เรารับฟังกันมากแค่ไหน? และเราจะ ‘ฟัง’ อย่างไรให้ใจเชื่อมถึงกัน

เรารับฟังกันมากแค่ไหน? และเราจะ ‘ฟัง’ อย่างไรให้ใจเชื่อมถึงกัน

เคยไหม? รู้สึกว่าไม่มีใครให้พูดด้วย

หรือกลัวว่าสิ่งที่เราจะพูดออกไปนั้นมีใครอยากรับฟังมันจริงๆ หรือไม่

อาจเป็นปกติธรรมดาที่หลายบทสนทนาจะเกิดคำถามเหล่านั้น

เพราะทุกวันนี้เราอาจเป็น ‘ผู้พูด’ มากกว่า ‘ผู้ฟัง’

และด้วยสภาวการณ์แห่งความเร่งรีบเหล่านั้นอาจทำให้เราหลงลืมไปว่าที่จริงแล้ว ‘การฟัง’ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่ต้องตั้งใจ

“การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้คนได้พูด

ในสิ่งที่เขาไม่เคยกล้าเอ่ยออกมา

และนั่นเป็นโอกาสล้ำค่า ที่เราจะได้รับฟัง

บุคคลผู้มีความสามารถที่จะ ‘ฟัง’ อย่างลึกซึ้ง

จะช่วยแบ่งเบาภาระความทุกข์ของผู้คนลงได้”

ประโยคสำคัญจาก ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) ผู้นำทางจิตวิญญาณระดับโลก นักกวี และนักกิจกรรมเพื่อสันติ ที่บอกกับเราว่า ‘การฟัง’ เป็นสิ่งที่สำคัญมากเพียงใด

และเนื่องในโอกาสเดือนการฟังแห่งชาติ (National Month of Listening) 

เชื่อว่าใครหลายคนมักคุ้นเคยกับการที่เราเป็น ‘ผู้พูด’ มากกว่าที่จะเป็น ‘ผู้ฟัง’ ในทุกบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างเราและผู้อื่นนั้น เรื่องราวที่ถูกเล่าออกไปล้วนเชื่อมให้เราได้รู้จักและเข้าใจกันมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าเราจะคุ้นเคยกับการตอบโต้และแสดงปฏิกิริยากลับไปกลับมาระหว่างการเป็น ‘ผู้พูด’ และ ‘ผู้ฟัง’ ในหลากหลายบทสนทนา หากแต่นั่นอาจเป็นการฟังอย่างผิวเผิน และอาจไม่ใช่การฟังแบบลึกซึ้ง (Deep Listening) เท่าไรนัก

ในบริบทที่สังคมไทยและโลกกำลังเผชิญปัญหาทางด้านความสัมพันธ์ ช่องว่างระหว่างวันทำให้เราต่างไม่ลงรอย ไหนจะความขัดแย้งในความเห็นต่าง ซึ่งส่งผลโดยตรงก่อการก่อรูปความสัมพันธ์ที่ลดน้อยถอยลงไปทุกวันๆ

งานวิจัยพบว่า อันตรายของ 1 วันที่เหงาและโดดเดี่ยว อาจเทียบได้กับ บุหรี่ 15 มวน หรือ สุรา 6 แก้ว ซึ่งนั่นสะท้อนถึงปัญหาอันเกิดจากการที่เราต่างเป็นผู้พูดมากเกินไป และไม่ได้ตั้งใจรับฟังกันและกันอย่างถี่ถ้วนเท่าไรนัก ซึ่งถึงแม้เราอาจรู้สึกเหมือนว่าการฟังนั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากอะไรนี่ (เพราะเราเองก็มีหูที่เป็นตัวเชื่อมในผัสสะนี้อยู่แล้ว) หากแต่ ‘การได้ยิน’ (Hearing) กับ ‘การฟัง’ (Listening) ต่างกันที่ระดับของความตั้งใจ และเชื่อเหลือเกินว่าเราในฐานะมนุษย์โดยทั่วไปแล้ว เราล้วนต้องการการรับฟังมากกว่าเพียงแค่การได้ยิน

เมื่อ ‘การฟัง’ (Listening) ยกระดับไปถึง ‘การฟังอย่างลึกซึ้ง’ (Deep Listening) ย่อมเกิดผลในเชิงประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม เพราะ ณ ขณะที่เรากำลังให้เวลากับการฟังเขาอย่างแท้จริง นั่นคือการแสดงให้เห็นว่าเขาเป็น ‘คนสำคัญ’ และมีคุณค่ามากแค่ไหนสำหรับเรา

การฟังอย่างลึกซึ้ง ประกอบไปด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1. การอยู่กับคนตรงหน้า 100 เปอร์เซ็นต์ : ในขณะที่ฟังนั้น คนตรงหน้าถือว่ามีความสำคัญสูงสุดสำหรับเรา ซึ่งนอกจากเรื่องราวที่เขาเหล่านั้นบอกเล่าผ่านน้ำเสียงแล้วนั้น ท่าทางจากภาษากาย หรือกระทั่งความเงียบ ยังถือเป็นการบอกเล่าเรื่องราวในรูปแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน ซึ่ง ‘การสังเกต’ คือเทคนิควิธีที่สำคัญอย่างมาก ซึ่งจะต่อเนื่องมาถึงการตั้งใจรับฟังอย่างแท้จริงโดยไม่ตัดสิน

2. การเท่าทันความคิดหรือเสียงในหัว : ‘เสียงในหัว’ คืออุปสรรคใหญ่ของการฟัง มันไม่แปลกที่คนเราจะคิดอะไรในหัวตลอดเวลา บางครั้งเราอาจทั้งไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วย อยากเถียง อยากแนะนำอะไรบางอย่างในบทสนทนากับคนที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งในกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ เราอาจไม่จำเป็นต้องห้ามหรือต่อสู้กับความคิดที่เกิดขึ้น ขอเพียงแค่เรารับรู้และตระหนักถึงความคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหัว และจัดการกับปฏิกิริยาเหล่านั้นอย่างเหมาะสมและให้เกียรติผู้พูด หรือหากรู้สึกว่าฟังไม่ไหวจริงๆ อาจส่งสัญญาณขอเวลานอกเพื่อพักการฟังเสียก่อนแล้วจึงค่อยกลับมาฟังใหม่

3. การรับรู้และใส่ใจความรู้สึกของผู้พูด : งานวิจัยของศาสตราจารย์ อัลเบิร์ต เมฮ์ราเบียน (Professor Albert Mehrabian) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบว่า การพูดออกมาเป็นถ้อยคำนั้นคิดเป็นเพียง 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นกับเนื้อหาจริงๆ ที่ผู้พูดอยากบอก ซึ่งนั่นเท่ากับว่าสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะบอกนั้น มีจำนวนมากถึง 93 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้ถูกพูดออกมา

เพราะฉะนั้น ความเงียบ น้ำตา ความนิ่ง น้ำเสียง แววตา สีหน้า อากัปกิริยา ท่าทาง 

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนกำลังบอกว่า “ผู้พูดรู้สึกอะไร” ได้เช่นเดียวกัน

และในหลายครั้ง ถ้อยคำที่พูดและความรู้สึกถูกถ่ายทอดออกมาอาจไม่ได้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันก็เป็นได้

นอกเหนือจาก 3 ข้อที่กล่าวไปข้างต้น อีกสิ่งหนึ่งสำคัญที่จะทำให้การฟังอย่างลึกซึ้งราบรื่นได้อย่างดี คือ ‘วิธีสะท้อนความรู้สึก’ ซึ่งจะต้องทำงานผ่าน ‘ความเข้าใจ’ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อผู้พูดพูดจบแล้ว และเราได้รับฟังอย่างดีจนถึงตอนจบจริงๆ เราในฐานะผู้ฟังอาจสะท้อนความรู้สึกที่ซุกซ่อนอยู่ในเรื่องราวเหล่านั้นได้ และนั่นเป็นการบอกว่าเรากำลัง ‘เข้าใจ’ เขาอยู่จริงๆ 

สุดท้ายนี้ สิ่งหนึ่งที่อาจต้องพึงระวังเอาไว้อยู่เสมอคือ เราในฐานะ ‘ผู้ฟัง’ ซึ่งจะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ที่ทำหน้าที่สะท้อน (reflect) เท่านั้น ทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นในเรื่องราวคือเป็นความรู้สึกของเจ้าของเรื่อง

ซึ่งนอกจากการฟังจะช่วยให้เราได้ฟื้นฟูความใกล้ชิดสนิทสนมกับคนรอบข้าง บรรเทาความทุกข์ และสร้างความสัมพันธ์แล้วนั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังเป็นรากฐานของการกลับมารู้จักและเข้าใจตนเอง เรียนรู้บุคคลอื่นๆ และพัฒนาไปสู่ศักยภาพสูงสุดของการเป็นมนุษย์ด้วยเช่นเดียวกัน

ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2567 นี้ธนาคารจิตอาสา ความสุขประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขอเชิญชวนทุกท่านมาเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญการฟังระดับชาติในครั้งนี้ เพื่อที่จะได้จุดประกายสังคมให้เห็นความสำคัญและร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการรับฟังให้เกิดขึ้นอย่างดีในสังคมไทย ผ่านการเป็นคนที่ลุกขึ้นมาเป็นผู้ฟังที่เปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม หรือ ‘Listenian’ เพื่อให้เราได้ทั้งเข้าใจตัวเอง เข้าใกล้กันมากขึ้น และเข้าอกเข้าใจกัน

และ Mappa เองก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญนี้ โดยหวังว่าสังคมไทยจะก้าวเข้าไปสู่การเป็นพื้นที่ที่รับฟังด้วยหัวใจ สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้แก่กัน รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ อย่างเข้าถึงใจและไม่ใคร่ตัดสินด้วยเช่นเดียวกัน

Writer
Avatar photo
ภาพตะวัน

แสงแดดยามเช้า กาแฟหนึ่งแก้ว และแมวหนึ่งตัว

illustrator
Avatar photo
Arunnoon

มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด

Related Posts

Related Posts