วนร่วมกับผู้คนที่ไม่เหมือนกับเรา เราได้ฝึกการนั่งเฉย ๆ ตั้งใจดู และเรียนรู้จากการกระทำของผู้อื่น เราได้ฝึกที่จะใส่ใจด้วย”

เพราะโรงละครและวรรณกรรมคือพื้นที่ปลอดภัยที่เราจะได้สำรวจโลก ผู้คน และสถานการณ์ที่เราไม่มีโอกาสพบเจอ เปิดโอกาสให้เราได้ ‘ใช้ชีวิต’ ที่เราไม่เคยใช้ ได้มองโลกจากสายตาของเพศอื่น ชาติพันธุ์อื่น วัฒนธรรมอื่น ความเชื่อทางการเมืองและศาสนาอื่น ๆ อาชีพอื่น ช่วงวัยที่ต่างออกไป คนจากสถานะทางสังคมที่แตกต่าง หรือแม้กระทั่งมุมมองของสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ จึงไม่แปลกหาก empathy จะเกิดขึ้นได้ผ่านการอ่านวรรณกรรมและการดูละครเวที

อ้างอิง

https://spsp.org/news-center/character-context-blog/psychology-live-theatre-can-seeing-theatre-increase-empathy

https://www.theguardian.com/books/booksblog/2013/oct/08/literary-fiction-improves-empathy-study

https://medium.com/predict/reading-fiction-increases-your-empathy-and-understanding-of-others-c2be63d96ce8

https://web.archive.org/web/20220905210639/https://www.academia.edu/25339634/The_greatest_magic_of_Harry_Potter_Reducing_prejudice

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3524680/

https://www.discovermagazine.com/mind/research-links-increased-empathy-with-live-theater-experience

https://www.researchgate.net/publication/322388461_The_Effect_of_Fictional_Literature_on_Empathy_in_Children

Writer
Avatar photo
ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

illustrator
Avatar photo
กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts

Related Posts